คนหนุ่มสาวเดินขบวน นักเรียนมัธยมขึ้นเวทีปราศรัย ขบวนแฮมทาโร่ ชุดแฮร์รี่พอตเตอร์ เสียงโห่ร้อง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตู้คอนเทนเนอร์ รถฉีดน้ำ เป็ดเหลือง แก๊สน้ำตา ป้ายประท้วงกฎหมายมาตรา 112 ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในภาพและวัตถุที่ปรากฏบนหน้าสื่อตลอดปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
ภาพเหล่านี้สะท้อนว่าการเมืองไทยในปี 2563 เคลื่อนเร็วและแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในเวลาเพียง 1 ปีเกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยไปตลอดกาล และอาจเรียกได้ว่านี่เป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ประเทศไทยอยู่ในมวลอารมณ์อึดอัดมาหลายปี จนกระทั่งมาปะทุออกครั้งใหญ่เมื่อการเลือกตั้งที่หลายคนมีความหวังว่าจะนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศ กลายเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง หากนับถึงปี 2564 ประเทศไทยมีพลเอก ประยุทธ์เป็นนายกฯ มานานกว่า 7 ปีแล้ว
การลุกฮือของประชาชนเริ่มขึ้นจากแฟลชม็อบเล็กๆ ตามมหาวิทยาลัยและในโรงเรียนหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เกิดบ่อยครั้งขึ้น และหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จนเมื่อมีการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ม็อบเงียบหายไปช่วงหนึ่ง ก่อนที่กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ จะนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา
การกลับมาครั้งนี้ไม่ใช่แค่การวิพากษ์รัฐบาล แต่ยังมาในประเด็นที่แหลมคมและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ประเด็นที่ไม่เคยนำมาคุยกันอย่างเปิดเผยในสังคมไทยก็ถูกนำมาพูดในที่สาธารณะ คือประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
นับแต่ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อานนท์ นำภา พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา และวันที่มีการประกาศแถลงการณ์ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ทำให้ทั้งสังคมต้องหันมามองการเกิดขึ้นของ ‘การม็อบ’ ที่เป็นผลมาจาก ‘การเมือง’ ที่ร้อนระอุตลอดช่วงที่ผ่านมา
ก่อนที่คณะประชาชนปลดแอกจะเสนอ ‘3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน’ ในการชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างเข้มข้นในสังคม การ ‘ทำลายเพดาน’ นี้ทำให้หลายคนเชื่อว่า สังคมไทยมาถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับอีกต่อไป
มาถึงวันนี้ที่ ‘การม็อบ’ ดำเนินมาแล้ว 1 ปีเต็ม ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการจับกุมแกนนำด้วยกฎหมายมาตรา 112 และดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่มีทีท่าจะลดระดับการปราบปรามผู้ประท้วงลง ในขณะที่ความหวังเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายด่านกว่าจะบรรลุผล
2 ปีหลังการเลือกตั้ง และ 1 ปีบนเส้นทางการต่อสู้บนท้องถนน การเมือง-การม็อบของไทยก้าวมาอย่างไร เราจะตีโจทย์ใหม่อย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม ก้าวต่อไปของการต่อสู้นี้ เราจะหาฉันทมติในสังคมได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้สันติวิธีเป็นทางออกของสังคม 101 ชวนสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ มาร่วมพูดคุยถกเถียงหาทางออกในประเด็นเหล่านี้

