ในภาวะที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกกดปราบลิดรอนอย่างหนักหน่วง บวกกับความขัดแย้งในสังคมที่ร้าวลึก และได้เดินทางมาถึงจุดล่อแหลมที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย เมื่อข้อถกเถียงและข้อเรียกร้องในสังคมได้ขยับขยายเพดานจนแตะถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นำพาให้บทบาทและจริยธรรมวิชาชีพของ ‘สื่อมวลชนไทย’ กำลังเดินทางมาถึงจุดที่ท้าทายยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ
ช่วง 1-2 ปีมานี้จึงเป็นห้วงเวลาที่คำถามถึงทิศทางการหันเหปรับตัวของบรรดาสื่อไทยดังกระหึ่มไปทั่วสังคม และคนหนึ่งที่สังคมสนใจอยากฟังมากที่สุดคงหนีไม่พ้น นักข่าวชื่อดังระดับแนวหน้าของเมืองไทยนามว่า ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’
ฐปณีย์คร่ำหวอดในวงการสื่อมวลชนอย่างโชกโชนมากว่า 20 ปี นับตั้งแต่สมัยที่สื่อโทรทัศน์ยังรุ่งเรือง เธอได้สร้างผลงานข่าวที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคมมาแล้วมากมาย และบ่อยครั้งตัวเธอเองก็ตกอยู่ในกระแสของสังคม กระทั่งปัจจุบันเมื่อสื่อโซเชียลมีเดียขยับเบียดชิงพื้นที่สื่อดั้งเดิมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ฐปณีย์ก็ขยับสู่สนามนี้ด้วยการก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ที่สามารถทำหน้าที่ความเป็นสื่อได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ
ความโดดเด่นในวงการสื่อของฐปณีย์ไม่ได้ปรากฏเพียงเบื้องหน้า บนหน้าจอโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังโชกโชนในเบื้องหลังที่เธอต้องพยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมาทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับอำนาจทุนหรืออำนาจรัฐก็ตาม
ท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมวลชนไทยกำลังรายล้อมไปด้วยโจทย์แห่งการเปลี่ยนแปลง 101 จึงชวนฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายการข่าวสามมิติ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ถอดประสบการณ์ มองพลวัตการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและภูมิทัศน์สังคมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมมองทิศทางการทำงานของสื่อ ในยุคที่วิชาชีพกำลังถูกท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมไทย

ในฐานะนักข่าวที่สังเกตการณ์บ้านเมืองจากขอบสนามกว่า 20 ปี คุณเห็นความเคลื่อนไหวของสังคมและการเมืองอย่างไรบ้าง
ถ้านับแต่เหตุการณ์ใหญ่ๆ ตั้งแต่เราเข้ามาเป็นนักข่าวปี 2543 เห็นความเป็นไปของสังคมตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยเต็มใบ มาจนถึงการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 เราได้ทำงานเป็นนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นนักข่าวในม็อบภาคประชาชน ตั้งแต่สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ไปอยู่กินกับม็อบ 2-3 เดือน เดินทุกถนนทั่วกรุงเทพ
