fbpx
ว่าด้วยภาพ “แขวน”

ว่าด้วยภาพ “แขวน”

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่องและภาพ

 

พชร ปิยะทรงสุทธิ์, 2561, What a Wonderful World: Parallel side of the Red Gate, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 140 x 230 ซม. ภาพจากพชร ปิยะทรงสุทธิ์และ ARTIST+RUN

 

พ.ศ.2561 ศิลปิน พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จัดนิทรรศการศิลปะชื่อ กายวิภาคของความเงียบ ที่แกลเลอรี ARTIST+RUN นิทรรศการดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองภาค ได้แก่ กายวิภาคของความเงียบ: นาบัว และ กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง ในนิทรรศการภาคสองมีภาพเขียนชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องการแขวนคอที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา — ภาพ What a Wonderful World: Parallel side of the Red Gate แสดงทิวทัศน์ด้านหน้า “ประตูแดง” ที่ร่างของชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตนครปฐม และสมาชิกแนวร่วมประชาชนถูก ‘แขวน’ ไว้บนบานประตู

ภาพทุ่งหญ้ารกร้างนี้คือมุมมองจากฝั่งสายตาของชุมพรและวิชัย ประตูอันเป็นที่แขวนร่างของผู้เสียชีวิตจึงไม่ปรากฏให้เห็น จิตรกรรมแสดงภูมิทัศน์ที่เหตุร้ายแรงทางการเมืองได้เกิดขึ้น แต่ปราศจากภาพร่างศพหรือวัตถุที่เป็นเครื่องหมายสำคัญของเหตุการณ์ แม้กระบวนการทำงานของพชรจะหนักแน่นด้วยการสืบค้นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะของเขาก็เว้นที่ว่างให้ผู้ชมได้แกะรอยการ ‘แขวน’ ผ่านผืนผ้าใบที่ไม่บอกอะไรมากนัก ตัวบอกใบ้เดียวที่ศิลปินมอบให้กับผู้ชมคือคำว่า “Red Gate” ในชื่อผลงาน

ภาพทิวทัศน์ของพชรชวนให้นึกถึงประเด็นคล้ายคลึงกันบนที่ดินผืนนั้นในย่านสามแยกกระบือเผือก ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม กล่าวคือ เมื่อโครงการบันทึก 6 ตุลา เคลื่อนย้ายประตูแดงออกไปจากพื้นที่เดิมในปี 2562 เพื่อเก็บรักษาไว้ในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ที่ตั้งดั้งเดิมตรงนั้นก็ไม่แตกต่างอะไรกับท้องทุ่งรกร้างอื่น พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งจะกลายเป็นภูมิทัศน์แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำได้ก็ต่อเมื่อมีหมุดหมายบางอย่างปักอยู่ให้รู้ว่า ณ ที่นี้ อะไรบางอย่าง ‘เคยเกิดขึ้น’

หมุดหมายที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งวัตถุพยาน ป้ายข้อความ อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์

ถึงแม้ว่าการถอนประตูแดงออกจากพื้นที่จะทำให้สถานะเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่หายไป แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็นำไปสู่ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง นั่นคือ การผนวกรวมชุมพรและวิชัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา (ถึงแม้ว่าการแขวนคอทั้งสองจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 6 ตุลาคมก็ตาม) ประตูแดงถูกนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในนิทรรศการ ประจักษ์ I พยาน เมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม พ.ศ.2562 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับวัตถุสำคัญชิ้นอื่นๆ อย่างลำโพงที่พรุนด้วยรูกระสุนและกางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ในนิทรรศการที่จัดขึ้นเพียงสองวันนั้น บานประตูปิดสนิทเหมือนเมื่อเช้าตรู่วันที่ 24 กันยายนเมื่อ 43 ปีก่อน

 

ประตูแดงที่ทางเข้านิทรรศการ แขวน, 2563, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

ปี 2563 บานคู่ของประตูแดงเปิดออกกลายเป็นช่องทางเดินเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินเข้าไปสู่นิทรรศการ แขวน ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จัดแสดง ณ บันไดทางขึ้นและโถงหอประชุมใหญ่ ระหว่างวันที่ 1-11 ตุลาคม) ประตูที่เปิดออกนี้เป็นเสมือนการ ‘เปิดฉาก’ การแขวนคออีกหลายรายการที่เกิดขึ้นในช่วงต่อมาคือในเหตุการณ์ 6 ตุลา

 

Lieux de mémoire only exist because of their capacity for metamorphosis, an endless recycling of their meaning and an unpredictable proliferation of their ramifications.

