fbpx
ประวัติศาสตร์สอนอะไร - ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ประวัติศาสตร์สอนอะไร – ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ปาฐกถา ประวัติศาสตร์สอนอะไร: ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย
ปาฐกถาเนื่องในวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวาระ ’72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ทำไมถึงเรียนวิชาประวัติศาสตร์

 

ผม สอน วิชาประวัติศาสตร์ก่อนจะ เรียน วิชาประวัติศาสตร์ ผมเข้าสู่วงการวิชาการในมหาวิทยาลัยในสถานการณ์พิเศษที่ไม่ปกติในปี 2518 ด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากนิตยสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ผมเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการถูกให้ยุติการตีพิมพ์ ผมจึงตกงาน เมื่อมีอาจารย์อาวุโสชวนให้ขึ้นไปเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาประวัติศาสตร์ ผมก็ตกลงรับคำชวนนั้นโดยไม่กังวลว่าภูมิหลังและความถนัดของผมนั้นคือรัฐศาสตร์

ที่ผมไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าจะไปสอนวิชาประวัติศาสตร์ดีหรือไม่นั้น ต้องเล่าถึงบรรยากาศทางวิชาการตอนนั้นซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผมอย่างมาก ด้านหนึ่งคือ ความกระตือรือร้นและแรงบันดาลใจในการผลิตงานด้านประวัติศาสตร์ไทยและอื่นๆ ออกมามาก โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษา อีกด้านหนึ่งคือ การวิพากษ์และชี้นำทิศทางที่วิชาการควรดำเนินไป ทั้งหมดเป็นผลจากพลังและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนมาเป็นระลอกนับแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา

ในตอนนั้นการพูดถึงวิชาการว่าเป็นความรู้ที่เป็นกลางและมีสถานะที่เหมือนอยู่เหนือการเมืองนั้นถูกวิพากษ์และวิจารณ์ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติที่ก้าวหน้า จนไม่อาจยืนหยัดเป็นแนวทางที่ถูกต้องได้อีกต่อไป สถานการณ์ขณะนั้นคือการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและในขอบเขตทั่วโลก มีการเปลี่ยนระบอบรัฐบาลไปเป็นของประชาชนมากขึ้น อำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตถูกโจมตีถอยร่นและพังพินาศไป ต่อหน้าเราคือการเติบโตและความเข้มแข็งของขบวนการปฏิวัติของประชาชน

 

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารเล่มสำคัญที่มีบทบาทสร้างความตื่นตัวทางประวัติศาสตร์

 

ทั้งหมดนี้ทำให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่ก้าวหน้าและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างทันการณ์ การเรียนประวัติศาสตร์ขณะนั้นจึงมีพลังและชีวิตชีวา แต่ก็สร้างปัญหาและความลำบากให้แก่ผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง  ในภาควิชาประวัติศาสตร์ที่ผมสังกัดอยู่มีการแบ่งค่ายออกเป็นฝ่ายก้าวหน้าเอียงซ้ายซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย (3 คน) กับฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ อาจารย์ประวัติศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่งกล่าวเปรยๆ ถึงการสอนประวัติศาสตร์ของผมว่า ไม่ได้สอนประวัติศาสตร์เท่าไร หากแต่สอนการเมืองเสียมากกว่า

การรับรู้วิชาประวัติศาสตร์ผ่านการสอนของผมจึงดำเนินไปท่ามกลางการปฏิบัติที่เป็นจริงร่วมกับบรรดานักศึกษาและนักกิจกรรมต่างๆ กระทั่งรวมไปถึงบรรดาแกนนำและสมาชิกของสหพันธ์ชาวนาภาคเหนือ  ผมซึมซับวิญญาณของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกใหม่ของประชาชน ว่าเป็นหัวใจของวิชาประวัติศาสตร์และอื่นๆ ได้ หรือจะพูดให้ไพเราะหน่อยก็คือ วิชาความรู้คือความก้าวหน้าของคนและโลกผ่านการดัดแปลงโลกและตัวเอง

องค์ความรู้แบบปฏิวัติเหล่านี้ได้รับการรองรับด้วยทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย นั่นคือลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งอธิบายวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และโลกอย่างเป็นระบบในทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ (dialectical materialism) และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) โดยมีพลังของการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในแต่ละยุคสมัยใหญ่ๆ ของประวัติศาสตร์ กล่าวคือเริ่มจากสังคมบุพกาล ขยับขึ้นมาเป็นสังคมครองทาส แล้วยกระดับเป็นสังคมฟิวดัลหรือศักดินาสวามิภักดิ์ ก่อนจะพัฒนาเข้าสู่การเป็นสังคมทุนนิยมที่เป็นยุคสมัยใหม่ไปทั่วโลก  ยุคนี้เองที่ได้สร้างชนชั้นกรรมาชีพที่ก้าวหน้าที่สุดขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติอันสำคัญยิ่งในบันไดห้าขึ้นนี้ นั่นคือการสร้างสังคมนิยม ซึ่งเป็นขั้นแรกของสังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ

เพื่อตอบคำถามให้กับตัวเองและคนอื่นๆ ในการทำความเข้าใจทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ผมจึงเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง ปรัชญาประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์ ในต้นปี 2519 เพื่อตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ฉบับเดือนตุลาคม [1]

 

หนังสือ ปรัชญาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีบทความ “ปรัชญาประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์” ของธเนศ ตีพิมพ์อยู่ในเล่ม

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมยังไม่ได้ลงมือกระทำอย่างจริงๆ ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ก็คือ การลงไปค้นคว้าหาความจริงหรืออดีตจากหลักฐานชั้นต้น นี่เป็นคุณสมบัติหรือเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของนักประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นคำขวัญของสำนักประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งไปว่า “ประวัติศาสตร์ที่ขาด พ.ศ. ก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์” ซึ่งผมคิดว่าเป็นการนิยามหลักฐานชั้นต้นที่แคบและผูกมัดตัวเองมากเกินไป คติดังกล่าวเกิดมาเพราะผู้ทำงานประวัติศาสตร์ไม่ต้องการให้มีการตีความหรืออ่านประวัติศาสตร์ที่ออกนอกลู่นอกทางมากเกินไปนัก  ตรงกันข้ามด้วยสภาพการทำงานและการสอนที่ตกอยู่ท่ามกลางความเชื่อและความเข้าใจที่แตกต่างกระทั่งแตกแยกกันอย่างมากระหว่างฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายอนุรักษ์ฯ ทำให้ผมมองเห็นถึงความสำคัญของการตีความและการสร้างคำพรรณนา (narrative) อธิบายความจริงของเหตุการณ์ในอดีตอย่างมาก