ปีที่มีข่าวคดีซุกหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เราไปทำข่าวการชุมนุมเสื้อเหลืองในฐานะผู้สื่อข่าวช่องไอทีวี ปรากฏว่าเจอการขับไล่ เพราะตอนนั้นทักษิณมีประเด็นถือหุ้นไอทีวี แต่เราก็ยังยืนยันจะทำข่าวต่อไป จนเกิดรัฐประหารปี 49 รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ก็ขึ้นมา ต่อมาก็มีการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชนก็ชนะการเลือกตั้ง ก่อนจะลงจากตำแหน่งเพราะคดีสื่อ จากนั้นก็เปลี่ยนนายกฯ มาเป็นสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แล้วก็มีม็อบพันธมิตรกลับมาอีกครั้งเพื่อต่อต้านสมชาย เพราะเป็นน้องเขยของทักษิณ มีการปิดล้อมสภาเพื่อไม่ให้สมชายเข้าไปทำงาน จนกระทั่งมีการยุบพรรคพลังประชาชนที่นายสมชายเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ทำให้ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ซึ่งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วกลุ่มเสื้อแดงก็ลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วง กลายเป็นว่าพอฝ่ายนั้นเป็นรัฐบาล ม็อบการเมืองอีกฝ่ายก็มาต่อต้าน หมุนเวียนกันไปอย่างนี้ ช่วงนั้นเหมือนประเทศไทยอยู่ในทางตัน
แล้วถัดมา พอยิ่งลักษณ์ ชินวัตรชนะเลือกตั้ง ก็มีม็อบ กปปส.ขึ้นมาอีก จนกระทั่งมีรัฐประหารปี 57 ขึ้นมา เราก็อยู่ในเหตุการณ์ที่ถ่ายคลิปวินาทีรัฐประหาร มีรถตู้ออกมาจากสโมสรทหารบก
ขณะที่การเมืองในกรุงเทพมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองแบบนี้ มองย้อนกลับไปในปี 2547 ซึ่งตอนนั้นเป็นยุครัฐบาลทักษิณ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น สังคมไทยที่เรามองเห็นจากการทำข่าวมาโดยตลอด ไม่ได้มีแค่พลวัตการเมือง แต่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ยิ่งช่วงหลังที่มาทำข่าวสามมิติ เราได้ลงพื้นที่ไปทำข่าวชาวบ้าน เห็นความทุกข์ร้อนมากขึ้น ไปฟังเรื่องราวของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ทำให้เราได้เป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน
นอกจากนี้ เรายังมองเห็นปัญหาสิทธิมนุษยชนโลกที่เชื่อมมาถึงไทย เราถึงได้ติดตามเรื่องโรฮิงญา เรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งในตอนนั้นสังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยด้วยซ้ำ เราถูกด่าสารพัดเลย แต่ก็พยายามสู้ นำเสนอให้คนรู้ว่าทำไมเขาต้องลี้ภัย เพราะเราอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ถ้าเราไม่ทำหน้าที่บอกข่าว ส่งข่าวไป ปล่อยให้เขาไปสู่ความตาย เราก็ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ เราจะไม่สนใจใยดีต่อคนที่ตายอยู่ต่อหน้าเรา หรือกำลังจับมือเราแล้วจากกันไปเหรอ มันโหดร้ายเกินไปถ้าเราจะไม่มีความเป็นมนุษย์ในการรายงานข่าวเพียงเพราะเรากลัวจะถูกตำหนิ ซึ่งตอนนั้นเราก็เจอคำสั่งแทรกแซงไม่ให้นำเสนอข่าวนี้เช่นกัน โดนด่าว่าขายชาติ จนเศร้าเสียใจมาก แต่ก็สู้นำเสนอเรื่องนี้มาเรื่อยๆ เพราะอยากให้คนรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า การทำงานข่าวมีอะไรมากกว่าจะรายงานแค่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น หน้าที่นักข่าวมันมีมากกว่า What, When, Where, Why, How หรือใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่หน้าที่นักข่าวคือต้องสามารถบอกได้ว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น อะไรมันทำให้เกิดปัญหา แล้วจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร ไม่ใช่ไปสัมภาษณ์สองฝ่ายแล้วให้เขาตอบโต้กันเป็นปิงปอง
