fbpx

บันทึกประวัติศาสตร์ประจำปีแบบย่นย่อ: ‘การต่อสู้และสงคราม’ (戦) อักษรคันจิแห่งปี 2022 ของญี่ปุ่น

วันที่ 12 ธันวาคม หรือ 12.12 ที่ญี่ปุ่น ไม่ใช่วันที่ขาช้อปทั้งหลายเพลิดเพลินกับสินค้าราคาลดกระหน่ำ แต่สมาคมการสอบวัดระดับความสามารถคันจิในภาษาญี่ปุ่น(日本漢字能力検定協会)ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันคันจิ’(漢字の日)ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา

คันจิ(漢字)คืออักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในอักษร 3 ชนิด คืออักษรฮิรางานะ(平仮名)อักษรคาตาคานะ(カタカナ)และอักษรคันจิสองชนิดแรกเป็นอักษรญี่ปุ่นที่ต้องอ่านผสมคำจึงมีความหมาย แต่อักษรคันจิเป็นอักษรภาพที่แสดงความหมายโดยตัวเอง แต่ละตัวมีความหมายเข้าใจได้ทันที และเมื่อนำมาผสมกันก็เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ขึ้น เช่น 大  (แปลว่า ใหญ่)  人  (แปลว่า คน)  ถ้านำมารวมกันเป็น大人  (แปลว่า ผู้ใหญ่) หรือ  毎 (แปลว่า ทุกๆ) 日 (แปลว่า วัน)  ถ้านำมารวมกันเป็น 毎日 (แปลว่า ทุกวัน) เป็นต้น     

ญี่ปุ่นรับอักษรคันจิมาจากจีน ย้อนไปราวศตวรรษที่ 6-7 เมื่อญี่ปุ่นรับพุทธศาสนามหายานมาจากจีนผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี คัมภีร์พระไตรปิฎกเขียนเป็นอักษรจีนทั้งสิ้น เมื่อต้องการเรียนรู้พระธรรมจึงต้องศึกษาอักษรจีน ญี่ปุ่นได้ดัดแปลงตัวอักษรจีนบางส่วนให้เป็นแบบที่ง่ายขึ้น ประยุกต์ปรับใช้ให้ตรงกับความหมายในภาษาญี่ปุ่น และนำมาใช้ร่วมกับอักษรฮิรางานะที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง แต่ในการอ่านออกเสียงยังคงให้มีการออกเสียงทั้งแบบจีน(音)และแบบญี่ปุ่น(訓)อีกด้วย ซึ่งผู้เรียนต้องจำให้ได้ทั้งหมด มิฉะนั้นก็อ่านหนังสือไม่เข้าใจ

ภาษาญี่ปุ่นจึงเป็นภาษาที่แปลกและยากมาก มีอักษรถึง 3 ชนิดใช้ร่วมกันในประโยคเดียวกันอาจมีอักษรทั้ง 3 ชนิด อยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบในภาษาอื่นๆ ในโลก นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่งจะต้องอ่าน-เขียนได้ทั้ง อักษรฮิรางานะ (46 ตัว) คาตาคานะ (46 ตัว) แล้วตามด้วยอักษรคันจิ ซึ่งกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์กำหนดจำนวนคำที่ต้องเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีการศึกษาจนถึงชั้นมัธยมปลาย 

จำนวนคันจิที่ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เดิมกำหนดให้มี 1,945 ตัว และต่อมาให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,981 ตัว และในปี 2010 เพิ่มจำนวนขึ้นอีกเป็น 2,136 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหาการสื่อสารในสังคมที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไป ลองคิดดูเล่นๆ ว่า คันจิทั้งหมดนี้หากจับคู่ผสมกัน เป็นคำศัพท์ที่มี 2 ตัวบ้าง 3 ตัวบ้าง หรือ 4 ตัวบ้าง จะเกิดจำนวนคำศัพท์มากมายเพียงใดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีคันจิส่วนที่เกินจาก 2,136 ตัวนี้อีก ซึ่งหากจะใช้ มักเขียนคำอ่านเป็นอักษรฮิรางานะกำกับไว้ด้วย

สมาคมการสอบวัดระดับความสามารถคันจิในภาษาญี่ปุ่น ได้กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันคันจิ เริ่มตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นวันที่ 12 ธันวาคม นั่นก็เพราะ 12.12 หากอ่านออกเสียงเรียงตามตัว จะพ้องกับความหมายว่า  ‘ตัวอักษรดีๆ หนึ่งตัว’(いい字1字)

