fbpx

ประชาธิปไตยไปทางไหนต่อ? มองฉากทัศน์เลือกตั้งสู่โจทย์อนาคตประเทศไทย

การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นับว่าเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนล้วนจับตามอง และร่วมขีดหมุดหมายใหม่ของการเมืองไทยขึ้นพร้อมกันหลังจากการอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอย่างยาวนาน การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านในการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของสังคมไทย

ขณะที่ประวัติศาสตร์การเมืองกำลังจะถูกเขียนขึ้นใหม่อีกครั้ง การเลือกตั้งคราวนี้มีฉากทัศน์แบบไหน มีโจทย์อะไรรอท้าทายรัฐบาลชุดต่อไป และอนาคตของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะมีเส้นทางอย่างไร

คำถามเหล่านี้ถูกพูดคุยในวงสนทนา 101 Public Forum โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมมองข้ามสนามการเลือกตั้งไปสู่เส้นทางของประชาธิปไตยไทยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


YouTube video

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Public Forum : อนาคตประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566


เมื่อ ‘มวลชนนำพรรคการเมือง’ เป็นมิติใหม่แห่งการเลือกตั้ง


อาจารย์ทั้งสองมองความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีต่อการเมืองไทยอย่างไร ประเด็นอย่างการยกเลิกมาตรา 112 ถูกยกขึ้นมาดีเบตเป็นนโยบายทางการเมืองถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่เลยหรือไม่

พวงทอง: เรามองว่าครั้งนี้คนตื่นเต้นกับการเลือกตั้งมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสื่อใช้ทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์และช่องทีวีในการรณรงค์ นี่คือความหวังของคนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเอา คสช.ออกไปจากระบบทางการเมืองได้อย่างเด็ดขาดมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จริงไม่จริงอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนมีความหวัง

พิชญ์: มันเป็นการเลือกตั้งที่มวลชนล้ำไปกว่าพรรคการเมือง ต่างจากหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองกับมวลชนไปพร้อมๆ กัน แต่ครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวขึ้น บางเรื่องไม่เคยพูดก็พูด กลับกลายเป็นพรรคการเมืองพยายามที่จะกลางกว่า เพราะมุ่งหวังเสียงจากอีกฝั่งด้วย มันไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งหลังจากยุคเผด็จการเหมือนคราวที่แล้ว แล้วก็ไม่ใช่การเลือกตั้งที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยปกติ แต่มันเป็นการเลือกตั้งหลังวิกฤตใหญ่ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ สังคม เป็นการเลือกตั้งหลังจากการลุกฮือขึ้นของคนรุ่นใหม่ การเลือกตั้งหลังยุคโควิด การเลือกตั้งท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ๆ เจอ TikTok เจอ Twitter เข้าไปจนฝังลงไปเป็นวัฒนธรรม ลงไปในบทสนทนาประจำวัน มันมีสิ่งที่ประชาชนเขาเก็บกดใน 4 ปีหลังจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นที่เขาออกแบบเอง ทำให้เกิดการรวบรวมความไม่พอใจหลายแบบ มีความโกรธแค้น แต่ไม่ใช่การโกรธแค้นแบบต้องลงถนน แต่เก็บแล้วมาลงกับวันเลือกตั้งแทน มันไม่มีม็อบมาสักพักแล้ว แต่ความโกรธมันเข้าไปอยู่ในทุกอณูของสังคม

พวงทอง: ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องมาตรา 112 แต่มีหลายเรื่อง ดิฉันคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นทางการเมืองเข้ามาเป็นวาระสำคัญในการรณรงค์หรือถกเถียงบนเวทีดีเบตด้วย เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมาในอดีต พรรคการเมืองจะเสนอแต่นโยบายทางเศรษฐกิจว่าจะทำอย่างไรบ้างโดยไม่แตะอำนาจหรือโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตำรวจ ศาล แต่พอมีพรรคการเมืองที่พูด พรรคอื่นจะไม่พูดไม่ได้ ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะท้าทายพรรคการเมืองต่อไป