สิ่งที่นักข่าวควรทำคือทำให้เกิดความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ก็ต้องอยู่ร่วมกันด้วยการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยอมรับในความเป็นคนที่เท่ากัน ในแง่นี้คือไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร ถ้าคุณมองปัญหาหรือคนที่คิดต่างจากเรา ในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนมนุษย์ คุณก็สามารถคุยด้วยกันได้ และหาทางออกร่วมกันได้ เราตกผลึกเรื่องพวกนี้ได้จากประสบการณ์การทำข่าวการเมือง ที่ทำให้เราได้เห็นเรื่องราวความขัดแย้ง รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตลอด
นี่จึงเป็นที่มาที่เราทำ The Reporters คือ หนึ่ง–เราไม่ได้แค่รายงานข่าวแต่เราทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม สอง–เราสามารถสร้างพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สาม–เราทำงานทุกอย่างภายใต้หลักคิดของสื่อเพื่อสันติภาพ (peace media) เพราะเรามองว่าการเป็นนักข่าว ไม่ใช่รายงานให้คนมาด่ากันหรือเกิดความขัดแย้ง แต่มีพื้นที่ให้คนได้ถกเถียง ให้คู่ขัดแย้งได้สื่อสารกัน เป็นสื่อเพื่อสันติภาพที่นำไปสู่ทางออกและกระบวนการพูดคุย
แล้วการทำงานข่าวของสื่อในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนมาถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง
สื่อให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชนและการสร้างพื้นที่พูดคุยทางการเมืองมากขึ้น และสื่อก็ทำงานร่วมกันมากขึ้น แต่ก่อนไม่เคยมีพลังของสื่อออนไลน์ผนึกกำลังกันไปฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกกฎหมายช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา มันทำให้เรารู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้เห็นพลังของสื่อมวลชน เห็นความคิด และจุดร่วมเดียวกัน ทำให้เห็นว่ามันไม่ได้มีแค่เราหรือคนเพียงไม่กี่คนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน
สิ่งเหล่านี้เป็นการ empowerment สื่อด้วยกันเอง พอสื่อมาร่วมมือกัน ประเด็นต่างๆ ก็จะประสบความสำเร็จ อย่างที่เห็นได้จากเรื่อง #saveจะนะ พอมีประเด็น สื่อมาช่วยกันนำเสนอ สังคมสนใจ ทุกอย่างก็ช่วยขับเคลื่อนให้ปัญหาของจะนะได้รับความสนใจ แต่พอเป็นประเด็นที่สื่อไม่ได้มานำเสนอเยอะอย่าง #saveนาบอน มันก็ไม่มีพลัง
แม้เราจะเห็นพลังการทำงานร่วมกันของสื่อจนรวมตัวกันฟ้องพลเอกประยุทธ์ หรือแม้กระทั่งการนำเสนอเนื้อหาทะลุฟ้าอย่างปฏิรูปสถาบัน อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเสรีภาพสื่อไทยตกต่ำมาก คุณมองสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร
จริงๆ เรามองว่าในยุคพลเอกประยุทธ์ สื่อมีเสรีภาพนะ แต่ไม่ใช่เสรีภาพที่ให้มาจากรัฐ แต่เป็นเสรีภาพที่มาจากข้างในของสื่อเอง จากการที่สื่อกล้าพอที่จะรักษาเสรีภาพของตัวเอง แม้ว่าเราจะถูกคุกคาม ถูกติดตามตลอดเวลา อย่าง The Reporters เองตอนนั้นก็ติดอยู่ในลิสต์ที่จะถูกสั่งปิดในช่วงที่มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
