fbpx

รัฐบาลไทยสัญญาอะไรไว้ในเวทีโลก: สิ่งที่ควรรู้ในกลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชน UPR รอบ 3

อะไรคือ UPR?

กระบวนการ UPR ย่อมาจาก Universal Periodic Review เป็นกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) โดยตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้กลไกนี้รัฐสมาชิกของยูเอ็นจำเป็นต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบทบทวนสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาล โดยทุกประเทศจะมีสิทธิในการทบทวนสิทธิมนุษยชนประเทศต่างๆ และจำเป็นที่จะต้องถูกทบทวนจากประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกประเทศจะต้องถูกทบทวนตรวจสอบประมาณทุก 4 ปี

สิ่งสำคัญของกลไก UPR คือข้อเสนอแนะทั้งหมดจะต้องถูกเสนอโดยประเทศสมาชิกยูเอ็นเท่านั้น องค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาชนหรือองค์กรยูเอ็น ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะโดยตรงแก่รัฐบาลได้ แต่ละประเทศสมาชิกจะมีเวลาเพียง 1 นาทีในการนำเสนอข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลที่กำลังถูกทบทวน ในท้ายที่สุดประเทศที่ถูกทบทวนสิทธิมนุษยชนจะต้องให้การรับรองหรือไม่รับรองข้อเสนอด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศต่างๆ ในที่ประชุม UPR และต้องนำข้อเสนอแนะมาปฏิบัติและรายงานใน UPR ครั้งต่อไป

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกยูเอ็น จำเป็นต้องถูกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกนี้เช่นกัน โดยรอบของประเทศไทยคือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นี้ ซึ่งไทยอยู่ในรอบการตรวจสอบที่ 39 (39th session)

สำหรับกระบวนการ UPR สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ดังนี้

1. ช่วงเตรียมตัวก่อนการทบทวน (preparation for the review)

เป็นช่วงที่รัฐบาลจะต้องส่งรายงานการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ในส่วนภาคประชาชน กรรมการสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิอื่นๆ ต้องทำรายงานประเมินการทำงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิที่ผ่านมา ในขั้นตอนนี้หลายๆ องค์กรสามารถส่งรายงานนำเสนอข้อเสนอแนะไปที่สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) ได้ โดย OHCHR จะรวบรวมรายงานทั้งหมดอัปโหลดไปในเว็บไซต์ โดยรายงานจะแบ่งเป็น 3 ประเภท

  • รายงานรัฐบาล สามารถเขียนได้ 20 หน้า
  • รายงานข้อเสนอแนะจากองค์กรสหประชาชาติ 10 หน้า
  • รายงานสรุปรวมข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคมและกรรมการสิทธิมนุษยชน โดย OHCHR จะทำงานสรุปรายงานทุกคนไว้ร่วมกันฉบับเดียว 10 หน้า (ในรอบที่ 3 นี้มีองค์กรสิทธิฯ และภาคประชาชนส่งรายงานทั้งหมด 60 ฉบับ)

หน้าที่ของรายงานทั้งหมดคือเพื่อให้ประเทศสมาชิกเข้ามาอ่านเพื่อให้เห็นมุมมองภาพรวมของสถานการณ์สิทธิฯ ก่อนที่จะถึงวันทบทวน UPR จริง

2. ช่วงกระบวนการทบทวน UPR (the review)

เป็นช่วงที่รัฐบาลจะต้องเสนอรายงานแก่สมาชิกยูเอ็นและต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากเพื่อนสมาชิกประเทศต่างๆ โดยในตอนสุดท้ายรัฐบาลไทยต้องให้คำตอบต่อที่ประชุม UPR ว่ารัฐบาลไทยจะรับข้อเสนอไหนบ้างและไม่รับข้อเสนอไหนบ้าง ข้อเสนอที่รัฐบาลรับปากกับที่ประชุมไว้จะถูกบันทึก ติดตาม และตรวจสอบถึงความก้าวหน้าในแต่ละประเด็นที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาไว้