สมาคมฯ จะคัดเลือกอักษรคันจิ 1 ตัว ที่มีผู้ส่งเข้ามาจากทั่วประเทศที่มากที่สุด ทั้งทางไปรษณียบัตรและทางอินเทอร์เน็ต โดยปีนี้เปิดให้ร่วมโหวตตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายนถึงวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา และประกาศให้เป็น ‘คันจิแห่งปี’ กล่าวคือ เป็นคำที่มีความหมายสื่อถึงเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนั้น ตั้งแต่ต้นปีจวบจนจะถึงสิ้นปีในเดือนธันวาคมนั่นเอง คนในประเทศต้องผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ วัฒนธรรม ภัยพิบัติ กีฬา ความบันเทิง เป็นต้น นัยว่าต้องการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจ สนใจในอักษรคันจิซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และเพื่อให้ผู้คนได้ทบทวนเรื่องราวในหนึ่งปีที่กำลังจะจบลงและมีความหวังในสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงด้วย     

นั่นหมายความว่า อักษรคันจิเพียงตัวเดียว สามารถบอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด กระแสสังคม ทั้งเรื่องทุกข์และสุขของคนทั้งประเทศในปีนั้น เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ประจำปีแบบย่นย่อที่สุด และแสนจะสั้นประจำปีนั้นๆ ก็ว่าได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีหรือเรื่องทุกข์ยากที่เผชิญร่วมกัน นอกจากนั้นยังอาจเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่คนทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกันก็ได้ น่าทึ่งทีเดียว…       

พิธีการประกาศ ‘คันจิแห่งปี’ จัดขึ้นที่วัดคิโยมิสึเดระ(清水寺)ที่เกียวโต วัดไม้เก่าแก่สร้างในศตวรรษที่ 8 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือที่นักท่องเที่ยวชาวไทยรู้จักกันในชื่อวัดน้ำใส มีการถ่ายทอดสดออกอากาศ บนระเบียงกว้างชั้นบนของอาคารไม้ ท่านเจ้าอาวาส หลวงพ่อ เซฮัน โมริ(森清範)จะบรรจงเขียนตัวอักษรคันจิที่ได้รับคัดเลือกด้วยพู่กันขนาดใหญ่ มีขนสีขาวทำจากขนหูของวัว ขนาดของพู่กันเฉพาะส่วนขนยาว 11.5 ซ.ม. เขียนบนกระดาษทำมือคุโรทานิของเกียวโตขนาด 150 ซ.ม. x 130 ซ.ม. เป็นกระดาษทำมือผลิตภัณฑ์ของเกียวโตที่ทำสืบทอดกันมายาวนาน

เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดว่าจะใช้อักษรตัวเดิมที่เคยใช้มาแล้วไม่ได้ ตลอดช่วง 28 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1995-2022 จึงน่าแปลกที่มีคันจิตัวเดียวกันครองแชมป์ถึง 4 ครั้ง  

ตัวอักษรดังกล่าวคือ (คิน) แปลว่า ‘ทอง’ หรือ จะหมายรวมถึง เงินที่ใช้ซื้อสิ่งของก็ได้ เป็นอักษรประจำปี 2000  ปี 2012  ปี 2016 และปี 2021 นั่นคือญี่ปุ่นได้ครองเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ลอนดอน อังกฤษ และริโอเดอจาเนโร บราซิล 5 เหรียญ 7 เหรียญ และ 12 เหรียญ ตามลำดับ

ในปี 2021 ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก 2020 และพาราลิมปิก ที่ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 จากการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในปี 2020 การแข่งขันจบลงด้วยดี ได้รับเสียงชมเชยจากนานาประเทศที่ญี่ปุ่นสามารถจัดงานระดับโลกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเรียบร้อย มิหนำซ้ำคนญี่ปุ่นยังภูมิใจที่นักกีฬาญี่ปุ่นคว้าชัยชนะในกีฬาหลายประเภท ได้ ‘เหรียญทอง’(金メダル)มาครองมากกว่าครั้งก่อนๆ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีและเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ    

ปี 2020 คำว่า (มิทสึ) แปลว่า ‘เบียดเสียด หนาแน่น ใกล้ชิด ลับตา’  ซึ่งตรงกับการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างกัน หลีกเลี่ยง 3 หรือ ความหนาแน่นสามชนิด คือ 密閉  (สถานที่อากาศปิดไม่ถ่ายเท)  密集  (การอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น)   密接 (การสัมผัสใกล้ชิด ไม่เว้นระยะห่าง) เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ชีวิตปกติต้องเปลี่ยนไป แต่อันที่จริงแล้ว  密  นี้ ก็มีข้อดีอยู่บ้าง เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้านหรือออกนอกบ้านน้อยลง ก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับครอบครัวยิ่งขึ้น  จากการที่ไม่เจอหน้ากัน ไม่ได้คุยกัน ก็หันหน้ามาพูดคุยกัน ปรับทุกข์กัน (โดยเว้นระยะห่างบ้าง)    