ในช่วงนั้นหนังสือที่ทรงอิทธิพลและมีพลังทางการเมืองสูงยิ่งคือ “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์) กล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่ออกมาวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยและนักประวัติศาสตร์ไทยที่นำเสนอประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์  จากนั้นจิตรก็เสนอทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างครบเครื่อง โดยดูทั้งรากฐานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปถึงโครงสร้างชั้นบนคือการเมืองและสังคมวัฒนธรรม  แต่ที่จิตรโดดเด่นและเหนือกว่านักประวัติศาสตร์อื่นๆ ก็คือการที่เขาเข้าถึงและรู้ถึงข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นจำนวนมากและหลากหลายยิ่ง เขาสามารถอ่านภาษาขอมอันเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยได้ โดยไม่มองข้ามความสำคัญของภาษาชนชาติทั้งมอญ พม่า ลาว ถึงจีน  นี่คือหนทางเดียวกันกับที่นักคิดนักปรัชญายุโรปใช้ภาษาละตินในการฟื้นฟูศิลปวิทยาจากยุคกรีกโรมัน ก่อนจะเข้าสู่ยุคแสงสว่างและโลกสมัยใหม่

สำหรับผม การที่จิตรสร้างภาพของการมีชนชั้นศักดินาที่กดขี่ขูดรีดชนชั้นไพร่และทาสนั้น ไม่ตื่นเต้นมากเท่ากับการอ่านหลักฐานและตัวอย่างของการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ที่เขารวบรวมมาได้ เพราะจะหานักวิชาการที่สามารถทำอย่างจิตรได้นั้นยากเย็นแสนเข็ญ เพียงแค่อ่านแหล่งที่มาและเอกสารโบราณที่เขาค้นพบและตีความพร้อมอธิบายความหมายให้ด้วย ก็ได้ความรู้ใหม่และเห็นถึงการคลี่คลายขยายตัวของรัฐสยามไทยได้เป็นอย่างดี นี่คือการสร้างองค์ความรู้ในประวัติศาสตร์ไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ประเทศนี้เคยมี

จิตรยังจุดประเด็นที่ทำให้เกิดการวิวาทะในเวลาต่อมา ด้วยการเสนออย่างหนักแน่นว่า สังคมไทยสมัยสุโขทัยนั้นเป็นสังคมทาส การเสื่อมสลายของระบบทาสจึงมาพร้อมกับการเกิดสังคมศักดินาในกรุงศรีอยุธยา  ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่างานของจิตรนำมาซึ่งการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งต่อต้านคัดค้านจากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วยอย่างมาก แต่ในยุคเดือนตุลาฯ นั้น ฝ่ายวิพากษ์และคัดค้านวาทกรรมวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบของจิตรมีน้อยและไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่า  มันเหมือนกับ “กงล้อประวัติศาสตร์” เริ่มขยับและค่อยๆ เคลื่อนออกไปข้างหน้า ใครที่หาญออกมาขวางก็มีแต่จะถูกกงล้อบดขยี้ไปเท่านั้น

ผมเขียนบทความวิชาการชิ้นแรกในแนวทางวัตถุนิยมประวัติศาสตร์เรื่อง “ระบบแรงงานไทยในอดีต: จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2″ [2] งานเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นแรกนี้คือความพยายามที่จะพิสูจน์ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ด้วยการค้นหาว่าสังคมไทยในอดีตนั้นได้มีการต่อสู้ทางชนชั้นหรือไม่  กล่าวได้ว่างานเขียนทางวิชาการในระยะนั้นสามารถก้าวพ้นจากอิทธิพลและการครอบงำของทฤษฎีความรู้แบบลัทธิอาณานิคมตะวันตกและลัทธิเสรีนิยมของชนชั้นกระฎุมพีได้

แต่เราก็พบข้อจำกัดและรับเครื่องพันธนาการใหม่ที่มากับทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ฉบับที่มีการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้องในฝ่ายก้าวหน้าไป นั่นคือการที่วิธีวิทยาของลัทธิมาร์กซ์สมัยนั้นเป็นทฤษฎีที่สร้างใหม่ให้เป็นแบบปฏิวัติเท่านั้น เนื่องจากความขัดแย้งใหญ่ในโลกระหว่างรัฐทุนนิยมกับสังคมนิยมกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด  ลัทธิมาร์กซ์ถูกตีความและให้อรรถาธิบายมาโดยพรรคปฏิวัติใหญ่เช่นพรรคบอลเชวิก (เลนิน) มาถึงพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชีย (เหมา) ทำให้ความลุ่มลึกและซับซ้อนในความคิดและการตีความของมาร์กซ์เองไม่เป็นที่รับรู้และศึกษากันเลย  ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ที่เราใช้และรู้จักกันนั้นจึงมีลักษณะด้านเดียวและอัตวิสัยที่ไม่วิภาษวิธีและภววิสัย กลายเป็นลัทธิคัมภีร์ไปเสียเป็นส่วนมาก

 

หนังสือ สังคมและการเมืองไทย ซึ่งมีบทความ “ระบบแรงงานไทยในอดีต” ของธเนศ ตีพิมพ์อยู่ในเล่ม

 