การเมือง-การม็อบ
เส้นทางการต่อสู้ 2 ปีหลังการเลือกตั้ง
หากมองสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ดูเหมือนว่าการต่อสู้ในช่วงปี 2563-2564 จะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ ทั้งรูปแบบ วิธีการ และอายุของผู้ที่เข้าร่วมประท้วง
สมบัติ บุญงามอนงค์ บอกว่าถ้าจะมีม็อบไหนที่ ‘เซอร์ไพรส์’ เขาที่สุด ก็คือ ‘ม็อบแฮมทาโร่’ ที่นักเรียนนักศึกษานำเพลงจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแฮมทาโร่มาร้องระหว่างวิ่งต่อแถวรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท่อนที่ร้องกระทบรัฐบาลว่า “ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีของประชาชน” นั้นทำให้สมบัติเห็นความเป็นไปได้ว่าเพลงญี่ปุ่นสามารถหยิบมาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาลได้
“วิธีการ รูปแบบ และสีสันของม็อบรอบนี้ฉูดฉาดมาก เรียกความสนใจจากเวทีสื่อนานาชาติ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มขับเคลื่อนของคนหนุ่มสาว อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยมากๆ การที่ผู้ชุมนุมอายุน้อยมากลงไปจนถึงมัธยมต้นจึงทำให้วิธีการ ภาษา ท่วงทำนอง กฎเกณฑ์ที่เคยมีอยู่เดิมเปลี่ยน เพราะวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่หรือเทคโนโลยีที่เขาใช้ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนกับพวกเราอีกแล้ว พวกเรามีสูตรสำเร็จที่คุ้นเคย ซึ่งกดความคิดเราอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีในคนรุ่นใหม่”
ในประเด็นเรื่องอายุของกลุ่มผู้ชุมนุมที่น้อยลงมาก ทำให้สมบัติเชื่อว่าขบวนการประท้วงรอบนี้ทำให้สังคมไม่ได้มองแค่ในประเด็นเชิงอำนาจเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นทางสังคมอื่นๆ ด้วย
“ขบวนการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปการศึกษาหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ทำให้สังคมมองการเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจและการเมือง ทำให้ม็อบรอบนี้มีความชอบธรรม มีสีสัน ไม่น่าเบื่อ”
เช่นเดียวกับที่เดชรัต สุขกำเนิด บอกว่า กลุ่มนักเรียนเลวคือกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ “ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนเลวที่แสดงศักยภาพได้อย่างน่าสนใจมาก นำประเด็นเรื่องการศึกษามาคุยได้อย่างต่อเนื่อง เป็นจุดที่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเมืองไทย”

ไม่ใช่แค่รูปแบบและประเด็นที่แตกต่างเท่านั้น แต่การประท้วงของคนรุ่นใหม่ก็จุดประกายความหวังที่จะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของสังคมในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย
ในประเด็นนี้ เดชรัต สุขกำเนิด ให้มุมมองไว้ว่า ‘การม็อบ’ ส่งผลต่อ ‘การเมือง’ อย่างชัดเจน แม้ว่า ‘การเมือง’ จะดูไม่ยอมตอบสนอง ‘การม็อบ’ เท่าที่ควร
“ช่วงเดือนกุมภา-มีนา ปี 2563 ตอนนั้นมีจัดเวทีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ผมก็ขึ้นไปพูดด้วย ตอนที่พูดกัน ผมคิดว่าไม่มีใครสักคนคิดว่าเราจะสามารถเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ดูเหมือนการรณรงค์ที่ดูไม่ค่อยมีอนาคต แต่หลังจากที่มีม็อบต่อเนื่องกันตั้งแต่เยาวชนปลดแอกรอบแรกๆ ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนมาอย่างที่นึกไม่ถึงเลยทีเดียว แล้วก็นำมาสู่ประเด็นการพูดคุยที่ไม่มีการพูดคุยแบบนี้มาก่อน เช่น นักเรียนคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการโดยตรง หรือมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น เรามาไกลมาก”