พิชญ์: ผมอาจจะเห็นต่างจากอาจารย์พวงทอง จริงอยู่ที่มาตรา 112 ถูกทำให้พูดถึงมากขึ้น แต่มันจะไม่ใช่ประเด็นหลักของการเลือกตั้ง สำหรับผม รัฐสภาไม่ใช่เวทีของการแก้มาตรา 112 เพราะเรารู้ว่าจะใส่เข้าไปมันไม่ง่าย อย่างน้อยก็จนถึงปีหน้าที่ไม่มี ส.ว. ทุกพรรคการเมืองรู้ สังคมยังมีเส้นว่าคุณพูดได้แค่ไหน คุณอาจจะอยากยกเลิก แต่พูดได้แค่แก้ไขก็ได้ แม้กระทั่งก้าวไกลเขาก็พูดด้วยความระมัดระวัง ขณะที่มวลชนมีรายการที่พิธีกรหญิงสามคนนั่งถามพิธาเลยว่า “พี่ล้มเจ้าหรือเปล่า” มันเป็นคำถามที่ทุกคนถาม แต่ว่าทุกพรรคการเมืองก็จัดการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง


สองปีกในยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย


พอไปอยู่ในภาวะที่ต้องแบ่งฝ่ายกัน แต่ละพรรคต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทั้งๆ ที่ถ้าการเมืองไม่อยู่ในภาวะขัดแย้งแล้ว ภาพที่ ส.ส.ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลทำงานร่วมกัน จะเป็นไปได้อยู่หรือไม่

พิชญ์: ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตอนนี้เราขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยที่ทำงานร่วมกัน ปีกหนึ่งคือการแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ อีกปีกหนึ่งคือแก้ปัญหาทางการเมือง รอบนี้ค่อนข้างชัด แต่สองปีกนี้ไม่ได้ไปด้วยกัน ความอิหลักอิเหลื่อของการทำงานจากฝั่งที่จะเอาเศรษฐกิจมีสูงกว่า เรื่องเศรษฐกิจรอบนี้ไม่ใช่ประชานิยมในความหมายเดิมอีกแล้ว แต่เป็นประชานิยมที่มีเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ในนั้น ต้องมองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำบางอย่างเพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าถ้าได้นโยบายนี้ มันจะปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ใช่แค่ว่าคุณเคยได้เท่านี้แล้วผมให้เพิ่มอีกหน่อย แต่ต้องหมายถึงคุณได้มันเพราะศักดิ์ศรีบางอย่าง ความเป็นประชานิยมต้องมาพร้อมกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ต้องอธิบายกลับได้ว่าคุณถูกกดมาเท่าไร และสิ่งนี้จะทำให้คุณมีสิทธิ์ในฐานะประชาธิปไตยอย่างไร

พวงทอง: เรามองว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลเป็นปีกของประชาธิปไตยที่ต่อต้านอำนาจเก่า ปัญหาคือเขายังคุยกันไม่ได้ ยังแย่งมวลชนกันอยู่ ไม่มียุทธศาสตร์ประชาธิปไตยว่าจะพัฒนาร่วมกันเพื่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร เอาเข้าจริง นโยบายหลายอย่างหากยืนด้วยกันไม่ได้ก็เป็นไปได้ยาก ถ้าจะมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ก็ต้องคุยกันได้ก่อน หรือคิดว่าเลือกตั้งแล้วเราจะร่วมมือกัน แต่เพื่อไทยก็อาจจะอึดอัดใจถ้าต้องร่วมมือกับก้าวไกล เพราะนโยบายการเมืองก้าวไกลเป็นสิ่งที่เพื่อไทยเขาไม่อยากทำ

ถ้าให้เราเสนอ ต่อให้เขาไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกัน มีบางเรื่องที่น่าจะคุยกันและน่าจะทำร่วมกันคือเรื่องปฏิรูปกองทัพ ถ้าเราดูนโยบายกองทัพของก้าวไกล จะเห็นว่ามีเยอะและรอบด้านทีเดียว แต่ของเพื่อไทยพูดถึงเรื่องการเกณฑ์ทหารเท่านั้น เพื่อไทยเขาคงกลัวเรื่องรัฐประหาร อย่างตอนคุณยิ่งลักษณ์จะเห็นว่าไม่กล้าแตะกระทั่ง พ.ร.บ.กลาโหม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลคุมกำลังในกองทัพ ถ้าสิ่งที่พรรคการเมืองกลัวคือการรัฐประหาร คุณต้องถอดอาวุธจากทหารก่อน เริ่มจากปฏิรูปกองทัพ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สามารถผลักดันร่วมกันได้ ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลต้องปลดอาวุธทหารก่อน

