fbpx
จาก ‘สยาม-เชโกสโลวาเกีย’ สู่ ‘ไทย-สาธารณรัฐเช็ก’: ความสัมพันธ์ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ร่วม

จาก ‘สยาม-เชโกสโลวาเกีย’ สู่ ‘ไทย-สาธารณรัฐเช็ก’: ความสัมพันธ์ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ร่วม

ธารีรัตน์ เลาหบุตร และ Miroslav Nozina เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

‘สาธารณรัฐเช็ก’ เชื่อได้ว่าหากพูดถึงประเทศนี้แล้ว ปัจจุบันคนไทยจำนวนหนึ่งยังอาจไม่รู้จักประเทศนี้ว่ามีอะไรโดดเด่นและมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทของความสำคัญต่อประเทศไทย ในทางกลับกัน ก็เป็นเรื่องน่ายินดีและน่าประหลาดใจที่ประเทศไทยกลับเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของชาวเช็ก ทุกครั้งที่ผู้เขียนแนะนำตัวเองว่ามาจากประเทศไทย ผู้คนจะตื่นเต้นและตอบสนองกลับมาในทางที่ดีเสมอ

สำหรับชาวเช็กนั้น ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมให้เป็นหนึ่งในประเทศนอกภูมิภาคยุโรปที่ชาวเช็กอยากเดินทางมาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องจัดตั้งสำนักงานขึ้น ณ กรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก ในปี 2016 เพื่อประชาสัมพันธ์และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐเช็กและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ล่าสุดในปี 2019 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยกว่า 85,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2018 กว่าร้อยละ 16

ในโอกาสที่ผู้เขียนได้มีโอกาสมาศึกษาต่อปริญญาโท และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of International Relations – IIR) ณ กรุงปราก ซึ่ง IIR เป็นสถาบันคลังสมอง (think tank) โดยทำหน้าที่เขียนร่างเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศประจำปีให้กับกระทรวงการต่างประเทศของเช็ก จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เขียนและวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของไทยและสาธารณรัฐเช็กตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และความสำคัญของเช็กต่อไทยในมิติด้านต่างๆ

หากมองอย่างผิวเผินแล้วทั้งสองประเทศนี้ไม่น่าจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันได้ เนื่องด้วยภูมิประเทศที่ห่างไกลกันกว่า 8,000 กิโลเมตร และไม่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน และประเทศไทยก็เพิ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐเช็ก ในปี 1993 จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าทั้งสองประเทศเพิ่งเริ่มต้นมีความร่วมมือและความสัมพันธ์ต่อกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองประเทศมีความร่วมมือและความสัมพันธ์ต่อกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ไทยยังคงเป็นสยามและสาธารณรัฐเช็กยังคงเป็นสาธารณรัฐเชโกสโลวาเกีย เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว

จึงอยากชวนผู้อ่านย้อนเวลาทำความรู้จักสาธารณรัฐเช็กในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทย และความสำคัญของสาธารณรัฐเช็กในด้านเศรษฐกิจ

 

จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์: สยาม-เชโกสโลวาเกีย

จากบันทึกเอกสารทางการทูตของเช็ก ผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ บันทึกการเดินทางของชาวเช็ก ซึ่งทำให้ทราบว่าชาวเช็กคนแรกที่ได้เดินทางมาถึงและรู้จักสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่ง ณ ขณะนั้นเช็กยังคงเป็นอาณาจักรเช็กซึ่งปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ และปรากฏชัดเจนอีกครั้งว่ามีชาวเช็กเดินทางมายังสยาม ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีทั้งบันทึกข้อความและภาพถ่ายต่างๆ อย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ดี ณ ขณะนั้นเช็กถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งและอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) แม้ว่าสยามและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการต่อกันตั้งแต่ปี 1865 แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์สยาม-เชโกสโลวาเกีย อย่างไรก็ตาม สำหรับเช็ก สยามไม่ใช่ดินแดนลึกลับที่ไม่เคยถูกพบมาก่อน

