fbpx

ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย – คำตอบอยู่ในสังคม

หมายเหตุ – เผยแพร่ครั้งแรกในบทนำหนังสือ ’Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ดาวน์โหลดหนังสืออีบุ๊กได้ที่นี่

ศตวรรษที่ 21 ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศตวรรษแห่งความหวัง’ ทั้งของไทยและของโลก การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเฟื่องฟูของความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำให้หลายคนเชื่อว่า ประเทศไทยอันรุ่งเรืองกำลังรอเราอยู่

แต่สถานการณ์จริงกลับทำให้เราต้องคิดทบทวนใหม่ เมื่อ 20 ปีแรกของไทยกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ในด้านเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจ ไทยจะกลับมาเติบโตได้หลังจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 แต่ก็ไม่เคยเติบโตได้เท่าที่เคยเป็นมา [1] ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก[2]

ในด้านการเมือง สองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 คือความจริงอันโหดร้าย เมื่อสังคมไทยใช้เวลากว่าสามในสี่ไปกับความขัดแย้งทางการเมือง 2 รัฐประหาร, 4 รัฐธรรมนูญ, 7 นายกรัฐมนตรี คือหลักฐานของความวุ่นวายที่ไม่ต้องการการบรรยายเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่นับการเสื่อมถอยและพังทลายของความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงความรุนแรงทางการเมืองที่นำไปสู่การบาดเจ็บและความสูญเสียของชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้[3]  

ในด้านสังคม คุณภาพชีวิตคนไทยเข้าขั้น ‘วิกฤต’ ในหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่ได้คุณภาพและไม่เคยตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของสังคมการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับโลกใหม่และเทคโนโลยี ในขณะที่สิ่งแวดล้อมกำลังพังทลาย คนไทยต้องเผชิญมลพิษอย่างฝุ่น ไฟป่า ภัยแล้ง เป็นประจำแทบทุกปี จนแทบจะกลายเป็น ‘ฤดูกาล’ ไปแล้ว[4]  

ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับวิกฤตโควิด-19 อันไม่คาดคิด และความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คาดเดาไม่ได้ ผลลัพธ์คือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ระบบและวิธีคิดแบบเก่าไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้ ในยุคสมัยของ ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ สังคมไทยต้องการความรู้ ทักษะ พลังสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หากแต่ต้องอาศัยการ ‘ตั้งหลัก’ คิดทบทวนอย่างเข้มข้นและลึกซึ้ง โดยอยู่บนฐานความรู้และประสบการณ์จริง

หนังสือ Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต มีเป้าหมายในการสังเคราะห์ความคิด ความรู้ และนโยบาย จากผู้เชี่ยวชาญ นักคิด ผู้กำหนดนโยบาย และบุคคลที่มีบทบาทในสังคมไทยร่วมสมัยหลายรุ่น หลากวงการ ที่โครงการจะชวนมาร่วมคิด ถกเถียง และอภิปรายถึง ‘ฉากทัศน์’ ของประเทศไทยและการเตรียมตัวรับมือ เพื่อมีส่วนในการสร้างและออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย – คิดโจทย์ใหญ่ของประเทศ

หนังสือ อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585[5] ได้ทบทวนและสังเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านชุดข้อมูลและงานวิจัยที่หลากหลาย เข้มข้น และทันสมัย โดยเสนอว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่ไม่สมดุลสอดคล้องกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถยกระดับขีดความสามารถและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้

‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ที่ประเทศไทยเผชิญเป็นความเสี่ยงที่หน่วยทางสังคมขนาดเล็ก (ปัจเจกบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน) ไม่สามารถรับมือได้โดยลำพัง รัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดกฎระเบียบและนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future)

นอกจากการทำความเข้าใจประเทศไทยในภาพใหญ่แล้ว การทำความเข้าใจอนาคตคนไทยในระดับ ‘วิถีชีวิต’ จะช่วยให้ความท้าทายของสังคมไทยชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย โครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’[6] ซึ่งเป็นงานวิจัยล่าสุดที่มุ่งศึกษาชีวิตเมืองของคนไทยในอนาคตตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งหมดหกด้าน (ได้แก่ การเกิดในเมือง การเดินทางในเมือง การทำงานในเมือง การอยู่อาศัยในเมือง การซื้อของในเมือง และการตายในเมือง) ได้นำเสนอภาพ ‘อนาคตฐาน’ ของวิถีชีวิตคนเมืองในประเทศไทย ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ 2. แพลตฟอร์มเทคโนโลยี 3. ความเหลื่อมล้ำ 4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 5. ความคิดและค่านิยมแบบเสรีนิยม กล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะที่จะช่วยยกระดับชีวิตคน (เมือง) ไทยในอนาคตก็คือ นโยบายที่ช่วยให้คนไทยสามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับแนวทางข้างต้นเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น

หากยึด ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ตามแนวทางข้างต้น ผนวกรวมกับ ‘การกวาดหาสัญญาณอนาคต’ (horizon scanning) ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ[7] รวมถึงความท้าทายของชีวิต ‘คนเมือง 4.0’ เป็นโจทย์ตั้งต้นของสังคมไทย และใช้การสนทนาเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ นักคิด ผู้กำหนดนโยบาย และบุคคลที่มีบทบาทในสังคมไทยหลากวัย หลายวงการ เป็นกระบวนการหาคำตอบ เราสามารถมองหาแนวทางเพื่อ ‘ตั้งหลัก’ ประเทศไทยใหม่ในหกด้านใหญ่ ดังนี้

ตั้งหลักใหม่การเมืองไทย

กล้าเผชิญหน้าโจทย์ยาก พาประชาธิปไตยออกจากเขาวงกต

การเมืองไทยเป็นจุดเปราะบางและเป็นปัจจัยเชิงสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดอนาคตประเทศไทยในวันข้างหน้า นี่คือข้อสรุปสำคัญที่นักคิด นักวิชาการ และนักกำหนดนโยบายส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนตีโจทย์ มีความกังวล และคาดหวังต่อปัญหาทางการเมืองแตกต่างกัน