สื่ออย่างเรากำลังถูกควบคุมโดยรัฐ จากที่เราทำงานทั้งออนไลน์และทีวี เราเห็นเลยว่าไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือสื่อทีวี ก็โดนควบคุมเหมือนกัน เราก็รู้ดีว่ามันไม่เคยมีเสรีภาพอยู่แล้ว บางข่าวถูกขอร้องไม่ให้ออก แต่เราเองต่างหากที่เป็นคนดื้อ ไม่ยอมที่จะไม่ให้นำเสนอข่าว และเรายอมรับในผลของมันว่าถ้าออกเรื่องนี้จะเจออะไรบ้าง เหมือนที่เราดื้อทำเรื่องโรฮิงญา เราถึงมองว่ามันไม่ใช่เสรีภาพที่เขาให้เรา แต่เป็นเสรีภาพที่เราเรียกร้องของเราเอง เพราะไม่มีเสรีภาพอยู่แล้วในยุคเผด็จการ อย่างที่เราเห็นว่าใครที่คิดออกมาพูด ออกมาแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ก็โดนคดีกันหมด หลายคนคิดต่างทางการเมืองกลายเป็นผู้ลี้ภัย ในฐานะประชาชนจึงถือว่าไม่มีเสรีภาพเลย
ปัจจุบันนี้คุณเห็นไหม พอเราทุกคนมีความกล้า คุณเห็นประชาไททำแบบนี้ได้ คุณเห็น The Reporters ทำนู่นนี่นั่นได้ แล้วเราทำสิ่งเดียวกันร่วมกันมันมีพลัง คุณไม่ต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว คุณอาจจะไม่ได้เห็นเสรีภาพได้มากขนาดนี้ ถ้าคุณร่วมสู้ด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่ยืนยันในเสรีภาพของเรา และไม่มีใครทำอะไรเราได้
อย่างกรณีที่สื่อไปฟ้องนายกฯ เราคิดว่านั่นคือตัวอย่างของการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน มันไม่มีอะไรยากเลย เราแค่ต้องทำมันออกมาแค่นั้นเอง แล้วสุดท้ายถ้าเรากล้ายืนหยัดในกรอบของเสรีภาพ กรอบวิชาชีพในจริยธรรมของเรา มีกฎหมายในการคุ้มครอง สังคมก็ย่อมเดินไปในทิศทางจับต้องได้ สื่อจึงมีหน้าที่มากกว่าแค่การรายงานข่าว มีหน้าที่มากกว่าแค่การกำหนดวาระทางสังคม แต่สื่อมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนสังคมด้วย

อะไรคือสิ่งที่ทำให้สื่อกล้าที่จะลงมือทำ ทั้งๆ ที่รัฐกุมอำนาจและกดทับไม่ให้สื่อนำเสนอเนื้อหาบางอยู่
สำหรับเรา เราอาจจะคิดว่ามันคือสิ่งที่เราทำมานานอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่มองเห็นในสื่อยุคนี้ บางทีก็ทำให้รู้สึกอายประชาชน เขากล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา แต่สื่อไม่ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิของประชาชน ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วจะมีสื่อไปทำไม ถ้าอย่างนั้น เราว่าอย่าเป็นสื่อมวลชนเลย
ลองคิดดูว่า เราเป็นนักข่าว มีหน้าที่รายงาน แต่ประชาชนเขาแชร์เรื่องนี้กันไปหมดแล้ว เขาพูดกันเองแล้ว อย่างเรื่องข้อเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ สื่อยังมานั่งคุยกันอยู่ว่าฉันจะพูดได้ไหม ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ แล้วอย่างนั้นเขาจะมาดูเราไปทำไม เราก็จะไม่มีความสำคัญอะไรในสังคมเลย
อันนี้น่าจะเป็นคำถามที่เราว่าสื่อทุกคนก็คิดได้นะในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นสื่อหลายๆ คนเลือกออกมาทำหน้าที่ของตัวเอง รักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง เพราะถ้าบอกว่ายุคนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ ใช่ เราก็เห็นแล้วว่าสังคมออกมารายงานประเด็นนี้ได้เอง แต่เรามักย้ำว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่สิ่งนี้จะเป็นสื่อมวลชนที่แท้จริง ถึงอย่างไรสังคมก็ยังจำเป็นต้องมีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตัวกลางในการสื่อสารประเด็นต่างๆ เมื่อไรก็ตามที่สื่อมวลชนทำหน้าที่นั้นไม่ได้ มันก็ไม่จำเป็นต้องมีสื่อมวลชน เราว่านั่นแหละเป็นเหตุผลที่ทำไมวันนี้ถึงเห็นสื่อกล้าทะลุเพดานกันมากขึ้น
