fbpx

ประวัติศาสตร์ของชีวิต แถมสุข นุ่มนนท์

แถมสุข นุ่มนนท์

การที่ดูแลแม่อย่างดีมากๆ ทำให้แม่มีความสุข และมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ ขอขอบใจเป็นที่สุด เป็นสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตขณะนี้คือโบนัส ได้มาเกินพอแล้ว

ความตอนหนึ่งจากบัตรอวยพรที่ แถมสุข นุ่มนนท์ ในฐานะแม่ เขียนถึงลูกชายคนโตของเธอ เมื่อปี 2563 สะท้อนวิธีมองโลกของเธอได้เป็นอย่างดี ทำนองเดียวกับ “ชีวิตนี้มีกำไร” ที่เป็นประโยคประจำตัวของแถมสุข

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรผู้นี้ มีชีวิตที่เป็นประวัติศาสตร์ ทั้งต้นกำเนิดจากบิดา และผลงานที่เธอสร้างขึ้นด้วยตนเองต่อวงวิชาการของไทยและเทศ แม้เธอจะตายจากไปแล้ว แต่การงานต่างๆ ที่ได้สร้างไว้ ก็จะเป็นอนุสรณ์ของเธอไปอีกนานเท่านาน


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์
(21 มิถุนายน 2478 – 1 กุมภาพันธ์ 2565)


กำเนิดและครอบครัว


แถมสุข นุ่มนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2478 ที่บ้านตึกแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าโรงยาเก่า ใกล้ปากคลองตลาด เธอเป็นบุตรคนที่ 3 ของ ร.ต.ถัด และนางแส (สกุลเดิม ณ พัทลุง) รัตนพันธุ์ เธอมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 4 คน คือ นายแถมสิน นางแถมศรี นางแถมสุข และนางแถมสร้อย ซึ่งล้วนเป็นชื่อสองพยางค์ที่ใช้ ถ และ ส จากอักษรแรกของชื่อบิดากับมารดามารวมกัน

ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ วัย 24 ปี เป็นสมาชิกของคณะทหารที่ก่อการกำเริบ ร.ศ. 130 เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 จนถูกคุมขังอยู่ถึง 12 ปี 6 เดือน 6 วัน

เธอกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายว่า “ดิฉันไม่พบว่ามีใครเสียใจในสิ่งที่ทำไป และไม่ได้มีการอบรมลูกหลานว่าอย่าไปทำอย่างนี้หรืออะไร กลับรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก อย่างที่บ้านของดิฉันมีบรรยากาศของ ร.ศ. 130 อยู่ตลอด มีทั้งดาบ มีทั้งกระบี่ มีทั้งรูปคุณพ่อสมัยอยู่ในคุก (ไม่ทราบว่าไปแอบถ่ายกันอย่างไร) เต็มไปหมด เป็นความภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำสิ่งที่ต้องการจะทำ เพื่อสังคมที่ดีกว่า และแน่นอนว่าอาจจะถูกมองว่าเป็นคนที่นอกรีตนอกรอย เพราะว่าตอนที่เกิด ร.ศ. 130 ขึ้น แล้วพวกนี้ถูกจับ บ้านช่อง ครอบครัว พ่อแม่ที่ประกอบอาชีพค้าขายต้องหมดเนื้อหมดตัว เพราะไม่มีลูกค้ามา ไม่มีใครเขาคบหาสมาคมด้วย เพราะเขาบอกว่าเป็นครอบครัวที่แย่มาก ไม่รู้จักสอนลูกสอนหลาน ทำให้พวกนี้เป็นพวกใช้ไม่ได้

แต่ในปี 2478 ที่แถมสุขเกิด บิดาของเธอเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินทางดูงานใน 7 ประเทศแถบเอเชียอยู่


ร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์
(21 พฤษภาคม 2431 – 18 มีนาคม 2487)


การศึกษา


เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอย้ายไปอยู่ที่จังหวัดพัทลุง จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนโสภณพัทลุงกุล เมื่อปี 2488 และชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนสตรีพัทลุง ในปี 2493

ต่อมาได้ทุนฟุลไบร์ทมาเรียนต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แผนกอักษรศาสตร์ ในปี 2495

