fbpx

เมียรักของ ‘ธานี’ : หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา

ความรักเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนย่อมประสบในแง่มุมแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้ที่ครองเรือนมีชีวิตคู่แล้วไซร้ คู่รักย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งเกียรติอันเกิดจากความประพฤติอันงดงามนั่นเอง

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้มีกำเนิดมาเป็น ม.จ.ธานีนิวัต โสณกุล (ซึ่งต่อไปในบทความนี้จะขอเรียกอย่างย่อเพื่อความสะดวกในการเอ่ยถึงว่า ‘ธานี’ โดยมิได้มุ่งแสดงความกำเริบเสิบสานแต่ประการใด) นั้น ก็อยู่ในข่ายนี้ คือมีเมียดี เป็นที่เพิ่มพูนเกียรติให้สามีได้ แม้ท่านทั้งสองจะล่วงลับดับชีพไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ในบทความนี้ขอเสนอเรื่องหม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา ภรรยาของธานี ซึ่งมิเคยประพฤติผิดใดๆ ให้สามีด่างพร้อย และธานีเองก็ไม่เคยแสวงหาลาภยศอันมิชอบใดๆ ให้หม่อมของเขา รวมถึงไม่เคยมีหญิงคนสนิทอื่นๆ หรืออนุภรรยาเลย


หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา ท.จ.ว.
(18 ตุลาคม 2441 – 6 ธันวาคม 2519)


ประวัติ


ประยูรเป็นธิดาของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเกิดจากนางโต เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2441 ที่บ้านบางขุนพรหม กรุงเทพฯ  โดยนางโต ผู้เป็นมารดาของประยูรนั้น เป็นลูกสาวของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) กับคุณหญิงนวน อนึ่ง ท่านผู้หญิงตลับ เอกภรรยาของเจ้าพระยายมราชนั้น เป็นน้องสาวของนางโตผู้นี้

ในด้านการศึกษา ประยูรได้รับการอบรมเยี่ยงกุลสตรีในสมัยนั้นจากสำนักเจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 ในพระบรมมหาราชวัง และได้เข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์และโรงเรียนราชินีตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้นจากการติดตามเจ้าพระยายมราชผู้บิดาไปในที่ต่างๆ


ถ่ายกับครอบครัวที่บ้านศาลาแดง พ.ศ. 2462
เจ้าพระยายมราช (ผู้ชายมีหนวด) บิดา
ส่วนประยูร นั่งซ้ายมือสุด


สมรส


เมื่อประยูรอายุได้ 20 ปี ได้สมรสกับ ม.จ.ธานีนิวัต โสณกุล เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2461 ที่พระราชวังบางปะอิน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเป็นเจ้าภาพจัดงานพระราชทาน รวมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ สถานที่แห่งนั้นด้วย

ธานีเล่าถึงมูลเหตุแห่งการสมรสเอาไว้ว่า “ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ พ่อได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันปีหลวงซึ่งทรงรบเร้าอยู่เสมอให้แต่งงานนั้นว่า เป็นอันตกลงขอพระมหากรุณาในเรื่องนี้ แต่คนที่ทรงเลือกประทานหลายคนนั้นเผอิญพ่อไม่รู้จัก บัดนี้ก็ไม่รู้จัก แต่ตกลงสนองพระมหากรุณา ได้ทูลว่าได้เลือกเอาแม่นี้แหละ” ทั้งนี้ เพราะธานีเคยรับราชการเป็นเจ้ากรมราชเลขานุการในพระราชสำนักที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ นับตั้งแต่ปีที่สมเด็จพระปิยมหาราชสวรรคต ดังความตอนหนึ่งว่า “ความจริงป้า (หมายถึงสมเด็จพระพันปีหลวงฯ) ไม่มีงานอันใดจะให้ทำดอก หากลูกโต (หมายถึงรัชกาลที่ 6) เขาไม่มีคนจะใช้ เขาตั้งตำแหน่งให้ป้าอย่างนี้ จึ่งขอแกมา แกก็ไปทำราชการกับเขาเถิด

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานพระราชทานนั้น ธานีเล่าว่าเป็นเพราะ “โดยเหตุที่พ่อเป็นลูกกำพร้าทั้งพ่อทั้งแม่ จึ่งจะทรงรับเป็นพ่อและให้เทียบเกียรติที่จะพระราชทานอย่างลูกหลวง คือพระราชทานเลี้ยงกลางวันที่พระราชวังบางปะอินอันเป็นที่ประทับอยู่ ณ บัดนั้น ทั้งยังพระราชทานเงินรับไว้พ่อ ๑๕ ชั่ง กระดุมข้อมือ ว.ป.ร. เพชรลงยา ๑ คู่ พระราชทานเข็มพระบรมนามาภิไธย ราม ร. เพชร ๑ อัน และเงินรับไว้ ๑๐ ชั่งแก่แม่

