fbpx

สิ่งที่มันพบเห็น

เทศกาลศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ณ ที่ราบสูงโคราช จัดขึ้นโดยจักรพรรดินี พิธีเปิดมีเจ้าหญิงเสด็จเป็นประธานถึงสองพระองค์

ภาพถ่ายภาพหนึ่งทำเอามันขำกลิ้ง จักรพรรดินีนั่งพับเพียบเรียบร้อยบนพื้น เจ้าหญิงสองพระองค์ทรงประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ยังจะมีอะไรเผยความเป็นสมมติของสถานะอุปโลกน์ได้ดีไปกว่านี้อีก? ยศถาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นมนต์มายา ราชาศัพท์นิดหน่อยที่มันเขียนไว้ตรงนี้ก็ด้วย จะกล่าวแบบพุทธก็ได้ จะกล่าวแบบถอดรื้อสไตล์นักปรัชญาก็ดี ไม่มีอะไรต่างกันเท่าไหร่สำหรับสิ่งซึ่งประกอบสร้างขึ้นมาจากอำนาจของภาษา คำเยินยอที่กลายเป็นความจริง 

มันเพิ่งเปิด ฟ้าเดียวกัน ฉบับล่าสุด อ่านชื่อบทความ “สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์: สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” ของเกษียร เตชะพีระ ยังไม่ได้อ่านอะไรไปไกลกว่าชื่อเรื่อง แต่มันคิดว่าชื่อนี้เข้าท่าดี เหมาะแก่การเอามาทำความเข้าใจการเลือกเปิดงานเทศกาลศิลปะบันลือโลกที่ว่านี้ในวันที่ 10 ธันวาคม นี่คือปรากฏการณ์ล่าสุดของการไฮแจ็ค ‘วันรัฐธรรมนูญ’ โดยฝ่ายนิยมเจ้าผ่านกิจกรรมทางศิลปะเหรอ? ก็คงใช่ เป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็นับไม่ถ้วนแล้วหลังจากที่โดนไปตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2475 ที่ 10 ธันวาคมเป็น ‘วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ’ นั่นแหละ ‘สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ มันว่ามันชอบคำนี้  

18 ธันวาคม มันไปที่นั่นในวันแรกของการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ไปกับเพื่อนและเด็กน้อยกลุ่มหนึ่ง สองวันหนึ่งคืนแห่งการระหกระเหิน นั่งรถหัวสั่นหัวคลอน เพื่อที่จะได้ดูงานที่แทบไม่เสร็จสักอย่าง ใจหนึ่งไม่แปลกใจในความล่าช้าไร้ประสิทธิภาพสไตล์ราชการไทยที่คุ้นแคย เพราะมันก็เกิดและเติบโตในประเทศนี้เหมือนกับคนอื่นๆ อีกหกสิบกว่าล้านคนนั่นแหละ ผักชีที่โรยไว้ตอนทัวร์สื่อมวลชน+แขกวีไอพีในวันก่อนหน้าคงปลิวหายไปหมดตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง มันกับคณะก็เลยได้เห็นแบบเดียวกับที่คนดูทั่วไปจะได้เห็น เห็นสภาพตามจริงที่เป็น ไม่ใช่สวนผักชีที่บรรดาแขกวีไอพีหรือสื่อได้ดู

ขอให้ภาพถ่ายเป็นพยาน ในทัวร์สื่อมวลชน+แขกวีไอพี ผลงาน ความทรงจำในแสงสว่าง (Memories in Light) ของศิลปินและสถาปนิกชาวญี่ปุ่น สึโยชิ ทาเนะ (Tsuyoshi Tane) ที่อยู่ในคลังเก็บรักษาโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมายนั้น แสงจากดวงไฟที่ห้อยต่ำหลายระดับจากเพดานมันเปิดได้! แต่ในวันที่มันไป ซึ่งก็คือหลังจากนั้นแค่วันเดียว ไฟเปิดไม่ได้แล้ว เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย (ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของไทยแลนด์ เบียนนาเล่นะ อันนี้ไม่มี) อธิบายปัญหาด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับกระแสไฟที่ยังแก้กันไม่ตกว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้งานยังไม่เรียบร้อยดี ก็เลยเปิดไฟไม่ได้ (ไฟเปิดได้ให้คนเฉพาะกลุ่มดู) แปลว่างานยังไม่เสร็จ เหมือนกับงานชิ้นอื่นๆ อีกหลายชิ้นในพื้นที่เดียวกันที่ก็ยังไม่เสร็จ หรือเสร็จแล้วแต่ป้ายคำอธิบายงานยังไม่มา (เดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่อันที่จริงก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย นอกจากว่าทำงานอยู่ตรงนี้พอดี ต้องมาคอยอธิบายงานศิลปะให้พวกมันฟังอีกที มันและคณะต้องขอบคุณมากๆ ไม่งั้นคงงงกว่านี้)     

