fbpx

‘เด็กคืออนาคตของชาติ?’: คุยกับนักขับเคลื่อนสังคมเจน Z ในวันที่เสียงเด็กไทยไม่อยู่ในสมการเลือกตั้ง

1

เมื่อความรุนแรงจากรัฐกลายเป็น ‘ความเคยชิน’ ของเด็กไทย

“ผมไม่ได้เรียนหนังสือแล้วครับพี่ แต่ถ้าเรียนก็คงอยู่ ม.3” คือประโยคสั้นๆ ที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งตอบกลับมา เมื่อฉันถามเขาว่าตอนนี้เรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว

เย็นวันจันทร์ เดือนเมษายน หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เรามีนัดกับ ‘เอีย’ เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากกลุ่มทะลุแก๊ส

อันที่จริง ที่มาของประโยคนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะฉันอยากชวนเอียพูดคุยทำความรู้จัก เพื่อให้เราทั้งสองคนไม่รู้สึกเกร็งจากการเจอหน้ากันครั้งแรก ทว่าประโยคที่เขาตอบมากลับทำให้ฉันจุกที่อกเสียเอง เขาให้เหตุผลว่าเพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย

เราอยู่ในประเทศที่เด็กอายุแค่ 15 ปีไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเพราะปัญหาทางการเงิน ทั้งยังต้องออกนอกบ้านมาเสี่ยงอันตรายจากการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วอย่างนั้นหรือ คือสิ่งที่ฉันคิด แต่ไม่ได้พูดออกไป

เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนามว่า ‘ทะลุแก๊ส’ ได้รับความสนใจจากคนในสังคมมากขึ้นจากกระแส ‘ม็อบดินแดง’ ที่ปะทุขึ้นมาในช่วงปี 2564 จากย่านกลางเมืองกลายมาเป็น ‘สมรภูมิ’ ระหว่างเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊สกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) และแน่นอนว่าเอียก็เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ต้องคดี โดนทำร้ายร่างกาย และถูกคุกคามอย่างหนักจากการเข้าร่วมม็อบดินแดงด้วยเช่นกัน

หากบวกลบตัวเลขดีๆ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 เด็กชายคนนี้มีอายุแค่ 12 ย่างเข้า 13 ปีเท่านั้นเอง

“ทะลุแก๊สมีสมาชิกเป็นเด็กเยอะครับ แต่ผมเด็กสุดเลยตอนนี้”

“ผมสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 11 โดนคดีตั้งแต่อายุ 12 เลยวันเกิดมาแค่ 2 วันก็ได้หมายจากตำรวจเลย” เอียเปรียบเปรยว่าการได้หมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมม็อบดินแดงเป็นเหมือนของขวัญวันเกิดจากภาครัฐ เอียเล่าเรื่องนี้ออกมาพร้อมรอยยิ้ม ราวกับเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องตลกร้ายในชีวิตเขาไปเสียแล้ว

เอียยังเล่าต่อว่าตั้งแต่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง เขาต้องเจอการคุกคามสารพัดรูปแบบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งมีตำรวจมาหาที่บ้าน โดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายตอนออกไปชุมนุม โดนอุ้ม และโดนข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก

“โดนทำขนาดนี้ ไม่กลัวเหรอ” ฉันถามออกไปด้วยความใคร่รู้ เพราะนึกภาพไม่ออกว่าถ้าเป็นตัวเองตอนอายุ 15 จะรู้สึกเช่นไร หากต้องเจอสารพัดความรุนแรงแบบที่เอียเผชิญในตอนนี้

“เมื่อก่อนก็กลัวครับ แต่เดี๋ยวนี้ผมเริ่มชินแล้ว” เอียตอบกลับมาด้วยท่าทีสบายๆ จนฉันเริ่มเชื่อว่าเขาคง ‘ชิน’ กับความเลวร้ายของประเทศนี้ไปแล้วจริงๆ

ทว่าความโหดร้ายต่อเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะ ‘ชิน’ อย่างนั้นหรือ?