พิชญ์: เราเองในฐานะอาจารย์สอนการเมือง เราสอนการเมืองแบบบริสุทธิ์โบราณที่เชื่อว่าการเมืองที่ดีคือการเมืองที่ต้องมีสองฝ่าย ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง หนึ่งคือการเมืองสองฝ่ายไม่ได้มีง่ายๆ สองฝ่ายต้องการคนที่โลเล คนโลเลระหว่างสองฝ่ายต่างหากที่จะทำให้กติกาแฟร์พอที่ทั้งสองฝ่ายมีความหวังจะชนะ เราจะชอบคิดว่าพวกโลเล พวกย้ายฝั่งมันไม่ดี แต่ประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ต้องมีคนโลเลที่พยายามเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง เรากำลังไปสู่พื้นที่ใหม่ที่เชื่อว่าถ้าเราชนะร่วมกัน อะไรคือสิ่งที่จะเป็นไปได้บ้าง แต่ตอนนี้มันไม่มี

สองคือหลายประเทศจำนวนมากบนโลกนี้เป็นรัฐบาลผสม เป็นรัฐบาลผสมที่มีอุดมการณ์ คอยถามว่าร่วมกับใครได้บ้าง แต่พอถึงเวลาทำงาน ก็ทำงานกันได้ 

ผมว่าในความเป็นจริงมันอยู่ได้ เพราะเวลามองการเมืองในสภา เราไม่ใช่คนในสภาก็จะจินตนาการถึงความขัดแย้ง แต่ถ้าไปถามพวก ส.ส.ด้วยกัน เขาก็คุยกัน มันอยู่ที่การต่อรอง การเมืองในสภาไม่ได้มีแค่การออกกฎหมาย มันมีกรรมาธิการที่แม้จะอยู่คนละฝ่ายก็ต้องทำงานร่วมกัน ผมคิดว่าแต่ละเรื่องอยู่ที่การล็อบบี้ การยกเลิกเกณฑ์ทหารคือหนึ่งสิ่งที่ร่วมกันทำได้ มันควรขยับได้แล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เสียหายเลย มันดีกับกองทัพด้วยซ้ำ ถ้าไปถึงขั้นที่อาจารย์พวงทองฝันไม่ได้ ต้องเอาแค่นี้ให้ได้ก่อน


เฉดสีในยุทธศาสตร์ของขั้วอำนาจเดิม


อาจารย์มองว่าฝั่งขั้วอำนาจเดิมเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้ พวกเขามีการแตกยุทธศาสตร์เป็นเฉดไหนบ้าง

พิชญ์: มีสองประเด็นที่ต้องพูดก่อน ประเด็นแรกคือเราอย่าเพิ่งมองฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยสายตาแบ่งดำขาว อนุรักษนิยมโดยตัวของมันเองไม่ได้ผิด เขาเชื่อในการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไปและไม่ละทิ้งสิ่งเก่า แต่สังคมไทย ฝ่ายอนุรักษนิยมเผชิญปัญหาเยอะและแตกแยกกันโดยอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้กระจัดกระจายและหาศูนย์รวมจิตใจในการขับเคลื่อนสังคมไม่ได้ คือหาผู้นำที่เป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายยาก ตอนนี้คุณมีอยู่สี่คนในฝั่งนั้น ประยุทธ์ ประวิตร อนุทิน จุรินทร์ สำหรับผมมันยาก ถามว่าเขาจะไปอย่างไรต่อ ผมยังสองจิตสองใจที่จะฟันธง

พวงทอง: อนุรักษนิยมที่มีเหตุผลตายไปกับการรัฐประหารปี 2549 ในช่วงนั้นอนุรักษนิยม นักวิชาการ สถาบันทางวิชาการจำนวนมากออกมาสนับสนุนการรัฐประหาร แต่หลังจากนั้นไม่นาน คนเหล่านี้ถูกสังคมวิพากษ์ว่าทำไมอยู่ๆ ถึงเอาตัวเองไปสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหาร 2549 แล้วตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 มันนำมาด้วยผู้นำทางกองทัพที่เรารู้สึกว่าพวกอนุรักษนิยมฉลาดๆ เห็นแล้วก็ส่ายหัว ไม่อยากจะเชื่อว่าระบอบที่ตัวเองไปสนับสนุนในที่สุดแล้วเอาคนแบบนี้ขึ้นมา กลายเป็นว่าพวกเขาก็เลือกที่จะเงียบ เราจึงได้ยินแต่เสียงของพวกขวาจัดที่ไม่มีเหตุผล ป้ายสีอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร เข้าไปนั่งอยู่ใน สนช. กรรมการอิสระทั้งหลาย พวกนี้กลายเป็นคนไปนั่งกุมอำนาจ

