อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง
มีการตั้งประเด็นถกเถียงกันมาช้านาน จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าปวงชนชาวสยามในเวลานั้น พร้อมแล้วหรือไม่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามหรือเปล่ากับการปฏิวัติโดยหวังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย
ไม่ใช่เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ถึงขนาดด่าทอฟากผู้ก่อการ บริภาษฝ่ายสามัญชน สนุกปากแต่เพียงฝ่ายเดียว
แล้วก็แปลกที่ทุกวันนี้ซึ่งเข้าสู่ปี พ.ศ. 2560 ล่วงเลยเวลาผ่านมา 85 ปีแล้ว ประชาชนคนไทยยังไม่พร้อมอีกหรืออย่างไร มิอาจจะทราบได้ บ้านนี้เมืองนี้จึงไม่เป็นประชาธิปไตยเสียที
เวียนวนปริวรรตอยู่ในวัฏจักรวงจรของการเลือกตั้งสลับไปกับรัฐประหาร
แม้นว่ามีรัฐธรรมนูญสามร้อยสี่ร้อยมาตรา ได้องค์กรทางการเมืองใหม่ เต็มไปด้วยยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป เซ็ตซีโร่โน่นนี่นั่นมากมาย มีการเลือกตั้ง หรืออย่างไรก็ตามที
แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว พัฒนาการทางประชาธิปไตยกลับย่ำอยู่กับที่ หรืออาจจะเลวร้ายไป กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำกับระบอบปกครองซึ่งแม้จะบัญญัติเอาไว้ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ก็หาใช่ประชาธิปไตยในนิยามความหมายอันเป็นสากลเลยไม่
เป็นประชาธิปไตยพิกลพิการ มีติ่ง มีหนวด มีเขางอกออกมา
คือระบอบปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ อันมีกองทัพหรือรัฐสภาค้ำยันเสียมากกว่า
จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรเล่า ในเมื่อประชาชนมิได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง มิได้มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นองค์ประกอบสำคัญนอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง
อย่าว่ากระไรอื่นเลย เอาเพียงแค่นิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตย มีการยกร่างรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง อ้างว่าปฏิรูปการเมืองกี่หน ก็ไม่เคยปรากฏประสบพบเจอการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
ชนชั้นนำและผู้กุมอำนาจรัฐไม่เคยคิดจะตั้งเป็นญัตติสาธารณะ ให้ประชาชนคนทั้งประเทศได้อภิปราย ถกแถลงแสดงความคิดเห็น หรือทำประชามติว่า ประเทศไทยควรจะปกครองภายใต้ระบอบใดกันแน่
หากประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยควรจักได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยที่ว่านั้นเป็นเช่นไร มีหลักการว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาครองรับหรือไม่ กรอบ ขอบเขต และข้อยกเว้น หากจะมี ทำได้แค่ไหน เพียงใด
เอากันให้ชัดเจน ได้เป็นข้อยุติ
จะเป็นประชาธิปไตยเช่นสากล หรือเป็นแบบมีติ่ง มีหนวด หรือมีเขา ก็ว่ากันมา
มิใช่กี่ครั้งกี่หน อยู่ๆ ก็มีความบัญญัติว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย … เหาะเหินเดินอากาศ อวตารมาประดับไว้ในรัฐธรรมนูญทุกคราวไป โดยไม่มีใครรู้ถึงที่มาที่ไป ตลอดจนนิยามความหมายแท้จริง
เขียนรัฐธรรมนูญราวกับเป็นศิษย์นิกายเซน ถือคติว่ามีคือไม่มี ไม่มีก็คือมี
อ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพสารพัดก็จริง แต่เต็มไปด้วยข้อยกเว้น ข้อห้าม ข้อจำกัดภายใต้ความ “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” โดยมีกฎหมายเขียนห้ามหรือจำกัดเอาไว้ยุ่บยั่บ มิหนำซ้ำยังตราความวางกรอบขอบเขตครอบจักรวาลด้วยว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
พูดไปก็ป่วยการมากความ
เอาลำพังเพียงแค่นิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ประชาชนก็มิได้มีเสรีภาพที่จะสื่อสาร แสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่สามารถที่จะอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาได้เลย
คิด เขียน พูดไปก็เจอคุกเข้าตะราง หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องหลบลี้หนีภัยไปต่างประเทศ
ประชาธิปไตยอะไรกัน ที่เพียงแค่พูดจาแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ต้องติดคุกติดตะรางสิบปียี่สิบปีหรือกว่านั้น ปฏิบัติกันราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง ไปปล้นฆ่าใครมา
ทั้งๆ ที่เปล่าเลย ผิดมหันต์อุกฉกรรจ์ เพราะคิดด้วยเหตุผล พูดขีดเขียนความจริงเท่านั้นเอง
จะว่าไป สภาพสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันทุกวันนี้ละม้ายคล้ายเหมือนกับยุโรป หรือชาติตะวันตก แต่นั่นเป็นเมื่อหลายร้อยหรือพันปีก่อนย้อนขึ้นไป ที่มีการนำเอาความเชื่ออันมิอาจสามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ ไสยศาสตร์ สิ่งลี้ลับ และพิธีกรรม ไปสร้างความชอบธรรมในการปกครองประชาชน
