fbpx

101 PUB ตั้งวงตีโจทย์ไทยหลังเลือกตั้ง: 18 ความคิด จาก 18 คนบนถนนนโยบายสาธารณะไทย

บทต่อไปของประเทศไทยหลังเลือกตั้งจะก้าวเดินไปทางไหน? มีความท้าทายอะไรรออยู่? โจทย์วิจัย โจทย์ปฏิบัติการ หรือโจทย์ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ มีอะไรบ้าง? และตัวละครต่างๆ ในโลกนโยบายสาธารณะตีโจทย์ประเทศไทยอย่างไร?

ในวาระครบรอบหนึ่งปีของ 101 PUB (101 Public Policy Think Tank) หรือศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 เชิญชวน ‘เพื่อนร่วมทาง’ ในโลกนโยบายสาธารณะ ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักเคลื่อนไหวทางสังคม และสื่อมวลชน มาร่วมตั้งวงระดมสมองว่าด้วย ‘บทต่อไป’ ของประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ในงาน 101 PUB Policy Dialogue “Thailand’s Next Chapter: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง” ณ Foreign Correspondents’ Club of Thailand (FCCT) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566

บรรทัดถัดจากนี้คือประมวลความคิดของเหล่าแขกรับเชิญ : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล – อาร์ม ตั้งนิรันดร – ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ – สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ – จีรนุช เปรมชัยพร – วรากรณ์ สามโกเศศ – วนิดา เปาอินทร์ – พิภพ อุดร – กันต์รวี กิตยารักษ์ – ประภาส ปิ่นตบแต่ง – ภาวิน ศิริประภานุกูล – โตมร ศุขปรีชา – ศิริกัญญา ตันสกุล – เผ่าภูมิ โรจนสกุล – บวรศม ลีระพันธ์ – สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ – มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด – สุภกร บัวสาย

อ่านเพิ่มเติม:

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ โดย ปกป้อง จันวิทย์

เช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB โดย ฉัตร คำแสง

101 PUB Policy Dialogue: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง คำถามที่สังคมไทยต้องคิดต่อ โดย สมชัย จิตสุชน ณัฐยา บุญภักดี ประจักษ์ ก้องกีรติ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

วิกฤตโลกนานัปการกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เมื่อทั้งโลกต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซียยูเครน รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจเงินเฟ้อ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สื่อมวลชน ผู้ดำเนินรายการ ‘เช้าทันโลก’ FM 96.5 ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมามีหลายช่วงที่สถานการณ์ภาพรวมของโลกน่าจะดีขึ้นได้ ทว่ากลับมีอุปสรรคสำคัญคือ ‘ทุนใหญ่’ ที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง เมื่อนายทุนยักษ์ใหญ่หลายเจ้ามุ่งเพียงจะเอาผลกำไร จนทำให้ทั้งโลกพลาดโอกาสแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปหลายต่อหลายครั้ง

กรรณิการ์ยกตัวอย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ ในเวลานั้นหลายประเทศมีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเครื่องมือแพทย์ต่างๆ จึงมีการพูดถึง ‘TRIPS Waiver’ หรือข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ออกไปอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

ทว่าสุดท้ายข้อเสนอ TRIPS Waiver ก็หมดสภาพไป เนื่องจากบรรดาบริษัทยาและวัคซีนในประเทศยักษ์ใหญ่หลายแห่งพยายามคัดค้านและต่อเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์จากการค้าขายและจัดจำหน่ายยาและเครื่องมือแพทย์ในช่วงวิกฤตโรคระบาด กรรณิการ์กล่าวว่าสถานการณ์นี้สะท้อนว่าทุนใหญ่กับรัฐบาลมักจับมือกันรักษาผลประโยชน์และอำนาจของตนเองไว้ ซึ่งนอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงานด้วย

“แน่นอนว่าผู้มีอำนาจจะไม่ท้าทายอำนาจทุนใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องภาษีลาภลอยหรือภาษีการกลั่น ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงานได้อภิมหากำไร แต่ทุนใหญ่เหล่านี้ไม่เคยโดนท้าทายจากภาครัฐเลยสักครั้ง” กรรณิการ์ตั้งข้อสังเกต

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ในขณะที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองโจทย์นโยบายต่างประเทศในโลกยุคใหม่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก อาร์มให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ นโยบายต่างประเทศผูกโยงกับนโยบายภายในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาเล่าว่าในอดีตเวลามีการเลือกตั้ง หลายคนอาจมองว่าเราไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องนโยบายต่างประเทศมากนัก เพราะอย่างไรเสียก็เป็นความเห็นของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายภายในของประเทศ ทว่าในปัจจุบันนโยบายต่างประเทศทั้งเรื่องจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ที่นานาชาติจับตามอง และเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องให้ความสำคัญ

“ตอนนี้ที่ทางและจุดยืนของไทยในเรื่องนโยบายต่างประเทศเริ่มเกี่ยวกับทั้งนโยบายเศรษฐกิจและจุดยืนทางการเมืองมากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายต่างประเทศสำคัญขึ้นมาก”

