fbpx

ระบบสุขภาพไทยกับ ‘ความเสี่ยง’ ที่ซ่อนในความสำเร็จ

มีอินโฟกราฟิกชุดหนึ่งออกมาโดยศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี พูดถึงประเทศไทยในอันดับโลก 10 เรื่องในรอบปี 2563-2564 ที่น่าสนใจคือมีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอยู่ถึง 4 เรื่องคือ

หนึ่ง เราเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องการฟื้นตัวและรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลกในปี 2020

สอง เราเป็นอันดับ 5 ของประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพโดยใช้ดัชนี Global Health Security Index ในปี 2021

สาม เราเป็นประเทศที่มีดัชนีการดูแลทางสุขภาพเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2020

สี่ เราเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลกเป็นอันดับ 8 ในปี 2021

2 ใน 4 ตัวชี้วัดข้างต้นมีแหล่งอ้างอิงชัดเจน คือตัวชี้วัดเรื่องการรับมือโควิดซึ่งมาจากการรวบรวมและประเมินโดยสถาบัน PEMANDU องค์กรเอกชนด้านการบริหารจัดการภาครัฐของมาเลเซีย ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย 

ส่วนอีกตัวชี้วัดอีกหนึ่งคือ Global Health Security Index เป็นผลงานของคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่มีทีมเลขาวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ประเทศอเมริกา และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates ที่คนไทยมักเรียกสั้นๆ โดยตัดชื่อภรรยาออก

เชื่อว่าคนที่เห็นข้อมูล 4 ตัวนี้ คงมีความเห็นและมีคำถามแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย ในฐานะคนทำงานด้านสาธารณสุขและมีความเชื่อมั่นว่าระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพไม่แพ้ประเทศใดในโลก เมื่อเห็นข้อมูลเหล่านี้ แม้จะมีความสงสัยในแหล่งที่มา รวมทั้งวิธีการได้มาซึ่งคะแนนก็อดดีใจไม่ได้ เพราะอย่างน้อยคนในประเทศไทยเองอาจจะมั่นใจในระบบที่มีอยู่มากขึ้น

ว่าไปแล้วความรู้สึกที่ว่าระบบสุขภาพของไทยมีคุณภาพและสามารถดูแลคนไทยได้ดีกว่าในหลายประเทศนั้น มีข้อมูลหรือมีกรณีศึกษาให้พูดถึงอยู่ไม่น้อย เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ส่งข้อความจากเพื่อนสนิทที่อยู่ในอเมริกาสะท้อนความรู้สึกว่าการรับมือโรคระบาดโควิดในอเมริกา แม้จะดูดีทีเดียวแต่ประชาชนกลับรู้สึกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงเวลาที่อาจจะต้องวิ่งหาโรงพยาบาลหากเกิดการเจ็บป่วยรุนแรง

คนไทยคนหนึ่งที่ทำธุรกิจอยู่ในอเมริกาเล่าว่าครอบครัวติดเชื้อโควิด สิ่งที่ได้จากรัฐบาลคือชุดตรวจคนละ 4 ชุดเพื่อใช้ตรวจตัวเองเป็นระยะ พร้อมคำแนะนำว่าให้แยกตัวอยู่กับบ้านเพื่อจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อ และให้สังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีอาการรุนแรงก็ให้รีบไปโรงพยาบาล เขาคิดว่าการที่ประเทศไทยมีระบบการดูแลที่บ้านที่มีทั้งเครื่องตรวจออกซิเจนและชุดยาเบื้องต้น รวมทั้งมีการส่งอาหารถึงบ้าน มีการโทรถามอาการพร้อมให้คำแนะนำเป็นระยะๆ ในช่วงแยกตัวอยู่กับบ้าน เป็นอะไรที่สร้างความมั่นใจและทำให้สบายใจได้มากกว่าอยู่ที่อเมริกา ไม่นับว่าหากเกิดเจ็บป่วยรุนแรงก็ยังอาจจะติดต่อโรงพยาบาลได้ง่ายกว่า

แต่แม้จะมีสถิติและกรณีตัวอย่าง แต่ผมไม่รู้สึกว่าระบบของเราดีมากและเราทำได้ดีมากจนไม่ต้องห่วงอะไร ที่รู้สึกแบบนี้ ไม่ได้มาจากสามัญสำนึกว่าด้วยความไม่ประมาทที่สอนเราว่าความสำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว แต่มีวิธีคิดชุดหนึ่งว่าด้วยธรรมชาติของระบบซับซ้อน ที่บอกว่าหลายอย่างที่เรา ‘เห็น’ หรือ ‘ทำ’ ในปัจจุบันมีความหน่วงของเวลา

หมายความว่าสิ่งที่ดีในวันนี้ เป็นผลมาจากการกระทำที่มีมาแต่อดีต สะสมเกิดผลต่อเนื่องมา อาจยังเห็นว่าดีอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้จะทำให้เกิดผลอย่างที่เห็น ในขณะเดียวกัน หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลดี เราก็อาจจะยังไม่เห็นผลของมันในวันนี้