พูดกันตามตรง ถ้าให้ย้อนกลับไปมองตัวเองตอนอายุ 15 ชีวิตประจำวันของฉันคงมีแค่การเรียนหนังสือไปวันๆ พักกลางวันก็นั่งอ่านหนังสือการ์ตูน หรือไม่ก็เล่นเกมกับเพื่อน ตกเย็นก็รอพ่อแม่มารับกลับบ้าน ทำการบ้าน ดูโทรทัศน์ก่อนเข้านอน วนลูปเช่นนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน คงไม่ยักจะสนใจใคร่รู้เรื่อง ‘การเมือง’ แบบเยาวชนสมัยนี้

แล้วอะไรกันที่ทำให้เด็กอายุ 15 อย่างเอียสนใจการเมืองตั้งแต่ยังเด็กขนาดนี้ 

“เพราะผมอยากมีอนาคตที่ดีกว่านี้ ที่บ้านผมไม่มีเงิน ผมไม่ได้เรียนต่อเพราะครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก รัฐบาลบอกจะมาช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น มีแค่ยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น” 

“แปดปีที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ตอบโจทย์ประชาชนไม่ได้เลยสักข้อ ให้มาคุยกับประชาชนเขาก็ไม่คุย ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้คุยกับเขาสักคำ” เอียกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นมั่นคง

ด้วยอายุที่ยังน้อยประกอบกับมาดกวนโอ๊ยของเจ้าตัว ใครจะคิดว่าเอียให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งยังนำเรื่องราวที่ตัวเองประสบพบเจอไปแลกเปลี่ยนให้เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันฟัง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนโดยไม่จำกัดว่าคุณจะอายุน้อยหรือมาก

“ตอนที่ผมเล่าเรื่องการเมืองให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็สนใจกันว่าทำไมผมถึงโดนตำรวจทำร้าย แค่ไปเรียกร้องเรื่องการเมืองเองทำไมโดนขนาดนั้น เพื่อนก็เริ่มคิดว่าถ้าเรายังเลือกรัฐบาลเดิมประเทศก็จะเป็นแบบเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น” 

สำหรับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะมาถึง แน่นอนว่าเอียและเพื่อนรุ่นเดียวกันยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในคราวนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ชัดเจนว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง เมื่อฉันถามเอียกลับไปว่าอยากเลือกตั้งหรือไม่ เขาตอบกลับมาเสียงดังฟังชัดว่า “อยากครับ ผมอยากมีอนาคตใหม่”

เมื่อถามต่อไปทำไมถึงอยากเลือกตั้ง เอียตอบกลับมาในทันทีว่า “ผมเบื่อรัฐบาลเก่าครับ อยากมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม”

“การเลือกตั้งรอบนี้ผมอยากได้รัฐบาลที่สนใจประชาชน ทำตามคำเรียกร้องของประชาชนจริงๆ อยากให้การศึกษาดีขึ้นด้วย” เอียเสริมถึงความมุ่งหวังต่อการเลือกตั้งครังนี้ แม้ว่ารอบนี้ตัวเองจะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม

แม้ความคิดของใครหลายคนจะมองว่าเยาวชนอายุ 15 ยังเด็กเกินไปที่จะเลือกตั้งได้ อาจด้วยวุฒิภาวะและความรู้ที่ยังไม่มากพอ อีกทั้งอาจเป็นวัยที่คล้อยตามความคิดของผู้ใหญ่ได้ง่าย เอียให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ในฐานะเด็กอายุ 15 ปีคนหนึ่งว่า “เพื่อนผมอายุ 15 ส่วนมากก็มีความคิดเป็นของตัวเองในเรื่องการเมืองแล้วนะครับ ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องเลือกอนาคตของตัวเองได้บ้าง คนรุ่นใหม่ยังต้องมีอนาคตที่ไกลกว่านี้”

หลายคนคงมองการเลือกตั้งนายกฯ ครั้งนี้เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในประเทศ เมื่อให้เอียลองจินตนาการภาพอนาคตตัวเองในภายภาคหน้า ในวันที่เขาโตพอจะเป็น ‘ผู้ใหญ่’ คนหนึ่งของสังคมไทย เอียนิ่งคิดไปสักพัก แล้วจึงตอบกลับมาว่า “ผมอยากโตไปเป็นนักการเมือง อยากให้บ้านเมืองดี อยากให้ประเทศมีที่ยืน ไม่เหมือนตอนนี้ที่มีแต่การทำร้ายประชาชน ขู่ประชาชน ผมอยากให้ประเทศเราพัฒนา อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตมีการศึกษาที่ดีกว่านี้”