3. ช่วงนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ (the implementation)

รัฐบาลต้องนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติภายในประเทศ โดยองค์กรสิทธิฯ ภาคประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและสามารถทำรายงานเสนอให้กับ Human Right Council ได้ เมื่อเข้าถึงกระบวนการ UPR รอบต่อไป

ประเด็นสิทธิมนุษยชนไทยที่เคยถูกพูดถึงในครั้งที่ผ่านมา

ปัจจุบันกระบวนการ UPR กำลังอยู่ในรอบการทบทวนครั้งที่ 3 หมายความว่ารัฐบาลไทยผ่านกระบวนการ UPR มาแล้วทั้งหมด 2 ครั้ง

UPR ครั้งที่ 1

อยู่ภายใต้กระบวนการทบทวนครั้งที่ 1 รอบที่ 12 (12th session) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมปี 2010 ประเทศไทยได้รับข้อเสนอทั้งหมด 134 ข้อ (ตอนแรกรับ 100 และรับข้อเสนอเพิ่มอีก 34 ข้อ) ปฏิเสธข้อเสนอแนะไป 49 ข้อ

ประเด็นที่ไทยรับข้อเสนอ สิทธิเด็กและผู้หญิง การลงนามอนุสัญญาผู้สูญหาย การดูแลแรงงานข้ามชาติ แก้ไขปัญหาสิทธิกลุ่มเปราะบาง

ประเด็นที่ไทยปฏิเสธรับข้อเสนอ ได้แก่ เรื่องโทษประหาร สิทธิในการแสดงออก การลงนามอนุสัญญา ICC การลงนามอนุสัญญาสิทธิแรงงานข้ามชาติและครอบครัว การยกเลิกกฎอัยการศึก การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

UPR ครั้งที่ 2

อยู่ภายใต้การทบทวนรอบที่ 25 (25th session) วันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2016 ประเทศไทยได้รับข้อเสนอทั้งหมด 187 ข้อ รับทราบ (noted) 62 ข้อ การแจ้งข้อรับทราบเหมือนเป็นการเลี่ยงการปฏิเสธไม่รับข้อเสนอทางอ้อม โดยหลายประเทศในช่วงทบทวนรอบ 2 ก็ใช้วิธีนี้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีเหนือ ในรอบนี้ไม่มีข้อเสนอที่ไทยปฏิเสธ เพียงแต่ชี้แจงว่ารับทราบในข้อเสนอแนะเหล่านั้นแล้ว

ประเด็นที่ไทยรับข้อเสนอ ลงนามและให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นอุ้มหายกับซ้อมทรมาน, การพัฒนา กสม. ให้เป็นสถานะ A, ความเท่าเทียมทางเพศ, สิทธิเด็กและผู้หญิง, การค้ามนุษย์, สิทธิในการแสดงออก, การพัฒนาระบบสาธารณสุข, เศรษฐกิจรากหญ้า, การศึกษา, สิทธิคนพิการ, สิทธิแรงงานข้ามชาติ

ประเด็นที่ไทยชี้แจงรับทราบ การลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมเรื่องอนุสัญญาสิทธิพลเมือง, การลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย, การยกเลิกให้ประชาชนขึ้นศาลทหาร, ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

ข้อแตกต่างระหว่างรายงานของรัฐบาลและรายงานอื่นๆ ใน UPR ครั้งที่ 3

รายงานของรัฐบาล

รายงานของรัฐบาลไทยมีความยาว 19 หน้า 145 ประเด็น โดยเนื้อหาในรายงานของรัฐบาลระบุว่า รัฐบาลยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นหลักการที่สำคัญ โดยจะรวมไปถึงประเด็นที่สำคัญต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สันติภาพและสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพมนุษย์แบบที่ทุกคนมีส่วนร่วม ประเทศไทยยึดถือหลักการเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม รัฐบาลระบุว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นได้รับรองการทำงานตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างๆ และมีแผนพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะนำไปสู่การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รายงานยังได้อธิบายถึงความก้าวหน้าของไทยในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตามข้อเสนอแนะจาก UPR ครั้งที่ 2 ในหลายประเด็นดังนี้

กลไกสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีการจัดตั้งกลไกกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิในประเทศ โดยรัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เลื่อนเป็นสถานะ A

สังคมและเศรษฐกิจ รัฐบาลบอกว่าได้จัดการกับปัญหาความยากจน โดยตั้งแต่ปี 2016 จำนวนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 USD ตามเส้นความยากจนได้หมดไปแล้ว และปัจจุบันมีจำนวนคนยากจนลดลงเรื่อยๆ

สาธารณสุข รัฐบาลไทยชี้แจงว่าได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาหลักนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลักของ Universal Health Coverage (UHC) ระบบสาธารณสุขก็มีคุณภาพครอบคลุมทั้งคนไทยกว่า 99.8% และแรงงานต่างชาติทั้งถูกและผิดกฎหมายสามารถเข้าถึงการรักษาของไทยได้อย่างเท่าเทียม

การศึกษา รัฐบาลชี้แจงว่ากำลังเร่งให้เกิดระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม โดยเด็กที่ไม่มีสัญชาติก็สามารถเข้าเรียนได้

แรงงาน รัฐบาลรายงานว่ามีความตั้งใจที่จะคุ้มครองสิทธิแรงงานของทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติและสัญชาติ และชี้แจงถึงการพัฒนาจากการลงนามในอนุสัญญา Fishing Convention No.188 โดยไทยปฏิบัติตามหลักการสากลอย่างเคร่งครัด ผู้หญิงได้รับค่าเยียวยาในกรณีลาหยุดเนื่องจากตั้งครรภ์ รวมถึงมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ มีหน่วยงานที่คอยตรวจตราเพื่อป้องกันประเด็นค้ามนุษย์

เด็กและผู้หญิง รัฐบาลมีความตั้งใจในการพัฒนาประเด็นสิทธิเด็กมาตลอด มีการแก้กฎหมายทำแท้งและตระหนักในการลดความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง

ผู้สูงอายุ มีการวางแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยการเพิ่มเวลาเกษียณจาก 60 ปีเป็น 63 ปี การออก พ.ร.บ.ปรับโครงสร้างภาษีให้ผู้สูงอายุได้รับผลประโยชน์ รวมถึงการให้เงินสนับสนุนสตาร์ตอัปกว่า 8,991 คน

ผู้พิการ รัฐบาลมีแผนพัฒนาและกลไกที่ชัดเจนผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมุ่งเป้าเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างมีอิสระและยั่งยืน ครอบคลุมกว่า 805 โครงการกับผู้มีส่วนร่วมกว่า 2,096,931 ผู้พิการ รัฐบาลยังคงมีการพัฒนาให้ผู้พิการสามารถเข้าร่วมระบบการศึกษาปกติได้ รวมถึงกิจกรรมทั่วไปของสังคม มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้พิการในภาวะภัยพิบัติกว่า 83 โรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลเพิ่มเงินช่วยเหลือจาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท และให้เงินสนับสนุนพิเศษแก่ผู้พิการ

ชาติพันธุ์ รายงานอธิบายว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องชาติพันธุ์โดยมีการรับรองประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 70 และกำลังร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลไกในการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์โดยไม่มีการถูกเลือกปฏิบัติ รัฐบาลยังมีแผนการพัฒนาเพื่อสังคมพหุวัฒนธรรมปี 2018-2021

ประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ช่วงปี 2016-2019 รัฐบาลได้มีแผนปรับปรุงนโยบายใหม่ในการจัดการป่าสงวน เพื่อรักษาที่ดินและธรรมชาติรวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น มีการรับรอง MOU ระหว่าง 6 หน่วยงานรัฐเพื่อการจัดการที่ดินอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