Pierre Nora, 1989

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่างจากสถานที่ตั้งดั้งเดิมของประตูแดงตรงที่ว่าความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลายังคงฝังลึกอยู่ในพื้นที่ ทั้งประติมานุสรณ์ 6 ตุลาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (สร้างเสร็จปี 2543) ภาพถ่าย หนังสือ และคำบอกเล่าในสื่อหลากรูปแบบต่างๆ ทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยจำและยังแตกตัวออกไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีลักษณะเป็น “lieu de mémoire” หรือ “site of memory” เป็นพื้นที่ที่ความทรงจำเรื่อง 6 ตุลาผุดโผล่ในร่างต่างๆ และแพร่กระจายออกไป

คำว่า “แขวน” ในชื่อนิทรรศการ แขวน ตั้งต้นมาจากข้อค้นพบของทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลาที่สืบหาข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายจนนำไปสู่คำตอบว่า มีคนถูกแขวนคอที่สนามหลวงมากกว่าหนึ่งคน แขวน จึงขมวดรวมการแขวนคอที่นครปฐมไปจนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาที่ผู้ชุมนุมอย่างน้อยห้าคนถูกแขวนคอที่สนามหลวงเข้าไว้ในพื้นที่เดียวคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ระหว่างเหตุการณ์แขวนคอทั้งสองชุด มี ‘ละครแขวนคอ‘ ที่ลานโพธิ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมคั่นอยู่ตรงกลาง การแสดงดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สื่อฝ่ายขวานำไปปลุกปั่นจนเกิดการล้อมปราบในอีกสองวันต่อมา)

 

AR ในนิทรรศการ แขวน, 2563, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

นิทรรศการนำเสนอภาพแขวนคอผ่าน AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับความเสมือนจริงจากหน้าจอเข้าด้วยกัน AR ทำหน้าที่เป็นตัวฉายภาพการแขวนคอในอดีตให้ทาบทับลงบนภูมิทัศน์ปัจจุบันในตำแหน่งที่เหตุการณ์นั้นเคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะบนสนามฟุตบอลที่มองผ่านกระจกหน้าต่างออกไปจากหอประชุม หรือสนามหลวงที่มองเห็นได้จากหน้าต่างอีกด้าน ส่วนบางจุดของสนามหลวงที่มองไม่เห็นจากหอประชุมก็ถูกทดแทนด้วยภาพสนามหลวงขนาดใหญ่ที่ด้านหน้ามีบรรดาแทบเล็ตวางพร้อมให้ผู้ชมหยิบขึ้นมาส่องไปยังตำแหน่งที่กำหนดไว้ให้

ภาพที่ผู้ชมเห็นบนหน้าจอคือเงาของอดีตที่ผุดขึ้นมา ในที่นี้ ภาพเสมือนจริงเป็นส่วนขยายที่ต่อเติมมาจากภาพถ่ายซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้น ข้อเท็จจริงกับภาพเสมือนจริงจึงทำงานร่วมกันเพื่อเผยให้เห็นความจริงของประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในพื้นที่ AR ขุดภาพความทรงจำขึ้นมาไว้บนโลกเสมือน แขวนไว้บนอากาศ เชื่อมต่อหน้าจอกับพื้นที่โดยรอบ

 

ภาพถ่ายบนแผ่นพลาสติกใสในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา, 2559, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

การใช้ AR ใน แขวน ทำให้หวนนึกถึงนิทรรศการกลางแจ้งในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาเมื่อ พ.ศ.2559 ที่ภาพถ่ายเหตุการณ์กลางสนามฟุตบอลบนแผ่นพลาสติกใสถูกจัดวางให้ทาบลงภูมิทัศน์จริงโดยมีฐานมาจากภาพถ่ายเก่าในอดีตเช่นกัน เป็น on-site installation ที่ขยายภาพถ่ายบนแผ่นกระดาษลงบนแผ่นพลาสติกใส เล่นกับประวัติศาสตร์และความทรงจำของพื้นที่จริงได้อย่างชาญฉลาด (ผู้เขียนเข้าใจว่าปีนี้ก็มีงานจัดวางชุดนี้อยู่บนสนามฟุตบอลด้วยเพราะได้เห็นภาพถ่ายจากบางสื่อ แต่วันที่ผู้เขียนไปดูเป็นวันฝนตก สนามฟุตบอลว่างเปล่า)