ประเด็นที่สอง อาร์มเสนอว่าเวลาเราพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราควรจะร่วมกันขบคิดให้ตกผลึกมากขึ้นว่าปัญหาของไทยเป็นปัญหาร่วมสมัยที่ทั้งโลกต้องพบเจอเหมือนกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือโรคระบาด และหากเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมสมัยของคนทั้งโลก การเรียนรู้ร่วมกันและศึกษาแนวทางการปรับตัวจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่พบความท้าทายเหมือนกับไทยถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่น่าสนใจ

“เราควรมองว่าบางปัญหาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะวัฒนธรรมไทยหรือไม่ หรือเป็นจุดร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ถ้าเราลองมองออกไปที่โลกภายนอกบ้างน่าจะช่วยเสริมโจทย์เรื่องนโยบายต่างๆ ของเราได้ดีมากขึ้น” อาร์มให้ความเห็น

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

จากสถานการณ์ความปรวนแปรของโลกนี้ที่นับวันยิ่งมีวิกฤตปัญหานานัปการเข้ามาท้าทาย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าในช่วงที่ผ่านมาประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับโลกและระดับประเทศเป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของตนอย่างมาก ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ผนวกด้วยการส่งต่อข่าวสารอย่างรวดเร็วฉับไวของสื่อทุกสำนักทั่วโลก เรื่องราวข่าวร้ายที่ประเดประดังเข้ามาทำให้มนุษย์รู้สึกสิ้นหวังไร้หนทาง การจัดการกับความรู้สึกของตนไปพร้อมๆ กับร่วมหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้โจทย์นโยบายด้านการเมืองอื่นๆ

“ตอนนี้ทั้งยูทูบและพอดแคสต์ต่างๆ กลายเป็นสื่อที่มีเยอะและทำงานเร็วมาก สามารถย่นเวลาร้อยปีให้เหลือนิดเดียวเท่านั้น จึงเกิดแรงสั่นสะเทือนเหมือนเราเป็นพระเจ้าที่มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลกได้หมด เพียงแต่ในความเป็นจริงเราไม่ใช่พระเจ้า เราเป็นมนุษย์ ปัญหาหลายอย่างที่เรารับรู้มาจึงทำให้เกิดความอัดอั้นตันใจ”

“บางครั้งผมฟังข่าวเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ วิกฤตสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวก็ไฟไหม้ที่นู่น น้ำท่วมที่นี่ ทั้งสงครามรัสเซียยูเครนอีก กลายเป็นว่าเรายิ่งรู้ยิ่งเห็นมากขึ้น แต่เราไม่มีทางออก ความรับรู้ต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในโลกจึงทำให้เราเป็นทุกข์ เหมือนเป็นโศกนาฏกรรมมากกว่าเป็นความหวังหรือความสุข สะท้อนความรู้สึกว่าตอนนี้โลกมีสองด้าน คือด้านที่พัฒนาจนเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นมาในอดีต กับผลเสียด้านลบที่ตามมาอย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาวการณ์เช่นนี้ของโลกย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องย้อนมามองแนวทางการสร้างสรรค์นโยบายของไทยหลังการเลือกตั้ง รวมถึงโจทย์การปฏิรูปต่างๆ ในประเทศ อย่างไรก็ดี ธเนศกล่าวตามตรงว่าโจทย์ทางการเมืองและสังคมของไทยหาทางออกได้ยากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่เอื้อต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ทั้งยังมีมิติของการปกปิดและหมกเม็ดเรื่องอำนาจและผลประโยชน์มาโดยตลอด 

มากไปกว่านั้น ธเนศชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์ของไทย ซึ่งเกิดจากการพยายามผนวกตัวเองให้เหมือนกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบชาติตะวันตก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยไม่สามารถเข้าสู่การผลิตขนาดใหญ่แบบตะวันตกได้เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง จนถึงปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าระบบทุนนิยมไทยถูกผูกขาดอยู่ที่ผู้มีอำนาจและทุนใหญ่ภายในประเทศเท่านั้น

“ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคสร้างรัฐชาติ ประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์จำนวนน้อยในโลกที่ประสบความสำเร็จ ชนชั้นนำไทยไม่เคยเจอสถานการณ์ที่จะต้องทุ่มสุดตัวเพื่อแก้ปัญหา และสนใจแต่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อชนชั้นนำ ซึ่งเรากินบุญเก่ามาจนถึงตอนนี้”

“สิ่งที่ชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จคือการยึดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกเข้ามาไว้ได้ด้วยการผนวกตัวเองเข้ากับระบบทุนนิยมตะวันตก ทว่าเราไม่มีพื้นฐานของระบบทุนแบบประเทศตะวันตก ระบบทุนของไทยจึงกลายเป็นแค่ทุนอุปถัมภ์หรือทุนพ่อค้า ชนชั้นนำกับนายทุนผูกขาดในประเทศร่วมมือกันตลอดเวลามาจนถึงทุกวันนี้ และต้องยอมรับว่า ณ ตอนนี้เรายังไม่มีเครื่องมือหรือกลไกที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบนี้ได้” ธเนศอธิบาย

