fbpx

ฟุตบอลโลก, พระเจ้ากับผีห่าถึงป่ากล้วยและความไม่โดดเดี่ยว ธเนศ วงศ์ยานนาวา และลาตินอเมริกาที่เขารู้จัก

เรานัดคุยกับ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในช่วงเวลาที่บรรยากาศการเฉลิมฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกของอาร์เจนตินายังอบอวลอยู่ไม่หาย

ธเนศออกตัวว่าเขาไม่ได้ดูฟุตบอล และกับลาตินอเมริกานั้น เขาก็ย้ำชัดว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นแต่เพียงนักท่องเที่ยวที่หลงใหลแผ่นดินกว้างใหญ่ของอเมริกาใต้ บทสนทนาเคลื่อนตัวจากป่ากล้วยแห่ง Memoria (2021) วนกลับมายังกาแฟสัญชาติอเมริกาใต้ที่เขามีติดอยู่ที่บ้าน แล้วขยับมายัง ลีโอเนล เมสซี (Lionel Messi) ที่เพิ่งสร้างตำนานครั้งใหญ่ประดับในวงการฟุตบอล

“ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญลาตินอเมริกา อ่านภาษาสเปนก็ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจกันแต่แรก” เขาออกตัว “ความคุ้นเคยของผมต่อลาตินอเมริกามีมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 ในฐานะนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้อยความของเขาที่มีต่อลาตินอเมริกานั้นก็แสบสันต์และเย้ายวนกระบวนการคิด อันเป็นสิ่งที่คุณคงจะสัมผัสได้เอง นับจากบรรทัดนี้ลงไป

ป่ากล้วยแห่ง Memoria (2021) และจักรวรรดิอเมริกัน

ก่อนอื่น เวลาเราพูดถึงลาตินอเมริกา เราต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นทวีปที่ใหญ่โตมโหฬาร แต่ละที่แตกต่างกัน เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะลุ่มแม่น้ำแอมะซอนอันใหญ่โตนั่นก็อย่างหนึ่ง แถบทะเลแคริบเบียนก็อย่างหนึ่ง เทือกเขาแอนดิสก็อย่างหนึ่ง อเมริกากลางก็อย่างหนึ่ง ติเอร์ราเดลฟูเอโกทางตอนใต้ก็อย่างหนึ่ง มีทุ่งหญ้า มีอะไรต่างๆ ฝั่งแปซิฟิกก็อย่างหนึ่ง เช่น ประเทศเปรู ฝั่งแอตแลนติกก็อย่างหนึ่ง เช่น บราซิล เอาแค่ภูมิศาสตร์ก็มหาศาลแล้ว ตอนนี้ประชากรลาตินอเมริกาตกประมาณ 668 ล้านคน มีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ โครงสร้างทางชนชั้น และสีผิว 

กล้วยนั้นมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะประมาณแถวปาปัวนิวกินี ว่ากันว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เป็นหนึ่งในคนจากโลกตะวันตกคนแรกๆ ที่เจอกับกล้วย ราวศตวรรษที่ 17 คนมุสลิมเอากล้วยไปปลูกในตะวันออกกลาง แล้วเมื่อปี 1469 โปรตุเกสก็ไปเจอกล้วยในแอฟริกาตะวันตก เอาไปปลูกในเกาะแก่งต่างๆ เช่น เกาะในแอตแลนติก จากนั้นก็เป็นอเมริกาใต้และค่อยๆ เข้าไปในอเมริกากลางช่วงต้นศตวรรษที่ 19 

เรื่องที่เล่านี่คือการเดินทางของพืชผักผลไม้ ระหว่างเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า Columbian Exchange นี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกไปเลย กาแฟ อ้อย ไปจากโลกเก่า ขณะที่มันฝรั่ง มะเขือเทศ วานิลลา โกโก้และระยะหลังอาจจะมีควินัวด้วย ข้ามมาจากโลกใหม่ เส้นทางมาเอเชียจากสายสเปนก็ต้องผ่านเส้นทางการค้าที่เรียกว่า Manila Galleon Trade ข้ามจากสเปน มาเม็กซิโก ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมามะนิลา แล้วจากมะนิลาก็ขยายกระจายเข้ามาในเอเชีย ตลาดใหญ่ๆ คือตลาดที่จีน ขณะที่อีกสายหนึ่งผ่านโปรตุเกส ข้ามแอฟริกาทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก แล้วเข้ามาเอเชียผ่านมหาสมุทรอินเดีย เข้าอินเดีย

เรื่องกล้วยนี่สำคัญ เพราะบริษัทรถไฟอเมริกันก็เอากล้วยมาปลูกสองข้ามทางรถไฟในคอสตาริการาวทศวรรษที่ 1870 กล้วยจึงมีอยู่เต็มอเมริกากลาง ช่วงนั้นการกินกล้วยเป็นการบ่งบอกสถานะว่าคุณมีฐานะ เนื่องจากมันเป็นของที่นำเข้าจากต่างประเทศ การปลูกกล้วยในประเทศต่างๆ ของอเมริกากลางทำให้เกิดคำที่เรียกว่า ‘Banana Republic’ (สาธารณรัฐกล้วย) ซึ่งไม่ได้เป็นชื่อเสื้อผ้า แต่เป็นคำของนักเขียนอเมริกันคือ โอ เฮนรี (O. Henry) ซึ่งคิดคำนี้ขึ้นมาเมื่อปี 1904 หมายถึงประเทศที่ถูกขูดรีดโดยพวกอเมริกัน ฉะนั้น คำนี้จึงมีนัยในลักษณะของประเทศเล็กๆ ยากจนที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งคำว่า Banana Republic ก็ให้ภาพว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาแทรกแซงและพิทักษ์ผลประโยชน์ตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่กล้วย แต่รวมถึงกาแฟซึ่งเป็นสิ่งที่เราดื่มอยู่นี้ มันคือพืชพันธุ์เลือด ผ่านการกดขี่ ขูดรีดคนพื้นเมืองมากมาย ไม่อย่างนั้นมันคงไม่นำมาซึ่งสิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า fair trade coffee (การค้ากาแฟที่ชอบธรรม) ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสินค้าเกษตรเหล่านี้ เรามักไม่ค่อยคิดว่าสิ่งที่เราดื่มกินอยู่นี้เต็มไปด้วยเลือดและความทุกข์ยากของผู้คนต่างๆ มากมาย 

Banana Republic เป็นการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในกรณีของ Banana Republic คืออเมริกันเข้ามากุมอำนาจเหล่านี้ โดยกดขี่คนพื้นเมืองที่เป็นแรงงาน ในลาตินอเมริกาก็มีคนลูกผสมอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ ในอดีต คนที่อยู่สูงสุดคือคนผิวขาวที่มาจากยุโรป แรงงานที่เข้ามาคือแรงงานทาส กล้วยไปกับการค้าทาส และทาสก็กินกล้วยเป็นอาหาร กล้วยจึงเป็นอาหารสำคัญในลาตินอเมริกา 

แต่ช่วง Banana Republic เป็นยุคที่อาณานิคมสเปนเสื่อมอำนาจไปแล้ว สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และใช้ประโยชน์จากการกดขี่ ขูดรีดคนผิวสี -ไม่ว่าจะคนผิวดำ คนพื้นเมือง- ในฮอนดูรัส คิวบา โดมินิกัน ปานามา แต่ฮอนดูรัสก็เป็นประเทศแรกที่ได้ชื่อ Banana Republic และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้จึงเริ่มประณามความเลวร้ายของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้เป็นจักรวรรดินิยมเต็มตัวด้วย ปลายทศวรรษที่ 1920 ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่ส่งออกกล้วยมากที่สุดประเทศหนึ่ง บริษัทที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ United Fruit Company ซึ่งเจ๊งไปแล้ว ต่อมากลายมาเป็น Chiquita Brands International กับอีกแห่งหนึ่งคือ Standard Fruit Company พวกนี้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ Banana Republic จึงหมายถึงประเทศที่ถูกปกครองโดยนายทุนพวกนี้ และก่อนหน้านี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาของสำคัญในสหรัฐอเมริกาที่นายทุนใหญ่ๆ ขึ้นมามีอำนาจ เรียกว่า gilded age พวกมหาเศรษฐีในสหรัฐอเมริกา เช่น ร็อคกีเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller), แวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt) หรือแม้กระทั่ง ลีแลน สแตนฟอร์ด (Leland Stanford) พวกนี้คุมธุรกิจและการเมืองสหรัฐอเมริกา เมื่อสหรัฐอเมริกาขยายอำนาจเป็นจักรวรรดิการพิทักษ์ผลประโยชน์ในต่างแดนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ สหรัฐอเมริกาจึงเป็นชาติที่สำคัญมากในการสนับสนุนเผด็จการในลาตินอเมริกา ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดเหตุการณ์หนึ่งคือปี 1954 จาโคโบ อาร์เบน (Jacobo Arben) ประธานาธิบดีกัวเตมาลา ถูกรัฐประหารเพราะมีเรื่องไม่ลงรอย ขัดแย้งกับบริษัท United Fruit Company ตอนนั้น จอห์น เพียวริฟอย (John Peurifoy) เป็นทูตสหรัฐอเมริกาประจำที่นั่น ก่อนจะย้ายมาประจำที่กรุงเทพฯ ได้ราวๆ สักปี จนท้ายที่สุดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่หัวหิน เสียชีวิตทั้งพ่อทั้งลูก ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ลาตินอเมริกา รัฐประหารและการจับปืนขึ้นสู้!

The body of Ernesto “Che” Guevara, the Argentine-born hero of Latin American revolutionaries and six other guerillas are on public display 10 October 1967 in Vallegrande. Guevara was captured by Bolivian forces and CIA agents 08 October and shot dead the next day. “Che” Guevara, the 39-year-old firebrand, was formerly the confident of Cuban leader Fidel Castro. In 1965 he left to establish guerrilla groups in Latin America. # Le corps d’Ernesto “Che” Guevara, ainsi que ceux de six autres guérilleros sont exposés à la presse internationale par des militaires boliviens le 10 octobre 1967 à Vallegrande. Le “Che”, d’origine argentine, après avoir pris part à la Révolution cubaine et lancé à partir de 1965 des foyers insurrectionnels en Amérique Latine, a été pourchassé par l’armée bolivienne à l’aide d’agents de la CIA. Capturé le 08 octobre, il fut exécuté le lendemain et enterré dans le secret. (FILM) AFP PHOTO (Photo by MARC HUTTEN / AFP) ภาพร่างของเช เกบาราในบาเยแกรนเด หลังถูกจับกุมโดยกองกำลังโบลิเวียและเจ้าหน้าที่ CIA

ภาพลักษณ์การรัฐประหารในลาตินอเมริกาเป็นภาพที่ผู้คนที่ติดตามข่าวต่างประเทศจะคุ้นเคย โดยเฉพาะในอดีต การรัฐประหารจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่า พลังทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เรียกร้องความยุติธรรมหรือดันเลือกไปเดินบนเส้นทางฝ่ายซ้าย สังคมนิยม มากขึ้น ฝ่ายขวาและรัฐบาลอเมริกันก็ต้องตื่นตระหนกเป็นธรรมดา ตั้งแต่ลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine – หมายถึงแถลงการณ์โดย เจมส์ มอนโร อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 ซึ่งพูดชัดเจนว่าดินแดนในลาตินอเมริกาเป็นดินแดนที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้มหาอำนาจยุโรปมายุ่ง ทั้งในตอนนั้นก็อังกฤษก็เป็นตัวเอ้ คุณจึงจะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาประสาทขนาดไหนตอนที่ประเทศคิวบาติดตั้งฐานจรวดมาจ่อคอหอยในต้นทศวรรษที่ 1960 

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา มีการรัฐประหารในลาตินอเมริกามากกว่า 30 ครั้งใน 12 ประเทศ และก่อนรัฐประหารก็ต้องมีการสร้างภาพให้เห็นถึงความวุ่นวายต่างๆ เศรษฐกิจจะพังทลาย ต้องทำให้คนรู้สึกว่าต้องมีคนเข้ามาทำอะไรบางอย่างแล้วนะ คุณจะพบว่าแม่บ้านชนชั้นกลางเอาหม้อไหออกมาตี ซึ่งนี่ถือเป็นรูปแบบการประท้วงที่สำคัญของลาตินอเมริกามากและจะเห็นได้อยู่ในทุกวันนี้ พูดง่ายๆ คือกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร บอกว่านักการเมืองคดโกง ซึ่งก็เป็นคาถาสำคัญน่ะ เวลาคุณจะรัฐประหารคุณก็ต้องบอกว่านักการเมืองคดโกง และเวลารัฐประหารทุกครั้งคือการรัฐประหารโดยฝ่ายขวา และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือการล้มรัฐบาล ซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende -อดีตประธานาธิบดีชิลี) ในปี 1973 และพอถึงปี 1975 เผด็จการทหารชิลีเปิดทางให้เสรีนิยมใหม่แสดงตัวเต็มที่ ก่อนที่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher -อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร) จะรับเอาไป ฉะนั้น ชิลีจึงเป็นหนูทดลองที่สำคัญมากของนักเศรษฐศาสตร์ชิลีที่ฝึกฝนมาจากสหรัฐอเมริกา หรือในปี 2019 รัฐบาล อีโว โมราเลส (Evo Morales -อดีตประธานาธิบดีโบลิเวีย) ซึ่งท้าทายโลกตะวันตกตลอดเวลา ก็ถูกโค่นลง เพียงแต่ไม่ได้มีความชัดเจนอะไร ทหารออกมาเรียกร้องให้เขาลาออก จึงถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารเงียบ ฝ่ายขวาซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ ก็ขึ้นมา และเมื่อเลือกตั้งใหม่ ลุยส์ อาร์เซ (Luis Arce) คนของโมราเลสก็กลับมา

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในลาตินอเมริกาดุเดือดมาก ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ คนก็มักจะโทษวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สเปนสร้างไว้ อีกอย่างหนึ่งคือสงครามกองโจรนั้นมีชื่อเสียงมาตลอด แน่นอนว่าในทศวรรษที่ 1960 ใครๆ ก็รู้จัก เช เกบารา (Che Guevara -นักปฏิวัติ) การต่อสู้ทางการเมืองยังไปสัมพันธ์กับศาสนาด้วย เนื่องจากคริสต์ศาสนามีวิธีคิดเรื่องมีเมสสิยาห์ (Messiah) หรือคนที่จะมาปลดปล่อยคุณ คุณจึงสร้างสมการได้ว่า จีซัส (Jesus) เท่ากันกับ เช เกบารา หรือแม้แต่ในทางกลับกันก็ตามที อย่างภาพถ่ายศพเชก็เคยถูกนำไปเทียบกับภาพ The Lamentation of Christ ในปลายศตวรรษที่ 15 ของ อันเดรอา มันเตญญา (Andrea Mantegna -จิตรกรชาวอิตาลี)

ในเปรูเองก็เช่นกัน ช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 เรื่องราวที่โด่งดังมากคือ เซนเดโร ลูมิโนโซ (Sendero Luminoso) หรือ Shining Path ที่ทำสงครามกองโจรคอมมิวนิสต์ หัวหน้าคือ เอบิมาเอล กุซแมน (Abimael Guzmán) เป็นนักปรัชญาที่เคยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant – นักปรัชญาชาวเยอรมัน) แล้วออกมาจับอาวุธสู้ นอกจากนี้ในปีรัฐบาลเปรูยังต้องเผชิญกับกลุ่ม Tupuc Amaru ในปี 1996 เข้าไปยึดสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงลิมา จับตัวประกันและยื้อกันอยู่หลายเดือน จนเดือนเมษายนปี 1997 ก็ส่งทหารเข้าไปจัดการ มีผู้เสียชีวิตสิบกว่าคน 

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ความรุนแรงก็กลับมาชัดเจนอีก มีความพยายามสังหารรองประธานาธิบดี คริสตินา เฟอร์นันเดซ เดอ คริชเนอร์ (Cristina Fernandez de Kirchner) ของอาร์เจนตินาเมื่อปี 2022 นี่เอง ความรุนแรงเลยขยายตัวไปทั่ว อย่างปี 2019 มีการประท้วงในชิลีซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่มาก มีคนออกมามหาศาล เรื่องเริ่มจากที่คนไม่พอใจที่มีการขึ้นค่ารถไฟใต้ดิน 4 เซนต์ คนออกมาเป็นแสนเป็นล้าน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจนท้ายที่สุดก็ได้อดีตผู้นำนักศึกษา กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ชิลีที่อายุน้อยมาก หรือแม้แต่ในบราซิลเอง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คุณคงพบว่ามีความรุนแรงช่วงก่อนเลือกตั้งด้วย

รูปแบบต่างๆ ของความขัดแย้งและความุรนแรง ในลาตินอเมริกาที่คนภายนอกอาจจะมองว่าโหดร้าย มันก็อาจจะมองได้จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมิติด้านมืดที่เกิดขึ้นจากการขยายอำนาจของคนยุโรป ยุโรปฆ่าคนพื้นเมืองตายในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอาโรคจากยุโรปอย่างซิฟิลิสเข้าไปในเมือง ทำให้คนพื้นเมืองไม่ว่าจะในเกาะแก่งแถบแคริบเบียนล้มหายตายจากไปมาก อย่างในเม็กซิโกเคยมีคนพื้นเมืองนับสิบล้านคน ผ่านไปสักร้อยปีก็เหลือราวล้านกว่าคน หรือในกัวเตมาลาก็เป็นฝีมือของ เปโดร เด อัลบาราโด (Pedro de Alvarado -นักล่าอาณานิคมชาวสเปนในศตวรรษที่ 16) ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตราว 5 ล้านคน 

