fbpx

สำรวจจุดแข็งประเทศไทย

ปัจจุบันเรามักได้ยินแต่ข่าวร้าย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังรุมเร้า แม้วิกฤตโควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่โงหัวได้เต็มที่ ขณะที่วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร และวิกฤตเงินเฟ้อ ก็เข้ามาถาโถม

แต่หากมองในมิติภูมิรัฐศาสตร์ ในเวทีการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทยกลับกำลังเนื้อหอม ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเห็นมหาอำนาจจีนที่กำลังขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่กำลังพยายามปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ต่างมองมาที่ประเทศไทยและประชาคมอาเซียน ขณะที่เพื่อนบ้านในยามที่กำลังเกิดวิกฤต เช่น เมียนมาที่กำลังเผชิญวิกฤตการเมือง และ สปป.ลาว ที่กำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีผู้นำประเทศหรือตัวแทนมาพบปะพูดคุยกับทางการของประเทศไทย

นั่นหมายความว่า ท่ามกลางข่าวร้าย ประเทศไทยก็ยังมีดีอยู่ โดยผู้เขียนจะใช้กรอบความคิดแบบพลังอำนาจของชาติ 6 มิติ STEEP-M อันได้แก่ มิติสังคม (Social – S) มิติเทคโนโลยี (Technology – T) มิติเศรษฐกิจ (Economy – E) มิติสิ่งแวดล้อม และพลังงาน (Environment and Energy – E) มิติการเมือง (Politics – P) และมิติการทหาร ความมั่นคง (Military and Security – M) มาวิเคราะห์ว่า จุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่ตรงไหน

แต่ก่อนที่จะลงในรายละเอียด ผู้เขียนขอสรุปก่อนเลยว่า จุดเด่นที่สุดของประเทศไทยคือ ‘ความเป็นกลาง’ เราเป็นกลางในทุกมิติ และเราต้องรักษาความเป็นกลางเหล่านี้ไว้เพื่อให้ไทยเป็นมหาอำนาจกลางในเวทีการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก

มิติสังคม (Social – S)

ผู้เขียนคิดว่าจุดแข็งของประเทศไทยคือ ‘ความเป็นไทย’ (Thainess) ที่ใครๆ ก็อยากสัมผัส แน่นอนว่าความเป็นไทยอาจหมายถึง ความยุ่งเหยิง ความไร้ระเบียบ (chaotic) แต่มันเป็นความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบที่มาพร้อมกับความมีเสน่ห์ (charm) ที่มีเสน่ห์ เพราะคนไทยซื่อสัตย์ ไม่เสแสร้ง และมีจิตใจรักการให้บริการ เรื่องราวเหล่านี้พิสูจน์ได้ ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์คือประเทศที่อยู่ในภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แบบเดียวกับเรา สภาพสังคมที่หล่อหลอมเอาคนหลากหลายชาติพันธุ์มาอยู่ร่วมกันแบบเรา หากแต่แตกต่างจากไทยตรงที่ทุกอย่างถูกควบคุมโดยกฎระเบียบ สิงคโปร์คือสังคมที่ปราศจากความยุ่งเหยิง แต่เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย จุดหมายปลายทางแรกๆ ที่คนสิงคโปร์ที่ถูกกักไม่ให้เดินทางมายาวนาน คือการเดินทางมาประเทศไทย ในขณะที่ประเทศอื่นที่ยุ่งเหยิงไร้ระเบียบในแทบจะทุกมิติ เช่น อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียใต้ ประชาชนของประเทศเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเดินทางที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเปิดประเทศเช่นกัน ทั้งที่เราเองก็ยุ่งเหยิงไร้ระเบียบไม่ต่างกัน แต่มันเป็นความกลมกล่อมแบบไทย เพราะเป็นความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบที่มาผสมผสานกับปัจจัยทางด้านสังคม ประเพณี วัฒนธรรมแบบไทยๆ

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทบัตรเครดิตอย่าง Visa จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2022, TravelPort จัดอันดับให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับที่ 1 ของโลกในไตรมาสที่ 1 ปี 2022, Veranda จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกในปี 2022 และ Invest Asian จัดอันดับให้ไทยเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดอันดับ 1 ของเอเชียในการลงทุนเพื่อที่จะใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอายุ นอกจากนี้ในด้านสาธารณสุข พวกเราคงยังจำกันได้ว่าในปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 Global Health Security Index (GHS) จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก แต่หลายๆ ท่านคงไม่ทราบว่าในปี 2021 ประเทศไทยได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ทางด้านสาธารณสุข โดยเรามีคะแนนในหมวดของการมีระบบตรวจพบและรายงานการระบาดของโลก (detection and reporting) สูงที่สุดในโลกคือ 91.5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