ฟังดูเหมือนคำอธิบายว่าด้วยเวรกรรม เป็นเรื่องแต่ชาติปางก่อน แต่ขอบอกก่อนว่า ไม่ได้ตีความหมายไปแบบนั้นนะครับ ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็ว่าทุกอย่างมี time delays of casues and effects ที่เราอาจจะคุ้นเคยและตรงกับสิ่งที่กำลังพูดถึงน่าจะเป็นสำนวนกำลังภายในที่ว่า ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’

ถ้าพูดถึงเรื่องมิติเวลา ความสำเร็จของระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้เพิ่งมาเกิดในปี 2563-2564 แต่นานาชาติอาจเพิ่งมาเห็น ในขณะเดียวกันที่มีนานาชาติมาประเมินตัวเลข ปรากฏในรายงานของต่างชาติก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นผลที่เกิดจากการทำงานชั่วช้ามปีหรือไม่กี่ปี แต่เป็นผลสะสมของความพยายามที่มีมานานและต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจมากกว่าในความเห็นของผมเองคือถ้ามองจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่าระบบที่เราเห็นว่าดี มีข้อมูลยืนยันจากนานาชาติ ที่จริงแล้วเริ่มเผชิญแรงกระแทกใหม่ๆ แต่ได้รับการเอาใจใส่หรือการจัดการที่ยังไม่มีพลังเพียงพอ หรืออาจถึงขั้นมองไปคนละทาง คนละแบบ

จนอาจพูดได้ว่าเริ่มเห็นสัญญาณอันตรายแห่งความเสื่อมถอยมามากกว่า 10 ปีแล้ว และดูเหมือนความพยายามที่จะปฏิรูป ที่เกิดขึ้นในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แทนที่จะมองเชิงระบบไปให้ถึงพื้นฐาน

ต่อประเด็นนี้ ผมอยากชวนทำความรู้จัก ‘6 แรงกระแทก’ เพื่อก้าวไปข้างหน้าให้มั่นคง ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่าเวลาจะคิดเพื่อแก้ปัญหา บ้างก็เน้นมองปัญหาให้ชัด บ้างก็ชอบวิเคราะห์สาเหตุ บ้างก็ว่าสาเหตุมีหลายชั้น บ้างก็ว่าต้องมองให้เห็น driving forces  ซึ่งก็มีคำถามอีกว่า รู้ได้อย่างไรว่าเป็น driving forces เพื่อป้องกันนักวิชาการผู้เคร่งครัดในคำและตำรามาต่อว่า คำว่า ‘แรงกระแทก’ ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางหลายมิติ และอาจจำเป็นต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ว่าจะมีวิธีจัดระบบหรือปรับตัวอย่างไร จึงจะรับมือกับแรงกระแทกเหล่านั้นได้ (ซึ่งโดยธรรมชาติมักอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา มากน้อยแตกต่างกัน) แรงกระแทกจึงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องลงไปแก้ เพราะจะไปแก้ก็ไม่ได้ จะพยายามแก้ก็อาจเหนื่อยเปล่า หรือกลับทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์

ผมขอพูดถึงแรงกระแทก 3+3 โดยแบ่งเป็น 3 แรงที่มีมานานแล้ว แต่เราก็ยังตั้งตัวไม่ติด กับอีก 3 แรงที่เราพูดถึงกันเยอะ แต่ก็ยังทำแบบคนละทีสองที

3 แรงกระแทกที่มีมานานแล้ว

1.การเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยา 

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา คือการที่โรคเรื้อรังมีมากขึ้น ขณะที่โรคติดเชื้อมีน้อยลง บ้างก็ว่าโรคที่เกิดจากความขาดแคลนมีลดลง กลายเป็นโรคที่เกิดจากความมั่งมี รวมไปถึงพยาธิสภาพของสังคม บ้างก็ว่าเราป่วยจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและวิธีคิด (สุขภาพจิต) กันมากขึ้น รูปธรรมที่พูดถึงกันคือการป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น 

ภาระโรคของประเทศไทยเกิดจากโรคเรื้อรังมากกว่าโรคติดเชื้อมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีการทำข้อมูลเปรียบเทียบและดูแนวโน้มมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 และเห็นชัดเจน ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ร่ำรวยก็เป็นเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ไม่สูงก็เข้าสู่สถานการณ์ไม่ต่างกัน

ก่อนจะมีโรคระบาดระดับโลกอย่างโควิด โรคติดเชื้อที่ยังหวั่นๆ ก็เป็นโรคเอดส์ที่พาเอาโรคอย่างวัณโรคกลับมาน่าเป็นห่วงมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือแม้จะเป็นเอดส์ วัณโรค หรือแม้กระทั่งมาลาเรีย ในพื้นที่โรคนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่น สิ่งที่เหมือนกับโรคไม่ติดต่อคือความเป็นโรคเรื้อรัง แปลว่าต้องทำให้อยู่กับโรคให้ได้ทั้งในระดับปัจเจกและระดับประชากร (ลองจินตนาการถึงการพูดถึงว่าให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นอย่างที่กำลังพูดกันมากขึ้นว่าน่าจะหมายถึงอะไรบ้าง) 