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เสริมประเด็นความรู้สึกสิ้นหวังของคนในสังคม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของภาครัฐและผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะในแง่ของอำนาจรัฐ อำนาจเงิน หรืออำนาจของความรู้ นำมาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมและการขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งสมศักดิ์ได้ฝากโจทย์ไว้ 2 ข้อ

ข้อแรก เมื่อปัญหาต่างๆ เข้ามากระทบ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสภาพหมดหวังของผู้คน สมศักดิ์เสนอว่าวิธีแก้ไขเบื้องต้นคือเราอาจต้องใช้จินตนาการมากขึ้น เพราะการอยู่กับปัญหาเยอะเกินไปจะทำให้สภาพร่างกายและจิตใจห่อเหี่ยว และเสนอว่าเราควรตั้งคำถามกับระบบและโครงสร้างในสังคมไทยกันมากขึ้นกว่านี้

ข้อที่สอง การที่สังคมพยายามร่วมกันทำให้ประเทศชาติดีขึ้นผ่านการใช้ความรู้และการรวมพลัง โดยมีความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถจัดการกลไกที่มีอำนาจต่างๆ ได้ นับเป็นหมุดหมายที่ดีและเป็นวิธีการหนึ่งที่สังคมจะช่วยกันพัฒนาต่อและเบิกทางกันต่อไปได้

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

เช่นเดียวกันกับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ เธอเห็นด้วยกับความเห็นของ ศ.ดร.ธเนศ ในประเด็นที่สถานการณ์ต่างๆ ในโลกบีบบังคับให้มนุษย์สูญสิ้นความหวังและแรงใจในการใช้ชีวิต จีรนุชยังเสริมถึงปัญหาที่ฝังรากลึกในไทย คือการที่ระบบการเมืองการปกครองถูกปฏิรูปจนเละเทะในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบโครงสร้างหลายอย่างต้องการการฟื้นฟูอย่างหนัก ส่งผลให้สังคมต้องกลับมามองโจทย์ของการสร้างคุณค่าสำคัญของประเทศ รวมถึงคุณค่าที่จะทำให้ประชาชนยังสามารถหล่อเลี้ยงความหวังและมีความเชื่อมั่นในประเทศและโลกนี้ต่อไปได้

“นับวันสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองโง่ลง และยิ่งโง่ลงก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้เยอะมาก และในสังคมที่ไม่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้เรามองไม่เห็นปัญหาในภาพใหญ่ จึงเป็นงานยากของคนที่ต้องตีโจทย์ทำงานวิจัยในยุคนี้” 

จีรนุชตบท้ายด้วยการเชิญชวนทุกท่านมาร่วมจินตนาการถึงสังคมที่เราอยากอยู่ร่วมกันในอนาคต และร่วมปักธงคุณค่าสำคัญที่เราควรยึดมั่นต่อไป “เรามีภาพสังคมที่เราอยากเห็น คือสังคมที่ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีความสุขได้ในประเทศนี้ หรือทำให้เราพร้อมที่จะมีลูกหลานในประเทศนี้มากกว่าจะตัดสินใจเป็นโสด แต่เราจะสร้างสังคมนั้นได้อย่างไรในภาวะที่เรารู้สึกไร้อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐก็น้อยลงไปทุกวัน โจทย์สำคัญของเราคือการกอบกู้สังคมและสร้างประเทศที่จะเป็นอนาคตให้เด็กๆ ได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย

จีรนุช เปรมชัยพร

โจทย์ของผู้ใหญ่ในวันนี้คืออนาคตของเด็กในวันหน้า

ขณะที่พัฒนาการของโลกกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึงความกังวลเรื่องระบบการเรียนรู้เด็กไทยที่ถดถอยลงจนอาจตามไม่ทันกระแสธารการเปลี่ยนแปลงของโลก วรากรณ์ระบุว่ามีสถิติออกมาชัดเจนว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมากกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้อยู่ใน 30% ในระดับกลุ่มที่ยากจนที่สุด รวมกันเป็นตัวเลขประมาณ 7 ล้านคน 

ในขณะที่การเรียนรู้ของเด็กไทยมีแต่จะย่ำแย่ลงทุกวัน เมื่อหันไปมองพัฒนาการของโลกในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนโลกมากที่สุดคือการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่นับวันยิ่งมีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ วรากรณ์มองว่าการเข้ามาของ AI จะทำให้ระบบการเรียนรู้ของโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ต่อไปข้างหน้าเด็กอาจมีเพื่อนคู่หูเป็น AI ที่คอยสอนบทเรียนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ทว่าวรากรณ์มองว่าสิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับเด็กไทย เพราะสถาบันครอบครัวยังคงเป็นสถาบันที่มีปัญหามากในสังคม รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง นี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ภาครัฐต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อให้เด็กไทยก้าวทันความเปลี่ยนไปของโลก

“มีสุภาษิตต่างประเทศบอกว่า ‘ลูกเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่สุดของคนยากจน’ แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ของไทย ลูกไม่สามารถเป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของครอบครัวได้เลย ยิ่งตอนนี้ระบบการเรียนรู้ของเด็กไทยเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำสูง” วรากรณ์ฝากโจทย์เรื่องนี้ให้ทุกคนร่วมขบคิด