ความหลากหลายทางเพศ หลังจาก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บังคับใช้มา 5 ปี รัฐกำลังมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้มีการคุ้มครองและป้องกันที่มากขึ้น รวมถึงสำหรับกลุ่ม LGBTIQ และเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานเพื่อดูแลการเลือกปฏิบัติทางเพศ รัฐบาลกำลังร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพื่อให้กลุ่ม LGBTIQ สามารถแต่งงานกันได้ดั่งคู่ชีวิต โดยจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในการเลือกตั้งปี 2019 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพศทางเลือกเป็นครั้งแรก

แรงงานข้ามชาติ ไทยมีความพยายามที่จะรับรองสิทธิของแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด โดยพยายามปรับใช้กฎหมายที่สามารถคุ้มครองได้ทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง มีการทำงานเพื่อออก MOU กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมมือกันหาทางป้องกันการเอาเปรียบแรงงาน แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เช่นเดียวกับแรงงานไทยและแรงงานในระบบจ้างงานของรัฐสามารถซื้อประกันสุขภาพประจำปี ปีละ 1,600 บาทได้ มีการเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและสามารถยื่นข้อร้องเรียนได้โดยรัฐมีระบบแปลภาษาในศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติโดยให้ความช่วยเหลือมาแล้วประมาณ​ 17,957 คนในปี 2020 ในช่วงโควิดรัฐมีการขยายเวลาในการต่อสัญญาแรงงาน

ผู้พลัดถิ่นและบุคคลที่ควรอยู่ในการดูแล ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างยาวนานในการเข้ามาของผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านกว่าล้านคนที่ได้รับผลจากภัยความไม่สงบ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่รัฐก็ยึดถือในหลักการของการไม่ส่งคนกลับ (non-refoulement) สำหรับปัญหาผู้พลัดถิ่นชาวพม่านั้นประเทศไทยได้ให้สถานที่หลบภัยตั้งแต่ปี 1984 โดยมีแคมป์ผู้หลบภัยกว่า 9 แคมป์ มีจำนวนประชากรกว่า 81,000 คน โดยได้มีการประสานการทำงานกับรัฐบาลพม่าในการส่งคนกลับบางส่วน ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับบุคคลที่ควรอยู่ในการดูแล (persons of concern – POC) ที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR แม้ว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีได้ออกกลไกเพื่อสำรวจสถานะของบุคลเพื่อแยกบุคคลที่ควรได้รับการคุ้มครองและให้สถานะ (ในข้อนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญว่ารัฐบาลไทยหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ หรือ ‘refugee’ ในรายงาน)

บุคคลไร้สัญชาติ ไทยให้บริการจดทะเบียนบุคคล 450,549 คน โดยได้รับหมายเลข 13 หลักเพื่อให้สามารถได้รับสิทธิพื้นฐานและได้มอบสัญชาติให้กว่า 290,000 คน และในประเด็นเด็กไร้สัญชาติ ประเทศไทยได้ออก พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2562 เพื่อให้เด็กที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 10 ปีสามารถขอสัญชาติไทยได้

สิทธิทางการเมือง รัฐบาลให้การรับรองสิทธิในการแสดงออกรวมถึงเสรีภาพของสื่อในรัฐธรรมนูญภายใต้การจัดการของรัฐ เพราะว่าหลายกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย ฉะนั้นรัฐบาลจึงมีการเฝ้าระวังเพื่อให้มั่นใจว่าการแสดงออกนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม โดยไม่มีคำพูดที่ใช้เชิงดูถูกหรือให้ร้ายบุคคลหรือสถาบันอื่นๆ รวมถึงไม่ควรนำไปสู่การขัดขวางหรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือศีลธรรม รัฐบาลสนับสนุนให้มีพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างสันติในประเด็นการปฏิรูปประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ โดยทุกภาคส่วนของสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศ (head of state) กฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของประเทศและสถาบันอื่นๆ ของประเทศ ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความระวังอย่างมากในการใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิในการแสดงออกของประชาชน แม้ในสภาวการณ์นี้ประชาชนก็ยังสามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้ในสังคม

