fbpx

เกือบจะเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการโรงแรม

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับสถาปนาขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 ท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตยอวลกรุ่น

ชีวิตชีวาของสถานศึกษาแห่งนี้โลดแล่นตระกลตระการตลอดสมัยรัฐบาลคณะราษฎร ครองบทบาทสำนักแห่งปัญญาชนผู้เปี่ยมล้นจิตวิญญาณเสรีเรื่อยมา จวบจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 ประกอบกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ ส่งผลให้ ‘มธก’ ตกอยู่ในสภาวะผันผวนและถูกคุกคามสารพัดรูปแบบเนืองๆ ชัดเจนนับตั้งแต่ ‘ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492’ นำโดยนายปรีดีประสบความพ่ายแพ้

สถานการณ์ที่นักศึกษาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการซึ่งพยายามเข้าควบคุมพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงทศวรรษ 2490 คนรุ่นปัจจุบันมักหวนนึกถึงกรณีรัฐบาลส่งกำลังทหารบกเข้ายึดสถานศึกษาหลังเกิดกบฏแมนฮัตตัน ปลายเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2494 โดยให้เหตุผล ‘ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย’  

ทว่า กลับไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าไหร่ว่าก่อนหน้านั้นหนึ่งปีกว่า เคยมีกรณีที่เกือบจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการโรงแรม!


มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

        
ปลายเดือนแรกสุดของปีพุทธศักราช 2493 ปรากฏข่าวคราวครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับทำนองว่า เนื่องจากจะมีการจัดงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมนานาชาติแห่งภาคพื้นเอเชียขึ้น ณ สวนลุมพินีในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2494 ทางรัฐบาลไทยอุปการะบริษัทการค้าผู้จัดงานเต็มที่ พันโท หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) อธิบดีกรมโฆษณาการ เปิดประชุมคณะกรรมการช่วยเหลืองานที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งได้เสนอให้ดัดแปลงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับโรงเรียนชาติสงเคราะห์เป็นโรงแรมรับรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมงาน อ้างว่า ‘มธก’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่อมถูกอกถูกใจชาวต่างชาติแน่ๆ ซึ่งคณะกรรมการช่วยเหลืองานก็ดูจะเห็นดีเห็นงาม

ความดำริและข้อเสนอนั้นเป็นของพระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) ปลัดกระทรวงพาณิชย์


พระนรราชจำนง
พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475

ข่าวสารแพร่สะพัดปลุกเสียงวิจารณ์เกรียวกราวในหมู่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ทางหนังสือพิมพ์ หลักชัย  เร่งส่ง ‘คนข่าว’ มาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขอเข้าพบดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยและรักษาการแทนผู้ประศาสน์การ เพื่อใคร่รับทราบความเห็น รวมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษา แล้วนำมารายงานผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2493 โปรยพาดหัว “คัดค้าน เอา ม.ธ.ก. เป็นโรงแรม”  

ดร.เดือนชี้แจงว่า เรื่องจะเอามหาวิทยาลัยเป็นโรงแรมยังไม่มีใครส่งคำขอมาเป็นทางการ

“ผมก็เพิ่งทราบจากหนังสือพิมพ์นี่เอง แต่จะมาเอาไปเปนโรงแรมได้ยังไง ในเมื่อตลอดปี มหาวิทยาลัยไม่มีสถานที่ว่างเลย”

ต่อคำถามของ ‘คนข่าว’ ถ้าคณะกรรมการช่วยเหลืองานแสดงสินค้านานาชาติร้องขอมาให้ช่วยเหลือจริงๆ จะทำเช่นไร เลขาธิการมหาวิทยาลัยตอบ

“แต่ขณะนี้เราก็ยังมิรู้ว่าเขาจะขอมาในรูปไหน แต่ก่อนเราเคยให้อย่างนิสสิตแพทย์ศิริราช ไม่มีที่อยู่เพราะที่พักโดนระเบิด นั่นก็เปนอย่างหนึ่ง แต่จะเอาไปเปนโรงแรมทั้งหมดแล้วย่อมเปนไปไม่ได้”