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ 

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กได้รับความรุนแรง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มองว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือการที่คนไทยถูกสอนให้ไร้ซึ่งอำนาจและมีพลังภายในตัวเองค่อนข้างต่ำ ซึ่งภาวะไร้อำนาจจะทำให้คนไม่มีการไตร่ตรองและไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างกระจ่างแจ้ง เพราะฉะนั้นปัญหาของสังคมไทยคือการขับเคลื่อนประเทศด้วยคนที่มีทรัพยากรมากกว่าผู้อื่นแต่มีความสามารถในการไตร่ตรองต่ำ ซึ่งวนิดามองว่ากลุ่มคนนี้จะยิ่งทำให้สังคมไปถึงทางตัน 

“คนที่มีทรัพยากรมากกว่าคนอื่นแต่ไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ไม่เป็น อาจจะไม่ใช่คนไม่ดี เพียงแต่เขากำลังพยายามปกป้องสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งการทำแบบนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยากลำบากขึ้นไปอีก”

มากไปกว่านั้น วนิดาให้ความเห็นว่าความหวังที่สำคัญที่สุดของสังคมในตอนนี้ คือเด็กที่กำลังเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ เธอมองว่าปัจจุบันเด็กไม่เพียงถูกสอนด้วยครูหรือพ่อแม่ที่อาจมีความคิดเก่าๆ แต่เด็กยังถูกสอนด้วยอินเทอร์เน็ตซึ่งมีชุดข้อมูลรูปแบบใหม่เข้าไปท้าทายสมองของพวกเขา โจทย์สำคัญคือสังคมไทยจะทำอย่างไรให้สมองของเด็กไม่ถูกกดจนความสามารถในการไตร่ตรองเสียหายไป เพราะหากเด็กมีความสามารถในการไตร่ตรองจะทำให้มองเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ในขณะเดียวกันหากเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมในด้านนี้อาจนำไปสู่ผลเสียทั้งต่อตัวเด็กและสังคมภาพใหญ่ในอนาคต

ทั้งนี้ วนิดากล่าวว่าการที่เด็กจะได้รับการดูแลและมีโครงการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเล็กในทุกระดับสังคมและทุกฐานะ เหล่านี้เป็นหน้าที่หลักที่ควรทำของกระทรวงศึกษาธิการไปจนถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“ถ้าสร้างเด็กได้ เราก็จะสร้างอนาคตได้ แต่ถ้าสร้างเด็กไม่ได้ เราก็จะได้อนาคตแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้” วนิดาเสริม

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์

กาลเวลาที่หมุนไปย่อมมาพร้อมการเติบโตขึ้นใหม่ของเจนเนอเรชันต่างๆ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปรากฏการณ์ที่ตัวเองสนใจอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องของการที่คนหลากหลายรุ่นต้องทำงานร่วมกันในองค์กรเดียวกันและใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม พิภพกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในสังคม คือช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้คนแต่ละรุ่นไม่สามารถสื่อสาร ทำความเข้าใจหรืออยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกโจทย์ที่โยงได้ไปถึงอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ฝังรากลึกในสังคม และเป็นปัญหาที่ทำลายศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต  

“เวลาเราพูดถึงคนรุ่นต่างๆ ด้านหนึ่งมีความเหมารวมว่าคนที่เกิดในช่วงเวลาเดียวอาจมีความคิดความอ่านหรือค่านิยมต่างๆ คล้ายกัน เพราะอาจถูกหล่อหลอมด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่ตอนนี้ในหนึ่งองค์กรมีแนวโน้มจะมีคนประมาณ 4-5 เจนฯ และยิ่งความต่างของช่วงวัยห่างกันมากเท่าไหร่ ช่องว่างความเข้าใจระหว่างกันก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” พิภพให้ความเห็น

รศ.ดร.พิภพ อุดร

อีกหนึ่งประเด็นเกี่ยวกับเด็กที่น่าสนใจคือนโยบายด้านความยุติธรรมของไทยที่เป็นที่จับตามองอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา กันต์รวี กิตยารักษ์ ผู้จัดการโครงการ สำนักงานนวัตกรรมด้านความยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชวนมองอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมของเด็ก จากการทำงานในแวดวงความยุติธรรมโดยตรง เธอให้ข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหรือระบบการทำงาน สุดท้ายกลายเป็นว่าพวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำหรือสถานพินิจอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่างที่บีบให้พวกเขากระทำความผิดจนพลาดโอกาสมีอนาคตที่ดีของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

กันต์รวีชี้ให้เห็นว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเข้าไปในคุกหรือสถานพินิจ เหมือนต้องเข้าไปตลอดชีวิต หากเคยเข้าสถานพินิจก็มีโอกาสที่ในอนาคตจะทำความผิดซ้ำจนต้องเข้าคุก โดยอัตราการออกจากคุกแล้วกลับเข้าไปใหม่คือกว่า 40% ใน 1 ปี เธอกล่าวว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยมีทรัพยากรมากมายในการแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรม ทว่าทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาไม่ถึงเรื่องความยุติธรรมของเด็ก 