ถ้าอย่างนั้นพูดได้ไหมว่า แรงหนุนจากประชาชนทำให้สื่อกล้าที่จะพูดด้วย
ใช่ เรามองว่าสื่อเรียนรู้จากประชาชน ถ้าคุณไม่ทำ ประชาชนเขาจะทำเอง ก็เลยเห็นพลังที่จะลุกทำ อย่างการเกิดขึ้นของ The Reporters เรายอมรับเลยว่าคนสนใจและรู้จักเพราะเราไปไลฟ์ในม็อบ คนก็มาติดตามมากขึ้นๆ ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีสื่อไลฟ์เรื่องนี้เยอะเลยนะ
ส่วนหนึ่งเราก็มองว่าเราเป็นอินฟลูเอนเซอร์หนึ่งของสื่อด้วย เพราะหลายคนจะมองว่า พี่แยมทำแล้ว พี่แยมพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันแล้ว เฮ้ย พูดได้ว่ะ ทุกคนก็เลยพูด เราเลยมองว่าบางเรื่องที่อยากจะให้คนมาทำข่าว เราจะพูดขึ้นก่อน เดี๋ยวเขาจะตามมาเอง
อย่างตอนทำข่าวปฏิรูปสถาบันในสื่อทีวี เราพูดได้เลยว่ารายการข่าวสามมิติเป็นที่แรกๆ ที่พูดคำนี้ในสื่อทีวี เพราะเหตุการณ์วันนั้นเกิดช่วงหัวค่ำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉะนั้นรายการข่าวสามมิติที่จัดตอนสี่ทุ่มครึ่ง จึงเป็นรายการแรกที่ออกข่าวนี้
ตอนนั้นคุณประเมินสถานการณ์อย่างไร ทำไมถึงคิดว่าต้องนำเสนอเรื่องนี้ในสื่อทีวี ไม่ใช่แค่รายงานใน The Reporters
ตอนนั้นสังคมกำลังจะเดินไปในทิศทางนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่พูดเรื่องนี้ เรามองว่านั่นก็คือข่าว คือปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ในช่วงแรกส่วนใหญ่ก็อาจไม่รู้ได้ว่ามันทำได้แค่ไหน เพราะมันมีเรื่องกฎหมาย เรื่องจารีตประเพณีที่ครอบอยู่ แล้วก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์หนึ่งคือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่อานนท์ นำภาเริ่มพูดเรื่องนี้ แล้วม็อบหลังจากนั้น อานนท์ก็พูดเรื่องนี้ตลอด
พอมีม็อบวันที่ 10 สิงหาคม เราก็เตรียมการศึกษาว่า ถ้าต้องออกข่าวเรื่องนี้ในทีวี เราจะทำอย่างไร เราก็ไปไปศึกษาในแง่กฎหมาย นี่อาจจะเรียกว่าการเซนเซอร์ตัวเองก็ได้ เพราะเรารู้ว่าในบริบททีวี เขาย่อมไม่ให้ออกแน่ แต่นั่นคือความพยายามหาช่องทางที่ทำให้เราทำหน้าที่ได้ภายใต้ข้อจำกัดและโครงสร้างที่เราอยู่
วันนั้นเราบอกพี่กิตติว่า “เขามีการยื่นข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อนะ จะให้พูดคำนี้หรือเปล่า” พี่กิตติก็ถามพี่กลับมาว่า “แล้วแยมจะเขียนอย่างไร” เราก็เขียนให้พี่กิตติดูว่า “บนเวทีพูดข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นายอานนท์ นำภา และแกนนำทุกคนยืนยันว่าเป็นการรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้าง”
เราอาจจะไม่สามารถพูด 10 ข้อได้ในทีวีเพราะว่าเวลาจำกัด เราก็เลยใช้วิธีสรุปประเด็นสำคัญ แต่ว่าสิ่งที่พูดไม่ได้บิดเบือนอะไร มันมาจากคำพูดของผู้ปราศรัยอยู่แล้วว่าต้องการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งก่อนหน้านั้นเราสัมภาษณ์อานนท์แล้ว เราก็เอาคำพูดเขามาเขียน ทั้งหมดนี้พี่กิตติโอเค แล้วบอกเราว่า “แยมรายงานเลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็รับผิดชอบร่วมกัน”

ข้อจำกัดของทีวีคืออะไรถึงทำให้ประเด็นการเมืองบางเรื่องไม่สามารถนำเสนอได้ และขยับตัวได้น้อยกว่าสื่อออนไลน์