“อย่างไรก็ดี ก็ยังมีข้อจำกัดว่า การทำให้กระแสเรียกร้องเหล่านี้ หรือที่เราเรียกว่า ‘การม็อบ’ โยงเข้าสู่ ‘การเมือง’ ยังเป็นอุปสรรคมาก ฝ่ายการเมืองเริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเองว่าไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ แก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ตอนแรกเขาอาจจะคิดว่าควบคุมได้มากกว่านี้ แต่เขาก็ทำไม่ได้ ในขณะเดียวกันจะรับลูกของม็อบมากกว่านี้ก็ดูเหมือนว่ายังทำไม่ได้เช่นกัน เลยเกิดเป็นสถานการณ์ที่การเมืองกับการม็อบไม่สามารถตอบสนองซึ่งกันและกันได้ดีพอ ทำให้เกิดเป็นภาวะที่จะต้องลุ้นต่อไป”
หลังจากมองภาพรวมทั้งหมดในขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เดชรัตมองว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่น่านำมาพิจารณา เพื่อให้เข้าใจและเห็นแนวทางของขบวนการประท้วงมากขึ้น
จุดแข็งในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมามี 3 ประเด็นคือ
หนึ่ง การเปิดกว้างในการเกิดแกนนำ สามารถมีแกนนำได้ทุกจุด และแต่ละจุดมีรูปแบบกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง
สอง แม้ประเด็นหลักที่ขบวนการต้องการสื่อสารเกิดขึ้นหลายที่ แต่ก็เข้าใจตรงกันได้ กล่าวคือแม้รูปแบบและท่าทีต่างกัน แต่ก็เข้าใจกันได้ว่ากำลังเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เมื่อรวมกับประเด็นที่หนึ่งจึงทำให้ภาครัฐจัดการยากขึ้น
จนนำมาสู่ข้อที่สาม ที่ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงสามารถแตะเรื่องที่ไม่เคยแตะมาก่อนได้ คนรุ่นก่อนที่ไม่คิดว่าจะเกิดสิ่งนี้ได้พอเห็นคนรุ่นใหม่ทำ จึงพยายามทำในรูปแบบของตัวเองบ้าง
ขณะเดียวกันก็ยังมีจุดที่ยังต้องปรับปรุงอยู่หนึ่งประเด็นใหญ่ คือยังไม่สามารถทำให้ช่องว่างระหว่างการเมืองกับการม็อบแคบลง หรือมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ เพราะมี 3 สาเหตุสำคัญขวางอยู่
สาเหตุแรก การเมืองที่คุมโดยพรรครัฐบาลมีความพยายามที่จะทำให้ไม่มีสายตรงในการสื่อสารระหว่างการม็อบกับการเมือง
“เราไม่สามารถคุยกันได้แบบตรงไปตรงมา ฝั่งรัฐบาลมีทีท่าตุกติก ทำให้กระบวนการที่ควรจะไปข้างหน้า เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมจะถูกทำให้เลื่อนหรือถูกเปลี่ยนแปลงได้มาก สิ่งนี้ทำให้เกิดการไม่ไว้วางใจกัน”
สาเหตุที่สอง ปฏิบัติการ IO ทำให้ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอต่างๆ กลายเป็นเรื่องของการโจมตีกัน ทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยกันยากขึ้น
สาเหตุที่สาม มีการใช้วิจารณญาณบางอย่างที่สอดคล้องกับอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากการเมือง เช่น การใช้ดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรมกับการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายรัฐที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้ฝ่ายม็อบเคลื่อนไหวลำบาก
“ในสังคมไทยไม่มีอำนาจอื่นที่มาคานอำนาจของรัฐ จึงทำให้ทั้งหมดนี้ดูมีความสุ่มเสี่ยงขึ้น” เดชรัตกล่าว
ในขณะที่สมบัติพูดถึงประเด็นเรื่องการไม่มีแกนนำที่ชัดเจน และการเกิดขึ้นของขบวนการในหลายพื้นที่ว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน
