fbpx
หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

หาทางออกเศรษฐกิจไทยใน(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

‘ว่าที่เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย’ และ ‘มหัศจรรย์แห่งเอเชีย’ (Miracle of Asia) คือคำที่ทั่วโลกใช้นิยามเศรษฐกิจไทยในช่วง 1980s-1990s ที่เติบโตอย่างร้อนแรงจนเป็นที่น่าจับตา

แต่ฉับพลันเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 คำเหล่านั้นก็กลายเป็นเพียงอดีต เศรษฐกิจไทยไม่อาจกลับไปลิ้มรสช่วงเวลาอันหอมหวานอย่างเคยได้อีก

หากย้อนมองช่วง 10 ปีระหว่างปี 2006-2015 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยห่างไกลจากช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมากนัก ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังโตช้ากว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ช่วงเวลานั้นจึงอาจเรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยตกอยู่ใน ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ (Lost Decade)

ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงปี 2021 ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางอีกหนึ่งทศวรรษ 2016-2025 เศรษฐกิจไทยก็ดูจะไม่ได้ดีขึ้นจากทศวรรษที่แล้วเท่าไหร่นัก หากสภาพเศรษฐกิจยังคงเป็นอย่างนี้เรื่อยไปหรือตกต่ำกว่านี้ลงไปอีก คำว่าทศวรรษที่สูญหายคงไม่เพียงพอ แต่เป็น ‘สองทศวรรษที่สูญหาย’

ความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพของการเมืองไทยมักถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทยลงต่ำ หากแต่ความจริง นั่นเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของภาพทั้งหมดเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัญหาที่พาประเทศไทยลงสู่ทศวรรษที่สูญหายอย่างที่ยังไม่เห็นทางออก

101 ชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ร่วมตีโจทย์เศรษฐกิจไทย พาประเทศหลุดพ้นจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

เศรษฐกิจไทยกับ(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

สฤณีอ้างอิงถึงบทความ The Thai Economy: A Lost Decade? ของกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (2020) โดยให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี 2006-2015 อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งโตได้ถึงร้อยละ 7.7 ต่อปี ระหว่างปี 1971-1995 และยังน้อยกว่าช่วงหลังวิกฤตระหว่างปี 1999-2005 ซึ่งยังคงโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปี

นอกจากจะโตช้าลงกว่าเดิมมากแล้ว เศรษฐกิจไทยที่โตด้วยตัวเลขร้อยละ 3.2 ยังถือว่าโตช้าสุดในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นบรูไน และเมื่อดูตัวเลขรายได้มวลรวมสะสม (Cumulative GDP) ระหว่างปี 2006 ถึง 2015 จะพบว่าโตอยู่ที่ร้อยละ 35 ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับไทย อย่างการเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก และพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ต่างมีตัวเลขการเติบโตที่สูงกว่าของไทย อย่างเช่นเวียดนามที่โตถึงร้อยละ 70 ขณะที่มาเลเซียโตร้อยละ 53

งานเขียนของกฤษฎ์เลิศชี้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงในช่วงทศวรรษ 2006-2015 ก็คือความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 โดยมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2007-2008 เข้ามาผสมโรง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเหตุผลส่วนเดียวเท่านั้น งานเขียนให้ข้อสรุปว่า ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนแอตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นเพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวหลายอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยปัญหาการเมืองและปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นเพียงตัวที่เข้ามาซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงเท่านั้น

ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวของเศรษฐกิจไทยประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การขาดการพัฒนาผลิตภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาด้านการศึกษา และความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่พิพัฒน์ก็มองปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยคล้ายกัน โดยสรุปเป็นวลีสั้นๆ ว่า “แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง”

ในประเด็นการขาดการพัฒนาผลิตภาพ สฤณีขยายความว่า “ตั้งแต่หลังปี 2006 เราจะเห็นว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอดีตเริ่มช่วยเราได้ไม่เยอะอีกต่อไปแล้ว แต่เรายังไม่คิดเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การส่งออกของเรายังไม่ได้ปรับตามโครงสร้างซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เรายังคงผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์และพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ทุกวันนี้เติบโตช้าลงแล้ว เพราะทั่วโลกหันไปใช้อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและทัมป์ไดร์ฟกันแล้ว”

ขณะที่พิพัฒน์กล่าวว่า “หลังโควิด เราเห็นประเทศอย่างจีน ไต้หวัน และเวียดนาม มีการส่งออกที่รีบาวด์กลับขึ้นไป 30-40% จีนรีบาวด์ไปถึง 60% ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ของไทยเพิ่งจะกลับมาบวกได้ 2-3% เมื่อเดือนที่ผ่านมา พอไปไล่ดูสาเหตุก็พบว่า สัดส่วนการส่งออกสินค้าไฮเทคของเรามีแค่ 20-30% ของการส่งออกทั้งหมด น้อยกว่าประเทศอื่นเยอะ อย่างเวียดนามยังมีสัดส่วนเกิน 50-60%”

“เราไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการลงทุนจากต่างประเทศอีกต่อไป จากเดิมเรามีสัดส่วน FDI (Foreign Direct Investment) ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มอาเซียน แต่ทุกวันนี้เหลือเพียง 10-20% ถ้าไปดูสินค้าที่เราส่งออก จะเห็นว่าแทบไม่มีของไทย เราเป็นประเทศรับจ้างผลิตอย่างแท้จริง แล้วพอต่างประเทศรู้สึกว่าต้นทุนเราแพง ก็จะเริ่มย้านฐานการผลิตออก ทำให้การลงทุนใหม่ๆ เริ่มไม่มาหา เพราะฉะนั้นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer) เลยไม่เกิดขึ้น” พิพัฒน์เสริม

ถัดจากการพัฒนาผลิตภาพ สฤณีพูดถึงประเด็นสังคมสูงวัย โดยชี้ว่า “ประเทศไทยไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยธรรมดา แต่เข้าสู่สังคมสูงวัยสุดขั้ว (Extreme Aging Society) หรือเรียกว่าเรากำลังจะ ‘แก่ก่อนรวย’ ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งกับเรา ยังมีการเติบโตของประชากรวัยแรงงานค่อนข้างเยอะ”

พิพัฒน์เสริมประเด็นนี้ว่า “เราเป็นประเทศที่กำลังเผชิญทั้งความท้าทายจากโครงสร้างประชากร และเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเยอะ อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอปัญหานี้ ประเทศที่เป็นเสือเศรษฐกิจ 4 ตัวก็เจอปัญหานี้หมด แต่สุดท้ายเขาสามารถหลุดออกมาได้ ด้วยการอัพเกรดเทคโนโลยี ขณะที่เราแทบไม่ได้อัพเกรด แต่ไปแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ทำให้ต้นทุนแรงงานของเรายังอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ และขณะเดียวกัน การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็เกิดขึ้นค่อนข้างช้า”

นอกจากนี้ สฤณีพูดถึงอีก 2 ประเด็นที่เหลือคือปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำว่า “เรามีปัญหาในสองประเด็นนี้มากขึ้นในระยะหลัง ถึงแม้เราจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษากันเยอะ แต่ตัวเลขผลสัมฤทธิ์การศึกษาเช่น PISA ที่วัดผลเทียบเด็กไทยกับเด็กต่างประเทศ กลับไม่สะท้อนอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งในโลกการทำงาน เราก็จะเห็นชัดเจนว่า ทำไมบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งถึงออกไปตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานของตัวเอง เพราะฉะนั้นปัญหาการศึกษาเรื้อรังมากและน่าจะแย่ลงอีก”

“การจะปรับโครงสร้างให้เราตามทันโลกมากขึ้น เช่นการปรับการส่งออกให้วิ่งตามซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป หรือการหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนมากกว่าในอดีตที่เราเคยอาศัยแรงงานทักษะต่ำ เรื่องนี้จึงผูกโยงกับประเด็นการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสที่เราจะมีภาคการส่งออกที่ปรับตัวได้เร็วทันกระแสโลกก็จะลำบาก” สฤณีกล่าว

ออกจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหายไม่ได้
ถ้าไม่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่แท้จริง

พิพัฒน์ชวนคิดถึงเหตุผลที่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จนต้องจมอยู่ในทศวรรษที่สูญหาย โดยตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมว่านโยบายภาครัฐไม่ตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐไม่สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือเปล่า ซึ่งก็สะท้อนว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองหรือเปล่า”

“การทำงานของภาครัฐคือการดึงเอาเงิน ดึงเอาทรัพยากรจากภาคเอกชน ไปใช้เพื่อผลิต public goods (สินค้าสาธารณะ) และกำหนดนโยบาย แต่พอภาครัฐไม่มี accountability (ความรับผิดชอบ) ต่อสิ่งที่ตัวเองทำ หรือ I don’t care เราเห็นนโยบายจากรัฐเยอะแยะไปหมด แต่พอไม่ทำหรือทำไม่ได้ รู้ปัญหาแต่ไม่แก้ไข ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเลยเห็นว่าชิ้นสำคัญที่เราทำหายไปคือ accountability ทางการเมือง”

สฤณีก็คิดสอดคล้องกัน โดยชี้ว่า “ระบอบ คสช. ไม่รับผิดกับใครเลย ยกเว้นฐานเสียงของตัวเองอย่างข้าราชการหรือกลุ่มทุนใหญ่ นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ ถ้าลองไปไล่จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ทำสำเร็จเลยแม้แต่นโยบายเดียว และก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ตอนคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เราคุยกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่หาเสียงไว้ นี่ชัดเจนว่าไม่เป็นความจริง”

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ทั้งพิพัฒน์และสฤณีคิดว่าเป็นปัญหาของการเมืองไทยและนำไปสู่ทศวรรษที่สูญหาย ก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และขาดการถกเถียงเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง

