fbpx
Thailand 2020: Perspectives From The World

Thailand 2020: Perspectives From The World

เมื่อพูดถึง “โลกในศตวรรษที่ 21” หลายคนนึกถึงช่วงเวลาแห่งอนาคตและความหวัง แต่สำหรับสังคมการเมืองไทย 19 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 คือความจริงที่โหดร้าย เมื่อเราใช้เวลากว่า 3 ใน 4 ไปกับความขัดแย้งทางการเมือง

2 รัฐประหาร, 4 รัฐธรรมนูญ, 7 นายกรัฐมนตรี คือหลักฐานของความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งนี้ไม่นับการเสื่อมถอยและพังทลายของความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงความรุนแรงทางการเมืองที่นำไปสู่การบาดเจ็บและความสูญเสียของชีวิตอีกที่ประเมินค่าไม่ได้

ปี 2020 จึงรับมรดกเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดให้ถึงที่สุด โจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยยังเป็นโจทย์เดิมที่เราขบคิดมาตลอดหลายปี นั่นคือ เราจะออกจากกับดักความขัดแย้งและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติได้อย่างไร?

กระนั้นตัวเลข ‘2020’ ก็ลงตัวและเหมาะเหม็งสำหรับการคิดใหม่และมองใหม่ เหนืออื่นใด ทางออกของสังคมไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเราหยุดคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม

 

101 ชวน 5 นักคิดและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมมองอนาคตไทยในปี 2020 ภายใต้ซีรีส์ที่ชื่อว่า ‘Thailand 2020: Perspectives from the World’ ประกอบไปด้วย

1) Kevin Hewison บรรณาธิการบริหารวารสาร Journal of Contemporary Asia ผู้ติดตามการเมืองไทยมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี

2) Claudio Sopranzetti อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาสังคม Central European University นักมานุษยวิทยาการเมืองที่ใช้สังคมไทยเป็นสนามความรู้

3) Eugénie Mérieau นักวิจัยรับเชิญสถาบัน Institute for Global Law and Policy มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักกฎหมายผู้ริเริ่มการนำแนวคิด ‘รัฐพันลึก’ (deep state) มาใช้อธิบายการเมืองไทย

4) Tyrell Haberkorn อาจารย์ประจำ ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย University of Wisconsin นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการเมืองวัฒนธรรม และทำการศึกษาประเด็นความรุนแรง และการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนในประเทศไทยกว่า 20 ปี

5) Edoardo Siani นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต นักมานุษยวิทยาผู้มองเห็นความเชื่อมโยงโลกของไสยศาสตร์และการเมืองไทย

 

เควิน เฮวิสัน : ประชาธิปไตยไทยบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ – วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่ยังอยู่ที่เดิม

เควิน เฮวิสัน : ประชาธิปไตยไทยบนเครื่องวิ่งอัตโนมัติ – วิ่งบ้าง เดินบ้าง แต่ยังอยู่ที่เดิม

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ประเดิมด้วยมุมมองของศาสตราจารย์เควิน เฮวิสัน บรรณาธิการวารสาร Journal of Contemporary Asia และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้ติดตามพัฒนาการสังคมการเมืองไทยมากว่า 40 ปี

“….การมีรัฐสภาทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปแบบไป กล่าวคือ ความขัดแย้งในสังคมย้ายมาเกิดขึ้นในสภาแทน ซึ่งทำให้สภามีความหมายสำคัญมากกว่าที่มันเคยเป็น และต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่รัฐบาลคิด ข้อน่ากังวลคือ มีการพยายามใช้กลไกและสถาบันทางการเมืองกำจัดพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ ความขัดแย้งก็จะย้ายออกมานอกสภาอีก ซึ่งจะอันตรายมากเพราะเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้”

