fbpx
The 1st QUAD Summit: จีนคือภัยซ่อนเร้น

The 1st QUAD Summit: จีนคือภัยซ่อนเร้น

Quadrilateral Security Dialogue หรือที่นิยมเรียกด้วยชื่อย่อว่า ‘the Quad’ คือ ความร่วมมือด้านความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจทั้ง 4 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย โดย the Quad เกิดขึ้นในปี 2007 จากข้อเสนอของนาย Shinzo Abe ในห้วงเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในวาระแรก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือของทั้ง 4 ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิดจากธรณีพิบัติภัย Tsunami ที่เกิดขึ้นในปี 2004

ถึงแม้ว่าการเมืองของออสเตรเลียจะเปลี่ยนไป จากนายกฯ John Howard ที่พาออสเตรเลียเข้าร่วม the Quad ในปี 2007 กลายเป็นนายกฯ Kevin Rudd ที่พาออสเตรเลียออกจากการเป็นพันธมิตรของกลุ่มในปี 2008 แต่กองทัพเรือและฝ่ายความมั่นคงของสมาชิกที่เหลือทั้ง 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น (ไม่มีกองทัพเรือ แต่มีกองกำลังป้องกันตนเอง) ก็ยังคงเดินหน้าซ้อมรบในแผนการฝึก Malabar ซึ่งถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดียร่วมกันทุกๆ ปี

The Quad ถูกชุบชีวิตอีกครั้ง เมื่อสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดี Trump ประกาศยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ในปี 2017 ซึ่งในยุทธศาสตร์ระยะยาวฉบับนี้มีเป้าหมายด้านความมั่นคงของสหรัฐ 4 ข้อ ได้แก่:

1. ปกป้องคน มาตุภูมิ และวิถีอเมริกัน

2. สร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

3. สร้างสันติภาพ

4. คงสถานะผู้จัดระเบียบโลกแบบมหาอำนาจเชิงเดี่ยว

จะเห็นว่า 3 ใน 4 ของเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนคือภัยคุกคาม และนั่นทำให้แม้ Trump จะไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งจัดโดยประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2017 แต่เขาก็เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม sideline ร่วมกับผู้นำของอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อรื้อฟื้น the Quad ขึ้นมาอีกครั้ง

ในปี 2019 ยุทธศาสตร์ระดับรองภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงของสหรัฐ ในนาม Indo-Pacific Strategy ถูกเผยแพร่ และบนหน้าปกของเอกสารสำคัญนี้เขียนยุทธวิธีสำคัญในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนไว้ 3 ยุทธวิธี นั่นคือ 1. Preparedness, 2. Partnerships และ 3. Promoting a Networked Region ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ข้อ 2 และ ข้อ 3 ของยุทธวิธีคือเรื่องเดียวกัน นั่นคือสหรัฐอเมริกาต้องการย้ำว่า การสร้างพันธมิตรในการปิดล้อมจีนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และสิ่งสำคัญนั้นก็สะท้อนออกมาในรูปของบทบาทของสหรัฐฯ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีใน The Quad

แม้ว่าประธานาธิบดีจะเปลี่ยนจาก Trump เป็น Biden แต่ยุทธศาสตร์ซึ่งกำหนดทิศทางการเดินหน้าของสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงก็ไม่เคยเปลี่ยน และเป็นกรอบในการวางนโยบาย นั่นทำให้ Biden ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2021 เริ่มพูดคุยกับพันธมิตรผ่านการโทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Yoshihide Suga ในวันที่ 27 มกราคม 2021 คุยกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Scott Morrison ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และปิดท้ายด้วยนายกรัฐมนตรีอินเดีย Narendra Modi ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดครั้งที่ 1 ของกลุ่ม the Quad ผ่านการประชุมทางไกลในวันที่ 12 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา

จากแถลงการณ์ร่วมของผู้นำที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวในนาม Quad Leaders’ Joint Statement: “The Spirit of the Quad” ในข้อแรกผู้นำทั้ง 4 ประเทศระบุทันทีในประโยคที่ 2 และ 3 (หลังการบอกในประโยคแรกว่า เราคือกลุ่มของ 4 ประเทศ) ว่า:

“We bring diverse perspectives and are united in a shared vision for the free and open Indo-Pacific. We strive for a region that is free, open, inclusive, healthy, anchored by democratic values, and unconstrained by coercion.”