“ผมเสียดายการพัฒนาคุณภาพของสถาบันการเมือง เราใช้ทางลัดกันบ่อยไปหน่อย ทำให้คนไม่ตระหนักรู้ว่าประชาชนควรจะมีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตของประเทศได้ การดีเบตเรื่องนโยบายสาธารณะก็แทบจะไม่เกิดในเมืองไทยเลยช่วงทศวรรษหรืออาจจะสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เหมือนในต่างประเทศที่การดีเบตเรื่องนโยบายมีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดความแพ้ชนะทางการเมือง เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริง แต่ทศวรรษที่ผ่านมาเรามีตรงนี้น้อยไปหน่อย” พิพัฒน์กล่าว

ขณะที่สฤณีมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย หากประเทศกลับสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่แท้จริง

“ประชาธิปไตยสำคัญมากขึ้นกับเศรษฐกิจทุกวันนี้ เพราะทิศทางในอนาคตที่ไทยต้องเดินต้องอาศัยการคิดเชิงนโยบาย การวางแผนเชิงการเมือง เพราะมันเป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนา new economy หรืออะไรก็ตาม มันต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หากโครงสร้างการเมืองยังเป็นแบบนี้ คงไม่มีใครมีแรงจูงใจที่จะเข้ามาคุย” สฤณีกล่าว

“ปี 2006-2015 นับตั้งแต่รัฐประหารมา คือทศวรรษที่สูญหายแน่ๆ และทศวรรษต่อไปนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งถ้านับไปข้างหน้าก็จะเหลือเวลาอีก 5 ปี จบที่ปี 2026 ส่วนตัวก็คิดว่าสูญหายแน่ๆ เหมือนกัน ยากที่เราจะออกจากสองทศวรรษที่สูญหาย ถ้าเราไม่กลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย” สฤณีกล่าว

หลากทัศนะ พาไทยออกจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย

ในระหว่างการพูดคุย ยังมีอีกหลายคนที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอหลากหลายแนวคิดที่จะดึงประเทศไทยขึ้นมาจาก(สอง)ทศวรรษที่สูญหาย โดยมีตัวอย่างแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้

สฤณีเองให้แนวคิดว่า โจทย์ความยั่งยืนมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ทิศทางใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังโควิดที่ประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจคิดที่จะพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น แต่ต้องสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive economy) โดยการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คิดเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สินและการกระจายรายได้ที่จริงจังหว่านี้ รวมถึงสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ให้แข็งแรง ก็จะนำไปสู่การสร้างตลาดในประเทศที่เข้มแข็งขึ้นได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เสนอแนวคิด 3 ข้อ ได้แก่ (1) รัฐต้องเป็น buyer (ผู้ซื้อ) โดยหยิบเอาปัญหาในประเทศมาสร้างเป็นดีมานด์ นำไปสู่การสร้างซัพพลายเชนใหม่ สร้างเทคโนโลยี และสร้างงานให้กับแรงงานรุ่นใหม่ (2) รัฐต้องจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างทุนขนาดใหญ่กับทุนขนาดกลางและเล็ก โดยทุนขนาดใหญ่ต้องมีบทบาทช่วยผลักดันให้ทุนขนาดกลางและเล็กมีศักยภาพต่อสู้ระดับโลก และเอามูลค่าจากตลาดโลกเข้าสู่ประเทศได้ ไม่ใช่ว่าให้ทุนใหญ่เข้ามาแสวงหาค่าเช่าเศรษฐกิจเพียงกลุ่มเดียว และ (3) ความเท่าเทียมของดอกผลการพัฒนาต้องถูกกระจายมูลค่าไปสู่แรงงานมากขึ้น ไม่ใช่กระจุกอยู่กับกลุ่มทุน

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น เสนอว่าประเทศไทยต้องแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (resource misallocation) ให้ได้เป็นอันดับแรกๆ จึงจะเปิดไปสู่ทางออกได้อีกหลายทาง โดยแน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาการเมืองมีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้สูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งอาจจะต้องกลับมามองที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การจะมีภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบราชการที่เข้มแข็ง และนโยบายอุตสาหกรรมจะต้องได้รับการออกแบบให้มีการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่รัฐส่วนกลางจะต้องลดบทบาท กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กระตุ้นให้ท้องถิ่นแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกันเองมากขึ้น

สันติธาร เสถียรไทย เสนอให้ประเทศไทยมีความผสมผสานกันระหว่าง bottom-up กับ start-up โดย bottom-up คือการคิดนโยบายจากล่างขึ้นบน เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่แนวคิด start-up ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ “ดึงดูด สร้างเสริม และเติมเต็ม” ดึงดูดคือการดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างเสริมคือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแข่งขัน ออกกฎกติกาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง และเติมเต็มคือการใส่โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจ เช่น การสร้างระบบ Digital ID เป็นต้น

นอกจากนี้ สันติธารยังชี้ว่า การจะเป็น bottum-up และ start-up ที่สำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมาพร้อมกับ accountability ทางการเมือง เพราะจำเป็นต้องอาศัยการลองผิดลองถูก หากไม่มี accountability เมื่อทำผิดแล้ว ก็จะทำผิดยาว ไม่ได้รับการแก้ไขให้กลับมาในทางที่ถูกได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save