fbpx
อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง : วังวนของการลุกฮือขึ้นขับไล่ผู้ปกครองเผด็จการ

อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง : วังวนของการลุกฮือขึ้นขับไล่ผู้ปกครองเผด็จการ

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

 

จากที่เคยแสดงท่าทีชิงชังรังเกียจมาช้านาน เอ่ยถึงนักการเมืองเป็นต้องเบะปากทำท่าทำทางราวกับได้กลิ่นอาจมหรือสิ่งปฏิกูล แต่ทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยอมรับโดยไม่ขัดเขินอีกต่อไปว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัว

ค่อยๆ แบไต๋ แพลมออกมาทีละนิดทีละหน่อยว่ามีความสนใจงานการเมือง แม้จะยังมิได้ตอบรับเป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดก็ตาม

ถึงนาทีนี้แล้ว เอาขี้หมากองเดียวก็ไม่น่าจะมีผู้ใดโง่เขลาเบาปัญญา บ้าบอถึงขนาดหาญกล้าพนันขันต่อว่า นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

คงไม่มีมนุษย์คนใดกินแกลบกินรำ เคี้ยวหญ้าเคี้ยวฟางต่างข้าวปลาอาหาร ที่อาจจะหลงเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจใสซื่อว่า ไม่มีหรอกความพยายามสืบทอดอำนาจคสช. ปราศจากซึ่งขบวนการหาบหาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างที่ผู้คนเขาครหานินทากัน

ที่หลายคนอุตส่าห์เสียสละเกียรติยศชื่อเสียงให้ลูกหลาน ยุวชนคนรุ่นหลังถอนหงอก ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สุดแสนวิจิตรพิสดารพันลึกขึ้นมาบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ซึ่งมีความว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา…”

คงไม่มีใครพาซื่อ คิดว่าความดังกล่าวนั้นเขาตราขึ้นมาเป็นพรมแดง ปูทางให้นักการเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นางสาวสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย หรือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ฯลฯ ก้าวขึ้นไปดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หรือที่บริหารราชการแผ่นดินกันง่ายๆ ราวกับซานตากลับชาติมาเกิด แจกเงินกันดื้อๆ หาเสียงกันด้านๆ

อีก 2-3 เดือนจะมีการเลือกตั้ง ก็ชิงออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ประชาชน 14.5 ล้านรายขึ้นทะเบียนเอาไว้ โดยมีทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าไฟฟ้า 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 10 เดือน, ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปคนละ 1,000 บาท, ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้ถือบัตรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นระยะเวลา 10 เดือน

เด็ดสุดเห็นจะเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี ถือเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล คนละ 500 บาท

สิริรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,730 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างพากันเดินสายพบปะประชาชนกันเอิกเกริกครึกโครม ปล่อยให้นักการเมืองได้แต่นั่งทำตาปริบ พูดไม่ออกบอกไม่ถูกไปตามๆ กัน เนื่องจากมีประกาศหรือคำสั่งห้ามเคลื่อนไหว หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองค้ำคออยู่

ทั้งหมดนั้นต่อให้อมพระนอนมาพูดก็คงไม่มีใครเชื่อว่า ที่ทำลงไปไม่ได้ต้องการคะแนนเสียงความนิยม มิได้หวังผลไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น

แต่ก็แปลกอยู่ไม่น้อย ที่แม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบสารพัด ฉ้อฉลสารพัน นักการเมืองน้อยใหญ่ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ทว่าทุกคนกลับเนื้อเต้นกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น กระเหี้ยนกระหือพร้อมที่จะกระโจนลงสู่สนามเลือกตั้งกันถ้วนหน้า

ไม่มีใครแยแสสนใจว่าจะเป็นตรายาง รับรองความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปโดยปริยายหรือไม่

กระนั้นก็ตาม การที่นักการเมืองจำต้องคำนึงถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่งผลทำให้การสืบทอดอำนาจที่จะมีขึ้นไม่ง่ายดาย เหมือนอย่างที่บางคนวาดฝัน วางแผนกันเอาไว้

เพราะแม้กระทั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งถือเป็นติ่ง คสช. ขนานแท้ ยังต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านเลย นับประสาอะไรกับนักการเมืองปกติทั่วไป ยกเว้นที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร

จะให้บิ๊กโน่นบิ๊กนี่ ขี่ฮ.ไปรับตัว ส.ส. มาถอนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นในอดีตก็คงทำไม่ได้ในยุค 4.0

หรือจะหวังพึ่งพากองทัพสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวขึ้นมา ปกครองบ้านบริหารเมือง ปล่อยให้ทหารออกมาเพ่นพ่านไม่ยอมกลับคืน กรมกอง ก็รังแต่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากับประชาชน

เพราะมิใช่เป็นเพียงแค่การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันระหว่างนักการเมืองกับทหารเท่านั้น

จริงอยู่ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ดูจะเป็นเพียงแค่การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญเสียมากกว่า เพราะเนื้อหาสาระยังห่างไกลนิยามความหมายของคำว่าประชาธิปไตยมากมายนัก

80 ปีผ่านมา ประเทศนี้ต้องตกอยู่ภายใต้วัฏจักรของการเลือกตั้ง ได้นักการเมืองเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน สลับไปกับการทำรัฐประหารของกองทัพ ปกครองโดยคณะทหารครั้งแล้วครั้งเล่า

บางคนเรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์

อย่างไรก็ตาม มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยที่นับแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา วังวนการเมืองการปกครองของไทยดูจะไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งและทำรัฐประหาร เพียงเท่านั้น

แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่ผู้ปกครองเผด็จการ ทรราชทั้งที่เป็นพลเรือนหรือทหาร เพิ่มเข้ามาในวัฏจักรการเมืองอีกด้วย

เป็นวังวนของการเลือกตั้ง ได้นักการเมืองเข้ามาปกครองบริหารประเทศ โดยไม่ช้าไม่นานคนเหล่านั้นก็จะอ้างเสียงข้างมากตะบี้ตะบัน ใช้อำนาจโดยไม่แยแสสนใจความถูกต้องชอบธรรมใดๆ ไม่เห็นหัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

ปู้ยี่ปู้ยำกันจนชาวบ้านราษฎรเอือมระอา เหลืออดเหลือทนจนต้องออกมาเดินถนนสาปส่งขับไล่

นำไปสู่การยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาใหม่

หรือไม่ก็ตามมาด้วยการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญของกองทัพ ปกครองโดยคณะทหารอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนโดยดี มิเช่นนั้นหากไม่รู้จักพอ ก็ต้องเผชิญกับการลุกฮือขึ้นมาโค่นล้ม ขับไล่เผด็จการทหาร กลับคืนสู่การเลือกตั้งอีกหน

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาควรจะเป็นบทเรียนมิให้ต้องไปย่ำรอยเดิม

เอาเพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ลงวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 หรือที่เรียกกันว่าเป็นคำสั่งปลดล็อกทางการเมืองออกมาเท่านั้น ยังสร้างความยุ่งยากให้กับระบอบปกครอง คสช. เพิ่มขึ้นมาไม่น้อยแล้วเลย

ถึงตอนจัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศจะขนาดไหน

นับถอยหลังได้เลยว่าประชาชนจะต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจและหาหนทางขับไล่ผู้ปกครอง เผด็จการอย่างแน่นอน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save