แต่ละที่ก็มีการต่อสู้ไม่เหมือนกัน ปริมาณการตายก็แตกต่างกัน โดยประชากรพื้นเมืองในเทือกเขาแอนดิสลดลงน้อยกว่า เช่น ในเปรู เอกวาดอร์ และโบลิเวีย แถบนั้นยังมีประชากรที่เป็นคนพื้นเมืองเหลือมากมาย โครงสร้างประชากรจึงยังมีคนพื้นเมืองอยู่เยอะ และคนพื้นเมืองเหล่านี้ขัดแย้งกับคนผิวขาวมาตลอด ที่โด่งดังมากคือการต่อสู้กับพวกสเปนของชนเผ่ามาปูเช่ (Mapuche) ตอนกลางของชิลี พวกนี้มีความสามารถในการรบและสู้กับสเปนมาอย่างยาวนาน สู้ไม่ได้ก็หนีขึ้นเขาแอนดิสซึ่งถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครตามขึ้นไปแล้วเพราะไม่มีเครื่องบิน และกว่าที่พวกมาปูเช่จะถูกดูดกลืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชิลีก็ล่วงไปปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็เป็นช่วงที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเป็นเอกราชไปแล้ว ทุกวันนี้พวกมาปูเช่ก็ยังต่อสู้ทวงดินแดนคืนอยู่ ซึ่งความโหดร้ายทารุณดังกล่าวนี้ก็เป็นเรื่องที่เราพูดกันมาตลอดในทางประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา จนนำไปสู่ข้อโต้แย้งถกเถียงต่างๆ มากมาย คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้การสร้างอาณานิคมในลาตินอเมริกาแตกต่างไปจากการสร้างอาณานิคมในเอเชียซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง 

บาร์โธโลเม เด ลา คาซาส (ที่มาภาพ)

ทั้งนี้ ความโหดร้ายของสเปนก็มีข้อยกเว้นกับพระอย่าง บาร์โธโลเม เด ลา คาซาส (Bartolome de Las Casas) นักบวชนิกายโดมินิกันที่ต่อต้านการฆ่า การทารุณกรรมและความโหดร้ายที่สเปนกระทำต่อคนพื้นเมือง ข้อโต้แย้งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ คนสเปนเห็นว่าฆ่าคนพื้นเมืองได้เพราะสิ่งนี้หรือคนพื้นเมืองนั้นไม่มี ‘soul’ อันมีฐานรากมาจากคริสต์ศาสนาที่มีแนวคิดว่ามนุษย์ต้องมี soul ซึ่งเป็นรากฐานความคิดแบบ Neoplatonism รวมกับ Aristotelian -ซึ่งไม่ใช่อริสโตเติลและไม่ใช่พลาโตนะ- ตัวลา คาซาสก็ลุกขึ้นมาตอบโต้ว่า วิธีคิดแบบคนสเปนนั้นไม่ถูกต้อง แน่นอนว่าที่ผ่านมา คนพื้นเมืองก็สู้มาตลอดแต่ไม่ชนะ เพราะต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีทางอาวุธก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ดังนั้นแล้ว ฐานคิดในการต่อสู้จึงมีอยู่ในลาตินอเมริกามาตลอด ส่วนหนึ่งมาจากพระ ส่วนหนึ่งก็มาจากคนพื้นเมือง ซึ่งซัดกันมาเป็นเวลายาวนานมาก

ฝ่ายจักรวรรดินิยมคนผิวขาวก็โจมตีว่า คนพื้นเมืองคือคนป่าเถื่อน เป็นพวกกินคน เราจึงจะได้ยินเรื่อง cannibalism อยู่เนืองๆ หรือเรื่องราวว่ามีการสังเวย มี human sacrifice บูชายัญมนุษย์ต่างๆ ฉะนั้น คนผิวขาวบอกว่าหากไม่มีคริสต์ศาสนา คนพวกนี้ก็จะต้องยังเป็นคนป่าเถื่อนต่อไป 

ฉะนั้นแล้ว ข้อถกเถียงระหว่างจักรวรรดินิยม empire ว่าดีหรือเลวก็ยังเถียงกันจนถึงทุกวันนี้ และมันไม่ใช่แค่ลาตินอเมริกา พูดง่ายๆ คือมันเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญในโลกนี้ เพราะปฏิเสธได้ไม่ง่ายว่า อิทธิพลของตะวันตกขยายตัวไปทั่วโลก 

ปัจจุบัน คนในโลกตะวันตกโดยส่วนใหญ่หรือแม้แต่คนในดินแดนที่ไม่ได้เป็นคริสต์ มักจะคิดว่าคริสต์ศาสนานั้นจบไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าคนตะวันตกอยู่กับคริสต์ศาสนามาสองพันปี ฉะนั้น ค่านิยมต่างๆ ของตะวันตกพัฒนามาจากคริสต์ศาสนาในฐานะทรัพยากรและจารีตที่ต่อยอดได้ของยุโรป 

อาณานิคมภายใต้พระคัมภีร์

อาจจะถือได้ว่า อาณานิคมในลาตินอเมริกาเป็นอาณานิคมสมัยใหม่รุ่นแรกๆ เพราะมันเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา อาณานิคมในรูปแบบใหม่ที่มาจากการขยายอำนาจของคนคริสต์ผิวขาวยุคแรกๆ ขยายอำนาจข้ามน้ำข้ามมหาสมุทร ฉะนั้น เมื่อเทียบกับระบบอาณานิคมในเอเชียที่เรารู้จักทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส หรืออังกฤษที่เข้ามาปกครองอินเดีย สิ่งที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาถือว่าค่อนข้างช้า กล่าวอย่างหยาบๆ ก็สักประมาณเกือบ 300 ปีได้ สถานะของเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดียจนถึงช่วงก่อนกลางศตวรรษที่ 18 ก็ต้องมองว่าอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างสูงส่งพอสมควรในสายตาของตะวันตก ถึงแม้คนเอเชียตะวันออกพวกนี้จะไม่ได้นับถือคริสต์ก็ตาม อารยธรรมเอเชียก็ไม่ได้ถูกทำลายอย่างหนักแบบที่เกิดขึ้นกับลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือภาษาก็ยังใช้กันอยู่

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าในมุมมองของคนที่นับถือคริสต์ศาสนา เขามองว่า ถ้าคุณไม่ใช่คริสต์นี่คุณไม่ได้เรื่อง คุณเข้าไม่ถึงความจริงแท้ คุณไม่ได้เข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ครั้นเมื่อยุโรปขยายอำนาจมาก็ต้องเผชิญกับความเชื่อและศาสนาแบบบอื่นๆ ในเอเชียมากขึ้น และในขณะนั้น ไม่ว่าคนยุโรปจะตั้งคำถามได้ยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่ชุดความคิดเขาก็หนีที่มาจากพระคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้อยู่ดี อย่างความคิดของคริสต์ศาสนาที่ว่าด้วยมนุษย์นั้นมีบรรพบุรุษร่วมกันผ่านเรื่องน้ำท่วมโลกกับเรือโนอาห์ ไปจนถึงความคิดที่ว่าคริสต์ศาสนาได้แนวคิดมาจากตะวันออกตามกรอบคิดแบบคริสต์ศาสนาที่ว่าเมื่อเรามีบรรพบุรุษคนเดียวกันแล้วเราจะแยกจากกันได้อย่างไร เพราะมนุษย์ทุกๆ คนมาจากอดัมและอีฟเหมือนกัน จนมาถึงประมาณครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 คำอธิบายทางศาสนาไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป  

แต่อย่าลืมว่าฐานความคิดจากคริสต์ศาสนาก็ไม่ได้หายไปไหน ความคิดคริสต์ถูกเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสมกับโลกแบบใหม่  การไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในอนาคตก็กลายเป็นเรื่องสังคมคอมมิวนิสต์ 

บางคนคงเคยได้ยินเรื่องราวว่า พระเยซูเดินทางมาที่อินเดียและมาอยู่ในอินเดียเป็นสิบๆ ปีก่อนจะเดินทางกลับไปสู่ตะวันออกกลาง หนึ่งในความคิดทำนองนี้ก็เป็นผลงานของ นิโกไล โนโทวิช (Nikolai Notovitch) ยิวที่มาจากไครเมียในทศวรรษที่ 1880 ต่อมาก็อาจจะได้ยินไปอีกว่า พระเยซูไม่ได้ตายบนไม้กางเขน แต่รอดตายแล้วหนีมาอยู่ในเอเชีย ทั้งหมดนี้มันจึงไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างที่เรารับรู้กัน ความคิดจากโลกตะวันออกมีความสำคัญต่อตะวันตกรวมถึงคริสต์ศาสนา การมาตอกย้ำให้ความสำคัญกับกรีกโบราณล้วนๆ แบบตัดขาดจากโลกอื่นๆ ตามตำราอารยธรรมตะวันตกทีเรียนๆ กันแบบบ้าคลั่งกันจริงๆ ก็เพิ่งมาประมาณสักปลายศตวรรษที่ 18 นี่เอง

ความแตกต่างระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกค่อยๆ เริ่มพัฒนาขึ้นมาทั้งในตะวันออกและตะวันตก ในปลายศตวรรษที่ 18 นักคิดอินเดียคนสำคัญคนหนึ่งคือ ราม โมหัน รอย (Ram Mohan Roy) เริ่มแยกโลกทางจิตวิญญาณของตะวันออกกับโลกที่มี Occidental Rationality (ลักษณะการใช้เหตุผลแบบตะวันตก) ของโลกตะวันตก ภาพลักษณ์โลกตะวันออกคือจิตวิญญาณ และเมื่อตะวันตกต้องการขยายอำนาจ ขยายศาสนา ต้องการเอาคนเข้ารีตก็ต้องการทำความเข้าใจว่าคนตะวันออกคิดอย่างไร คนพื้นเมืองคิดอย่างไร ดังนั้นเมื่อคุณเป็นพระคาทอลิก หรือเป็นคณะเยซูอิต (Jesuit) ที่เข้ามาในจีน สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีความสามารถในการเข้าใจภาษาท้องถิ่น พวกนี้จึงทำดิกชันนารีไว้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พระเหล่านี้จะมีความสามารถเรื่องภาษาท้องถิ่น นี่คือสิ่งปกติมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ความชื่นชมตะวันออกของนักเดินทางนักคิดตะวันตก ไม่ว่าจะชื่นชมอินเดียหรือจีน โดยไม่ได้มองอารยธรรมตะวันออกว่าต่ำต้อยเป็นเรื่องที่ยังพบได้ ความต่ำต้อยมาปรากฏชัดในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 หรือประมาณต้นทศวรรษที่ 1780 ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส ช่วงก่อนหน้าปลายศตวรรษที่ 17 มาถึงต้นศตวรรษที่ 18 Chinoiserie ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในยุโรป คือในศตวรรษที่ 17 เกิดความนิยมต่อจีน ไม่ว่าจะในเชิงศิลปะ สถาปัตยกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนจะมานิยมกันจริงจังราวศตวรรษที่ 18 ขณะที่การโจมตีจีนก็เริ่มขึ้นสักต้นทศวรรษที่ 1780 อย่างที่กล่าวไปเมื่อครู่ คอนสแตนต็อง เดอ วอลเนย์ (Constantin de Volney -นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) และคนอื่นๆ ที่เริ่มสนใจตะวันออก เริ่มพูดถึงความเป็นเผด็จการคนเดียวของชาวเอเชีย หรือคือเริ่มมองว่าคนตะวันออกเป็น despotic 

สักช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว ภาพเหล่านี้ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น ในเวลาต่อมาก็ปรากฏในงานเขียนของนักปรัชญาที่ชื่อ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel -นักปรัชญาชาวเยอรมัน) ภาพลักษณ์ความเป็นเผด็จของคนเอเชียจึงค่อยๆ สั่งสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดเรื่องการไม่พัฒนาก็เข้ามาแทนที่ หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีงานชิ้นหนึ่งของ คาร์ล เอากุสต์ วิตต์โฟเกล (Karl August Wittfogel -นักเขียนชาวเยอรมัน-อเมริกัน) ชื่อว่า Oriental Despotism กล่าวถึงผู้มีอำนาจเด็ดขาดคนเดียว และผู้นำแบบนี้พบได้ในสังคมตะวันออก เมโสโปเตเมีย จีน อินเดีย ฯลฯ ผู้นำของสังคมเหล่านี้จะเข้ามาดูแล บริหาร จัดการบริหารเรื่องน้ำต่างๆ เช่น สร้างเหมือง ฝาย ขุดคลอง 

ทัศนคติของตะวันตกที่มีต่ออารยธรรมเอเชียในอดีตจึงไม่ได้ดูถูกขนาดนั้น จนกระทั่งความคิดแบบที่ต่อมาเรียกว่า ‘เชื้อชาติสีผิวที่เป็นวิทยาศาสตร์’ หรือ ‘Scientific Racism’ เข้ามาครอบงำ ในศตวรรษที่ 19 คนผิวขาวอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว การรักษาสายพันธุ์คนผิวขาวให้บริสุทธิ์ไม่ผสมกับใครจึงเป็นเรื่องสำคัญ โครงการ Eugenics หรือคัดสายพันธุ์คนผิวขาวเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งคุณจะพบแนวคิดแบบนี้จากประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell -นักประดิษฐ์ชาวสก็อตต์) มาถึง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes -นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ) และแน่นอน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler -ผู้นำพรรคนาซี)   

พระเจ้าฉันนั้นจริงแท้ แต่พระเจ้าแกไม่ใช่

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในลาตินอเมริกานั้น หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่พวกสเปนทำคือการทำลายศาสนาดั้งเดิม อารยธรรมแอซเท็กพังทลาย ส่วนอารยธรรมมายาก็แทบไม่เหลือ แต่อาณาจักรมายาก็มีหลายวัฏจักร ทั้งล้มหายตายจากมาก่อนหน้าสเปนเข้ามาแล้ว ภาษามายาก็มีหลายแขนงมาก อย่างในแถบอเมริกากลางก็มี หรือในเขตชิอาปาส (Chiapas) ประเทศเม็กซิโก ตอนนี้ภาษามายาบางแบบกำลังจะสูญพันธุ์  ภาษาในโลกจำนวนมากก็ค่อยๆ ตายลงไปเรื่อยๆ เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่กำลังจะสูญพันธุ์นั่นแหละ แต่เรามักไม่ค่อยพูดถึงนัก น่าตั้งคำถามว่าทำไมภาษาต่างๆ ในโลกที่กำลังจะสูญพันธุ์จึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับการสูญพันธุ์ของสัตว์ อย่างไรก็ตาม พอสเปนเข้ามา ทุกคนจึงต้องหันมาพูดภาษาสเปนกัน ภาษาเขียนของสเปนคือกลไกสำคัญในการควบคุมคน หรือเมื่ออาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามาก็พูดฝรั่งเศสกัน คนพื้นเมืองก็ต้องรับภาษาอินโด-ยูโรเปียนไป ไม่ว่าจะภาษาสเปน อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส หรือดัตช์  

ในกรณีของจักรวรรดิสเปน สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องรับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้าไปด้วย คริสต์ศาสนาจึงเป็นมรดกตกทอดจากระบบอาณานิคมที่สำคัญมากในลาตินอเมริกา รากฐานระบบอาณานิคมอังกฤษและสเปนในอเมริกาทั้งทวีป คือทั้งเหนือและใต้จึงแตกต่างกันมากพอสมควร ขณะที่อังกฤษไม่ได้สนใจที่จะเอาคนเข้ารีตขนาดนั้นเพราะสนใจเรื่องการค้าเป็นหลัก

ถามว่าแล้วทั้งหมดนี่แปลกใหม่ไหมในเรื่องการรับศาสนา ส่วนที่แปลกอาจจะเป็นเรื่องการบังคับให้รับคริสต์ศาสนาของพวกสเปน อีกด้านหนึ่งหากเราคิดในทางประวัติศาสตร์ ในโลกใบนี้มีไม่กี่ประเทศที่ผลิตศาสนาของตัวเองขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ศาสนาใหญ่ๆ ที่นับถือกันส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นำเข้า คริสต์ศาสนาไม่ได้เกิดในยุโรป ยุโรปนำเข้ามาจากตะวันออกกลาง ดินแดนสแกนดิเนเวียคือดินแดนท้ายๆ ของยุโรปตะวันตกที่คริสต์ศาสนาเข้าไปถึง คริสต์ศาสนาเข้าไปควบคุมสแกนดิเนเวียเบ็ดเสร็จก็ช่วงศตวรรษที่ 12 แม้โดยทั่วๆ ไปแล้ว คริสต์ศาสนาจะทำลายศาสนาอื่นตามลักษณะของ monotheism (เอกเทวนิยม) เพียงแต่เมื่อเข้าไปในสแกนดิเนเวียแล้ว คุณก็ต้องหาทางลดสถานภาพของเทพเจ้าบ้านเขาให้กลายเป็นตำนาน นี่เป็นกลไกของคริสต์ศาสนาในการจัดการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่น เทพเจ้านอร์ส (Norse) จึงถูกลดสถานภาพลงไปเรื่อยๆ กลายเป็น ‘myth’ ยกตัวอย่างเช่น เทพเจ้าธอร์ ที่ตอนนี้อยู่ในคอมิกมาร์เวล (Marvel Comic) ถ้าพวกคุณอ่านคอมิกคงเห็นภาพแบบนี้กันเยอะ แต่นึกออกใช่ไหมว่ากระบวนการตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 มาจนถึงการ์ตูนมาร์เวลนี่มันใช้เวลานานมาก กว่าจะถูกบริษัทอเมริกันเอามาใช้หากินจนร่ำรวยไปเลย 

คริสต์ศาสนาสำคัญมากในฐานะรากฐานและวิถีชีวิตของคนตะวันตก คริสต์ศาสนาเป็นเอกเทวนิยม ความคิดนี้เชื่อว่าพระเจ้าของเขาเท่านั้นที่เป็นพระเจ้าที่จริงแท้ พระเจ้าของคนอื่นเป็นของปลอม ฉะนั้นคุณจึงต้องมีความสามารถในการแยกแยะระหว่างของจริงกับของปลอม ความจริงหรือ ‘veritas’ ในภาษาละตินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นี่เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งของระเบียบวิธีคิดของโลกตะวันตก 

เมื่อมีของปลอม คุณก็จะปล่อยของปลอมไว้ไม่ได้ เพราะจะทำให้คนหลงผิดมากกว่าหลงถูก คุณจึงไม่มีทางปล่อยให้ทุกคนไปเคารพ บูชาพระเจ้าที่เป็นของปลอมๆ คุณจึงต้องทำลาย ฐานความคิดแบบนี้เห็นได้จากบัญญัติสิบประการ พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธะสัญญาเก่า เมื่อคริสต์ศาสนาเข้าไปทีหลังศาสนาและความเชื่ออื่นๆ พวกเขาจึงต้องเผา ทำลายสิ่งต่างๆ เพราะพระเจ้าของคริสต์เป็นพระเจ้าที่ถูกต้องจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และไม่อาจปล่อยพระเจ้าของคนอื่นเอาไว้ได้ ทั้งนี้ พวกนี้เชื่อว่าการเผาทำลายคือวิธีการจัดการปีศาจร้าย ต้นศตวรรษที่ 16 ดีเกโอ เดอ ลันดา (Diego de Landa) พระนิกายฟรันซิสกันก็เผางานของอารยธรรมมายาทิ้งเกลี้ยงเลย เหลือรอดมาไม่มาก เพราะพวกเขารู้สึกว่าวัตถุเหล่านี้มีความชั่วร้ายอยู่ จึงต้องเผา แต่เรื่องเหล่านี้ก็ซับซ้อนและไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่ออย่างเดียวเท่านั้น