ในปี 1918 เช็กได้รับเอกราชอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้สถาปนาเป็นสาธารณรัฐเชโกสโลวาเกีย ความสัมพันธ์สยาม-เชโกสโลวาเกีย เริ่มต้นพัฒนาขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประภาสยุโรปเป็นการส่วนพระองค์ ในปี 1934 โดยพำนักที่สาธารณรัฐเชโกสโลวาเกียเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่เนื่องด้วยเป็นการเดินทางส่วนพระองค์จึงเพียงแจ้งให้เชโกสโลวาเกียทราบผ่านทางสถานทูตเท่านั้น เนื่องจากในปี 1932 สยามปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้เป็นข้อสังเกตว่า หลายประเทศมหาอำนาจในยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร แสดงทีท่าห่างเหินและไม่ได้ตอบรับสยามว่ายินดีที่จะต้อนรับการเยือนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นอกจากสาธารณรัฐเชโกสโลวาเกียจะให้การต้อนรับอย่างดีต่อการเยือนแล้ว ทางรัฐบาลยังเสนอเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และใช้โอกาสดังกล่าวในการทำความรู้จักผู้นำระดับสูงของฝ่ายสยาม ทั้งในแวดวงการทหาร แวดวงทางการทูตและการต่างประเทศ และแวดวงทางการเงินและธุรกิจ นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของเชโกสโลวาเกีย อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องแก้ว อุตสาหกรรมอาวุธและปืนใหญ่ และได้พาคณะเยี่ยมชมบริษัท Škoda  Works ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมที่โดนเด่นมากที่สุดของเชโกสโลวาเกีย ซึ่งผลิตและส่งออกเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิอุตสาหกรรมน้ำตาล เหมืองแร่ รวมถึงยังผลิตและส่งออกเครื่องจักรไอน้ำ ชิ้นส่วนราง รถราง รถไฟ และรถยนต์ รวมถึงการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์อีกด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้สยามสามารถส่งออกสินค้า อาทิ ข้าว ยางสด ไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเทศ และเส้นใยธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มายังเชโกสโลวาเกียได้เป็นครั้งแรก ส่วนเชโกสวาเกียก็สามารถส่งออกสินค้า อาทิ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ กระดาษ สารเคลือบแก้ว เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า เข้ามายังสยามได้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  นอกจากนี้บริษัท Škoda Works ยังสามารถขยายตลาดเข้ามาในสยามได้สำเร็จ และได้รับสัมปทานก่อสร้างจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นผู้ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งถูกสร้างเสร็จในปี 1937 แต่การขยายความร่วมมือระหว่างสยามต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเชโกสโลวาเกียถูกเยอรมนียึดครองตั้งแต่ปี 1939

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากศาลาว่าการกรุงปราก พร้อมด้วย Dr.Karel Baxa นายกเทศมนตรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากศาลาว่าการกรุงปราก พร้อมด้วย Dr.Karel Baxa นายกเทศมนตรี (ภาพตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ Pestrý Týden, ที่มาจากหนังสือ Siam Undiscovered (เรื่องราวที่ยังไม่มีใครค้นพบในสยาม) โดย Nožina. M, Šitler. J, Todorovová. J, Kučera. K, Pierre. A, Chitrabongs. C, Kroupa. K. J, and Fajfrová. J, 2004, Amarin Printing and Publishing Public Company Limited, p. 70.)

ความสัมพันธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสรรคและความแตกต่าง: จาก สยาม-เชโกสโลวาเกีย สู่ ไทย-สาธารณรัฐเช็ก

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าเชโกสโลวาเกียจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต แต่ก็ยังคงมีความพยายามที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับสยาม โดยขณะนั้นรัฐบาลคอมมิวนิสต์เห็นว่าสยามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ สามารถเป็นตลาดทางเศรษฐกิจและประตูสู่ตลาดเอเชียให้กับเชโกสโลวาเกียได้ จึงพยายามเจรจาที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสยาม กระทั่งในเดือนตุลาคม ปี 1947 รัฐบาลสยามได้ตอบรับเบื้องต้นที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเชโกสโลวาเกีย แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน 1947 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (รัฐประหาร 2490) ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างสองรัฐบาลหยุดชะงัก

นอกจากนี้ จากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ลุกลามถึงคาบสมุทรอินโดจีน ในฐานะที่สยามเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ความพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 1951-1956 ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่เกิดผล และยังไม่สามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันได้ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเวียดนามในเดือนมกราคม ปี 1973 ด้วยท่าทีที่ผ่อนปรนต่อคอมมิวนิสต์มากขึ้นของรัฐบาลไทย ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลง และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันได้ในเดือนพฤษภาคม ปี 1973 และผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามข้อตกลงการค้า ไทย-เชโกสโลวาเกีย ได้ในปี 1978

แม้ว่าเชโกสโลวาเกียในอดีตและสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบันจะเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมหลายสาขาในภูมิภาคยุโรป แต่เช็กไม่ได้ถือเป็นประเทศที่แสดงบทบาทนำทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ จึงทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเช็กที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคยุโรป ใช้ปัจจัยทางการค้าและเศรษฐกิจเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ รวมถึงความสัมพันธ์กับสยามและไทยด้วย

วาตซลัฟ ฮาเวล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก เดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช และคณะรัฐมนตรีไทยให้การต้อนรับ
วาตซลัฟ ฮาเวล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก เดินทางมาถึงประเทศไทย พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช และคณะรัฐมนตรีไทยให้การต้อนรับ (ที่มาจากเว็บไซต์ www.thebigchilli.com)