หากเจ็บป่วยแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือรักษาได้แต่ต้องใช้เวลานาน ต้องการระบบดูแลต่อเนื่อง ซี่งก็ยังไม่นับว่าโรคเอดส์ก็เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม แต่ต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ (ไม่ใช่แค่ให้ความรู้เรื่องสุขศึกษา แล้วหวังว่าประชาชนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พอเปลี่ยนไม่ได้ก็กลายเป็นโทษประชาชนว่าไม่รู้จักดูแลตัวเอง)

ระบบบริการสาธารณสุขของเรายังทำงานเหมือนสมัยที่โรคส่วนใหญ่เป็นโรคที่เป็นแล้วหายได้เลย และเป็นโรคประเภทที่ใช้ยาเป็นหลักก็พอ เรื่องนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ได้มีแต่ไทยเราที่จัดการกับปัญหาโรคเรื้อรังด้วยระบบและวิธีคิดแบบเดียวกับการดูแลคนไข้ที่เป็นแล้วหายขาดได้

 

2.ความเป็นสังคมสูงอายุ 

สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โจทย์สำคัญคือต้องปรับความคิดและปรับโครงสร้างของระบบต่างๆ ในสังคม ให้คนไทย (ที่จะมีคนอายุเกิน 60 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านปริมาณและสัดส่วนประชากร) มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เป็นภาระ (โดยเฉพาะภาระต่อระบบสาธารณสุข) และต้องไม่คิดเฉพาะเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น 

ที่ต้องเปลี่ยนหรือออกแบบใหม่ไม่ใช่แค่ระบบสาธารณสุข แต่ต้องเป็นระบบสังคมทั้งหมด (รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ ที่น่าจะออกไปจากโหมดใช้แต่คนวัยแรงงาน แล้วคอยมองตัวเลขสัดส่วนการพึ่งพิงที่แย่ลงเรื่อยๆ ได้แล้ว) ต้องเปลี่ยนระบบคิดที่มองแค่ระบบบริการสาธารณสุขมามองเป็นระบบสุขภาพมากขึ้น เรื่องนี้พูดกันมานานในประเทศไทย แต่กลไกและการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มองคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมาย ก็ยังเป็นแค่การทำเพียงบางเรื่องเพื่อให้ดูดี เช่นการให้เบี้ยยังชีพ หรือ สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุอยู่ (ที่ตอนหลังดูจะหนักข้อไปเน้นชนชั้นกลาง ด้วยการเอาทรัพยากรรัฐมาทำ senior complex มากกว่าคิดถึงครอบครัวที่อาจต้องการความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย หรือการดูแลในช่วงสูงอายุ เพราะไม่อาจใช้ชีวิตสูงวัยในที่อยู่เดิมได้) 

ระบบต่างๆ ที่ต้องคิดใหม่ รวมไปถึงระบบที่จะลดภัยคุกคามต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์รับลูกต่อเนื่องไปตลอด เพื่อให้เมื่อมีอายุมากและสภาพร่างกายเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติ คนจะยังคงดูแลตัวเองได้ แม้มีโรคก็ไม่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้อื่น นี่ไม่นับระบบสวัสดิการสังคม ที่จะทำให้มั่นใจว่าเมื่อไม่สามารถมีรายได้มากพอ จะยังไม่ถูกทอดทิ้ง และช่วยทำให้ไม่ต้องกังวลกับการเก็บเงินไว้ยามแก่ เหมือนที่ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีทำให้คนไม่ต้องกังวลมากไปว่าต้องหาทางเก็บสะสมเงินไว้รักษาตัวในยามชรา

ส่วนระบบบริการสาธารณสุข ว่าไปก็เป็นโจทย์ร่วมกับแรงกระแทกแรก คือการทำให้ระบบดูแลกลุ่มปัญหาที่เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องดูแลต่อเนื่องและสร้างศักยภาพให้มาร่วมกันดูแลสุขภาพ ทั้งฝั่งผู้เชี่ยวชาญและปฐมภูมิ แล้วเชื่อมโยงไปถึงการดูแลโดยชุมชนและครอบครัว ไม่ใช่ต่างคนต่างดูแล กลายเป็นว่าเวลาส่งต่อก็เหมือนขาดตอนจากกัน 

ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องคิดใหม่ ออกแบบใหม่ และสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ในหมู่ผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้นในกระบวนการดูแลสุขภาพ พูดเป็นภาษาธุรกิจก็ว่าต้องมาดู value chain กันใหม่ ว่าจะต้องทำอะไร โดยใคร และใช้ทรัพยากรต่างๆ (ทั้ง คน เงิน เทคโนโลยี และข้อมูล) อย่างไร จึงจะเกิดคุณค่าสูงสุด โดยใช้ทรัพยากรที่มีมูลค่าต่ำสุด (หลายคนอาจจะมองเห็นว่านี่ก็คือแนวคิดเรื่อง value-based health care ที่กำลังฮิต และพยายามทำอยู่ในหลายประเทศ แต่ที่จริงคงมีมากกว่าการจะเอาไปรีบใส่ตะกร้านี้อย่างเดียว)