ผมคิดว่าจิตรในเวลาต่อมาตีประเด็นเรื่องทฤษฎีกับการปฏิบัติได้ ในหนังสือเรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”  (โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 2519) นิพนธ์เล่มสำคัญนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงถึงพัฒนาการของการค้นคว้าและศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่หลุดพ้นจากเพดานและกรอบทฤษฎีคับแคบทั้งหลาย เมื่อเปรียบเทียบกับเล่มแรกคือ “โฉมหน้าศักดินาไทยฯ” ซึ่งเขาเดินตามกรอบทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์อย่างเต็มที่ ในเล่มหลัง “ความเป็นมาฯ” จิตรหันมาให้ความสนใจไปที่ข้อมูลรายละเอียดทางนิรุกติศาสตร์และสังคมวิทยาของชนชาติผ่านชื่อ เป็นแนวทางลัทธิมาร์กซ์ที่ถ้าพูดในศัพท์ที่ใช้ในเวลาต่อมาคือ เป็นความคิดของมาร์กซ์ที่เป็นมนุษยนิยมและเป็นมาร์กซ์สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม อันได้แก่งานชุดต้นฉบับว่าด้วยเศรษฐศาสตร์และปรัชญา (Economic and Philosophic Manuscripts of 1844)

 

หนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ สองเล่มที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างสูงยิ่ง

 

เมื่อต้องไปเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา

 

เมื่อผมตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐฯ ในปี 2525 ด้วยสถานการณ์ที่ไม่อำนวยให้ผมเลือกวิชาที่อยากเรียน คือประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งไม่ต้องเริ่มต้นใหม่มาก ผมก็ตกลงรับข้อเสนอในการเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา เพราะศรัทธาในคุณสมบัติและชื่อเสียงของอาจารย์ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและต้นผีให้ผม นั่นคือ ศาสตราจารย์ ยูยีน เยโนเวซี (Eugene D. Genovese) นักประวัติศาสตร์อเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทาสผิวดำ ซึ่งเป็นนักลัทธิมาร์กซ์ด้วย อันหลังเป็นเงื่อนไขที่ดึงดูดผมมากกว่าอันแรก (Genovese 1965)

คำถามแรกที่คนมักเอ่ยถาม เมื่อผมแนะนำตัวเองในหมู่นักศึกษานานาชาติที่มาเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสหรัฐฯ ไม่ว่าในที่ชุมนุมสังสรรค์ งานปาร์ตี้ หรือในบ้านเพื่อนหรือคนรู้จักกันคือ “ทำไมถึงเลือกเรียนประวัติศาสตร์อเมริกา” ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนใหญ่ของนักศึกษานานาชาติโดยเฉพาะจากอุษาคเนย์ พวกเขาและเธอส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเลือกเรียนเรื่องราวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย จำนวนมากเลือกเรียนเกี่ยวกับประเทศที่พวกเขาจากมา ไม่มีใครสนใจหรือเรียนเรื่องของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าในด้านใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมองผาดๆ ก็เห็นแล้วว่าแทบไม่มีอะไรท้าทายหรือต้องไปถกเถียงกันให้เสียเวลา ใครที่ดูหนังฮอลลีวูดมากพอ ก็พอรู้แล้วว่าอเมริกามีประวัติความเป็นมาและความขัดแย้งอะไร ถ้ารู้เรื่องสงครามปฏิวัติเพื่อเอกราชกับสงครามกลางเมืองระหว่างเหนือกับใต้ ก็ถือว่ารู้ประวัติศาสตร์อเมริกาเกือบหมดแล้ว ทำไมต้องไปเรียนอีก

ผมไม่ค่อยให้คำตอบจริงๆ แก่ผู้ถาม เพราะเรื่องมันยาวและซับซ้อนด้วยการเมืองของไทยสมัยนั้น กล่าวอย่างสั้นๆ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน แนะนำว่าผมควรกลับไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester) ซึ่งผมเคยไปเรียนก่อนแล้วตอนปริญญาตรี เพราะทำให้การกลับไปต่อระดับโทเอกไม่ยากจนเกินไป เมื่อผมเดินทางไปถึงสหรัฐฯ อาจารย์เบนก็จัดการพาผมไปแนะนำตัวให้รู้จักกับอาจารย์ที่ผมจะไปเรียนด้วยที่โรเชสเตอร์ เขาคือศาสตราจารย์ ยูยีน เยโนเวซี กับภรรยา อลิซาเบ็ธ ฟอกซ์-เยโนเวซี (เบ็ตซี่) นักประวัติศาสตร์ชื่อดังในเรื่องทาสอเมริกันผิวดำและสตรีศึกษา (Fox-Genovese and Genovese 1983)

 

หนังสือของ Eugene Genovese และ Elizabeth Fox-Genovese อาจารย์สามี-ภรรยา ผู้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตวิชาการด้านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาของธเนศ

 

เหตุผลสำคัญอันหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นหลักที่สุดก็ได้) ที่อาจารย์เบนตัดสินใจเลือกให้ผมไปมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และไปพบอาจารย์ยูยีน เพราะว่าเขาเป็นนักลัทธิมาร์กซ์ที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่แบบลัทธิคัมภีร์หรือ “ซ้ายไร้เดียงสา” น่าจะเข้าใจภูมิหลังและประสบการณ์ของผมในขบวนการฝ่ายซ้ายไทยได้เป็นอย่างดี  แม้อเมริกาจะมีเสรีภาพทางความคิดอะไรมากมายก็ตาม แต่ถ้าได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่กลัวคอมมิวนิสต์และเกลียดฝ่ายซ้าย ชีวิตคุณก็จะลำบากและอาจไม่ได้ผุดได้เกิดเหมือนกัน

ยูยีนดูแลพวกเรานักศึกษาที่ตั้งใจศึกษาเรื่องระบบทาสอเมริกันกับแกอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง จนเราแกล้งล้อว่าแกทำตัวเหมือนเป็น “พ่อบ้าน” คือนายทาสยุคโน้น ในขณะที่เบ็ตซี่ให้การช่วยเหลือด้านกำลังใจและการแก้ปัญหากับระบบ ต่อมาผมรู้ว่าภาคประวัติศาสตร์ที่โรเชสเตอร์จะไม่ให้ทุนเรียนต่อในปีต่อไป ขณะนั้นศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ แลช (Christopher Lasch) เป็นประธานโครงการปริญญาเอก และเป็นคนพิจารณาการให้ทุนแก่พวกเรา ใครๆ ในวงการประวัติศาสตร์อเมริกันขณะนั้นก็รู้กันว่า คริสโตเฟอร์ แลช กับเบ็ตซี่และยูยีนนั้น ไม่ถูกกันอย่างมาก จนกลายเป็นสองค่าย ทั้งๆ ที่สองฝ่ายต่างเป็นยักษ์ใหญ่ของประวัติศาสตร์อเมริกันด้วยกัน เป็นนักประวัติศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้า