พิชญ์: อาจจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่งพูดง่ายๆ ก็ประยุทธ์-ประวิตร ชัดเจนว่ามาจากรัฐประหาร กลุ่มที่สองก็จะแบ่งเป็นประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย พวกนี้เป็นนักการเมืองที่มีข้ออ้างว่าด้วยเสียงประชาชน ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง สามารถร่วมกับฝ่ายทหารได้ในกรณีที่พวกเขากลับสู่ประชาธิปไตย อย่างน้อยใน 4 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยมันถูกใช้แม้จะกระท่อนกระแท่น นักการเมืองบางคนยังรู้สึกว่าการอยู่กับผู้นำทหารอย่างคุณประยุทธ์-ประวิตร ดีกว่าอยู่กับคุณอนุทินหรือคุณจุรินทร์ มันยังเห็นความแตกต่างของคนเหล่านี้อยู่ เขาอ้างได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ตัวเขาเองก็เดือดร้อนด้วย แต่ด้วยความจำเป็นทางการเมือง ทำให้เขาต้องทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ ก็เป็นเฉดประมาณนี้

พวงทอง: อย่างไรเขาก็กลับมาร่วมมือกันได้อีก ขณะนี้เราเห็นคุณประยุทธ์-ประวิตร เข้าสู่กระบวนการแข่งขันการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นประชาธิปไตย จากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาได้คะแนนเสียงเยอะมาก ชี้ให้เห็นว่าเขามีความสามารถที่จะสู้ในวิถีทางประชาธิปไตยด้วย เขาคงยังฝันอยู่ว่าจะได้จำนวนเท่ากับพลังประชารัฐในคราวที่แล้ว แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้พิสูจน์ว่าเขาแพ้ เขาไปต่อไม่ได้ มันไม่ได้หมายความว่าทหารกลุ่มใหม่จะไม่ทำรัฐประหารอีก ดิฉันคิดว่ารัฐประหารในสังคมไทยยังอยู่

พิชญ์: ผมคิดว่าเราอย่าใช้คำว่ารัฐประหารในความหมายเดิมคือการใช้แค่กำลังทหาร มันยังมีนิติสงคราม ไม่รัฐประหารก็หมกเม็ดในรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้เปรียบ ในช่วงสิบปีนี้ องค์กรอิสระกลายเป็นเครือข่ายของระบอบรัฐประหาร สามารถทำงานเป็นอีกฝั่งหนึ่งของการทำรัฐประหาร คอยไขน็อต คอยจัดการกับหลายๆ เรื่องโดยไม่ต้องใช้รัฐประหาร เช่น การสอยคุณสมบัติ การรื้อคุณสมบัติที่ดูไม่เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็สอยทิ้งบ้าง ได้ทั้งนั้นทั้งฝ่ายตัวเอง ฝ่ายตรงข้าม สร้างความยืดหยุ่นของระบอบรัฐประหารโดยใช้องค์กรอิสระมาดึงเกมไว้ การรักษาระบอบนี้ใช้กรอบกฎหมายที่ตัวพวกเขาเขียนขึ้นมา


‘รัฐประหารผ่านองค์กรอิสระ’ สิ่งที่ต้องแก้ไขในฉากทัศน์การเมือง


ในระดับตัวแสดง เราเห็นพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประยุทธ์ ประวิตรแตกกัน สิ่งนี้จะทำให้องค์กรอิสระที่เป็นเครือข่ายของระบอบรัฐประหารอ่อนกำลังลงหรือไม่

พวงทอง: ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 อำนาจที่คณะรัฐประหารได้ไปไม่ใช่แค่อำนาจในรัฐประหารอย่างเดียว เขาสถาปนาอำนาจตัวเองผ่านกลไกรัฐเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจังหวะไหนเขาจะใช้กลไกไหนจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือความจำเป็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ยากมากๆ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 คือการสถาปนาอำนาจของเขาไว้หมด ต่อให้คสช.ออกไปแล้ว นโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ยังอยู่

