fbpx
THE AIR : ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล

THE AIR : ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ธนาวิ โชติประดิษฐ และ มาดี พัฒนศรี ภาพ

 

“โปรแรง! วันเดียวเท่านั้น!! 28 พ.ย. 61”

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ พบข้อความโฆษณาในหน้าเฟซบุ๊ก Index Living Mall ว่าเครื่องปรับอากาศซัมซุงขนาด 11,500 BTU ลดราคาจาก 20,900 บาทเหลือเพียง 9,990 บาท หากซื้อผ่านออนไลน์ภายในวันนั้นเท่านั้น

ราคาลดกระหน่ำที่รวมค่าติดตั้งไว้แล้วนี้คงทำให้หลายคนตาลุกวาว ยิ่งไปกว่านั้น เขาพบว่าผู้ที่สั่งซื้อด้วยบัตรเครดิตยังสามารถสามารถผ่อนจ่าย 0% เป็นระยะเวลาสิบเดือนได้อีกด้วย ศิลปินหนุ่มไส้แห้งผู้กำลังปรับปรุงห้องพักขนาด 20 ตารางเมตรใน ‘ดอนเจดีย์แมนชั่น’ อพาร์ทเมนต์อายุ 30 กว่าปีที่แม่ซื้อไว้ให้ เพื่อให้เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะจึงไม่รอช้า เขากดสั่งซื้อทันที ด้วยความคิดว่าตนคงจะได้เครื่องปรับอากาศตัวใหม่โดยจ่ายแค่เดือนละ 999 บาทเท่านั้นเอง

สองวันต่อมา เครื่องปรับอากาศเดินทางมาถึงพร้อมใบเสร็จรับเงินระบุข้อความว่า “สินค้าไม่รวมประกอบติดตั้ง” ทางบริษัทอธิบายว่า หากต้องการให้ติดตั้งด้วย ต้องจ่ายเงินเพิ่ม…

หลายคนคงเคยประสบปัญหาคล้ายๆ กันเมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการในราคาโปรโมชั่น แล้วมาพบในภายหลังว่าต้องจ่ายมากกว่าที่คิด ในโลกธุรกิจอันเต็มไปด้วยกลเม็ดเด็ดพรายที่ใช้เอาเปรียบหลอกลวงผู้บริโภค ประชาชนตาดำๆ ส่วนใหญ่คงเลือกขอเงินคืนหรือยอมจ่ายเพิ่มเพื่อตัดปัญหา ไม่สนุกเลยที่จะเสียเวลาทำมาหากินไปกับการขึ้นโรงขึ้นศาล

คำกล่าวที่ว่า “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” นั้นสะท้อนว่าการเป็นคดีความ (ไม่ว่าเราจะเป็นโจทก์หรือจำเลย) ทำให้เสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน ต่อให้เราผู้เป็นโจทก์เป็นฝ่ายชนะหรือยอมความกันได้ ค่าเสียหายที่ได้รับก็ไม่คุ้มกับเวลา โอกาส ค่าใช้จ่าย และสุขภาพจิตที่ต้องสูญเสียไปอยู่ดี

 

 

‘THE AIR’ เป็นนิทรรศการศิลปะที่เปิดให้เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมงที่ห้องพักเลขที่ 276 ชั้น 6 ดอนเจดีย์แมนชั่น ว่าด้วยการเดินทางอันยาวนานของธิติบดีผ่านการร้องเรียน ฟ้องร้อง และดำเนินคดีกับบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน)

เพราะในวิกฤตอาจมีโอกาส ศิลปินผู้ไม่ยอมจำนนกับการถูกเอารัดเอาเปรียบและการหลอกลวงเล่นตุกติกของการโฆษณา ได้เปลี่ยนกระบวนการร้องทุกข์ทั้งหมดของเขาให้กลายเป็นผลงานศิลปะ ระยะเวลาห้าเดือนนับจากวันเหตุเกิดในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จนถึงวันไกล่เกลี่ยคดีแพ่งในศาลเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ถูกขมวดรวมไว้ในห้องพักขนาดเล็กที่ศิลปินเพิ่งฉาบพื้นและผนังใหม่ด้วยตัวเอง