3.อิทธิพลจากระดับสากลที่มีต่อระบบสุขภาพของประเทศ 

โลกที่เชื่อมต่อถึงกันในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติของการรับรู้ผ่านการกระจายข้อมูลข่าวสารสารพัดเนื้อหา รูปแบบ และช่องทาง และมีอิทธิพลจากความพยายามที่จะทำให้ทุกคนเป็นลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์หรือไอเดีย ถึงขั้นเป็นสาวกหรือเป็นพรรคพวกเดียวกัน อาจเป็นตัวอย่างของแรงกระแทกใหม่จากนอกประเทศ เพราะแรงกระแทกจากนอกประเทศที่เราคุ้นเคยกันแต่ใส่ใจน้อยกว่าที่ควรมาจากระบบธุรกิจข้ามชาติ ที่ทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยอาศัยหลักการเปิดตลาดให้เป็นตลาดเดียว หรือไม่ก็บังคับให้เปิดตลาดกับสินค้าที่อาจเข้าข่ายไม่พึงประสงค์ 

บุหรี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด (ถ้าเป็นสมัยก่อนน่าจะมีฝิ่นเป็นตัวอย่าง) อีกเรื่องหนึ่งคือราคาสินค้าหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความจำเป็น แต่อาจมีราคาที่เข้าไม่ถึง และมีต้นทุนอันเกิดจากระบบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไทยเราเคยพยายามลองของด้วยการประกาศบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) ยาบางตัว ที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อเพิ่มประโยชน์กับคนในระบบหลักประกันโดยไม่ต้องจ่ายมากจนเกินไป 

หรือที่หลายประเทศรวมหัวกัน เช่น กรณียาต้านไวรัสเอชไอวีมาก่อนหน้านั้น การรับมือกับกติกาและแรงกดดันที่มาจากนอกประเทศ และอาจกลายเป็นตัวทำให้ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นภายใต้ระบบหลักประกันถ้วนหน้า หรือกลไกตลาด) เป็นแรงกระแทกที่มีแต่จะเพิ่มพลังและมีรูปแบบที่หลากหลาย ยากแก่การรับมือ และจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องการการตัดสินใจเชิงนโยบาย ว่าจะเลือกอะไรระหว่างสุขภาพกับประโยชน์ด้านอื่นที่อาจได้กลับคืนมา 

หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นอย่างจริงจัง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองหรือเป็นแผนสำรอง หากการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอาจต้องแลกมาด้วยราคาสูงลิ่ว ตัวอย่างล่าสุดน่าจะเป็นกรณีวัคซีนโควิด ที่น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้หันมาสนใจแรงกระแทกนี้อย่างจริงจัง หากกรณีที่ไทยถูกต่อต้านเมื่อประกาศซีแอลในปี 2550 อาจยังเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่แรงพอ

3 แรงกระแทกที่ดูใหม่และอินเทรนด์

1.เสียงประชาชน

เสียงประชาชนมาจากการเปลี่ยนแปลงสารพัดในโลกและในประเทศ อันนำไปสู่การมีความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นในทุกด้าน และพร้อมที่จะออกมาเรียกร้องหรือสร้างแรงกดดันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กลุ่มของตนเห็นว่าถูกต้อง 

การเปลี่ยนแปลงของการ ‘ตื่นตัวและลุกขึ้นเรียกร้อง’ มีออกมาในหลายรูปแบบและในหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเรื่องสุขภาพ และการดูแลรักษาโรคและสุขภาพ (แต่ก่อนคนทำงานด้านระบบและนโยบาย จะรู้สึกว่าความสนใจของสังคมเกี่ยวกับนโยบายและระบบสุขภาพมีน้อยมาก ในแง่การเมืองก็มักมองเป็นกระทรวงเกรดซี) บุคลากรสาธารณสุข หรือผู้ดูแล/บริหารระบบบริการ (ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน) ที่เชื่อว่าชาวบ้านจะคอยฟังว่าหมอหรือพยาบาลจะว่าอย่างไร แล้วก็ไปปฎิบัติตาม ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร ถ้าหมอต่อว่าก็พยายามอธิบายบ้าง หรือไม่ก็เงียบไว้ ไม่เถียง แน่นอนว่า บุคลากรที่เข้าใจถึงความสำคัญของมุมมองคนไข้มีมานานแล้ว และสามารถสร้างความสัมพันธ์ถึงขั้นสร้างความเชื่อมั่นในกันและกันได้คงพบปัญหาน้อยกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ไม่มีโอกาสพบ 

หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องปัจเจก แต่มองไม่เห็นหรือไม่ยอมรับว่านี่เป็นแนวโน้มใหม่ ที่จะต้องจัดระบบและจัดความสัมพันธ์ใหม่ และอาจเป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ที่ให้ผลทางด้านสุขภาพดีกว่าเดิม ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการเพียงเพื่อลดความไม่พอใจ หรือแย่กว่านั้นคือทำเพราะเห็นว่าจะช่วยลดการฟ้องร้อง 

