fbpx
ถ้าหากไทยไม่ปรับ... ในระเบียบโลกที่เปลี่ยน...

ถ้าหากไทยไม่ปรับ… ในระเบียบโลกที่เปลี่ยน…

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในบทความตอนที่แล้ว ผมตั้งคำถามว่า “ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลง ไทยต้องเผชิญหน้ากับอะไร?” ในบทความตอนนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่า ท่ามกลางระเบียบโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงและถาโถมเข้าสู่ประเทศไทย หากประเทศไทยของเรา (ในที่นี้หมายถึง รัฐบาล ระบบราชการ ภาคเอกชน และประชาชน) ไม่ทำอะไรเลย เป็นฝ่ายรับที่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยปล่อยไปตามยถากรรม สถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) ที่สามารถจะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร โดยผมจะแบ่งการอธิบายผลกระทบจากระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) ระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อประเทศไทย 2) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย การค้า และการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป 3) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ 4) ผลกระทบต่อสังคมของประเทศไทย โดยในแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (พิจารณาควบคู่กับแผนภาพ)

 

วิกฤตเศรษฐกิจ
คลิกเพื่อดูภาพขยาย

 

ระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นและกระทบต่อประเทศไทย

 

สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจขั้วเดียว (Uni-polarity) กำลังเดินทางสู่ภาวะถดถอย ความสามารถและอิทธิพลในการจัดระเบียบโลก ในการวางกฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานต่างๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากสหรัฐอเมริกายังคงใช้นโยบายชาตินิยมในรูปแบบคลั่งชาติ และการใช้ความรุนแรงในการตอบโต้กับสิ่งกระทบต่างๆ รวมทั้งวิธีการดำเนินนโยบายโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ อาทิ การไม่สนใจในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การทำสงครามการค้า นโยบายแยกขั้วการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าที่แยกตัวในระดับภูมิภาค (Decoupling and Reshoring) จะทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียสถานะมหาอำนาจเดี่ยวในระยะกลาง (3-5 ปี)

ในขณะที่จีน ซึ่งมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังทศวรรษ 1990 ก็ยังไม่มีความพร้อมมากเพียงพอที่จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐอเมริกาในการวางตำแหน่งของจีนให้เป็นมหาอำนาจในระยะสั้น (1-2 ปี) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนร่วมกับอภิมหาโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนมีศักยภาพสูงขึ้นในการขึ้นเป็นมหาอำนาจในระยะกลาง (3-5 ปี)

ด้านมหาอำนาจเดิมอย่างสหภาพยุโรปและรัสเซีย แม้จะยังมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีบทบาทในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นหนึ่งในประเทศผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ทั้งสหภาพยุโรปและรัสเซียก็ยังไม่อยู่ในสถานะที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเดี่ยวในการวางระเบียบโลก

ฝั่งเอเชียตะวันออก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังคงเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เป็นเจ้าของเงินทุน และยังมีการส่งออกอำนาจละมุน (soft power) ในมิติสังคม-วัฒนธรรม ทำให้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังคงมีศักยภาพในการควบคุมห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาคต่อไป ส่วนประเทศที่มีขนาดใหญ่ทั้งในมิติเศรษฐกิจและมิติประชากรอย่างอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ก็ยังอยู่ในกระบวนการสร้างชาติ ปฏิรูปเศรษฐกิจ และพยายามยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรของตนเอง

ขณะที่ฝั่งตะวันออกกลางและโลกมุสลิมจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก แต่ขณะเดียวกัน ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แต่เดิมพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพียงไม่กี่ประเภท ก็ทำให้ภูมิภาคนี้ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและพึ่งพาห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพึ่งพาโลกมลายูที่เป็นเสมือนประตูเชื่อมโลกมุสลิมสู่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในระยะสั้น (1-2 ปี) ภาวะสุญญากาศทางอำนาจในการวางระเบียบโลกยังคงเกิดขึ้น โลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว (Multi-Polarity) จะเป็นโลกที่อยู่ในสภาวะที่ Amitav Archaya เรียกว่า Multiplex World คือ โลกที่อยู่ในภาวะยุ่งยากซับซ้อน (Complexity) และความยุ่งยากซับซ้อนนี้จะทบเท่าทวีคูณ (Multiple) [Multiple + Complexity = Multiplex]