“การที่ไม่มีแกนนำแล้วมวลชนยังดำรงมุ่งหมายที่จะออกมาบนท้องถนน เป็นเรื่องที่รัฐจัดการยากมาก เพราะรัฐเป็นโครงสร้างแนวดิ่ง เขาคุ้นเคยว่าถ้าเด็ดหัวได้ ตัวและหางก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่แน่นอนว่าการที่ไม่มีแกนนำ มีอิสระกันมากๆ ก็ถูกแทรกแซงได้ง่าย อาจจะขาดการเคลื่อนที่แหลมคม ฉะนั้นอาจจะต้องดูบริบทว่าวิธีการแบบไหนจะเหมาะสม”
“ผมยกตัวอย่างขบวนเดินทะลุฟ้าของไผ่ ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะฟื้นฟูขบวนการที่ซบเซา แต่เมื่อคนกระจายไปแล้ว จึงทำให้ม็อบของไผ่เป็นแค่หนึ่งในม็อบที่มีความสำคัญเท่าม็อบอื่น เราไม่สามารถให้ความสำคัญของม็อบใดม็อบหนึ่งได้” สมบัติกล่าว
ตีโจทย์ใหม่การเมือง-การม็อบ อะไรคือตรงกลาง
เกษียร เตชะพีระ เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งของการเมืองไทยไว้ว่า ตอนนี้มีบรรยากาศและจังหวะก้าวที่แตกต่างกันของการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม โดยการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว คำถามสำคัญก็คือเราจะผสานสามส่วนที่ไม่ลงรอยนี้เข้าด้วยกันอย่างไร
เดชรัตกล่าวว่า ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘การเมืองภาคประชาชน’ ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ‘ปฏิกิริยา’ และ ‘ปฏิวัติ’ ต้องพยายามเข้าสู่ทั้งสองฝ่าย และต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการยอมรับกันทุกฝ่าย
“ตอนนี้ปฏิรูปเกิดขึ้นไม่ได้เพราะฝ่ายการเมืองที่เราเรียกว่าฝ่ายปฏิกิริยาถูกควบคุมโดยฝ่ายอำนาจรัฐจนเกือบสมบูรณ์ แม้ว่าในฝ่ายปฏิกิริยาจะมีสามขาคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ขาอื่นไม่สามารถมาคานขาอำนาจฝ่ายบริหารได้เลย เราจึงไม่สามารถสร้างขาปฏิรูปได้”
อย่างไรก็ตาม เดชรัตเสนอว่า แม้ฝ่ายปฏิกิริยาจะยังไม่ตอบรับข้อเสนอมากนัก แต่ฝ่ายขับเคลื่อนเรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรมก็จำเป็นต้องพยายามยกระดับให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ กลุ่มนักเรียนเลวเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น
แน่นอนว่าหนึ่งในประเด็นเรื่องการปฏิรูป มีหนึ่งประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่และอ่อนไหวในสังคมไทย คือประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เดชรัตมองว่า แม้หลายคนจะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่เกิดการยกระดับนำข้อเสนอมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ซึ่งเดชรัตเสนอว่า สองสถาบันที่จะช่วยทำให้เกิดการพูดคุยในประเด็นนี้ได้คือสื่อมวลชนและสถาบันการศึกษา
“ที่ผ่านมาสองสถาบันนี้เข้ามามีบทบาทในการพูดคุยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์น้อยไปนิดหนึ่ง ไม่เกิดเวทีมากพอที่จะพูดคุยกันอย่างระมัดระวังในความเข้าใจที่แตกต่างกันของทุกฝ่าย สองสถาบันนี้ต้องทำหน้าที่ให้เกิดการปฏิรูป ดึงเอาฝ่ายปฏิกิริยาเข้ามานั่งฟัง แล้วช่วยฝ่ายปฏิวัติให้เสนอข้อเสนอที่ฝ่ายปฏิกิริยาจะทำความเข้าใจได้ดีขึ้นกว่านี้”

ต่อประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สมบัติ บุญงามอนงค์ มีความเห็นว่าต้องมีการสื่อสารที่ระมัดระวังและรักษาบรรยากาศโดยรวมของสังคมไว้ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและยังไม่เข้าใจกับข้อเสนอนี้
“สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการคุยเรื่องอ่อนไหว พอคนฟังไม่คุ้นกับการฟังเรื่องนี้ แม้แต่พูดถึงในเชิงหลักการ เขาก็รับไม่ได้ เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมการคุยแบบนี้มาก่อน ในขณะที่ฝั่งผู้พูดเอง ก็อาจจะต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ ก็ต้องมีการสื่อสารที่ระมัดระวัง ต้องรักษาบรรยากาศโดยรวมของสังคมไว้ในกรณีที่ไม่ใช่มีแต่คนอยากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่มีคนบางกลุ่มที่เขาไม่คุ้นเคย แล้วเขารู้สึกว่าไม่เป็นประเด็นที่จะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กันในที่สาธารณะขนาดนี้”
สมบัติกล่าวต่อว่าการสื่อสารกับสังคมในวงกว้างในประเด็นที่ใหญ่และอ่อนไหวเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการพูดคุย ไม่เร่งรีบ และต้องรอ
“เราต้องคุยกันจนคนในสังคมมีโอกาสขบคิด ได้ยินประเด็นจริงๆ เพราะตอนที่คุยกัน ถึงจุดหนึ่งฝ่าย IO ก็จะเริ่มเบี่ยงประเด็น จนทำให้การได้ยินและการโต้เถียงกันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานในเชิงหลักการ แต่เป็นการทำสงครามทางข้อมูลข่าวสาร เป็นประเด็นทางเทคนิคล้วนๆ ทำให้เวลาที่เราดูเหมือนคุยกันในเรื่องนี้ไม่ใช่การพูดคุยกัน แต่คือการด่าทอกัน ดังนั้นต้องทำให้เกิดการพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ”
“เราต้องเข้าใจว่าม็อบเป็นผู้คน เป็นการเคลื่อนไหวของคนที่เรียกร้องและเขามีอารมณ์ไม่พอใจอยู่ ดังนั้นท่วงทำนองของการสื่อสารจึงเป็นการสื่อสารในหมู่คนที่อยู่ในอารมณ์เดียวกัน ซึ่งก็จะไม่รู้สึกว่าการสื่อสารนั้นเกินไป แต่เราต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การสื่อสารกับตัวเอง แต่เป็นการขยายความคิดออกไปในวงกว้าง ซึ่งอาจจะมีคนที่คิดต่างแบบสุดขั้วหรือเป็นคนที่ไม่คิดอะไรเลย แต่จุดเดือดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความร้อนของม็อบไม่เท่ากับอารมณ์ความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างนอก และด้วยความต่างนี้เอง จึงทำให้คนยังเห็นต่างกัน” สมบัติกล่าว
ก้าวต่อไปของการต่อสู้ หาฉันทมติด้วยสันติวิธี
นอกจากโจทย์เรื่องการสื่อสารกับสังคมแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวเองก็ยังต้องต่อสู้กับการปราบปรามจากภาครัฐ เช่นเดียวกับที่ต้องต่อสู้เพื่อให้การปฏิรูปในระบบเกิดขึ้นจริง โจทย์ที่เป็นศึกรอบด้านเช่นนี้จึงทำให้ทุกก้าวย่างเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไม่มีทีท่าจะลดราวาศอกในการปราบปรามผู้ชุมนุม การหาช่องทางเข้าทำเพื่อรับมือกับสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้จึงยิ่งต้องขบคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน
เดชรัตเสนอว่าจำเป็นต้องมีการประสานความคิดกันมากขึ้น และพยายามให้น้ำหนักกับเรื่องการปฏิรูป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ฝ่ายปฏิกิริยาอาจจะไม่ได้ยอมทำตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายๆ คงมีการวางยาซ่อนไว้ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเราพยายามประสานระหว่างม็อบที่เป็นการเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมให้โยงเข้ากับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในเชิงจังหวะเวลาและประเด็นเชิงเนื้อหา ก็น่าจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสอดประสานในจังหวะเวลาที่ตรงขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้”