ช่วงเริ่มต้น คริสต์ศาสนาในลาตินอเมริกาก็เป็นคาทอลิก แต่เวลานี้ไม่ได้มากมายเท่าเดิม เช่น ในอเมริกากลางเอง คาทอลิกก็พอเรียกได้ว่ากลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปแล้วเพราะคนเริ่มเปลี่ยนศาสนากัน ชิลีก็เป็นอีกประเทศที่ปริมาณของคาทอลิกลดน้อยลง โรมันคาทอลิกไม่เพียงแต่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้กับเผด็จการ เช่น เอากุสโต ปิโนเช (Augusto Pinochet -อดีตประธานาธิบดีชิลี) ตรงนี้ต้องเข้าใจสำนึกของพระโรมันคาธอลิกบางพวกนิดหนึ่งด้วย คือพวกคาทอลิกบางกลุ่มก็เข้ามาปกป้องเรื่องความยุติธรรม ต่อต้านการกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากนายทุนทั้งในระดับประเทศและต่างชาติ ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คาทอลิกบางพวกในลาตินอเมริกามีบทบาทในทางการเมืองอย่างมาก ทั้งต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ต่อสู้กับเผด็จการทหารซึ่งถ้าเผด็จการไม่พอใจฆ่าทิ้ง เช่นในเอล ซัลวาดอร์ กรณีของ อาร์คบิชอป ออสการ์ โรเมโร (Óscar Romero) ซึ่งถูกทหารยิงตายเมื่อปี 1980 

การเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของพระคาทอลิกทำให้พระสันตปาปา จอห์น พอล ที่สอง (John Paul II) ไม่ชอบใจนักและต้องการเข้ามาควบคุมคาทอลิกบางพวกในลาตินอเมริกา อย่างแรกที่ต้องจัดการคือกลุ่มที่เรียกว่า ‘Theology of Liberation’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยืนยันความคิดว่า คริสต์ศาสนาต้องยืนเคียงข้างคนจน คนที่สำคัญคนหนึ่งคือ กุสตาโว กูเทียเรซ (Gustavo Gutierrez) พระนิกายโดมินิกันชาวเปรู และอีกคนหนึ่งที่ถือเป็นหัวหอกสำคัญคือ ฆวน หลุยส์ เซกุนโด (Juan Luis Segundo) พระเยซูอิตจากอุรุกวัย และอีกคนคือ เลียวนาร์โด บอฟฟ์ (Leonardo Boff) ซึ่งเป็นชาวบราซิล 

ฐานคิดของ Theology of Liberation ก่อตัวขึ้นราวๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในยุค 60s ซึ่งจะเห็นภาพการต่อสู้ การปลดแอก (Liberation) แบบนี้ในที่อื่นๆ เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr. -นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง) มันจึงเป็นกระแสของคนที่ถูกกดขี่ไล่ไปจนถึงการเรียกร้องเอกราชของเหล่าประเทศอาณานิคม 

ถามว่าทำไมจึงเป็นยุค 60s พลังหนึ่งในลาตินอเมริกาที่อาจจะแตกต่างไปจากการปลดแอกของเหล่าขบวนการคนดำหรือแม้กระทั่งเฟมินิสต์ในอเมริกาเหนือ คือพลังของการปฏิวัติคิวบา ต่อมาคือ ‘Second Vatican’ หรือคือการประชุมของพวกคาทอลิกที่ส่งผลต่อการต่อสู้ของพระบางกลุ่มในลาตินอเมริกา เพราะการประชุม Second Vatican ช่วงต้นศตวรรษที่ 1960 ให้ศาสนาและพระเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น และลดความเป็นศูนย์กลาง (decentralized) ของกรุงโรมแทน และยอมรับความหลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น อาจจะกล่าวได้ว่าลักษณะเช่นนี้เคยปรากฏตั้งแต่ปฏิรูปศาสนาปี 1517 แล้ว เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther -นักบวชนิกายเอากุสติเนียน) ปฏิเสธอำนาจจากศูนย์กลางจากกรุงโรม

ปี 1965 พระคาทอลิกโคลัมเบียที่ชื่อ คามิลโล ตอร์เรส (Camilo Torres) ซึ่งเป็นทั้งพระและนักสังคมวิทยา หันมาจับปืนลุกขึ้นสู้ ซึ่งผมว่าขบวนการการต่อสู้เหล่านี้น่าสนใจมาก คำถามคือทำไมพระถึงจับอาวุธขึ้นสู้ นั่นเพราะเมื่อ Theology of Liberation ไปยุ่งกับการเมืองมากๆ และไปยืนเคียงข้างคนจน ศาสนจักรก็ไม่แฮปปีหรอก เพราะพระระดับสูงก็ต้องอยู่กับคนชนชั้นสูง ถ้าจะใช้ภาษาของยุคสมัยนี้ในไทยคือคุณต้องอยู่เป็น ตอนนี้มีชีวิตอยู่กับคนที่มีอำนาจ จะไปสร้างความเดือดร้อนให้คนที่เขาจะสนับสนุนพวกคุณทำไม แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม แต่คุณก็ต้องรักษาชีวิตให้รอด เพราะฉะนั้นศาสนจักรโรมันคาทอลิกจึงโดนโจมตีหนักมากเรื่องการร่วมมือกับเผด็จการทหาร เช่น ช่วง Dirty War ในทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 ของอาร์เจนตินาที่ทหารอุ้มฆ่าทรมานคนเป็นหมื่น โป๊ปฟรานซิส (Pope Francis) ซึ่งเป็นชาวอาร์เจนตินานี่โดนหนักเลย  โดยเฉพาะตอนขึ้นมาเป็นโป๊ปใหม่ๆ มีการขุดคุ้ยกลับไปว่าตอนเป็นพระทำอะไรอยู่ ซึ่งการกล่าวหาและการแก้ตัวประเด็นนี้ก็ยังมีต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

โจเซฟ รัตซิงเกอร์ (Joseph Ratzinger) หรือพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป ตอนเป็นพระคาดินัลก็ไม่ได้ชื่นชอบ Theology of Liberation เลย เมื่อปี 1992 มีการประชุมพวกบิชอปในลาตินอเมริกา ในวาระครบรอบ 500 ปีของการเฉลิมฉลองการเจออเมริกาของคนยุโรปผิวขาว พระที่เป็นอนุรักษนิยมตามแนวทางของกรุงโรมก็เริ่มมีบทบาทในการกด Theology of Liberation ให้ค่อยๆ หมดบทบาทลง ฉะนั้น ช่วงปี 1990 เราจึงถือว่า Theology of Liberation ค่อยๆ เสื่อมลง นั่นคือช่วงเวลาที่น่าสนใจมากเพราะมีความพยายามรื้อฟื้นความเป็นอนุรักษนิยมของคาทอลิกที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น ศาสนาค่อยๆ ถอยห่างออกจากทางการเมือง

ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมาถึงยุคสมัยของโป๊ปฟรานซิสก็เปลี่ยนแปลงอีก โป๊ปฟรานซิสให้ความสำคัญเรื่องสังคม การเมืองมากกว่ารัตซิงเกอร์หรือแม้กระทั่งจอห์น พอลที่สอง ส่วนโป๊ปฟรานซิสยืนหยัดในความคิดที่ว่า ต้องการให้โบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีเงินอยู่แล้วนั้นต้องเป็นพื้นที่ของคนจน

พวกฝ่ายขวาที่เป็นโปรเตสแตนต์ -ซึ่งไม่ได้แปลว่าโปรเตสแตนต์ทุกคนจะเป็นแบบนี้- จะมองว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ทุกคนจะหลุดพ้นได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมการเมือง นี่เป็นการมองศาสนาจากฐานคิดคนละแบบ ดังนั้นเมื่อกลับมาที่ Theology of Liberation จะพบว่าเมื่อศาสนาต้องยืนเคียงข้างคนจน ก็หลีกหนีเรื่องการเมืองยาก  

โธมัส มุนต์เซอร์ (ที่มาภาพ)

ความคิดแบบศาสนาอยู่กับคนจนเกิดขึ้นและมีความสำคัญมากก็ตอนที่ชาวนาลุกขึ้นสู้ในสมัยปฏิรูปศาสนา (Reformation)  โธมัส มุนต์เซอร์ (Thomas Müntzer -นักบวชชาวเยอรมัน) เป็นพระผู้นำในการต่อสู้ของสงครามชาวนาในเยอรมนีปี 1525 มุนต์เซอร์ต่อสู้ข้างชาวนาซึ่งยากจนกันทั้งนั้น ฐานคิดแบบนี้จึงมีอยู่แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือซึ่งผมคิดว่ามีอยู่ในคริสต์ศาสนามากๆ คือสิ่งที่คริสต์ศาสนาเขียนไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ว่า “ให้อูฐลอดรูเข็มนั้นง่ายกว่าให้คนรวยลอดประตูสวรรค์” คุณจะเห็นภาพว่าคริสต์ศาสนามองคนรวยอย่างไร ถามว่าถ้าคุณเอาชุดความคิดแบบนี้มาเผยแพร่แล้ว นายทุน คนรวย เจ้าที่ดินจะแฮปปีเหรอ ไม่มีทางหรอก 

ในเวลานี้ที่อเมริกากลาง คาทอลิกไม่ได้เป็นศาสนาหลักผูกขาดแบบเดิมอีกต่อไป ประมาณหนึ่งในห้าของประชากรบราซิลและชิลีเป็นพวกเพ็นโตคอสตอล (Pentocostal) นี่เป็นอีกนิกายหนึ่งของสายอีวานเจลิคัล (Evangelicalism) พวกนี้เน้นพระจิตหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ (holy spirit) รักษาคนป่วย อิทธิฤทธิ์ความมหัศจรรย์ ผู้นำศาสนามีคุณสมบัติพิเศษ ประเภททำสิ่งพิเศษได้ เพ็นโตคอสตอลยังเป็นที่นิยมอย่างมากในแอฟริกา อย่างในกานาก็มีผู้นับถือเกือบหนึ่งในสามของประชากร ในซิมบับเวก็ประมาณหนึ่งในห้าของประชากร หรือในเอเชียเอง ประชากรคริสต์ของกัมพูชาก็นับถือเพ็นโตคอสตอลในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง 

ศาสนาไม่ได้เสื่อม หลายคนอาจจะคิดว่าศาสนาเสื่อม ซึ่งอาจจะเสื่อมในยุโรป แต่ที่อื่นๆ ในโลกนั้นคริสต์ศาสนายังขยายตัวอย่างมาก โดยมุ่งไปยังดินแดนอื่นๆ เช่น แอฟริกา เอเชีย ความถดถอยของศาสนาอาจจะช่วยทำให้ความขัดแย้งของนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ประนีประนอมกันมากขึ้น กระทั่งหลังจาก 500 ปีของความขัดแย้งจากการปฏิรูปศาสนา เมื่อปี 2017 โป๊ปฟรานซิสก็เริ่มยอมรับโปรเตสแตนต์มากขึ้น นั่นคือคุณก็ประนีประนอมมากกว่าเดิม นำไปสู่การที่ต้องยอมรับกลุ่มนิกายอื่นๆ เช่น อีวานเจลิคัลซึ่งเติบโตมากๆ พวกกลุ่มอีวานเจลิคัลเป็นสายหนึ่งที่แตกออกมาจากนิกายโปรเตสแตนต์ อย่างที่เรารู้กันว่านิกายในคริสต์ศาสนานั้นเยอะมาก

สายโปรเตสแตนต์นั้นยึดพระคัมภีร์เป็นหลัก เน้นเรื่องจิตวิญญาณที่เราจะต้องตื่นรู้ มี spiritual awakening สถาบัน จารีต ประเพณีต่างๆ ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ศาสนาจึงเป็นเรื่องคนแต่ละคนว่า ฉันจะตื่นรู้ได้อย่างไร ทุกอย่างเป็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคนกับพระเจ้าหรือพระเยซู แต่สิ่งสำคัญของอีวานเจลิคัลที่ไม่ต่างไปจากวิธีคิดแบบเอกเทวนิยมทั่วไป ก็คือการพยายามที่จะทำให้คนหันกลับมาสู่ศาสนาอีกครั้ง หรือให้คนนอกศาสนากลับมาเข้ารีต จะได้ยินประโยคหนึ่งคือ Born again Christian ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ จอช ดับเบิลยู บุช จูเนียร์ (George Walker Bush Jr. -อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) คือหลังจากใช้ชีวิตเหลวแหลกมาตลอดก็หันกลับมาสู่ศาสนาในที่สุด

สิ่งสำคัญอีกอย่างของอีวานเจลิคัลคือการร้องเพลง ทุกคนก็ต้องประกอบกิจกรรมด้วย ไม่ใช่แค่นั่งสวดอย่างเดียว ชีวิตที่ดีคือการปฏิบัติตนเองให้เป็นคริสต์ที่ดี ฐานคิดเช่นนี้กลับไปสู่แนวคิดที่สำคัญของ โธมัส แคมพิส (Thomas Kempis -นักบวชปลายยุคกลางชาวเยอรมัน-ดัชต์) ผู้เขียนเรื่อง The Imitation of Christ คือคุณต้องเลียนแบบพระเยซู ซึ่งแน่ล่ะว่าย่อมไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายๆ 

นิกายคริสต์ศาสนาในลาตินอเมริกาก็เหมือนที่อื่นๆ คือหลากหลายมาก แปรผันไปตามท้องถิ่น นิกายหนึ่งที่อาจไม่ค่อยพูดถึงกันคือราสตาฟารี (Rastafari) ที่แตกออกมาผ่านการตีความพระคัมภีร์ในจาเมกา เชื่อว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในตัวเราทุกคน เพียงแต่คนพวกนี้ซึ่งเป็นคนผิวดำในแถบแคริบเบียนก็อยากกลับไปอยู่ในแอฟริกา เพราะถูกกดขี่ขูดรีดในสังคมคนผิวขาว ความหวังของคนดำพวกนี้ก็เทียบเคียงกับพระคัมภีร์ไบเบิลในภาค ‘Exodus’ หรือ ‘อพยพ’ คนยิวที่เป็นทาสฟาโรห์ในอียิปต์เป็นเวลาหลายร้อยปี หลังจากได้รับการปลดปล่อยโดยผู้นำอย่างโมเสส (Moses) แล้วต้องการเดินทางกลับไปสู่ดินแดนพันธสัญญา ดังนั้นนี่จึงเป็นการตีความแบบไซออนิสต์​ (Zionism) คนที่ทำให้ราสตาฟารีโด่งดังคือ บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley -นักดนตรีชาวจาเมกา) นอกจากนี้ กรอบความคิดจาก ‘Exodus’ หรือ ‘อพยพ’ ยังเป็นต้นแบบให้กับ ‘Theology of Liberation’ ด้วย

‘ฉันมีข่าวดี’ และอีวานเจลิคัล

คนรุ่นใหม่จำนวนมากบอกว่าฉันไม่รับศาสนาใดๆ เราคงพอทราบกันอยู่แล้ว อิสลามคือศาสนาที่ขยายตัวมากที่สุด ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 คาดการณ์กันว่าประชากรมุสลิมในโลกน่าจะมีมากกว่าคริสต์ ทั้งนี้ หนึ่งในนิกายของคริสต์ศาสนาที่ขยายตัวมากที่สุดอันหนึ่งคืออีวานเจลิคัล นิกายนี้มีบทบาทในฟาเบลา (Favela) หรือบริเวณสลัมในบราซิลอย่างมาก มากกว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกอีก อย่างที่ผมบอกว่าอีวานเจลิคัลยึดมั่นในพระคัมภีร์ หน้าที่ที่สำคัญคือพาพระเยซูไปหาคนต่างๆ เพื่อทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงพระเจ้า และเปลี่ยนผู้คนให้มาเป็นคริสต์ แล้วคุณก็จะเป็นอีวานเจลิคัลที่ดี การหาสมาชิกใหม่ๆ จึงสำคัญมาก 

ถ้าเราดูจากรากศัพท์ คำว่า evangelical นั้นหมายถึง ‘gospel’ หรือที่เราแปลเป็นคำว่าพระวรสาร ซึ่งหมายถึง ‘ข่าวดี’ ฉันมีข่าวดีมาบอกพวกเธอ เธอก็ควรจะรับรู้ข่าวดีนะ คุณจึงต้องประกาศข่าวดีให้ทุกๆ คนทราบ เพราะคุณมีข่าวดีแล้วคุณจะเก็บไว้คนเดียวไม่ได้ หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือคุณต้องช่วยเหลือคนจน เมื่อไม่มีอำนาจจากส่วนกลางมาบอกว่าคุณจะต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไร คุณก็ decentralized ทุกอย่างได้ ปรับตัวเข้ากับท้องถิ่น คราวนี้เลยมีร้อยพ่อพันแม่วิธีการเพราะไม่ต้องคุมอะไรแล้ว 

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าคริสต์ศาสนาขยายตัวในประเทศแบบที่เราเรียกกันว่าประเทศโลกที่สาม คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งหน้าลงซีกโลกใต้และขยายตัวเข้าไปในแอฟริกาอย่างมาก ฉะนั้นเวลาคนบอกว่าไม่นับถือศาสนา นี่คิดแบบยุโรปเป็นศูนย์กลางหรือ ‘Eurocentrism’  เพราะในดินแดนอื่นๆ มันไม่ใช่

สิ่งสำคัญคือ ทำไมศาสนาถึงได้เป็นเรื่องส่วนตัว ก็กลับไปสู่ความขัดแย้งระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิกซึ่งนำมาสู่สงครามวายป่วง เอาแค่สงครามสามสิบปี (Thirty Years’ War -สงครามศาสนาในยุโรป กินเวลาตั้งแต่ปี 1618-1648) มีคนตายไปประมาณ 7-8 ล้านคนได้ สงครามศาสนาในฝรั่งเศสช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 16 ก็ตายไปประมาณ 3 ล้านคน ดังนั้นถ้าพูดถึงตัวเลข ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันมีความขัดแย้งกันมาตลอด ในทางศาสนาคุยกันไม่ได้แล้วก็ต้องฆ่ากัน เพราะพระผู้เป็นเจ้าอยู่ข้างฉันตลอด 