มิติเทคโนโลยี (Technology – T)

แน่นอนว่าประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยี เราอาจไม่ได้มีนวัตกรรมที่ก้าวล้ำนำหน้าประเทศอื่นๆ ในโลก เช่นเดียวกับจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ แต่เราก็มีระดับการพัฒนาการทางเทคโนโลยี เรามีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างปกติสุข เราอาจจะไม่ใช่ชาติแรกๆ ในโลกที่มี 3G แต่ปัจจุบันเราก็มี 4G และ 5G ให้ใช้ ถึงแม้จะไม่ใช่ความเร็วสูงสุด ไฟฟ้าของเราก็อาจจะไม่ได้มีราคาถูกที่สุด แต่เราก็มีให้ใช้โดยไม่ติดๆ ดับๆ ในราคาที่เหมาะสม ส่วน smart city ของเราก็อาจจะไม่ได้ smart ขนาดกรุงโซล แต่เราก็ได้เริ่มต้นพัฒนาระบบต่างๆ แล้ว

ที่สำคัญคือคนไทยเป็นคนที่พร้อมรับ พร้อมใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีในโลกดิจิทัล เชื่อหรือไม่ครับว่า คนไทยมียอดทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์บนระบบออนไลน์สูงถึง 9.7 พันล้านครั้งในปี 2021 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแต่ จีน และอินเดีย ทั้งที่ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้มีประชากรประเทศละมากกว่า 1.4 พันล้านคน ในขณะที่ไทยมีประชากรเพียงประมาณ 70 ล้านคนเท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละ ถึงแม้คนไทยจะพร้อมรับเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันคนไทยจำนวนหนึ่งยังคงขาดความรู้เท่าทันดิจิทัล (digital literacy) ส่วนในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม ประเทศไทยก็อยู่ในระดับกลางๆ เช่นกัน โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 จาก 110 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (อันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย) ที่มีการวัดระดับโดย International Innovation Index ซึ่งจัดทำโดย Boston Consulting Group (BCG) ร่วมกับ National Association of Manufacturers (NAM) และ Manufacturing Institute (MI)

มิติเศรษฐกิจ (Economy: E)

จาก 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ไทยถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจตามมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับค่าเสมอภาคของอำนาจซื้อ (GDP, PPP) เป็นอันดับที่ 23 ของโลก จากตัวเลขปี 2022 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก เพื่อพิจารณาระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สหประชาชาติถือว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา (developing country) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries – LDCs) และประเทศพัฒนาแล้ว (developed countries) หรือหากพิจารณาตามเกณฑ์ของ World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยก็อยู่ตรงกลาง นั่นคือเรามีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับที่มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (efficiency driven economy) ซึ่งอยู่สูงกว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการขยายทรัพยากร (factor-driven economy) และอยู่ต่ำกว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (innovative-driven economy)

ในมิติรายได้ ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางในกลุ่มบน (upper-middle income country) ตามการจัดประเภทของธนาคารโลก ในมิติความสามารถทางการแข่งขัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 141 เขตเศรษฐกิจ ตามการจัดอันดับ Global Competitiveness Index ปี 2019 โดย WEF และเราเองก็มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจระดับ Very Easy ในอันดับที่ 21 จาก 190 เขตเศรษฐกิจ ตามการจัดอันดับ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลก

มิติสิ่งแวดล้อม และพลังงาน (Environment and Energy – E)

แม้ประเทศไทยจะพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะการพึ่งพาพลังงานจากเมียนมา และ สปป.ลาว ในขณะที่น้ำมันดิบส่วนใหญ่ของเรามีการนำเข้าจากตะวันออกกลาง แต่หากพิจารณากรณีเลวร้ายที่สุด คือไม่สามารถนำเข้าพลังงานได้เลย เราอาจจะไม่มีน้ำมันเติมรถยนต์ แต่เรายังสามารถมีไฟฟ้าใช้ได้เพียงพอในประเทศ หากเราทุกคนช่วยกันประหยัด (คาดการณ์ในปี พ.ศ. 2569 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 40,791 เมกะวัตต์ ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 42,000 เมกะวัตต์)