แค่นี้ก็เห็นแล้วถึงความแตกต่างระหว่างผู้ชมสองพวก พวกแรกคือพวกมี ‘พริวิลเลจ’ (ท่านๆ และสื่อ เขาว่ากันว่าสื่อคือฐานันดรที่สี่) กับอีกพวกคือพวกที่ไม่มี



เอาล่ะ ใช่ว่าจะไม่มีอะไรดีเลย ท่ามกลางความวายป่วงทั้งหมด ประติมากรรม Nature’s Breath: Arokayasala ของมณเฑียร บุญมา ศิลปินผู้ล่วงลับ ก็ดูดีเอามากๆ เมื่อแวดล้อมด้วยศิลปกรรมโบราณสมัยขอม (จะเรียกว่า ‘ศิลปะขอมในประเทศไทย’ หรืออะไรก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโบราณโบร่ำเขาไปเถียงกันเถิด มันไม่ถนัดและไม่ได้ติดตามเรื่องนี้)

Nature’s Breast’s Arokayasala มีลักษณะเป็นสถูปที่ประกอบขึ้นจากกล่องโลหะโปร่งภายในบรรจุสมุนไพร เรียงทับซ้อนกันขึ้นไปจากฐานสู่ยอดตามระบบเดียวกับการเรียงหินสร้างปราสาทขอม ข้างในมีรูปปอดหล่อโลหะเคลือบสมุนไพรเชื่อมติดกันเป็นพวง การติดตั้งงานชิ้นนี้ในดงแรงบันดาลใจของมันช่วยให้ความเชื่อมโยงระหว่างศิลปกรรมอันเป็นโบราณวัตถุกับศิลปะร่วมสมัยชัดเจนขึ้น ในเมื่อทั้งคู่ต่างเป็นวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ก็ชวนให้จินตนาการต่อไปได้ว่า ผลงาน “ศิลปะร่วมสมัย” นั้นจะกลายสภาพเป็น “โบราณวัตถุ” ในกาลข้างหน้า มันไม่ต่างกันนักหรอกระหว่างรูปเคารพอย่างประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับผลงานศิลปะอโรคยาศาลาของมณเฑียรที่ตั้งอยู่ข้างๆ กัน เมื่อปราศจากเวทมนต์ของภาษาและพิธีกรรม วัตถุก็เป็นแค่วัตถุที่สร้างขึ้นจากวัสดุพื้นฐานอย่างอิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก และไม้ เป็นแค่วัตถุแห่งการจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวไปเดินดูโดยไม่ต้องกราบไหว้ (มิติเชิงพิธีกรรมของพิพิธภัณฑ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มันจะยังไม่ชวนถกในที่นี้)

ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงหลายส่วนที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น ‘ทุนเชิงสถาบัน‘ (institutional capital) ได้แก่ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย วัด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาหรือทอผ้าไหม มันก็เป็นปกติอะนะที่เทศกาลศิลปะสเกลใหญ่จะจัดพื้นที่แบบกระจายทั่วเมือง (ก็งาน ‘ใหญ่’ มากหนิ แล้วอยู่ที่เดียวก็ไม่ได้ เดี๋ยวไปเข้าล็อกคำว่า ‘รวมศูนย์’ ซึ่งไม่เก๋อย่างที่สุด)