การไม่นับถือพระเจ้าเลยเป็นหนึ่งในทางออกที่ดี เพราะคุณก็ตัดทิ้งไปเลย ไม่ได้มีอะไรศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องมาทะเลาะกัน คุณก็เมินไปเลย แล้วเอาไปยัดไว้ใต้พรม ไม่ต้องเถียงกันว่าใครถูกหรือใครผิด ของใครจริงกว่าใคร กูไม่สน ความขัดแย้งนี้จึงเลือนหายไป คนจำนวนหนึ่งก็มุ่งไปใช้ชีวิตแบบ secular life ไม่สนเรื่องศาสนา เปลี่ยนความคิดศาสนาให้เป็นเรื่องทางโลก อย่างในยุโรปมีความขัดแย้งกันเยอะมาก มีค่าเฉลี่ยว่าในปี 1500 จนถึงปี 1945 ยุโรปจะเกิดสงครามทุก 2 ปีครึ่ง หรือลำพังแค่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเดียว รัสเซียก็ตายไปประมาณ 24-25 ล้านคนซึ่งถือว่ามากที่สุด แต่อเมริกันตายน้อยมาก

ดังนั้น เวลานี้คาทอลิกในลาตินอเมริกาไม่ได้ทรงพลังแบบเดิมอีกแล้ว ตอนนี้ก็ต้องแข่งกับนิกายอีวานเจลิคัล ปริมาณของโปรเตสแตนต์ในชิลีสูงขึ้นเรื่อยๆ และการขยายตัวของคริสต์ศาสนาก็ยังเห็นได้ในเอเชียอีกด้วย 

แองโกล-แซกซัน กับความสัมพันธ์แบบ ‘ไม้เบื่อไม้เมา’

โฆเซ มาร์ติ (Jose Marti) ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในบิดาแห่งขบวนการชาตินิยมคิวบาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และชัดเจนมากในการพูดถึงภัยอันตรายของการขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกา หลายคนอาจตั้งคำถามว่า จักรวรรดินิยมเข้ามาปลดปล่อยหรือไม่ แน่นอนว่าเป็นคำถามสำคัญ เพราะหลายคนอาจจะมองว่าจักรวรรดินิยมคือกลไกในการเข้ามาทำลายโครงสร้างพันธนาการของสังคมดั้งเดิม ฉะนั้น จักรวรรดินิยมจึงเป็น progressive force เป็นพลังก้าวหน้า และมอบความเป็นอารยะแบบตะวันตกให้กับโลก

ปัจจุบันนี้ ความคิดว่าจักรวรรดินิยมในฐานะผู้ปลดแอกค่อนข้างจะโดดเด่นหลังช่วงการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ เราพูดถึงจักรวรรดิมากขึ้น ปรากฏชัดในหมู่อนุรักษนิยมในปัจจุบัน ไนอัล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นหัวหอกสำคัญคนหนึ่ง แม้ว่าจักรวรรดินิยมอันเป็นพลังก้าวหน้านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกอนุรักษนิยมคิดแบบนี้อยู่พวกเดียว ในปี 1980 บิลล์ วอร์เรน (Bill Warren -นักเขียนชาวอังกฤษ) ซึ่งเป็นมาร์กซิสต์เขียนหนังสือเรื่อง Imperialism: Pioneer of Capitalism ก็มองจักรวรรดินิยมในเชิงบวกว่าเป็นพลังก้าวหน้า งานชิ้นนี้ทำพวกมาร์ซิสต์ขนหัวลุกเลย ทั้งยังนำไปสู่ข้อถกเถียงอย่างมากด้วย

คำถามที่น่าพิจารณาด้วยก็คือ จักรวรรดินิยมอเมริกันนั้นคิดอย่างไร โลกทัศน์ชนชั้นนำในสหรัฐฯ เชื่อว่าโลกนี้สงบสุข ถ้าไม่สงบสุขก็จะต้องมีใครสักคนก่อเรื่อง หนทางแก้ไขก็คือทำลายเจ้าตัวปัญหานี้ก็จบ และสหรัฐอเมริกานั้นเชื่อเรื่องการส่งออกเสรีภาพ ไปยังคนในดินแดนอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าใจชีวิตที่ถูกต้อง เชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นของจริงและรักมนุษย์ คนพวกอื่นๆ จึงยังไม่เข้าถึงความหมายของชีวิตและความเป็นมนุษย์แบบที่อเมริกันเข้าใจ พวกเขาเชื่อกันว่าเมื่อมีของดีก็ต้องส่งต่อ ต้องบอกต่อ คุณจะเห็นว่าความคิดแบบนี้คือการเปลี่ยนจากโครงสร้างของคริสต์ศาสนาที่คุณต้องเอาคนนอกมานับถือ มาเข้ารีต เพราะสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่พัฒนามาจากรากฐานเคร่งศาสนา

คนพวกผิวขาวที่คิดว่าพระผู้เป็นเจ้าเข้าข้างตัวเองแบบอเมริกันนั้นมักจะมองคนจากดินแดนอื่นว่าต่ำต้อย โง่ เพราะคุณไม่ใช่คนผิวขาว มีความเชื่อว่าคนผิวขาวคือคนที่สูงส่งที่สุดในช่วงเวลาศตวรรษที่ 19 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างน้อย ผมว่าใครเรียนประวัติศาสตร์มาก็จะเห็นภาพที่ว่านี้ ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็คือระเบียบนี้ ระเบียบของคนผิวขาวที่ศิวิไลซ์กับคนที่ไม่ใช่ผิวขาว ที่ไม่เป็นคริสเตียนและไม่ศิวิไลซ์   

มันมีองค์ประกอบนี้อยู่แล้วในวิธีคิดแบบเอกเทวนิยมเพราะพระผู้เป็นเจ้าของฉันจริง เมื่อจริงก็ต้องถูกต้องที่สุด สำนึกว่า ‘ฉันถูกต้องเสมอ’ หรือ ‘self-righteousness’ จึงหลีกหนีได้ยาก กรณีของอเมริกันก็เพิ่มขึ้นไปอีกอย่างคือ นอกจากคนผิวขาวแล้วก็ต้องเป็นแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxons -คำที่ใช้เรียกกลุ่มคนทางตอนใต้และตะวันออกของสหราชอาณาจักรระหว่างต้นศตวรรษที่ 5 จนถึงศตวรรษที่ 10) ด้วย หรือคือโลกแองโกล-อเมริกัน และคุณก็ต้องเป็นโปรเตสแตนต์อีก เรียกว่า WASP หรือ White-Anglo-Saxon-Protestant นี่เป็นโครงสร้างอำนาจที่สำคัญ กลุ่มคนพวกนี้คือกลุ่มคนที่ครอบงำสังคมอเมริกัน ค่านิยมก็ต้องมาจากคนผิวขาว คนที่เป็นโปรเตสแตนต์เท่านั้น เส้นทางอื่นๆ หรือวิถีชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากนี้ผิดหมด เพราะทั้งหมดนี้นั้น ถ้าย้อนกลับไปมันคือเรื่องที่ว่า พระเจ้าของคุณมันผิด ไม่ถูกต้อง เป็นของปลอม

ทีนี้ ในทศวรรษที่ 1990 เราเห็นภาพการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน อำนาจของเสรีนิยมใหม่ขยายตัวภายใต้นามของโลกาภิวัตน์แม้กระทั่งในยุโรปตะวันตก อเมริกันเป็นหัวหอกสำคัญการส่งออกเสรีนิยมใหม่ การตั้งคำถามต่อจักรวรรดิหรือ empire ที่มาในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น แต่คำถามยังมีลักษณะคงแบบเดิมๆ อยู่ด้วย ที่นี้เวลาพูดถึงเสรีนิยมใหม่ เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าใช้คำว่าเสรีนิยมใหม่ มักแปลได้ว่าไม่ชอบเสรีนิยมใหม่ คนที่ใช้คำว่า neoliberalism มักสื่อนัยค่อนข้างเป็นลบ ถ้าคุณชอบ คุณก็จะบอกว่าเป็นกลไกตลาด พลังตลาด ตลาดเสรี อะไรต่างๆ ไป

สิ่งที่ตามมาจากการขยายตัวของโลกาภิวัตน์จึงนำไปสู่ประเด็นอย่างหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่า จักรวรรดินิยมของการค้าเสรี ซึ่งคำนี้เป็นคำที่มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1950 ในช่วงนั้นเขาเอาไว้ใช้อธิบายอังกฤษช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ว่าอังกฤษขยายตัวผ่านการค้า ตอนนี้ถูกนำมาใช้อธิบายจักรวรรดินิยมบนการค้าเสรีหรือ Imperialism of Free Trade คนที่เห็นประโยชน์ของเสรีนิยมใหม่และการขยายตัวของสหรัฐฯ ก็มีอยู่ทั่วไป ชนชั้นนำในไทยก็เห็นประโยชน์ในสิ่งนี้ โดยเสรีนิยมใหม่เข้ามาตั้งแต่ยุค พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (นายทหารและอดีตนายกรัฐมนตรีไทย)

ในลาตินอเมริกาเองก็เป็นต้นทางของการทดลองเสรีนิยมใหม่ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศชิลีที่มีคนสนับสนุนเยอะมาก มาริโอ บาร์กัส โยซา (Mario Vargas Llosa) นักเขียนชาวเปรูก็สนับสนุนเสรีนิยมใหม่ ในทศวรรษที่ 1990 เคยลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเปรูคู่กับ อัลแบร์โต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori) แต่พ่ายแพ้ไป ในช่วงการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลปี 2022 ที่ผ่านมานี่ บาร์กัส โยซาก็ประกาศจุดยืนสนับสนุน ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro -นักการเมืองจากพรรค Liberal) ซึ่งตรงกันข้ามกับ ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva -นักการเมืองจากพรรค Workers และอดีตผู้นำสหภาพแรงงาน) ซึ่งเอียงซ้าย และเราก็รู้กันแล้วว่าลูลา ซิลวาชนะไป นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองกระแสคลื่นสีชมพู (Pink Tide) อันเป็นกระแสการเมืองของลาตินอเมริกาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ที่พยายามฉีกออกจากเส้นทางเสรีนิยมใหม่ บางคนก็เรียกว่า ‘หลังเสรีนิยมใหม่’ (Post-Neoliberalism) ก็มี

ปัจจุบันบาร์กัส โยซา ใช้ชีวิตอยู่ในสเปน และผู้ใกล้ชิดกับพวกอนุรักษนิยมในสเปน เขาใช้ชีวิตมายาวนานมาก เมียคนปัจจุบันคือ อิซาเบล เพรย์สเลอร์ (Isabel Preysler) สาวไฮโซจากฟิลิปปินส์ที่ร่ำรวยมาก เธอเป็นแม่ของนักร้องชื่อดังคือ เอนริเก อิเกลเซียส (Enrique Iglesias -นักรองและนักแต่งเพลงชาวสเปน) พ่อของเอนริเกคือ ฆูลิโอ อิเกลเซียส (Julio Iglesias) ที่เคยเป็นนักร้องและนักฟุตบอล ทีนี้ บาร์กัส โยซาก็เลิกกับเมียที่แต่งกันมา 50 ปี มาอยู่กับเมียคนปัจจุบัน บาร์กัส โยซาจึงมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นสูงสเปนมาตลอด ขณะที่เพรย์สเลอร์เอง หนึ่งในสามีเก่าก็มาจากชนชั้นขุนนางของสเปน แล้วมาแต่งงานกับนักการเมืองซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังของสเปน จนเขาเสียชีวิตก็มาแต่งกับบาร์กัส โยซา

ในโลกตะวันตกนั้น การที่คุณเคยเป็นฝ่ายซ้ายแล้วเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายขวา มันเป็นเรื่องปกติ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องพิสดาร คนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เพียงแต่จะเหวี่ยงไปอีกข้างหนึ่งแรงแค่ไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ในโลกตะวันตก นักเขียน ปัญญาชนจำนวนมากที่ละทิ้งการเมืองฝ่ายซ้ายมาเป็นฝ่ายขวา หนึ่งในนั้นคือบาร์กัส โยซานี่เอง เพราะเขาผิดหวังจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายในคิวบาที่กลายมาเป็นเผด็จการ อย่างที่ผมพูดไปในตอนแรกว่าพลังของการปฏิวัติคิวบาสั่นสะเทือนวงการมาก คนบางคนอาจจะผิดหวังต่อจุดยืนทางการเมืองของบาร์กัส โยซาด้วย นั่นก็เป็นไปได้

นี่ไง เมื่อคุณอ่านนิยายเขา คุณควรจะตระหนักเกี่ยวกับจุดยืนในทางการเมืองเขาไหม บาร์กัส โยซาก็ถูกถามแบบนี้แหละ ซึ่งเขาก็ให้คำตอบว่า “ถ้าคุณถามผมแบบนี้ ฆอร์เฆ หลุยส์ บอร์เฆส (Jorge Luis Borges -นักเขียนชาวอาร์เจนตินา) ก็เป็นนักเขียนที่พยายามให้ความเห็นใจเผด็จการทหารมาก ส่วน ปาโบล เนรูดา (Pablo Neruda -กวีชาวชิลี) ก็เห็นดีเห็นงามกับ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin -ผู้นำสหภาพโซเวียต)” ดังนั้น บาร์กัส โยซาจึงบอกว่า “นักเขียนต้องมีผลงานที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ความปราดเปรื่องในทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองของนักเขียนกับผลงานต้องแยกออกจากกัน” บาร์กัส โยซาเชื่อในตลาดเสรี แบบเสรีนิยมใหม่ ด้วยความเชื่อว่าตลาดเสรีนั้นจะทำให้คนรวยขึ้นได้ แน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก ว่ามันทำให้คนรวยขึ้นแต่พร้อมกันนั้นก็เกิดช่องว่างมหาศาลด้วย

เราต้องเข้าใจว่าบทบาทของสหรัฐอเมริกากับความเป็นไม้เบื่อไม้เมากับลาตินอเมริกานั้นมีมานานแล้ว มีมาตลอด ผมไม่รู้ว่าเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Poor Mexico, so far from God, so close to the United States” กันไหม นั่นเป็นประโยคของประธานาธิบดีเม็กซิโกในศตวรรษที่ 19 คือ ฟอร์ฟิริโอ ดิอาซ (Porfirio Díaz) ประโยคนี้โด่งดังในเม็กซิโกมาก เมื่อเม็กซิโกเป็นเอกราชจากสเปนในปี 1821 ตอนนั้นก็ต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของสหรัฐฯ คนผิวขาวเข้ามาทำมาหากินในเม็กซิโก จนท้ายที่สุด คนขาวก็ประกาศตัวไม่ขึ้นอยู่กับเม็กซิโก กลายเป็น Republic of Texas (สาธารณรัฐเท็กซัส) ราวทศวรรษที่ 1830 ชนชั้นนำผิวขาวชาวอเมริกันต้องการขยายอำนาจลงมาทางใต้แล้วไปฝั่งแปซิฟิก

ช่วงปี 1846-1848 สหรัฐฯ ได้ดินแดนจำนวนมากจากเม็กซิโกตามสนธิสัญญากัวดาลูเป ฮิดัลโก (Treaty of Guadalupe Hidalgo -สนธิสัญญายุติสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก โดยเม็กซิโกต้องยกดินแดน 55 เปอร์เซ็นต์ให้แก่สหรัฐฯ) สหรัฐฯ ได้พื้นที่ซึ่งตอนนี้คือแคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, ยูทาห์, แอริโซนา, โคโลราโด, นิว เม็กซิโก, ไวโอมิง, แคนซัส, โอคลาโฮมา, เท็กซัส ทั้งหมด 10 รัฐเป็นของสหรัฐฯ หมดเลย ดินแดนเม็กซิโกจึงหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง คือถ้าคุณอยากเข้าใจวิธีคิดแบบอเมริกัน คุณต้องลองไปดูกีฬาอเมริกันฟุตบอล ซึ่งมันบอกคุณลักษณะดังกล่าวในฐานะของสงครามการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ หลังจากพิชิตตะวันตกไปแล้ว สุดแผ่นดินฝั่งตะวันตกคือมหาสมุทรแต่สหรัฐอเมริกาก็ยังไปต่อได้ เพราะชาวอเมริกันไม่ได้คิดว่า สุดแผ่นดินคือทะเล เมื่อสุดแนวแผ่นดินจะไปต่อไม่ได้อีกแล้ว ไม่เลย เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะถึงแม้มหาสมุทรกว้างใหญ่ แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังขยายเข้ามามหาสมุทรแปซิฟิกในเวลาต่อมา เช่น รัฐฮาวายนี่ก็เพิ่งมาเป็นรัฐของสหรัฐอเมริกาในปี 1959 พูดง่ายๆ คือทะเลและมหาสมุทรหยุดยั้งความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิไม่ได้ นอกจากนั้น กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ (United States Pacific Fleet) ที่ถูกสถาปนาขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยังปฏิบัติการอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

เมื่อตอนอเมริกาบุกเข้ามาในเม็กซิโก กองทัพอเมริกันใส่ชุดสีเขียว การต่อต้านสหรัฐอเมริกาคือ ‘green go’ ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘gringo’ (ศัพท์ที่คนพูดสเปนและโปรตุเกสใช้เรียกคนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวแองโกล-อเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษ) ที่เราเข้าใจในทุกวันนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐอเมริกาก็บุกเข้ามาอีกเพื่อตามจับ ปานโช วิญญา (Pancho Villa -ผู้นำฝ่ายกบฏชนพื้นเมืองชาวเม็กซิโก) ซึ่งเข้าไปในนิว เม็กซิโก ทหารอเมริกันประมาณ 5,000 คนตามจับแต่ก็จับไม่ได้ ปัญหาระหว่างชายแดนเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาจึงมีมายาวนานมาก ฉะนั้นอย่าไปตื่นเต้นกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ขนาดนั้น กำแพงเขตกั้นระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาของทรัมป์เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก เอาแค่แคลิฟอร์เนียนี่อยู่กับสเปนมากี่ปี หรืออยู่กับเม็กซิโกมากี่ปี ถ้าเปรียบเทียบคือเหมือนช่วงที่สเปนตกอยู่ภายใต้อำนาจของมุสลิม ในปัจจุบันนี้สเปนอยู่ภายใต้คาทอลิกยังไม่ถึง 700 ปีเลย ยังห่างไกลจากช่วงเวลาที่ที่สเปนอยู่ภายใต้อำนาจของมุสลิม