ทั้งนี้ เธอหวังเป็นอย่างมากว่าในอนาคตอันใกล้จะมีงานนโยบายที่สามารถพัฒนาให้กระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในการศึกษาเรียนรู้ที่สังคมให้ความสนใจ โดยอาจต้องมีการให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการลงทุนสร้างคุกหรือสถานพินิจไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวัฏจักรเช่นที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

กันต์รวี กิตยารักษ์

อนาคตประเทศไทยกับโจทย์ใหญ่หลังการเลือกตั้ง 2566

เมื่อชวนมองโจทย์การเมืองไทยผ่านสายตาของนักรัฐศาสตร์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีโจทย์การเมืองไทยผ่าน 3 คำสำคัญคือ ‘รัฐ การพัฒนา และความมั่นคง’ เขายกตัวอย่างการทำงานของสามคำนี้ผ่านงานศึกษาเรื่อง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ รวมถึงโครงการโคกหนองนาที่สะท้อนประเด็นการกระจายทรัพยากรที่เกิดขึ้นจากรัฐ

การเปลี่ยนแปลงของระบอบใหม่มีผลต่อการกระจายทรัพยากรในการพัฒนาและเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงโดยตรง โดยประภาสชี้ให้เห็นมิติของความมั่นคงผ่านการกลับคืนมาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งสะท้อนเรื่องการพัฒนา ทิศทางของการใช้งบประมาณ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการกระจายทรัพยากรในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในแถบชนบท 

“โจทย์เรื่องของรัฐ การพัฒนา และความมั่นคง เป็นโจทย์ที่เพิ่งกลับมาใหม่ โจทย์นี้คงไม่กลับไปเป็นแบบช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้มีผลอย่างมากในแง่ของรัฐรวมศูนย์ นำมาสู่เรื่องของนโยบายสาธารณะและการใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ” ประภาสอธิบาย

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับหลายประเด็นปัญหาในสังคมไทย รวมถึงเครื่องมืออย่างเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่อาจช่วยทำความเข้าใจปรากฏการณ์หลายอย่างในประเทศไทย เช่น เหตุผลที่คนไทยอาจไม่ค่อยมีนิสัยอดออม หรือสาเหตุที่ในไทยมีโครงการสนับสนุนเด็กปฐมวัยหลายอย่างแต่ผู้ปกครองกลับไม่ส่งเด็กไปเข้าร่วมโครงการ เหล่านี้เป็นโจทย์เรื่องนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กที่เขากำลังลงมือทำงานวิจัยชิ้นใหม่ร่วมกับ 101 PUB 

ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล

ประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิดคือโจทย์เรื่องการเรียนรู้กับสังคมไทย โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กล่าวว่ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่สนใจในขณะนี้ เรื่องแรก โตมรมองว่าว่าสังคมไทยมีวิธีการมองเรื่องความรู้สองแบบ รูปแบบแรกคือการมองแบบนักทฤษฎี หรือมองด้วยหลัก critical thinking ส่วนแบบที่สองมองว่าความรู้เป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้พัฒนาทักษะ เช่น หากพูดถึงความรู้เรื่องการเงิน ปัจจุบันมีการสอนตามคอร์สต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งใจสอน ‘ฮาวทูเป็นคนรวย’ เท่านั้น แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับภาพใหญ่ในสังคม

“เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือตอนนี้เรามีคอร์สสอนวิธีการทำข้าวมันไก่ แต่คอร์สเหล่านี้ไม่เคยชวนเราตั้งคำถามว่าไก่เหล่านี้มาจากระบบเลี้ยงแบบไหนหรือควรจะขายอย่างไร จึงกลายเป็นว่าการวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ในสังคมไทยแยกเป็นสองแบบระหว่างความรู้เชิงทักษะกับความรู้เชิงวิชาการหรือทฤษฎีโดยไม่เชื่อมโยงถึงกัน”

เรื่องที่สอง โตมรชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยมีความสามารถในเรื่องการสร้างอุปทานเชิงความรู้ โดยเฉพาะการสร้างศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ทว่าความรู้ที่อยู่ภายในกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงราวกับถูกแช่แข็งมานาน ในขณะที่อุปสงค์ของความรู้กลับเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ให้คุณค่าในการส่งเสริมเท่าที่ควร ทั้งที่ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงในชีวิต การให้ความสนใจกับความรู้ที่นอกเหนือไปจากความต้องการพัฒนาทักษะเพื่อให้ตัวเองมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย และการสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานให้ไม่เหลื่อมล้ำกันนับเป็นโจทย์ที่สำคัญไม่น้อย

“รัฐไทยสนใจแค่การทำให้ผู้เรียนมีทักษะตรงตามความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม มองแค่ว่านายจ้างต้องการแรงงานแบบไหน แล้วรัฐก็จะไปสอนคนให้ออกมาตรงกับความต้องการของนายจ้าง แต่กลับไม่เคยสนใจว่า demand ของคนทั่วไปคืออะไร รวมถึงการทำให้คนภูมิใจกับความต้องการความรู้ของตัวเองได้”