พิชญ์: จากประเด็นที่อาจารย์พวงทองพูด ทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อ การที่คุณสร้างระบบที่ซับซ้อนแต่แย่ขนาดนี้ มันบีบให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องยอมรับในเชิงยุทธศาสตร์ว่าอาจจะต้องหลับหูหลับตาให้มีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางข้อสัญญาของรัฐประหารใหม่ว่าเราจะเคลียร์เรื่องนี้ออกให้ เพราะหนึ่ง มันแก้ไม่ได้ สองคือถ้าแก้ มันต้องใช้วิธีการแบบนี้ ในอดีตประชาธิปไตยไทยก็เป็นแบบนี้ เช่นหลัง 6 ตุลาฯ ก็ต้องรัฐประหารเท่านั้นจนเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ กรอบกฎหมายแบบนั้นใครจะไปแก้ได้ มันต้องเคลียร์กันเอง สุดท้ายการรัฐประหารวางระบบแบบที่ทำให้เราต้องยอมรับมัน

พวงทอง: ส.ว.ต้องหมดไป รัฐบาลก้าวไกลเพื่อไทยต้องกล้าชนจริงๆ ไม่มี ส.ว.แล้วคุณจะตั้งรัฐบาล ตั้งนายกที่มาจากการเลือกตั้งง่ายขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญคือสิ่งสำคัญที่จะรื้อระบบอำนาจของคนเหล่านี้ ต้องไม่ประนีประนอมอีกต่อไปแล้ว พรรคการเมืองต้องไม่กลัว คุณมีประชาชนหนุนหลัง เพื่อไทยมีเสื้อแดงมหาศาล ก้าวไกลมีคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งคนจำนวนมากที่พร้อมสนับสนุน


จะเป็นอย่างไรหากปีกประชาธิปไตยรวมกับขั้วอำนาจเดิม


สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง ถ้าพรรคฝั่งที่เป็นประชาธิปไตยตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วอำนาจเดิม ทิศทางของการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

พิชญ์: ชั่วโมงนี้ถ้าให้นักการเมืองพูด ผมว่าเขาจะพูดเหมือนกันคือเดี๋ยวรอผลเลือกตั้ง มันไม่มีใครตอบ แต่พวกเราต้องเซ็ตพื้นที่ให้พวกเขาได้เล่นบ้าง ผมคิดว่าต้องพูดให้ชัดว่าร่วมกับใครได้และร่วมได้ในเงื่อนไขอะไร อย่าไปถึงขั้นที่ต้องบอกว่าเลือกฉันก่อนเถอะ ต้องตอบแบบชาญฉลาด คุณต้องตอบได้ว่าคุณมีกี่เรื่องที่สำคัญ แล้วถ้าคุณต้องร่วมกับคนอื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณถอยไม่ได้ รัฐบาลผสมเป็นได้ แต่ต้องมีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องผสมกันมากกว่าเหตุผลว่าเราอยากเป็นรัฐบาล แล้วสื่อเองก็ต้องผลักดันกับเรื่องนี้แต่คงไม่ทันแล้ว

พวงทอง: เราเห็นบทบาทของมวลชนกดดันพรรคการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียมาสักพัก 4 ปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์สร้าง active citizens ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายการเมืองอย่างแข็งขันมาก

ถ้าถามว่าพรรคเพื่อไทยร่วมกับพลังประชารัฐหรือภูมิใจไทยจะเกิดอะไรขึ้น ดิฉันคิดว่าพรรคเพื่อไทยอยากจะบริหารรัฐบาลแบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แก้ไขไม่แก้แค้น มุ่งสร้างความประทับใจให้กับประชาชนด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่พลังของประชาชนที่เรียกร้องให้กำจัดอำนาจทางการเมืองจะกลายเป็นจุดที่บีบให้เพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลแบบสบายๆ เราก็เห็นบทบาทของพรรคการเมืองที่จะถูกกดดันไม่ใช่แค่ในรัฐสภา แต่ผ่านโซเชียลมีเดีย