แต่มันก็สงสัยเหลือเกินว่า ในประเทศที่ขนส่งสาธารณะเต็มไปด้วยความอิหยังวะอย่างประเทศไทยนี่ คนดูเขาจะไปตามจุดต่างๆ กันยังไงเหรอถ้าไม่มีรถส่วนตัว? ดังนั้น แทนที่จะเป็นการดึงศักยภาพของ ‘ทุนเชิงสถาบัน’ ออกมาได้อย่างที่ปรารถนา การกระจายตัวและความหลากหลายของพื้นที่กลับกลายเป็นแค่กิมมิคไปโดยปริยายเมื่อ mobility และ connectivity เป็นไปได้เฉพาะสำหรับคนที่มีรถ (อันที่จริง คนต่างจังหวัดเขาก็มีรถกันเกือบหมดแหละไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ไม่งั้นวันๆ ก็คงไม่ได้ไปทำมาหากินที่ไหนกันเลย แต่นี่ไงล่ะคือปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการขาดแคลนขนส่งสาธารณะ)



แต่มีอยู่จุดนึงที่รถรางของเทศบาลนคร นครราชสีมาพาวิ่งดูงานคือบริเวณรอบคูเมือง มันออกจะชอบเจ้าสิ่งนี้อยู่มาก ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่เพราะเห็นในเอนเนอจี้ของคนทำงานระดับปฏิบัติการในท้องถิ่นที่กระตือรือร้นกับการเรียกผู้คนขึ้นรถ แล้วเล่าเรื่องประวัติศาสตร์เมืองโคราชสลับกับจอดให้ลงไปดูงานศิลปะตามจุดต่างๆ มันหวนนึกถึงเสียงหัวเราะเยาะของพวกคนฉลาดๆ พวกหัวก้าวหน้าทั้งในทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรมเมื่อเดือนที่แล้วตอนที่ทางจังหวัดปล่อยคลิป “เชิญเที่ยวงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2021”  ออกมา คลิปที่มีข้าราชการในชุดผ้าไหมมายืนเรียงแถวกันหน้าผลงานชิ้นนั้นชิ้นนี้ (สะท้อนความเอาหน้าของราชการแบบไทยๆ เหรอ? ก็คงใช่ แต่ก็ไม่ได้มีแต่ข้าราชการสักหน่อยที่ชอบถ่ายรูปเอาหน้า) โบกไม้โบกมือ วิ่งลอดใต้ท้อง แมวนางงาม (Queen Cat) ของกฤช งามสมคลิปนั้นนั่นแหละ คอมเมนต์ล้อเลียนประเภท “จักรพรรดินียูโกะเห็นคลิปนี้หรือยังนะ” หรือ “โอ๊ย โอลาเฟอร์ เอเลียสสันจะว่าอย่างไร” สะท้อนมุมมองที่มันเคยได้ยินจากการจัดงานศิลปะร่วมสมัยในอีสานในวาระอื่น เมื่อศิลปินจากกรุงเทพเอ่ยออกมาว่า “พวกเขาไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่เบอร์ลินหรือนิวยอร์ก” ในทำนองเดียวกัน บางคนไม่ได้บ่นชื่อธีมภาษาไทย “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม” เพราะว่าความหมายไม่ตรงกับชื่อธีมภาษาอังกฤษ “Butterfly Frolicking on the Mud: Engendering Sensible Capital” แต่บ่นเพราะมันไม่ intellectual เท่า

แล้วทำไมคนทั่วไปจะมีเวอร์ชันความเข้าใจและวิธีการ engage กับงานศิลปะในแบบของพวกเขาเองไม่ได้? ข้าราชการที่ทำงานในหน่วยงานท้องถิ่นไม่ใช่คนเดียวกับ ‘ชาวบ้าน’ ในพื้นที่ซึ่งก็เป็น ‘ผู้ชม’ เหมือนกันเหรอ? ก็คนอย่างเพื่อนสมัยประถมที่เรียนห้องเดียวกับมันในโรงเรียนเทศบาลนั่นล่ะที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในเทศบาลตำบล… (ไม่ใช่โคราช ยกตัวอย่างเฉยๆ)

มันไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรดีในเมื่อศิลปินและปัญญาชนด้านศิลปวัฒนธรรมหัวก้าวหน้ากลุ่มเดียวกับที่พูดถึงข้างบนนี้แหละที่ดันชอบร่ายปัญหาศูนย์กลาง-ชายขอบ, การกระจายอำนาจ (ต้องใช้คำอย่าง decentralization, deconstruction, deโน่น deนี่), ความสำคัญของคนตัวเล็กตัวน้อย, ความถูกต้องทางการเมืองที่วางอยู่บนฐานของ identity politics และการกดขี่กดทับ (อ่านเจอคำนี้เกือบทุกวันจนมันจะเป็นแผลกดทับจากถ้อยคำแกมกลวงอยู่แล้ว) โดยเฉพาะกับดินแดนอีสานที่เป็นพื้นที่ยอดฮิตล่าสุด มีแต่ความ ‘บ้านๆ’ ความ ‘ท้องถิ่น’ เฉพาะส่วนที่เลือกแล้วโดยใครสักคนที่มีชื่อเสียง หรือกลายเป็นเรื่องป๊อปไปแล้วนั่นแหละที่จะได้รับการ ‘โอบรับ’ (embrace) ถึงที่สุดแล้ว คำและความคิดพวกนี้กลายเป็นวาทกรรมจำแลง เสมือนว่ารับความหลากหลาย  

ถ้าคลิปข้าราชการในชุดผ้าไหมวิ่งลอดใต้ท้อง แมวนางงาม เป็นฉากหนึ่งในหนังสักเรื่องของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คงไม่มีใครหัวเราะว่า ‘เฉิ่ม’ แต่ความเห็นจะเปลี่ยนเป็นตรงกันข้ามแทน (ทุกคนที่สติดีควรเข้าใจว่า ที่มันยกตัวอย่างอภิชาติพงศ์ตรงนี้ไม่ได้แปลว่ามันมีปัญหากับอภิชาติพงศ์หรืองานของเขา)

มันอดไม่ได้ที่จะนึกถึงทัศนะเกี่ยวกับ ‘คนบ้านนอก’ ของชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 บรรดา ‘เจ้านายชาวกรุง’ ผู้เข้าถึงความศิวิไลซ์แบบเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่มองว่าคนบ้านนอกนั้นล้าหลังกว่าตนทั้งในแง่ความรู้ ความทันโลก และรสนิยม    

อยากออกห่างจากศูนย์กลางอย่างกรุงเทพที่มีกระทรวงวัฒนธรรมผู้เป็นเจ้าภาพงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่เป็นตัวแทน แต่ดันต้องไปอิงแอบอยู่กับศูนย์กลางของโลกศิลปะที่ใหญ่กว่านอกประเทศ… ขาหนึ่งคือโลกศิลปะแบบยูโร-อเมริกัน อีกขาหนึ่งที่ดูซับซ้อนกว่าคือการอ้างอิงนักคิด/ศิลปินชาวอินเดียบ้าง แอฟริกันบ้าง อินโดนีเซียบ้าง ใครก็ตามที่ ‘ไม่ใช่ฝรั่ง’ เพื่อที่จะได้ดูเป็นการจะปฏิเสธโลกศิลปะแบบยูโร-อเมริกันอีกที (ก็มันเป็นกระแสอยู่ตอนนี้อะ เราต้องต่อต้าน western superiority ที่มีมายาวนาน ไม่รู้เหรอ?) แต่อ่านและอ้างไปอีกกี่ร้อยคนมันก็เท่านั้นแหละถ้ายังหัวเราะขำคนจริงๆ ที่ตนอ้างว่าต่อสู้เพื่อพวกเขา หรือยิ่งไปกว่านั้นคือเคลมตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาอยู่

มันว่าถ้ามันรวยกว่านี้มันจะซื้อกระจกแจกให้คนละบาน

จะว่าไปแล้ว มันค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการจัดเทศกาลศิลปะโดยเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ ของไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เพราะหากเชื่อในการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครองและการบริหารจัดการโดยรวม หรือเฉพาะประเด็นศิลปะก็ตาม) นี่ก็คือโมเดลหนึ่งที่เป็นไปได้ แน่นอนว่าโครงสร้างพื้นฐานจะไม่มีอะไรพร้อม การเริ่มต้นจะขลุกขลักและขรุขระ แต่เป็นการเปิดโอกาสที่จะได้ ‘ริเริ่ม’ เพื่อ ‘ไปต่อ’ หลังจากจบงานโดยให้หน่วยงานในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมแต่แรกได้ทำงานต่อไป ไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วจบแค่นี้