ธานีกับประยูรมีลูก 4 คน คือ ม.ร.ว. ผู้ชายซึ่ง “ตายเสียแต่ยังเล็กอายุไม่ถึงกี่วัน” แล้วก็มี ม.ร.ว.นิวัตวาร ม.ร.ว.ปาณฑิตย์ และ ม.ร.ว.สุพิชชา


เมื่อวันแต่งงาน 1 กันยายน 2461
ม.ร.ว.นิวัตวาร ม.ร.ว.ปาณฑิตย์ และ ม.ร.ว.สุพิชชา โสณกุล


ชีวิตหลังสมรส


ประยูรเป็นผู้หญิงแบบโบราณ คือดำรงชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นโดยแท้ คอยดูแลทุกข์สุขของทุกๆ คนในครอบครัว ไม่เพียงแต่ลูกหลานเท่านั้น ยังรวมไปถึงน้องๆ ของธานี ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าผู้หญิงอีกหลายองค์ด้วย นอกจากนี้แล้ว ในวังนั้นยังมีท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ 4) คุณย่าของธานีเป็นใหญ่อยู่ด้วย ประยูรก็สามารถปรับตัวจนเป็นที่โปรดปรานของท่านได้

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า น้องสาวของธานีนั้น หลายองค์มีอายุมากกว่าประยูร ด้วยเหตุนี้ เธอผู้เป็นพี่สะใภ้ก็จะเรียกหม่อมเจ้าหญิงแห่งโสณกุลว่า ‘ท่านหญิง’ ส่วนเจ้าหญิงเหล่านี้ก็เรียกเธอว่า ‘แม่ประยูร’  โดย ม.จ.สิบพันพารเสนอ โสณกุล เคยรับสั่งกับสุลักษณ์ว่า “ฉันขอชมแม่ประยูร เขามาเป็นสะใภ้บ้านเรา ตัวคนเดียว มาเจอพวกเราสาวๆ ที่เป็นน้องผัวของเธอตั้งหลายคน แต่แล้วเธอก็ปรับตัวให้เป็นที่รักใคร่ชอบพอของเราทุกคนได้

สุลักษณ์ยังกล่าวชื่นชมประยูรไว้ว่า “หม่อมประยูรมีเวลาให้สามี และลูกๆ ตลอดจนญาติของสามีและญาติของท่านเอง ตลอดจนมิตรสหายทั้งหลายอย่างเป็นกำลังใจเบื้องหลัง ดังแทบไม่เห็นท่านออกงานการใดๆ แต่การงานต่างๆ ทั้งรั้ววังของในกรมฯ นั้น ท่านดูแลในรายละเอียดต่างๆ หมด และเป็นกันเองกับทุกชนชั้น แม้ดูท่านออกจะอายๆ และเก็บตัว แต่ถ้าคุ้นเคยกับท่านแล้ว ท่านคุยด้วยอย่างไม่ถือตัวเอาเลย

ประยูรยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นเดียวกับธานี สามีของเธอ ดังที่สุลักษณ์เล่าเอาไว้ว่า เมื่อ ม.จ.อาชวดิศ ดิศกุล ทรงเสกสมรสกับพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบงนั้น ได้มาขอให้ธานีและประยูรไปปูที่นอนให้บ่าวสาว ทีแรกเธอปฏิเสธเพราะอ้างเหตุไม่มีชาติวุฒิ แม้บิดาท่านเป็นเจ้าพระยา แต่ก็เป็นเพียงสามัญชน ต่อท่านชายและพระองค์หญิงอ้อนวอน โดยให้เหตุผลว่านับถือในคุณสมบัติของธานีและเธอนอกเหนือจากความเป็นญาติ เธอจึงยอมรับปูที่นอนให้


ที่บ้านราชวิถี พ.ศ. 2469


เครื่องราชอิสริยาภรณ์


ประยูรไม่เคยรับราชการมีตำแหน่งใดๆ แม้กระทั่งที่ปรึกษาในคณะกรรมการต่างๆ ในสมัยนั้น แต่เธอก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามโอกาสสำคัญต่างๆ ตามความดีความชอบหรือสถานะของธานีผู้เป็นสามีของเธอ ดังนี้ 