“ในเชิงการเมือง ฝ่ายปฏิกิริยาพยายามทำให้การตอบรับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกลับหัวกลับหาง กลายเป็นว่าฝ่ายที่ก้าวหน้ามากๆ ในสังคมก็อาจจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยเกินไป จึงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งอาจจะไปตรงกับฝ่ายปฏิกิริยาที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย พอกลับหัวกลับหางแบบนี้อาจทำให้พลังการเคลื่อนไหวลดลง เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหารือและวางทีท่าให้เหมาะสม”
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เดชรัตจึงตีโจทย์การเมืองไว้ 3 โจทย์ โดยเสนอรูปการณ์ที่น่าจะเป็นไว้ดังนี้
หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเดินหน้า ซึ่งฝ่ายปฏิกิริยาน่าจะจะวางแผนให้เดินหน้าเช่นกัน แต่อาจมีประเด็นกลับหัวกลับหางดังที่กล่าวไปข้างต้น
สอง ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอาจมีปัญหากันมากขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะโยงไปสู่ประเด็นทางการเมืองได้มาก หากมีปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลไม่สามารถคุมพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็จะนำมาสู่ข้อที่สามคือ รัฐบาลอาจยุบสภา แล้วหวังว่าจะชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกรอบโดยที่ยังไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นไพ่ตายใบสุดท้ายที่รัฐบาลเอามาใช้ในปี 2564
ส่วนในทางการม็อบ เดชรัตมองว่า ต้องทำให้ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคืบหน้าไปได้ไกลที่สุด และต้องมีเนื้อหาที่ดีพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ‘รัฐธรรมนูญที่ดีเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์’ ในคราวนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องถอดสลักปัญหาสำคัญออกไปก่อนให้ได้ ซึ่งถ้าเดินหน้าไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แรงกดดันจะตกไปอยู่ที่รัฐบาลมากขึ้น ส่วนประเด็นไพ่ตาย ‘ยุบสภาเลือกตั้งใหม่’ นั้น อาจยังเกี่ยวพันกับความรู้สึกของประชาชนในสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็มีความเสี่ยงของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นขบวนการประท้วงควรเดินหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้
ด้านสมบัติมองว่าก้าวต่อไปของม็อบ จำเป็นต้องมองภาพรวมให้ได้ก่อนว่าคนทุกกลุ่มรู้สึกอย่างไรในเวลานี้ และพยายามหาทางประนีประนอม
“ตอนนี้ไปต่อแบบนี้ไม่ได้ แม้ว่าม็อบจะรู้สึกเหมือนเดิม มีความมุ่งมั่นเหมือนเดิม แต่ความเหนื่อยล้าชัดมาก โดยเฉพาะแกนนำบอบช้ำมาก ประกอบกับมีฝ่ายปฏิกิริยาที่รวมกลุ่มกันได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถแสดงตัวได้เทียบเท่ากับฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่คนกลุ่มนี้เมื่อไปผนวกรวมกับอำนาจรัฐแล้ว เขายังสามารถรักษาสถานะของตัวเองได้”
“ผู้เรียกร้องต้องทำให้สังคมเห็นว่า เจตจำนงของผู้ชุมนุมตั้งอยู่บนเหตุผล บนบริบทของสังคมและโลก อยู่บนความเป็นจริงในภววิสัยว่ามีความจำเป็นแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในเรื่องที่มีข้อเรียกร้อง แต่ทำอย่างไรให้สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ถูกมองเป็นเรื่องการทำลายล้าง หรือความจงเกลียดจงชังเป็นการส่วนตัว แต่เป็นความจริงที่การพัฒนาทั้งหลายจะต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศตกต่ำ มีปัญหาหลายด้าน เราจะได้แนวร่วมของคนกลางๆ”