ปัญหามีอย่างเดียวคือความไร้ประสิทธิภาพสไตล์ทำไปให้พ้นตัว แถมผักชีโรยหน้าของราชการไทยที่ทำให้โมเดลนี้ไม่มีทางได้ผุดได้เกิดอย่างแท้จริง จนกว่าระบบราชการอย่างที่เป็นอยู่จะถูกโละออกไปทั้งหมด (ใช้คำที่สวยกว่าก็ได้คือ ‘ปฏิรูป’)

มีผลงานชิ้นหนึ่งที่กลายเป็นสัญญะแห่งสภาวะความไม่มีวันได้ผุดเกิดนี้ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ The Art of Wonder ของธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ Pomme Chan ที่สวนสัตว์นครราชสีมา ยังจะมีอะไรน่าอัศจรรย์ใจไปกว่าเทศกาลศิลปะที่คนดูหาไม่เจอสักทีว่าอะไรอยู่ที่ไหน?

ต้องเท้าความก่อนว่าหลังจากเข้าประตูสวนสัตว์มาเห็นงานหน้าตาเหมือนหอคอย ซึ่งก็คือ หอข้าว (Rice Tower) ของบุญเสริม เปรมธาดาแล้ว มันก็หาอะไรไม่เจออีกเลยเพราะไม่มีป้ายบอกว่าจะดูงานศิลปะต้องไปทางไหนในสวนสัตว์ขนาด 555 ไร่ มันเดินตามทางไปเรื่อยๆ กับเพื่อน ดูตะเข้ตะโขง เพนกวิน อนาคอนด้า นกฟลามิงโก้แทนงานศิลปะ จนกระทั่งไปเจอกับกลุ่มเด็กน้อยที่แยกตัวไปเช่าจักรยานขี่ล่วงหน้าไปก่อนแถวๆ คอกยีราฟ กลุ่มเด็กวิ่งมาบอกว่า ‘เจอแล้วๆ’ ถามจากป้าพนักงานสวนสัตว์ที่ยืนรดน้ำต้นไม้อยู่แถวนั้นจนได้ความว่า ไอ้อาคารศูนย์นกกระเรียนที่ข้างในมีงานศิลปะนี่มันอยู่ตรงไหน

พวกมันพากันเดินเข้าไปในตึกหลังหนึ่งที่ไม่มีทั้งป้ายงานเบียนนาเล่หรือมนุษย์อยู่ข้างใน (นอกจากกระดาษขนาดเล็กกว่าเอสี่ใบนึงที่ติดอยู่แถวบันได) เปิดไฟเอง ดูเอง เสร็จแล้วปิดไฟ ปิดประตูเดินกลับออกมาเองเสร็จสรรพ (สงสารบรรดางานที่อยู่ในนั้นเหลือเกิน มีงานของศิลปินคนที่มันชอบมากอยู่ด้วย แต่ไม่บอกหรอกว่าใคร)


   


กลุ่มเด็กนำทางต่อไปถึงสวนน้ำไดโนเสาร์ที่ร้างไปนานแล้ว ในคลองมีแต่โคลนแห้งแตกระแหง มีน้ำอยู่หย่อมหนึ่ง นี่กระมังที่ผีเสื้อจะบินมาเริงร่าในโคลนตม (Butterfly Frolicking on the Mud) แต่ผีเสื้อคงม้วนปีกมุดโคลนแล้วกลายร่างกลับเป็นดักแด้มากกว่า เป็น reverse metamorphosis วิวัฒนาการถอยหลัง มุ่งสู่ความสูญพันธุ์เหมือนๆ กันกับสรรพสัตว์จากยุคบุพกาลและหม้อไหจากอารยธรรมที่สิ้นสลายไปแล้วที่ปรากฏเป็นภาพอยู่บนจิตรกรรมฝาผนังอันประกอบขึ้นจากกระเบื้องพิมพ์ลายข้างหลังนั่น คำอธิบายงาน The Art of Wonder บอกว่า