มีคันจิอีกตัวหนึ่งที่ใช้มาแล้ว 2 ครั้ง ก็คือ    (ไซ) (ภัยพิบัติ หายนะ) ได้แก่ ปี 2004 เป็นปีที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว ที่จังหวัดนีงาตะ และปี 2018 เกิดแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และภัยธรรมชาติที่จังหวัดฮอกไกโด

อันที่จริงแล้วในปี 1995  ซึ่งเป็นปีเริ่มแรกของการกำหนดอักษรคันจิประจำปี ก็ประเดิมด้วยอักษรเกี่ยวกับภัยพิบัติ  震  (ชิน)(สั่นไหว) คือเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก

ส่วนปี 2010   (อากาศร้อน) เป็นปีที่อากาศในฤดูร้อนของญี่ปุ่นร้อนมากที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ยังมีคันจิที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การเมือง กล่าวคือ

ปี 1997    (ล้มลง) เป็นปีที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ยามาอิชิ และบริษัทอื่นรวม 4 แห่งประสบภาวะล้มละลายตามติดกันมา  

ปี 2008    (เปลี่ยน) เป็นเรื่องการเมืองต่างประเทศ คือนายบารัค โอบามา เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ปี 2009    (ใหม่)  เป็นครั้งแรกที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (พรรคแอลดีพี 自民党) ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งรัฐบาล นำโดยนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

ปี 2014    (ภาษี)  ปีที่รัฐบาลประกาศขึ้นภาษีผู้บริโภคในรอบ 17 ปี จาก  5% เป็น  8%

ปี 2017    (ทิศเหนือ) ในที่นี้หมายถึงเกาหลีเหนือประกาศทดลองขีปนาวุธ

ส่วนคำที่เกี่ยวกับเรื่องกีฬาก็มี เช่น

ปี 2003    (เสือ) คือปีที่ทีมเบสบอลไทเกอร์สขวัญใจประชาชนชนะเลิศในรอบ 17 ปี

ปี 2013    (ห่วง)  ในที่นี้หมายถึง 5 ห่วง สัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิก คณะกรรมการโอลิมปิกกำหนดให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ปี 2020

ก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คือปี 1999 ปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ใช้อักษร   (ปลาย, ท้าย)

ส่วนปี 2019 อันเป็นปีที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อรัชศกใหม่จาก 平成  (เฮเซ) เป็น  令和 (เรวะ) เฉลิมฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ อักษรคันจิประจำปีคือ   (ความดีงาม ความถูกต้อง)

สำหรับปี 2022 นี้ คำใดได้รับคัดเลือกเป็นคันจิประจำปี ?

เวลาประมาณ 14.00 น. พิธีกรแจ้งให้ทราบว่าปีนี้มีผู้ร่วมส่งคำมาหลายช่องทางเป็นคนหลายวัย รวมทั้งสิ้นกว่า 223,000 เสียง และคำที่ได้รับคัดเลือกประจำปีนี้จำนวนสูงสุด 10,804 เสียง คือ (เซน) (การต่อสู้ การสู้รบ การทำสงคราม) คำนี้ได้รับคัดเลือกเป็นครั้งที่สองแล้ว 

ครั้งแรกคือปี 2001 ที่เกิดเหตุก่อการร้าย 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา

ในครั้งนี้ คำว่า สื่อถึงการที่รัสเซียใช้กองกำลังทหารรุกรานยูเครน กลายเป็นสงคราม การต่อสู้ และมีการสูญเสียชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กระทบในวงกว้างต่อผู้คนทั่วโลกด้วย  ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสำรวจความรู้สึกของคนญี่ปุ่น ต่างก็รู้สึกว่าเป็นปีที่ต้องดิ้นรน ‘ต่อสู้’(戦い)เพื่อการดำรงชีวิตของตัวเอง จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยาวนานถึง 3 ปีกว่าแล้ว และยังไม่จบสิ้น สินค้าสำคัญในชีวิตประจำวันมีราคาพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน น้ำมัน และค่าไฟฟ้า กล่าวได้ว่าแทบไม่มีอะไรที่ยังไม่ขึ้นราคา มิหนำซ้ำ ค่าเงินเยนยังอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และอ่อนค่าที่สุดในรอบ 32 ปีตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ซ้ำเติมต้นทุนราคาสินค้าและพลังงานที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ค่าจ้าง ค่าแรงของผู้คนยังไม่ขึ้น ทำให้ทุกคนต้องรัดเข็มขัดกันอย่างหนัก และ ‘ต่อสู้’ เพื่อการอยู่รอด