ดอนเจดีย์แมนชั่นเป็นอพาร์ตเมนต์เก่าแก่ทรุดโทรม ความที่ลิฟต์เสียมานานปีและค่าส่วนกลางที่ได้มีไม่มากพอจะจ่ายเงินซ่อม คงพอทำให้เดากันออกว่าใครคือผู้อยู่อาศัยกลุ่มหลักในอาคารหลังนี้ สำหรับธิติบดี อาจกล่าวได้ไม่เต็มปากว่าเขาคือผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกับเหล่าผู้เช่าห้องคนอื่นๆ เพราะอันที่จริงแล้ว ห้องนี้เป็นห้องที่ครอบครัวของเขาซื้อไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อปล่อยให้คนเช่าต่อในราคาถูก

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างคนหาเช้ากินค่ำกับชนชั้นกลางในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจะมีรายได้คงที่อย่างผู้ประกอบอาชีพศิลปิน ก็คือการหาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในราคาโปรโมชั่น ซึ่งมักจะตามมาด้วยการถูกเอาเปรียบแบบตอดเล็กตอดน้อยจากโฆษณาที่บิดเบือนของบรรดาธุรกิจห้างร้าน ด้วยเหตุนี้ ‘THE AIR’ จึงไม่ได้เป็นเป็นแค่เรื่องของเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นที่มาของนิทรรศการ แต่ยังเป็นอุปมาถึงสถานภาพของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นเพียงอากาศธาตุในโลกทุนนิยมสมัยใหม่

ตัวอักษร “ART is(t) HERE” บนบานประตูห้อง 276 ประกาศชัดว่าศิลปะ ‘art’ อยู่ที่นี่ และ ‘artist’ หรือตัวศิลปินเองก็อยู่ที่นี่เช่นกัน ที่นี่มีศิลปะ ที่นี่มีศิลปิน เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้องพัก สิ่งแรกที่ปะทะกับสายตาของผู้ชมก็คือเครื่องปรับอากาศเจ้ากรรมบนผนังฝั่งตรงข้ามทางเข้าห้องนั่นเอง ส่วนลำดับเหตุการณ์นับจากวันโปรโมชั่นจนถึงการจบสิ้นคดีความ ถูกเล่าผ่านภาพเขียนขนาดเล็กที่แขวนรอบห้องโดยวนจากซ้ายไปขวา (แม้จะจัดแสดงตลอด 24 ชั่วโมง ภาพทั้งหมดที่ติดตั้งบนผนังด้านซ้ายมือจะถูกนำออกมาเก็บทั้งหมดในยามฝนตก เพราะห้องที่อยู่ใต้ดาดฟ้าห้องนี้มีน้ำรั่วซึมลงมาจากเพดาน) ภาพเขียนเหล่านี้ประกอบด้วยภาพเหมือนจริงที่ลอกแบบหน้าเว็บไซต์และเอกสารต่างๆ ตามรายการ ดังนี้

  • ภาพหน้าโฆษณาในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เขียนว่า “แอร์ซัมซุง 9,990.- (ราคานี้รวมค่าติดตั้ง)”
  • ภาพใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ระบุข้อความว่า “สินค้าไม่รวมประกอบติดตั้ง”
  • ภาพเอกสารร้องเรียนที่ศิลปินส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในหัวข้อ “บิดเบือนโฆษณาไม่ทำตามเงื่อนไข ทำให้เกิดผู้เสียหายมาก” ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (ถ้าได้ผล เรื่องก็คงจบตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 และอาจไม่มีงานศิลปะชิ้นนี้)
  • ภาพหน้าจอเว็บบอร์ดพันทิปพร้อมข้อความอธิบายว่า “กระทู้นี้ถูกลบเนื่องจากเป็นกระทู้ร้องเรียน หรือร้องเรียนสินค้า หรือบริการซึ่งสงวนสิทธิเฉพาะสมาชิกประเภทบัตรประชาชนเท่านั้น”
  • ภาพแผนผังกระบวนการระงับข้อพิพาทในคดีแพ่ง (ก่อนกระทู้ในพันทิปถูกลบ ธิติบดีได้รับคำแนะนำหลังไมค์ว่าให้ไปฟ้องศาล)
  • ภาพบัญชีนัดความแพ่งประจำวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 (รอบบ่าย) ลำดับที่ 18 เลขคดีดำ ผบ440/62 เพื่อไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์คือ นายธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ กับจำเลยคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน)
  • ภาพโคลส-อัพ รายละเอียดบัญชีนัดความแพ่งประจำวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 (รอบบ่าย)
  • ภาพรายงานกระบวนพิจารณา คดีดำหมายเลขที่ ผบ ๔๔๐/๒๕๖๒ ระบุผลการไกล่เกลี่ย ความว่า เนื่องจากโจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันได้ โดยวันนี้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๓,๐๐๐ บาทและเงินค่าช่วยเหลือเยียวยานอกเหนือจากคำฟ้องแก่โจทก์อีก ๑,๐๐๐ บาท โจทก์จึงไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป ขออนุญาตบอกกล่าวถอนฟ้อง   