ที่แน่ๆ นี่คือแรงกระแทกที่มีผลทั้งต่อระบบในภาพใหญ่ และการทำงานในภาพย่อยรายบุคคล ต้องมองและหาทางออกเชิงระบบ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ให้บริการแต่ละคนไปแก้ปัญหาหน้างานตามความสามารถหรือใช้ศิลปะส่วนบุคคล โดยมองว่านี่ก็คือส่วนที่เป็น ‘ศิลป์’ ที่แต่ละคนต้องทำเป็น ภายใต้ความจริงที่ว่าบริการสาธารณสุขเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เหมือนที่เคยเชื่อและชอบพูดกันมานาน

2.disruptive technologies

เป็นอีกแรงกระแทกหนึ่งที่จะมาเขย่าระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย และไม่ได้มีผลเพียงแค่ทำให้ผู้ประกอบการเดิมต้องปิดกิจการ หรือคนที่มีความรู้/ทักษะจำนวนหนึ่งต้องตกงานเหมือนที่ชอบมองกันในวงการธุรกิจ แล้วต้องมองหาการพัฒนาและการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดเท่านั้น แต่ disruptive technologies กับระบบสุขภาพหรือระบบบริการสาธารณสุข มีหลากหลายมิติที่ควรทำความเข้าใจ และมองหาแนวทางการปรับระบบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ดีที่สุด หรือแม้กระทั่งทำให้เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ไปอยู่ในมือของนักเทคโนโลยี (หรือที่แย่กว่าคือนักธุรกิจที่หากินกับเทคโนโลยี มีอำนาจเหนือสังคม) เท่านั้น

กล่าวโดยรวม disruptive technologies ในวงการแพทย์/สาธารณสุข มีโอกาสสร้างระบบและความสัมพันธ์ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่ต้องมีกลไก กติกา และความสามสามารถใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การทำร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการสร้างสุขภาพเพื่อคนส่วนใหญ่

ทุกวันนี้เราพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่จะมาเปลี่ยนความสัมพันธ์ ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และดูจะลงไปที่การทำ telemedicine เป็นหลัก ซึ่งก็น่าจะไม่ผิด แต่คงไม่พอ เพราะเอาเข้าจริง เทคโนโลยีควรเป็นเครื่องมือที่ต้องมาทีหลังการออกแบบระบบใหม่ ถ้าใช้แนวคิด disruptive มามอง ก็จะต้องเริ่มที่การมองว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปดิสรัปต์ความสัมพันธ์อะไรระหว่างผู้เล่นฝ่ายต่างๆ และอาจทำให้สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ อะไรได้อีกบ้าง ไม่ใช่แค่ถามคำถามว่าเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่ทำให้เราต้องปรับตัวอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงๆ ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของเทคโนโลยีเหล่านี้มีได้อีกมาก และอาจจะยังมองกันไม่ออก หรือไม่ก็ยังจะมีทยอยมาเรื่อยๆ การทำงานที่คอยตั้งรับและปรับตัวไปเรื่อยๆ อาจเป็นการทำงานในโหมดที่น่าเป็นห่วง

พูดถึงแรงกระแทกตัวนี้ จะขอยกสัก 2 ตัวอย่าง คือเทคโนโลยีที่จะทำให้เราเก็บข้อมูลพฤติกรรมและผลที่เกิดกับร่างกาย ผ่าน wearable devices ที่ปัจจุบันคนมองว่าเข้ามาเปลี่ยนเรื่องการดูแลตนเองได้อย่างมากมาย แต่เอาเข้าจริง ความจำเป็นของบุคลากรสาธารณสุข หรือผู้มีความรู้ เป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้าน อาจยังเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เครื่องมือและข้อมูลที่ออกมาจากเครื่องมือเหล่านี้เกิดประโยชน์ มากกว่าที่จะให้ชาวบ้านไปใช้กันเองตามความสนใจหรือความเป็นไปได้ (มีข้อมูลออกมาไม่น้อยว่าด้วยพฤติกรรมการใช้ที่อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลายคนอยากให้เป็น คู่ขนานไปกับความสามารถของเครื่องมือและข้อมูลที่เกิดขึ้น ว่าจะนำไปสู่สุขภาวะที่อยากเห็นได้มากน้อยแค่ไหน) 

อีกตัวอย่างคือ เรื่อง AI ที่เกิดขึ้นมากมาย ในส่วนของสุขภาพก็มีตัวอย่างน่าสนใจ และมีคำถามว่าน่าจะมีฐานะเป็นเครื่องมือที่มาทำงานแทน หรือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมการตัดสินใจแทนที่จะมาแทนที่ หรืออาจต้องทำหน้าที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการดูแลสุขภาพที่ต้องการความต่อเนื่องและครบวงจร