จากการต่อสู้ทางการเมืองมานานนับปี และเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในนามสมาชิกทะลุแก๊สอยู่บ่อยครั้งจนต้องแลกมาด้วยรอยช้ำและบาดแผลจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ จนถึงวันนี้ เอียยังคงยืนยันหนักแน่นว่าจะยังคงสู้ต่อไป โดยไม่สนใจว่าผู้ใหญ่คนไหนจะมาห้ามปรามให้เขาหยุดต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพที่เขาพึงมี

“เอียคิดว่าตัวเองในฐานะเด็กอายุ 15 มีความพร้อมมากแค่ไหนถ้ามีสิทธิได้เลือกตั้ง” ฉันส่งคำถามเพื่อให้เขาได้ส่งเสียงของตัวเองออกมา

“ผมพร้อมมาก พร้อมสู้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เลยครับ ผมอยากมีอนาคตที่ดีกว่านี้มากๆ เลย” นี่คือคำตอบของเด็กอายุ 15 นามว่าเอีย กับความหนักแน่น แข็งแกร่ง และมั่นใจที่ส่งผ่านมาจากทั้งน้ำเสียงและแววตา

2

แม้ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เราย่อมมีสิทธิฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า

หากเอ่ยถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับเด็กและเยาวชน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ‘นักเรียนเลว’ กลุ่มนักกิจกรรมเยาวรุ่นตัวจี๊ดที่ออกมาเรียกร้องการปรับปรุงนโยบายการศึกษา เป็นกระบอกเสียงให้เด็กไทยที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลให้เห็นกันตามหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง

ในบรรดาสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว ‘อันนา’ เยาวชนอายุ 17 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ออกหน้าสื่อให้เห็นอยู่เป็นประจำ ทั้งยังเป็นหนึ่งในเยาวชนที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคามมากที่สุดคนหนึ่ง

ในวันที่เรานัดเจอกับอันนา เธอแต่งตัวคุมโทนสีชมพูดสดใส กับผมสีแดงเข้มเด่นมาแต่ไกล เมื่อถึงเวลานัดหมาย ฉันเห็นอันนาลงจากวินมอเตอร์ไซค์แล้วเดินมาหาเราพร้อมรอยยิ้มสดใส

อันนาเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างผอมบาง และตัวเล็กมากเสียจนไม่อยากเชื่อว่านี่คือเยาวชนที่ต้องโดนเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังฉุดกระชากลากถูด้วยความรุนแรงทุกครั้งที่เธอเข้าร่วมการชุมนุม และแม้จะยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตามประสาวัยรุ่นคนหนึ่ง แต่ความคิดที่แหลมคมและวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของเธอได้ฉายออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านบทสนทนาที่เราพูดคุยกัน

ฉันเริ่มเปิดบทสนทนาด้วยคำถามว่า “อันนาพอจะจำได้ไหมว่าเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่อายุเท่าไหร่”

“โห น่าจะตั้งแต่เรียนอยู่มอหนึ่งมอสองเลยค่ะ ตอนนั้นเราเห็นที่สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้ง แล้วที่ไทยก็มีกระแสคนอยากเลือกตั้งพอดี ณ ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าทำไมจะมีการเลือกตั้งไม่ได้ เลยเป็นจุดที่ทำให้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย แล้วเราก็พบว่า อ๋อ ประเทศเผด็จการเป็นแบบนี้นี่เอง ก็คือประเทศไทยเรานี่แหละ”

“แล้วอันนาคิดอย่างไรเวลามีคนบอกว่าไม่อยากให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเลือกตั้งเพราะยังเด็กเกินไป ไม่มีวุฒิภาวะมากพอ”

“ถ้าจะบอกว่าเด็กไม่มีวุฒิภาวะหรือไม่มีความคิดมากพอ ก็คงต้องตอบผู้ใหญ่เหล่านั้นกลับไปว่าช่วงอายุของคนที่สมองจะพัฒนาเต็มตัวคือ 25 ปี แล้วต้องรอให้เราอายุ 25 ปีก่อนหรือไงถึงจะเลือกตั้งได้ จริงๆ ในหลายประเทศคนอายุ 16 ก็มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว” อันนาอธิบายให้ฟังด้วยเสียงดังชัดถ้อยชัดคำ