ส่วนปัญหาเรื่องจะให้มหาวิทยาลัยย้ายออกไปอยู่นอกเมืองชั่วคราวระยะหนึ่ง นักศึกษาเดือดร้อน และสถานศึกษาอาจเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ ดร.เดือนบอก “พระราชวังว่างๆ วัด, และโรงพยาบาลทำไมไม่ไปเอาบ้าง ก็ทำนองเดียวกันแหละคุณ ถ้าเอามหาวิทยาลัยเปนโรงแรม ต้องสร้างห้องน้ำห้องนอนอะไรจิปาถะ”


หนังสือพิมพ์ หลักชัย
ภาพจากหนังสือพิมพ์ หลักชัย ประจำวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2493


นักศึกษาธรรมศาสตร์ซึ่งในใจเต็มไว้ด้วยความไม่เห็นพ้อง สุดจะทนทานได้ต่อการแปรสภาพมหาวิทยาลัยที่พวกเขามองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปเป็นโรงแรม ถือว่าดูหมิ่นเกียรติ ไม่ยอมโอนอ่อนตามคณะกรรมการของรัฐปรารถนา จึงพยายามเปิดประชุมกรรมการนักศึกษาเพื่อส่งเสียงคัดค้านแข็งขัน และตระเตรียมเคลื่อนไหวต่อต้าน

ทางหนังสือพิมพ์ หลักชัย เผชิญหน้ากับนักศึกษาผู้แสดงอารมณ์ระอุหลายคน ก็มิวายขอสัมภาษณ์บางคน ได้แก่ อารีย์ อิ่มสมบัติ  อดีตกรรมการกีฬาในร่มแห่งสโมสร มธก. เขากล่าวว่า “พวกเราจะยอมไม่ได้ ต้องคัดค้านเรื่องนี้”  ส่วนไพโรจน์ กนิษฐานนท์ หรืออ้วน ว่า “นี่แหละมันจะทำให้ยุ่งกันใหญ่ละ คอยดูพวกเราบ้างซี”  ด้านบัญญัติ โชติชนาภิบาล ธรรมศาสตร์บัณฑิตหนุ่มแสดงความเป็นห่วงนักศึกษาหญิงจะถูกลวนลามจากบรรดาแขกผู้มีเกียรติของรัฐบาล

ยังมีนักศึกษาคนสำคัญอย่าง ทวีป วรดิลก บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ธรรมจักร ที่ดูท่าทางกระตือรือร้นพิเศษ เขาให้ปากคำว่า “พอได้ข่าวก็ใจหาย กลับไปนอนคิดไม่หลับตลอดคืน” และ “เขาเห็นธรรมศาสตร์เราเปนลูกแกะ เราค้านเขาก็ว่าเราเจี๊ยว แต่เขานั่นแหละที่กดหัวเราจนทนไม่ไหว ก็ต้องระบายออกมา ผมอยากให้นักศึกษาเขียนความเห็นคัดค้านเจตนาและการกระทำที่มุ่งเอามหาวิทยาลัยเปนโรงแรม” พลันหยิบกระดาษปากกามาเขียนบทความทันที  ‘คนข่าว’ ของหนังสือพิมพ์ หลักชัย จึงนำบทความของทวีปมาลงพิมพ์ นั่นคือ  “มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงแรม”

“ความเปนจริงซึ่งไม่มีผู้ใดปฏิเสธก็คือว่า “มหาวิทยาลัยเปนสถานศึกษาสูงสุดของชาติ” และคำว่า สถานศึกษาสูงสุดของชาติ นี่ก็ห่างไกลกับคำว่าโรงแรม ราวฟ้ากับเหว (มิใช่ฟ้ากับดิน เพราะดินยังสูงไป) เมื่อความเปนจริงเปนอยู่ดังนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า สถานศึกษาสูงสุดของชาติ มิบังควรได้รับความมัวหมองจากการกระทำอันไม่มีเหตุผลเพียงพอ ซึ่งเนื่องมาจากความไม่รู้จักรักเกียรติของมหาวิทยาลัยแม้แต่น้อย