เมื่อผมเป็นลูกศิษย์ของยูยีน โอกาสที่จะได้ทุนต่อก็เป็นเรื่องยาก ยิ่งคะแนนปีแรกไม่ดีด้วย ก็ง่ายที่เขาจะลบชื่อออกไป ยูยีนกับเบ็ตซี่ปรึกษากันและตกลงว่าผมควรย้ายจากโรเชสเตอร์มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก บิงแฮมตัน (SUNY-Binghamton) ดีกว่า เพราะตอนนั้นเบ็ตซี่เพิ่งได้ตำแหน่งเป็นประธานโครงการปริญญาเอก และเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของบิงแฮมตันในด้านสตรีศึกษา เมื่อผมย้ายมาบิงแฮมตัน ผมก็ได้ทุนปริญญาเอกเต็มที่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำงานเป็นผู้ช่วยสอนและตรวจข้อสอบนักศึกษาปริญญาตรีในวิชาศึกษาทั่วไปที่เธอสอนด้วย นั่นคือ Sex and Power in American Film

ในช่วงสุดท้ายของการเขียนวิทยานิพนธ์ ผมกลับไปเป็นอาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก และขอทุนฮาร์วาร์ด-เยนชิง (Harvard-Yenching) เพื่อกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด เบเกอร์ จากฮาร์วาร์ด-เยนชิง มาสอบสัมภาษณ์ผม เมื่อรู้ว่าผมเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ทาสอเมริกัน เขาถามว่าผมรู้จักนักประวัติศาสตร์ทาสอเมริกันที่โด่งดังชื่อ ยูยีน เยโนเวซี ไหม เพราะเขาคิดจะแนะนำให้ผมไปปรึกษากับเขา เมื่อผมตอบว่ารู้จัก เพราะเขาก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผมอยู่แล้ว เท่านั้นเองผมก็รู้ว่าผมได้รับทุนวิทยานิพนธ์ฮาร์วาร์ด-เยนชิงแน่ๆ เพราะ ดร.เบเกอร์ รู้สึกปลื้มปิติมากกับคำตอบที่เป็นบวกของผม

ทั้งยูยีนและเบ็ตซี่กระทำในสิ่งที่คล้ายกัน คือการวิพากษ์สำนักคิดและการปฏิบัติที่ทั้งคู่เติบโตมา ในกรณีของยูยีน เขาได้วิพากษ์นักวิชาการมาร์กซิสต์ทั้งหลาย มากกว่าการวิจารณ์พวกอนุรักษนิยมที่เป็นนายทาสเสียอีก จนพวกหัวเสรีนิยมก้าวหน้าทั้งหลายพากันตอบโต้เขาด้วยการขึ้นป้ายว่าเขานั้นกลายเป็นนักลัทธิแก้และอนุรักษนิยมแบบนายทาสที่เขาศึกษามานั่นแหละ  ในขณะที่เบ็ตซี่ก็ทำการวิพากษ์บรรดานักวิชาการเฟมินิสต์ที่เธอช่วยปลุกปั้นขึ้นมา ที่มหาวิทยาลัยเอมอรี่ เธอเป็นคนแรกที่ตั้งโครงการปริญญาเอกด้านสตรีศึกษาขึ้นมาในสหรัฐฯ แต่เธอก็เป็นคนที่นักเฟมินิสต์ทั้งหลายรับไม่ได้มากที่สุด

 

ประวัติศาสตร์อเมริกาสอนอะไร

 

สิ่งแรกที่คนเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาที่ไปจากประเทศโลกที่สามรู้สึกคือ คนที่เป็นเจ้าของและผู้สร้างประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่คนส่วนน้อยที่มีอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจแต่เพียงกลุ่มเดียว จริงอยู่ที่บรรดาผู้นำการเมืองเหล่านั้นยังมีบทบาทอยู่ในเรื่องราวที่มีการพูดและเขียนถึงกันในหนังสือมากกว่าราษฎรสามัญชนทั่วไป ยังมีเรื่องและให้ความสำคัญแก่ผู้ชายมากกว่าหญิง รวมถึงคนผิวขาวที่เป็นพวกแองโกล-แซกซอนมากกว่าคนจากยุโรปตะวันออกและไอร์แลนด์ คนที่นับถือศรัทธาในลัทธิโปรเตสแตนต์มากกว่าคาทอลิก แต่เนื้อหาโดยรวมก็พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยึดโยงกับประชาชนส่วนข้างมาก ทำให้สรุปในชั้นต้นได้ว่า ประวัติศาสตร์อเมริกาโดยแก่นแกนแล้วคือประวัติศาสตร์ของประชาชน ซึ่งในระดับอุดมการณ์คืออำนาจอันชอบธรรมเป็นของและมาจากประชาชน นั่นคือที่มาของความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกา ทั้งหมดนี้นับจากวันประกาศเอกราชในปี 1776 ถึงปัจจุบัน ไม่มีใครและสถาบันอะไรสามารถโค่นล้มหรือชำระล้างแล้วเขียนใหม่ตามใจตนเองได้

ประการที่สอง ประวัติศาสตร์อเมริกาสอนเราว่า ประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่กลางในการเรียนรู้และสร้างสำนึกร่วมกันของความเป็นปัจเจกบุคคลและชุมชน ศัพท์สมัยใหม่ที่ใช้กันในปัจจุบันคือ “อัตลักษณ์” เป็นสิ่งที่คนอเมริกันจากหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และประเทศ ต่างค้นหา ต่อสู้ และรักษาความเป็นตัวตนเอาไว้ ในขณะที่ก็เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย  สหรัฐฯ โชคดีที่เมื่อเริ่มการเคลื่อนไหวปฏิวัติจากอังกฤษ ความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้าได้ก่อรูปขึ้นแล้ว คำประกาศเอกราชที่ระบุว่า “คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน” และคนทุกคนมี “สิทธิทางธรรมชาติในชีวิต ทรัพย์สิน และการแสวงหาความสุข” เป็นคำประกาศที่รองรับและเปิดโอกาสให้แก่คนทุกคนในการเป็นอิสระและเป็นเจ้าของตนเองอย่างกว้างขวางที่สุด ใครที่คิดจะแก้หรือบิดเบือนคำประกาศนี้ต้องทำงานหนักมากจึงจะประสบความสำเร็จได้