หลักๆ คือตัวโครงสร้างทีวียังอยู่กับรัฐ อย่าง NBT เองก็เป็นของรัฐ หรือช่อง 9 ก็ยังถูกกำกับดูแลโดยรัฐ ส่วนช่อง 3 เป็นนายทุนเอกชนก็จริง แต่ก็มีสัมปทานกับ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ที่จริงทีวีของทุนบางครั้งก็เลวร้ายกว่าทีวีของรัฐด้วยซ้ำไป เพราะเขาต้องทำข่าวที่ได้เรตติ้ง ถ้าทำเรื่องนี้ แล้วคนไม่ดู ก็ไม่เอา
อย่างในข่าวสามมิติ เราฝ่าฟันกันสูงมาก พี่กิตติย้ำว่าเราต้องมีข่าวสิทธิมนุษยชน มีข่าวการตรวจสอบรัฐ เพื่อรักษาคุณภาพของเราไว้ แต่สุดท้ายก็มีเพดานอยู่ที่คำว่าเรตติ้งที่นายทุนเอามากำหนดอีกที เพราะข่าวสามมิติเป็นบริษัทนอกที่มารับจ้างผลิตให้ช่อง 3 ถ้าเราไม่มีเรตติ้ง โฆษณาไม่เข้า มันจะมีผลต่อการพิจารณาสัญญา นี่คือโครงสร้างของทีวีในประเทศไทย
แล้วก็ยังมีเรื่องการแทรกแซง มีการโทรมาขอไม่ให้ทำบางข่าว แต่ที่ผ่านมาเราก็ถือว่าพอทำได้ ต้องขอบคุณพี่กิตติที่มีจุดยืนชัดเจนในบางประเด็น คอยยืนหยัดว่าเราต้องออกอากาศ ต้องทำ แล้วช่องก็ให้โอกาสด้วยเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเจอปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็รับสภาพมาโดยตลอด แต่ถามว่ามันคุ้มกันไหมกับการที่เราให้ข่าวได้ออกอากาศ แล้วได้ช่วยเหลือผู้คน ได้เปลี่ยนแปลงสังคม ก็ถือว่าคุ้ม
ฟังแบบนี้แล้ว ที่คุณบอกว่าอยากทำ The Reporters ให้เป็นสำนักข่าวเพื่อสันติภาพ อยากรู้ว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมให้เราเป็นอย่างนั้นได้หรือยัง
เอื้อแล้ว (ตอบทันที) สิ่งที่เราทำใน The Reporters นี่แหละเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าสังคมไทยเราเอื้อแล้ว
แม้ว่าคุณจะถูกกีดกันการทำข่าวในม็อบ อย่างกรณีที่ดินแดง หรือ The Reporters อยู่ในรายชื่อที่ถูกสั่งปิดเพจ?
ตรงดินแดงก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน วันนั้นเราถูกตำรวจไล่ออกมา คนก็ถามว่าทำไมไม่อยู่ ไม่ใช่เราไม่อยากอยู่นะ แต่เราอยากให้สังคมเห็นเองว่าเขาทำแบบนี้กับสื่อ บางครั้งเราอยากทำให้คนเห็นว่าทำไมฐปณีย์ยอม เพราะอยากให้คนรู้ว่าเขาไล่ แล้วพอไม่มีสื่ออยู่ตรงนั้น สังคมก็จะเรียกร้องเอาเอง เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบคำถามเหมือนกัน ที่มาควบคุมสื่อและมาใช้กฎหมายในการที่จะจับกุม บางอย่างเวลาทำอะไรต้องมียุทธศาสตร์ อย่าลืมว่าการเงียบก็เป็นการต่อสู้เหมือนกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องการแยกสื่อมีสังกัด กับสื่ออิสระและสื่อออนไลน์ คือสื่อมีสังกัดจะไม่ถูกจับ เพราะเขาไม่มาทำงานในช่วงเคอร์ฟิว เลยกลายเป็นสื่ออิสระที่ทำหน้าที่แทน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง นี่เป็นปัญหาหนึ่งในวิกฤตสื่อมวลชนไทย คือมีการแบ่งแยกชนชั้นเกิดขึ้น
แต่ที่เรามองว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำสื่อสันติภาพแล้ว เราวัดจากความสำเร็จในแง่ความสามารถในการทำให้สังคมมองเห็นประเด็นเหล่านี้ การที่ The Reporters ได้รับการติดตาม มีประชาชนให้ความสนใจ ก็แสดงว่าคนจำนวนมากตระหนักถึงข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ในเชิงธุรกิจ เราจะยังทำงานกันต่อไปได้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคม เพราะต้องบอกตามตรงว่าเรายังไม่ได้ตอบโจทย์ในทางธุรกิจมากนัก ยอมรับเลยว่าบางทีเรายังหาเอกชนสนับสนุนยาก แต่เราต้องทำให้โมเดลการทำสื่อลักษณะนี้เกิดขึ้นให้ได้ในเชิงธุรกิจ คือเมื่อไหร่ก็ตามที่คนมาติดตามเรา ให้การยอมรับเรา แล้วมีองค์กรธุรกิจวิ่งหาเรา ยอมรับในสิ่งที่เราทำให้ได้ อย่างนั้นเราถึงจะอยู่ได้ มันก็ต้องสู้ไปในแนวทางนี้เหมือนกัน