“ผมคิดว่ามีคนกลางๆ อยู่จริง ไม่ใช่มีความเห็นแบบอยู่ตรงกลางนะ แต่คือคนที่แม้เขาจะรู้สึกว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้นอยู่บนพื้นฐานของปัญหา แต่เขาไม่มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแบบไหน หรือค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงจะแพงขนาดไหน ซึ่งนี่เป็นปัญหามากของการเคลื่อนไหวในทางการเมืองของเราหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยเสื้อเหลืองเสื้อแดง” สมบัติกล่าว
เมื่อกลับมามองที่ความเป็นจริง การพูดคุยกันในบรรยากาศที่ความขัดแย้งในสังคมยังมีอยู่มาก และรัฐยังคงปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงอยู่ ความหวังในการพูดคุยในบรรยากาศเช่นนี้จะเป็นไปได้จริงแค่ไหน สมบัติให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่แกนนำต้องแสดงออกว่าพร้อมจะพูดคุยกับฝั่งรัฐบาล
“ผมยกตัวอย่างที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศว่าม็อบต้องการอะไรให้มาคุยกัน ผมว่าน่าสนใจนะถ้าสมมติไผ่ ดาวดิน บอกว่าผมขอคุยกับพลเอก ประวิตรหน่อย เรารู้ว่าการคุยครั้งนี้อาจจะไม่ได้อะไรนะ แต่นี่คือการคุยกับคนในสังคม ไม่ได้คุยกับพลเอก ประวิตร ดังนั้นพลเอก ประวิตรอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ให้เราแสดงวุฒิภาวะ และเป็นการสื่อสารสาธารณะ เปิดบทสนทนาใหม่ๆ อาจคุยกันผ่านสื่อหรือบนเวทีสถาบันการศึกษา แล้วประเด็นที่คุยกันหลังจากนั้นจะนำไปสู่การอภิปรายในสังคม”
สมบัติยังขยายประเด็นอีกว่า สังคมต้องกลับมาพูดเรื่องสันติวิธีอย่างจริงจัง “เราจำเป็นต้องพูดเรื่องสันติวิธี เพราะถ้าเราออกจากกรอบสันติวิธีจะเป็นภัยต่อขบวนมาก เราต้องรักษาความชอบธรรมและบรรยากาศไว้ ซึ่งไม่มีอะไรดีกว่าสันติวิธี”
ด้านเดชรัตเสริมว่าเรื่องจังหวะเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรดูให้แน่ชัดว่าเวลาไหน ควรจะยกประเด็นอะไรมาพูดคุยด้วยท่าทีแบบไหน และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด
“ที่ผ่านมาในปี 63 ม็อบทำได้ดีมาก ทำให้เกิดการพูดคุยในสังคมได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีการนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ซึ่งเลยยาวมาจนถึงปีนี้ เช่น ประเด็นเรื่องตั๋วช้าง ถ้าเราเคลื่อนไหวแล้วเกิดการพูดคุย จนสังคมเห็นสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น รวมถึงสิ่งที่เป็นเป็นไปได้ในอนาคต ผมคิดว่าสังคมก็ติดตาม เหมือนเช่นที่ติดตามในปี 63 แล้วก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่บอกว่า ผมแทบนึกไม่ออกว่าในตอนต้นปี 63 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้ การคุยกับสังคมเป็นจุดแข็งที่ม็อบทำได้ดีมากในปี 63 และจำเป็นต้องทำต่อเนื่องไป” เดชรัตกล่าว

สู้เกมยาว แย่งชิงพื้นที่ทางความคิด
“ถ้าพูดถึงการต่อสู้ระยะยาว คนที่จะอยู่ฝ่ายที่ถูกต้องหรือชนะจะต้องเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้าเท่านั้น พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริง คือพื้นที่ในสมองหรือความคิดของผู้คน ดังนั้นเครื่องมือหรือวิธีการต่อสู้คือข้อมูล หลักการ และเจตจำนง” สมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวถึงประเด็นการต่อสู้ทางความคิดในระยะยาว ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างฉันทมติในสังคม โดยขยายความต่อว่า
