fbpx
101 spotlight : "4 ปี คสช. - เดินหน้าประเทศใคร"

101 spotlight : “4 ปี คสช. – เดินหน้าประเทศใคร”

เมื่อกองทัพสยบสุข และประชาชนเงียบสนั่น สังคมไทยจะเดินทางร่วมกันไปทางไหน

ร่วมทบทวน 4 ปีประเทศไทยภายใต้ระบอบ คสช. ผ่านสารคดีเชิงข่าว สารคดีภาพ และบทสัมภาษณ์หลากหลายใน The101.world

 

ปืนกับมือเปล่า

 

โดย ธิติ มีแต้ม

สังคมไทยผ่านพฤษภาคม 2557 เข้าสู่พฤษภาคม 2561 ครบ 4 ปีพอดี ถ้าเป็นคนก็เปลี่ยนผ่านจากทารกไปสู่เด็กอนุบาล แต่สังคมไทยมีขวบวัยและวุฒิภาวะเท่าไหร่ ใครจะให้คำตอบได้ เมื่อท้องฟ้าแห่งการแสดงความเห็นยังขุ่นมัวและไม่ได้เปิดกว้างให้นกทุกตัวที่กำลังบินอยู่

101 Spotlight ชวนย้อนรำลึกภาพการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของไทย ว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนวันยึดอำนาจ และ 4 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่อย่างเงียบสงบอย่างที่ คสช. ต้องการ หรืออยู่อย่างเงียบสนั่นแบบที่ประชาชนส่วนหนึ่งลุกขึ้นยืนและกู่ตะโกนออกมา

Photo essay “ปืนกับมือเปล่า” คือบันทึกประวัติศาสตร์และประจักษ์พยานที่บ่งบอกว่า พลเมืองไทยที่ไม่ต้องการความสุขแบบฉบับ คสช. อยู่กันอย่างไร ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการความสุข แต่คำถามคือความสุขที่มีปืนกำกับอยู่และเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ จะเรียกว่าความสุขได้อย่างไร

 

“วันทนีย์-กบ ไมโคร-Liberate P” เมื่อศิลปินไทยยืนตรงข้ามเผด็จการ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ห้วงเวลา 4 ปี คสช. ดูเหมือนคำวิพากษ์วิจารณ์ต่ออำนาจรัฐประหารจะกว้างใหญ่ราวแผ่นฟ้า และไม่อาจใช้ฝ่ามือปิดได้ แมสเสจจากศิลปินไม่น้อยก็ปะปนอยู่ในแผ่นฟ้านี้

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินหญิงใช้งานศิลปะแนวสื่อผสมตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำประเทศเข้าสู่รัฐประหารและวนลูปอยู่แบบนี้ไม่มีทางออก

กบ ไมโคร มือกีตาร์ร็อกรักปอนปอน พักการโซโล่กีตาร์ชั่วคราวมาบอกกล่าวถึงจุดยืนเสรีนิยมประชาธิปไตยในตัวเขา และเล่าถึงความคิดที่นับได้เมื่อก้าวเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเขาชี้ว่านี่เป็นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

Liberate P แร็ปเปอร์หนุ่มเลือดใหม่ ที่เขียนเพลงบันทึกประวัติศาสตร์สังหารโหดไว้อย่างแหลมคม และแร็ปถึงผู้มีอำนาจไว้อย่างเดือดดาล ประกาศชวนใครก็ตามที่ยังรู้สึกรู้สาเข้าร่วมโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship

ว่ากันว่าศิลปินมักมีต่อมรับความรู้สึกไว เมื่อประเทศไทยยังไม่มีเลือกตั้งมา 4 ปี 101 Spotlight ชวนคุยกับศิลปินข้างต้นคั่นเวลาถึงที่อยู่ที่ยืนของแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทย เมื่อเลือกยืนฝั่งตรงข้ามเผด็จการ ศิลปินคิดอ่านและมองเห็นความท้าทายอะไรในการยืนยันสิทธิเสรีภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“โลกมันเคลื่อนไปตลอดเวลา ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นงานศิลปะประเภทอื่นๆ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจการเมือง มันมีอยู่ทั่วไป อาจจะยกเว้นประเทศไทยซึ่งต้องการงานศิลปะเพื่อ Propaganda ความเป็นไทย มากกว่าต้องการให้มาวิพากษ์ตัวเอง” – วันทนีย์