อันที่จริงแล้ว จุดแข็งที่สุดของการจัดนิทรรศการ 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำให้การจัดนิทรรศการเรื่องเดียวกันที่อื่นไม่มีทางเทียบได้คือความเป็นพื้นที่จริงของเหตุการณ์นั่นเอง (ความเป็นไปได้ระดับเดียวอีกพื้นที่หนึ่งคือสนามหลวง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น) สนามฟุตบอลและหอประชุมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์และความทรงจำที่รับรองความจริงแท้ของเรื่องเล่า ภูมิทัศน์จึงไม่ได้เป็นเพียงภูมิประเทศเชิงกายภาพ และไม่ได้เป็นเพียงฉากหลังที่รองรับเหตุการณ์ หากยังเป็นพื้นที่ที่มีนัยความหมายและบทบาทเชิงการเมืองที่มีส่วนอย่างมากในการต่อสู้เพื่อกำหนดสร้างที่ทางของความทรงจำเรื่อง 6 ตุลา — lieu de memoire

แขวน ปริ่มล้นด้วยการนำเสนอหลักฐานประเภทต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีอย่าง AR ที่ฉายภาพลงบนพื้นที่ กับ QR Code ที่พาผู้ชมไปยังหน้าเว็บไซต์โครงการบันทึก 6 ตุลา เอกสารต่างๆ ไฟล์เสียงและภาพถ่ายเก่า อดีตกับปัจจุบันเชื่อมต่อกันผ่านความสัมพันธ์ระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน เป็นนิทรรศการที่ให้ข้อมูลความรู้ ความมหาศาลของข้อมูลที่อัดแน่นอยู่นี้ราวกับจะคัดค้านสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลายังไม่ได้รับการชำระสะสาง ยังเปี่ยมด้วยความลึกลับดำมืด และยังไม่มีพื้นที่อย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

 

ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาโดยนีล อูเลวิช อัดขยายลงบอร์ดและติดตั้งบริเวณชานพักบันไดหอประชุมใหญ่ นอกหน้าต่างเป็นต้นหางนกยูง, นิทรรศการ แขวน, 2563, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการข้อถกเถียงในโซเชียลมีเดียว่าต้นไม้ในภาพถ่ายของนีล อูเลวิช (Neal Ulevic) เป็นต้นมะขามหรือต้นหางนกยูงกันแน่ ในนิทรรศการ แขวน ภาพดังกล่าวได้รับการขยายจนมีขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่บนบริเวณชานพักบันได ทางขวามือเป็นหน้าต่างกระจกบานใหญ่ที่มองเห็นสนามหลวง แทบเล็ตที่วางอยู่ตรงนั้นถูกล็อคตำแหน่งให้ส่องไปยังจุดที่เหตุการณ์ในภาพถ่ายได้เกิดขึ้น

แต่ผู้เขียนมองออกนอกหน้าต่างไปแล้วกลับเห็นอีกอย่างหนึ่งคือแนวต้นหางนกยูงที่ปลูกในริมรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดการเทียบเคียงใบไม้ในภาพถ่ายกับใบไม้จริงด้านนอกทันที ถึงแม้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์จะมีอยู่น้อยนิด แต่การเห็นตรงหน้าก็ช่วยไขปริศนาว่าต้นไม้ในภาพถ่ายน่าจะเป็นต้นหางนกยูงมากกว่าต้นมะขาม