แน่นอน อุดมการณ์ที่รองรับคำประกาศเอกราชนี้ไม่ได้หมายความว่าสังคมอเมริกันจะไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ในความเป็นจริง ตั้งแต่ตอนที่บิดาผู้ก่อตั้งประเทศประกาศอุดมการณ์ปฏิวัตินี้ มีคนอเมริกันที่ไม่ได้รับความเสมอภาค ไม่ได้รับความยุติธรรม และไม่ได้รับความเป็นมนุษย์ อยู่ไม่น้อยจากประชากร 3 ล้านคนในอาณานิคม คน 6 แสนคนเป็นทาสผิวดำหรือนิโกรที่ถูกบังคับซื้อมาเป็นทาสในอาณานิคมทั้งหลายของยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นในทวีปอเมริกาใต้และเวสต์อินดิส รวมทั้งในภาคใต้สหรัฐฯ กระทั่งหลังสงครามกลางเมืองมาอีกศตวรรษ รัฐบาลอเมริกันจึงยอมให้สิทธิพลเมืองอย่างแท้จริงแก่พวกอดีตลูกหลานทาสผิวดำ

สุนทรพจน์ที่เป็นปาฐกถากลางแปลงของสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เป็นคำปราศรัยที่ผมประทับใจมากที่สุดและใช้เปิดให้นักศึกษาฟังในห้องเรียน เต็มไปด้วยพลัง ความฝันในอุดมการณ์เสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนต่างสีผิว หลอมรวมเอาอุดมการณ์ยุคปฏิวัติอเมริกาเข้ากับการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำได้อย่างงดงาม

 

 

การได้ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คนผิวดำยุคระบบทาส ทำให้ผมซึมซับมิติและความซับซ้อนของปัญหาการกดขี่ทางเชื้อชาติและสีผิว (racism) ว่ามันไม่ใช่ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ หรือการศึกษาอย่างเดียว หากมันเป็นผลรวมและเต็มไปด้วยพลวัตการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนกับว่าความขัดแย้งนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อการแก้มากเท่ากับเป็นการผลักดันให้เกิดความคิดและการปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อที่คนรุ่นใหม่จะได้สร้างสังคมใหม่ที่เป็นของพวกเขากันเองขึ้นมา แต่ที่สำคัญในกรณีของคนแอฟริกันอเมริกันคือ การที่พวกเขาใช้และต่อยอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ กับประวัติศาสตร์ของคนผิวดำไปด้วยกันตลอดเวลา

ดังที่ปัญญาชนคนสำคัญของคนแอฟริกันอเมริกัน วิลเลียม ดูบัวส์ ได้กล่าวไว้ในปี 1903 ว่า “คนอเมริกันนิโกรมีความรู้สึกตลอดเวลาถึงทวิลักษณ์ในตัวเขาเอง การเป็นอเมริกันกับการเป็นนิโกร สองวิญญาณ สองความคิด สองความพยายามไขว่คว้าที่ไม่อาจเข้ากันได้ … ประวัติศาสตร์ของอเมริกันนิโกรคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้นี้ ของการวาดฝันถึงการบรรลุจิตสำนึกของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ของการผสานกายทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเพื่อทำให้มันเป็นตัวตนที่ดีกว่าและจริงกว่า … เขาเพียงแต่ตั้งความหวังที่จะทำให้มนุษย์คนนี้เป็นทั้งคนนิโกรและเป็นคนอเมริกัน” (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2550)

สุดท้ายในเรื่องบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทาสผิวดำคือ ฐานะและบทบาทของวรรณกรรม (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2556)  การตายของโทนี่ มอริสันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ทำให้มีผู้คนสนใจและประเมินบทบาทและผลสะเทือนของวรรณกรรมนักเขียนผิวดำอีกครั้ง ในที่นี้ผมขอพูดสั้นๆ ในส่วนที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ว่า โทนี่ มอริสันไม่ใช่คนแรกที่ใช้ประวัติศาสตร์คนดำโดยเฉพาะยุคทาสมาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นข้อมูลชั้นต้นในการสร้างนวนิยายที่ฉีกมุมออกไปทั้งรูปแบบ ภาษา สำนวนและไวยากรณ์ ข้อคิดที่ผมว่ามีคุณูปการอย่างมากต่อการเขียนสร้างงานทางประวัติศาสตร์คือการทำลายประวัติศาสตร์ “ที่เป็นเอกภาพที่มีแต่กาลอันว่างเปล่า” (homogeneous, empty time) ลงไป แทนที่ด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เป็นปัจจุบันกับอดีตและอนาคตอย่างไม่ใช่เส้นตรง ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็คือนิยายเรื่อง Beloved ซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1988

กล่าวโดยสรุป แกนอันเป็นวิญญาณของประวัติศาสตร์อเมริกาคือการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเฉพาะของคนระดับกลางและล่างในสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ สหรัฐอเมริกากำเนิดมาจากการเป็นอาณานิคมหนึ่งของจักรภพอังกฤษ บรรดาผู้คนรุ่นแรกๆ ที่อพยพไปตั้งรกรากในอาณานิคมนี้มาจากคนชั้นล่าง รวมถึงนักโทษ นักแสวงโชค พวกที่มีการศึกษามาจากกลุ่มนิกายโปรเตสแตนต์ที่ถูกปราบปรามจากรัฐบาลที่มีกษัตริย์เป็นคาทอลิก และพวกลูกขุนนางคนเล็กที่ไม่ได้สืบทอดมรดกทรัพย์สิน กล่าวโดยรวมคนอังกฤษที่เดินทางไปตั้งหลักฐานในอาณานิคมอเมริกาเป็นคนที่ไม่มีฐานะและไร้ฐานันดรของระบบฟิวดัล เรียกว่าเป็นคนไร้รากก็คงได้ คนเหล่านี้จะก่อรูปเป็นพื้นฐานทางสังคมให้แก่ระบอบการเมืองการปกครองของสหรัฐฯ ต่อไป จากนั้นมีผู้อพยพจากทวีปต่างๆ ทยอยกันเดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างไม่ขาดสาย จนทำให้สังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมพหุนิยมที่ผสมหลอมรวมชนชาติต่างๆ เข้ามากลายเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน ชาวอาณานิคมเริ่มการปกครองกันเองในระดับชุมชนท้องถิ่น ก่อนจะเกิดอำนาจรัฐส่วนกลาง นี่เองที่เป็นจุดเด่นของการที่สังคมในอเมริกามีฐานะและความเป็นมาที่เก่าแก่กว่ารัฐ อีกทั้งสังคมก็เกิดจากการรวมกลุ่มกันของปัจเจกบุคคล ทำให้ระบบและอำนาจการเมืองขึ้นต่อสังคมและปัจเจกชนไม่ใช่ต่อฐานะและชาติตระกูล