“ทุกวันนี้เราปฏิเสธองค์ความรู้ที่ระบาดไปทั่วโลกในแบบ 4G ไม่ได้ คุณไม่สามารถเอาบรรทัดฐานแบบไทยๆ ไปวางเทียบกับสากลได้ มันเชื่อมยังไงก็ไม่ติด เด็กรุ่นใหม่จะบอกว่า น้าๆ เล่นอะไรกันอยู่เหรอครับ ประเทศไทยไปไหนไม่ได้เพราะคนรุ่นน้านี่แหละ” – กบ ไมโคร

“ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ ประเทศที่ขบถเจออำนาจรัฐแล้วหัวหด ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด ประเทศกูมี ประเทศกูมี” – Liberate P

 

สปิริตสื่อไทยใต้ท็อปบูท บทเรียนจาก “ฐปณีย์-อิศรา-ประชาไท”

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ทุ่มโพเดียมใส่นักข่าว และปิดสื่อหรือจับนักข่าวไปยิงเป้าแบบที่เคยขู่ไว้ แต่สื่อมวลชนไทยก็ต้องเผชิญกับการถูกกดดันและคุกคามจากอำนาจรัฐที่ควบคุมโดย คสช. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทเรียนของสื่อไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาคืออะไร ธิติ มีแต้ม ชวน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ‘ข่าว 3 มิติ’ มนตรี จุ้ยม่วงศรี บ.ก.ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวน ‘สำนักข่าวอิศรา’ และ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ ‘เว็บไซต์ประชาไท’ มาถอดบทเรียน เพื่อทบทวนบทบาทสื่อมวลชนไทย ภายใต้การควบคุมของ คสช.

เมื่อเพดานเสรีภาพถูกกดต่ำลง สปิริตสื่อจะฉายฉานอย่างไร

“IO คือการยืนยันว่าไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษในหมู่ชายชาติทหาร” – ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

“หัวใจของข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่เลือกรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ข่าวอุทยานราชภักดิ์ที่อิศรารายงาน ผมก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ผมไปลงพื้นที่เอง ไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีใครมาห้าม” – มนตรี จุ้ยม่วงศรี

“ต้องยอมรับว่า คสช. ทำสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยรู้สึกบั่นทอนและคุ้นชินกับการใช้วิธีนอกกฎหมาย” – จีรนุช เปรมชัยพร

 

เสียงก้องของแรงงาน-สตาร์ทอัพไทยในเถื่อนถ้ำ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท จะพาชีวิตคนไทยไปทางไหนยังไม่มีใครทราบ แต่อย่าเพิ่งหลับ !

ระหว่างที่รออนาคตกำลังใกล้เข้ามาเพื่อพิสูจน์คำตอบร่วมกัน 101 Spotlight ซีรีส์ “4 ปี คสช. – เดินหน้าประเทศใคร” พาไปทบทวนความทรงจำทางเศรษฐกิจภายใต้บรรยากาศอำนาจนิยมที่หลงเหลืออยู่ในกระเป๋าสตางค์ของพวกเขาต่อไปนี้

คนแรก บุญยืน สุขใหม่ แรงงานตัวเล็กใจใหญ่จากภาคอุตสาหกรรมตะวันออกที่เพิ่งถูกนายทุนสั่งปลดมาได้ปีกว่า เขาได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ทุกวันนี้เขาเห็นหัวจิตหัวใจทุนนิยมอย่างไร เมื่อทหารไทยเข้ามามีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจ

เหน็ดเหนื่อยจากโรงงาน แวะมาย่านถนนพระอาทิตย์ พักจิบไวน์ที่ร้าน ‘Hemlock’ เพื่อฟังความในใจของ ปีติ กุลศิโรรัตน์ และ เนตรนภิส วรศิริ คู่รักเจ้าของร้านอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนี่ยนที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออยากเป็นคัลเจอร์คลับ แต่ทว่าความฝันนี้ยังเป็นจริงได้ในวันนี้หรือไม่

ต่อด้วยจิบเบียร์ไปคุยไปกับ ศุภพงษ์ พรึงลำภู ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Sandport Beer’ ที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ในปีเดียวกับการรัฐประหาร เขาเผชิญช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างไร เมื่อเลือกประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่ถูกมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นผู้ร้ายของสังคมไทย

