fbpx
กว่าจะเป็นประชาธิปไตย: ไทยเราอยู่ไหนในแผนที่ประชาธิปไตยโลก

กว่าจะเป็นประชาธิปไตย: ไทยเราอยู่ไหนในแผนที่ประชาธิปไตยโลก

วรรษกร สาระกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

จากการระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้กิจกรรมหลายอย่างต้องหยุดชะงักไป ทั้งห้างร้านต่างๆ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข่าวการประท้วงในฮ่องกงจะซาไปบ้างแล้ว แต่การเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงไม่ได้หยุดชะงัก เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแบนเกมออนไลน์ Animal Crossing: New Horizons โดยสันนิษฐานกันว่าเหตุผลเพราะ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงใช้เป็นสื่อในการเรียกร้องประชาธิปไตย ทางด้านประเทศไทยเองเมื่อวันที่ 25 เมษายน สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ Student Union of Thailand ได้เชิญชวนคนไทยร่วมประท้วงออนไลน์โดยการแชร์ภาพแสดงความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาล พร้อมติดแทก #MobFromHome

ห้วงเวลานี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านถอยห่างออกมาจากประเด็นโควิด-19 แล้วมาสำรวจภาพกว้างของระบอบการปกครองของโลกในระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านมา เพื่อมาดูว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้เราผ่านอะไรกันมาบ้าง และระบอบการปกครองน่าจะมีความสัมพันธ์กับชีวิตเราในแง่มุมไหน

 

ประชาธิปไตยเป็นของใหม่

 

แม้ว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งที่ประชาชนโดยมากต้องการจะไปให้ถึงในปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศ แต่ระบอบนี้มีอายุไม่นานเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดย Our world in Data ระบอบการปกครองสามารถแบ่งประเภทคร่าวๆ ออกเป็น 5 กลุ่มตามเกณฑ์ต่างๆ เช่น ความเสรีและการแข่งขันในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง การใช้อำนาจของผู้นำ เป็นต้น จากเกณฑ์ดังกล่าว แต่ละประเทศจะได้คะแนน ตั้งแต่ -10 คือ เป็นอัตตาธิปไตย จนถึง 10 คือ เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ส่วนคะแนน -20 คือการเป็นประเทศอาณานิคม เราสามารถแบ่งระบอบการปกครองออกเป็น 5 แบบ คือ

1. colony หรือ ประเทศอาณานิคม หมายถึง การถูกปกครองโดยผู้อื่น มีคะแนนเท่ากับ -20

2. autocracy หรือ อัตตาธิปไตย หมายถึง ผู้นำคนเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่น จีน เกาหลีเหนือ มีคะแนนอยู่ในช่วง -10 ถึง -6

3. closed anocracy หรือ ระบอบที่ผสมระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ผู้นำมาจากกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผู้มีเครือข่ายทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มีคะแนนอยู่ในช่วง -5 ถึง 0

4. open anocracy คล้ายกับ closed anocracy แต่ผู้เข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มนอกเหนือจากกลุ่มอภิชน เข่น มาเลเซีย รัสเซีย มีคะแนนอยู่ในช่วง 1 ถึง 5

5. democracy หรือ ประชาธิปไตย ประชาชนใช้อำนาจในการเลือกผู้นำ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย มีคะแนนตั้งแต่ 6 ถึง 10

จากข้อมูลซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1816 ถึงปี 2015 สามารถแสดงสัดส่วนระบอบการปกครองแบบต่างๆ ในโลกได้ในกราฟด้านล่าง

 

 

เห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1816 หรือ พ.ศ. 2359 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ประเทศส่วนใหญ่หรือประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ หรือ 109 ประเทศเป็นประเทศอาณานิคม มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย อีกนานถึง 144 ปีต่อมา ณ ปี 1961 การปกครองแบบอาณานิคมจึงถูกโค่นลงจากตำแหน่งระบอบการปกครองยอดนิยมอันดับหนึ่งโดยระบอบเผด็จการ โดยมีจำนวนประเทศที่ยังเป็นอาณานิคมเป็นอันดับสอง หากนับจากปีที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 อีก 14 ปีต่อมา 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอาณานิคมสามารถปลดแอกตัวเองจากเจ้าอาณานิคมได้

หลังจากได้รับเอกราช ประเทศอาณานิคมเดิมเปลี่ยนการปกครองเป็นรูปแบบ closed anocracy มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังที่แสดงในกราฟด้านล่าง เมื่อลองดูความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครองระบอบแรกหลังจากได้รับเอกราชและระบอบที่ใช้ในปี 2015 พบว่าทั้งสองอย่างไม่มีความสัมพันธ์กัน