อย่างที่เราเคยให้สัมภาษณ์ไปว่าจะขายขนมจีน หาเงินมาทำข่าว เพราะเงินทุนเราไม่ได้มาจากนายทุน แต่มาจากการหารายได้ของเรา เพราะเราพยายามทำให้คนได้มองเห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่สื่อมีอิสระทางความคิด อิสระจากทุน โดยที่สื่อมีทุนเป็นของตัวเอง สื่ออย่างเราก็จะสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ โดยไม่ต้องแคร์ทุนหรือรัฐ
แต่ในความเป็นจริง มันทำแบบนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เราอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ปฏิเสธทุน แต่เราต้องหาทุนในลักษณะที่ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างอิสระ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องหาโฆษณา ทำตามระบบ ทำงานเพื่อที่จะขอสปอนเซอร์ ซึ่งเงินที่ได้ก็มาจากกลุ่มทุนที่ยอมรับในความเป็นตัวของเราได้ และเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เราทำ แล้วเราก็ทำงานกันภายใต้เงื่อนไขสัญญาเท่านั้น

คุณมองอิสระในการทำงานของสื่อในอนาคตอย่างไรบ้าง เราจะไปต่ออย่างไรในภาวะที่ต้องพึ่งทุน และถูกจำกัดการทำงานบางอย่างโดยรัฐ
คนมักบอกว่าเราต้องมีประชาธิปไตยถึงจะมีเสรีภาพ แต่ในความเห็นเราคิดว่าไม่จริง เพราะต่อให้จะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ถ้าคุณทำงานแล้วคุณยอมอยู่ใต้อำนาจทางการเมือง ยอมให้เขามากดขี่ ข่มเหง คุกคาม แทรกแซงคุณได้ คุณก็ไม่มีเสรีภาพเหมือนกัน เพราะเราเคยผ่านมาแล้วในยุคที่ประชาธิปไตยเต็มใบ คือคุณอาจจะมองว่าประชาธิปไตยทำให้เรามีเสรีภาพ แต่เอาเข้าจริงแล้ว บางทีนักการเมืองที่ต้องการผลประโยชน์ก็ไม่ต่างกับเผด็จการทหารเหมือนกัน เพราะเขาก็มาแทรกแซงสื่อ
ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองรูปแบบไหนก็ไม่ได้แปลว่าความมีเสรีภาพจะมากหรือน้อยไปตามรูปแบบการปกครองนั้น ถ้าหากสื่อไม่ใช้เสรีภาพของเราให้มันเกิดขึ้นจริงเหมือนสิ่งที่เราพูด ที่ผ่านมาเราเห็นมาตลอดว่าไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนก็แทรกแซงสื่อกันหมด เพราะเขาไม่ยอมที่จะสูญเสียผลประโยชน์ เลยเหมือนกับว่าเราเองต้องยืนหยัดต่อสู้เรื่องนี้มาทุกยุคสมัย เราเลยเรียนรู้ว่า ตราบใดที่สถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ มันก็ยากที่จะไปเรียกร้องเสรีภาพสื่อจากใคร แต่ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด เราต้องเรียกร้องเสรีภาพสื่อจากในตัวเอง
ถ้าเราต้องรีเซ็ตวงการสื่อใหม่ คุณคิดว่าสื่อมวลชนต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ไม่มีอะไรมาก กลับมาทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้สมกับคำว่าสื่อมวลชน แค่นั้นเอง กลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ย้อนกลับไปสิ่งที่เราเคยพูด ในเมื่อประชาชนกล้าส่งเสียง แต่ถ้าเราไม่กล้าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ก็อย่าเป็นเลย สื่อมวลชน
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world