จากนั้นสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2500

หลังจากนั้นเข้าเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2501 แล้วจึงไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง จากทุนมูลนิธิเอเชีย จนจบเมื่อปี 2504 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘พัฒนาการของรัฐไทรบุรี-ปะลิส ค.ศ. 1909-1941’ และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ ด้วยทุนบริติช เคาน์ซิล ที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การเจรจาทางการทูตระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ. 1900-1909’ จนจบในปี 2509


นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนสตรีพัทลุง

อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ครอบครัว


ขณะศึกษาระดับปริญญาเอกในอังกฤษ แถมสุข นุ่มนนท์ สมรสกับสุรัตน์ นุ่มนนท์ เมื่อปี 2506 ซึ่งเธอเล่าถึงชีวิตตอนนี้เอาไว้ว่า “หนึ่งปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดิฉันตกลงแต่งงานกับคุณสุรัตน์ โดยจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียนเขตเคนซิงตันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2506…เราให้คำปฏิญาณต่อกันว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อกัน

ทั้งคู่บุตรชาย 2 คน คือ รณดล กับนายธนชาติ

ที่มาของชื่อลูกทั้งสองยิ่งน่าสนใจ เธอเล่าว่า “จนถึงเดือนเมษายน 2507 ชีวิตครอบครัวมีความสุขและตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น เมื่อลูกชายคนแรกถือกำเนิดในโรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ โรงพยาบาลมีชื่อเสียงทันสมัยแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ระเบียบของโรงพยาบาลต้องจดชื่อในทะเบียนทันทีที่เกิด ไม่มีเวลาคิดชื่อหรือผูกดวงชะตาแต่อย่างใด คุณสุรัตน์นึกชื่อไว้ก่อนว่า รณดล ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ลอนดอน

ต่อมาเมื่อถึงคราวของลูกคนเล็กนั้น “แม้จะติดใจในชื่อเมืองสแตรดฟอร์ด เมืองเกิดและตายของเช็คสเปียร์ ที่ได้แวะเยี่ยมชมบ้านเช็คสเปียร์และดูละครเช็คสเปียร์กันมา ระหว่างกลับจากการไปร่วมชุมนุมนักเรียนไทยของสามัคคีสมาคม ณ เมืองเบอร์มิงแฮม แต่หาคำไทยใกล้เคียงกับคำว่าสแตรดฟอร์ดไม่ได้ จนมานึกถึงชื่อเมืองธนบุรี ที่มีสายสัมพันธ์ในฐานะเป็นถิ่นที่อยู่ของตระกูลอยู่บ้าง เลยกลายเป็นชื่อ ธนชาติ

สามีของเธอตายจากไปก่อนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 เธอกล่าวถึงการจากไปของคู่ชีวิตว่า “การพลัดพรากจากคู่คิด คู่ชีวิต ที่อยู่ด้วยกันมาเกือบห้าสิบปี ทำให้ดิฉันคิดได้ว่า ที่สุดแล้วชีวิตของคนเราก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากการเข้าถึงความมีสติ ความมีปัญญา และการทำตนเป็นประโยชน์…แค่นี้จริง ๆ


แถมสุขกับสุรัตน์


การทำงาน


แถมสุขเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนถึง 2514 ระหว่างนั้นก็เป็นอาจารย์พิเศษคณะครุศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงสั้นๆ (2512-2514)

ต่อมาเธอย้ายไปเป็นหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ 4 ปี (2514-2518) แล้วย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม อีก 20 ปี โดยเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา (2518-2522) และคณบดี (2526-2530) ด้วย


ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา
ท่านพุทธทาสภิกขุ ปีการศึกษา 2528


นอกจากนี้ เธอยังได้รับเชิญไปสอนในต่างประเทศถึง 3 ครั้ง คือ นักวิชาการรับเชิญประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Institute of Southeast Asian Studies) สิงคโปร์ (2519) นักวิชาการรับเชิญประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา (2522-2523) และศาสตราจารย์รับเชิญประจำมหาวิทยาลัยเบิร์กเล่ย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (2524-2525)


ขายของในงาน Thai Night กับธนชาติ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล


ภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย แถมสุขเคยทำงานในหน่วยราชการ และองค์กรอีกหลายแห่ง เช่น กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี (2516-2532) คณะกรรมการก่อตั้ง และอุปนายกสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (2521-2530) กรรมการดำเนินงานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด (2529-2537) กรรมการวิจัยและพัฒนา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (2536-2542) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2536-2545) กรรมการคณะบรรณาธิการ สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน (2534-2546) กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา (2534-2545) และกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า (2543-2546)