ลัทธิเทวสิทธิ์ถูกอธิบายและใช้เป็นเครื่องมือในการธำรงรักษาสถานภาพให้กับฝ่ายอาณาจักร-กษัตริย์ และฝ่ายศาสนจักร-พระ ที่เอื้อประโยชน์แอบอิงซึ่งกันและกัน
เคยเชื่อถึงขนาดว่า โลกแบนและเป็นศูนย์กลางของเอกภพ
ผู้ใดบอกว่าโลกกลม แม้จะสอดคล้องต้องด้วยความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่กลับไปขัดแย้งกับโปรแกรมความเชื่อ สั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคงของระบอบปกครอง เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ ต้องกวาดล้างเอาผิดโดยกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตนอกรอย
ประเทศไทยทุกวันนี้แลดูไปก็เปรียบเหมือนยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่ผู้คนถูกบังคับให้เชื่อว่า “โลกแบน” เท่านั้นไม่พอ ยังมีโปรแกรมความเชื่อด้วยว่า บ้านนี้เมืองนี้นี่ล่ะ ที่ยิ่งใหญ่สุดยอดเหนือสิ่งใด อะไรที่ขึ้นชื่อว่าไทยแล้วต้องเลอเลิศประเสริฐกว่าใครเขา
ทำราวกับว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลก พอๆ กับความเชื่อที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพหรือจักรวาล
มีการเผยแพร่ แชร์กันเป็นตุเป็นตะ ถึงเรื่องราวกล่าวอ้างว่า ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำชาติอภิมหาอำนาจอย่างรัสเซีย ยังซาบซึ้งขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความรู้จนเกษตรพืชผลของเขาอุดมสมบูรณ์ หรืออิตาลีประกาศให้ศาสนาพุทธ อันเป็นศาสนาหลักของประเทศไทย เป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ
อ่านไปแชร์ไปด้วยหัวใจอันพองโต หลงใหลได้ปลื้ม สุขไปกับความเชื่อเหล่านั้น โดยมิได้แยแส สนใจเลยว่าความจริงจะเป็นเช่นไร มีเหตุมีผลรองรับหรือเปล่า
กรณีของยุโรปหรือชาติตะวันตก ความเชื่อที่ว่าโลกแบนอยู่ในยุคสมัยซึ่งพอเรียกได้ว่า คนเรายังโง่ ความคิดวิทยาศาสตร์เพิ่งเป็นที่รับรู้ในวงแคบๆ เมื่อเปรียบเทียบกับความเชื่อทางเทวะ ศาสนา ที่หยั่งรากฝังลึก ปกคลุมไปในวงกว้างมาช้านาน
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้จะผ่านมาหลายร้อยหรือพันปี วิทยาการของโลกก้าวไกลถึงขนาดกำลังจะส่งคนไปดาวอังคารวันนี้วันพรุ่ง อยู่ในยุคสมัยซึ่งปัญญาความรู้ไร้พรมแดน ผู้คนสามารถแสวงความจริงได้ง่ายดายด้วยอินเทอร์เน็ต
ทว่าชนชั้นนำผู้กุมอำนาจรัฐกลับพากันเชื่อโดยสุจริตใจหรือไม่ก็ตามทีว่า “โลกแบน” ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นต่างเคยผ่านเมืองนอกเมืองนา สำเร็จการศึกษาจากชาติตะวันตก ประเทศแม่แบบประชาธิปไตย ดอกเตอร์เดินแทบจะชนกันตาย ข้าราชการ นักการเมือง เดินทางไปดูงานต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น
ประชาชนคนทั้งแผ่นดินถูกบังคับขืนใจให้เชื่อตามไปด้วย
มีการอภิปรายบรรยายกันหยดย้อย ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม สรรเสริญเยินยอว่าโลกแบนอย่างนั้น ก่อประโยชน์โพดผลอย่างนี้ โดยมิพักต้องคำนึงถึงตรรกะ หลักการ หรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นฐานความเชื่อที่ว่า “โลกแบน” และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ หยั่งรากฝังลงลึกจนกระทั่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางพัฒนาการทางความคิด อันถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์อารยธรรมตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ไม่จำเพาะแต่เพียงพัฒนาการทางประชาธิปไตยเท่านั้น
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดเลยที่บางฝ่ายซึ่งอ้างว่ากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่กลับเทิดทูนบูชาผู้นำของตัวเอง ราวกับเป็นเทพยเทวดาองค์ใหม่ลงมาจุติบนโลกแบนๆ
เที่ยวเหยียดฝ่ายตรงกันข้ามเป็นสลิ่มบ้าง ควายแดงบ้าง
หรือแม้แต่มีประเด็นเกี่ยวด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา บางคนก็มอง “บัตรทอง” ราวกับเป็น “บัตรเทวดา” ที่ใครจะไปแตะต้องแก้ไขไม่ได้ โดยมิแยแสสนใจว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีปัญหาจริงหรือไม่ อย่างไร นโยบายที่ถูกต้องควรเป็นเช่นใด
หลงใหลได้ปลื้มกับประชานิยมก็ว่ากันไป แต่หากอยากจะเห็นเป็นรัฐสวัสดิการก็ต้องผลักดันนโยบายภาษีมารองรับ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ กึ่งผีกึ่งคน ปล่อยให้เกิดความไม่เสมอภาค แตกต่างกันระหว่างบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการเช่นที่เป็นอยู่
มิพักพูดถึงฝ่ายซึ่งพร้อมยอมเชื่อ และได้ประโยชน์จากลัทธิ “โลกแบน” ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย
ตราบใดที่ประชาชนคนไทยยังพูดความจริงไม่ได้ ประชาธิปไตยแท้จริงจึงยังคงเป็นความฝันอีกยาวไกล.