ก่อนจะข้ามไปในโลกอนาคตเพื่อคุยกับ ณัฏฐ์ ถุงทรัพย์ โปรดักดีไซน์เนอร์สตาร์ทอัพไทยที่เพิ่งไปคว้ารางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมมาจากต่างประเทศ แต่ทว่าสตาร์ทอัพของพวกเขาจะเข้าสู่สังคมไทยได้อย่างไร เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่พยายามลงหลักปักฐานความมั่งคงทางยุทโธปกรณ์มากกว่าสิ่งอื่นๆ

ทั้งหมดคือคำถามที่พวกเขากำลังพบเผชิญในห้วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มากกว่านั้นอะไรคือความฝันของคนทำธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อพวกเขาลุกขึ้นประกาศยืนตรงข้ามกับระบอบอำนาจนิยม อะไรคือหัวใจของการทำธุรกิจที่มีเสียงเต้นเป็นจังหวะประชาธิปไตย

 

In the Name of the Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“หนูไม่ได้อยากไปชุมนุมแต่หนูอยากไปช่วยคน หนูจะเข้าไปที่เต็นท์พยาบาล แล้วบอกเขาว่าอาสามาช่วย”

“แค่เรื่องรูกระสุนที่ฝ่ายความมั่นคงโกหกเรื่องเดียว แม่ของกมนเกดยอมรับว่ามันได้เปลี่ยนตัวตนไปทั้งชีวิต เพราะการตายของลูกกำลังถูกอำพราง”

บทสนทนาระหว่าง พะเยาว์ อัคฮาด และ กมนเกด อัคฮาด แม่ผู้ยืนหยัดเรียกร้องความยุติธรรมหลังความตายของลูกสาวที่เคยยืนหยัดทำหน้าที่อาสาพยาบาลในแดนสังหารจนจากไปก่อนวัยอันควร

ธิติ มีแต้ม เขียนถึงบทสนทนานี้ในความเงียบงันของสังคมไทยที่การพูดเรื่องคนตายจากเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นของแสลงหูของผู้มีอำนาจ

เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มีคนตายถึง 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน อาจเปลี่ยนชีวิตประชาชนไปเป็นหมื่นเป็นแสนครอบครัว แต่ข้อเท็จจริง ณ วันนี้คือยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งผู้ปฏิบัติการถึงผู้สั่งการสักคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์นี้มา 8 ปีแล้ว คลับคล้ายจะย่ำรอยประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19 ถึงพฤษภาฯ 35 หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้

ยิ่งเมื่อผ่านรัฐประหาร 57 มาครบ 4 ปี จะไปถามหากระบวนการยุติธรรมจากที่ไหน เมื่อแม้แต่แม่ของเหยื่อผู้เสียชีวิตยังถูกลิสต์ให้เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างและกลุ่มเป้าหมายจากฝ่ายความมั่นคง

“เธอเชื่อว่าในปี 2553 ถ้ามีคนนามสกุลชินวัตรถูกยิงสักคน การนิรโทษกรรมอย่างสุดโต่งจะไม่มีทางเกิดขึ้น”

“ฝ่าย กปปส. ที่เสียชีวิต เขาเชื่อว่าพวกเสื้อแดงต้องการล้มเจ้า เป็นความคิดที่ฝังหัวเขามาตลอด เราบอกพี่ใจเย็นๆ ลูกหนูถูกยิงตายแล้วยังถูกหาว่าเป็นพวกล้มเจ้าด้วย สุดท้ายเขายอมรับว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริง พี่เขาก็บอก อ้าว ทำไมมาใส่ร้ายกัน ประชาชนเป็นแค่เหยื่อทางการเมือง”

“อนุสาวรีย์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองในประเทศนี้ไม่ได้มีไว้ให้คนจำเป็นบทเรียนว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่เอาไว้ให้ผู้มีอำนาจเลียนแบบว่าสามารถฆ่าประชาชนได้โดยไม่มีความผิด”

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สัญญาประชาคมใหม่ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี

ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี ชวน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” สนทนาว่าด้วยอนาคตการเมืองไทย ประชาธิปไตย และสัญญาประชาคมใหม่ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

……….