ประเด็นเล็กๆ ดังกล่าวชวนให้หันกลับมาพิจารณา AR อีกครั้ง ถึงแม้ว่าในเชิงคอนเซปต์ AR เป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์การสร้างการรับรู้เรื่องราว การเล่นกับพื้นที่จริง และการต่อยอดวัตถุดิบเชิงจดหมายเหตุอย่างภาพถ่ายและเอกสารชันสูตร แต่ผู้เขียนกลับไม่คิดว่าการมองหน้าจอทำให้ตัวเองได้ ‘รู้สึก’ กับตัวพื้นที่มากนัก ในฐานะนิทรรศการ on-site ดูเหมือนว่าภาพถ่ายที่มีตัวตนในโลกจริง (ไม่ว่าจะเป็นการอัดลงบนแผ่นพลาสติกใสแบบนิทรรศการปี 2559 หรือบนบอร์ดขนาดใหญ่ติดตั้งข้างหน้าต่างในปีนี้) จะทำหน้าที่ได้ดีกว่าภาพในโลกเสมือนอย่าง AR ที่ทำให้พะวงอยู่แต่กับการมองหน้าจอมากกว่าจะเชื่อมโยงกับพื้นที่รอบข้าง

 

วัตถุจัดแสดงในนิทรรศการ แขวน ประกอบด้วยลำโพง, เสื้อนักเรียนของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง และสมุดบันทึกของคุณพ่ออ่อง เอี่ยมคง, 2563, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

ในแง่ผลกระทบทางอารมณ์ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงล้ำยุคจะสร้าง impact ที่ทัดเทียมกับเหตุการณ์จริงได้นั้นแสดงเรียกร้องการลงทุนอย่างมหาศาล (ซึ่งอาจจะต้องเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ AR) ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ AR กลายเป็นกิมมิคไปโดยปริยาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตัวพื้นที่จริงและวัตถุจริงอย่างประตูแดง ลำโพง เสื้อนักเรียนของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง และสมุดบันทึกของคุณพ่ออ่อง เอี่ยมคง

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าภาพเสมือนจริงจะไม่มีวันสร้างประสบการณ์ที่ทรงพลังเทียบเท่าของจริงได้เสมอไป แต่ในภาวะที่มีข้อจำกัดทางเงินทุน เทคโนโลยี และกรอบเวลานั้น AR ใน แขวน ยังไม่มีพลังกระทบใจมากนัก (ผู้เขียนตระหนักดีว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะเท่าที่ได้ยินมา ใครๆ ที่มาดูนิทรรศการต่างก็รู้สึกสะเทือนใจด้วยกันทั้งนั้น อย่างไรก็ดี หากมีการพัฒนาต่อไปเป็น App ให้คนโหลดได้ในโทรศัพท์ มีแผนที่ให้ตามรอยค้นหาจุดต่างๆ เองเหมือนไปจับโปเกม่อนนั้นน่าจะเป็นการขยายต่อที่น่าสนใจ ทั้งยังได้สร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่จริงผ่านการเดินด้วย)

 

ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับประธานาธิบดีนิกสัน อัดขยายลงบอร์ด จัดแสดงภายใต้หัวข้อ “ก่อน 6 ตุลา”, นิทรรศการ แขวน, 2563, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยภาพถ่ายภาพหนึ่งที่อยู่ในหัวข้อ “ก่อน 6 ตุลา” คำบรรยายภาพอธิบายว่านี่คือภาพตอนที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินฝ่าฝนไปรับประธานาธิบดีนิกสันถึงสนามบิน และเสด็จไปยังแท่นรับความเคารพท่ามกลางสายฝน” (ปี 2512) เหตุใดจึงต้องยืนท่ามกลางสายฝน? ภาพดังกล่าวบอกอะไรกับเรา? ภาพถ่ายจับจังหวะแห่งการ perform ของผู้ที่รู้ตัวว่ากล้องกำลังจับจ้อง สำหรับผู้เขียน ภาพนี้เผยให้สัมผัสบางมิติของเหตุการณ์ที่ยังคงแขวนลอยก้ำกึ่งอยู่ในบรรยากาศ นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็นอันเป็นบริบทของเหตุการณ์ 6 ตุลา

อำนาจของภาพถ่ายอยู่ที่การให้ทั้งความกระจ่างและความคลุมเครือ สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่หลายเรื่องยังคงถูก “แขวน” เป็นปริศนา ภาพถ่ายทำหน้าที่เป็นหลักฐานช่วยระบุข้อเท็จจริงพื้นๆ ประเภทใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ก็จริงอยู่ แต่บางทีก็มากหรือน้อยกว่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save