เรื่องที่สาม คือปัญหาระบบราชการไทยที่ตามไม่ทันเรื่องของการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โตมรให้ความเห็นว่า “รัฐไทยเอาแต่อนุมัติแค่โครงการเก่า กว่าจะได้งบประมาณที่ใช้ดำเนินนโยบายใช้เวลายาวนานเป็นปี ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงและกำลังเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา”

โตมร ศุขปรีชา

หากลองตีโจทย์การเมืองไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ร่วมลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในครั้งนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย เสริมประเด็นระบบราชการที่โตมรชวนคิดไปก่อนหน้า เธอมองว่าโจทย์นี้นับเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการทำอย่างไรให้งบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งยังเสริมว่าสำหรับตนเองที่เป็นนักการเมือง โจทย์จำเป็นเร่งด่วนที่สุดข้อหนึ่ง คือการเร่งยกเครื่องแก้ไขกระบวนการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีของภาครัฐ

“ระยะเวลากว่าสี่ปีที่ทำงานในสภาฯ ถึงจะได้เข้าไปคลุกวงใน พยายามทำทุกอย่างทั้งอภิปราย แนะนำการแก้ไขเชิงโครงสร้าง หรือแม้แต่ชวนข้าราชการถกเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะฉะนั้นปัญหาของกระบวนการงบประมาณในประเทศต้องมีการยกเครื่องขนานใหญ่” 

“เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างและระบบภาครัฐไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนักในสังคมไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปัญหาของประเทศนี้ที่จำเป็นต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นเราจะทำนโยบายอื่นๆ ไม่ได้เลย ถึงแม้เรื่องนี้พูดไปก็อาจจะไม่ได้คะแนนเสียง แต่เราต้องพูดต่อไปเพื่อให้เป็นเรื่องที่สังคมพูดถึงในวงกว้างกันมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดเราก็ต้องอาศัยแรงประชาชนในการขับเคลื่อนเหมือนกัน” ศิริกัญญากล่าว

ศิริกัญญา ตันสกุล

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล หัวหน้าทีมนโยบาย พรรคเพื่อไทย สะท้อนแนวคิดเรื่องการออกแบบนโยบายซึ่งมีสามภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พรรคการเมือง ประชาชน และองค์กรตัวกลาง โดยเขาเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งกับเวลาประชาชนไปเลือกซื้อเนื้อหมูในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเนื้อหมูที่มีให้เลือกนั้นย่อมมีมาตรฐานที่ดีแตกต่างกันไปคล้ายกับนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาเสนอให้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง

“เวลาพรรคการเมืองผลิตนโยบายออกมาจะมีให้เลือกระหว่างผลิตนโยบายให้เป็น ‘หมูที่ดี’ หรือจะผลิตนโยบายที่เป็น ‘หมูที่ไม่ดีแต่ย้อมสี’ แล้วเอาไปขายประชาชน ซึ่งประชาชนมีหน้าที่เลือกว่าจะสนใจซื้อหมูดีๆ หรือจะซื้อหมูย้อมสี” 

“พอเป็นเช่นนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้จึงมีปัญหาว่าเมื่อประชาชนหิว เขาย่อมต้องการสิ่งที่ได้ทันที เลยกลายเป็นว่าพรรคการเมืองมักจะขายนโยบายที่อ้างว่าทำได้ทันที สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ทันทีทันใด คนก็อาจจะซื้อนโยบายนั้นทั้งที่มันอาจจะเป็นหมูย้อมสีก็ได้”

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากคือองค์กรตัวกลางซึ่งมีทั้งตัวกลางที่เป็นทางการกับตัวกลางที่เป็นภาควิชาการ

ตัวกลางที่เป็นทางการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กฎหมายกำหนดบทบาทในการตรวจสอบนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองว่ามีประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ งบประมาณที่ใช้มีเท่าไหร่ และประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้กลับมาคืออะไร

ตัวกลางที่เป็นภาควิชาการอันมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน คือองค์กรต่างๆ ที่ออกมาเสนอ วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นภาพว่าแต่ละนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอมา

“เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือการคาดหวังให้พรรคการเมืองไม่ย้อมสีหมู ดังนั้นองค์กรตัวกลางต้องทำหน้าที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น ต้องให้ความรู้กับประชาชนจนเขารู้ว่าเราไม่ควรจะซื้อหมูย้อมสีนะ และต้องทำงานอย่างหนักแน่นมากพอที่จะสะท้อนความรู้ให้ประชาชนดูออกว่าอันไหนคือหมูดี อันไหนคือหมูย้อม” เผ่าภูมิเน้นย้ำ