“เรานำมุมมองที่หลากหลายและเป็นหนึ่งเดียวในวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรามุ่งมั่นเพื่อภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) มีสุขภาพดี ยึดมั่นด้วยค่านิยมประชาธิปไตย และไม่ถูกจำกัดด้วยการบีบบังคับ”

การแถลงการณ์ในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกตีความได้อย่างแน่นอนว่า ทั้ง 4 กำลังกล่าวถึงจีนและปฏิบัติการของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมักจะกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการที่ขัดแย้งกับแนวคิดเสรีและเปิดกว้างในการเดินเรือและการบินในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก เช่นเดียวกับที่ทั้ง 4 ประเทศมักจะโจมตีมหาอภิโครงการความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติของจีนภายใต้ชื่อ ‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “มีสภาพบังคับ”

ในย่อหน้าที่ 2 ผู้นำ The Quad ทั้ง 4 แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการแสวงหาพันธมิตรเพื่อปิดล้อมจีน ซึ่งในย่อหน้านี้พยายามจะชี้ว่า คนที่ the Quad ต้องการปิดล้อมไม่เคารพในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่นๆ โดยพันธมิตรที่ the Quad ต้องการหาพวกคืออาเซียน “We commit to work together and with a range of partners. We reaffirm our strong support for ASEAN’s unity and centrality as well as the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific.”

แล้วเครื่องมือที่จะใช้ในการโน้มน้าวให้อาเซียนเข้ามาเป็นพันธมิตรของ the Quad คืออะไร คำตอบอยู่ในย่อหน้าที่ 3 และ 4 นั่นคือ การสร้างความร่วมมือหลากมิติ โดยเฉพาะพยายามถ่วงดุลกับจีน ในประเด็นซึ่งจีนใช้ในการสร้างพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือพันธมิตรในการต่อสู้กับโควิด-19 และการใช้การทูตวัคซีน (Vaccine Diplomacy) โดยในเอกสารแนบกับแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ the Quad (Fact Sheet: Quad Summit) ได้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของ Johnson & Johnson ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดฉีดเข็มเดียวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอินเดีย ให้อินเดียผลิตวัคซีนจำนวน 1 พันล้านโดส โดยมีสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และมีออสเตรเลียเป็นผู้สนับสนุนด้านโลจิสติกส์ในการส่งวัคซีนดังกล่าวไปให้กับพันธมิตรสำคัญ ซึ่ง Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ แจ้งว่า พันธมิตรแรกที่จะจัดส่งวัคซีนไปให้คืออาเซียน

นอกจากประเด็นการแสวงหาทางให้อาเซียนเป็นพันธมิตรผ่านการทูตวัคซีนแล้ว ในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ The Quad ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง (อย่างค่อนข้างหมกมุ่น) กับประเด็นเดิมคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเสรีภาพที่เปิดกว้าง ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) และมีภูมิคุ้มกัน (Resilient) ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะในเรื่องของการเดินเรือ การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และการเคารพในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงกรณีเกาหลีเหนือและการลักพาตัวคนญี่ปุ่นโดยเกาหลีเหนือ 1 ประโยค และกล่าวถึงกรณีเมียนมา อีก 1 ประโยค ซึ่งค่อนข้างเบามากเมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของทั้ง 4 ผู้นำก่อนหน้านี้ โดยในกรณีเมียนมาผู้นำ the Quad กล่าวว่า:

“As long-standing supporters of Myanmar and its people, we emphasize the urgent need to restore democracy and the priority of strengthening democratic resilience.”

“ในฐานะผู้สนับสนุนประชาชนเมียนมามายาวนาน เราเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและถือว่าการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีภูมิคุ้มกันคือเรื่องที่สำคัญที่สุด”

ก่อนที่จะจบแถลงการณ์ มีการกำหนดว่า ผู้นำ The Quad จะกลับมาพบกันแบบเจอตัว เห็นหน้าค่าตา (in-person summit) กัน โดยไม่ใช้การประชุมทางไกลแบบ online ในช่วงปลายปี 2021 และจะให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 4 ประเทศเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง

ดังนั้น ถ้าจะให้สรุปการประชุมครั้งแรกของผู้นำ the Quad ออกมาเพียง 1 ประโยคคงต้องบอกว่า “จิตวิญญาณของ the Quad คือ จีนคือภัยซ่อนเร้น เพราะเราไม่เอ่ยถึงเขาตรงๆ แต่เราพูดเป็นนัยๆ ว่าเราต้องการปิดล้อมเขา โดยเราต้องหาเพื่อนมาช่วย และเพื่อนคนนั้นคืออาเซียน และเราจะเอาใจเพื่อนคนนี้โดยการให้วัคซีนโควิด-19 กับเขา”


อ่านแถลงการณ์ผู้นำ the Quad และเอกสารแนบได้ที่:

Quad Leaders’ Joint Statement: “The Spirit of the Quad”

Fact Sheet: Quad Summit

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save