 

หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกาของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

 

หุบเหวของประวัติศาสตร์ไทย

 

ความจริงแล้วผมไม่มีความจำเป็นต้องลงไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยให้เหนื่อยกายและกินเวลาไปอีกส่วนหนึ่ง เพราะภารกิจหน้าที่ในการสอนและค้นคว้าของผมมีอยู่เพียงในประวัติศาสตร์อเมริกา กับที่เพิ่มมาอีกวิชาเพราะหาคนสอนยาก คือปรัชญาและระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ แต่การสอนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ วิชาเดียว ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้โอกาสและเวลาในการสอนเรื่องที่ผมถนัดและมีข้อมูลมากหน่อยคือระบบทาสผิวดำนั้นทำแทบไม่ได้เลย

นอกจากนั้น การติดต่อและเข้าร่วมเวทีอภิปรายและสัมมนากับเพื่อนนักวิชาการไทยด้วยกันนั้น ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และการเมืองไทยเท่านั้น ไม่มีใครสนใจประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกันจริงๆ ในประเทศนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ผมเคยเคลื่อนไหวและให้ความสนใจติดตามตลอดมา ทำให้ผมต้องลงมืออ่านและค้นคว้าทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ไทยกับเขาด้วยเหมือนกัน จากประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาและอาจารย์ในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ผมสรุปว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไทยด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ยากและลำบากกว่าการเรียนประวัติศาสตร์อเมริกาเสียอีก

ข้อที่ยากประการแรกคือ การขาดหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ดีและเหมาะสมสำหรับคนนอกที่สนใจและต้องการเข้าใจประเด็นและแง่มุมในการศึกษา สำหรับเป็นจุดตั้งต้นในการค้นคว้าหาประเด็นและความลุ่มลึกในประวัติศาสตร์ไทยต่อไป เล่มที่ผมคิดว่าทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีคือ

(1) David K. Wyatt, Thailand: A Short History (Yale University Press, 1982, 351 pp.)

(2) Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand (Cambridge University Press, 2005, 301 pp.)

ทั้งสองเล่มที่พูดถึงนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่งแปลเป็นไทยออกมาในสิบกว่าปีนี้เอง ส่วนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่อ่านกันมากมักเน้นประเด็นเฉพาะที่ผู้เขียนถนัดและสนใจ ที่ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านทั้งนักศึกษาอาจารย์และผู้สนใจทั่วไปมากได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ปากไก่และใบเรือ” (2527) และ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” (2529) ธงชัย วินิจจะกูล “Siam Mapped: A History of the Geo-ฺBody of a Nation” (1994) ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์อีกหลายปีต่อมาในชื่อ “กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” (2556)

น่าคิดว่าการที่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปไม่มีผู้ให้ความสนใจนั้น มาจากสภาวะอันประหลาดแต่คนมองว่าปกติไปแล้ว นั่นคือการที่ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักนั้นมีอยู่ฉบับเดียวและไม่อาจเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทั้งหลักฐานข้อมูลและการตีความได้ ก็คือ “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” ที่มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นบรรณาธิการ นี่คือแหล่งที่มาของหนังสือและตำราประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยอาจารย์และนักศึกษาผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นผลงานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เรียกกันว่าสกุลดำรงฯ) ตลอดมา เล่มล่าสุดที่จัดทำโดยกรมศิลปากร “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” (2558) ก็ยังคงรักษาแนวปรัชญาและวิธีวิทยาประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงฯ อย่างคงเส้นคงวา

สิ่งที่ประวัติศาสตร์ไทยสอนในทรรศนะของผม ได้แก่ คนที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ไทยนั้นคือชนชั้นนำจารีตและชนชั้นนำในอำนาจ นั่นคือคนส่วนน้อยแต่มีอำนาจมากเป็นคนสร้างและเขียน รวมถึงตีความประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์นิพนธ์ดังกล่าวดำเนินมาได้ด้วยการที่กำเนิดและการก่อรูปของประวัติศาสตร์ไทยแบบสมัยใหม่เกิดในระยะที่สยามกำลังทำการเปลี่ยนแปลงและปรับแบบแผนการปกครองและการศึกษา ด้วยเงื่อนไขที่ชนชั้นนำจารีตอันได้แก่พระมหากษัตริย์กับขุนนางยังคงรักษาอำนาจปกครองไว้ได้ภายใต้การครอบงำและคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก วิธีการปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่ ได้แก่ การเรียนรู้และทำตามแบบแผนตะวันตก แต่เลือกรับและดัดแปลงให้เข้ากับสภาพทางความคิด วัฒนธรรม และโครงสร้างอำนาจดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด ผลคือความรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่เป็นผลงานร่วมระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีฝรั่งเศสที่จ้างมาตั้งหอพระสมุดแห่งชาติและค้นคว้าศิลาจารึกโบราณ ประวัติศาสตร์ไทยจึงค่อยๆ ก่อรูปขึ้นจากพระราชพงศาวดารที่ปรับแก้ให้เข้ากับวิธีการเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2562)