“งั้นถ้ามีคนแย้งว่าเด็กบางคนอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองตั้งแต่เด็กแบบอันนาหรือเพื่อนในกลุ่มนักเรียนเลวล่ะ” ฉันถามต่อ

“เอาจริงๆ จะอายุเท่าไหร่ก็มีทั้งคนสนใจและไม่สนใจการเมืองอยู่ดี ต่อให้อายุ 50 แต่ถ้าเขาไม่สนใจการเมือง ไม่อยากเลือกตั้ง เขาก็ไม่ออกไปเลือกหรอกค่ะ” เธอตอบกลับมาในทันทีโดยไม่ใช้เวลาคิดเยอะ 

เป็นอันชัดเจนโดยไม่ต้องเสียเวลาถามให้มากความว่าอันนาและเพื่อนๆ เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนคงอยากมีสิทธิเลือกตั้งนายกฯ ในครั้งนี้ แต่ถ้าจะถามให้ชัดขึ้นถึงเหตุผลที่พวกเขาอยากเลือกตั้ง อันนาอธิบายให้ฟังว่า “เพื่อนๆ ของเราที่อายุต่ำกว่า 18 ปีโดนดำเนินคดีทางการเมืองกันทั้งนั้นเลย ณ ตอนนี้มีเยาวชนจำนวนมากโดนดำเนินคดีทางการเมืองเพราะวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือแค่ออกมาต่อต้านรัฐบาลปัจจุบัน แต่เรากลับไม่มีสิทธิจะเลือกรัฐบาลสมัยหน้า เราไม่มีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเองเลย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากปรับอายุคนที่มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือแค่ 15 ปีเป็นต้นไป”

“เพื่อนรุ่นเดียวกับเราก็อยากเลือกตั้ง เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากผลทางการเมืองกันหมด ทั้งนโยบายเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ อีกทั้งเด็กอายุ 15 เป็นวัยที่ได้รับผลกระทบหลายๆ อย่างในทางกฎหมายแล้ว เป็นวัยที่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ทำพินัยกรรมได้ และเป็นวัยที่ส่วนใหญ่โดนดำเนินคดีทางการเมืองด้วย” อันนาเสริม

ความเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิเลือกตั้งแก่เยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ปีเป็นต้นไปยังมีปัจจัยเรื่องความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่อาจยังไม่มากพอ อันนาให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ได้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งยังเสริมว่าในความเป็นจริงเด็กและเยาวชนยังมีอีกหลายช่องทางในการแสดง ‘เสียง’ ของตัวเองนอกจากการเลือกตั้ง

“เราต้องมีแนวทางทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้นกว่านี้ ที่สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้เด็กเข้าไปร่วมกำหนดคนที่จะไปบริหารประเทศ เลือกคนที่จะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับตัวเขาได้ ไม่เหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่เอาคนอายุ 70-80 มาร่างนโยบายให้เด็ก 17 ใช้ เราไม่อยากได้แบบนี้แล้ว”

“สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งรอบนี้ จริงๆ เสียงของทุกคนสามารถถูกรับฟังได้ด้วยการออกไปจับตาการเลือกตั้ง ออกมาประท้วง หรือออกมาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะเรื่องการเมืองไม่ใช่ว่าแค่เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะจบ เรายังทำหน้าที่ของประชาชนไปได้อีกยาวๆ เลย” 

เมื่อถามเธอถึงอนาคตว่ากังวลไหมหากหลังจบการเลือกตั้งครั้งนี้เราอาจจะได้รัฐบาลแบบเดิมกลับมา อันนาตอบกลับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “กังวลค่ะ แต่ถ้ามีรัฐประหารก็จะออกมาไล่เหมือนเดิม”

แม้จะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายในคราวนี้ แต่เมื่อลองให้อันนาบอกเล่าภาพรัฐบาลในอุดมคติของตัวเอง อันนาตอบว่า