ยุคสมัยแห่งการ ‘ปุ๊น’ ในนามของการต่อต้านรัฐ

กับเรื่องผี คนจำนวนมากบนโลกใบนี้พูดเรื่องผีกันแถบทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม คุณต้องเข้าใจก่อนว่าผีไม่ได้อยู่แค่อีกโลกหนึ่ง แต่ในอดีตผีอยู่ร่วมกับเรา แม้กระทั่งปัจจุบันสำหรับคนหลายต่อหลายคนก็ยังเชื่อว่าใช่ มนุษย์กับวิญญาณสัมพันธ์กันได้ผ่านร่างทรง ในลาตินอเมริกาในสายตาของคนตะวันตก คุณก็อาจจะเรียกว่าเป็นพ่อมดหมอผี ต้องเข้าใจว่านี่เป็นอาชีพที่พบตั้งแต่ไซบีเรียจนถึงทวีปอเมริกาทั้งหมด จากเหนือไปจนถึงใต้เลย อาชีพนี้มีมาเป็นพันปีแล้ว 

บทบาทของพ่อมดหมอผีเป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ในทุกสังคมของดินแดนแถบนี้เพราะมันเป็นเรื่องของชุมชน แต่เรามักจะไปคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว นั่นมันวิธีคิดของโปรเตสแตนต์ พ่อมดหมอผีเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมและการเมืองต่างๆ คุณลักษณะสำคัญของหมอผีตั้งแต่ไซบีเรียจนมาถึงอเมริกาใต้คือการใช้สารบางอย่าง คิดง่ายๆ เหมือนคุณกินเห็ดเมาเพื่อหลอนประสาท หรือกินสมุนไพรแล้วคุณจะเริ่มแปลงร่างกลายเป็นสัตว์ เสือจากัวร์ (jaguar) ก็จะกลายมาเป็นสัตว์สำคัญในการแปลงร่างเนื่องจากจากัวร์ถือกันว่าเป็นสุดยอดนักล่าของป่าในลาตินอเมริกา เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณจะพบว่าจากัวร์ไม่ใช่เป็นแค่เสือแล้ว แต่อาจจะเป็นวิญญาณของใครบางคน นอกจากเสือก็ยังรวมไปจนถึงนกที่บินสูงๆ พวกแร้งคอนดอร์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งนกสวยๆ ในลาตินอเมริกา สัตว์เหล่านี้ เช่น นกที่บินอยู่ในที่สูง ก็เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกใต้ดินกับจักรวาลต่างๆ และแน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือดนตรี สารที่คุณกินเข้าไปแล้วคุณเกิดภาวะ hallucinate ต่างๆ ไม่ว่าจะเห็ดเมา พืชผักต่างๆ หรือถ้าพูดง่ายๆ จะเรียกว่าปุ๊นก็ได้ คือเมื่อคุณปุ๊นแล้ว คุณก็ฟังดนตรี อยู่กับสิ่งแวดล้อม ทีนี้ก็บรรเจิดเลย

ในวิธีคิด โลกทัศน์ จักรวาลวิทยาของคนเหล่านี้ไม่ได้มีระบบคิดที่วางรากฐานให้กับความเป็นปัจเจกชนที่ว่า ‘I think therefore I am’ (ประโยคโดย เรอเน เดการ์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ตัดขาดออกจากโลกภายนอก แต่ในดินแดนแถบนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ความคิดของคนพื้นเมืองจึงวิธีคิดแบบปัจเจกชนเหมือนตะวันตกซึ่งมีระบบคิดที่ว่า ฉันเป็นของฉันแบบนี้ ฉันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับใคร 

ความนิยมของสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ขยายตัวอย่างมากในทศวรรษ 1960 และช่วงเวลาของการขยายตัวนี้ ก็ต้องเข้าใจว่ามันขยายตัวไปพร้อมวัฒนธรรมสำคัญและวิถีชีวิตที่คุณต้องการใช้พืชพวกนี้ในการเสพเพื่อมึนเมา เรียกให้เข้าใจง่ายๆ สายปุ๊น สายเขียวหรือก็นึกถึงฮิปปี พวกนิยมที่จะไปอยู่กับธรรมชาติก็ได้ ในช่วงนี้ก็ยังเป็นช่วงของการประท้วง การต่อต้านสถาบันหลักของสังคม ฉะนั้น กิจกรรมการใช้สิ่งมึนเมา การปุ๊นเหล่านี้ก็เท่ากับเป็นการประท้วงสิ่งที่เป็นกระแสหลัก ค่านิยมหลักของสังคม พร้อมกันนี้ การเมืองฝ่ายซ้ายก็ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ความหวังจากการหลุดออกจากโลกทุนนิยมก็ส่องสว่างอย่างมากในลาตินอเมริกาจากการปฏิวัติคิวบาปี 1959 ฉะนั้น นักเขียนลาตินหลายคนจึงสนับสนุนการปฏิวัติคิวบา 

ฆูลิโอ คอร์ตาซาร์ (Julio Cortázar -นักเขียนชาวอาร์เจนติน่า-ฝรั่งเศส) เป็นอีกคนที่สนับสนุนการปฏิวัติคิวบา เมื่อคุณสนับสนุนการปฏิวัติคิวบา คุณก็ต้องต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน คอร์ตาซาร์เห็นว่านิยายลาตินอเมริกามีขึ้นมาเพื่อต่อสู้ความอยุติธรรม ต่อสู้กับเผด็จการ เขาจึงบอกว่า วรรณกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนเสียงเพลงที่ร้องออกมาจากห้องขัง นิยายของเขาเป็น “message in one of those bottles.” ที่ก็ไม่รู้หรอกว่าเมื่อปล่อยไปแล้วใครจะเป็นคนรับสาร แต่ก็หวังว่าจะมีคนได้รับสารนั้น คอร์ตาซาร์โด่งดังในช่วง 60s มาก มีผลงานเรื่อง Hopscotch (ตีพิมพ์ปี 1963) ทรงอิทธิพลอย่างมาก ส่งผลต่อการสร้างหนังเรื่อง Blow-Up (1966) ของ มีเกลันเจโล อันโตนีโอนี (Michelangelo Antonioni -ผู้กำกับชาวอิตาลี) สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ (Gabriel García Márquez -นักเขียนชาวโคลอมเบีย) จะมา 

Colombian writer Gabriel Garcia Marquez, literature Nobel prize, poses on October 1982, in Stockholm. AFP / PRESSENS BILD PHOTO (Photo by STRINGER / PRESSENS BILD / AFP) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ ผู้เขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

รากฐานความคิดของสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นสามารถย้อนกลับไปถึงปลายศตวรรษที่ 19 ได้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็โดดเด่นมากยิ่งขึ้น การขยายตัวของสำนึก modernism แบบลาตินอเมริกาที่ในแง่หนึ่งแล้วก็คือ ต่อต้านวิธีคิด ระเบียบต่างๆ ของยุโรป ในปลายทศวรรษที่ 1920 นักเขียนชาวบราซิล ออสวัลด์ เดอ อันดราเด (Oswald de Andrade) ต้องการหันไปหาความคิดคนพื้นเมืองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน อะไรที่เจ้าอาณานิคมรังเกียจถูกหยิบขึ้นมา เช่น สำหรับเจ้าอาณานิคมผิวขาวชาวคริสต์แล้วนั้น การใส่เสื้อผ้าถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเขาก็หันมาให้ความสำคัญกับร่างกายที่เปลือยเปล่าของคนพื้นเมือง นิยายเหล่านี้แสดงสปิริตของการต่อต้านวิธีคิดของพวกยุโรปตะวันตก การให้ความสำคัญกับคนพื้นเมืองก็ยังพบได้กับมาร์กซิสชาวเปรูอย่าง โฆเซ คาร์ลอส มาเรียเตกี (Jose Carlos Mariategui) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วย

ในบรรดานิยายสัจนิยมมหัศจรรย์เหล่านี้ คุณอ่านแล้วก็จะพาคุณไปสู่จินตนาการ แล้วยิ่งถ้าคุณปุ๊นไปด้วย ก็คิดดูว่ามันจะสุดๆ ไปเลยไหม และคุณยังสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ (วรรณกรรมโดยการ์เซีย มาร์เกวซ, ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1967) นี่ไม่โดดเดี่ยวเลย ถ้ายิ่งมีตัวช่วยผ่านปอด คุณก็จะเชื่อมตัวเองเข้ากับทุกอย่างในโลกได้ ทุกอย่างจึงล้วนสัมพันธ์กันหมด

นอกจากนี้ ผมไม่รู้ว่าพอจะเชื่อมโยงได้ไหม นิยายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพ่อมดหมอผีและการที่คุณเสพสารที่ทำให้คุณล่องลอยไปยังดินแดนต่างๆ ได้นั้น มีคนสำคัญคนหนึ่งคือ คาร์ลอส คัสตาเนดา (Carlos Castaneda) นักเขียนอเมริกันคนสำคัญของโลกพูดภาษาอังกฤษที่ทำให้เรื่องราวการใช้พืชเหล่านี้เข้าถึงความรู้แบบใหม่ 

คุณลองนึกถึงบรรยากาศยุค 60s นะ ยุคนั้นคัสตาเนดาเขียนเรื่องราวว่าด้วยหมอผีคนพื้นเมืองของอเมริกาเหนือที่นำพาไปสู่อีกโลกผ่านการใช้พืชหลอนประสาท ในปัจจุบันคนก็ขุดเรื่องราวของคัสตาเนดาขึ้นมาว่าเขาเป็นพวกหลอกลวง ชีวิตเต็มไปด้วยความลึกลับต่างๆ รวมไปถึงการตายอย่างลึกลับของคนในชีวิตเขา มีหนังสือและสารคดีเกี่ยวกับคัสตาเนดามากมาย จนมีการพูดกันว่า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียถูกเขาหลอก เพราะเขาจบสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ The Teachings of Don Juan: A Yaqui Way of Knowledge ตีพิมพ์เมื่อปี 1968 เป็นเรื่องราวของนักมานุษยวิทยาที่ไปเจอหมอผีอินเดียที่นำพาเขาไปรู้จักกับสารเหล่านี้ ทำให้เขามีความรู้แบบใหม่ และคุณจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีข้อจำกัด ความกลัว ความแก่ต่างๆ หายไป ถ้าเข้าใจไม่ผิดมีเล่มหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยด้วย

The Teachings of Don Juan: A Yaqui Way of Knowledge โด่งดังมาก และถูกจัดให้เป็นประเภท non-fiction ไม่ใช่นิยาย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ University of California Press ทำมาจากวิทยานิพนธ์ด้วย ตัวหนังสือและงานของคัสตาเนดาอีกหลายๆ เล่มได้รับการตีพิมพ์และกลายเป็น ‘cult’ รวมๆ แล้วผลงานเขาขายรวมกันได้กว่าสิบล้านเล่มเลย ผมว่าในปัจจุบันก็ไม่ค่อยนิยมอ่านกันแล้ว มันคือคนรุ่นบูมเมอร์แบบผมหรือฮิปปีที่อ่านกัน หรือคือสมัยที่การปุ๊นยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย งานเขียนเหล่านี้มันจึงไปด้วยกันกับปุ๊น แล้วคุณลองนึกดู ว่าถ้าคุณอ่านนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์แล้วคุณปุ๊น หรือกิน magic mushroom เข้าไปด้วย มันจะอัศจรรย์ขนาดไหน

สิ่งนี้ทำให้โลกแห่งวัตถุกับโลกแห่งจิตวิญญาณเชื่อมต่อกันหมด หมอผีมีมานานมากแล้ว ไม่ใช่มีแค่ในลาตินอเมริกาแต่มีในสังคมอื่นๆ ด้วย พวกพ่อมดหมอผีในแอฟริกาก็มี นั่นเพราะคนจากแอฟริกาที่เป็นทาสและถูกนำมาลาตินอเมริกา ทาสผิวดำก็นำเอาวิถีชีวิตพวกนี้เข้ามาด้วย ฉะนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ผสมปนเปกันอยู่ในลาตินอเมริกา ไม่มีการแยกวัตถุ แยกจิตวิญญาณออกจากกัน ขณะที่ในสังคมฝรั่งผิวขาวที่เป็นคริสต์ ต้นไม้จะศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เด็ดขาด คุณจะเที่ยวไปบอกใครต่อใครว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเท่ากับคุณละเมิดพระผู้เป็นเจ้า คุณต้องเคารพพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น จะไปบูชาอย่างอื่นไม่ได้ นี่เป็นการนอกใจ เขาจึงต้องบอกว่าเรื่องต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีผีมีวิญญาณ เป็นเรื่องงมงาย 

ผีสาง วิญญาณ ความตาย

เวลาเราคิดถึงเรื่องผี นิยายลาตินอเมริกาที่ผมเข้าใจว่ามีผู้แปลมาแล้วคือ The House of the Spirits (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ บ้านปรารถนารัก แปลโดย หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) เขียนโดย อิซาเบลล์ อาเยนเด (Isabel Allende -นักเขียนชาวชิลี) เธอเป็นหลานของซัลบาดอร์ อาเยนเด ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า spirit ซึ่งในสังคมคริสต์นั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้

ในสังคมตะวันตกมี ‘exorcist’ หรือผู้ประกอบพิธีกรรมในการจัดไล่ผี นี่เป็นเรื่องสำคัญของศาสนจักรเลย แล้วมีคนมารับบริการของผู้ประกอบพิธีกรรมไล่ผีมากมายด้วย ในบางสังคมของโลกตะวันตก ถ้าคุณจะใช้บริการนี้ได้ต้องจองคิวกันยาว ไม่ใช่ว่าเดินไปแล้ว ‘exorcist’ จะมาให้เลย มันจึงไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist (1973 -ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวที่ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง ครอบครัวจึงต้องเรียกพระมาไล่ปีศาจออก) เพียงอย่างเดียว ในหนัง คุณจะเห็น แม็กซ์ ฟอน ซีโดว (Max von Sydow) รับบทเป็นพระ นี่น่าจะพอทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ได้

เรื่องผีในโลกตัวตะวันตก เราต้องย้ำประเด็นสำคัญคือเอกเทวนิยมหรือ Monotheism กันแบบนับครั้งไม่ถ้วน นั่นคือพระผู้เป็นเจ้าของพวกตัวเองเป็นพระเจ้าของจริง พระเจ้าของคนอื่นๆ เป็นของปลอม ฉะนั้น กรอบความคิดเรื่องความจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในคริสต์ศาสนา เมื่อพระเจ้าของเอกเทวนิยมเป็นของแท้ ก็ไม่แปลกที่จะมีข้อห้ามที่ว่า คุณห้ามบูชา เคารพพระเจ้าองค์อื่นๆ เพราะมันเป็นของปลอม ของงมงาย ซึ่งอันนี้ก็ระบุไว้ในบัญญัติสิบประการ (Ten Commandments) แล้วอย่างชัดเจน และในพระคัมภีร์ไบเบิล ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าพระเจ้าของเขาเป็นพระเจ้าที่ขี้หึง เป็น ‘jealous god’ พวกแกจะไปเคารพบูชาพระเจ้าองค์อื่น หรือเทพเจ้าอื่นๆ ไม่ได้ พูดง่ายๆ คือคุณนอกใจไม่ได้ อยู่กับฉัน แกจะแอบไปปันใจให้พระเจ้าองค์อื่นไม่ได้นะ พระผู้เป็นเจ้าเอาตาย

ฉะนั้น โลกตะวันตกจึงพูดเรื่องความศรัทธาหรือ ‘faith’ มาก ถ้าเป็นโปรเตสแตนต์ก็คือ ‘sola fide’ ศรัทธาเท่านั้น ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว อย่างถ้าคุณแต่งงาน คุณสาบานกับใครล่ะ คุณก็สาบานกับพระผู้เป็นเจ้าใช่ไหม แล้วคุณจะนอกใจได้อย่างไร คุณจะไปใช้บริการทางเพศยังไม่ได้เลย และนั่นคือโลกตะวันตกซึ่งอยู่กับคริสต์ศาสนามาเป็นเวลานับพันๆ ปี และเริ่มมีประสิทธิภาพในการควบคุมอย่างมากคือหลังปฏิรูปศาสนา (reformation) ในระยะเวลา 500 ปีที่ผ่านมานี่เอง เมื่อก่อนก็คุมไม่ได้เท่าไหร่หรอก คุณอย่าลืมว่าคริสต์ศาสนาใช้เวลา 1,500 ปีในการจะทำให้คนมาแต่งงานในโบสถ์นะ

The Exorcist (1973

เมื่อคุณขยับขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนต่างๆ เช่น เข้ามาในเอเชีย ถามว่าคุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณมีอำนาจมากกว่าศาสนาอื่น มันก็คงไม่เป็นไร คุณทำลายศาสนาอื่นทิ้งก็ได้เพราะคุณไม่ต้องการปล่อยศาสนาอื่นๆ ไว้ให้คนแอบไปบูชา แต่ถ้าทำลายไม่ได้ คุณจะทำยังไงล่ะ คุณก็ต้องเริ่มรณรงค์ให้คนอื่นๆ ว่าอย่าไป นี่มันพิธีกรรมไสยศาสตร์ นี่มันมอมเมา งมงาย

แล้วถ้าคนไม่เชื่อจะทำอย่างไร คุณก็ดูดกลืนมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสิ แต่ก็ต้องลดสถานะ เช่น เปลี่ยนให้กลายเป็นตำนาน เป็นเรื่องปรัมปรา เช่นเดียวกับที่ทำกับเทพเจ้าในดินแดนนอร์ดิก นี่จึงเป็นกลไกที่สำคัญของศาสนาจำนวนมากที่ขยายอำนาจ คือทำให้ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องเล่า เป็นอะไรต่างๆ ไป เพราะมันไม่มีหลักฐานจดบันทึก เราต้องเข้าใจว่าเอกเทวนิยมนั้นอยู่บนพื้นฐานของพระคัมภีร์ไบเบิล มีการจดบันทึกเป็นด้วยตัวอักษร  นี่จึงเป็นสังคมของคนที่มีการศึกษาอ่านออกเขียนได้ ถามว่า 500 ปีที่แล้วชาวนาที่ไหนและกี่คนที่จะอ่านหนังสือได้ โดยเฉพาะภาษาละติน การดูดกลืนนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นสิ่งที่คริสต์ศาสนาทำมาตลอด

