fbpx
‘ตอบโจทย์ประเทศไทย 2564 : โควิด รัฐธรรมนูญ การเมืองท้องถิ่น’ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

‘ตอบโจทย์ประเทศไทย 2564 : โควิด รัฐธรรมนูญ การเมืองท้องถิ่น’ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด หนทางข้างหน้าดูจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

อะไรคือโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย และเราจะออกจากหล่มนี้ได้อย่างไร

101 สนทนากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย 2564 ว่าด้วยการจัดการวิกฤตโควิด-19, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และอนาคตของการเมืองท้องถิ่นไทย

 

 

:: ต้องใกล้ชิดกับประชาชน-บทเรียนสำคัญจากสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ::

 

 

แน่นอนว่าพวกเราผิดหวัง เพราะไม่สามารถชนะในตำแหน่งนายกฯ ได้เลย เราได้แค่ตำแหน่ง ส.อบจ. มาทั้งหมด 57 คนใน 20 จังหวัด ก็ต้องยอมรับว่าเราทำงานไม่หนักพอ แต่อย่างน้อยที่สุด เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คนเห็นความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น

พวกเราเพิ่งทำงานการเมืองมาได้ปีที่ 3 เราไม่มีคนทำงานการเมืองเป็นเครือข่ายในท้องถิ่น รับสมัครเลือกตั้งปุ๊บ ลงเลือกตั้งเลย หมายความว่า เรามีเวลาปฏิสัมพันธ์กับประชาชน 3-6 เดือน ซึ่งเราเห็นแล้วว่าในการเมืองท้องถิ่น การใกล้ชิดกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ จะอาศัยความนิยมจากกระแสระดับชาติอย่างเดียวไม่ได้ มันเก็บเกี่ยวเป็นคะแนนไม่ได้ ผู้สมัครต้องทำงานต่อเนื่อง ไม่เหมือน ส.ส. ที่รับมา 3 เดือน แล้วเข้าสู่การเลือกตั้ง ได้รับคะแนนนิยม เพราะคนเลือกโดยนโยบายระดับประเทศ

กลับกัน พอเป็นการเมืองท้องถิ่น มีกระแสจริง แต่เดินตลาดกัน 3 เดือน สร้างความไว้ใจได้ไม่สนิท ผู้สมัครนายก อบจ. หลายคนของเราปวารณาตัวว่าจะขอใช้เวลา 4 ปีนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของพวกเขา และรอบหน้าจะขอลงสมัครในนามคณะก้าวหน้าเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ผู้สมัครนายก อบจ. และผู้สมัคร ส.อบจ. หลายคน บอกว่ามีการใช้เครือข่ายอำนาจรัฐอย่างเต็มที่เพื่อสกัดไม่ให้พวกเราได้เข้าไป หลายจังหวัดสั่งมาตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ลงไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. นี่คือเครือข่ายที่เกิดขึ้นเพื่อพยายามกดพวกเรา ผู้สมัครของเราพูดได้อย่างน่าสนใจมากว่า การที่เรามีความสัมพันธ์กับประชาชนไม่ยาวนานพอ ทำให้ระบบตรงนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราทำงานอย่างต่อเนื่อง 4 ปี ให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของเรา ระบบเครือข่ายแบบนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ชัดเจน

 

:: กฎกติกาหยุมหยิมและการผูกขาดการเมือง อุปสรรคชิ้นใหญ่ของการเมืองท้องถิ่น ::

 

 

ในภาพรวมการเมืองท้องถิ่น มีปัญหาอยู่ 2 ส่วน คือ เรื่องกฎกติกาและบรรยากาศการเมือง

กฎกติกาที่หยุมหยิมทำให้คนไม่อยากเข้ามาลงเล่นการเมือง เช่น ผู้สมัครต้องมีอายุ 35 ปี ขึ้นไป ในหลายประเทศบางทีอายุ 20 กว่าๆ ก็เป็นนายกเมืองกันแล้ว ส่วนเรื่องบรรยากาศการเมือง เราต้องเข้าใจว่าการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องกระทบกระทั่งกับ ‘บ้านใหญ่’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เวลาเราพูดถึงบ้านใหญ่ การมีสมาชิกในครอบครัวหลายคนมาทำงานการเมืองในหลายระดับ ไม่ได้ผิด สมาชิกในครอบครัวบางคนเป็น ส.ส. บางคนเป็นนายก อบจ. บางคนภรรยาไปเป็นนายก อบต. แต่มันจะผิดก็ต่อเมื่อ บ้านใหญ่หลายบ้านในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