จริงอยู่ที่เชโกสโลวาเกียจะเริ่มต้นสานความสัมพันธ์กับสยามผ่านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจหรือความสงสัยได้ว่า การกระทำดังกล่าวนั้นอาจมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง แต่แท้จริงแล้ว ปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับสยามในเวลานั้น คือบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจภายในของเช็ก กล่าวคือในช่วง 1918 – 1938 เป็นช่วงที่เช็กได้รับเอกราชอีกครั้ง และในฐานะประเทศสาธารณรัฐใหม่ เชโกสโลวาเกียมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะประเทศเอกราชใหม่ อีกทั้งยังจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ หากจะมีนัยยะแอบแฝงผู้เขียนเห็นว่า เป็นนัยยะที่เช็กได้ทำความรู้จักบริบททางประวัติศาสตร์ในอดีตของสยามผ่านบันทึกต่างๆ ในอดีตที่มีชาวเช็กเดินทางเข้ามาและทราบว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญและส่งผลในเชิงสัญลักษณ์ต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงทางปกครองเป็นต้นมา พลวัตการเมืองภายในของไทยเกิดความเปลี่ยนแปลง แม้จะส่งผลให้บทบาทและสถานะทางอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองลดลง แต่ในทางสังคม และความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์นั้น เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 1957 ความนิยมดังกล่าวส่งผลทางอ้อมต่อบริบทการต่างประเทศ ซึ่งเป็นภาพปรากฏในสายตานานาชาติ ณ ขณะนั้น และก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

ในอีกทางหนึ่งพลวัตรการเมืองของเช็กในขณะนั้น มีความคล้ายคลึงกับช่วงระหว่างปี 1918 -1938 เนื่องจากหลังการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) เช็กสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐเช็ก ในฐานะรัฐเอกราชใหม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นลำดับแรกๆ ดังนั้นด้วยพลวัตทางการเมืองของทั้งสองประเทศ การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ วาตซลัฟ ฮาเวล (Václav Havel) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเช็ก และได้เข้าพบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในปี 1994 จึงสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทโดยอ้อมของสถาบันกษัตริย์ไทย ในบริบทการต่างประเทศ ณ เวลาดังกล่าว ซึ่งการเยือนครั้งนี้นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองประเทศแล้ว ยังนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิการลงนามข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน (mutual trade agreement) ซึ่งช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเก็บภาษีซ้ำซ้อน นโยบายการปกป้องทางการลงทุน และสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ เป็นต้น

ที่สำคัญทั้งสองประเทศได้เริ่มต้นการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือการค้าเสรีระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปกลาง (the Central European Free Trade Association – CEFTA) และกลุ่มประเทศอาเซียน (the ASEAN European Free Trade Association – AFTA) ท้ายที่สุดในระหว่างการแถลงข่าว วาตซลัฟ ได้กล่าวปิดท้ายว่าการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย-เช็กแน่นมากขึ้น และปรารถนาให้ประเทศทั้งสองเป็นประตูเชื่อมภูมิภาคของกันและกัน

ภายใต้การบริหารงานของ อันเดรย์ บาบิช (Andrej Babiš) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น โดยเมื่อต้นปี 2019 อันเดรย์ ได้เดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นทางการ ได้แก่ สิงคโปร์ และไทย โดยการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ของอันเดรย์ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยของผู้นำระดับสูงของเช็กเป็นครั้งแรก หลังจากการเยือนของวาตซลัฟ ตั้งแต่ปี 1994

อันเดรย์ ได้เข้าพบและหารือกับผู้นำระดับสูงของไทย อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยภาพรวมทั้งสองประเทศ มุ่งเน้นที่จะขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย-เช็ก เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ แม้จะมีการหารือในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ความร่วมมือด้านการทหาร การถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการศึกษาและการวิจัย และด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็กยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ประเด็นอื่นๆ เป็นเพียงปัจจัยเสริมเพื่อที่จะใช้เพื่อเปิดโอกาส ให้มีการขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ มากขึ้นมากกว่า แม้ล่าสุดเช็กจะขยายความร่วมมือทางการทหารกับไทย แต่ผู้เขียนเห็นว่าการขยายความร่วมมือดังกล่าว เป็นเพียงความพยายามที่จะครอบคลุมผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธ และผลิตเครื่องบินเพื่อส่งออกของเช็ก ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้สำคัญ

ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐเช็ก ด้วยมูลค่าการส่งออก ในปี 2562 มากกว่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สาธารณรัฐเช็กจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าขึ้น

อันเดรย์ บาบิช นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย
อันเดรย์ บาบิช นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย (ที่มาจากเว็บไซต์ www.mfa.go.th)