 

 

ประเทศในโลก เริ่มปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดเมื่อปี 1991 และทั่วโลกเริ่มมีประชาธิปไตยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2004 ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว เมื่อนับถึงปี  2015 ประชาธิปไตยมีอายุเฉลี่ยเพียง 42 ปีเท่านั้น

 

เส้นทางประชาธิปไตยไทยอันแสนยาวนาน

 

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2475 หรือ ค.ศ. 1932 แม้ว่าความตั้งใจของคณะราษฎรคือการให้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เส้นทางประชาธิปไตยไทยยังดูเหมือนจะอีกยาวไกล

อีก 60 ปีต่อมานับจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ หลายครั้ง กระทั่งประชาธิปไตยแบบเต็มใบที่ยาวนานที่สุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในปีนั้นมีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญของประชาชน หลังจากเหตุการณ์นี้มีการจัดการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะและมี นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกราฟด้านล่าง เห็นได้ว่า ณ ปีที่ประชาธิปไตยได้รับความนิยมสูงสุดเป็นครั้งแรก ประเทศไทยก็ตามเข้าสู่กระแสนี้ในปีต่อมา

ประชาธิปไตยครั้งนี้มีอายุ 14 ปี ก่อนประเทศไทยจะกลับไปสู่ระบอบ closed anocracy ในปี 2549 ซึ่งมีการรัฐประหารโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน โค่นทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้นลงจากตำแหน่ง ประเทศไทยกลับมาจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะ สมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม สมัคร สุนทรเวช ถูกตัดสินให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีจากการจัดรายการชิมไปบ่นไป ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงตกไปเป็นของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่หลังจากนั้นมีคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมแล้วระยะเวลาในช่วงนี้รวม 3 ปี อยู่ระหว่างปี 2008 ถึง 2010 หรือ 2551 ถึง 2553 ในระยะนี้คะแนนระดับความเป็นประชาธิปไตยของไทยอยู่ที่ 4 จัดอยู่ในกลุ่ม open anocracy

หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศยุบสภา ผลจากการเลือกตั้งใหม่นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ในช่วงนี้ไทยกลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตยอีกครั้งด้วยระดับความเป็นประชาธิปไตยที่ 7 แม้ว่าจะยังไม่สูงเท่ายุคก่อนก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยต้องถอยฉากไปจากการเมืองไทยอีกครั้งเมื่อมีการรัฐประหารโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นการสิ้นสุดประชาธิปไตยช่วงสั้นๆ นี้ ระดับความเป็นประชาธิปไตยของไทยตกไปอยู่ที่ -3 ทำให้ไทยกลับไปอยู่ในระบอบ closed anocracy อีกครั้ง

 

 

โดยสรุป ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปี 2558 ประเทศไทยอยู่ระบอบ closed anocracy นานที่สุด เป็นระยะเวลา 28 ปี และอยู่ในระบอบประชาธิปไตยน้อยที่สุด เป็นระยะเวลา 17 ปี

 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในปี 2015 พบว่าเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังเป็นระบอบเผด็จการ หรือ ค่อนไปทางเผด็จการอยู่ ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา

 

 

แม้ว่าอายุประชาธิปไตยของไทยจะไม่นานเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 28.38 ปี แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ยังเคยเป็นประชาธิปไตยเมื่อเทียบกับ 51 ประเทศที่ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลย นอกจากนี้ จากกราฟด้านล่างที่แสดงการแจกแจงว่ามีกี่ประเทศที่มีอายุประชาธิปไตยกี่ปีบ้าง แสดงให้เห็นว่านอกจาก 51 ประเทศที่ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ประเทศส่วนใหญ่มีประชาธิปไตยมาไม่เกิน 30 ปี ประเทศไทยที่เคยมีประชาธิปไตยมา 17 ปีตกอยู่ในแผนภูมิแท่งสีแดง

 

 

ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันการปกครองของประเทศไทยจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยในแบบที่หลายคนหวัง แต่อย่างน้อยก็อยากให้มองในแง่บวกว่าเราสามารถไปสู่จุดนั้นได้มาแล้ว ดังนั้นการเป็นประชาธิปไตยให้มากกว่าปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการไปสู่จุดที่เราเคยอยู่ และการต่อสู้ครั้งนี้จะไม่โดดเดี่ยวเพราะเราได้เห็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในอีกหลายๆ ที่ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน

 


แหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูล Dataset: Our world in Data

แหล่งข้อมูลการจำแนกระบอบการปกครอง: Visualizing 200 Years of Systems of Government

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save