คริสต์ศาสนาให้ความสำคัญกับพระคัมภีร์อย่างที่เล่ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายโปรเตสแตนต์ ก็คือ ‘sola scriptura’ (หรือ ‘โดยพระคัมภีร์เท่านั้น’) ฉะนั้น เรื่องเล่าจากปากกับพระคัมภีร์จึงต่างกัน สถานะก็ไม่เหมือนกันแล้ว มุขปาฐะกับวัฒนธรรมขีดเขียนที่มีการจดบันทึกจึงมีสถานภาพที่แตกต่างกัน เราทุกคนจึงภาคภูมิใจมากกว่าเราอ่านออกเขียนได้ การจดบันทึก การขีดเขียนได้นั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาตินะ อย่างตัวอักษรนี่ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ ไม่ใช่ธรรมชาติแบบภาษาพูด ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเข้าไปในระบบการศึกษา แล้วด้วยพลังของเทคโนโลยีจากการปฏิวัติการพิมพ์หรือ Guttenberg Revolution มาจนถึงยุคดิจิตัล คุณจะพบว่าภาษาเขียนยิ่งครอบงำเข้าไปใหญ่ เช่น ‘texting’ ความเป็นมนุษย์แบบเดิมที่ใช้แต่ภาษาพูดก็เปลี่ยนแปลงไป 

ในอดีต ชาวนานั้นอ่านหนังสือไม่ได้ คริสต์ศาสนาก็ใช้กลไกแบบอื่น เช่น ภาพวาด ภาพวาดจึงเป็น The book of the Iliterate ของคนในยุโรป ภาพวาดคือหนังสือสำหรับคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บางคนก็มองว่าสิ่งเหล่านี้ผิดหลักศาสนา เพราะบัญญัติสิบประการนั้นระบุไว้ชัดเจนมากว่าคุณห้ามสร้างรูปเคารพ ช่วงปฏิรูปศาสนาจึงมีการทำลายภาพวาด พวก icon image ต่างๆ หรือรูปปั้น เราจะเห็นว่าโบสถ์โปรเตสแตนต์แทบจะไม่มีอะไรเลย เรียบง่ายมาก ยิ่งถ้าเทียบกับโบสถ์บาโรค (Baroque) ที่เป็นพวกต้านการปฏิรูปศาสนา (Counter-Reformation) ก็ยิ่งชัด

พวกที่เข้าไปในลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ในช่วงแรกๆ เป็นคาธอลิก ซึ่งยอมรับเรื่องรูปภาพ พวกนี้ก็ต้องใช้เทคนิคและกลไกต่างๆ ในการชักจูงผู้คนเข้ารีต ต้องใช้ทุกยุทธวิธี ยกตัวอย่างง่ายๆ คริสต์ศาสนาไม่แฮปปี้เลยกับการดื่มน้ำโกโก้ของคนพื้นเมือง เพราะโกโก้ถือว่าเป็นน้ำพิเศษที่จะทำให้มนุษย์สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ พระคาธอลิกจึงถือว่าการดื่มโกโก้เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ชาวบ้านเขาปฏิบัติแบบนี้กันมานาน กูก็ต้องกินโกโก้สิ ทีนี้เมื่อห้าม คนก็ไม่มาโบสถ์ เอาสิเลือกเอาว่าจะให้กูมาโบสถ์หรือจะห้ามกูดื่มน้ำโกโก้ และนอกจากนี้ การไปหรือไม่ไปโบสถ์มันเป็นเรื่องซับซ้อนมาก อย่างแรกเลย จะไปโบสถ์นี่คุณต้องแต่งตัวนะ แล้วถ้าคุณเป็นคนจน คุณจะทำยังไง คุณก็ไม่อยากไปโบสถ์แล้วเพราะคุณแต่งตัวดีๆ ไม่ได้ เมื่อเราพูดถึง church attendance หรือการไปโบสถ์ในปลายศตวรรษที่ 19 ที่คนอพยพเข้ามาในเมืองมากขึ้น มันจึงเป็นเรื่องซับซ้อนมาก เพราะเมื่อคุณไปวัดปริมาณของคนไม่ไปโบสถ์ คุณจะไม่รู้เลยว่าศาสนาเสื่อมจริงไหม คนแค่อาจจะไม่อยากไปโบสถ์ก็ได้ เรื่องพวกนี้ก็เถียงกันไป

วิถีของชาวนานี่ไม่ใช่แบบมนุษย์เคร่งคัมภีร์อยู่แล้ว มีแต่พวกอ่านเขียนหนังสือเป็นเท่านั้นแหละที่มักจะเป็นพวกมนุษย์เคร่งคัมภีร์ เพราะเรียนหนังสือมา ตำราบอกมาแบบนี้กูก็ทำแบบนี้ ศาสนาจึงต้องปรับตัวเพราะเจอกับคนสารพัดแบบ พวกเคร่งศาสนาก็จะด่าว่าไอ้คนนี้ไม่ปฏิบัติตามหลัก คนพวกนี้ไม่ใช่คริสต์ที่แท้ พระคัมภีร์เขียนไว้แบบนี้เห็นไหม และคาทอลิกก็จะถูกโจมตีจากประเด็นนี้มากว่าชาวบ้านพื้นเมืองพวกนี้มันไม่ใช่คริสต์แท้ ไม่มี authenticity ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากนะ ที่ผ่านมา คาทอลิกถูกโจมตีว่าเป็นนิกายที่เต็มไปด้วยพิธีกรรม ไม่สนใจพระคัมภีร์ นั่นเพราะการปฏิรูปศาสนาของมาร์ติน ลูเธอร์วางอยู่บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับตัวอักษรเป็นหลักนั่นเอง

โปรเตสแตนต์นั้นต่อต้านคาทอลิกที่เชื่อเรื่องพิธีกรรม แต่ชาวนาอ่านหนังสือไม่ได้ ฉะนั้นคาทอลิกจึงต้องบอกชัดเจนว่าให้ชาวนาฟังเราซึ่งเป็นพระ แต่พระวรสาร (gospel) สี่ภาคคือ ‘แมทธิว’ ‘มาร์ก’ ‘ลุค’ ‘จอห์น’ ในพระคัมภีร์ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ได้เขียนตรงกันตลอด ดังนั้นแม้คุณอ่านหนังสือได้ คุณก็จะปวดกบาลอยู่ดี ว่ามันตกลงยังไงวะนี่

เมื่อโปรเตสแตนต์ขึ้นมามีอำนาจ ก็พยายามโปรโมตการใช้ภาษาถิ่นในคริสต์ศาสนาอย่างมาก เช่น แปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาท้องถิ่น เพราะไม่มีใครที่นั่นและในสมัยนั้นอ่านภาษาลาตินได้หรอก เมื่อชาวนาอ่านหนังสือได้เอง ก็เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพระหรือใคร ไม่ต้องไปพึ่งไสยศาสตร์ด้วย การถดถอยของไสยศาสตร์ เวทมนตร์ในยุโรปจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องซับซ้อน นี่ก็พูดอย่างหยาบๆ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไสยศาสตร์และผีจะหมดไป เพราะอย่างที่บอกว่าการไล่ผีนั้นก็ยังทำโดยพระโรมันคาทอลิกอยู่

คำถามคือ ทำไมคุณต้องไล่และทำลายผี คำตอบคือเพราะอยู่ร่วมกันไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อคุณมีพระเจ้าองค์เดียว พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการให้คุณไปเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น คุณก็ไม่ต้องการให้พระเจ้าของคุณนั้นแปดเปื้อน ต้อง purify ทำให้สิ่งที่ไม่ได้เป็นของแท้ที่มาผสมอยู่หาย อะไรที่มาแปดเปื้อนจะนำมาสู่ความฉิบหายและทำให้ศาสนาไม่ authentic นั้นต้องถูกกำจัดออกให้หมดเพื่อทำให้ศาสนาบริสุทธิ์ คุณจึงจะเห็นได้ว่าในศตวรรษที่ 19 นั้น ภายใต้สำนึกความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ คนผิวขาวก็ต้องแต่งงานกับคนผิวขาวเท่านั้น ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติสีผิวเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ก็จะต้องไม่ผสมหรือร่วมเพศต่างสีผิวกัน ด้วยกลไกความคิดแบบนี้ เมื่อมาถึงเรื่องของคริสต์ มันก็มีคำถามว่าแล้วคริสต์ศาสนาจะแยกจากยิวได้ยังไงเมื่อพระเยซูเองก็เป็นยิวตกลงแล้วในไบเบิลภาคพันธะสัญญาเก่ากับพันธะสัญญาใหม่เกี่ยวข้องกันไหมหรือแยกขาดจากกัน โอโห ทีนี้ทะเลาะกันเละเลย เพราะคริสต์ก็ไม่ถูกกับยิว

นี่แหละที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ นั่นคือคุณต้องทำให้ทุกอย่างบริสุทธิ์อยู่เสมอ นี่เป็นกระบวนการที่สำคัญมากสำหรับวิธีคิดทางศาสนา และเมื่อเกิดความบริสุทธิ์แล้ว มันก็จะเกิดวิธีคิดว่า ฉันจะไม่สัมพันธ์อะไรกับสิ่งอื่นๆ ที่จะมาทำให้ฉันแปดเปื้อนได้ คนที่ใช้ตรรกะวิธีคิดนี้อย่างสุดขั้วที่สุดก็คือนาซี อะไรที่สกปรกแปลกปลอมต้องจำกัดให้หมด ความน่ากลัวของชุดความคิดแบบนี้คือวิธีคิดที่ว่ากูไม่ต้องการอยู่ร่วมโลกกับมึงอีกแล้ว ถ้าพูดง่ายๆ หลายคนก็อาจมองว่านี่คือชุดความคิดสมัยใหม่ที่คุณมีมาตรฐานเดียวแล้วใช้กับทุกคน เชื่อว่ามาตรฐานที่ตัวเองยึดถือถูกต้องที่สุด คุณจะปฏิบัติตามแนวทางแบบอื่นไม่ได้ 

เส้นทางศาสนาเหล่านี้ชัดเจนมากในสหรัฐอเมริกา เพราะพื้นฐานส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันเติบโตมาจากวิถีศาสนา กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Puritanism’ ซึ่งก็มาจากคำว่า ‘pure’ และเมื่อคุณรู้สึกว่าตัวคุณ pure กว่าคนอื่น กูดีกว่ามึง เป็นคนดีและสูงส่งกว่าคนอื่นๆ แบบที่เรียกกันว่า holier-than-thou วิธีคิดว่าฉันสูงส่งกว่า ดีกว่า เหนือกว่า มีคุณธรรมกว่าซึ่งวิธีคิดแบบนี้ปรากฏชัดเจนมากในช่วงอาณานิคม นำไปสู่การกระทำแบบ พวกแกคนพื้นเมืองมันโง่ คิดไม่เป็น ฉันจะทำให้พวกแกมีอารยธรรมขึ้น ฯลฯ เพราะฉันคือคนที่อุตส่าห์จะมาโปรดพวกแกนะ

อย่างที่บอกไปแล้ว เมื่อมองคนอื่นเป็นพวกงมงาย โปรเตสแตนต์ก็มองว่าคาทอลิกงมงายกว่า มองว่าตัวเองเคร่งกว่า แม้ว่าคุณจะไม่ได้ไปโบสถ์ แต่คุณก็ต้องเคร่งครัดกับตัวเอง มี self-control ต่อตัวเอง ควบคุมร่างกายและจิตใจของตัวเอง มีระเบียบวินัยมากกว่า พวกนี้คือพวกยุโรปเหนือหรือจำพวกสแกนดิเนเวีย, เยอรมนี, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกลุ่มคนที่นับถือโปรเตสแตนต์เป็นส่วนใหญ่ ในอดีตจึงมักเรียกพวกคนที่กุมอำนาจในสหรัฐฯ ว่าพวก WASP หรือ White-Anglo-Saxon-Protestant อย่างที่เล่าไป

นักบวชในคริสต์ศาสนาก็มีหลากหลายนิกาย วิธีการเปลี่ยนคนให้มาเข้ารีตในแต่ละที่ก็ต่างกัน ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น ไม่ว่าอย่างไรคุณก็ต้องเปลี่ยนให้คนนอกศาสนามาเข้านับถือศาสนาเท่านั้น ฉันต้องเปลี่ยนแก ไม่ทำไม่ได้ นี่คือสปิริตที่สำคัญมาก อย่างที่เคยเล่าไปว่ามันเหมือนคุณมีข่าวดี ฉันมีข่าวดีมาบอก ทำไมแกไม่ฟังฉัน คุณจึงต้องทำให้คนฟัง แต่ในอดีตก็อาจจะมองคนที่ไม่เชื่อศาสนาว่าพวกแกมันโง่ คิดไม่เป็น ไม่มี ‘logic’ ไม่มี ‘rationality’ พวกแกถูกครอบงำด้วยสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ดวงตายังไม่เห็นแสงสว่าง เพราะในอดีต ตราบใดก็ตามที่ทุกคนหรือคนหลายๆ กลุ่มยังเป็นเพแกน (Paganism -กลุ่มคนนอกศาสนา) อยู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ‘Kingdom of God’ ของคริสต์ศาสนาก็ยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น คุณจึงต้องออกไปประกาศข่าวดี เอาคนเข้ารีต หน้าที่สำคัญของคนในอีวานเจลิคัลคือโน้มน้าวผู้คนให้เข้ารีต พูดง่ายๆ คือมันไม่มีการคิดต่างเลย ที่ทุกวันนี้คิดต่างกันได้บ้างเพราะมันฆ่ากันไปเยอะแล้ว ก็ต้องประนีประนอมในท้ายที่สุด เอาแต่พอประมาณ

‘หนึ่งห้ามพูดปด ถ้าเราตดก็ต้องบอกว่าเปล่า’

พวกพระที่ปรับตัวเก่งและมีชื่อเสียงมากคือพระนิกายเยซูอิต ถ้านึกไม่ออกลองไปดูหนังเก่าเรื่อง The Mission (1986) โรเบิร์ต เดอ นีโร รับบทเป็นทหาร ส่วน เจรามี ไอออนส์ รับบทเป็นพระเยซูอิตในศตวรรษที่ 18 เข้าไปเผยแพร่ศาสนาให้คนพื้นเมืองเผ่ากัวรานี (Guarani) ที่อาศัยอยู่ในเขตแม่น้ำปารากวัย ที่ครอบคลุมปารากวัย อาร์เจนตินา และบราซิล คณะเยซูอิตมีชื่อเสียงมากในการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นมากกว่าจะยึดมั่นหลักการที่แข็งทื่อ หนังอีกเรื่องหนึ่งที่แนะนำให้ดูคือ Silence (2016 -ว่าด้วยนักบวชคาธอลิกมาเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นยุค 1600s) กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี คุณจะเห็นอะไรหลายๆ อย่างเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากสุดท้าย ที่คนเขาเผานักบวชคริสต์ที่เปลี่ยนศาสนาไปแล้ว เมื่อนักบวชตายก็ต้องเผาโดยวิธีพุทธ ทุกอย่างภายนอกถูกเปลี่ยนเป็นพุทธหมดสิ้น แต่ภายในของนักบวชก็ยังเป็นคริสเตียนเหมือนเดิม ตอนตายก็ยังแอบถือไม้กางเขนที่ทำจากฟางอยู่ นั่นเพราะใน soul ของคริสต์นั้นจะไม่มีวันเปลี่ยนไปแม้ว่าภายนอกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างยิว คาทอลิก และโปรเตสแตนต์ ความซับซ้อนก็เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่สำคัญของคริสต์ศาสนาคือการเข้าไปคุมจิตสำนึก ความคิด คนให้ได้ กระทั่งตอนตายที่แม้จะผ่านพิธีพุทธ ข้างนอกคุณเป็นพุทธ แต่ข้างในเป็นคริสต์ คือคุณก็ต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตรอด 

The Mission (1986)

ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 16 ตอนต้น ยิวที่เรียกว่า มาร์ราโน (Marrano) คือยิวที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน แต่พอกลับบ้านไปก็ยังฝึกวิถีปฏิบัติพิธีกรรมแบบยิวอยู่ ในยุโรป สิ่งพวกนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่คนกลัวมากที่สุดคือ การที่มีคนมาเคาะประตูบ้านคุณแล้วบุกเข้ามา เห็นคุณปฏิบัติศาสนาอยู่ ศาสนาจึงเป็นตัวสำคัญในการที่คุณจะสร้างความเป็นส่วนตัว เพราะแม้ข้างนอกฉันจะเป็นคริสต์ แต่กลับมาบ้านฉันเป็นยิว ข้างนอกฉันเป็นโปรเตสแตนต์ แต่ข้างในเมื่อกลับมาบ้านแล้วฉันเป็นคาทอลิกหรืออาจจะในทางกลับกัน ประเด็นที่เป็นปัญหาตามมาก็คือคุณไว้ใจใครไม่ได้เลย ท่ามกลางสงครามศาสนา คุณมองหน้ากันแล้วก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอีกฝ่ายเขาคิดอะไรอยู่ เป็นพวกศัตรูหรือเปล่า ฉะนั้น กลไกสำคัญของคริสต์ศาสนาคืออำนาจในการทะลุทะลวงเข้าไปในสมองของคุณ ว่าคุณคิดอะไรอยู่ ฉันอยากจะรู้แม้กระทั่งว่าพวกแกฝันอะไร 

อย่างที่เล่าไปว่าพระเยซูอิตเป็นพวกปรับตัว เมื่อก่อนนี้คนด่าเยอะมาก จนประมาณทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเล่าไปว่า Second Vatican ยอมรับแนวทางแบบยืดหยุ่น อันเป็นวิถีที่เยซูอิตทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท้องถิ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับนิกายต่างๆ ก็ตาม ในแง่นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกานั้นก็อาจไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกา เพราะศาสนาต้องปรับตัว รับนิกายท้องถิ่นเข้ามา หรือแม้กระทั่งอีวานเจลิคัลเองก็ตาม อย่างที่เล่าไปแล้วว่าอีวานเจลิคัลในลาตินอเมริกาจำนวนหนึ่งก็ต่อต้านอเมริกา 

ดังนั้นเมื่อเรามองสิ่งพวกนี้ก็จะเห็นว่า แม้อีวานเจลิคัลเข้ามาผ่านพวกอเมริกันก็จริง แต่การกลายเป็นท้องถิ่นก็ทำให้ภาพจักรวรรดินิยมทางศาสนาของอเมริกันลดลง กรณีอีวานเจลิคัลในบราซิลนั้นต่อต้านสหรัฐอเมริกาเรื่องการบุกอิรักมาก ส่วนมากแล้วคนมักเอาอีวานเจลิคัลในสหรัฐอเมริกาไปสัมพันธ์กับพรรครีพับลิกัน คือเป็นฝ่ายขวา อนุรักษนิยมไป แต่ในลาตินอเมริกา มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นแล้ว มันมีความซับซ้อนของการที่ศาสนามันต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่ 