จริงอยู่ มหาวิทยาลัยของเราได้รับความมัวหมองมาแล้ว แต่นั่นข้าพเจ้าถือว่า เปนกลอุบายอันสามาณย์ของบุคคลบางจำพวก ซึ่งต้องการที่จะให้ความหายนะบังเกิดแก่มหาวิทยาลัยของเรา ซึ่งเรากำลังต้องการเวลาที่จะพิศูจน์ตัวเราเองอยู่ บัดนี้เราได้รับข่าวซึ่งประกาศออกมาโดยแจ้งชัดทางหนังสือพิมพ์ แต่เรามีสิทธิที่จะถือว่ามันเปนข่าวร้ายที่สุดในรอบปีสำหรับมหาวิทยาลัยของเรา และจะเป็นมณทิลติดตราประวัติการศึกษาของชาติไปไม่มีสิ้นสุด

ข้าพเจ้าขอเสนอให้คณะกรรมการจัดงานพิจารณาบ้านของตนเองก่อนว่า สมควรจะเปนโรงแรมได้หรือไม่ ก่อนที่จะอาจเอื้อมมาถึงมหาวิทยาลัยอันเปนสถานศึกษาสูงสุดของชาติ”


ดร. เดือน บุนนาค
ดร. เดือน บุนนาค
ภาพจาก www.bunnag.in.th


เช้าวันจันทร์ที่ 30 มกราคม ‘คนข่าว’ ของหนังสือพิมพ์ สัจจา ขอเข้าพบผู้รักษาการแทนผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย หมายจะนำทรรศนะมาพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันอังคาร พอฟังถ้อยคำถามเดิมๆ ดร.เดือนตอบทันควันว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่สุด  มหาวิทยาลัยคือสถานที่สำหรับเลกเชอร์นักศึกษาและตรวจข้อสอบตลอดทั้งปี ถ้าใช้มหาวิทยาลัยทำโรงแรมก็ไม่มีที่เรียนที่ทำงานกันพอดี

ครั้น ‘คนข่าว’ แจ้งเรื่องทางการจะจัดหาสถานที่นอกเมืองหรือสถานที่ในชนบทให้ใช้เป็นมหาวิทยาลัยชั่วคราว ดร.เดือนหัวเราะพร้อมเอ่ย “ผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีสถานที่นอกเมืองแห่งใดที่พอจะใช้แทน มธก.ได้อย่างคุณว่า”  และ “อีกประการหนึ่ง ใครๆ ก็ทราบว่าเมื่อฝรั่งจะไปพักที่ใดนั้น สถานที่เขาจะพักจะต้องมีห้องน้ำห้องส้วมบริบูรณ์ โดยไม่ปะปนกับใคร แต่ มธก. ก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้ แล้วใครเขาจะมาพักได้ทน”

เลขาธิการมหาวิทยาลัยสำทับ “ถ้าเพียงแต่จะยืม มธก. เปนสถานที่สอบไล่ หรือเปนที่พักของกองทหารหัวเมือง หรือคนไข้โรงพยาบาล สักวันสองวันก็พอจะให้กันได้ แต่จะยืมเปนโรงแรมพักกันเปนแรมเดือนยังงั้น เห็นจะไม่ไหว”  และ“แม้แต่ที่สถานที่บางส่วนของมหาวิทยาลัย ซึ่งกรมรักษาดินแดนยืมเปนที่ทำงานชั่วคราวอยู่ขณะนี้ เรายังรู้สึกอึดอัดกันมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเปนเรื่องที่ทำกันนานมาแล้ว”

อุทธรณ์ พลกุล นักหนังสือพิมพ์ศิษย์เก่าเตรียม มธก. รุ่นแรกสุด (รุ่นพุทธศักราช 2481) ได้เขียนบทความ “โรงแรมธรรมศาสตร์” ลงในคอลัมน์ “อภิปรายและวิพากษ์” ของหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ประจำวันอังคารที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2493 ความว่า

ในการแสดงสรรพสินค้าระหว่างชาติในตะวันออกไกล ซึ่ง ม.จ.ประสบสุข สุขสวัสดิ์ เปนประธานจัดงานในนามของบริษัทการค้า และมีรัฐมนตรีผู้หนึ่งให้ความสนับสนุนอย่างสุดกำลัง ได้ร่วมมือกันที่จะสร้างความกระทบกระเทือนจิตต์ใจให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  โดยจะยึดครองเอาสำนักศึกษาแห่งนี้เปนโรงแรม สำหรับเปนที่รับรองนักท่องเที่ยวต่างเมืองที่จะเดินทางเข้ามาชมการแสดงสรรพสินค้า และจะย้ายสำนักศึกษาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ออกไปนอกเมือง