ในปี พ.ศ. 2461 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ราว 3 เดือนหลังจากเสกสมรสกับธานีในเดือนกันยายน (ขณะนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน) อนึ่ง ในคราวเดียวกันนั้น ธานีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ


         
ครั้นปี พ.ศ. 2467 ในพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เธอได้รับเลื่อนเป็นทุติยจุลจอมเกล้า (ส่วนธานีได้รับเลื่อนเป็นปฐมจุลจอมเกล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2465)


ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 คราวที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ประยูรได้รับเลื่อนขึ้นเป็นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ



แม้หลังจากนั้น ธานีจะได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ดี เป็นประธานองคมนตรีก็ดี เขาก็มิได้ใช้เส้นสายให้หญิงคนรักของตนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใดๆ เลย

ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่แสวงหาผลประโยชน์ของธานีนี้เป็นที่ประจักษ์ ดังมีเรื่องเล่าว่ามีผู้เสนอให้เลื่อนกรม จากที่เดิมเป็นกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง แต่ธานีเองกลับเป็นผู้คัดค้าน โดยอ้างธรรมเนียมว่า (ในกรณีที่ไม่ใช่พระ) พระองค์เจ้าตั้งที่ทรงกรมนั้น เป็นได้มากสุดเพียงกรมหมื่นเท่านั้น


ความรุนแรงในการปกครอง


ไม่ปรากฏว่าประยูรใช้ความรุนแรงใดๆ กับบ่าวในบ้านหรือไม่ แต่มีกรณีที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงกับเธอผ่านทางความเป็นญาติได้ นั่นคือการลงโทษบ่าวในบ้านของหม่อมเจ้าประวาศสวัสดี ชายากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ เพราะท่านหญิงองค์นี้เป็นพี่สาวของธานีนั่นเอง อย่างไรก็ดี เจ้าหญิงองค์นี้สิ้นชีพิตักษัยไปตั้งแต่ พ.ศ. 2445 ก่อนหน้าที่เธอจะเสกสมรสกับธานี


ท้าววรจันทร์ (อุ้ม) ม.จ.ธานีนิวัต ม.จ.ประวาศสวัสดี (ยืน)

กรณีของหม่อมเจ้าประวาศสวัสดีมีว่า อำแดงวง ยื่นฟ้องได้ท่านหญิงผู้เป็นนายจ้าง เป็นคดีพิพาททำร้ายร่างกายเมื่อ พ.ศ. 2443 (ร.ศ. 119) ฐานที่เอาหนังแรดเฆี่ยนตี ดังความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเป็นแต่ลูกจ้าง ซึ่งจะกดขี่เฆี่ยนตีเช่นนี้ไม่ถูก หม่อมเจ้าหญิงประวาศก็หาฟังไม่…ข้าพเจ้ายื่นฟ้องต่อศาลให้ปรับจำเลยเป็นเงิน ๓๐๐ บาท ๕๖ อัฐ ถานเฆี่ยนตีข้าพเจ้าโดยผิดกฎหมาย คือ ข้าพเจ้ามิได้เป็นทาษลูกหนี้ของจำเลย

อย่างไรก็ดี แม้อำแดงวงจะไม่ได้มีสถานะเป็นทาสตามระบบสังคมเดิมแล้ว แต่กรณีของเธอก็เสมือนเป็นทาสรูปแบบใหม่ เพราะเป็นการรับจ้างทำงานให้ โดยรับเงินล่วงหน้าเป็นเงินก้อนจำนวน 261 บาท โดยหนี้เงินนี้จะลดลง 4 บาท ต่อการทำงาน 1 เดือน ซึ่งเมื่อคิดตามอัตรานี้ เธอต้องทำงานอยู่นานถึง 5 ปี จึงปลดเปลื้องพันธะได้

ถึงที่สุดแล้ว คดีนี้ศาลยกฟ้อง ตามพระราชกระแสของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นความเล็กน้อย ให้เป็นการแล้วกันไป


ส่งท้าย


น่าคิดว่า ถ้ากรณีของหม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดีเป็นคดีในปัจจุบัน ศาลยุติธรรมจะวินิจฉัยอย่างไร และอย่างน้อยก็นับเป็นเคราะห์ดีของธานี ที่หญิงคนรักของเขามิได้มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับบ่าวในบ้านให้ปรากฏขึ้นเป็นมากรณีพิพาทเช่นนี้


บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save