พูดง่ายๆ คือไม่ว่า AI จะเก่งขึ้นแค่ไหน บุคลากรสาธารณสุขก็มีความสำคัญ แต่ต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้ AI เพื่อทำหน้าที่ของตนได้ดีขึ้น และถ้าพูดถึงเรื่องตกงานก็ยังมีคำถามสำคัญว่า ระหว่างคนที่ต้องทำหน้าที่ดูแลสุขภาวะ (ที่ต้องเข้าใจความรู้สึก และจัดการความสัมพันธ์ในเชิงการเป็นเพื่อน เป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้าน) กับคนที่มีความรู้ลึกซึ้งหรือรู้ทางเทคนิคมากๆ ใครจะตกงานก่อนกัน เมื่อพูดถึงระบบการดูแลสุขภาพในอนาคตที่มี AI เป็นส่วนประกอบสำคัญ

3.โลกร้อน

เป็นแรงกระแทกนำไปสู่การทบทวนวิธีการทำงานและการดำเนินชีวิตของทุกคน ในทุกเรื่องและทุกแห่ง แต่ก็ต้องมีการหาจุดเน้นหนักที่ต้องดำเนินการในเชิงนโยบาย และการปรับระบบของแต่ละบริบทอย่างไม่ต้องสงสัย 

ในส่วนของระบบสาธารณสุข ดูเหมือนจะมีคนให้ความสนใจกับเรื่องโรคอุบัติใหม่กับปัญหาโลกร้อนกันอยู่มาก แต่ความจริงปัญหาโลกร้อนกับระบบสุขภาพ มีเรื่องต้องคิดและช่วยกันทำอีกมาก นอกเหนือจากการร่วมรณรงค์ในระดับปัจเจกและองค์กรให้มีวิถีชีวิตที่ไม่สร้างกิจกรรมที่เพิ่มขยะ หรือคาร์บอนฟุตปรินต์ (เช่นการเดินทาง การใช้พลังงาน ฯลฯ) ใน Ottawa Charter ที่พูดถึงมิติใหม่ของการสร้างสุขภาพ แม้จะออกมานานกว่า 40 ปีแต่ก็ยังทันสมัย โดยเฉพาะการพูดถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี 

โลกร้อนเป็นตัวอย่างสุดโต่งของชะตากรรมร่วมของคนทั้งโลก แต่กิจกรรมและรูปแบบการสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ จำนวนไม่น้อย มีผลต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ แม้อาจยังไม่ชัดเจนว่าส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงไร แรงกระแทก จากโลกร้อน น่าจะเป็นโอกาสตั้งคำถามว่าด้วยบทบาทของระบบสุขภาพต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องไปถึงการสอน นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้กลายเป็นผู้นำในการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ นอกเหนือจากการให้การดูแลรายบุคคล สามารถมองถึงการเชื่อมโยงเชิงระบบ อย่างน้อยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในส่วนของโครงสร้างการทำงานก็อาจมีหน่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าการป้องกันโรคระบาดก็จะได้ประโยชน์จากการทำงานในมุมมองการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

มองอีกข้างของสมการ สู่ระบบสุขภาพที่ดี

ที่พูดถึงแรงกระแทกทั้ง 6 แรง เป็นเพียงด้านหนึ่งของสมการ ที่นำไปสู่การตั้งคำถามและการออกแบบระบบสุขภาพอนาคต (ซึ่งความจริงต้องเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวานนี้)

สิ่งที่อาจจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการตั้งคำถามว่าระบบสุขภาพที่เราอยากเห็นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าวิเคราะห์ผลที่ไม่พึงประสงค์ร่วมกับโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆ จากแรงกระแทกทั้ง 6 ด้านมาดูร่วมกัน อาจทำให้เห็นลักษณะที่พึงประสงค์ที่จะ ‘รับมือ’ กับแรงกระแทก แต่สิ่งสำคัญอาจอยู่ที่ว่าอาจมีแรงที่ 7,8,9  (เช่นโรคระบาดระดับโลก ที่ไม่ยอมหายไปง่ายๆ หรือมากระตุ้นให้เราต้องปรับตัว ไม่ว่ามันจะหายไปหรือมาใหม่ในรูปเชื้อตัวใหม่อะไร และไม่ว่าจะเกิดถี่ห่างแค่ไหน) หรือรายละเอียดของแรงกระแทกแต่ละแรง ที่อาจทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องทบทวนโครงสร้าง หรือหาความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม คนกับเทคโนโลยี ระบบธุรกิจกับสังคม รัฐบาลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ฯลฯ

ถ้าลองทบทวนบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งมองจากไทยเองหรือทั่วโลก ดูเหมือนจะมีจินตนาการร่วมถึงระบบสุขภาพที่แต่ละสังคมอยากเห็น หรืออยากให้เป็น ที่น่าจะต้องเอามาตรวจสอบกับความพยายามที่จะรับมือกับแรงกระแทก ว่าเรากำลังเข้าไปใกล้หรือถอยห่างออกไปจากสิ่งที่อยากเห็น ภายใต้ความพยายามที่จะ ‘รับมือ’ กับแรงกระแทกเหล่านี้