พูดง่ายๆ คือศาสนาจำนวนมากในโลกนี้ยืดหยุ่นและปรับตัวนะ แม้คัมภีร์จะบอกอีกอย่างหนึ่งก็ตาม การปฏิบัติก็อีกอย่าง ผมถึงชอบตลกที่เขาพูดว่า “หนึ่งห้ามพูดปด ถ้าเราตดก็ต้องบอกว่าเปล่า” ผมไม่รู้รุ่นคุณทันไหม ภาพในลาตินอเมริกาเองก็ไม่ต่างไปจากที่อื่นที่คุณจะต้องปรับตัว คริสต์ศาสนาก็ใช้ยุทธวิธีในการปรับตัวมาตลอด ว่าไปก็ตั้งแต่สมัยโรมันแล้ว เมื่อก่อนคุณอยู่ในอาณาจักรโรมัน คุณยังไม่ได้มีอำนาจมากนัก คุณก็ต้องปรับตัวตามเขา แต่พอคุณมีอำนาจ คุณก็ชี้นิ้วสั่งคนนั้นคนนี้ได้ว่ามึงต้องปฏิบัติตามกูสิ อย่างชัดเจนที่สุดคือคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลที่เรียกว่า โซล อินวิกตัส (Sol Invictus) ก็คือ 25 ธันวาคมของพวกโรมัน เป็นการบูชาเทพเจ้าพระอาทิตย์ของโรมัน คริสต์ศาสนาก็จับมันเข้ามาสวมกันพอดีกับเรื่องเล่าของตัวเอง 

นี่จึงไม่ได้เป็นสิ่งพิสดารอะไรเลย เพียงแต่เป็นความพิสดารในวันนี้ เพราะวิถีมนุษย์เคร่งคัมภีร์ เคร่งตัวอักษร เส้นทางแบบโปรเตสแตนต์ แต่ประวัติศาสตร์ศาสนาแบบอื่นไม่ได้เป็นแบบนั้น มันซับซ้อน มันต้องอยู่กับหลายชนชั้น ถ้าพวกไม่ชอบจะเรียกว่าเละเทะก็ได้ มีการปรับตัว ยืดหยุ่นตลอดเวลา แต่แน่นอนล่ะว่าคุณก็อยากให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎ แต่คุณบังคับใครไม่ได้หรอก พ่อแม่บอกลูกอะไรต่างๆ ก็ไม่เห็นว่าลูกๆ จะทำตามที่พ่อแม่บอกเลย ลองคิดถึงตัวเองในอดีตสิ ตอนพ่อแม่บอก คุณทำตามไหมล่ะ คุณมักจะไม่ทำหรอก หรือไม่ก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง

เราต้องเข้าใจเรื่องการปรับตัวแบบนี้ นี่เป็นวิถีปฏิบัติที่สำคัญของคนท้องถิ่น คุณจะหาทางรับมือกับชาวนาอย่างไร คุณเป็นพระ คุณก็ต้องปรับตัว อย่างที่เล่าว่าถ้าคุณต้องการให้คนพื้นเมืองในลาตินอเมริกาเข้ารีตแต่ไปห้ามเขากินโกโก้ เขาก็ไม่มาโบสถ์สิ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ สำนึกของคนเหล่านี้นั้นรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่นๆ อยู่แล้ว ในอดีตนั้นคริสต์ศาสนาเรียกคนที่ไม่นับถือคริสต์ว่าเพแกนที่มาจากคำว่า ‘paganus’ ในภาษาลาติน หมายถึงคนบ้านนอก หยาบช้า ไปจนถึงคนที่ไม่เคยออกรบ ทำสงคราม ชนชั้นนักรบจะมีสถานะที่สูงส่งกว่าคนอื่น เพราะมีคุณธรรมสูงส่งกว่า หนึ่งในนั้นก็คือมีความกล้าหาญ ชาวนาจึงไม่ได้มีฐานะสูงส่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพระและชนชั้นนักรบ เพราะฉะนั้นจะไปคาดหวังชาวนาชนชั้นล่างทำตัวเคร่งจึงเป็นไปไม่ได้

ศัพท์คำว่า paganus จึงบอกชัดเจนว่าคนบ้านนอก ไม่มีความรู้ อ่านเขียนไม่ได้ ศาสนาพวกนี้ก็แก้ปัญหาโดยพิธีกรรม ไสยศาสตร์ และอื่นๆ จึงเป็นกลไกที่สำคัญมากในการทำให้คุณอยู่ในโลกได้ จัดการกับความไม่แน่นอนได้ ฉะนั้น ศาสนาคริสต์จึงเป็นศาสนาของคนเมือง เป็นศาสนาที่ต่อมายังผูกอยู่กับชนชั้นนักรบ คุณมีทั้งปืนมีทั้งดาบ มือขวาถือดาบ มือซ้ายถือพระคัมภีร์ แล้วใครจะไปสู้คุณได้ ศาสนาจึงควบคุมทั้งร่างกายและจิตใจ สัจนิยมมหัศจรรย์จึงอยู่ในชุดความคิดแบบนี้ ซึ่งคุณอ่านนิยายแล้วอาจคิดว่านี่แม่งโคตรงมงาย โคตรไม่ถูกต้องตามหลักคริสต์ศาสนา และต้องเข้าใจด้วยว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นคือเรื่องชีวิตคนบ้านนอก คนชนบท นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่าเป็นบรรยากาศยุค 60s ที่เต็มไปด้วยการต่อต้านชนชั้นนำ ต่อสถาบันหลักของสังคม มันไปด้วยกันหมด จาก dependency ทฤษฎีทางเศรษฐกิจการเมือง มาถึงสัจนิยมมหัศจรรย์ เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยหรือคือ theology of liberation และสงครามกองโจร ทั้งหมดของลาตินอเมริกาต้องการ ‘liberation’ หรือการปลดปล่อยนั่นเอง

ศาสนาในลาตินอเมริกาเป็นศาสนาพันธุ์ผสมแบบที่เรียกว่า ‘hybrid’ พวกชอบความบริสุทธิ์ก็จะมองว่าไม่ดี ถ้าเป็นคนก็คือ ‘ครีโอล’ (creole) หมายถึงคนที่สืบเชื้อสายจากสเปนแต่ถือกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ คนผิวขาวแบบขาวบริสุทธิ์สูงสุดคือคนขาวที่เกิดในสเปน แต่ครีโอลคือคนขาวที่เกิดในลาตินอเมริกาซึ่งเริ่มไม่ใช่ของแท้หรือสายพันธุ์บริสุทธิ์แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งคือ เมสติโซ (mestizo) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเป็นลูกผสมระหว่างคนเชื้อสายสเปนกับคนพื้นเมือง ต่อมาคือ มูลาโต (mulato) พวกเลือดผสมสเปนกับคนเชื้อสายแอฟริกันหรือคือคนดำ ฉะนั้นแล้วเรื่อง race หรือเชื้อชาติสีผิวจึงเป็นประเด็นสำคัญมาก  เพราะจะไปกำหนดชนชั้นของคุณว่าคุณอยู่ในตำแหน่งไหน แล้วคนยุโรปก็ใช้สีผิววัดว่าคุณบริสุทธิ์แค่ไหน เพราะถ้าคุณเป็นคนขาวที่บริสุทธิ์สุดคือคุณมาจากยุโรป 

ในช่วงศตวรรษที่ 16 สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราทุกคนมาจากอดัมเหมือนกัน แล้วทำไมจึงแตกต่างกัน สิ่งที่ใช้อธิบายคืออาหาร ภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ถ้าฉันจะดำรงความเป็นสเปนของฉัน ฉันก็ต้องกินอาหารดั้งเดิมของฉันซึ่งคือแบบสเปน ไม่เช่นนั้น soul ร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่างของฉันจะถูกเปลี่ยนแปลงไปหมดด้วยอาหารและภูมิอากาศ ฉันก็จะไม่อาจรักษาความบริสุทธิ์ของร่างกายนี้ไว้ได้ถ้าฉันไม่ได้กินอาหารจากสเปน คนเหล่านี้จึงต้องนำเข้าข้าวของอาหารต่างๆ จากยุโรปเข้ามามากมาย เช่น นำองุ่นมาปลูก เรื่องกินจึงเป็นเรื่องใหญ่มากด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อการกินเปลี่ยนคุณลักษณะทางร่างกายก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างที่เล่าไป

ทางด้านคนแอฟริกันที่ถูกนำเข้ามาเป็นทาส เขาก็เอาพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาด้วย และศาสนาในแอฟริกาก็คล้ายสังคมเกษตรอื่นๆ ในอดีต คือมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค แต่คริสต์ศาสนาถือว่าพวกนี้เป็นวิชาปีศาจ แต่ถ้าคุณป่วย คุณคิดว่าคุณจะไปคอยวันที่จะได้ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าหรือคุณอยากหายป่วยล่ะ นึกออกไหมว่าท้ายที่สุดแล้วคนเราก็อยากหายป่วย ก็กูกำลังจะตาย กูเอาอะไรก็ได้แล้ว คือกูไม่รู้จะหาอะไรมาเยียวยาตัวเอง คงมีไม่กี่คนหรอกที่ป่วยแล้วบอกว่า ไม่เป็นไร กูจะไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ยอมตายไม่ให้ความเชื่อป่าเถื่อนมาทำลายความบริสุทธิ์ทางร่างกายและจิตวิญญาณแบบคริสต์ แน่นอนคนพวกนี้มีแต่ไม่มาก การยอมตายเพื่อศาสนาความเชื่อหรือที่เรียกว่า ‘มรณาสักขี’ (matyr) มีความสำคัญมากในคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนคริสต์ศาสนาจะกลายเป็นศาสนาของอาณาจักรโรมัน ในประเทศไทยก็มี ‘มรณาสักขี’ เมืองสองคอนอยู่

วิธีคิดในลาตินอเมริกาจึงมีแนวความคิดต่างๆ มากมายที่เน้นความเป็นลูกผสม มีคำพวก Transculturation, Transmodernity, Creolization, Border Thinking และอื่นๆ อีกหลายอย่าง พูดง่ายๆ คือทุกอย่างเป็นแกงโฮะ ยำหมอใหญ่ ผสมปนเป ไม่ใช่อันโน้นไม่ใช่อันนี้  แต่ ‘อยู่ระหว่าง’ หรือ Nepantla นี่เป็นภาษานาวะโทว (Nahuatl) นี่เป็นภาษาคนพื้นเมืองหนึ่งในเม็กซิโกตอนใต้ไปจนถึงอเมริกากลาง

 Silence (2016)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา คริสต์ศาสนาแบ่งแยกออกจากศาสนายิว แล้วก็มาแยกโปรเตสแตนต์กับคาธอลิกต่อ คุณแยกทุกส่วนออกจากส่วนอื่น แยกตัวตนของเราออกจากคนอื่นๆ แยกเป็นรัฐประชาชาติ ไปจนถึงแยกห้องนอนเพื่อตอบสนองสำนึกของตัวตนที่แยกออกจากคนอื่นๆ แต่เกณฑ์การแยกที่ว่านี้ใช้ไม่ค่อยได้ในลาตินอเมริกา เพราะไม่มีใครสามารถเข้มงวดยึดตามหลักได้ขนาดนั้น สมมติหลายร้อยปีที่แล้วคุณมาจากสเปน แค่คุณเขียนจดหมายกลับไปอาณานิคมว่าเกิดปัญหานี้ จะแก้ปัญหาอย่างไรดี กว่าคำตอบจะเดินทางกลับมาเม็กซิโก ปัญหานั้นก็จบไปแล้ว ยิ่งถ้าส่งจากฟิลิปปินส์ไปสเปนนี่ จดหมายคุณต้องข้ามจากฟิลิปปินส์ไปเม็กซิโก เม็กซิโกค่อยข้ามแคริบเบียน ข้ามแอตแลนติก กลับไปสเปน นานแค่ไหนลองคำนวณ ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน คำตอบจากศูนย์กลางจะมาถึงก็เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขไปแล้วโน่น

เส้นแบ่งที่เริ่มต้นจากการแบ่งคริสต์ศาสนาออกจากยิวและอื่นๆ จึงใช้ไม่ได้ ความคาดหวังที่โลกตะวันตกตั้งมาตรฐานนี้ให้แก่โลกนี้คือ การที่คุณจะมีมาตรฐานเดียว มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แบ่งพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยิว ไปจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราพอจะเห็นภาพได้คือ ถ้าคุณไปดินแดนตะวันตก คุณจะเห็นเขตต่างๆ โดยเฉพาะยิวที่เรียกกันว่า ‘Jewish Quarter’ ในยุโรป คุณพบเห็นสิ่งนี้ได้จากจากกรุงเบอร์ลิน กรุงวอร์ซอ ไปถึงกรุงปราก สมมติคุณลองไปเข้าไชนาทาวน์สักเมือง ไม่ว่าซิดนีย์ ลอนดอน ซานฟรานซิสโก หรือนิวยอร์ก มันจะมีประตูไชน่าทาวน์อยู่ เพราะมันคือการบอกเขตกับคนคริสต์ว่าพวกเอ็งกำลังเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ใช่คริสต์แล้วนะ ต้องไม่ลืมว่าเรื่องเชื้อชาติสีผิวหรือ ‘race’ เป็นเรื่องใหญ่ของคนตะวันตก คนจีนเป็นพวกหนึ่งที่โดนเหยียดหนักมากๆ นึกถึง Chinese Exclusion Act 1882 ของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในการพูดถึงประเด็นนี้ นี่เป็นการกำหนดขอบเขต จะได้ไม่มีการผสมปนเปกัน แต่ในไทย ถ้าบอกว่าเยาวราชคือไชนาทาวน์ แล้วตรงแถววรจักรเป็นไหม บางรักเป็นไหม สวนมะลิเป็นไหม ตลาดโบ๊เบ๊ล่ะเป็นไหม คือมันไม่มีการแบ่งแยกพื้นที่อย่างชัดเจนแบบนั้น แต่พื้นที่ทางตะวันตกมี

คนตะวันตกมีสำนึกของการแบ่งพื้นที่ที่เข้มงวด เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตคุณจะแปดเปื้อน สมมติถ้าคุณเป็นคริสต์แล้วไปอยู่กับยิวล่ะจะทำยังไง ดังนั้น purity นี้จึงสำคัญและคุมทุกอย่างจากจิตใจไปถึงร่างกาย คุณจึงต้องรักษาความบริสุทธิ์นี้ไว้ให้ได้  กระบวนการชำระล้างให้บริสุทธิ์จึงสำคัญมาก คุณทำผิดแปดเปื้อนก็ต้องสารภาพบาป สารภาพความฝันของคุณให้พระฟัง สมมติเมื่อคืนมีคนฝันว่าไปเป็นชู้กับดาราฮอลลีวูด ก็ไม่ได้นะ เขามีเมียแล้ว คุณมีผัวแล้ว ฝันก็ไม่ได้ ผู้ชายฝันเปียกก็ไม่ได้ การช่วยตัวเองจึงเป็นสิ่งผิดร้ายแรงมาก เพราะทุกครั้งที่ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงช่วยตัวเอง ก็ต้องคิดถึงใครบางคน เมื่อคุณจินตนาการถึงใครบางคนตอนคุณช่วยตัวเอง คุณก็จะทำให้ผู้หญิงหรือผู้ชายคนนั้นแปดเปื้อนโดยเขาหรือเธอไม่ได้รู้เรื่องอะไร นี่ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ 

ดังนั้น คุณจะรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากเพศในคริสต์ศาสนาเป็นสิ่งชั่วร้าย เวลาร่วมเพศ คนถึงจุดสุดยอด มีความสุขอยู่ดีๆ พอแต่งตัวเสร็จ ไอ้เหี้ยเอ้ย กูทำผิด กูไปมีความสุขทางเพศได้ยังไงวะ มันเลยประสาทเสียกันตลอดเวลา บาปที่เกิดจากความสุขที่ได้มาจากร่างกายที่ชั่วร้าย ร่างกายสุข ความคิดบอกทุกข์ การร่วมเพศของคริสต์ศาสนาในอดีตก็ต้องร่วมเพศเพื่อทำให้เกิดลูก เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วการร่วมเพศระหว่างผัวและเมียแต่ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดลูกก็ถือว่าผิด วิปริต นอกรีต นี่เป็นหนึ่งความหมายของ ‘adultery’ ซึ่งในปัจจุบันคำคำนี้ไม่ได้มีความหมายแบบนี้แล้ว

คริสต์ศาสนามีปัญหากับร่างกายมากๆ จึงมุ่งควบคุมทั้งร่างกายและจิตใจ และเมื่อควบคุมมาก คนก็หาช่องทางที่จะระบายออก มันจึงมีเทศกาลรื่นเริง carnival ต่างๆ ที่เป็นกลไกสำคัญของคริสต์ศาสนา อย่าง carnival นี่เป็นของโรมันด้วยนะ เทศกาลพวกนี้จึงเปิดทางให้คุณทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ เหมือนปล่อยผี เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีเส้นแบ่งและไม่ต้องเคร่ง จึงไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับความตายในเทศกาล

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เทศกาลแห่งความตาย (และระบบทุนนิยม)

เม็กซิโกมีเทศกาลหนึ่งโด่งดังมาก คือเทศกาล The Day of the Dead ในอดีตเทศกาลนี้ไม่ได้มีอยู่ในทุกภาคของเม็กซิโก ภาคเหนือจะน้อยกว่า เทศกาลนี้เห็นได้ในฉากต้นๆ ของภาพยนตร์ James Bond ตอน Spectre (2015) เมื่อธุรกิจภาพยนตร์เอาเทศกาลนี้ไปใช้ รวมถึงแอนิเมชันเรื่อง Coco (2017) ด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนอิทธิพลของฮิสแปนิกในสหรัฐอเมริกา