“ตอนที่คุณทักษิณออกนโยบายนี้คือตอนปี พ.ศ. 2543 – 2544 ประเทศยังคงบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายเหล่านั้นจึงแก้ปัญหาของยุคนั้นได้ แต่การที่รัฐบาลทหารจะมาใช้นโยบายแบบเดียวกัน คำถามคือเราอยู่ในยุคไหนแล้ว มันผ่านมา 20 ปีแล้ว พูดตามตรง ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะบังคับใช้นโยบายแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกอยู่ดี เพราะมันสื่อให้เห็นถึงการออกนโยบายที่ขาดความแหลมคมและขาดความเข้าใจในความเป็นสังคมร่วมสมัยและโลกที่ก้าวหน้า รวมไปถึงความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอในโลกอันก้าวหน้านี้ด้วย”

“สิ่งที่ผมค้นพบคือ ชนชั้นนายทุนไทยแทบไม่เปลี่ยนเลย ทุนไทยกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มเดิมๆ มาตลอด 40 ปี ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะพัฒนาและทุนนิยมไทยก็วิวัฒน์จากทุนนิยมอุตสาหกรรม ไปสู่ทุนนิยมธนาคาร ไปสู่ทุนโทรคมนาคม พูดอีกแบบคือ ชนชั้นนายทุนไทยกลุ่มเดิมๆ สามารถขยายฐานธุรกิจของตัวเองออกไปได้เรื่อยๆ แม้โครงสร้างของระบบทุนนิยมไทยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม”

“ตอนนี้ระบบอำนาจนิยมกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกใน และมันสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองทั่วโลกมีปัญหา คุณพอมองเห็นตัวอย่างของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจากทั่วโลก น่าจะมีบางเรื่องเอามาใช้เป็นบทเรียนได้”

 

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สำรวจการเมืองไทย 2020 ผ่านสายตาของเคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ นักมานุษยวิทยาผู้ใช้สังคมไทยเป็น ‘สนามความรู้’

“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนักที่จะพูดว่า ชนชั้นกลางไทยที่กลายเป็นพลังเบื้องหลังอำนาจนิยมนั้น ‘แย่’ หรือ ‘งี่เง่า’ (ignorance) แต่เราต้องทำความเข้าใจเขามากกว่า…”

“การที่มีผู้นำทหารในปี 2562 ในประเทศไทย แถมยังเป็นคนแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเขาฉลาด แม้กระทั่งคนที่โหวตให้เขาก็ไม่คิดว่าเขาฉลาด แต่กลับสามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้อย่างมหาศาล มันสะท้อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ลึกมากๆ”

“ผมคิดว่า เราไม่สามารถพูดถึงเสื้อแดงได้อีกแล้ว เสื้อแดงไม่มีอยู่อีกแล้ว ตอนนี้พวกเขาแตกกระจายกันไปหมด แต่ละคนมีความรู้สึกที่ชัดเจนมากว่า พวกเขาทำอะไรไม่ได้และไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำอะไรเลย แนวโน้มนี้กระจ่างชัดขึ้นมากกับแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งก็นำมาสู่การสนับสนุนที่ลดลงในหลายๆ พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย”

“ความท้าทายของอนาคตใหม่คือ พวกเขาจะสามารถรวบรวมผู้คนที่มีความคิดแตกต่างเข้าไว้ด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน ประสบการณ์จากหลายที่ทั่วโลกชี้ว่า พรรคเกิดใหม่ที่มีอุดมการณ์แน่ชัดมักจะทำได้ดีมากๆ ในช่วงการเลือกตั้ง และจะค่อนข้างเข้มแข็งเมื่อพวกเขาเป็นฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล เพราะการประนีประนอมในฝ่ายค้านจะน้อยกว่า … เมื่อไหร่ที่พวกเขาต้องมาเป็นรัฐบาลมันจะยากมากๆ”

“พูดให้ถึงที่สุด ‘ผู้นำที่ดี’ ของคนไทยถอดแบบมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เป็นผู้นำทางศีลธรรมสูงสุดในความคิดของชนชั้นกลางไทย ทรงเป็นทั้งผู้มีบารมีในฐานะพระมหากษัตริย์ เป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรมสูงสุด เป็นพลังในการสร้างความชอบธรรม และเป็นบ่อเกิดของศีลธรรม คำถามที่ใหญ่มากในห้วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ หลังรัชสมัยของพระองค์ สิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และประชาธิปไตยจะสร้างความชอบธรรมให้ตัวมันเองได้อย่างไรในยุคสมัยนี้”