ในภาพใหญ่ที่สุด ปัญหาของการเมืองไทยคือ การไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 ทว่า เส้นทางการเปลี่ยนผ่านกลับพลิกผันไปมาคล้ายกำลังหลงทางในเขาวงกต โดยมีการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ กองทัพ และกลุ่มทุน (ทั้งเก่าและใหม่) คอยกำกับและขับเคลื่อนอยู่ข้างหลัง ในขณะที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างแท้จริง[8] ในแง่นี้กล่าวได้ว่า วิกฤตการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (democratization) ของไทยที่มีอายุกว่า 90 ปีแล้ว

การทำความเข้าใจวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองแนวทางใหญ่ แนวทางแรกคือ การศึกษา ‘เงื่อนไข’ และ ‘บริบท’ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่และคนระดับล่างออกมาตั้งคำถามและเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แนวทางที่สองคือ การศึกษาบทบาทของชนชั้นนำ กองทัพ และกลุ่มทุนในวิกฤตการเมืองไทย[9]

สำหรับแนวทางแรก การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่และความไม่ลงรอยของคนต่างรุ่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้การทำความเข้าใจคุณค่า ความคาดหวัง และความพึงพอใจของรุ่นใหม่ (รวมถึงคนต่างรุ่น) เป็นโจทย์วิจัยที่ได้รับความสนใจมากขึ้น อาทิ จุลนี เทียนไทย และคณะ[10] พบว่า คุณลักษณะสำคัญของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ ‘ชาวดิจิทัลไทย’ คือการยึดหลักคุณธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล การประยุกต์ใช้ได้จริง ความยืดหยุ่น และความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น หากหลักคุณธรรมใดไม่สอดคล้องกับหลักคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดจากภาพจำของการสอนที่ทำให้ห่างไกลการประยุกต์ใช้ในบริบทของการใช้ชีวิตหรือไม่สามารถตอบสนองความสมเหตุสมผลได้ ชาวดิจิทัลก็มักจะตอบสนองโดยการคิดโต้แย้งและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกรอบค่านิยมและคุณธรรมพื้นฐานเช่นนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่โครงสร้างสังคมกำหนด แต่พยายามต่อรองและปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใต้ทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ได้ ในทำนองเดียวกัน วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ[11] ก็พบว่า คนรุ่นใหม่ (Gen Y) มีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นก่อน (Gen X และ Baby Boomer) เป็นต้น

แม้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนจะให้คุณค่าในหลายสิ่งแตกต่างกัน แต่มิได้หมายความว่าคนต่างรุ่นจะไม่มีคุณค่าร่วมกันเลย การศึกษาพบว่า คนไทยในทุกช่วงวัยยังให้คุณค่ากับทุนทางสังคม (การมีครอบครัวที่อบอุ่นและการมีชุมชนที่ไว้วางใจกัน) และการลดความเสี่ยงทางสังคม (ความเสี่ยงในการตกงานและความเสี่ยงในการเจ็บป่วย) ดังนั้น นโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมทุนทางสังคมและคุ้มครองความเสี่ยงทางสังคม เช่น นโยบายที่ประกันสิทธิและสวัสดิการต่างๆ นโยบายที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงทรัพยากร รวมไปถึงนโยบายที่ปฏิรูปให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้นจะมีส่วนช่วยบรรเทาความขัดแย้งของสังคมได้ [12]

สำหรับแนวทางการศึกษาบทบาทของชนชั้นนำ กองทัพ และกลุ่มทุน ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนับเป็นโจทย์ยากของสังคมไทยมาโดยตลอด ยิ่งเมื่อข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพถูกนำเสนอต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โจทย์ก็ยิ่งยากและท้าทายมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับสังคมไทยในห้วงยามเช่นนี้คือ การตั้งหลักคิดใหม่ด้วยความรู้ที่เชื่อถือได้ หนักแน่น และเป็นวิชาการ

ทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg)[13] ใช้มุมมองการเมืองเชิงเปรียบเทียบและสายตาแบบ ‘คนนอก’ ถอดรื้อมายาคติที่ว่า ‘ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก’ โดยชี้ให้เห็นว่า ไทยต้องเผชิญปัญหาด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ “…ซึ่งหมายรวมถึงการถกเถียงเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในบริบทไทยด้วย” ทั้งนี้ทอมยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถดำรงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี โดยสามารถมีบทบาทสำคัญสองประการคือ การเป็นที่พึ่งสุดท้ายในภาวะวิกฤตและการเป็นเกราะปกป้องประชาชนจากกระแสประชานิยม (populism) ภายใต้เงื่อนไขของการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสถาบันและองคาพยพอื่นของสังคม

พูดให้ถึงที่สุด หมุดหมายสำคัญสำหรับการตั้งหลักใหม่การเมืองไทยคือ การจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชัดเจน หากตั้งหลักเช่นนี้ พื้นที่ของการถกเถียงและการปฏิรูปก็จะเปิดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การแยกกิจการสาธารณะ (รัฐบาลเป็นผู้ดูแล) และกิจการส่วนพระองค์[14] การปฏิรูปทุนที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์และสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[15] เป็นต้น

กองทัพเป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีบทบาทในการเมืองไทยอย่างมาก แต่กลับมีสถานะเป็น ‘แดนสนธยา’ ที่ประชาชนเข้าไม่ถึงและไม่เคยควบคุมได้ การทำความเข้าใจและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพในการเมืองไทยจึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี[16] เสนอว่า สังคมไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบแบบแผนทางการเมืองที่สร้างบนฐานของสายสัมพันธ์ช่วงชั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ โดยมีกองทัพเป็นกลไกหลักที่ใช้สร้างความแข็งแกร่งให้กับ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ทั้งในเชิงรากฐานทางอุดมการณ์ ความชอบธรรมตามประเพณีและกฎหมาย รวมตลอดไปถึงความนิยมของระบอบ ดังนั้น การแก้โจทย์การเมืองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ด้วย โดยมีโจทย์รูปธรรมสามระดับ ได้แก่ 1. การจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ 2. การปรับความสัมพันธ์ของกองทัพกับฝ่ายการเมือง และ 3. การจัดภารกิจและโครงสร้างของกองทัพใหม่เพื่อรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่