การต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย ไทยกำลังอยู่ในช่วงร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยจะเป็นกฎหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การให้สัตยาบันในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายที่ไทยได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2012 ไทยได้ตั้งคณะทำงานในประเด็นคนหายเพื่อติดตาม ตรวจสอบ เยียวยาเหยื่อโดยทำงานกับ OHCHR และภาคประชาสังคม

ความยุติธรรม รัฐบาลมีการจัดสรรกองทุนยุติธรรมที่จะให้การรับรองว่าคนไทยสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ โดยกองทุนนี้ครอบคลุมถึงการประกันตัว จ้างทนาย รวมถึงค่าใช้ต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย โดยการแต่งตั้งล่ามให้ กระทรวงยุติธรรมยังแต่งตั้งระบบโทรศัพท์สายด่วนและ 76 ศูนย์ยุติธรรมทั่วประเทศ

กระบวนการพิจารณาคดีและสิทธิผู้ต้องขัง จุดมุ่งหมายของกระบวนการพิจารณาคดีคือเพื่อดำเนินภายใต้กลไกที่ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเท่าเทียม รัฐบาลมีข้อเสนอถึงกระทรวงยุติธรรมเพื่อแก้ไขยกกฎหมายโทษประหาร และเพิ่มอายุผู้รับโทษอาญาจาก 10 เป็น 12 ปี รัฐบาลมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ต้องขังและฝึกอบรมผู้คุมขังโดยให้เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) และมีการทำงานกับกระบวนการสากลอย่างแข็งขัน

ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ไทยลงนามในหลักการสากลประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน คณะรัฐมนตรีได้รับรองแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (ปี 2019-2022) โดยแผนร่างมาจากข้อเสนอแนะจากการหารือระหว่างหลายภาคส่วนทั่วประเทศ


รายงานฉบับอื่นๆ

เนื้อหาในรายงานขององค์กรยูเอ็น มีความยาว 11 หน้า 73 ประเด็น รายงานของยูเอ็นมีข้อคิดเห็นประเด็นสิทธิมนุษยชนในหลายเรื่อง เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน และการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อปี 2014 นั้นไม่เป็นไปตามหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กระบวนการคัดสรรกรรมการสิทธิฯ ยังไม่โปร่งใสตามหลักการสากล กฎหมายยังมีความไม่เท่าเทียมและสามารถนำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้ ผู้หญิงยังถูกกีดกันจากการทำงานเชิงนโยบาย ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า กฎหมายไทยยังมีช่องโหว่ที่ทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

สิ่งสำคัญคือมีความกังวลในสถานการณ์การแสดงออกทางการเมืองของไทย เมื่อผู้ชุมนุมถูกใช้กฎหมายในการควบคุมสิทธิในการแสดงออก การใช้กฎหมายฉุกเฉินที่มุ่งเน้นจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะในช่วง 15 ตุลาคม 2020- 31 มีนาคม 2021 ตำรวจได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ความเหลื่อมล้ำในไทยยังมี กลุ่มคนเปราะบางยังไม่สามารถเข้าถึงบริการและความยุติธรรมจากรัฐได้อย่างเท่าเทียม

ส่วนรายงานรวมข้อเสนอแนะจากองค์กรสิทธิมนุษยชน กรรมการสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนทั้งหมด 60 ฉบับ ถูกรวบรวมสรุปโดยคณะทำงาน UPR (Working Group on the Universal Periodic Review) มีความยาว 10 หน้า 70 ประเด็น โดยภาพรวมของรายงานคือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนอื่นๆ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ถูกร่างโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่เป็นไปตามหลักการสากล การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังไม่มีประสิทธิภาพและกระบวนการคัดสรรยังไม่โปร่งใส กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถเข้าถึงการแต่งงานอย่างเท่าเทียมและถูกเลือกปฏิบัติจากการจ้างงานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ชุมชนยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับโครงการพัฒนาของรัฐ ยังมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นภายใต้การทำงานของหน่วยงานรัฐบาล ส่วนของสิทธิในการแสดงออกนั้นรัฐบาลยังไม่ได้ทำงานโดยใช้หลักการสากลแต่กลับใช้กฎหมายในการควบคุมและปราบปราม ในช่วงโควิดแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำหลายคนไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากรัฐได้ ปัญหาโควิดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น มีการชี้แจงว่ารัฐบาลยังคงล้มเหลวในการให้บริการระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขและยังมีการเลือกปฏิบัติทางเพศอยู่ในสังคม