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล

นักวิชาการ-การศึกษา-งานวิจัย กับความเป็นไปได้ของโลกใบนี้

จากการทำงานวิจัยโดยใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เป็นหลักในการทำงาน รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีประเด็นที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการทำงานที่ต้องขุดลงไปให้ถึงฐานคิดหรือวิธีมองโลก (mental model) โดยบวรศมหยิบยกประเด็นกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม (decolonization) มาตีโจทย์ในบริบทโลกใหม่ เขาชี้ให้เห็นว่าการล่าอาณานิคมในอดีตเกิดจากการที่ประเทศเจริญแล้วไปปกครองประเทศกำลังพัฒนา แต่ในยุคปัจจุบันเราจะมองเห็น ‘การล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ’ แทน ซึ่งบวรศมมองว่าเป็นการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่ล่าสุด อันเกิดจากการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่มีทรัพยากรมากพอจะไปแข่งขันกับชาติอื่น

ความน่าสนใจที่บวรศมอยากชวนทุกคนขบคิดคือความจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิยมของประเทศอื่น ทว่าประวัติศาสตร์ข้อนี้ทำให้ประเทศไทยมีความแตกต่างจากชนชาติที่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างไร

คำตอบของนักวิชาการหลายคนระบุว่าแม้ประเทศไทยจะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร ทว่ากลับเป็นไทยเสียเองที่ล่าอาณานิคมชนชาติอื่น ทั้งประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับล้านนา ล้านช้าง เขมร รวมถึงมลายู ในแง่นี้บวรศมชี้ให้เห็นว่าเมื่อไทยได้ขึ้นเป็นผู้ปกครอง เราจึงไม่ถูกล่าอาณานิคมในรูปแบบแรก แต่ในทางกลับกัน คำถามสำคัญคือตอนนี้ประเทศไทยกำลังตกเป็นอาณานิคมของชาติอื่นในรูปแบบใหม่อยู่หรือไม่

มากไปกว่านั้น บวรศมตั้งข้อสังเกตว่าการล่าอาณานิคมรูปแบบที่ต้องมีรัฐปกครองประชาชนตลอดเวลาอาจกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของการเมืองไทยไปเสียแล้ว ในแง่ของการเป็นกลไกที่ชนชั้นนำจะใช้ในการปกครองหรือแม้แต่กดขี่ผู้ถูกปกครอง ในแง่นี้การมีอยู่ของผู้ปกครองรัฐจึงไม่ได้เป็นกลไกของประชาชนที่มีตัวแทนเพื่อคานอำนาจของรัฐอีกต่อไป

“ผมมองว่าประเด็นการล่าอาณานิคมของไทยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมาก อยากชวนทุกคนลองคิดว่าเราอยู่ในระบบนี้โดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า ชนชั้นนำหลายคนชอบระบบนี้เพราะอยากรักษาความสงบในประเทศ มองว่าผู้ถูกปกครองต้องถูกปกครองแบบนี้ก็ถูกต้องแล้ว เรื่องนี้สะท้อนหลายประเด็น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องผูกติดกับผู้ปกครองตลอดเวลา จนกลายเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐมากนัก” บวรศมอธิบาย

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่าหลังเลือกตั้งสังคมไทยอาจต้องเจอสองโจทย์สำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่ โจทย์แรก เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงกันมาจะสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ เหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหนในขณะที่ประเทศไทยมีงบประมาณไม่มากนัก 

ดังนั้นหลังเลือกตั้งหากพรรคการเมืองร่วมกันเป็นรัฐบาลผสม การจัดสรรความสำคัญในการดำเนินนโยบายมีได้สองแนวทางใหญ่ คือการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองว่าใครจะได้เป็นแกนนำ พรรคไหนจะมีอำนาจมากกว่า หรือการให้ความสำคัญกับนโยบายไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดก่อน สมเกียรติชี้ให้เห็นว่ารูปแบบหลังเป็นแนวทางในอุดมคติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีข้อจำกัดใหญ่ คือรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้คือจะทำอย่างไรให้ดำเนินนโยบายได้ทั้งหลายทั้งปวงที่หาเสียงกันอยู่ได้ในขณะที่มีงบประมาณจำกัด

“แม้การเลือกตั้งจะทำให้พรรคการเมืองรู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาของประชาชนได้มากขึ้น แต่สิ่งที่เลี่ยงยากมากคือการไม่นำทรัพยากรของคนรุ่นต่อไปที่อาจจะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้เพื่อตอบสนองต่อคนปัจจุบัน” 

“โจทย์ใหญ่หลังจากนี้คือถ้ารัฐบาลนำทรัพยากรมาดำเนินนโยบายได้หมด คนรุ่นต่อไปก็อาจจะเดือดร้อน แต่ถ้าทำได้เพียงไม่กี่นโยบาย คนยุคปัจจุบันและความเป็นประชาธิปไตยก็อาจมีปัญหา”

ข้อสังเกตนี้จะเชื่อมโยงมาสู่โจทย์ข้อที่สอง คือความสามารถของรัฐ สมเกียรติชี้ให้เห็นว่านโยบายในการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาคือการดึงคนที่มีอำนาจมาถกเถียงแล้วตัดสินใจร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาไหน แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาคือการหาแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องไม่ซ้ำรอยเดิม