อันที่จริง ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับฝ่ายการเมือง และการจัดภารกิจและโครงสร้างของกองทัพใหม่เพื่อรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ของกองทัพเป็นประเด็นที่ผู้สนใจศึกษารูปแบบรัฐและความมั่นคงเป็นกังวลมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่กองทัพมองกลุ่มคนที่เห็นต่างว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ และพร้อมที่จะใช้กลไกควบคุมทางสังคม ลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) และสร้างความเป็นปีศาจ (demonize) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม[17] แม้การควบคุมทางสังคมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของกองทัพ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการของกองทัพมีความเข้มข้นและลงลึกไประดับหมู่บ้าน สถานการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นต้นทุนที่สูงมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตด้วย ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพเพื่อถอดสลักกลไกเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในระบอบประชาธิปไตย[18]

ควรกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปกองทัพไม่ได้ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเท่านั้น หากแต่ยังตอบโจทย์ด้านงบประมาณด้วย เพราะหากกองทัพมีความทันสมัยและมีภารกิจที่สอดคล้องกับความมั่นคงสมัยใหม่ งบประมาณจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับกิจการความมั่นคงภายในจะถูกนำไปใช้ในกิจการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย[19]

ข้อถกเถียงว่าด้วยตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพในการเมืองไทยยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป และคงมีแต่การกล้าเผชิญกับโจทย์ยากด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล และด้วยวุฒิภาวะเท่านั้นที่จะประคับประคองให้กระบวนการพาประชาธิปไตยไทยออกจากเขาวงกตเป็นไปอย่างราบรื่นและสันติที่สุด

อย่างไรก็ตาม โจทย์ประชาธิปไตยไทยไม่ได้มีแค่ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์และกองทัพเท่านั้น กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยนั้นยังเกี่ยวพันกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น การตั้งหลักใหม่ทางการเมืองจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน[20] พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม[21] ระบบนิติธรรมและตุลาการ[22] ความอยุติธรรมทางสังคม[23] เป็นต้น

ตั้งหลักใหม่เศรษฐกิจไทย

สร้างเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และเป็นธรรม

การตั้งหลักใหม่เศรษฐกิจไทยจำเป็นจะต้องมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์สี่มิติ คือ ความเจริญรุ่งเรืองยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน (prosperity) การยืดหยุ่นรับมือกับความผันผวนได้ดี (resiliency) ความยั่งยืนตอบโจทย์ระยะยาว (sustainability) และการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusivity) เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusivity) ที่ผ่านมา กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมุ่งตอบโจทย์ความรุ่งเรืองเป็นหลัก และให้น้ำหนักกับอีกสามมิติที่เหลือค่อนข้างน้อย[24]

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อให้ตอบโจทย์บรรลุซึ่งเป้าหมายทั้งสี่มิติพร้อมกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลักสองด้าน ด้านแรกคือปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาเก่าเรื้อรังมายาวนาน เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยที่ยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง หรือที่เรียกว่า ‘แก่ก่อนรวย’[25] การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ศักยภาพที่ลดลงขอเครื่องยนต์เศรษฐกิจ การถดถอยของภาคเกษตร การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ด้านที่สองคือการปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เป็นโอกาสแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (digital transformation) และความยั่งยืน (sustainability)

ความท้าทายทั้งสองด้านมิได้แยกขาดออกจากกัน หากแต่เป็นคำตอบของกันและกัน นักกำหนดนโยบายและนักคิดส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า นโยบายดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพเศรษฐกิจไทยได้ในแทบทุกภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับห่วงโซ่การผลิต (move up value chain) การทดแทนการขาดแคลนแรงงาน (เนื่องจากโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย) ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตร รวมไปถึงการยกระดับประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ เป็นนโยบายที่ตอบทั้งโจทย์ระยะสั้นและโจทย์ระยะยาว[26]

ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงสองทศวรรษหลัง และสามารถทำรายได้สูงมากเป็นอันดับสามของโลก กลับไม่สามารถสะสมทุนและต่อยอดได้ในวันที่ภาคการท่องเที่ยวเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล[27] ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ก็พึ่งแพลตฟอร์มของต่างประเทศเป็นหลักส่งผลให้กำไรที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลต่อเศรษฐกิจไทยไม่สูงมาก ส่วนภาครัฐ ซึ่งควรจะเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก กลับเป็นภาคที่ขาดความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมากที่สุด[28]

ถึงกระนั้น โอกาสของประเทศไทยก็ยังเปิดกว้างอยู่ โดยสังคมไทยจะต้องให้ความสำคัญกับสามเรื่อง เรื่องแรกคือการเตรียมทักษะคนไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลและทักษะด้านมนุษย์ (ความเห็นอกเห็นใจ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร ความเป็นผู้นำ) เรื่องที่สองคือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้อย่างครอบคลุมด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป และสุดท้ายคือการปรับกฎกติกา (regulations) ที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจและพัฒนานวัตกรรม[29]

กระบวนการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัลจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นไปในตัวด้วย เพราะในโลกดิจิทัล ผู้คนจะตระหนักอยู่เสมอว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว และมักจะคอยระแวดระวังและเตรียมตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ[30]

การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นอนาคตของเศรษฐกิจไทย ในด้านหนึ่ง ความยั่งยืนถือว่าเป็น ‘ภาคบังคับ’ เพราะการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลก หากประเทศเล็กที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศอย่างไทยไม่ปฏิบัติตามก็จะอยู่ในประชาคมโลกได้ยากลำบากมากขึ้น[31] ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจสีเขียวถือว่าเป็น ‘ทางเลือกที่ใช่’ เพราะจะช่วยยกระดับการผลิตและมูลค่าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย

ควรกล่าวด้วยว่า โจทย์ด้านความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของการยกระดับการผลิตและการบริการเท่านั้น อันที่จริง ภาคเกษตรไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรไทยเพิ่มขึ้นทุกปี หากประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมเชิงระบบเพื่อรับมือกับปัญหานี้ได้ นอกจากจะทำให้ภาคเกษตรไทยเปราะบางน้อยลงแล้ว ยังช่วยยกระดับการทำเกษตรด้วย[32]

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่กัดกินสังคมไทยอย่างรุนแรง อุปมาเป็นเหมือน ‘แผลกลัดหนอง’ ที่ไม่เพียงแต่มีความยุ่งยากซับซ้อนหลากมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น ฯลฯ ทว่ายังอักเสบลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นด้วย เช่น การบั่นทอน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความอยุติธรรม ความขัดแย้งด้านการเมือง ฯลฯ[33]

 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ถึงกับเสนอว่า ความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยคือ ‘รากเหง้า’ ของปัญหาสังคมการเมืองไทยที่ปะทุในปัจจุบัน[34]

หนึ่งในแนวทางที่ช่วยให้เข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมคือ การแยกแยะลักษณะของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแบ่งเป็นสองลักษณะคือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส (inequality of opportunity) กับความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ (inequality of outcomes) ผู้กำหนดนโยบายบางคนเสนอว่า สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาส หรือการทำให้การแข่งขันเป็นธรรม ซึ่งเปรียบได้กับการวิ่งแข่งที่สตาร์ตจากจุดเดียวกัน ซึ่งหากคนที่วิ่งเร็วกว่าเป็นผู้ชนะ ก็เป็นผลลัพธ์ที่ยอมรับได้ระดับหนึ่ง แต่หากจุดเริ่มต้นไม่เท่ากัน การแพ้ชนะที่เกิดขึ้นก็ไม่แฟร์ แล้วที่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่คือ การที่กฎกติกาอาจจะไม่ให้บางคนมีสิทธิ์วิ่งเลย

แนวนโยบายสำคัญที่ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสคือการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ[35] สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมก็ควรนับรวม ‘การเข้าถึง’ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทักษะพื้นฐานดิจิทัล และแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจด้วย[36]

หากการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมฉันใด การสร้างเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และเป็นธรรมก็ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองฉันนั้น พูดให้ถึงที่สุด การตั้งหลักใหม่เศรษฐกิจไทยไม่ใช่ปัญหาเชิงนโยบายและเทคนิคของนักเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวพันกับกระบวนการต่อรองเชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ คำถามใหญ่มีอยู่ว่า เราจะหาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ในการออกแบบประเทศไทยที่ทุกคน

สามารถทำงานร่วมกัน แชร์กัน แล้วเพิ่มมูลค่าให้กับทุกสิ่งทุกอย่างบนแพลตฟอร์มได้อย่างไร[37]

ตั้งหลักใหม่เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

มองอนาคตโลก เพื่อกำหนดอนาคตไทย

ประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำและผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่เป็นผู้นำเข้าและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่จากโลกเป็นหลัก ในขณะเดียวก็ไม่ใช่ประเทศที่มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม จึงต้องปรับใช้กฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศเป็นสำคัญ หัวใจของการตั้งหลักใหม่ด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการสำรวจความเป็นไปของโลกเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย

นโยบายเทคโนโลยีที่จะพาประเทศไทยไปสู่ ‘อนาคตที่ดีกว่า’ จะต้องตอบโจทย์สามด้าน ด้านแรกคือประสิทธิผลของนโยบาย (ประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิมไหม) ด้านที่สองคือประสิทธิภาพ (ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าหรือไม่) และด้านที่สามคือความเป็นธรรม (ผลกระทบของนโยบายเป็นธรรมและเสมอภาคหรือไม่) โดยแก่นสำคัญของการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามด้านคือ กระบวนการออกแบบและวางแผนนโยบายบนฐานวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นโยบายที่เลือกใช้จะต้องวัดผลเป็นรูปธรรมได้ว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เท่าไหร่ ดีกว่าตัวเลือกอื่นอย่างไร คุ้มค่าแค่ไหน อัตราผลตอบแทนเป็นอย่างไร ฯลฯ ในแง่นี้ รัฐจำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีข้อมูลเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นฐานที่จะทำให้นโยบายเทคโนโลยีที่เป็นวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้[38]

การกำกับดูแลเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากในยุค ‘เทคโนโลยีดิสรัปชัน’ เพราะเทคโนโลยีที่บรรจบกันทำให้เส้นแบ่งของอุตสาหกรรมพร่าเลือนมากขึ้นเรื่อยๆ[39] กระบวนการกำกับดูแลแบบเดิมที่แบ่งไปตามอุตสาหกรรมจึงมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิผลลดลง ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการ ‘ผิดพลาดเร็ว เรียนรู้เร็ว’ (fail fast, learn fast) ที่เน้นการลองผิดลองถูก ก็ทำให้การประเมินผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสังคมทำได้ยากขึ้น การกำกับดูแลจึงยากตามไปด้วย

ดังนั้น โจทย์แรกของการกำกับดูแลจึงเป็นการตั้งหลักคิดพิจารณาว่า หลักการ (principle) ของการกำกับดูแลควรจะเป็นเช่นไร กรณีศึกษาที่สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนคือ เทคโนโลยี Web 3.0 ซึ่งใช้การกำกับดูแลกันเองของผู้คนในชุมชนผ่านตัวเทคโนโลยีเอง ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเทคโนโลยีในแง่ที่ว่า แม้ ‘การกำกับดูแล’ จะยังสำคัญและจำเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมี ‘ผู้กำกับดูแล’ เสมอไป[40]

แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และนโยบายที่รองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมักเป็นงานด้านสังคมศาสตร์ แต่การตั้งหลักใหม่ด้านเทคโนโลยีจำเป็นต้องอาศัยมุมมองด้านมนุษยศาสตร์ด้วย เพราะถึงที่สุดแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ หรือเป็นเรื่องเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องกลับเข้ามาอยู่ในบริบทของสังคมเสมอ ดังนั้น การตั้งคำถามต่อเทคโนโลยีด้วยประเด็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ เช่น เชิงสุนทรียะ คุณค่า และจริยธรรม จะช่วยให้สังคมได้กลับมาทบทวนว่าถึงที่สุดแล้ว เราเข้าใจเทคโนโลยีดีแค่ไหน และเราจะพัฒนาเทคโนโลยีไปเพื่ออะไร[41]

ในมุมมองของนักปรัชญาเทคโนโลยี เงื่อนไขที่จำเป็นของการพัฒนาเทคโนโลยีของสังคมหนึ่งๆ คือ การที่สังคมนั้นจะต้องมี ‘วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์’ (scientific mind) ซึ่งแม้จะเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นคนละส่วนกัน กล่าวคือ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะช่วยให้สังคมตั้งคำถาม ครุ่นคิดอย่างมีเหตุผล วิพากษ์วิจารณ์ต่อความรู้วิทยาศาสตร์ (และเทคโนโลยี) ได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการคิดต่อยอด มิใช่เพียงแต่เป็นผู้นำเข้าและรับเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ไทย

เทคโนโลยียังสร้างความหวังให้กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลที่เกี่ยวพันกันในสองมิติ มิติแรก ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างรวดเร็วจนเริ่มสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้แล้ว มิติที่สอง กระแสการลงทุนในนโยบาย ‘กรีนนิวดีล’ (Green New Deal) ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนผ่านสังคมทุกภาคส่วนให้ไปสู่สีเขียวมากขึ้น ตั้งแต่การคมนาคม การผลิตอาหาร การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในทั้งสองมิตินี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลก (trade off) กัน[42]

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว กระแสความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติและภาคประชาสังคมระดับโลกยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากประเด็นสากลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เสรีภาพ ธรรมาภิบาล ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ดังนั้น การตั้งหลักใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องเทคนิคเชิงนโยบายสิ่งแวดล้อม หากแต่เป็นการสร้างการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่โครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแบบใหม่ ซึ่งต้องปรับปรุง ปฏิรูปนโยบายแทบทั้งหมด[43]

ตั้งหลักใหม่เมืองแห่งอนาคต

สร้างเมืองใหม่เพื่อคนไทย 4.0

โครงการวิจัย ‘คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย’[44] พบว่า กระบวนการ ‘นคราภิวัฒน์’ (urbanization) ทั้งในระดับโลกและไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

แนวนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญที่ ‘โครงการวิจัยคนเมือง 4.0’ สังเคราะห์และนำเสนอคือ การใช้แนวคิดคติรวมหมู่ (collectivism) เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต โดยได้ทดลองนำเสนอตัวอย่างรูปธรรมของคติรวมหมู่ในด้านต่างๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การรองรับและส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วม (collective living) ที่รองรับการอยู่ร่วมกันของคนเมืองในหลากรูปแบบ ยุทธศาสตร์การสร้างปัญญาร่วม (collective wisdom) ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากการระเบิดและแตกกระจายของข้อมูลข่าวสาร และปัญญาอันหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในเมือง ยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ส่วนรวมทั้งเก่าและใหม่ (old and new commons) เพื่อปรับพื้นที่ส่วนรวมทั้งออฟไลน์ (อาทิ ที่ดิน) และออนไลน์ (อาทิ แพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสาร) ให้มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอกับชีวิตเมืองในอนาคต รวมไปถึงยุทธศาสตร์การปรับสมดุลอำนาจในการต่อรองบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (collective bargaining) เพื่อเพิ่มอำนาจของผู้บริโภค ซึ่งเป็นมิติใหญ่ของชีวิตคนเมือง[45]

โดยแก่นแท้แล้ว ยุทธศาสตร์แนวคิดคติรวมหมู่คือ การใช้ประโยชน์จากลักษณะ (character) ของ ‘มหานคร’ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และใช้พลังของความหลากหลายในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แนวคิดรวมหมู่จะสัมฤทธิผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแบบการบริหารจัดการเมืองเป็นสำคัญ โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์[46] เสนอว่า การสร้างเมืองแห่งความไว้วางใจคือคำสำคัญ (keyword) ของการออกแบบเมืองในอนาคต

สำหรับชัชชาติแล้ว ความหลากหลายของเมืองมีนัยของความเหลื่อมล้ำรวมอยู่ด้วย เช่น การมีชุมชนแออัดอยู่ในเมืองสะท้อนให้เห็นว่า เมืองต้องการแรงงานมาช่วยทำงานและขับเคลื่อนเมือง ดังนั้น เมืองต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อเอาทรัพยากรมากระจาย หน้าที่ของรัฐคือต้องดูแลโครงสร้างพื้นฐานและสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกันเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ทรัพยากรที่มี หรือพูดอีกแบบคือต้องจัดการความเหลื่อมล้ำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ทั้งการรักษาพยาบาลและคุณภาพชีวิตโดยรวม และนี่เป็นหัวใจของการสร้างเมืองแห่งความไว้วางใจ[47]  

ในมุมของการออกแบบผังเมือง แนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ยุทธศาสตร์แนวคิดคติรวมหมู่และความหลากหลายสามารถขับเคลื่อนเมืองได้จริงคือ การให้ความสำคัญกับ ‘จุดเปราะบางของเมือง’ (urban weak spots) ที่มักเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนชายขอบ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่การเอา ‘คนจน’ ออกจากพื้นที่เมืองเพื่อให้จุดเปราะบางหายไป แต่ต้องทำด้วยการยกระดับมาตรฐานและสภาพแวดล้อมที่ดีในระดับ ‘ย่าน’ ต่างๆ ของเมือง กล่าวคือ ต้องออกแบบผังให้แต่ละย่านของเมืองน่าอยู่ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น มีร้านค้า มีตลาด มีบริการสาธารณสุข รวมไปถึงพื้นที่การเรียนรู้ ให้จบครบถ้วนภายในย่าน[48]  