“เราอยากได้รัฐบาลที่ผสมกันระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล เสรีรวมไทย เพื่อชาติ อาจมีประชาชาติหรือสามัญชนบ้าง นี่เป็นภาพรัฐบาลที่เราอยากได้เลย ส่วนพวกพรรคแมลงสาบก็ลงท่อไปให้หมด” อันนาพูดจบแล้วตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

ระหว่างพูดคุยกัน อันนาเล่าให้ฟังว่าช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเธอ ซึ่งคณะที่เธอใฝ่ฝันอยากเข้าศึกษาต่อคือคณะนิติศาสตร์ แต่แม้จะเป็นห้วงเวลาสำคัญของชีวิตวัยรุ่นเช่นนี้ เธอกลับยังออกไปทำกิจกรรมประท้วงอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าคุณลองเสิร์ชคำว่า ‘อันนา นักเรียนเลว’ บนอินเทอร์เน็ต สิ่งที่คุณจะเห็นคือภาพของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ผมสีแดงเข้มคนหนึ่งยืนถือป้ายประท้วงรัฐบาล ชูสามนิ้ว ยืนปราศรัยบนเวที หรือแม้แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มลาก เรียกได้ว่าการถูกข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงจากภาครัฐแทบจะกลายเป็นส่วนเสริมหนึ่งของชีวิตเด็กคนนี้ไปแล้ว

“อย่างน้อยเราก็อยากมีสิทธิในการส่งเสียง ต้องยอมรับว่าการอยู่ในประเทศนี้เหมือนหมดหวังไปแล้วจริงๆ กับการเมืองไทย ตอนนี้เหมือนไม่สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ติดคุก ถ้าไม่สู้ทุกคนก็จะเป็นเหมือนเดิม วนลูปอยู่กับการรัฐประหาร แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องทน เราเลยออกมาสู้เพื่อที่ว่าอย่างน้อยจะได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง”

เมื่อถูกถามต่อว่า ตอนนี้อยากฝากบอกอะไรกับผู้ใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้บ้างไหม อันนาตอบกลับอย่างรวดเร็วว่า “อย่างน้อยอยากให้ทุกคนออกไปใช้สิทธิใช้เสียง ไม่สำคัญว่าคุณจะเลือกใคร เสียงของทุกคนมีค่าเหมือนกัน และที่สำคัญคืออย่าลืมว่าความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่วันกา ไม่ใช่ว่าแค่ได้เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจะเป็นประชาธิปไตย”

ตั้งแต่เด็กจนโต ปฏิเสธไม่ได้ว่าประโยค ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันจนเบื่อ ฉันจึงลองถามอันนาดูว่าคิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้ และคิดอย่างไรที่ดูเหมือนว่าอนาคตของเด็กจะขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่อยู่เสมอมา

“ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่พอเด็กออกมาประท้วงเพื่อชาติกลับถูกด่าว่าชังชาติ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าตรรกะคิดนี้คืออย่างไร เพราะชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ชาติคือของเราทุกคน แต่ตอนนี้กลับถูกจำกัดไว้ให้คนกลุ่มเดียวใช้ ถ้าเด็กเป็นอนาคตของชาติจริงก็อยากให้รับฟังเสียงของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กที่ใส่เสื้อสีบางสีแล้วถูกรับฟังได้มากกว่า”

“เอาจริงๆ เวลาเจอผู้ใหญ่บางคนที่ความคิดและตรรกะบ้งมากๆ เราจะไม่เชียร์คำพูดที่ว่าให้เขากลับบ้านไปเลี้ยงหลาน เพราะเราสงสารหลานเขา ถ้าลองคิดเล่นๆ ว่าเด็กจะมีอนาคตหรือเติบโตมาอย่างไรถ้าให้นักการเมืองบางคนไปช่วยเลี้ยง” เธอตอบชัดถ้อยชัดคำและชัดเจนในจุดยืน

สำหรับนักกิจกรรมที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากภาครัฐและผ่านประสบการณ์อันแสนโชกโชนในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบอันนา เราจบการสัมภาษณ์ด้วยคำถามที่อาจน่าเบื่อแต่สำคัญว่า “ประเทศไทยในฝันของอันนาเป็นแบบไหน”