 

เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ: เมื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่ได้ก่อให้เกิดผู้นำคนใหม่

เออเชนี เมรีโอ : ประเทศพันลึกภายใต้ ‘ประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม’

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

มองทิศทางการเมืองไทยผ่านวิธีคิดการเขียนรัฐธรรมนูญ กับ เออเชนี เมรีโอ นักวิชาการนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ ในการมองสังคมไทย

“คนที่ทำเฉพาะไทยศึกษาจะคิดเรื่อง exceptionalism คิดว่าประเทศนี้เป็นแบบนี้ประเทศเดียวในโลก ไม่ว่าจะคิดในแง่ดีหรือไม่ การบอกว่าเป็นเผด็จการที่แย่ที่สุดในโลก ก็เป็นชาตินิยมในแง่ที่ว่าคุณรู้สึกว่าประเทศไทยพิเศษมากจนเปรียบเทียบไม่ได้และไม่เห็นถึงความเหมือนกับประเทศอื่น”

“ในโลกวันนี้ เผด็จการจะอยู่รอดนานๆ ได้ ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งบ้าง เผด็จการก็ต้องการความชอบธรรมเพื่ออยู่ต่อได้ ดังนั้น การที่ทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง ปี 2019 ก็ต้องถือว่าเป็น smart move”

” ‘รัฐธรรมนูญพันลึก’ เป็นสิ่งที่ทำให้ทหารมีอำนาจพิเศษ โดยมีอุดมการณ์ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ กำกับ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ 2490 จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันกลายเป็นหลักการทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเอามาใช้อ้างได้”

“รัฐพันลึกในประเทศไทยดำเนินการแบบ ‘รัฐคู่ขนาน’ (dual state) คือ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด กับรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อไรก็ตามที่รัฐที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มออกนอกกรอบ รัฐที่มีอำนาจเด็ดขาดก็เข้าจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น รัฐประหาร หรือใช้ศาลตัดสินคดีต่างๆ”

 

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : รัฐที่กลัวประชาชน คือรัฐที่พร้อมใช้อาวุธ

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : รัฐที่กลัวประชาชน คือรัฐที่พร้อมใช้อาวุธ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

สำรวจความเปลี่ยนแปลงของอำนาจที่รัฐใช้ต่อประชาชน การลอยนวลพ้นผิดของรัฐ และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในยุคใหม่ กับ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชียที่ University of Wisconsin-Madison

“อีกสิ่งหนึ่งที่เขาทำเก่งมากคือการใช้กฎหมายแทนที่จะใช้ความรุนแรงนอกระบบ มีคนตั้งคำถามว่า มีกี่คนที่ถูกฆ่า ถูกบังคับอุ้มหาย เราก็ตอบว่า ไม่เยอะ แต่ถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ในเมืองไทยกับอินโดนีเซียหรือเขมรในรอบ 50 ปี คำถามสำคัญคือ ทำไมรัฐเผด็จการไทยถึงได้กลับมาหลายครั้ง ทำไมนักเคลื่อนไหวหรือชาวบ้านยังรู้สึกกลัว”

“คสช. มีวิธีการวางตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น หยุดใช้กฎอัยการศึกช่วงที่เริ่มโดนวิจารณ์ ทั้งที่คำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. จะทำให้เขามีอำนาจเหมือนกันหมดทุกอย่าง หรือการหยุดดำเนินคดีใหม่ๆ ในศาลทหาร ใกล้ๆ กับช่วงที่ประเทศไทยจะถูกตรวจสอบผ่านกระบวนการ Universal Periodic Review ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”

“ถ้าประชาชนคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เขาต้องมีส่วนร่วม คิดว่าตัวเองจะช่วยสร้างสังคมที่เป็นธรรม ก็ต้องเริ่มจินตนาการว่าต้องการสังคมแบบไหน ต้องคิดว่าการดำเนินคดีกับทหารเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คิดว่าเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารได้ ตัดงบทหารได้ ต้องฝันว่าเป็นไปได้ก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะทำได้ยังไง แน่นอนว่างานใหญ่ชิ้นหนึ่งอยู่ในรัฐสภา”