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการทำงานขับเคลื่อนเรื่องเมืองไม่ใช่การขาดองค์ความรู้หรือข้อเสนอเชิงนโยบายเท่ากับว่าอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ได้อยู่ที่ประชาชน ภายใต้โครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาล) ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาเมืองขาดย่อมไม่สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะขาดทั้งความอิสระในการตัดสินใจและงบประมาณในการตัดสินใจ พูดอีกแบบคือการจะตั้งหลักใหม่เพื่อสร้างเมืองแห่งอนาคตหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้โจทย์การเมืองและปฏิรูปรัฐราชการ[49]

ตั้งหลักใหม่การต่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ไทย

ประกันความเสี่ยงในระเบียบการเมืองแบบโลกสองขั้ว

การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก (geopolitics) ที่ทรงอิทธิพลที่สุด เสมือนว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง ‘การช่วงชิงอำนาจบนแผนที่’ (Mapfare) เข้าไปทุกขณะ ท่ามกลางกระแสลมการเมืองโลกที่เชี่ยวกรากเช่นนี้ ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็ก ย่อมเลี่ยงความท้าทายและความเสี่ยงจากสถานการณ์โลกไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สองมหาอำนาจแข่งกันสร้างอิทธิพลอย่างเข้มข้น

ที่ผ่านมา รัฐไทยมักเลือกใช้ยุทธศาสตร์ ‘ไผ่ลู่ลม’ (bend with the wind) เพื่อประกันความเสี่ยงท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจในโลก แต่การทำงานของรัฐไม่มีเอกภาพ แต่ละกระทรวง ทบวง กรม หรือภาคเอกชน  ต่างไปคนละทิศคนละทาง  ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ  ‘ไผ่ลู่ลม’ เป็นการประกันความเสี่ยงโดยบังเอิญ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การต่างประเทศที่ตั้งใจวางไว้จริงๆ ที่สำคัญไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์ ‘ไผ่ลู่ลม’ ก็ถูกตั้งข้อกังขาว่าจะใช้การได้ดีเพียงใดในวันที่กระแสลมการแข่งขันของมหาอำนาจพัดรุนแรงมากขึ้น

แม้ยุทธศาสตร์ ‘ไผ่ลู่ลม’ จะถูกตั้งคำถาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยต้องเลือกมหาอำนาจข้างใดข้างหนึ่ง นักวิชาการยังคงเห็นพ้องต้องกันว่า การรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจยังเป็นนโยบายที่ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด ทว่าต้องเปลี่ยนจากการรักษาสมดุลเชิงรับ (reactive balancing) มาเป็นการรักษาสมดุลเชิงรุก (proactive balancing) กล่าวคือ ประเทศไทยจะต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าตนเองต้องการอะไร และพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อต่อรองให้ได้สิ่งที่ต้องการ[50] แนวนโยบายเช่นนี้เป็นการประกันความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยไหลไปมาตามวาระ (agenda) ของมหาอำนาจ

หนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมของการรักษาสมดุลเชิงรุกคือ ยุทธศาสตร์แบบการนำจากรัฐขนาดกลาง ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ ไทยควรเล่นบทบาทเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคมากขึ้น และริเริ่มนวัตกรรมและชุดนโยบายด้านการเมืองการทูตในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงควรพยายามกำกับพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจ ภายใต้กติกาหรือปทัสถานบางอย่างของภูมิภาค[51]

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ของประเทศไทย เพราะฝ่ายก้าวหน้า (progressive) ที่เชื่อในคุณค่าประชาธิปไตยสากลมักมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและต่อต้านจีน ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยม (conservative) ที่เชื่อว่า รัฐหนึ่งๆ ไม่ควรแทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่น มักมีแนวโน้มต่อต้านสหรัฐอเมริกาและสนับสนุนจีน

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกแบบขาว-ดำ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนักในการวางยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เพราะระบบ ‘คุณค่า’ เป็นเครื่องมือสำคัญที่มหาอำนาจใช้ในการต่อสู้แข่งขันกันมาตลอด ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าและเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยคือ การรับคุณค่ากฎหมายระหว่างประเทศและระบบของสหประชาชาติให้มากที่สุด แต่ก็ต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติด้วย ทั้งสองอย่างนี้ต้องสมดุลและถ่วงดุลกันพอสมควร เพื่อจะได้ประกันความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางนี้จะช่วยให้นโยบายของไทยมีความชอบธรรม (legitimacy) และถูกต้องในทางกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมไปกับการตอบสนองต่อประชาชนในประเทศด้วย[52]  

นอกจากนี้ การต่างประเทศในโลกยุคใหม่ควรเป็นการทูตแบบอิงกับประเด็น (issue-based) ซึ่งประเทศไทยสามารถมีจุดยืนได้หลายแบบ บางประเด็นอาจจะสนับสนุนสหรัฐฯ บางประเด็นอาจคล้อยตามจีน ขึ้นอยู่กับว่าเกณฑ์ความต้องการและผลประโยชน์ของประเทศในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การจะวางยุทธศาสตร์เช่นนี้ได้ ประเทศไทยต้องมี ‘จุดยืน’ ในแต่ละประเด็นที่ชัดเจน ซึ่งหมายความว่า การปฏิรูปกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพจึงควรต้องนับเป็นส่วนหนึ่งของการวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศด้วย[53]

ตั้งหลักใหม่คุณค่าและอนาคตไทย

เปิดรับคำถาม โอบรับเรื่องเล่าแห่งยุคสมัย

ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 32 ปีในปี 1900 เป็น 71 ปีในปี 2020 การมีอายุยืนยาวมากขึ้นหมายความว่ามนุษย์มีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับคนต่างรุ่นมากขึ้น โดยในปัจจุบันโลกมีคนเจ็ดรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ Greatest Generation (เกิด 1901-1927) Silent Generation (เกิด 1928-1945) Baby Boomers (เกิด 1946-1964) Generation X (เกิด 1965-1980) Generation Y (เกิด 1981-1996) Generation Z (เกิด 1997-2012) และ Generation

Alpha (เกิด 2012-ปัจจุบัน) นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีคนต่างวัยอยู่ร่วมกันมากรุ่นขนาดนี้

การเติบโตภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมต่างแบบทำให้คนแต่ละรุ่นมีความไม่ลงรอยทางความคิด ความเชื่อ การให้คุณค่า และพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนรุ่นเก่าสะสมทุนและอำนาจ ถือครองทรัพยากรไว้มาก ก็ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสแทรกตัวในสังคมยากมากขึ้น และทำให้ ‘ความไม่ลงรอยกันระหว่างคนต่างรุ่น’ ปรากฏชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าพื้นฐาน (เสมอภาค เสรีภาพ และธรรมาภิบาล) และหลักคิดในการจัดระเบียบสังคมไทยแบบดั้งเดิม (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์)[54]

หากพูดในภาษาแบบคนรุ่นใหม่ ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นคือ ความแตกต่างของ ‘เรื่องเล่า’ ที่แต่ละคนอยากเล่า ซึ่งโลกที่พวกเขาอยากเห็นคือ โลกที่ทุกคนสามารถสร้างเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมาได้ เพราะมีแต่การโอบรับเรื่องเล่าที่แตกต่างหลากหลายเท่านั้นที่จะนำไปสู่สังคมที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมได้[55] ทั้งนี้หัวใจของการแก้ไขความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นคือ การประนีประนอม การปรับเข้าหากัน และการใช้ประโยชน์จากเรื่องเล่าที่แตกต่างหลากหลายให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การประนีประนอมและปรับเข้าหากันไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่จำเป็นต้องอาศัยหลักการหรือแพลตฟอร์มกลางที่สามารถทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มาพูดคุยกันได้ คนรุ่นใหม่หลายคนเสนอว่า การรับประกันสิทธิในการแสดงความคิดและการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ในฐานะกติกากลางน่าจะเป็นหลักการที่ทุกคนพอยอมรับด้วยกันได้ ในทางตรงข้าม หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ สังคมก็จะไม่มีหลักยึดและยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้[56]

นอกจากนี้ ภาระและบทบาทในการประนีประนอมของคนแต่ละรุ่นก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน สำหรับคนรุ่นเก่า แนวทางสำคัญในการปรับตัวคือ การเปิดกว้างเพื่อโอบรับเรื่องเล่าของคนรุ่นใหม่ ต้องใช้ประสบการณ์มองให้ออกว่า อะไรคือ ‘แก่น’ ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และต้องทำการบ้านให้หนักว่าทำอย่างไรคนรุ่นใหม่ถึงจะยอมรับฟัง ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องปรับการนำเสนอให้แหลมคมมากขึ้น เริ่มตั้งแต่วิธีการคิดไปจนถึงวิธีการสื่อสาร ในแง่นี้ การประนีประนอมจึงเรียกร้องกับคนรุ่นเก่ามากกว่า เพราะหากคนรุ่นเก่าปรับตัวได้ โดยกระบวนการก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ไปโดยปริยาย[57] ทั้งนี้ วิธีการคุยของคนรุ่นเก่าที่ดีที่สุดคือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงมุมมอง ออกแบบโจทย์ และตอบคำถามด้วยตัวเขาเอง โดยสิ่งสำคัญที่คนรุ่นเก่าแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้คือ ‘ประสบการณ์’ ส่วนคนรุ่นใหม่จะเลือกใช้ ‘วิธีการ’ อย่างไรต้องให้เขาเป็นคนตัดสินใจ[58]

‘คำตอบ’ อยู่ในสังคมไทย

นับตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงกลางปี 2565 โลกและไทยต้องเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผลกระทบของโรคระบาดสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสต่อผู้คนหลายล้านคน มิพักต้องพูดถึงผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ประเมินค่ามิได้

แม้ผลกระทบของโควิด-19 หลายเรื่องจะเป็นเรื่องใหม่ และหลายประเด็นคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แต่คงยากจะปฏิเสธว่า ความเสียหายอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความเปราะบางของสังคมไทยในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม คุณค่า เมืองและวิถีชีวิต ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนคุณค่า การไร้ฝันและความคับข้องใจของคนรุ่นใหม่ ในแง่นี้ โควิด-19 จึงไม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาดที่ไม่คาดคิด หรือความบังเอิญที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า หากแต่เป็นสัญญาณเตือนภัยใหญ่ถึงความจำเป็นที่จะต้องตั้งหลักประเทศไทยใหม่เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ในอนาคต

ความคิดและข้อเสนอที่ปรากฏในหนังสือ Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต เป็นเพียงเสียงบางส่วนของความพยายามในการตั้งหลักใหม่ประเทศไทย ซึ่งย่อมไม่อาจแก้ทุกปัญหาของประเทศได้ในรายละเอียด และอาจไม่ใช่กระทั่ง ‘คำตอบ’ สุดท้ายของสังคมไทย กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดในหนังสือเล่มนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยสะสมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าไว้มากพอที่จะออกจากวิกฤต

คำถามที่เหลือจึงมีอยู่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และความหวังเหล่านี้ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตได้จริง


[1] The World Bank. (2020). “country’s overview”.; สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2558). “ปรับทัศนคติภาครัฐ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”, รายงานทีดีอาร์ไอ, ฉบับที่ 111 มกราคม 2558.

[2] ธนสักก์ เจนมานะ. (2561). “ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21”.

[3] Kongkirati, Prajak. (2019). “From Illiberal Democracy to Military Authoritarianism: Intra-Elite Struggle and Mass-Based Conflict in Deeply Polarized Thailand.” The ANNALS of the American Academy of Political and Social Science 681, no. 1 (2019): 24-40.

[4] เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับ วิษณุ อรรถวานิช

[5] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี. (2565). “อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585”. ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[6] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และคณะ. (2564). “คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย” ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[7] (มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี, อ้างแล้ว); ความเสี่ยงเชิงระบบและการกวาดหาสัญญาณในที่นี้เป็นการสังเคราะห์ของผู้เขียนบทนำชิ้นนี้ ซึ่งมีความแตกต่างจาก มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี (2565) ทั้งในแง่ของน้ำหนักในแต่ละประเด็นและวิธีการจัดเรียงเนื้อหา

[8] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี, อ้างแล้ว.