“ภาพบนกระเบื้องนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ในที่ราบสูงโคราช ศิลปินได้สืบข้อมูลทางธรรมชาติวิทยาของพื้นที่กลับไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์และนำเอาสิ่งมีชีวิตในอดีต เช่น ช้างสี่งา กลับมาโลดแล่นในผลงานอีกครั้ง โดยผสมผสานเข้ากับพันธุ์สัตว์และพืชในปัจจุบัน พร้อมทั้งนำศิลปวัตถุในอารยธรรมของมนุษย์มาประกอบในภาพด้วย หลังจากนั้นจึงชุบชีวิตผลงานด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR)” 

เฮ่อ ต้องมีสมาร์ตโฟนอีก (หัวข้อพริวิลเลจต้องมาละนะ)

มันว่างานชิ้นนี้แหละคือที่สุดที่มันได้ดูมาในเวลาสองวัน เป็นศิลปะติดตั้งจัดวางเฉพาะที่ (site specific installation) ซะด้วย สิ่งมีชีวิตทั้งจากโลกอดีตและปัจจุบันในภาพฝาผนังที่กระดุกกระดิกขึ้นมาได้เฉพาะใน AR ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางรูปปั้นไดโนเสาร์ยืนรอบลำคลองแตกระแหงของสวนน้ำร้าง ชวนให้ wonder สุดๆ ว่ามันจะมีไหมวันที่ ‘วิวัฒนาการ’ จะมาถึง? (ไดโนเสาร์ที่นี่เป็นรูปปั้น ไม่ใช่ฟอสซิล อันนั้นต้องไปดูที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งมีผลงาน ซ้อมเป็นแมมมอธ (The Mammoth Rehearsal Sessions) ให้ผู้ชมเข้าร่วมกิจกรรมสะกดจิตเพื่อกลายร่างเป็นแมมมอธที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วยล่ะ พวกเด็กน้อยที่มากับมันก็ได้ไปเล่นกันสนุกสนานอยู่)

จะมีไหมวันที่ศิลปะมีชีวิตชีวาขึ้นมาจริงๆ ในประเทศที่มันอาศัยอยู่? ไม่ใช่การจัดอะไรกันไปอย่างแกนๆ อย่างพอให้เรียกได้ว่ามี อย่างผักชีโรยหน้า อย่างไม่จริงใจในการทำงาน อย่างแคระแกร็นแบบไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต แล้วอีกสักประเดี๋ยวก็จะสูญพันธุ์ไปไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอยู่อย่างนี้

มันโกรธหน่วยงานรัฐไหมน่ะเหรอที่จัดงานออกมาแบบนี้? โกรธดิ แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไร บางเรื่องที่เห็นด้วยก็มี มันไม่ใช่คนบ้านี่จะได้เหมารวมไปหมดทุกสิ่ง (หรือว่าใช่กันแน่นะ? ชักสงสัยตัวเองเหมือนกันว่าเป็นคนบ้ารึเปล่า?) แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่มันโกรธกว่าคือ ‘คนฝั่งเดียวกัน’ ที่ชอบพูดเรื่องการเข้าถึงงานศิลปะและการออกไปหาผู้คน พูดเรื่องการเห็นหัวชาวบ้านแต่เอาเข้าจริงก็ไม่เห็น ก็ถ้าไม่เหมือนเบอร์ลินหรือนิวยอร์กหรือแม้แต่กรุงเทพแล้วมันจะทำไม?

แล้วมันจะทำไม? แล้วมันจะทำไม? แล้วมันจะทำไม?


หมายเหตุ

  • เทศกาลศิลปะ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช 2021 “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม” (Butterfly Frolicking on the Mud: Engendering Sensible Capital) จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2564-31 มีนาคม 2565 คณะภัณฑารักษ์ประกอบด้วย ยูโกะ ฮาเซงาวะ (Yuko Hasegawa) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ร่วมด้วยเซฮา คุโรซาวา (Seiha Kurosawa), วิภาช ภูริชานนท์ และธวัชชัย สมคง อนึ่ง สมญานาม “จักรพรรดินียูโกะ” เป็นสิ่งที่ผู้คนในวงการศิลปะแถวนี้เรียกขานกัน ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนตั้งให้   
  • เรื่องทัศนะของเจ้านายชาวกรุงที่มีต่อชาวป่ากับชาวบ้านนอก โปรดดูบทความของธงชัย วินิจจะกูล ชื่อ “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ” ใน รัฐศาสตร์สาร, ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (2546), น. 1-66

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save