นี่เองจึงเป็นความยากลำบากของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เพราะต้องอ่านพงศาวดารให้ได้ก่อนจึงจะสามารถเข้าใจและเข้าถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยปัจจุบันได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะโครงสร้างและข้อเท็จจริงของพงศาวดารไทยยังคงสืบเนื่องและเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ความเป็นมาและกระบวนทางทางประวัติศาสตร์ของการเกิดประวัติศาสตร์ชาติไทยในทรรศนะผมจึงเป็นความขัดกันที่นิ่มนวล ด้านหนึ่งมีคุณสมบัติทั้งหลายของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่อีกด้านก็ยังรักษาวิญญาณและโครงสร้างเรื่องเล่าที่เป็นแบบพงศาวดารอันเป็นของโบราณ มีความเป็นสากลด้วยอุดมคติสมัยใหม่ (เสรีภาพ เป็นไท) แต่ก็ดำรงและผลิตซ้ำความรู้สึกของชนชาติเดียวที่กลายเป็นเชื้อชาตินิยม (racism) ทั้งหมดนี้ทำให้การเรียน เข้าใจ และต่อยอดประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นเรื่องที่ยากราวกับลงไปในหุบเหวอันไม่รู้ว่าก้นบึ้งอยู่ที่ไหน

 

(ซ้าย) หนังสือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขวา) หนังสือ ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ประการต่อมาคือ พื้นที่ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นพื้นที่เฉพาะและหวงห้าม ไม่เอื้อต่อการแสวงหาอัตลักษณ์ของประชากรกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจ สิ่งที่ติดใจผมมากหลังจากลงไปศึกษาในประเด็นรายละเอียดในประวัติศาสตร์ไทย คือการที่ชนชั้นนำจารีตที่อยู่ในอำนาจรัฐมีปฏิกิริยามากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการแสดงความคิดของคนนอกระบบซึ่งเป็นสามัญชนที่พยายามเข้าไปมีบทบาทในการเขียนและสร้างประวัติศาสตร์ไทยด้วย (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2549) นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้นมา ล้วนไม่ต้อนรับงานเขียนของ ก.ส.ร.กุหลาบ และเทียนวรรณ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ตอบโต้ทรรศนะและความเห็นของผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากพระองค์ว่า ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่คนไทย และไม่รักชาติ เป็นต้น นับแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มา มีการเริ่มวิธีการเขียนพงศาวดารแบบที่เรียกว่า “การชำระ” แสดงว่าพงศาวดารฉบับก่อนนี้ต้องมีข้อมูลและการตีความที่ “ไม่ถูก” จึงต้องชำระเสียใหม่ ธรรมเนียมดังกล่าวมีการปฏิบัติต่อมา เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แก้ไข พงศาวดาร ร.1 โดยได้อ้างว่า “เป็นการชำระโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้าง/สถาปนาความรู้และความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับอดีตของสยาม โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์/สถาบันกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” (ธนาพล 2562)

ปัญหานี้เป็นปัญหาใจกลางของประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ที่กำลังก่อตั้งรัฐชาติและสถาบันที่รองรับการดำรงอยู่ของมัน ผมคิดว่าสิ่งที่กรมดำรงฯ ทรงกระทำน่าจะคล้ายๆ กับที่นักวิชาการตะวันตกได้ทำและกำลังทำอยู่ในบรรดารัฐอาณานิคมทั้งหลายโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การสร้าง Siamese Orientalism หรือการตีความและชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียใหม่ตามทรรศนะและคติแบบใหม่ของตะวันตก ในกรณีนี้สยามปฏิบัติตนเหมือนกับเจ้าอาณานิคมยุโรป ผ่านอำนาจของความรู้สมัยใหม่รวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์จากหัวเมืองรวมพุทธรูปเข้ามาศูนย์กลาง แล้วชำระทำให้เป็นไทย แม้ไม่ทำโดยเจ้าอาณานิคม แต่ก็ได้รับการอนุเคราะห์และเรียนรู้จากนักวิชาการตะวันตก เช่น ความรู้เรื่องโบราณคดีจากเซเดส์ ทำให้กรมดำรงฯ สามารถสร้างทฤษฎีเรื่องประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ในสยามได้ ต่อมาจนถึงการสร้างประวัติศาสตร์ไทยที่เดินเป็นเส้นตรง จากกรุงสุโขทัย มาอยุธยา และรัตนโกสินทร์

ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนโยบายชาตินิยมไทยที่นำไปสู่การเป็นรัฐเชื้อชาติเดี่ยว ประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับหลวงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมไทย กีดกันคนที่ไม่ใช่ไทยว่าเป็นศัตรูหรือเป็นคนไม่พึงปรารถนา ประวัติศาสตร์ไทยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ที่ต้องประพฤติและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข มีการจัดตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อดำรงรักษาความบริสุทธิ์ของประวัติศาสตร์เอาไว้ (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2549ก)

ประการสุดท้าย ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่อันตราย เวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ว่าด้วยความจริงในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในการศึกษาและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ไทย ในอดีต เมื่อใดที่สภาพการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยและเปิดเสรีเต็มที่ การศึกษาค้นคว้าและถกเถียงในปัญหาทางประวัติศาสตร์ก็จะมีชีวิตชีวาและขยายเติบใหญ่ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและสืบค้นความจริงใหม่ๆ ในสาขาวิชาการอื่นๆ ไปด้วยอย่างเป็นลูกคลื่น แต่เมื่อสภาพการเมืองและรัฐบาลกลับไปเป็นระบบอำนาจนิยมไม่ประชาธิปไตย บรรยากาศของการอภิปรายและถกเถียงอย่างเสรีในวิชาประวัติศาสตร์ก็หดหายลง เหลือแต่การท่องจำและผลิตซ้ำวาทกรรมทางประวัติศาสตร์แบบพงศาวดาร ซึ่งยากจะกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ อะไรได้มากนัก

 

สรุป

 

จากประสบการณ์ทั้งจากการเรียน การสอน และการทำวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมในทางประวัติศาสตร์ของผมที่ผ่านมาราว 3 ทศวรรษ ผมมีข้อสรุปดังนี้