“โจทย์ใหญ่ที่สุดคือเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไรในสภาพที่ภาครัฐไม่ค่อยมีน้ำยาสักเท่าไหร่ ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ เซ็นชื่อจนปากกาหักไปกี่แท่งแล้วปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไขจริงๆ เสียที เพราะในความเป็นจริงต้องอาศัยการแก้ไขในทุกรากฐานก่อน”

“ตอนนี้โจทย์ของประเทศไม่ใช่คำถามเราจะทำอะไรกันต่อไป เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร แต่เป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลจะแปลงความฝันความหวังของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งให้เป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาจริงได้อย่างไร” สมเกียรติเน้นย้ำ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช

อีกหนึ่งมิติที่ไม่พูดถึงไม่ได้คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่ของภาคการท่องเที่ยวไทย คือความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งสูงขึ้น ตัวเลขความชุกของนักท่องเที่ยวกระจุกอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด รวมไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่หมักหมมอยู่ใต้พรมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขมากเท่าที่ควร

“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ 4-5 จังหวัดหลักก็กินไปแล้ว 70% ของเงินทั้งประเทศ”

“สิ่งที่เราไม่เคยมองเห็นกันคือในบรรดาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ซ่อนอยู่ ทั้งการค้าเด็ก คาสิโน การพนัน มาเฟียในพื้นที่ หรือแม้แต่ข่าวตำรวจหากินกับการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดในภาคการท่องเที่ยวไทย” มิ่งสรรพ์กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจที่มิ่งสรรพ์หยิบยกมาพูดถึง คือการขอทุนสำหรับทำงานวิจัยที่ภาครัฐมักจะส่งเสริมเฉพาะการศึกษาที่เผยให้เห็นด้านดีๆ ของสังคมหรือสะท้อนภาพลักษณ์อันสวยงามของประเทศ มิ่งสรรพ์เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าแทบไม่มีหน่วยงานใดเสนอให้ทุนการศึกษา ‘ด้านมืด’ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย อาจเป็นเพราะงานวิจัยดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะโยงใยไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังอำนาจมืดต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์ด้านงานวิจัยที่น่าเป็นกังวลไม่น้อย

“เงินวิจัยก็เป็นเรื่องการเมืองนะ อยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ที่ให้ทุนอยากได้เรื่องอะไรและอยากให้ใครทำ จะเห็นว่าไม่มีใครอยากให้ทุนเราในการศึกษาด้านมืดของการท่องเที่ยวเลย เพราะผู้ใหญ่อยากทำแค่เรื่องที่จะเป็นผลงานสนับสนุนตัวชี้วัดของเขา กลายเป็นว่าต้องเป็นการวิจัยต้องที่มีผลดีต่อรัฐถึงจะได้ทุน ซึ่งปัญหาทำนองนี้ส่งผลกระทบวงการวิจัยอย่างมาก” มิ่งสรรพ์เล่าประสบการณ์

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด 

นพ.สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอสองประเด็นเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงถึงอนาคตของประเทศไทย ประเด็นแรก สุภกรชวนทุกคนคิดร่วมกันว่าหากเราพูดถึงโจทย์อนาคตโดยรวมของประเทศไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยมากจะพูดถึงแต่ตัวเลขค่าเฉลี่ย แต่ถ้างานวิจัยต่อๆ ไปสามารถตีโจทย์ได้แตกและเป็นรูปธรรมว่าในอนาคตกลุ่มคนแบบไหนจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จะยิ่งทำให้งานวิจัยนั้นๆ ตอบโจทย์ปัญหาสังคมได้ดีกว่าการอธิบายด้วยค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว

“ไม่ว่าประเทศจะดีขึ้น ทรงตัว หรือแย่ลง จะมีบางกลุ่มที่ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่กว่าคนอื่น ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่มีกำลังมาก มีความได้เปรียบทางสังคมสูง ทำให้เอาตัวรอดได้ และบางกลุ่มที่ลอยลำไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าในแต่ละสภาวการณ์ประชาชนกลุ่มไหนจะยากลำบาก และลำบากในลักษณะไหน จะทำให้งานวิจัยของเราแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวมได้ดีมากขึ้น”

นพ.สุภกร บัวสาย

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องนายทุน ขุนศึก และศักดินา หรือเรียกโดยรวมว่าระบบผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคมวัฒนธรรม สุภกรอยากฝากให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ร่วมกันให้ความสนใจและหาแนวทางที่จะช่วยให้ระบบผูกขาดลดลงไป 

สุดท้าย เพราะนักวิชาการนับเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ สุภกรจึงขอฝากข้อความสำคัญถึงนักวิชาการในแวดวงต่างๆ ทุกท่านว่า “บางทีนักวิชาการก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยหรือเสียงของประชาชนหมดความหมายลงไป หากเอาแต่คิดว่าประชาชนมีความรู้น้อยกว่าเรา อยากฝากไว้ว่าไม่ว่าเราจะเก่งขนาดไหนก็ตาม อย่ามองว่าประชาชนอยู่ไกลเกินเรา ต้องหมั่นตรวจสอบว่าสิ่งที่เราคิด วิจัยและศึกษามา สามารถนำมาใช้ได้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของประชาชนหรือไม่”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save