รูปแบบความสัมพันธ์ไทย-เช็ก เป็นความสัมพันธ์แบบเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก (economy-oriented relationship) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เช็กใช้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่กับประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป แม้ปัจจุบันทั้งไทยและสาธารณรัฐเช็ก จะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น แต่การขยายความร่วมมือดังกล่าวไม่ใช่การพยายามเพิ่มบทบาททางการเมืองและความมั่นคงของเช็กในไทย ดังเช่นหลายประเทศตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เป็นต้น และแม้ว่าเช็กจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นตัวแสดงต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งจุดยืนทางการเมืองของสหภาพยุโรป จึงจะถือเป็นจุดยืนร่วมของประเทศสมาชิกซึ่งรวมถึงเช็กด้วย อย่างไรก็ดีหากพิจารณาเชิงลึกจะพบว่า แม้ว่าสาธารณรัฐเช็กจะเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ที่ผ่านมาเช็กไม่เคยหยิกยกประเด็นทางการเมืองหรือความมั่นคงเป็นประเด็นในการเจรจาหรือหารือ ในกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคี (bilateral relationship) กับไทยแม้แต่ครั้งเดียว

จากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐเช็ก และมิติในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ทำให้ผู้เขียนไม่รู้สึกประหลาดใจว่า ทำไมผู้คนโดยทั่วไปจึงไม่ได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สาธารณรัฐเช็ก ทั้งความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ ความแตกต่างทางภูมิรัฐศาสตร์ในอดีต และบริบทการเมืองภายในของเช็กเองที่เพิ่งจะเริ่มมีเสถียรภาพหลังการปฏิวัติกำมะหยี่ ในปี 1989

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสาธารณรัฐเช็กไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือแม้แต่พยายามที่จะสร้างบทบาทผ่านการใช้อำนาจอ่อน (soft power) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม ภาษา การศึกษา และการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย นอกจากการเน้นที่จะขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ความเป็นไปได้ที่สาธารณรัฐเช็กจะใช้อำนาจอ่อนกับประเทศนอกภูมิภาคยุโรปมีความเป็นไปได้น้อยถึงน้อยมาก อย่างไรก็ดีในอนาคตก็อาจมีความเป็นไปได้ที่สาธารณรัฐเช็กจะให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจอ่อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะทำให้สาธารณรัฐเช็กเป็นที่รู้จักกับผู้คนทั่วไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

สำหรับแวดวงอุตสาหกรรมของไทยแล้ว ด้วยการเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองของสาธารณรัฐเช็ก ทำให้ไทยจัดให้สาธารณรัฐเช็กอยู่ในกลุ่มประเทศนอกภูมิภาคเอเชีย ที่มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม ซึ่งล่าสุดรัฐบาลไทยก็ได้ชักชวนให้ภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐเช็กเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC)  โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน


หมายเหตุ

ผู้เขียนขอขอบคุณ Dr. Miroslav Nožina ผู้เป็น supervisor ของผู้เขียนและเป็นนักวิจัยอาวุโส (senior researcher) ประจำศูนย์เพื่อความสัมพันธ์เอเชีย-ยุโรป (Centre for EU-Asia relationship) ณ IIR ที่ได้ให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อมุมมองด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐเช็ก ที่สำคัญที่สุดบทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยใช้หนังสือ Siam Undiscovered (เรื่องราวที่ยังไม่มีใครค้นพบในสยาม) เป็นฐานข้อมูลหลัก ซึ่ง Dr. Nožina เป็นหนึ่งในผู้เขียน ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วบทความชิ้นนี้ถือเป็นบทความร่วมกันระหว่างผู้เขียน และ Dr. Miroslav Nožina นักวิจัยอาวุโส ประจำศูนย์เพื่อความสัมพันธ์เอเชีย-ยุโรป สถาบันคลังสมอง IIR สาธารณรัฐเช็ก

 

อ้างอิง

– Baker, C., & Phongpaichit, P. (2009). A History of Thailand (2nd ed.). Cambridge University Press.

– Nož M, Šitler. J, Todorovová. J, Kučera. K, Pierre. A, Chitrabongs. C, Kroupa. K. J, and Fajfrová. J. Siam Undiscovered. Amarin Printing and Publishing Public Company Limited, 2004.

– Pramoolwong, P., & Ratanaruang, P. (2013). Bpra Chaa Tip Thai [Paradoxocracy]. Matichon Public Company Limited

Czechoslovak history

For the first time in the history of the Czech Republic, a Czech Prime Minister visited the Kingdom of Thailand

ข่าวเด่น: สรุปผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก

การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสำเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ 1933 – 34

ททท.เปิดสำนักงานกรุงปราก มุ่งดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปตะวันออก พร้อมจัดโรดโชว์ 3 เมืองหลวง วอร์ซอ บูดาเปสต์และปราก ชวนผู้ประกอบการ 26 รายพบผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 250 ราย

สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ( International Tourist Arrivals to Thailand)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save