“ทั้งหลักการและวิธีการที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เกินครึ่งค่อนเห็นด้วยโดยดุษฎี จะต้องเป็นสิ่งที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และสวยงาม ผมอาจจะพูดโรแมนติกนิดหนึ่ง แต่เราต้องพยายามขยายสร้างแนวร่วม เราต้องใช้เหตุผลมากขึ้น และการต่อสู้กันในแนวนี้จะดึงให้อีกฝ่ายพยายามปรับปรุงตัวเอง เพื่อทำให้ตัวเองดีขึ้น
“ความขัดแย้งมีสองแบบ คือ ขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ กับ ขัดแย้งแบบทอนกำลังกัน ที่ผ่านมาเวลาเกิดความขัดแย้ง ทั้งสองฝ่ายเละทั้งคู่เพราะลุยกันแหลก แต่ถ้าพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ได้ จะทำให้ตัวเราเองต้องพัฒนาและคู่ขัดแย้งก็ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปรับตัวกับสิ่งที่ก้าวหน้ากว่า ฝ่ายนั้นก็จะสูญเสียความชอบธรรมไปในที่สุด เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะล่มสลาย อันนี้คิดแบบโจทย์ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้นะ”
สมบัติย้ำว่าต้องมีความเชื่อมั่นว่าคนสามารถเปลี่ยนความคิดได้ “แม้แต่คนที่ยังไม่เห็นด้วยกับเรา หรือวิพากษ์วิจารณ์เรา เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความมุ่งมั่นนี้ แล้วพยายามอธิบาย พัฒนาข้อเสนอที่สอดคล้อง และสุดท้ายคนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนใจได้”
เช่นเดียวกับที่เดชรัตก็เชื่อว่าขบวนการยังสามารถไปต่อได้ โดยการชวนให้สังคมในวงกว้างเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับขบวนการ
“เราอาจจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ดั่งใจ แต่ไม่ใช่ว่าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ผมเชื่อว่าเรายังสามารถไปต่อได้ และคำถามบางอย่างที่เร่งให้ไปสู่ชัยชนะมากเกินไปอาจจะบั่นทอนเรา ทำให้เราตัดสินใจทำอะไรที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการในระยะยาวได้ และผมก็เชื่อว่า รอบต่อไปจะมีคนใหม่ๆ เข้ามาอีก”
เดชรัตยังกล่าวเสริมด้วยว่า กลุ่มคนที่ไม่ใช่แกนนำ แต่อยากช่วยเหลือขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ก็สามารถช่วยได้ในรูปแบบของตัวเอง
“คนอื่นๆ ที่เฝ้าดูน้องๆ อยู่ อาจจะต้องหาวิธีการเสริมแง่มุม นอกเหนือจากการไปร่วมชุมนุม การไปร่วมชุมนุมก็ดีอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้เราคุยกับคนที่อาจจะไม่ได้คุยกับน้องๆ โดยตรงได้ดีขึ้น เช่น ชวนคุยในแง่มุม ภาษา รูปแบบ และวิธีการใหม่ๆ ตรงนี้น่าจะเป็นภารกิจที่ช่วยน้องๆ ได้” เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย
ส่วนสมบัติเองก็ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ทุกคนล้วนสัมผัสรสชาติของแรงกดดัน แต่ขอให้เบิกบานกับการลงถนน
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญ โดยเฉพาะน้องๆ ที่ออกไปอยู่ข้างนอก คือรสชาติการต่อสู้ทางการเมืองบนถนน กลุ่มต่างๆ ที่ลงบนถนนต่อสู้ล้วนสัมผัสรสชาติและแรงกดดัน สภาพการณ์แบบนี้จะทำให้เราบ้า หรือไม่เราก็ต้องทำให้สิ่งนี้เป็นการเรียนรู้ เป็นสนามทดลอง แล้วอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุข ให้บันเทิง มีอยู่สองทางเลือก ไม่บ้าก็บันเทิง แต่ผมว่าบันเทิงดีกว่า ขอให้เราต่อสู้ด้วยความเบิกบาน”