“ประเทศไทยในฝันของเราคือประเทศที่ ‘คนเท่ากัน’ เป็นประเทศที่เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย เดินตามถนนได้โดยไม่ต้องเจอทางเท้าพังๆ ไม่ต้องคอยมองซ้ายมองขวาว่าวันนี้จะมีการปิดถนนที่ไหนไหม หรือไม่ต้องตื่นเช้ามาพร้อมกับเสียงโทรศัพท์ของเพื่อนที่โทรมาบอกว่า ‘ฮัลโหลมึง กูโดนคดี 112 อีกใบ’”

3

เพราะไม่มีฝันใดของเยาวชนไทยยิ่งใหญ่ไปกว่าฝันที่จะถูกรับฟัง

เช่นเดียวกันกับ ‘วิน’ เยาวชนอายุ 17 ปี อดีตสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว ที่บอกกับฉันว่าสำหรับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศที่กำลังจะถึงนี้ ตัวเองทั้งรู้สึกตื่นเต้นและเสียดายในเวลาเดียวกัน

ตื่นเต้น เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและคนไทยต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ขนาดไหน

เสียดาย เพราะตัวเองและเพื่อนยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ และต้องรออีกนานไม่น้อยกว่าจะได้เลือกตั้งรอบหน้า 

“เด็กสมัยนี้หลายๆ คนก็แสดงศักยภาพของตัวเองว่าเก่งในหลายด้านก่อนที่จะอายุ 18 ด้วยซ้ำ และเด็กอายุ 15 ส่วนใหญ่ก็โตพอที่จะคิดเองได้ในหลายเรื่องแล้ว ให้เด็กสมัยนี้รับเงินซื้อเสียงเขาก็คงไม่รับนะ และผมมั่นใจว่าเด็กสมัยนี้มีความคิดความอ่านของตัวเอง มีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตเองได้แล้ว” คือทัศนคติของวิน ที่มองว่าประเทศไทยควรแก้กฎหมายให้เด็กไทยมีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีเป็นต้นไป

“อะไรที่ทำให้วินคิดว่าเสียงของเด็กมีผลกับอนาคตประเทศ” ฉันถามย้ำ

วินครุ่นคิดต่อคำถามนี้เพียงเล็กน้อย และตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “จริงๆ เสียงของทุกคนมีผลต่อประเทศหมด เด็กก็ถือเป็นประชากรคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป แต่ประเทศไทยในตอนนี้ค่อนข้างไม่ตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าถ้าเด็กมีสิทธิเลือกตั้งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งจะทำให้อะไรต่างๆ ดีขึ้นและเหมาะกับคนในยุคสมัยนี้มากขึ้น”

แม้จะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่วินกล่าวว่าตัวเองและเพื่อนหลายคนติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ทั้งยังตามอ่านและศึกษานโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนออย่างตั้งใจ เพราะถึงแม้วันที่ 14 พฤษภาคมนี้จะไม่ได้เดินไปเข้าคูหากาพรรคการเมืองที่ตนเองปรารถนาอย่างที่ใจต้องการ แต่เด็กและเยาวชนไทยทุกคนล้วนมีสิทธิหวังและมีสิทธิฝันถึงภาพอนาคตประเทศไทยที่พวกเขายังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป

“ถ้าเลือกได้ ผมจะเลือกพรรคการเมืองที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและทำให้ประเทศเราพัฒนาตามต่างประเทศได้ทัน เจริญเหมือนต่างประเทศ เพราะจริงๆ แล้วประเทศเรามีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาให้ดีขึ้น ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลักดันเด็ก เยาวชนหรือใครก็ตามที่มีความสามารถไปในจุดที่เหนือกว่าเดิมได้ และสนับสนุนเด็กไทยให้ไปถึงความฝันได้”

วินบรรยายภาพรัฐบาลในฝันของเขาให้ฟังว่า “ผมอยากได้รัฐบาลที่ไม่เป็นเผด็จการ ถ้าให้พูดละเอียดหน่อยคงจะเป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงหลายๆ ฝ่าย ทั้งภาคแรงงาน พนักงานทั่วไป หรือแม้แต่นักเรียน เด็ก เยาวชน ข้าราชการ เขาควรจะฟังทุกฝ่ายและควรจะหาจุดร่วม ไม่ใช่ฟังแค่ฝ่ายเดียว ทำงานให้คนกลุ่มเดียวแล้วทิ้งคนกลุ่มอื่นๆ” 

สำหรับเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาในประเทศที่มีปัญหาแทบทุกด้านเช่นนี้ เพียงแค่ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางความหดหู่สิ้นหวังของสังคมก็ยากลำบากมากเพียงพอแล้ว ทว่าวินและเพื่อนอีกหลายคนกลับเลือกที่จะออกมาร่วมชุมนุมประท้วง ทำกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้แต่ขึ้นปราศรัยบนเวทีเพื่อส่งเสียงแทนเพื่อนร่วมประเทศคนอื่นๆ คำถามสำคัญคืออะไรกันที่ทำให้เขามีพลังล้นเหลือในการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้

“ต้องบอกว่าผมเป็นคนที่อยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเลย ทั้งการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ ถึงเราจะเหนื่อย แต่ถ้าผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มค่าผมก็พร้อมที่จะแลก ถ้าเปลี่ยนประเทศได้จริงๆ ผมพร้อมที่จะทำ” เขาฉายความมั่นใจผ่านแววตา

“รู้สึกไหมว่าบางทีสังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมากเท่าที่ควร” นี่ไม่ใช่คำถามที่ฉันคิดขึ้นมาสำหรับวินเท่านั้น แต่เป็นคำถามที่อยากชวนให้ผู้อ่านทุกท่านขบคิดไปพร้อมๆ กัน

“ผมว่าผู้ใหญ่ละเลยการดูแลเด็กมากเลย ถ้าเด็กเป็นอนาคตของชาติจริง การศึกษาควรจะต้องเปลี่ยนตามที่เด็กเรียกร้องมาหลายทีแล้ว หลายปีแล้วทุกอย่างก็ยังอยู่ที่เดิม กฎหมายอะไรต่างๆ ก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเด็กเป็นอนาคตของชาติจริง ผมว่าเขาควรฟังเสียงของอนาคตของชาติมากกว่านี้”

“ประเทศไทยตอนนี้เป็นการเมืองที่เข้าข้างแค่ฝ่ายเดียวเลยด้วยซ้ำ คนที่มีอำนาจอยู่แล้วก็มีอำนาจขึ้นไปอีก คนที่รวยอยู่แล้ว อย่างพวกนายทุนก็มีอำนาจมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีกำไรมากมาย แต่เด็กที่ยังไม่เคยมีอะไรเลยก็ยังไม่มีเหมือนเดิม”

“เด็กทั่วประเทศก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าทำไมเราต้องมานั่งรับชะตากรรมจากผู้ใหญ่ที่ทำแบบนี้ ทั้งที่มันไม่ใช่ปัญหาของเรา มันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ แต่คนที่ต้องลำบากคือพวกเราที่ต้องตามผู้ใหญ่ในสิ่งที่เราไม่ได้อยากตาม เราก็แค่อยากทำในสิ่งที่เราอยากทำบ้าง” วินกล่าวทิ้งท้าย

แม้ในวันนี้ เอีย อันนา วิน และเยาวชนคนอื่นๆ ในประเทศจะยังไม่มีสิทธิร่วมเลือกรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุด เด็กเหล่านี้ไม่ควรถูกกีดกันออกจากสมการการเมืองไทย และหากเด็กเป็นอนาคตของชาติจริงอย่างที่เราถูกพร่ำสอนกันมาตั้งแต่เด็กจนโต นโยบายต่างๆ ที่ออกมาโดยผู้มีอำนาจและภาครัฐก็ควรจะโอบรับความต้องการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเด็กได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เสียงของเยาวชนไทยดังกึกก้องไปไกลถึงผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม

เพราะไม่มีฝันใดของเยาวชนไทยยิ่งใหญ่ไปกว่าฝันที่จะถูก ‘รับฟัง’


รับชมคลิปวิดีโอ ให้เด็กอายุ 15 ปี ได้เลือกตั้ง? : จะดีกว่าไหมถ้าเด็กไทยได้เลือกอนาคตด้วยตัวเอง ได้ที่นี่


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save