ถ้าข่าวดังกล่าวเปนความจริง ซึ่งคงจะเปนความจริงเพราะทางราชการยังไม่ได้ปฏิเสธ เราก็อนาถใจเพราะว่าทุกวันนี้ ดูประหนึ่งผู้ยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองไทยจะยึดถืออารมณ์พล่อยๆ และไพร่เกินไป ในอันที่จะปฏิบัติการทุกสิ่งทุกอย่างลงไปโดยไม่เหลียวแลถึงเหตุผล ไม่ไยดีต่อจิตต์ใจของกลุ่มนักศึกษาซึ่งจะเปนอนาคตของชาติในทางประสิทธิประสาทความยุติธรรมของบ้านเมือง จริงอยู่อาจจะมีผู้อ้างว่า ตัวตึกอาคารในมหาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็เปนเพียงวัตถุอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สลักสำคัญอะไรนัก ซึ่งเมื่อนักศึกษาใช้เปนสถานที่ศึกษาได้ ทางราชการก็ย่อมที่จะนำมาใช้เปนโรงแรมได้เช่นเดียวกัน อีกหน่อยวัดวาอารามก็คงจะถูกนำมาดัดแปลงเปนโรงแรม เปนโรงผู้หญิงงามเมืองได้ และเปนอะไรก็ได้แล้วแต่ความปรารถนาของท่านผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนพระสงฆ์องค์เจ้าก็นิมนต์ท่านออกไปอยู่นอกเมือง

ในการประชุมของกรรมการแสดงสรรพสินค้าระหว่างชาติในตะวันออกไกลครั้งที่อภิปรายกันถึงปัญหานี้ เราได้ทราบข้อเท็จจริงว่า พระนรราชจำนง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเปนกรรมการผู้หนึ่งเปนผู้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาจัดดัดแปลงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปนโรงแรม เพื่อขจัดปัญหาที่คณะกรรมการหนักใจในเรื่องสถานที่พักตลอดจนการอำนวยความสดวกต่างๆแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่จะมาในงาน และข้อเสนอนี้ก็ดูเปนที่ชื่นชมของคณะกรรมการนั้นด้วย ซึ่งเราเห็นว่าถ้าจะให้ปัญหานี้ปลอดโปร่งและสมเกียรติแก่การจัดงานแสดงสรรพสินค้าเพื่อผลกำไรของเอกชนนักคิดการไกลเหล่านี้ลุล่วงไปด้วยดีแล้ว เราก็มีข้อเสนออยู่เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าดัดแปลงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปนโรงแรมชั้นดีได้ ก็ควรดัดแปลงบ้านที่อยู่ปัจจุบันของบรรดากรรมการจัดงานโดยฉะเพาะบ้านของผู้เสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุมนำมาดัดแปลงเปนสถานโสเภณีชั้นดี เพื่อความเหมาะสมและเพื่อเปนการรับรองให้สมน้ำสมเนื้อกับโรงแรมชั้นดีนั้นเสีย

ภายหลังการเถลิงอำนาจของบุคคลกลุ่มหนึ่ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเปน สถานศึกษาแห่งชาติ ก็ได้ถูกรังแกตลอดมาอย่างไม่เป็นธรรม หลายสิ่งหลายอย่างในมหาวิทยาลัยนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม คนงานใหม่หลายคนซึ่งเปนสมุนชั้นเลวของผู้มีอำนาจ ได้ถูกแต่งตั้งให้มาเปนใหญ่ในมหาวิทยาลัยนี้ ถ้ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะเปนสถาบรรณสำหรับระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย สถาบรรณแห่งนี้ก็ถูกทำลายแล้วโดยกลอุบายของสัตรูประชาธิปไตย ซึ่งเปนสัตรูร่วมของประชาชนด้วย การจะคิดดัดแปลงมหาวิทยาลัยเปนโรงแรมนี้ก็เปนกลอุบายอีกกลหนึ่งของสัตรู”


หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย
ภาพจากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ประจำวันอังคารที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2493


อุทธรณ์ พลกุล
อุทธรณ์ พลกุล ภาพจากหนังสือพิมพ์ เสียงปวงชน และ บางกอกเดลิไทม์ ฉบับประจำวันพุธที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2519
อุทธรณ์ พลกุล
อุทธรณ์ พลกุล ภาพจากหนังสือพิมพ์ เสียงปวงชน และ บางกอกเดลิไทม์ ฉบับประจำวันพุธที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2519


นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ บริเวณหน้าเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อปีพุทธศักราช 2500
จากซ้าย ทวีป วรดิลก, อุทธรณ์ พลกุล และอารีย์ อิ่มสมบัติ
ภาพจากหนังสือ ทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์


แนวคิดจะดัดแปลงมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นโรงแรมต้อนรับชาวต่างประเทศโดนวิจารณ์โจมตีรุนแรงนับแต่ปลายเดือนมกราคมจนล่วงเดือนกุมภาพันธ์ พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) ปลัดกระทรวงพาณิชย์จึงติดต่อมายัง ดร.เดือน บุนนาค ผู้รักษาการแทนผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ประจำวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2493 พาดหัว “ผู้ให้ มธก. เปนโรงแรมขอขมา” รายงานข่าวว่าราวๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือไปถึงดร.เดือน ขอให้ช่วยชี้แจงกับนักศึกษาให้เข้าใจ ตามที่ตนเสนอไปนั้น มิได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อมหาวิทยาลัย ตนเคยผ่านต่างประเทศมามากและเห็นมหาวิทยาลัยที่โน่นส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามชนบท ก็คิดจะให้มหาวิทยาลัยของบ้านเมืองเราเป็นเช่นนั้นบ้าง

ฝ่ายดร.เดือน มีหนังสือตอบกลับ แรกที่เห็นหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าว มองเป็นเรื่องยกเมฆ ไม่ใช่ความจริง เพราะเชื่อว่าคนอย่างพระนรราชจำนงคงจะไม่พูดเช่นนั้น แต่เมื่อได้รับจดหมายแล้ว ก็เข้าใจโดยตลอดและมีความเห็นใจ

หนังสือพิมพ์ สัจจา ฉบับประจำวันเดียวกันรายงานข่าวไม่ผิดแผกแตกต่าง หากพาดหัว “กรณีขอ ม.ธ.ก. เปนโรงแรมต่างยุตติโดยการขอขมาผู้ประสาสน์การ”

อันที่จริง พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา) กับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยผู้แรมนิราศ ก็เคยคลุกคลีและมีสัมพันธ์กันสมัยนายปรีดียังเป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศส บางทีอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีแรก ดร. เดือนไม่เชื่อว่าบุคคลผู้นี้จะเสนอให้แปรสภาพ มธก. เป็นโรงแรม

บังเอิญอ่านเจอเรื่องราวว่าด้วยครั้งหนึ่งเคยเกือบจะมีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการโรงแรม! ผมคงมิอาจเฉสายตาละเลยความสนใจได้ลงคอ แต่การทวนอดีตย้อนไปไกลถึงปีพุทธศักราช 2493 มิใช่คาดหวังเพียงหยิบยกข้อมูลข้างต้นมาเปิดเผยเท่านั้น  หากหมายมั่นสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณเสรีอันโดดเด่นชัดเจนของนักศึกษาธรรมศาสตร์  ซึ่งพยายามต่อสู้ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงกับอำนาจต่างๆ ที่ทยอยเข้ามาคุกคามสถานศึกษาอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตามที


เอกสารอ้างอิง

ทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ทวีป วรดิลก ณ เมรุวัด

มกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 30 กรกฏาคม 2548. กรุงเทพฯ :

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2548

บางกอกเดลิไทม์. (15 กันยายน 2519)

ประชาธิปไตย (3 มีนาคม 2493)

สัจจา.  (31 มกราคม 2493) 

สัจจา.  (3 มีนาคม 2493) 

เสียงปวงชน.  (15 กันยายน 2519)

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายอุทธรณ์ พลกุล ตม., ตช. อดีตที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์

ไทยรัฐ และสมาชิกวุฒิสภา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร  วันที่ ๑๘ สิงหาคม

พุทธศักราช ๒๕๒๐. กรุงเทพฯ: พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์, 2520

หลักชัย. (29 มกราคม 2493)

อุทธรณ์ พลกุล. “โรงแรมธรรมศาสตร์” ประชาธิปไตย (31 มกราคม 2493)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save