The day of the dead คือวันที่ 1 และวันที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ผู้คนกลับไปเยี่ยมคนตาย ทำความสะอาดหลุมศพ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคุณไปทำความสะอาดในโบสถ์ พระมักไม่ชอบให้คนไปทำพิธีกรรมมอบอาหารให้คนตาย การให้น้ำ ให้อาหารจิตวิญญาณโดยตรงมันไม่ถูกต้อง เพราะการหยิบยื่นข้อเสนอเหล่านี้ให้คนตายในคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะคาทอลิก ศาสนจักรถือว่าทุกอย่างต้องทำผ่านโบสถ์ ผ่านเด็กๆ และคนจน เช่นในอดีต สมมติคุณเป็นคนรวย อย่างที่บอกว่าคนรวยที่จะลอดประตูสวรรค์ได้นั้นเป็นได้ยากมาก คริสต์ศาสนาจะให้คุณสารภาพว่า ทำอะไรมาถึงรวยได้ขนาดนี้ ทำชั่วกดขี่ขูดรีดอะไรมาบ้าง ฉะนั้นการจะเข้าประตูสวรรค์ ก็ต้องสำนึกในความผิดของตัวเอง เมื่อมีการสำนึกในบาปและคุณต้องการชดใช้ วิธีการคือคุณก็ต้องมอบเงินบริจาคให้กับคนจนที่คนรวยกดขี่ขูดรีดมาผ่านโบสถ์ ส่วนในทางหลักการ โบสถ์จะได้เอาเงินไปช่วยคนจน แต่คุณจะให้คนจนโดยตรงไม่ได้หรอกนะ ฉะนั้น ศาสนจักรร่ำรวยมากจากการรับเงินเหล่านี้

Spectre (2015)

การไปเยี่ยม ทำความสะอาดหลุมศพ ทำอาหารให้คนตายเป็นการระลึกถึงอดีตที่มีร่วมกับคนตาย คุณจะพบภาพหัวกะโหลก โครงกระดูกต่างๆ ที่แขวนๆ กันในเทศกาล ภาพหัวกะโหลกเหล่านี้ทำมาจากน้ำตาล เป็นความตายที่มีรสหวานและยังเป็นความตายที่กินได้ ความตายจึงเป็นเรื่องที่รื่นเริง ในขณะที่โลกแองโกล-อเมริกันมองว่าความตายเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากชีวิต ความตายเป็นสิ่งที่ต้องหลบซ่อนไว้ ห้ามเห็นความตาย นี่เป็นความคิดแบบใหม่ที่ขยายตัวขึ้นมามากหลังยุค enlightenment (ยุคเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 19) คุณอย่าลืมว่าในยุคกลางนั้น ทุกครอบครัวต้องเผชิญกับความตาย แม่อาจไม่รอด น้องเกิดมาก็อาจจะตายพร้อมแม่ ความตายอยู่ในบ้านคุณเลย ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล หรืออย่างชาวนาก็ไม่มีการแบ่งห้องนอน คนตายก็นอนอยู่ตรงนั้นแหละ รอเอาไปฝังทำพิธี ในปัจจุบันความตายเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้คนไม่อยากเห็นความตาย เราจะเห็นภาพต่างๆ ที่เริ่มถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้เห็นคนตายมากขึ้นในระยะหลัง

ความตายเป็นสิ่งที่ไกลตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกสมัยใหม่ ในอดีตความคิดเรื่องความตายเป็นสิ่งสำคัญมากในคริสต์ศาสนา  เรียกว่า ‘Memento mori’ หมายถึง ‘จงจำไว้ว่าคุณต้องตาย’ ในศตวรรษที่ 14 กาฬโรคระบาดทำให้คนตายมหาศาล คนครึ่งเมืองตายไปพร้อมด้วยโรคระบาด คนจึงต้องทำความเข้าใจกับความตายผ่านการจากไปของญาติพี่น้อง Memento mori จึงมีความสำคัญมาก ศิลปะแบบ Danse Macabre (หรือระบำแห่งความตาย ภาพจากยุคกลางที่ย้ำเตือนมนุษย์ว่าท้ายที่สุด ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความตาย) ได้รับความนิยมหลังศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา หรือภาพยนตร์เรื่อง The Seventh Seal (1957) ที่กำกับโดย อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) เล่าถึงอัศวินยุคกลางที่กลับมาจากสงครามครูเสด ก็มีฉากที่คุณเต้นรำกับความตาย หรือแม้กระทั่งฉากดังของภาพยนตร์คือเล่นหมากรุกกับความตาย

จารีตความตายของคริสต์ศาสนาในลาตินอเมริกาผสมผสานไปกับความคิดคนพื้นเมือง ความตายและชีวิตของพวกแอซเท็ก (Aztec) เป็นทั้งเรื่องของการทำลายและการสร้างในเวลาเดียวกัน ความตายไม่ได้เป็นเรื่องลบเสมอ ความตายนำไปสู่ชีวิตแบบใหม่ ชีวิตเราทุกคนต้องเดินไปสู่ความตาย ชีวิตเราทุกคนจะไม่มีวันสมบูรณ์ได้เลยถ้าไม่มีความตาย คนตายแล้วก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของคนเป็น ขณะที่ปัจจุบันโลกตะวันตกมีแนวคิดแบบ You want to live forever. คุณลองนึกภาพพวกเราเมื่อสักสามร้อยปีที่แล้ว เด็กๆ ก็คงเป็นแรงงานอยู่ หรือไม่ก็ตายกันตั้งแต่ 7-8 ขวบแล้วน่ะ 

สำหรับพวกแอซเท็ก หน้ากากของพวกเขาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นชีวิต อีกส่วนหนึ่งเป็นความตาย โครงกระดูกเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด ถ้าดูฉากบอนด์ในหนัง Spector หรือในแอนิเมชัน Coco ก็มีรูปโครงกระดูกแบบนั้น วิถีการรักษาชีวิตของสังคมในดินแดนเมโสอเมริกัน (Mesoamerican) หรือดินแดนทางตอนใต้ของอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง เชื่อว่า พลังแห่งชีวิตอยู่ที่กระดูกคนหรือสัตว์ที่ตายแล้ว น้ำอสุจิก็มาจากกระดูก สิ่งเหล่านี้จึงสัมพันธ์กัน 

ภาพ Danse Macabre ช่วงศตวรรษที่ 15 โดย เบิร์นต์ โนตเค (Bernt Notke) ในเมืองลือเบ็ค, เยอรมนี ปัจจุบันอยู่ที่โบสถ์เซนต์นิโคลัสแห่งเมืองทาลลินน์ (ที่มาภาพ)

ผนวกไปกับวัฒนธรรมของคริสต์ศาสนา วัฒนธรรมความตายของคาmอลิกยุคกลางหรือตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 11 ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง All Souls’ Day หรือวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันที่ระลึกถึงคนตาย ส่วนวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวัน All Saints’ Day ซึ่งคุณจะพบว่าเม็กซิโกเอาสองวันนี้มารวมกัน วันแห่งความตายจึงครอบคลุมสองวันนี้ และในช่วงเวลาเดียวกัน ช่วงศตวรรษที่ 11-12 ก็เกิดแนวคิดเรื่อง ‘ไฟชำระ’ หรือ purgatory เมื่อคุณตายไปแล้วก็ต้องไปโดนไฟชำระล้างเพื่อให้ตัวเองสะอาด ฌาค เลอ กอฟฟ์ (Jacques Le Goff) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสบอกว่า ‘ไฟชำระ’ นี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาราวศตวรรษที่ 12 และนี่เป็นส่วนสำคัญที่พวกโปรเตสแตนต์ด่ายับเยินเลย จนนำไปสู่การปฏิรูปศาสนา เพราะมันอนุญาตให้คุณจ่ายเงินเพื่อลดระยะเวลาในการเข้าไปโดนไฟชำระได้หรือที่เราเรียกว่าการซื้อใบไถ่บาป คนรวยๆ ก็ได้เปรียบสิเพราะซื้อใบไถ่บาปได้ เนื่องจากวาติกันต้องการเงิน โป๊ปลีโอที่สิบ (Pope Leo X) ต้องการเงินไปปรับปรุงวิหารเซ็นปีเตอร์ (St. Peter’s Basilica) ให้ยิ่งใหญ่อลังการ ‘ไฟชำระ’ ดังกล่าวนี้มีหน้าที่ชำระบาปให้คนตาย วันแรกเป็นวันนักบุญที่จะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากบาป หลุดจากไฟชำระ ส่วนวันที่สองก็เป็นวันของทุกๆ คน

อาณานิคมสเปนเกิดขึ้นในช่วงเวลาของความขัดแย้งระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก นับตั้งแต่ปี 1517 เป็นต้นมาคริสตจักรคาธอลิกถูกมาร์ติน ลูเธอร์ด่าหนักมาก แล้วด่ามาเรื่อย ด่านานๆ เข้าศาสนจักรโรมก็เริ่มเคร่งมากขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือพระที่เดินทางออกจากสเปนไปในลาตินอเมริกานั้นมีอยู่หยิบมือเดียว คุณจะไปคุมคนเป็นแสนๆ ล้านๆ ได้ยังไง คุณก็ต้องปรับตัว เมื่อควบคุมคนไม่ได้เต็มที่ก็ต้องผ่อนปรนมากขึ้น เท่ากับว่า สเปนไม่คุมคนเหล่านี้ ทั้งที่ปัจจัยสำคัญของสเปนคือการควบคุมการใช้แรงงานในทางการเมือง เศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ส่วนของศาสนา พวกนี้ก็เป็นผลพวงของการผสมผสานประนีประนอม กลายมาเป็นสิ่งที่เราเห็นในหนังบอนด์หรือในภาพยนตร์แอนิเมชัน Coco 

ผลจากการศึกษาขยายตัวอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สองในศตวรรษที่ 1960 เมื่อคนมีการศึกษามากขึ้น คนก็เริ่มปฏิเสธเทศกาลแบบ The Day of the Dead เพราะคนรู้สึกว่าไม่เชื่อเรื่องแบบนี้แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลเม็กซิโกพยายามทำให้ The Day of the Dead เป็นเทศกาลแห่งชาติเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นเม็กซิกันขึ้นมาใหม่ ตอนนี้เทศกาลก็อยู่ในรายชื่อของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ของ UNESCO ไปแล้ว คุณจะพบว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป เมื่อคุณมีเทศกาลก็แปลว่าคุณมีธุรกิจท่องเที่ยว หนังบอนด์ยกกองไปถ่ายทำ ก็ต้องขอบคุณทั้งคริสตจักร ทั้งรัฐบาลเม็กซิกัน ทั้ง UNESCO และศาสนาดั้งเดิม เพราะทุกคนมีความสุข ได้เฉลิมฉลอง รับเงินจากการท่องเที่ยว

พระเจ้าในนามฟุตบอล

อาชีพนักฟุตบอลเป็นหนทางของเหล่าชนชั้นกรรมาชีพที่จะไต่เต้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว ฟุตบอลเป็นกีฬาสำคัญของคนชนชั้นกรรมาชีพ ฟุตบอลจึงเป็นวัฒนธรรมของผู้ชาย ราวกลางศตวรรษที่ 19 ชนชั้นสูงสร้างระเบียบและจัดโครงสร้างฟุตบอลสมัยใหม่ เช่น ให้เล่นนัดละ 90 นาที ทั้งนี้ ในอดีตฟุตบอลเคยทำหน้าที่สำคัญในการลดทอนความขัดแย้งทางชนชั้นด้วย เช่น ผู้จัดการโรงงานมาเล่นฟุตบอลกับเหล่ากรรมกร เป็นต้น ดังนั้นฟุตบอลจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยปริยาย เมื่อมันสร้างความเป็นพวกเดียวกันให้กับผู้คนที่มาจากชนชั้นที่แตกต่างกัน

อย่างที่บอกว่าโดยทั่วไปแล้วฟุตบอลมันจบภายใน 90 นาที ถ้าคุณไปดูกีฬาอย่างคริกเก็ต ถามว่าเล่นกันกี่วันจะจบ คนชนชั้นแรงงานที่ใช้ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ไม่ได้มีเวลาว่างมากมายขนาดนั้น ฟุตบอลเป็นเกมที่จบเร็ว และอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นกีฬาที่ไม่ซับซ้อน คุณลองไปดูกีฬาอย่างอื่น เช่น เทนนิส ลูกดิวส์ (Deuce -กรณีที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายได้แต้มสามแต้มเท่ากัน) มีเอส (Ace -ลูกเสิร์ฟที่ผู้รับรับไม่ได้) และอื่นๆ อีกมาก มันก็ยุ่งยากแล้วสิ นี่ไม่ต้องไปพูดถึงถึงคริกเก็ตที่เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 7-8 ชั่วโมง แล้วก็เล่นกันหลายวัน สมมติง่ายๆ เล่นกัน 5-6 วันก็ต้องการ 40-48 ชั่วโมง  

ในประวัติศาสตร์อังกฤษ ชนชั้นผู้ใช้แรงงานจึงไม่มีกีฬาเทนนิสและกอล์ฟอยู่ในสารบบเลย ในสังคมอังกฤษ ชนชั้นในฐานะวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่าคุณเป็นใคร

และเมื่อ “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล” กีฬาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกฝนระเบียบวินัยและการควบคุมตัวเอง ทั้งยังเป็นความหวังสำคัญในการควบคุมชนชั้นกรรมาชีพอังกฤษด้วย กีฬาช่วยให้ชนชั้นแรงงานกล้าหาญ ยึดมั่นในกลุ่ม และเมื่อคุณยึดมั่นในกลุ่มได้ คุณก็ไปไกลถึงทีมชาติ เมื่อกีฬาแนบแน่นกับรัฐประชาชาติ เช่น เป็นตัวแทนของชาติ กีฬามันก็พร้อมสร้างให้อารมณ์ ความรู้สึกของความเป็นหนึ่งเดียวกันพลุ่งพล่านเสมอ

(COMBO) This combination of pictures created on December 18, 2022 shows Argentina’s forward Lionel Messi (L) holding the World Cup trophy after beating France during the Qatar 2022 World Cup final football match at Lusail Stadium in Lusail, north of Doha on December 18, 2022 and Argentina’s captain Diego Armando Maradona (R) holding the World Cup trophy won by his team after a 3-2 victory over West Germany on June 29, 1986 at the Azteca Stadium in Mexico City. (Photo by Anne-Christine POUJOULAT / AFP) ภาพเมสซีและมาราโดนาและถ้วยฟุตบอลโลก

ฟุตบอลเป็นเส้นทางการไต่เต้าทางชนชั้นที่สำคัญมาก จากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน คนชนชั้นล่างนั้นอาจไม่ได้มีการศึกษามากมายนัก แล้วฟุตบอลมันไม่ต้องใช้อะไรมาก สมัยผมยังเป็นนักเรียนก็เตะฝาเบียร์ในโรงเรียนเอา หรืออะไรที่กลมๆ กลิ้งได้ เราก็เตะทั้งนั้น แล้วมันเตะตีนเปล่าก็ได้ ตรงไหนก็ได้ บนถนนก็ได้ ฟุตบอลจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ คุณลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าจะเป็นนักเปียโนต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่จึงจะเป็นได้ระดับ มาร์ธา อาร์เกอร์ริช (Martha Argerich -นักเปียโนชาวอาร์เจนติน่า) แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณต้องมีคือเปียโน และท้ายที่สุด ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม การที่คุณจะไปถึงจุดสุดยอดได้นั้นก็ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการฝึกฝนทั้งนั้น

ช่องว่างระหว่างชนชั้นในลาตินอเมริกานั้นน่ากลัวมากๆ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง แต่ยังเป็นเรื่องสีผิวด้วย ฟุตบอลจึงเป็นกีฬาที่ช่วยให้คนจนได้ขยับจากชั้นล่างสุดขึ้นไปสูงสุด ถ้าคุณมาจากสลัมฟาเบลาในบราซิล ฟุตบอลก็เป็นหนทางที่เร็วที่สุดหนทางเดียวในการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม คือใครๆ ก็มีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นได้ ไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากมายด้วย

คุณคิดว่าทุกคนอยากเป็นไอน์สไตน์หรือ โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose -นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ) หรือยังไง กว่าจะได้รางวัลโนเบลมาก็แก่ๆ กันแล้วทั้งนั้น คุณไปดูนักฟุตบอลอย่างโรนัลโดหรือคนอื่นๆ นี่ได้เงินกันเท่าไหร่ อายุน้อยทำเงินหลายร้อยล้าน ยิ่งปัจจุบันที่ธุรกิจฟุตบอลมันไปทั่วโลกขนาดนี้ ขายฟุตบอลให้คนเอเชียและคนอื่นๆ ในโลกที่เขาชอบฟุตบอลได้ดูกัน ก็ทำเงินไปได้ไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แล้วพอเงินมันมหาศาลขนาดนี้ ใครก็อยากเข้ามากันทั้งนั้น

คุณลองแทนค่าสมการ อย่างการเปลี่ยนพระผู้เป็นเจ้าของคริสต์เป็นฟุตบอลแบบนี้ก็ได้ อธิบายง่ายๆ คือในโครงสร้างความคิดของผู้คน คุณเปลี่ยนจากการยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปสู่การยึดมั่นอีกสิ่งหนึ่ง ในสมการนี้ คุณลองแทนค่าพระผู้เป็นเจ้าด้วยฟุตบอล แล้วจะพบว่ามันสร้างศรัทธาอย่างมาก กูพร้อมสู้ตาย กูสามารถจับปืนขึ้นมาเพื่อปลดแอก สร้างกองกำลังขึ้นมาอย่างกลุ่ม Shining Path แต่ฟุตบอลนี่สามารถปลดแอกได้โดยไม่ต้องมีพระเมสสิยาห์มาปลดปล่อยคุณด้วยซ้ำ มันเป็นความหวังของชีวิต มันคือการฝึกฝนตัวเองไปจนถึงวันที่คุณปลดปล่อยตัวเองออกจากความยากจนได้แบบเปเลหรือมาราโดนา

อีกประการคือ การเติบโตมาอย่างเจ็บปวดนั้นก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วย คุณต้องเลียนแบบพระเยซูให้ได้ ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็ยังดีที่คุณไม่ต้องตายบนไม้กางเขน อย่าลืมว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาเดียว ที่เอาศาสดาตัวเองไปประหารแล้ว crucifixion หรือตรึงกางเขน ซึ่งเป็นการลงโทษของอาณาจักรโรมันที่ใช้กับคนชนชั้นต่ำ แล้วเป็นการตายที่ทรมานมากๆ เพราะคุณไม่ได้ตายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ใช้เวลาหลายวัน การทนทุกข์ทรมานบนไม้กางเขนจึงเป็น ‘passion of Christ’ รากภาษาละติน ‘passio’ หมายถึงความเจ็บปวด ซึ่งมันคือการทนทานต่อความเจ็บปวด ความทุกข์ยากนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save