จะขอยกตัวอย่างภาพอันพึงประสงค์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งที่จริงก็ได้พูดถึงไว้บ้างในการพูดถึงการรับมือที่ยังไม่ถึงใจกับแรงกระแทกต่างๆ อยู่บ้าง) เป็นภาพที่ไม่ได้ใหม่เอี่ยม แต่อาจต้องบอกว่าเป็นประเด็นสำคัญที่อาจถูกพูดถึง แต่ทำได้น้อยกว่าที่ควร อาจเพราะมันยากหรือเพราะมัวไปทำงานแบบรับมือ หรือไม่ก็จัดการกับแรงกระแทกบางอย่างแบบไม่มีพลังพอ หรืออาจถูกค่านิยมความเชื่อบางอย่างที่โดดเด่นขึ้นมา ทำให้หลงลืมไปว่าสิ่งที่อยากเห็นเป็นอย่างไร (เช่นความสะดวกสบาย, ความรวดเร็ว, การมองเห็นผลสำเร็จชัดๆ และรวดเร็ว ฯลฯ)

สุขภาพดีสำคัญที่สุด ไม่ใช่การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีล่าสุด

ความเท่าเทียมของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แม้ไม่สามารถทำให้เท่ากันได้ทุกคน แต่ก็มีเรื่องที่ทำได้อีกมากเพื่อลดความไม่เท่าเทียม (ไม่ควรมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่มากสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ เพราะมีความสามารถในการจ่าย หรือเข้าถึงด้วยการอาศัยอำนาจและอภิสิทธิ์)

สุขภาพดีเป็นเรื่องที่ต้องทำตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และทำต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ เพื่อไม่ให้การลงทุนที่ทำไปแล้วต้องถูกลดทอน เพราะความเสี่ยงที่จัดการได้ในช่วงอายุต่างๆ

การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งบุคลากรสาธารณสุข (ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือคนทำงานฐานราก) ไปจนถึงครอบครัว ชุมชน และคนไข้เอง จะทำให้ระบบมีทั้งผลตอบแทนสูง ค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป และเกิดความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับทุกคน

หน่วยบริการที่สามารถทำงานโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวม ไม่มองกำไรขาดทุนหรือแสวงหากำไรสูงสุดเป็นเรื่องหลัก แต่มีการจัดการแบบมืออาชีพ ที่มุ่งผลลัพธ์ทางสุขภาพกับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เป็นกลไกสำคัญในทุกระบบ

ผลทางสุขภาพอันพึงประสงค์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวของมันเอง แต่ต้องมีการกำกับดูแล และสร้างเครื่องมือเชิงระบบและกลไกนโยบายที่จะเอื้อให้ฝ่ายต่างๆ ทำงานสอดประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แปลว่าไม่ใช่ใช้แต่คำสั่ง การตรวจจับ และการลงโทษ ที่มักเป็นวิธีการกำหนดนโยบาย และนำนโยบายสู่การปฎิบัติที่คุ้นเคยกัน แต่รัฐบาลต้องมีบทบาทเชิงรุก ทั้งในการออกแบบระบบ และสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ ทำงานที่ควรทำให้เกิดขึ้นจริง และกำกับดูแลให้เป็นไป โดยอาศัยเครื่องมือทางนโยบายที่หลากหลาย ทั้งการเงิน การคลัง กฎหมาย เทคโนโลยี ข้อมูลและความรู้

ความต้องการ ความท้าทาย ความเสี่ยง และโอกาสในการทำให้สุขภาพดีเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และหากจัดการไม่ดี จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ดังนั้นการรับรู้มุมมองปัญหาและความคาดหวังของชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่ต้องการตามแก้ปัญหา

ระบบสุขภาพไทย กับความเสี่ยงที่น่าจับตามอง

ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา มีโอกาสให้มีการสนทนาถึงความเสี่ยงของระบบสุขภาพไทยในหลากหลายเวที ที่น่าจะได้ลองประมวลไว้เพื่อหาโอกาสมาขยายความ แลกเปลี่ยน และชวนคิดในโอกาสต่อไปอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก ที่ไม่พูดคงไม่ได้ คือระบบสุขภาพไทยในสถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่ ที่น่าวิเคราะห์ผ่านกรณีการรับมือกับโควิดที่ดูน่าเป็นห่วง อย่างน้อยใน 3 มุม คือการไม่สามารถดูแลคนไข้หนักได้ (มีปรากฏการณ์ไม่มีเตียงสำหรับคนอาการหนัก หรือแม้กระทั่งตายที่บ้าน) ทิ้งคนไข้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโควิดให้รอไปก่อน (คนไข้มะเร็ง คนรอผ่าตัด ฯลฯ) ไปจนถึงการทิ้งคนที่ไม่ใช่คนไทย และไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพให้ช่วยตัวเอง และเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไทยที่มีสิทธิ

และที่ท้าทายที่สุดคือการทำงานที่นอกเหนือไปจากการตั้งรับ (ที่แม้จะทำให้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องที่ว่าลดลงไปได้) มีอะไรบ้าง และต้องมีกลไกสร้างการมีส่วนร่วมหรือไปเกี่ยวพันกับฝ่ายต่างๆ นอกระบบสาธารณสุขอย่างไร เพื่อให้การควบคุมโรคไม่กลายเป็นประเด็นว่าทำให้เศรษฐกิจแย่ลง หรือทำให้ผู้คนที่ยากลำบากอยู่แล้วในภาวะปกติ ต้องถูกซ้ำเติมจากการขอความร่วมมือไม่ให้เกิดการแพร่โรค (ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือยังไม่ติดเชื้อ)