“นักเขียนหรือนักวิชาการเองก็ถูกรังแกโดย คสช. แต่ คสช. ไม่กล้าดำเนินคดีต่อคนกลุ่มนั้น คือทำบ้าง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับที่ คสช. ไปดำเนินคดีกับชาวบ้าน ถือว่าน้อยกว่ามาก และถ้านักวิชาการ ทนาย หรือนักเขียน ถูกจับก็มีองค์กรระดับโลกคอยช่วยเผยแพร่ข้อมูล แต่ชาวบ้านไม่มี”

“รัฐกลัว แต่รัฐมีปืน มีคุก และเขาไม่กลัวที่จะใช้มัน โดยเฉพาะกับคนที่สร้างความเสี่ยงต่ออำนาจของเขา แน่นอนว่าประชาชนรู้สึกกลัว เพราะแค่ย้อนกลับไปนึกถึงปี 2553 ก็จะรู้ว่า รัฐพร้อมที่จะละเมิดกติกาที่ตั้งเองและฆ่าคนโดยตรง”

 

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ : ประชาธิปไตยไทยในสายตาโหราศาสตร์

เอโดอาร์โด้ ซีอานี่ : ประชาธิปไตยไทยในสายตาโหราศาสตร์

 

โดย ธิติ มีแต้ม และ สมคิด พุทธศรี

สำหรับคนสุดท้ายของซีรีส์ชุดนี้ 101 ชวนสำรวจอำนาจพิศวงของโลกโหราศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการเมืองไทยอย่างแนบแน่น ผ่านทัศนะ ‘เอโดอาร์โด้ ซีอานี่’ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่ศึกษาสังคมไทยผ่านวัฒนธรรมการดูดวงและการทรงเจ้า

“โหราศาสตร์ในประเทศไทยเหมือนเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเสริมดวงเสริมบารมีให้เป็นผู้นำ เพราะหมอดูจะไม่ทำนายอย่างเดียว แต่หลังจากทำนายแล้ว หมอดูก็จะแนะนำลูกค้าถึงวิธีที่จะได้อำนาจว่าลูกค้าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อไหร่ อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในบ้าน ในออฟฟิศ หรืออำนาจในทางการเมือง”

“ประวัติศาสตร์ของโหราศาสตร์มาคู่กับอำนาจตลอดเวลา มันเป็นศาสตร์เพื่อที่จะสร้างและรักษาอำนาจมาตลอด จุดเริ่มต้นของวิชาที่วันนี้เราเรียกว่าโหราศาสตร์ไทยมันเริ่มมาจากในวัง“

“พอคณะราษฎรทำการเปลี่ยนระบอบการปกครอง คณะราษฎรมองว่ากรมโหรไม่เหมาะกับประเทศสมัยใหม่ก็เลยสั่งปิด ตอนนั้นมีโหรหลวงออกจากวังแล้วก็ไปเปิดตำหนักโหรของตัวเอง ช่วงนั้นโหราศาสตร์ที่มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ได้แพร่ไปถึงสาธารณะอย่างชัดเจน”

“ปี 2548 ผมพบว่าตัวเลขของศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรระบุว่าคนไทยลงทุนใช้เงินกับการดูดวง 4,000 ล้านบาท โอ้โห นี่มันเงินเยอะมาก เอาแค่ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูดวงก็แปลกแล้ว พอดูเม็ดเงินยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าประเด็นนี้มันมีความสำคัญกับสังคมไทยแน่นอน”

“เวลานี้หมอดู-ร่างทรงปรากฏขึ้นมาหลายที่ในโลก รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่ได้มีเฉพาะแค่ไทย หรือประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เคยมีทฤษฎีของ Max Weber บอกว่าเมื่อความเป็นสมัยใหม่เข้ามาแล้ว โลกจะเปลี่ยนไป แต่ในความเป็นจริง นักมานุษยวิทยาหลายคนกลับพบว่าไม่ใช่เลย ยิ่งเศรษฐกิจการเมืองมีความไม่แน่นอน โลกจะพึ่งพิงศาสนา ความเชื่อ และสิ่งลี้ลับต่างๆ มากขึ้น”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save