 

 

 

 

หลังจากที่เสียเวลาเทียวไปเทียวมาอยู่ห้าเดือน สรุปว่านอกจากได้ค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศคืนแล้ว ศิลปินได้เงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวนทั้งสิ้น 1,000 บาทถ้วน

โบราณเขาก็เตือนแล้วว่า “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ”

ในขณะที่ตัวเครื่องปรับอากาศต้นเรื่อง คงสถานะเป็นทั้งเครื่องปรับอากาศที่ใช้งานจริง และเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงานศิลปะในรูปของวัสดุแบบสำเร็จรูป (ready-made) เรื่องราวต่างๆ ตามลำดับเหตุการณ์กลับถูกถ่ายเทจากหน้ากระดาษและเว็บไซต์เป็นภาพเขียน การเคลื่อนย้ายสถานะของตัวหนังสือจากสื่อดั้งเดิมลงสู่ผืนผ้าใบ ไม่ได้เป็นการคัดลอกอย่างสมบูรณ์แบบ ธิติบดีเลือกที่จะเว้นว่างข้อมูลที่พาดพิงผู้อื่นอย่างชื่อ นามสกุล ลายเซ็นของเจ้าหน้าที่และผู้ที่มีธุระปะปังมาที่ศาลคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนัดความแพ่งในวันเดียวกัน ภาพเขียนมีเพียงชื่อของโจทย์และจำเลยปรากฏให้เห็น

การขาดหายของตัวอักษรรายรอบจึงทำหน้าที่มุมกลับ กล่าวคือเป็นไฮไลท์ที่ขับเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญ อันได้แก่ ปัญหาระหว่างคู่กรณีคือธิติบดี กับบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) บริเวณที่เว้นว่างช่วยปกป้อง รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ได้โคจรมาอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกันในวันเวลาเหล่านั้น

อนึ่ง นอกจากความระมัดระวังในประเด็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นแล้ว ระยะห่างระหว่างภาพเขียนกับเอกสารต้นฉบับ ยังเกิดขึ้นจากการเลือกใช้วัสดุและขนาดที่แตกต่างออกไป เพื่อป้องกันการตีความว่าศิลปินจงใจปลอมแปลงเอกสารราชการอีกด้วย

 

 

 

ท้ายที่สุด ‘THE AIR’ ในฐานะนิทรรศการศิลปะติดตั้งจัดวาง ไม่ได้ประกอบขึ้นจากเพียงเครื่องปรับอากาศและภาพเขียน แต่คือพื้นที่ทั้งห้องและตัวอาคารที่ห้องนั้นตั้งอยู่ ห้องที่แต่เดิมถูกปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ แต่กลับกลายเป็นผลงานศิลปะเสียเอง

“ART is(t) HERE” ศิลปะอยู่ที่นี่ เพราะที่นี่คือพื้นที่จัดแสดงที่ชีวิตจริงเคลื่อนทับซ้อนกับศิลปะ และสำหรับเราๆ ผู้ที่ยังต้องดิ้นรนทำมาหากิน การไต่บันไดหกชั้นขึ้นไปดูนิทรรศการที่อาจทำให้ต้องอุทานว่า “เราก็เคยเจอเรื่องแบบนี้!” คงจะทำให้รู้สึกว่าศิลปะไม่ได้อยู่ห่างไกลจากชีวิตจริงมากจนเกินไปนัก

 


หมายเหตุ : นิทรรศการ ‘THE AIR’ โดย ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ เปิดให้เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมง ที่ห้อง 276 ชั้น 6 ดอนเจดีย์แมนชั่น ซอยรามคำแหง 42 ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน-16 กรกฎาคม 2562 หากต้องการเข้าพักชมงานศิลปะข้ามคืน (ฟรี) กรุณาติดต่อล่วงหน้า ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save