Multiplex World คือโลกที่ไม่มีผู้จัดระเบียบ (hegemon) ความหลากหลายในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จะมีความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน มิติเหล่านี้ต่างก็เชื่อมโยงทุกประเทศและทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ผู้เล่นหลัก ทั้งที่เป็นผู้สร้างและผู้ทำลายระเบียบโลก จะไม่ใช่ภาครัฐของประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งอีกต่อไป แต่จะเป็นบทบาทขององค์การและความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมถึงผู้เล่นที่มิใช่ภาครัฐ อาทิ บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และเครือข่ายต่างๆ ที่เชื่อมโยงกลุ่มผลประโยชน์เข้าไว้ด้วยกัน

ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้ประชาคมอาเซียนจะยังเป็นหนึ่งในกรอบการบูรณาระดับภูมิภาคที่ยังก้าวหน้าอย่างมั่นคง แต่ทุกประเทศสมาชิกต่างก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับถดถอยอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากโควิด-19 ทำให้การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนที่มีพรมแดนติดกัน และมีพรมแดนติดกับทั้งจีน อินเดีย และเอเชียใต้ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ น่าจะเป็นตลาดและเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

ถ้าเราจะพิจารณาจากแผนภาพด้านบนร่วมด้วย ขอให้เริ่มต้นจากมุมขวาบนของแผนภาพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในภาคการผลิตที่เกิดขึ้นในระดับโลกและส่งผลกระทบกระเทือนไปถ้วนทั่วในทุกระบบเศรษฐกิจ คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 : Cyber-Physical System หมายถึง เทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงโลกไซเบอร์ที่จับต้องไม่ได้เข้ากับโลกกายภาพที่จับต้องได้ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นหัวใจสำคัญ นับเป็น Disruptive Technology ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวหน้า รวดเร็ว และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด

ปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญในการพัฒนา AI ได้แก่ การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การมีคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงในการประมวลผล และการสร้างชุดคำสั่งที่ดีที่สุดเพื่อสอนคอมพิวเตอร์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นสามารถเรียนรู้และคิดวิเคราะห์เองได้ตามหลักเหตุและผล ซึ่งประเทศที่พร้อมที่สุดที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ และจะพัฒนาตนเองจนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้ คือ ประเทศจีน และนั่นทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีอยู่แต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษ 1990-2000 ตรงนี้ทำให้เราเห็นการแสดงออกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในลักษณะชาตินิยมที่มีรูปแบบคลั่งชาติ (Nationalism) หรือการเห็นว่าชาติของตนดีเด่นเหนือประเทศอื่นๆ รวมถึงการเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia, Radicalism) นำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) ซึ่งนำไปสู่ภาวะสงครามการค้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2018 และยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ปี 2020)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย การค้า และการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

 

การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แม้จะยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่การผูกพันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก (GVCs) และ/หรือ ห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาค (RVCs) ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักสำคัญในการสร้างการจ้างงาน และการเจริญเติบโตในระยะสั้น (1-2 ปี) และระยะกลาง (3-5 ปี) ซึ่งความตกลงการค้าเสรีจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs  และ/หรือ RVCs ได้ โดยมีแต้มต่อสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน การเจรจาการค้าในกรอบ RCEP ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และ CPTPP ที่มีสมาชิกประชาคมอาเซียนบางประเทศเข้าเป็นภาคี ซึ่งจะเป็นกรอบการค้าสำคัญในการกำหนดแนวทาง กฎ กติกา และมาตรฐานในการทำการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งในห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค (Regional Value Chains: RVCs) และการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่มูลค่าของทวีปเอเชียและห่วงโซ่มูลค่าของทวีปอเมริกา ซึ่งแยกออกจากกันเนื่องจากนโยบายของสหรัฐอเมริกา (Decoupling)

ในระยะกลาง (3-5 ปี) ไทยและประชาคมอาเซียนยังคงมีความสุ่มเสี่ยงจากภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ที่สหรัฐอเมริกาสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลก แต่จีนเองก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจนำได้ ดังนั้น ความพยายามของมหาอำนาจเดิมในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน และความพยายามของจีนในการขยายอิทธิพล คงจะกระทบทิศทางและแนวทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของอาเซียนที่อยู่ในทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ในมิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030) จะเป็นอีกหนึ่งระเบียบโลกที่กำหนดรูปแบบและทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ ทำให้แต่ละประเทศต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยจะส่งผลต่อทุกประเทศ ทั้งในระยะสั้น (1-2 ปี) และระยะกลาง (3-5 ปี) ขณะที่ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั้งปัญหาการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะทะเล และการป้องกันการเกิดมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองหมอกควันที่มีอนุภาคขนาดเล็ก (PM10, PM2.5) จะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญในระยะสั้น (1-2 ปี)

ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ทุกภาคส่วนคุ้นชิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระดับเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิติเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มิติการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมิติสังคมและวัฒนธรรม โดยประเทศที่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 Cyber-Physical System ซึ่งมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นแกนกลาง ในการเชื่อมโยงทุกสิ่งในทางกายภาพให้สามารถเชื่อมโยงสื่อสารถึงกันได้ในรูปแบบ Internet of Things (IOTs) จะเป็นประเทศที่จะมีบทบาทสูง และมีอำนาจต่อรองในการกำหนดระเบียบโลกใหม่

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงระดับเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบทางด้านลบต่อทุกประเทศในทุกมิติ จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงสู่ระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง นั่นนำเราไปสู่กล่องทางซ้ายบนของแผนภาพ คือสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่ทั้งจีนและสหรัฐต่างก็ขึ้นอัตราภาษีศุลกากรและใช้มาตรการทางค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ตอบโต้ซึ่งกันและกัน ฝั่งสหรัฐอเมริกาใช้นโยบาย Reshoring ดึงเงินลงทุนกลับไปลงทุนยังทวีปอเมริกา และในที่สุดจะนำไปสู่ภาวการณ์แบ่งแยกขั้วการผลิตในระดับโลก (Decoupling) และทำให้ห่วงโซ่มูลค่าการผลิตในระดับโลก (Global Values Chains: GVCs) แตกออกเป็นห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาค (Regional Values Chains: RVCs) ของทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา ทำให้เริ่มมีการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalisation) ขึ้น

ในมิติความมั่งคง การสร้างพันธมิตรในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ก็ยังคงดำเนินการต่อไปและแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น ขณะที่แนวโน้มที่ประเด็นความมั่นคงและประเด็นทางเศรษฐกิจจะมาบรรจบกัน และพัฒนาไปสู่สงครามเทคโนโลยีก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น ในกรณีโทรศัพท์มือถือ Huawei ในมือจะสามารถเข้าถึงบริการของ Google การที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรประกาศจะไม่ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม 5G ของ Huawei และ ZTE ซึ่งเป็นบริษัทของจีนที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์ และล่าสุดคือ การที่สหรัฐอเมริกาห้ามใช้แอปพลิเคชันบางตัวจากบริษัทของประเทศจีน

การกระทำในลักษณะการค้าแบบปกป้องคุ้มกันดังกล่าว ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการชะลอตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

หากประเทศไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนจุดอ่อนดั้งเดิมได้ ประเทศไทยในระเบียบโลกใหม่จะประสบความยุ่งยาก โดยพิจารณาจากมิติมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Y) ที่คำนวณจากมูลค่าการบริโภคภายในประเทศ (C), การลงทุน (I), รายจ่ายภาครัฐ (G) และ การส่งออกสุทธิ (X-M) หรือจากสมการเศรษฐกิจมหภาค Y = C + I + G + (X-M) โดยพิจารณาร่วมกับเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) และนโยบายการคลัง (Fiscal Policy)

เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตาม (X-M, ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ C, I และ G) เห็นได้จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2018 ที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 หรือสูงกว่านั้น แต่เมื่อเกิดสงครามการค้า ไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2018 การส่งออกติดลบ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้เพียงร้อยละ 4.2 ในปี 2018 และส่งผลต่อเนื่องถึงการส่งออกที่ติดลบในไตรมาส 1 ปี 2019 โดยเศรษฐกิจไทยปี 2019 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น ขณะที่ในปี 2020 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นอัตราติดลบ ซึ่งทั้งหมดมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) เป็นปัจจัยเร่ง

เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ส่งออกไม่ได้ การผลิตถดถอย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศเพื่อเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศแทบจะทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ นั่นทำให้ภาวการณ์ลงทุน ทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ถดถอยลงตามไปด้วย นั่นหมายถึงเครื่องยนต์เครื่องที่ 2 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการลงทุน (I) หยุดชะงัก

เมื่อส่งออกไม่ได้ ผู้ผลิตไทยก็จะลดการผลิตลง โดยในระยะแรก มาตรการที่เจ้าของกิจการนิยมทำมากที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องแจ้งกระทรวงแรงงานและไม่จำเป็นต้องแจ้งประกันสังคม คือการงดการจ้างงานล่วงเวลา (OT) ซึ่งแน่นอนว่ากระทบอย่างยิ่งต่อแรงงานไทย เนื่องจากคนงานส่วนใหญ่ใช้เงินเดือนจากการทำงานเต็มเวลาเป็นค่ากินอยู่ดำรงชีพในชีวิตประจำวัน และส่งรายได้จากการทำงานล่วงเวลากลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด อันจะทำให้เงินไหลเวียนกลับสู่ภาคชนบทลดลง ขาดสภาพคล่อง และกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้า