และในด้านมิติสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยถือเป็นประเทศแนวหน้าของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด อันดับที่ 20 ตาม BioD Index Mongabay ถ้าเราบริหารจัดการตรงนี้ได้ดี เราจะสามารถนำเอาจุดแข็งเหล่านี้มาพัฒนาภาคการผลิตสำคัญๆ ที่เป็นภาคการผลิตเป้าหมายภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy) ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคการเกษตรและอาหาร ภาคสุขภาพและการแพทย์ ภาคพลังงาน หรือภาควัสดุ และเคมีชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องพึงตระหนักก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ทรัพยากรเปลืองมาก แม้แต่ในภาคเกษตร ที่เราคุ้นชินว่าเป็นภาคการผลิตที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราพบว่า ประเทศไทยใช้พื้นที่เพาะปลูก 138 ล้านไร่ (43%) จากพื้นที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ ใช้กำลังแรงงาน 12 ล้านคน (31%; ในความเป็นจริงสูงกว่านี้) ในภาคเกษตรจากกำลังแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน โดยเราสร้างมูลค่าผลผลิตจากภาคเกษตรได้เพียง 8.4% ของ GDP และภาคเกษตรของไทยคือ 1 ใน 5 ภาคการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เช่นเดียวกับในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ประเทศไทยรับปริมาณน้ำฝนประมาณ 100,000 ล้านลิตร/ปี แต่กักเก็บไว้ใช้ได้เพียง 20,000 ล้านลิตร สูญเสียไป 70-80% และประเทศไทยยังมีพื้นที่ชลประทานเพียง 30 ล้านไร่เท่านั้น นี่ยังไม่นับปัญหาอีกมากมายจากภาคการผลิตและภาคบริการอื่นๆ ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองยิ่งกว่านี้

มิติการเมือง (Politics – P)

ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย เพราะในอดีตต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี ประเทศไทยมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเพียงประเทศเดียวในโลก นั่นคือซาอุดิอาระเบีย แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางการทูตได้ถูกปรับให้กับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง ทำให้ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีปัญหาแต่อย่างใดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

และนอกจากมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ ที่กำลังทดสอบกำลังกันอยู่ในภูมิภาค ประเทศไทยก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ผ่านการมีบทบาทนำในเวทีประชาคมอาเซียน ซึ่งไทยมีบทบาทนำตลอดประวัติศาสตร์อาเซียน โดยในปี 1967 อาเซียนเกิดขึ้นในไทย, ในปี 1984-1992 ไทยเสนอจัดตั้ง ASEAN Free Trade Area (AFTA), ในปี 1995 ไทยเสนอจัดตั้ง ASEAN Framework Agreements on Trade in Services (AFAS) และ ASEAN Regional Forum (ARF 27+1), ในปี 1997 ไทยเสนอ ASEAN Vision 2020, ในปี 2007 ไทยทำการกดดันจนต้องบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนใน ASEAN Charter, ในปี 2009 ไทยเสนอ Master Plan on ASEAN Connectivity (MPAC), ในปี 2019 ไทยผลักดันการสรุปข้อตกลง RCEP และออก ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP)

ในเวทีระหว่างประเทศ เราก็ยังคงเป็นกลาง แต่แม้เราจะไม่มีปัญหาในเวทีการเมืองโลก แต่บนเวทีการเมืองภายในประเทศ เรากลับพบปัญหาเรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน และที่น่าห่วงกังวลคือ ปัญหาการเมืองจะลุกลามกลายเป็นปัญหาความแตกแยกระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย

มิติการทหาร (Military and Security – M)

ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 29 จากทั้งหมด 142 เขตเศรษฐกิจ ตาม PwrIndx (Power Index) Military Strength Ranking ซึ่งถือว่าประเทศไทยเรามีขนาดของกองทัพที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะป้องกันการรุกรานบูรณภาพแห่งดินแดน แต่ก็ไม่ได้มีกองทัพที่ใหญ่โตจนเกินไปจนถูกทั่วโลกเฝ้าจับตาด้วยความห่วงกังวล ประเทศไทยมีการร่วมซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียร่วมกับมหาอำนาจทางการทหารอย่างสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่าคอบราโกลด์ (Cobra Gold) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1982 โดยมีผู้เข้าร่วมฝึก 7 ประเทศ และมีผู้ร่วมสังเกตการณ์ 10 ประเทศ และขณะเดียวกัน เราก็มีการร่วมซ้อมปฏิบัติการทางทหารและความมั่นคงร่วมกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหารในระดับภูมิภาคอีกมากกว่า 10 ครั้งในแต่ละปี

เห็นได้ว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือการเป็นกลาง ซึ่งคือการเป็นกลางทั้งในมิติทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ที่มหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ กำลังทดสอบกำลังกันในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก และเป็นกลางในทุกมิติพลังอำนาจของชาติทั้ง 6 มิติ ดังนั้นการวางตำแหน่งของไทยในฐานะมหาอำนาจกลาง (middle power) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save