มุมมองที่แตกต่าง สู่การทบทวนคำสัญญา

หากเปรียบเทียบรายงานทั้ง 3 ฉบับจะเห็นได้ว่ายังมีเนื้อหาที่ไม่ตรงกัน ยังมีมุมมองที่แตกต่างระหว่างรัฐบาล องค์กรยูเอ็น องค์กรสิทธิฯ และภาคประชาสังคม นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่กลไก UPR เปิดให้หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น และรับข้อมูลที่หลากหลายก่อนวันทบทวนจริงจะมาถึง

หากให้มองว่ากระบวนการ UPR มีผลอย่างไรกับประเทศ สามารถมองได้ว่ารัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายก่อนถึงกระบวนการ UPR โดยเร่งดำเนินกระบวนการออกกฎหมายไปสู่รัฐสภาในช่วงเดือนกันยายน จากเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหายเมื่อปี 2012 และถูกทวงถามถึงประเด็นนี้ตลอดบนเวทีนานาชาติ หากให้พูดง่ายๆ คือรัฐบาลเก็งข้อสอบว่าจะต้องถูกสอบถามประเด็นนี้ที่เวที UPR แน่นอน จึงรีบเร่งกระบวนกฎหมายให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาก่อน UPR ครั้งที่ 3

หากอ่านรายงานรัฐบาลจะเห็นได้ว่า การอธิบายถึงหลักการหลายอย่างที่รัฐบาลอ้างในรัฐธรรมนูญนั้นมีพื้นฐานมาจากหลักการสิทธิมนุษยชนสากล อย่างเช่นการที่รัฐบาลชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นั้นรับรองสิทธิพลเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกและรับรองการทำงานกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งการที่รัฐบาลเขียนรับรองประเด็นสิทธิฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญคือการที่รัฐบาลพยายามแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลปฏิบัติตามหลักการสากลและสิ่งเหล่านี้มีผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตหลายประเด็นจากรายงานของรัฐบาลไทย เช่น การที่รัฐบาลเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตจำนงที่จะนำหลักการผู้ลี้ภัยมาใช้ในบริบทของไทย รวมถึงข้อสังเกตอย่างประเด็นผู้สูงอายุที่รัฐบาลอธิบายว่าให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุด้านความมั่นคงโดยการเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีเจตจำนงในการสร้างสวัสดิการที่มั่นคงแก่ผู้สูงอายุ และประเด็นสิทธิในการแสดงออกก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ รัฐบาลให้สิทธิในการแสดงออกแก่ประชาชน เพียงแต่ห้ามพาดพิงถึงสถาบันหลักหรือความมั่นคงของชาติ ซึ่งในท้ายที่สุดสิ่งที่รัฐบาลให้การรับรองไว้ที่เวที UPR เป็นเหมือนดั่งคำมั่นสัญญาและการแสดงจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนของประเทศต่อประชาคมโลก

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวเกิดขึ้นตามกระบวนการ UPR ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานได้ที่ UPR 3rd Cycle Thailand และติดตามการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 และอยากชวนผู้อ่านคิดว่า หากเป็นตัวแทนประเทศสมาชิกในยูเอ็นและมีเวลา 1 นาทีในเวที UPR ท่านจะเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอะไรบ้าง?


อ้างอิง

Universal Periodic Review – Thailand

UPR ครั้งที่สองของประเทศไทย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save