หากงด OT แล้วต้นทุนยังไม่ลดลง และยังไม่สามารถสร้างรายรับเหนือต้นทุนได้ สิ่งที่เจ้าของโรงงานจะทำต่อไปคือ การขยายวันหยุด เช่น จากหยุดชดเชย 1 วัน ก็จะปิดโรงงานต่อเป็นหยุด 3 วันแทน ซึ่งแน่นอนว่าลูกจ้างรายวันจะขาดรายได้ทันที นั่นคือผลกระทบในระลอกที่ 2 ที่รากหญ้าจะได้รับผลกระทบ

ท้ายที่สุด หากงด OT ก็แล้ว ขยายวันหยุดก็แล้ว แต่โรงงานยังมีปัญหา ขั้นตอนสุดท้ายคือการปลดคนงาน นี่คือผลกระทบทางตรงที่ส่งผลต่อการบริโภค เพราะถึงแรงงานจะได้เงินชดเชย แต่โอกาสหางานใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและในตลาดโลกชะลอตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นทำให้การบริโภคภายในประเทศ (C) ซึ่งเป็นอีกเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหยุดชะงัก นั่นทำให้ประเทศไทยเหลือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกเพียง 1 เครื่องยนต์ นั่นคือการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ซึ่งรัฐบาลมีการออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม (Economic Stimulus Packages) ออกมาแล้วทั้งสิ้น 3 ระลอกในวันที่ 10 และ 24 มีนาคม และ 7 เมษายน 2563 รวมเป็นวงเงินมากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวก็ทำให้เกิดความสามารถในการพยุงผลกระทบทางเศรษฐกิจไปได้ในบางส่วน จะเห็นได้จากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แม้การบริโภคภายในประเทศ, การลงทุน, การส่งออก, และการนำเข้าจะหดตัวที่อัตราร้อยละ -6.6, -8.0, -28.3 และ -23.3 ตามลำดับ แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวในอัตราร้อยละ 1.4

อย่างไรก็ดี แรงขับของเครื่องยนต์นี้ที่ขยายตัวก็ยังไม่สามารถดึงให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อยู่ดี พิจารณาได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 2 ที่ถดถอยในอัตราร้อยละ -12.2 และในขณะเดียวกัน เนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่งที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวมาจากการก่อหนี้สาธารณะ จึงทำให้เกิดความกังวลต่อไปว่า ประเทศไทยจะเข้าใกล้เพดานการก่อหนี้สาธารณะที่ระดับร้อยละ 60 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ รวมทั้งเข้าใกล้ข้อจำกัดของการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วหรือไม่

อีกทั้ง เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้นร่วมกับจุดอ่อนดั้งเดิม (Original Sins) ของประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก  นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากสังคมสูงวัย (Ageing Society) สู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) ซึ่งการเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นหมายความว่า ประเทศจะมีประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างมาก เราจะขาดแคลนแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ปัญหาคือผู้ผลิตของเรายังไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตจนลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือได้ ขณะเดียวกัน การที่เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (1997Asian Financial Crisis) ทำให้คนไทยส่วนใหญ่อยู่ดีกินดีและเรียนสูงขึ้น ยังส่งผลให้แรงงานไทยที่มีการศึกษาสูงขึ้นอยู่ในสถานะที่ไม่เลือกทำงานในบางรูปแบบ ผู้ผลิตไทยจึงนิยมใช้บริการแรงงานต่างด้าว และสังคมสูงวัยก็เป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยที่จากเดิมพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิตและการบริการในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว จะต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ทำให้มีเงินไหลออกนอกระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เผยแพร่ข้อมูล ณ เมษายน 2562 ว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศ 2,950,684 คน คนงานเหล่านี้ทำงานและส่งเงินกลับประเทศต้นทางทุกเดือน หากตั้งข้อสมมติว่า คนงานต่างด้าวแต่ละคนส่งเงินกลับประเทศต้นทางของตนเองเดือนละ 1,500 บาท นั่นเท่ากับเงินไหลออกนอกประเทศเดือนละ 5.93 พันล้านบาท แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากอีกหนึ่งจุดอ่อนดั้งเดิมของประเทศคือเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชัน ทำให้จำนวนคนงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยมีมากกว่าตัวเลขทางการ และพวกเขาส่งเงินกลับบ้านมากกว่าเดือนละ 1,500 บาท

พูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ สมมติมีแรงงานต่างด้าว 5 ล้านคน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 2,000 บาท/คน นั่นหมายความว่า จะมีเงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าสภาพคล่องของปริมาณเงินในระบบแต่ละเดือนจะไหลออกไปอย่างมีนัยสำคัญ และหากพิจารณาตลอดทั้งปี นั่นหมายถึงสภาพคล่องที่จะหดหายไปกว่าแสนล้านบาท

เมื่อพิจารณาประเด็นสภาพคล่องไหลออก ร่วมกับรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับการพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบอินเทอร์เนต โดยใช้แพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Lazada, Shopee, AliExpress, Amazon, Ebay, Agoda, Expedia หรือ Traveloka ซึ่งแพลตฟอร์มเกือบทั้งหมดเป็นของผู้ให้บริการต่างชาติ และซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ รวมทั้งยังใช้เครื่องมือในการชำระเงินที่ต้องชำระบัญชีในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้สภาพคล่องไหลออกนอกระบบมากยิ่งขึ้น และจะทำให้เกิดข้อจำกัดของการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถึงข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังร่วมด้วยแล้ว การกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ก็อาจจะถึงทางตันในกับดักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Policy Traps)

 

ผลกระทบต่อสังคมของประเทศไทย

 

สงครามการค้า การแตกขั้วของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก และเศรษฐกิจที่ตกต่ำเรื้อรังทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยหรือชะลอตัว นั่นทำให้โอกาสหางานใหม่สำหรับแรงงานลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ แรงงานต่างด้าวและหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ในขณะที่การเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นทำให้ประชาชนมีอายุขัยยาวนานมากยิ่งขึ้น แต่กลับไม่มีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ดังนั้น ภาวะว่างงานและการไม่มีเงินรายได้ในวัยชราจะยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องการระบบสวัสดิการสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การคอร์รัปชันและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่มีประสิทธิภาพและบางครั้งไม่เป็นธรรม ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบสวัสดิการสังคมของไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้

แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ระบบจัดเก็บภาษีของไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบรัฐสวัสดิการ โดยโครงสร้างการจัดเก็บภาษีปัจจุบันยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชน มีความซ้ำซ้อน และไม่สามารถทำให้รัฐจัดสรรระบบสวัสดิการได้เพียงพอและมีประสิทธิภาพต่อประชาชน ในขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีทางตรงจากฐานภาษีที่ไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดและยังมีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีก็ยังเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมอีกด้วย

เมื่อประชาชนมีความต้องการ แต่ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรระบบสวัสดิการสังคมเหล่านั้นได้ สุญญากาศทางสังคม-เศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน การที่สังคมไทยยังมีระบอบทุนนิยมสามานย์ควบคู่กับการคอร์รัปชัน ปรากฏการณ์ ‘มาเฟีย’ ก็จะเกิดขึ้น กล่าวคือ มาเฟียจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในบริการเหล่านี้ (Briquet  and Favarel-Garrigues, 2010; Wolf, 2012; ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2018) เพื่อสร้างคนที่พึ่งพามาเฟียให้เป็นเสมือนโล่มนุษย์ที่ทำให้ระบบทางการไม่สามารถเข้ามากวาดล้างมาเฟียเหล่านี้ได้ มาเฟียเหล่านั้นก็คงแสวงหาประโยชน์ทางทุนนิยมสามานย์ต่อไป โดยที่องค์การอาชญากรรม กลุ่มความคิดสุดโต่ง และอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เพื่อการฟอกเงินและนำเงินมาบริหารจัดการบริการของพวกมาเฟีย ก็จะดำเนินต่อไปในลักษณะของวงจรอุบาทว์ และปัจจัยที่เร่งให้วงจรอุบาทว์เหล่านี้เกิดขึ้นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่หมักหมม จนทำให้ครัวเรือนไทยไม่สามารถหาทางออกจากวงจรเหล่านี้ได้

เมื่อพิจารณาประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดร่วมกับปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็จะยิ่งทำให้คนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เปราะบางอยู่แล้วเนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือน กลายเป็นกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่มิติเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและการเปลี่ยนแปลงในสถาวะภูมิอากาศ ต่างส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยไม่มีการปฏิรูป ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่ดำเนินนโยบายใดๆ ในการลดผลกระทบจากระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อปัญหาที่รุนแรงที่สุดคือ คุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงจนประชาชนชาวไทยไม่มีความมั่นคงของมนุษย์

 


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้จาก โครงการศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงสู่ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดยศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ กองวิจัยเศรษฐกิจการค้ามหภาค สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save