อนึ่ง แถมสุขเป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 เมื่อปี 2531 และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2540 ด้วยผลงานวิชาการจำนวนมาก ทั้งหนังสือ งานวิจัย บทความทางวิชาการ และบทวิจารณ์


ประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อกำพร้าบิดา


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น มีนโยบายจะย้ายเมืองหลวงไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ เป็น ส.ส. ผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วย กับการที่รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อการนั้น แทนที่จะกระทำเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะต้องผ่านการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

ในประเด็นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวถึง ร.ต.ถัด ว่า “ผู้แทนราษฎรที่เห็นแก่ความทุกข์ยากของราษฎรได้พยายามคัดค้าน แต่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะระหว่างนั้นสภาผู้แทนราษฎรอยู่นอกสมัยประชุม  ในบรรดาผู้แทนราษฎรดังกล่าวนั้น มีผู้หนึ่งคือ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ซึ่งขณะนั้นสุขภาพไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็ได้อุสาหะไปพบผม แจ้งว่าตนกับเพื่อนผู้แทนราษฎรจำนวนมากไม่อาจทนดูความเดือดร้อนของราษฎรได้อีกต่อไป และว่าการสร้างเมืองหลวงใหม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญของชาติ รัฐบาลไม่ควรช่วงชิงเอาการที่สภาฯ อยู่นอกสมัยประชุมนั้นเป็นโอกาสออกพระราชกำหนดตามอำเภอใจ

“…ขณะนั้น ร.ต.ถัดฯ กับเพื่อนผู้แทนฯ จึงพยายามรวบรวมรายชื่อผู้แทนฯ ให้ได้ครบ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แทนทั้งหมด เพื่อเสนอประธานสภาฯ เพื่อเสนอต่อไปยังคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประกาศเรียกประชุมวิสามัญ…ต่อมา ร.ต.ถัด ถึงแก่กรรมในวันที่ ๘ มีนาคมปีนั้น


ลายมือนายปรีดี พนมยงค์ ที่พบในเอกสารการร่างคำฟ้อง
นายรอง ศยามานนท์ ผู้แต่งหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


เด็กหญิงแถมสุขจึงกำพร้าบิดาในวัยเพียง 8 ขวบ โดยที่เธอไม่เคยทราบผลงานชิ้นนี้ของบิดาเลย จนกระทั่งปี 2563 เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือ บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ แล้วบรรณาธิการไปพบต้นฉบับลายมือนายปรีดีกล่าวถึง ร.ต.ถัด จึงได้นำมาตีพิมพ์ในฉบับปรับปรุงใหม่ด้วย เมื่อเสร็จแล้วจึงส่งไปให้เธอได้อ่าน แถมสุขนักเขียนจดหมาย จึงตอบกลับมาโดยลายมือ ความตอนหนึ่งว่า

ดีใจและตื่นเต้นมากที่เห็นร่างคำฟ้องของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ที่พูดถึงคุณพ่อ ทั้งๆ ที่ได้ค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองมานานพอสมควร ก็ไม่เคยได้เห็นหรือทราบเรื่องเลย เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตก็อายุ ๘ ขวบ ไม่รู้เรื่องอะไร…ลูกๆ คุณพ่อจะเรียกอาจารย์ปรีดีว่า คุณหลวงประดิษฐ์ฯ ตามแบบคุณพ่อ-คุณแม่ตลอดมา (คุณพ่อถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๗ อายุได้ ๕๖ ปี)


จดหมายจากแถมสุข


ผมมีโอกาสได้พบอาจารย์แถมสุขเพียงครั้งเดียวในปี 2555 เมื่อส่งหนังสือ บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ไปให้ ก็ไม่คิดว่าอาจารย์จะจำได้ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย จึงออกจะทึ่งเมื่อได้รับจดหมายจากอาจารย์ว่า

เราพบกันครั้งเดียวเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว ที่บ้านนครปฐม จึงซาบซึ้งและขอบคุณมากที่คุณกษิดิศยังคิดถึง ส่งโน้ตที่เป็นลายมือสวยไปให้…ขอให้มีพลังกาย พลังใจ ทำงานที่รักต่อไปอย่างมีความสุข…ขอให้คุณกษิดิศได้รับทราบว่า ได้ทำให้คนอายุ ๘๕ มีความชุ่มชื่นในหัวใจเป็นที่สุด ที่ได้รับความระลึกถึง


เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (ซ้าย) สาราณียกร ปาจารยสาร สัมภาษณ์แถมสุข
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555


หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อกันเป็นระยะ โดยเฉพาะปลายปี 2564 ที่สำนักพิมพ์แสงดาวเตรียมจัดพิมพ์ ยังเติร์กรุ่นแรก : กบฏ ร.ศ. 130 ใหม่อีกครั้ง (พิมพ์ครั้งที่ 4) โดยผมเป็นบรรณาธิการ ทำให้เห็นว่า ในวัย 86 ปี อาจารย์ทำงานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แก้ต้นฉบับด้วยลายมืออย่างเป็นระเบียบ แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาอย่างทันสมัย ซึ่งพยายามถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของสังคมออกมาอย่างสมจริงโดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นเนื้อแท้ของผู้คนร่วมสมัยในเวลานั้นตามความเป็นจริงให้มากที่สุด

ในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เขียนจดหมายมาตอนหนึ่งว่า “เขียนคำนำและประวัติของคุณพ่อมาเพื่อพิจารณา แก้ไขได้ตามที่คุณกษิดิศเห็นควร สำหรับประวัติคุณพ่อนั้น ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมากไปก็ไม่ต้อง แต่เหมือนที่คุณกษิดิศพูดว่า เรื่องส่วนตัวสนุกดี ที่จริงก็เห็นอย่างนั้น เพราะเป็นพงศาวดารกระซิบที่นับวันจะสูญหายไปในโลกดิจิตอล ซึ่งน่าเสียดาย

และคราวหนึ่งเมื่อคุยโทรศัพท์กัน อาจารย์เปรยว่า “อาจารย์ไม่เอาเงินค่าลิขสิทธิ์นะคะ แต่ขอให้ส่งเป็นหนังสือมาให้แทน จะเก็บไว้ให้ลูกแจกตอนเผา” ตอนนั้นผมได้แต่ตอบขำๆ ไปว่า “อาจารย์อย่าเพิ่งรีบครับ ให้ผมชวนทำเล่มต่อไปก่อน ถึงตอนนั้นอาจารย์ค่อยสั่งว่า จะให้แจกยังไงดี

ต่อมาเมื่อผมโทรศัพท์ไปขอจัดพิมพ์ ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475 ใหม่นั้น อาจารย์เอ่ยว่า “คุณกษิดิศเป็นพวกนิยมคุณหลวงประดิษฐ์ฯ เอามาพิมพ์ใหม่ ไม่กลัวคนเขาว่าหรอ” อาจารย์เป็นคนคุยสนุก และมีความเป็นมนุษย์มาก


ต้นฉบับ ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475 ที่ปรับปรุงเสร็จแล้ว
ขาดแต่เขียนคำนำสำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 3


ที่สุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ผมได้สัมภาษณ์อาจารย์ทางโทรศัพท์บันทึกเทปรายการ “รอยจารึก…บันทึกสยาม” ทาง ThaiPBS Podcast ในวาระ 110 ปี ของเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งอาจารย์ยังคุยได้อย่างแจ่มใส และมีความคิดที่แจ่มชัด

และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พูดกับอาจารย์

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผมได้รับโทรศัพท์ที่แจ้งข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของอาจารย์ นับเป็นการจากไปอย่างกะทันหัน ซึ่งสันนิษฐานว่า หายใจล้มเหลวเนื่องจากลิ่มเลือดอุดปอด รวมอายุได้ 86 ปี

นอกจาก ประวัติ (ศาสตร์) อันแสนสุขของแถมสุข อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 แล้ว ยังเติร์กรุ่นแรก : กบฏ ร.ศ. 130 และ ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475 ยังได้พิมพ์แจกในโอกาสนั้นด้วย


ประวัติ (ศาสตร์) อันแสนสุขของแถมสุข
[https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:192615]


ที่มา

  • https://www.the101.world/thamsuk-numnon-kasidit-interview/
  • ประวัติ (ศาสตร์) อันแสนสุขของแถมสุข, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ป.ช., ป.ม. เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ ที่ 29 พฤษภาคม 2565.
  • ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2563), 148-149.
  • จดหมายแถมสุข นุ่มนนท์ ถึงกษิดิศ อนันทนาธร, 19 พฤษภาคม 2563 และ 15 พฤศจิกายน 2564.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save