fbpx

ไทยในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก: ยุทธศาสตร์ 3M

ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสพบนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังเจรจากับภาครัฐไทยเพื่อตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนมาไทย ผมถามท่านว่าเจรจากับฝ่ายไทยเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ โหดหินมาก

ผมแอบดีใจว่าไทยเราเองก็เป็นนักเจรจาชั้นยอด แต่พอท่านเฉลยสาเหตุของความโหดหิน เล่นเอาขำไม่ออก ท่านบอกที่โหดหินเพราะฝ่ายไทยดูเหมือนจะไม่รู้ว่าจุดยืนของตนต้องการอะไร แถมเวลาตั้งโต๊ะเจรจาก็ต้องคุยกับหน่วยงานรัฐหลากหลายที่ไปคนละทิศละทาง ไม่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ไม่มีหัวหน้าทีมเจรจาที่คุมยุทธศาสตร์และภาพรวมทั้งหมดได้

โลกการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นโอกาสมหาศาลให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่เล่นเกมเป็น และเกมที่สำคัญคือเกมเจรจา เริ่มต้นจากต้องรู้ว่าตนต้องการอะไร และมีไพ่อะไรอยู่ในมือ

หากถามนักวิชาการและผู้นำในวงยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย ทุกคนจะย้ำเน้นถึงความสำคัญว่าไทยต้องวางตัวรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ ไม่มีใครแนะนำให้ไทยเลือกข้าง

แต่การรักษาสมดุลเองก็ทำได้สองลักษณะครับ แบบแรกคือรักษาสมดุลเชิงรับ คือจีนมาคุย เราก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะกลัวจะผิดใจกับสหรัฐฯ พอถึงคราวสหรัฐฯ มาคุย เราก็ขออยู่เฉยๆ ดีกว่า เพราะกลัวผิดใจกับจีน สรุปคือไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะกลัวไปเหยียบหนวดมังกรหรือกระตุกต่อมพญาอินทรีถ้าไปคบหากับอีกฝ่าย

ต่างจากรูปแบบที่สอง คือรักษาสมดุลเชิงรุก เมื่อฝ่ายจีนมาคุย เรามีจุดยืนชัดเจนถึงผลประโยชน์ของชาติและสิ่งที่ไทยต้องการ หากเจรจาไม่ได้ก็มีทางเลือกคือฝั่งสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯ มาคุย เราเองก็มีอำนาจต่อรองชัดว่าถ้าคุยไม่ได้ประโยชน์สมเหตุสมผล เราก็มีฝั่งจีนที่กำลังตามจีบเราอยู่เช่นกัน

การเจรจาในระดับธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน ในโลกที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และจีนกำลังออกไปบุกโลก ธุรกิจไทยเองต้องวางยุทธศาสตร์รักษาสมดุลเชิงรุก เข้าใจอำนาจต่อรองของตนที่สูงขึ้นในเกมการแข่งขันระหว่างสองขั้วธุรกิจ และอาศัยเกมเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับฝ่ายเรา

ผมมักสรุปเป็นคำย่อ 3M เพื่อเป็นธงนำกลยุทธ์ในการเจรจาและวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ในโลกทวิภพ ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับธุรกิจ

M ตัวแรก คือ Middle Power ไทยต้องตระหนักว่าในเกมการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจหลักทั้งสองในปัจจุบัน สถานะของไทยและอาเซียนนับว่าเป็นมหาอำนาจระดับกลาง (Middle Power) ความเข้าใจนี้จะทำให้เราตระหนักในอำนาจต่อรองที่เรามี และความสำคัญของเกมเจรจาเพื่อรักษาสมดุลเชิงรุก

ในอดีตเรามักถ่อมตัวว่าเราเป็นประเทศเล็ก จึงต้องดำเนินการต่างประเทศแบบโอนอ่อนตามมหาอำนาจ ขาดการดำเนินการเชิงรุกที่เหมาะสมกับสถานะที่สูงขึ้นของไทยและอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยและอาเซียนมีความสำคัญสูงมากทั้งต่อสหรัฐฯ และจีนในเชิงยุทธศาสตร์

ไทยเองยังต้องพยายามยกระดับบทบาทของไทยในเกมภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นกับจีนและสหรัฐฯ ในการเจรจาหรือแสวงความร่วมมือเรื่องต่างๆ