บางถ้อยความจาก “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

“ผมไม่ได้เซอร์ไพรส์ที่ตัว คสช. แต่เซอร์ไพรส์ที่สังคมไทยมากกว่า ตอนแรกผมไร้เดียงสาถึงขนาดที่คิดว่า คสช. จะอยู่ได้ไม่ถึงหกเดือนด้วยซ้ำ ไม่นึกว่าสังคมจะยอมรับระบอบเผด็จการที่ล้าสมัยไปแล้วได้ถึงขนาดนี้ แต่หลังจากผ่านไปหนึ่งปี ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยปี 2535 ไม่เหมือนเมื่อครั้งผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้ว”

“กลุ่มทุนประชารัฐมองเห็นแล้วว่า ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ มันจะแทรกไม่ได้ มันแทรกยากขึ้น หรือแพงขึ้น

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่กลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ สมัครใจอยู่กับฝ่ายอนุรักษนิยมเต็มตัว ไม่ใช่กลุ่มยังไงก็ได้ อย่างแต่ก่อน”

“สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างสังคมไทยเป็นสังคมที่หาฉันทมติได้ยาก ประชาธิปไตยดีตรงนี้ คุณอาจจะไม่ต้องมีฉันทมติขนาดนั้นก็ได้ สิ่งที่เสนอจะถูกตัดถูกทอนถูกลดจนกระทั่งฝ่ายต่างๆ พอจะยอมรับได้ ไม่มีทางที่จะใช้อำนาจแบบมาตรา 44 ตลอดไปได้ ถ้าสังคมซับซ้อนขนาดนี้ มันไม่มีทางอื่น นอกจากต้องเป็นประชาธิปไตย หลอกๆ ก็ยังดี”

“ผมก็อยากฟังเสียงประชาชน เสียงสวรรค์นี่แหละ แต่เสียงสวรรค์มักเปล่งเสียงไม่ค่อยเป็น เลยต้องมีกระบอกเสียงที่ช่วยเปล่งแทนให้ ซึ่งแน่นอน เสียงมันเพี้ยน เพราะเป็นมนุษย์ กระบอกเสียงที่ว่าคือ ‘พรรคการเมือง’ …

ผมหวังว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ จะรู้จักเป็นกระบอกเสียงที่ฉลาดขึ้น สำหรับพรรคเพื่อไทย ถ้ามีคนอื่นทำให้มันอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องหาวิธีอื่นในการเปล่งเสียง ไม่ใช่แต่เพียงชุมนุมมวลชนอย่างเดียว สำหรับพรรคอนาคตใหม่ คุณเข้าไปเป็นฝ่ายค้านสามคนก็ได้ ถ้าคุณทำเป็นก็สามารถทำให้เสียงดังกว่าปกติได้ เพราะความสามารถในการเปล่งเสียงไม่ได้ขึ้นกับปริมาณ ส.ส. เท่านั้น”

 

4 ปี คสช. : การจัดดุลอำนาจใหม่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล วิพากษ์ “4 ปี คสช.” ว่าด้วยปมเงื่อนการเมืองไทย แผนที่ดุลอำนาจใหม่ และเส้นทางยาวไกลของการเมืองภาคพลเมือง

……….……………….

22 พฤษภาคม 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอยู่ในอำนาจครบ 4 ปีเต็ม หากเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 4 ปีก็เป็นเวลาที่ ‘พอดี’ สำหรับให้ประชาชนจะตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศกันใหม่ แต่สำหรับคณะรัฐประหาร ซึ่งเข้าครองอำนาจรัฐด้วยวิธีการไม่ปกติ 4 ปีดูจะเป็นเวลาที่ยาวนานเกิน ‘พอดี’

ที่ว่ายาวนานเกิน ‘พอดี’ มิใช่เพราะรัฐประหารโดยกองทัพได้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ไปแล้วเท่านั้น แต่กระทั่งในมาตรฐานของการเมืองไทย คสช. ก็ขึ้นแท่นกลายเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปแล้ว

การอยู่ยาวของ คสช. ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพิจารณาว่า คณะรัฐประหารชุดนี้กุมอำนาจในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งเส้นอำนาจใหม่ยังขีดไม่ชัด การจัดสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำยังไม่สู้จะลงตัว ในขณะที่ไม่มีความชัดเจนว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการอำนาจ

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า เราจะประเมินระบอบ คสช. อย่างไร มองเห็นอะไร และไม่เห็นอะไร ภายใต้ภาวะฝุ่นตลบทางการเมืองที่ยาวนานผิดปกติเช่นนี้

ในวาระ “4 ปี คสช. – เดินหน้าประเทศใคร” 101 สนทนากับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองแกนนำ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” กลุ่มนักวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม และปกป้องผลประโยชน์สาธารณะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งคู่มองเห็นอะไรในปมเงื่อนการเมืองไทย แผนที่ดุลอำนาจใหม่ และเส้นทางยาวไกลของการเมืองภาคพลเมือง นับจากบรรทัดนี้คือคำตอบ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save