เรื่องที่สอง ความพยายามจะลดกำลังคนของภาครัฐ และหลังจากที่ยอมกระทรวงสาธารณสุขมานานด้วยการให้กรอบอัตรากำลังมารองรับแพทย์และพยาบาลที่ใช้ทุนมาต่อเนื่องหลายปี (หลังจากที่เลิกให้สำหรับวิชาชีพอื่นมานานแล้ว แต่ก็ยอมให้ กระทรวงสาธารณสุขไปเกลี่ยได้ตามความจำเป็น) และยังพาดพิงไปถึงคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น น่าจะเลิกกติกาแพทย์ใช้ทุน และระบบผลิตพยาบาลใช้ทุน (ซึ่งที่จริงก็ค่อยๆ ลดมาอย่างต่อเนื่อง) นำไปสู่ความกังวลสองเรื่องคู่ขนานกัน คือความกังวลว่าระบบบริการภาครัฐจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทำให้ระบบใหญ่ที่รองรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดคุณภาพลง และหมดประโยชน์ไปในที่สุด หรือไม่ก็ต้องมีการร่วมใจกันทำ จนไม่ใช่ระบบที่สร้างหลักประกันและความมั่นใจให้กับคนส่วนใหญ่ เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า หน่วยบริการของรัฐ โดยเฉพาะที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพดีพอสมควร โดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ระบบจากภาคเอกชน ยังทำหน้าที่ได้น้อย

อีกคำถามหนึ่งคือแล้วจะกระจายบุคลากรไปสู่พื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลได้อย่างไร แม้ว่าความขาดแคลนจะลดลงไปมากแล้ว หลังจากใช้นโยบายบังคับใช้ทุนหลังจบการศึกษามากว่า 50 ปีแล้ว (เป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้นโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และได้รับการยอมรับทั้งจากผู้สำเร็จการศึกษาและเกิดผลต่อการเพิ่มการเข้าถึงและคุณภาพบริการสุขภาพในชนบทมาอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ)

เรื่องที่สาม การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ไปอยู่ในความดูแลของ อบจ. หลังจากที่มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องที่จะให้ถ่ายโอนไปที่ อบต. และเทศบาล ตั้งแต่ออกพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจมาตั้งแต่ปี 2547 และสร้างความกังวลและเกิดข้ออ้างในหมู่ผู้ดูแลระบบสาธารณสุขว่าจะทำให้ความเชื่อมโยงของการดูแลสุขภาพประชาชนขาดตอน การส่งต่อไม่ราบรื่น (ทั้งที่ในขณะที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันก็ยังมีปัญหาอยู่มาก แม้จะดีขึ้นมาเป็นลำดับ) ที่สำคัญ ดูเหมือนความเสี่ยงต่อระบบอยู่ที่ว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มองจากประโยชน์ที่จะเกิดกับตนเอง เมื่อเกิด (หรือไม่เกิด) การถ่ายโอน แต่อ้างประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนโดยไม่สนใจว่า ประโยชน์ที่จะเกิดจากการถ่ายโอนก็มีไม่น้อย เช่นเดียวกับประโยชน์ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้หากไม่ถ่ายโอน

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องโรคระบาดใหญ่ที่อาจมองว่าเป็นแรงกระแทก ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่ต้องจัดการและอาจจัดการได้ อีกสองประเด็นที่ว่ามาเป็นความเสี่ยงที่ต้องรีบจัดการ โดยมองเป้าหมายของระบบที่พึงประสงค์ ที่ดูเหมือนตอนนี้ ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง (หรือหน่วยงานที่อ้างว่าทำในนามรัฐบาลกลาง) รัฐบาลท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข  บุคลากรสาธารณสุขในภาครัฐ และประชาชน ก็น่าจะยังไม่มีภาพร่วมกันว่าแล้วถ้าจะจัดการกับความเสี่ยงทั้งสองเรื่องนี้ ควรจัดการไปสู่ผลสุดท้ายอย่างไร

เป้าหมายใหญ่ร่วมกันไม่ชัด ก็คงยากที่จะหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ยาก และคงนำไปสู่การตัดสินใจที่ใครใหญ่ ใครได้ แล้วก็นำไปสู่การทำงานแบบผู้ชนะก็ทำไป โดยไม่สนใจผู้แพ้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดาที่มีมานานแล้วในการบริหาร ประเทศและบริหารนโยบายสาธารณะหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้

จะขอนำไปชวนคิด ชวนคุยต่อในคราวหน้าว่าความแตกต่างที่มีอยู่มีโอกาสนำไปสู่การเห็นเป้าหมายที่จะสร้างร่วมกัน และหาทางทำงานร่วมกัน แม้จะเห็นไม่ตรงกันในทุกรายละเอียดได้แค่ไหน เพียงไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save