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับการละเมิดอธิปไตย การแผ่อิทธิพลของจีน อีกทั้งการที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธมาตกบริเวณน่านน้ำญี่ปุ่นอยู่หลายครั้ง สร้างความตระหนกตกใจแก่คนญี่ปุ่นอย่างมาก รัฐบาลนายฟุมิโอะ คิชิดะ พยายามผ่านกฎหมายเพิ่มงบประมาณในการป้องกันประเทศ เพราะตระหนักในภัยสงครามและการยั่วยุจากประเทศเพื่อนบ้าน

‘การต่อสู้’  ไม่ได้ให้ความรู้สึกต้องปะทะ ห้ำหั่นกันเท่านั้น แต่เรื่องน่ายินดีก็มี เมื่อสื่อถึงทีมฟุตบอลญี่ปุ่นที่พัฒนาจนมีความสามารถโดดเด่น ลงสนาม ‘ต่อสู้’ จนมีชัยเหนือทีมฟุตบอลของเยอรมนีและสเปนในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ และนักกีฬาญี่ปุ่นอื่นๆ ยังโดดเด่นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งอีกด้วย

คำที่ได้คะแนนรองลงมาคือ  (อัน) (ราคาถูก อุ่นใจ ปลอดภัย)  ซึ่งสื่อถึงตลอดทั้งปีนี้ ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องวิตกกังวล ไม่สบายใจ ทั้งจากภัยสงคราม การกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และค่าเงินเยนอ่อนตัว ซึ่งล้วนกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น ผู้คนจึงโหยหาความรู้สึก ‘เบาใจและอุ่นใจ’ คำนี้ได้รับการโหวต 10,616 เสียง ห่างจากอันดับหนึ่งเพียง 188 เสียง จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้งคำในอันดับหนึ่งและอันดับสองต่างก็ถ่ายทอดความรู้สึกของคนญี่ปุ่นในปีนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว    

เมื่อเขียนแผ่นป้ายคำว่า เสร็จแล้ว ก็นำแผ่นป้ายถวายวัดเป็นเครื่องบูชา แล้วท่านเจ้าอาวาสเริ่มนำสวดภาวนาขอให้ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เป็นปีที่ชาวญี่ปุ่นจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างอุ่นใจและปกติสุข

ขณะที่ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกทุกข์ใจ วิตกกังวล ไม่อุ่นใจ และต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีก็เปิดเผยความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับคันจิประจำปีนี้ว่าอยากให้เป็นคำว่า (ชิน) (ก้าวไปข้างหน้า ก้าวหน้า) ญี่ปุ่นกำลังเผชิญสิ่งที่ท้าทายหลายอย่าง จึงอยากให้นโยบาย ‘ทุนนิยมใหม่’(新しい資本主義)และความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ G7 ดำเนินนโยบายให้สำเร็จลุล่วงไปทีละอย่างๆ

ปีที่แล้ว 2021 เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายคิชิดะ นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ ของญี่ปุ่นบอกว่าอยากให้เป็นคำว่า (ทาคุ) (เปิดกว้าง ขยาย)  ซึ่งมีนัยของคำว่า 開拓 (ไคทาคุ) หรือ ‘บุกเบิก พัฒนาให้ก้าวหน้า’ สื่อถึงความมุ่งมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ทันสมัย บุกเบิกเรื่องใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ได้ฟังอย่างนี้แล้ว ชาวญี่ปุ่นก็ฮึกเหิมอยากถือจอบ ถือเสียม ร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ช่วยกันพัฒนาประเทศ

หนึ่งปีผ่านไป รัฐบาลนายคิชิดะต้องเผชิญกับปัญหาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศเอง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์การลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีนายชินโซ อาเบะ(安倍晋三)ขณะกำลังช่วยลูกพรรคปราศรัยหาเสียง ความจริงหลายประการที่สังคมได้รับรู้  ทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาลนายคิชิดะที่เคยพุ่งสูงสุดเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ลดฮวบลงต่ำสุดอย่างน่าใจหาย

ปีหน้าฟ้าใหม่ 2023 ชาวญี่ปุ่นหวังว่าจะได้บันทึก ‘คันจิแห่งปี’ เป็นคำที่ให้ความสุขใจและรอยยิ้ม   

ถ้ามี ‘ภาษาไทยแห่งปี’ บ้าง สำหรับปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ท่านผู้อ่านคิดว่าเราควรใช้ ‘คำภาษาไทย’ ว่า…อะไรดี?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save