หนึ่ง การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่การ “สอนบทเรียน” (lessons) ที่เป็นคู่มือสำเร็จรูปเต็มไปด้วยคำสอนหรือข้อคิดเตือนใจที่เป็นสัจธรรมพร้อมจะนำไปใช้ในการปฏิบัติในปัจจุบันและอนาคต ในความเป็นจริงไม่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันใดที่มีสภาพทางสังคมเหมือนกับในอดีต จึงยากจะรู้ว่าบทเรียนใดในประวัติศาสตร์เหมาะควรแก่การใช้ในขณะนี้ (Maza 2017)

ที่สำคัญกว่าคือ การซึมซับและตระหนักถึงความจริงในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ในสมัยก่อนชนชั้นนำและผู้ปกครองสรุปบทบาทและหน้าที่ของประวัติศาสตร์โบราณว่าคือการให้บทเรียนทางศีลธรรมแก่ผู้ปกครองรุ่นหลัง ไม่ได้ให้แก่ประชาชนผู้ถูกปกครอง ซึ่งไม่ต้องรู้ประวัติศาสตร์ ในสภาวการณ์โลกหลังสมัยใหม่ คำถามไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว หากแต่ควรต้องเตรียมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างเป็นระลอกคลื่น

สิ่งที่ต้องรู้และตระหนักคือ ประวัติศาสตร์บอกอะไรในโลกที่ความจริงไม่ได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงแห่งเดียว จะหาคำตอบนี้ได้เราต้องจับแก่นแกนของการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดมาก่อนแล้วให้ได้ ยุคกรีกโบราณก็มีเฮโรโดตัส ซึ่งตั้งหน้าตั้งตาไปเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหลายเพื่อมาเขียนประวัติศาสตร์ของนครรัฐสำหรับเป็นเครื่องเตือนใจผู้ปกครองรุ่นหลังต่อมา เขาให้กำเนิดคำว่า “ฮิสตอเรีย” ซึ่งหมายความถึงการเข้าไปสอบสวนค้นหาเรื่องราว ซึ่งนับได้ว่าเป็นนิยามของประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากกว่าที่อื่นๆ ร่วมสมัยเดียวกัน

สอง เราต้องไม่ทำให้ทรรศนะทางประวัติศาสตร์มีเพียงสำนักเดียว หยุดนิ่งและแช่แข็ง ด้วยการเปิดให้มีการวิพากษ์โต้เถียงในประเด็นและปัญหาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ยิ่งมีการตรวจสอบในประวัติศาสตร์มากเท่าไร ก็จะทำให้ประวัติศาสตร์เชื่อมต่อและปฏิสัมพันธ์กับวิชาและศาสตร์ต่างๆ อย่างกว้างและลึกมากขึ้น อันนี้เป็นบทบาทและลักษณะเฉพาะของวิชาประวัติศาสตร์ที่อุบัติขึ้นในพื้นที่สาธารณะ สามารถเชื่อมโยงระหว่างวิชาการเฉพาะกับสาธารณชนได้ เห็นได้จากการที่งานเขียนของนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นอาจมีผู้อ่านและติดตามมากกว่าของนักประวัติศาสตร์อาชีพเสียอีก

สาม เราต้องสอนให้รู้จักการตีความหรือถอดรหัสของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เรามองเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ การตีความก็คือการทำความเข้าใจในสิ่งภววิสัยโดยอัตวิสัยของเราเอง ผมประทับใจคำอธิบายถึงกำเนิดของมหากาพย์มหาภารตะที่กล่าวว่า ฤาษีวยาสผู้ใกล้ชิดกับต้นตอของความเป็นมาของสงครามใหญ่นี้ บอกกับพระพิฆเนศผู้จดเรื่องราวนี้ว่า ก่อนจะเขียนเรื่องลงไป ต้องแน่ใจว่าเข้าใจเรื่องแล้ว ถึงจดลงไปได้ ถ้าไม่เข้าใจศัพท์ก็ให้ถามจนแน่ใจก่อน

นี่คือความสำคัญของตัวนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนต้องรู้ก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไรลงไป

นี่เองคือความต้องการเสรีภาพทางความคิดของปัจเจกบุคคล ปราศจากเสรีภาพ มนุษย์ไม่อาจคิดและยกระดับศักยภาพในตัวเองได้อย่างอิสระ อันจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้

ปราศจากคุณสมบัติสุดท้ายนี้ ก็จะได้เพียงแค่ประวัติศาสตร์ที่สอนความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

 


 

เชิงอรรถ

[1] “ปรัชญาประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บ.ก. ปรัชญาประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ไทยวัฒนา, 2527 พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้า 160-180.

[2] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ “ระบบแรงงานไทยในอดีต: จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2” ใน พิชิต จงสถิตย์วัฒนา บ.ก. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย  กรุงเทพฯ, โครงการหนังสือเล่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์, 2517.

 

บรรณานุกรม

ธนาพล ลิ่มอภิชาต, 2562. “การชำระพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: การตีความใหม่”  (ต้นฉบับยังไม่ได้ตีพิมพ์)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, 2517. “ระบบแรงงานไทยในอดีต: จากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 “ ใน พิชิต จงสถิตย์วัฒนา บ.ก. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์.

______________ 2549. ความคิดการเมืองไพร่กระฎุมพีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

______________ 2549ก. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทำงานวาระสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

______________ 2550. ความคิดทางการเมืองของคนอเมริกันผิวดำ: จากทาสสู่เสรีชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว.

______________ 2556. กบฏวรรณกรรม: บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการเมืองในวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมมติ.

______________ 2562. “ปัญหาความเกี่ยวพันที่กดทับระหว่างประวัติศาสตร์กับชาติ” ใน ประเทศไทยในความคิดของเมธีวิจัยอาวุโส เล่ม 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Genovese, Eugene. 1965. The Political Economy of Slavery: Studies in the Economy and Society of the Salve South. New York: Vintage Books.

Fox-Genovese, Elizabeth and Eugene. 1983. Fruits of Merchant Capital: Slavery and Bourgeois Property in the Rise and Expansion of Capitalism. New York: Oxford University Press.

Maza, Sarah. 2017. Thinking About History. Chicago and London: University of Chicago Press.

W.E.B. Du Bois. 1961. The Souls of Black Folk. New York.

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save