เมื่อใดก็ตามที่ใช้อำนาจทุจริตคอร์รัปชัน ซื้อเสียง ผมคิดว่าอันนี้เลยขอบเขตของประชาธิปไตยไปแล้ว บรรยากาศการเมืองที่ถูกปกคลุมด้วยบ้านใหญ่แบบนี้ จะทำให้คนใหม่ไม่กล้าเข้ามาเล่นการเมือง การเมืองถูกผูกขาดและกลายเป็นธุรกิจของตระกูลไปเสียหมด เมื่อไม่มีคนใหม่เข้ามา ก็ไม่มีความคิดใหม่ๆ ไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่จำเป็นต้องผลักดันแสดงผลงานให้ประชาชนเห็น นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก

 

:: นาทีนี้ ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว’ คือคำตอบ ::

 

 

นาทีนี้ผมยังอยากเห็น temporary universal basic income หรือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว ผมคิดว่าการจ่ายเดือนละ 3,000 บาท ระยะเวลาสัก 4 เดือน เรารับไหว ข้อดีของเรื่องนี้คือ ไม่ต้องเลือก sector ที่จะช่วย เพราะพอเอาเงินไปเลือกช่วยท่องเที่ยวหน่อยหนึ่ง เอามาช่วยค้าปลีก เอามาช่วยกระเป๋าตังค์ ฯลฯ กลายเป็นการเลือกทั้งหมด คำถามคือ พอเป็นการเลือก เท่ากับเป็นการทิ้งคนกลุ่มอื่นแล้ว คุณต้องทิ้งใครบางคนเพราะคุณเลือก

และที่สำคัญ ประชาชนแต่ละคนมีความต้องการในชีวิตไม่เหมือนกัน สำหรับครอบครัวหนึ่งอาจจะเป็นค่าเล่าเรียนลูก อีกครอบครัวหนึ่งเป็นเรื่องผ่อนบ้าน หรืออีกครอบครัวหนึ่งอาจเป็นเรื่องข้าวปลาอาหาร แต่ละครอบครัวมีความต้องการไม่เหมือนกัน

ดังนั้นถ้าคุณให้เป็น temporary universal basic income ไป ประชาชนจะสามารถเลือกใช้จ่ายตามแต่ความต้องการของเขาได้ แต่รัฐไม่ไว้ใจประชาชน รัฐบอกว่าที่ไม่ให้เป็นเงินสดเพราะกลัวคนเอาเงินไปซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ ทฤษฎีเรื่อง UBI พิสูจน์มาแล้วว่ามีแบบนั้นจริง แต่เป็นส่วนน้อยมาก คนส่วนใหญ่ที่รู้ว่าชีวิตของตัวเองต้องการอะไร เงินจำนวนนี้จะตอบโจทย์อะไรกับชีวิตตัวเองมากที่สุด เขาจะคิดตรงนั้นก่อน โดยเฉพาะชั่วโมงที่ยากลำบากแบบนี้

ถ้าถามว่าในระหว่างนี้รัฐควรทำอะไร ผมอยากเห็น ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว’ ที่ให้ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ต้องไปแข่งขันกันลงทะเบียน ไม่ต้องไปชิงโชค และไม่ต้องไปพิสูจน์ความจน

 

:: มีน้อย-มาช้า-แถมยังฉีดช้า ว่าด้วยเรื่องปัญหาของวัคซีนโควิด-19 ::

 

 

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ณ วันนี้ประเทศไทย มีวัคซีนที่มีพันธะผูกพันที่จะส่งมอบกันแล้ว ครอบคลุมเพียง 21.5% ของจำนวนประชากร นั่นก็คือมี 26 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า และ 2 ล้านโดส จากซิโนแวค มีแค่ 2 ดีลนี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราไปดูประเทศอื่นๆ หลายประเทศมีถึง 50% – 100% ไปแล้ว บางประเทศหลายร้อยด้วยซ้ำไป เห็นได้ชัดว่าเราช้ากว่าคนอื่นในการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันของสังคม

ประเด็นที่สอง นอกจากจัดหาวัคซีนได้น้อยและช้าแล้ว ยังฉีดช้าอีก วันนี้หลายประเทศเริ่มฉีดไปแล้ว อเมริกาเกือบ 10% อังกฤษ 5% อิสราเอลประกาศภายในไตรมาส 1 ของปีนี้จะฉีดให้ครบ 100% ส่วนของไทย แม้แต่ที่คุณอนุทินออกมาตอบโต้ผม ก็ยังไม่กล้าสัญญากับประชาชนว่าตกลงเมื่อไหร่กันแน่ที่จะฉีดให้ประชาชนจำนวนมาก

แผนล่าสุดที่มีคือปี 2564 ฉีด 20% ปี 2565 ฉีดอีก 20% และปี 2566 ฉีดอีก 10% นี่คือแผนฉีดวัคซีนของรัฐบาลที่มีเอกสารอ้างอิง เพราะแผนนี้ได้นำเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 จากการชี้แจงวันนั้นจนถึงวันนี้ ไม่มีการให้สัญญากับประชาชนใหม่ ว่าตกลงจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรเมื่อไหร่ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน

คำถามคือ เราทนมาแล้ว 1 ปี ถ้าเป็นไปตามแผนนี้ของรัฐบาล ถ้าผมไม่มาตั้งคำถาม ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนแผน เราต้องอยู่อย่างนี้อีก 3 ปี

เรื่องนี้เป็นปัญหามาก เราอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดและหนาวเหน็บ วัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ถ้าเราสามารถจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีนให้กับจำนวนประชากรที่มากพอ เราจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ คำถามคือ ยิ่งฉีดช้ามากขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนยิ่งต้องอยู่ภายใต้ความกลัวแบบนี้ไปอีกนาน และอย่าลืมว่าคนที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้มากที่สุดคือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรือแรงงานนอกระบบ คนพวกนี้เปราะบางที่สุดในสังคม ลองไปเดินตลาดดูก็ได้ ถามดูว่าใครรับภาวะแบบนี้ได้อีก 3 ปีบ้างไหม ไม่มี

ดังนั้น นี่เป็นข้อเท็จจริง ว่าวันนี้คุณไม่มีแผนที่ชัดเจนให้ประชาชน

 

:: เพราะ END GAME ของการแก้รัฐธรรมนูญระหว่างเรากับเขาเป็นคนละเป้าหมายกัน ::

 

 

ถ้ามอง end game ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผมกังวลตอนนี้ คือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะถูกไฮแจ็กไปโดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขในประเด็นปลีกย่อยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องกฎระเบียบการเลือกตั้ง หรือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่รัดกุมเกินไป จนทำให้หลายฝ่ายทำงานไม่สะดวก และเมื่อแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้ ก็มาบอกกับประชาชนว่า เห็นไหม มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะเอาอะไรอีก ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่รูปแบบนั้น

แต่เวลาที่ประชาชนพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจอยู่ที่อำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ จะใช้อย่างไร ให้ทางหนึ่งบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทางหนึ่งมีกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหาร และที่สำคัญมากที่สุด เราเชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน ฉะนั้นอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน

ดังนั้น end game เป็นคนละเป้าหมายกัน พวกเราอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ประชาธิปไตย อีกฝ่ายต้องการฉกชิงวาทกรรมกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขข้อปลีกย่อยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ถ้าเป็นไปแบบนี้ ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าองค์กรอิสระจะไม่ถูกแก้ไข และจะมาจากการแต่งตั้งกันเองของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ซึ่งตรวจสอบไม่ได้เหมือนเดิม เขาจะไม่ยอมเสียกลไกองค์กรอิสระไปแน่ เพราะเราต้องเข้าใจว่า องค์กรอิสระคือกลไกในการค้ำยันระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยระบอบนี้ ดังนั้นผมคิดว่ามันจะไม่ถูกแก้ไขในเกมรัฐธรรมนูญแบบนี้

ซึ่งนั่นจะทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยน่าเป็นห่วงมากกว่านี้ ผมเป็นห่วงเหลือเกินว่าถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง อำนาจสูงสุดไม่กลับมาเป็นของประชาชน ประเทศไทยจะไปต่อลำบากมาก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save