[9] รัฐศักดินา-อาณานิคมแบบไทยๆ – กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

[10] จุลนี เทียนไทย และคณะ. (2564). “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย”. ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[11] วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ. (2563). “นโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1)”. ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[12] วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ, อ้างแล้ว.; ‘Precarious Thailand’ มองอนาคตสังคมไทยจากประวัติศาสตร์กดขี่ กับ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

[13] “ถ้าระบอบประชาธิปไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็จะรอดด้วย” Tom Ginsburg

[14] อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง : ทำไมสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ‘ปราการ กลิ่นฟุ้ง’

[15] เจ้าฟ้า-เจ้าสัว: จากความมั่งคั่งบนสายสัมพันธ์ สู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ปวงชน อุนจะนำ’; ปราการ กลิ่นฟุ้ง, อ้างแล้ว.

[16] ขุนศึก ศักดินา ประชาธิปไตย: มองอำนาจและข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

[17] เมื่อกองทัพ ‘แทรกซึม’ สังคม: มองอำนาจกองทัพ ‘นอกรัฐประหาร’ กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

[18] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, อ้างแล้ว.

[19] พวงทอง ภวัครพันธุ์, อ้างแล้ว.

[20] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, อ้างแล้ว.; ทอม กินสเบิร์ก, อ้างแล้ว.

[21] ปวงชน อุนจะนำ, อ้างแล้ว.

[22] อำนาจตุลาการกลางสายน้ำแห่งความเปลี่ยนแปลง : นิติศาสตร์สนทนากับ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

[23] เมื่อ The Empire Strikes Back (Again?) มองประเทศดิสโทเปียปี 2565 กับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

[24] สู่สองทศวรรษที่สูญหาย? สิ่งที่ประเทศไทยขาดมากที่สุดคือ ‘ความหวัง’ – กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

[25] พีระ เจริญพร. (2560). “รายงาน: บทสำรวจงานวิจัยไทยเรื่อง ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ”, Knowledge farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม, 8 พฤศจิกายน 2560.

[26] Exclusive เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ: คำตอบในสายลมแห่ง ‘หน้าที่’ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กลางพายุมหาวิกฤต

[27] อ่านฉากทัศน์อนาคต ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย กับ มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

[28] ‘มองข้างหน้า’ เศรษฐกิจสังคมไทย 2022 วันที่เรายัง ‘มองข้างนอก’ น้อยเกินไป กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

[29] Remake โลกสู่เวอร์ชันใหม่ บนโลกปัจจุบันอันไร้ความแน่นอน กับ สันติธาร เสถียรไทย; เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, อ้างแล้ว.; สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, อ้างแล้ว.

[30] สันติธาร เสถียรไทย, อ้างแล้ว.

[31] เมื่อโลกไม่มีใบที่สอง นโยบายสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่ประเด็นรองอีกต่อไป กับ เพชร มโนปวิตร; สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, อ้างแล้ว.; กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์, อ้างแล้ว.

[32] ตั้งหลักใหม่ภาคเกษตรไทย: เกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวมากกว่าที่รัฐคิด – วิษณุ อรรถวานิช

[33] (มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี, อ้างแล้ว)

[34] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, อ้างแล้ว.

[35] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, อ้างแล้ว.; ธร ปีติดล. (2564). “ความเหลื่อมล้ำไทย: บทวิเคราะห์โครงสร้างทางอำนาจและอุดมการณ์”. ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[36] สันติธาร เสถียรไทย, อ้างแล้ว.

[37] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, อ้างแล้ว.

[38] มองอนาคตโลก อ่านอนาคตไทย เราอยู่ตรงไหนในโลกแห่งเทคโนโลยี: คุยกับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

[39] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี, อ้างแล้ว.

[40] ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์, อ้างแล้ว.

[41] ‘มนุษย์คืออะไรใน เมตาเวิร์ส ?’ จินตนาการโลกใหม่ในเลนส์ปรัชญา กับ พิพัฒน์ สุยะ

[42] เพชร มโนปวิตร, อ้างแล้ว.

[43] เพชร มโนปวิตร, อ้างแล้ว.

[44] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และคณะ, อ้างแล้ว.

[45] อภิวัฒน์ รัตนวราหะ. (2565). “Policy Brief-คนเมือง 4.0”. ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

[46] “เมืองคือคน ไม่ใช่อาคาร” มองใหม่เมือง กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

[47] ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, อ้างแล้ว.

[48] ‘เราต้องการเมืองสุขภาพดี’ รีเซ็ตเมืองใหม่จากภัยโรคระบาดแห่งศตวรรษ – นิรมล เสรีสกุล

[49] ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, อ้างแล้ว.; นิรมล เสรีสกุล, อ้างแล้ว.

[50] ยุทธศาสตร์ไทยในกระดานหมากล้อมมหาอำนาจ – อาร์ม ตั้งนิรันดร

[51] “รัฐใดสามารถผูกขาดเทคโนโลยีได้ รัฐนั้นสามารถปกครองโลกได้” มองภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่ กับ จิตติภัทร พูนขำ

[52] จิตติภัทร พูนขำ, อ้างแล้ว.

[53] อาร์ม ตั้งนิรันดร, อ้างแล้ว.

[54] มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี, อ้างแล้ว; อ่านศาสนากับการเมือง: อำนาจ ศักดินา และเกมความเชื่อ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

[55] “เราต้องสร้างเรื่องเล่าขึ้นมาเอง” : เปลี่ยนสังคมแล้งฝันด้วยความหวังของคนรุ่นใหม่

[56] “ประเทศไทยเหมือนเพลงเชียร์ยูโร” ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

[57] ยุทธนา บุญอ้อม, อ้างแล้ว.

[58] “ความเชื่อมั่นต่อรัฐของสังคมพังไปแล้ว” เกรียงไกร วชิรธรรมพร; มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, อ้างแล้ว.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save