‘กลุ่มทุน’ หนึ่งสิ่งที่ยังคงเป็นกับดักของการเมือง


อาจารย์มองบทบาทของกลุ่มทุนในภูมิทัศน์การเมืองใหม่อย่างไร

พิชญ์: ถ้ามองแบบพยายามโลกสวยหน่อย ความคิดเรื่องทุนผูกขาดอาจจะไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เขาอาจจะมองว่าทุนใหญ่เป็นจักรกลสำคัญที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สมมติว่าเราอยู่ในอำเภอ จะจัดผ้าป่าอำเภอ รู้จักคนใหญ่คนโตก็เอามาช่วยกันหน่อย แต่ลืมนึกไปว่าโครงสร้างเศรษฐกิจนี่มันบิดเบี้ยวมาก ทุนใหญ่พวกนี้ไม่ได้เป็นทุนใหญ่โดยธรรมชาติ มันเป็นทุนที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างทางการเมืองที่ผ่านมา ยิ่งไปโปรเขา ไปขอเขามาช่วย เศรษฐกิจยิ่งพังและความร่ำรวยไปอยู่ที่เขา ประชาชนก็ยิ่งเดือดร้อน หาโมเดลให้ทุนใหญ่กระจายกลับเข้าสู่สังคมไม่ได้เลย ทุกครั้งเป็นแบบนี้หมด ผมคิดว่ามันเป็นกับดักที่ยังคิดไม่ออกจากสิ่งนี้

พวงทอง: 9 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบอบ คสช.นั้น ทุนใหญ่ได้ผลประโยชน์ไปมหาศาล ความร่ำรวยที่เกิดขึ้น GDP ส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในกระเป๋าพวกเขา ดิฉันมองว่าทุนใหญ่มีวิธีเอาตัวรอด เขาสนับสนุนทุกพรรคการเมืองในอดีต เพราะฉะนั้นทุกพรรคการเมืองที่เข้ามา เขาจะมีนโยบายที่ทำให้ทุนใหญ่ได้ประโยชน์

ก้าวไกลที่บอกว่าจะจัดการกับทุนผูกขาดทางเศรษฐกิจจะทำได้แค่ไหน ดิฉันคิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่จะรื้อถอนกันได้ง่ายๆ เค้กที่เขาได้ไปถูกเซ็นด้วยสัญญาที่คุณจะไปฉีกย้อนหลังไม่ได้ มันอาจจะทำได้เป็นเรื่องๆ อย่างเช่น กรณีสุราก้าวหน้า แต่กับเรื่องอื่นๆ มันเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วย เช่น การเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นเรื่องที่ต้องสู้กันไป ไม่รู้ว่าการสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคการเมืองหนึ่งจะทำให้การผลักดันกฎหมายในเรื่องนี้ง่ายขึ้นไหม


ประชาธิปไตยคือความเสมอภาคทางความรู้สึก


หากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อาจจะย้อนกลับไปในทศวรรษ 2540 ที่เราต้องวนกลับมาเถียงกันใหม่ว่าจะควบคุมเสียงข้างมากอย่างไรหรือไม่ และประชาธิปไตยจำเป็นต้องส่งมอบอะไรให้เรา

พิชญ์: การมองประชาธิปไตยในวงวิชาการกับการมองประชาธิปไตยในความรู้ความใฝ่ฝันของประชาชนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ของประชาชนยังแบ่งประชาธิปไตยในความตรงข้ามเผด็จการ แต่ในโลกทางวิชาการ สังคมต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ประชาธิปไตยจึงต้องถูกจำกัดโดยเงื่อนไขจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าพอคุณมีอำนาจ คุณจะทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นการต้านโกงไม่ใช่เรื่องตรงข้ามประชาธิปไตย คุณต้องมองว่ามันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาธิปไตยทำงานได้ การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตัวประชาธิปไตยเองก็ต้องมีโมเดลในการพัฒนาต่อไปเพื่อให้มันยั่งยืน ไม่ใช่คุณมองแค่ประชาธิปไตยเป็นหนทางของการเข้าสู่อำนาจ แล้วจากนั้นคุณจะทำอะไรก็ได้ การทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องผลักดันกันต่อไปว่าหลังเลือกตั้งจะทำอย่างไรได้อีก

พวงทอง: การถกเถียงว่าอะไรคือประชาธิปไตยค่อนข้างไปไกลแล้วจากเมื่อรัฐประหาร 2549 ถ้าสังเกตดูเวลามีใครพูดอะไรอย่างเช่นเผด็จการสภา เผด็จการเสียงส่วนใหญ่ หรือเสียงส่วนใหญ่ต้องฟังเสียงส่วนน้อยอย่างที่เราได้ยินกันสมัย กปปส.หรือพันธมิตร คนที่ออกมาพูดจะกลายเป็นพวกเชยพวกล้าหลัง นี่อาจจะเป็นด้านหนึ่งที่เรามี active citizens ออกมา พวกเขามีความเข้าใจในหลักการหลายๆ เรื่อง รวมถึงสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย นี่อาจจะเป็นด้านที่ค่อยๆ คืบหน้าไปในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา

พิชญ์: สิ่งแรกที่ประชาธิปไตยต้องส่งมอบคือความรู้สึกของประชาชนว่าเขามีความเสมอภาคทางโอกาสบางอย่าง แล้วก็ได้รับการปกป้องทางกฎหมายก่อน ไม่ใช่แค่ว่าเป็นเสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องปกป้องความเป็นมนุษย์ของประชาชน เรื่องบางเรื่องมันอยู่ภายในประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นประชาธิปไตยจะเติบโตไม่ได้ ส่วนจะส่งมอบความเจริญทางเศรษฐกิจหรืออย่างอื่นหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์


โจทย์ของรัฐบาลใหม่ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก


โจทย์ของประชาธิปไตยไทยจะยากขึ้นหรือไม่ในบริบทของสังคมโลก และมีความหวังหรือไม่ที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มตัวได้อย่างเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย หรืออาร์เจนตินา

พิชญ์: มันเป็นเรื่องปกติถ้าคุณเติบโตขึ้นแล้วจะมีโจทย์ที่ยากขึ้น ประชาธิปไตยไม่ได้ถูกตั้งคำถามว่ามันฟังก์ชันหรือไม่เท่านั้น แต่จะถูกตั้งคำถามว่ามันจะยั่งยืนยังไงไม่ให้กลายไปเป็นเผด็จการ กล่าวคือเผด็จการในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเผด็จการง่ายๆ แบบที่คนกลุ่มหนึ่งเข้ามายึดครองประเทศแล้วผลักประชาธิปไตยออกไป มันกลายเป็นประชาธิปไตยเองนี่แหละที่แปรสภาพไปเป็นเผด็จการ โจทย์แบบนี้เกิดขึ้นได้ถ้ามันไม่มีหลักการ ไม่มีศีลบางข้อมากำหนดไว้ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นๆ แล้วบังคับให้คนไม่พูดเพิ่มขึ้นๆ มันก็เกิดขึ้น ฉะนั้นโจทย์ประชาธิปไตยมีหลายข้อ

พวงทอง: การถดถอยของประชาธิปไตยไทย เมื่อเปรียบเทียบกับในหลายประเทศในยุโรปหรืออเมริกา มีเงื่อนไขแตกต่างกัน อย่างในยุโรป ในอเมริกา เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการหลั่งไหลของผู้อพยพจากภายนอก คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดเรื่องคตินิยมทางเชื้อชาติ (Racism) ขึ้นมา ทำให้พลเมืองในประเทศนั้นหันไปโหวตให้กับพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีนโยบายจัดการกับผู้อพยพ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

กรณีของไทยกลับไม่ใช่แบบนั้น ช่วงที่เราหันขวาในยุคคุณทักษิณไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะเรามีสถาบันทางการเมืองที่ไม่ยอมเสียอำนาจ คนเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยไม่พัฒนา พยายามเข้ามามีอำนาจและเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยด้วยซ้ำไป

ถ้าถามว่าการเมืองโลกวุ่นวายแล้วจะกระทบกับการพัฒนาประชาธิปไตยของการเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ปัญหาแรกที่จะเจอเลยคือไม่มีเงิน การเป็นหนี้สินมหาศาลที่รัฐบาลประยุทธ์สร้างไว้ ในขณะที่สัญญากับประชาชนไว้มากมายว่าจะทำนู่นทำนี่ซึ่งก็ต้องใช้เงินด้วย ถ้าทำไม่ได้ หรือทำแล้วไม่มีประสิทธิภาพ แล้วถูกกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจโลกเข้ามาด้วยอีก อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย

เรามีความหวังนะ เราเห็นกระแสที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งจากคราวที่แล้ว รวมกับครั้งนี้ รวมถึงการที่พูดถึงหลายประเด็นได้มากขึ้น นี่คือจุดสำคัญเลยว่าคุณต้องเห็นปัญหาก่อน แล้วจะแก้มันยังไงก็ค่อยเป็นค่อยไป เราอยู่กับระบอบรัฐประหารมาตั้ง 10 กว่าปี ให้เวลาในการแก้ไข 10 ปีก็ยังไม่ช้า ค่อยๆ รุกทีละเรื่องไป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save