ในการเจรจา เอาไม่เอาไม่ใช่คำตอบ ดีเบตในประเทศไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับจีนหรือสหรัฐฯ มักวนเวียนอยู่ที่คำถามจะเอาหรือไม่เอา เช่น เอาหรือไม่เอาข้างจีน เอาหรือไม่เอาทุนจีน เอาหรือไม่เอารถไฟจีน เอาหรือไม่เอาวัคซีนจีน ฯลฯ มากกว่าที่จะเป็นคำถามว่าจะเอาอย่างไร เอาด้วยเงื่อนไขใด

แนวทางที่ควรจะเป็นคือการมีจุดยืนว่าประเทศไทยต้องการอะไรและมีมาตรฐานอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน กฎหมายแข่งขันทางการค้า และมีแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นทุนจากจีนหรือทุนจากสหรัฐฯ และไม่ว่าจะเป็นโครงการความร่วมมือกับจีนหรือกับสหรัฐฯ

M ตัวที่สองคือ Mitigating Risks ไทยต้องดำเนินยุทธศาสตร์ที่เน้นกระจายความเสี่ยงในโลกที่ผันผวนและยังคงไม่แน่นอนว่าใครจะเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ

การกระจายความเสี่ยงอาจแบ่งได้เป็นสามมิติ มิติแรก คือรักษาสมดุลและกระจายความเสี่ยงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่นการวางยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของไทย ต้องพยายามเชื่อมโยงเข้ากับทั้งสองห่วงโซ่เทคโนโลยี เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแทงม้าตัวเดียว ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสองค่ายในการปฏิวัตินวัตกรรม ซึ่งยังคงไม่แน่นอนว่าค่ายใดจะชนะหรือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีใด

มิติที่สอง คือกระจายความเสี่ยงสู่ขั้วที่สามและมหาอำนาจรอง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนเชิงรุกกับสหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย กลุ่มประเทศแอฟริกา กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศเอเชียกลาง

นอกจากนั้น ในยุทธศาสตร์การค้ากับจีนก็ต้องกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายมณฑลและคลัสเตอร์เมือง ไม่ใช่พึ่งพาเฉพาะการค้ากับมณฑลกว่างตงเป็นหลักดังเช่นที่ปรากฏในสถิติการค้าไทย-จีน (จากข้อมูลปี 2018 การค้าระหว่างไทยกับกว่างต่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการค้ากับจีนทั้งหมด)

มิติที่สาม คือกระจายความเสี่ยงในการดำเนินยุทธศาสตร์ของแต่ละภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเคยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก รวมทั้งต้องกระจายความเสี่ยงเรื่องห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือการแพทย์ ไม่ให้พึ่งพิงประเทศมหาอำนาจใดสูงเกินไป เพื่อไม่ให้มหาอำนาจใช้เป็นเครื่องกดดันไทยได้

M ตัวสุดท้ายคือ Mainland Southeast Asia ไทยต้องวางยุทธศาสตร์เป็นประเทศศูนย์กลางและเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ธุรกิจไทยเองก็ควรต้องมองเป้าหมายระดับตลาดอาเซียนภาคพื้นทวีป ไม่ใช่เฉพาะตลาดไทย และต้องวางตนเป็นพันธมิตรธุรกิจกับจีนในการร่วมกันบุกตลาดอาเซียนภาคพื้นทวีป ซึ่งไทยมีความคุ้นเคยกว่าจีน รวมทั้งให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าสู่อาเซียนภาคพื้นทวีป

ไทยต้องมีความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ไทยควรแสดงบทบาทเชิงรุกในการประสานกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อมีจุดยืนร่วมกันที่ชัดเจนในประเด็นนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับจีน และเพื่อสร้างอำนาจต่อรองจากการรวมกลุ่ม เช่น ประเด็นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน

หากให้สรุป จะเห็นว่าทั้ง 3M ล้วนเชื่อมโยงกัน M ตัวแรก Middle Power คือเข้าใจอำนาจต่อรองของไทย M ตัวที่สอง Mitigating Risks คือต้องพร้อมมีทางหนีทีไล่ อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว และ M ตัวสุดท้ายคือ ต้องมีฐานที่มั่นของตนที่มั่นคง โดยมองในระดับตลาดอาเซียนภาคพื้นทวีป ไม่ใช่เพียงตลาดภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์ 3M จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและพลังการรักษาสมดุลเชิงรุกให้กับไทยในโลกภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันผวน หมดยุคที่จะเล่นเกมการทูตแบบลู่ตามลม 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save