fbpx
เพิ่มสีเขียวให้ผืนดินน่าน ด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่รัฐ

เพิ่มสีเขียวให้ผืนดินน่าน ด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่รัฐ

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

สิบปีที่แล้ว ป้าบัวเขียว ประธิสาร ตัดไม้สักที่ปลูกไว้บนที่ดิน ส.ป.ก. 2 ไร่ 3 งานในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่เธอครอบครองอยู่ ไม้เหล่านั้นมีอายุ 13 ปี แต่เพราะเป็นสวนป่าที่ไม่มีการจัดการทำให้ไม้ไม่ใหญ่เท่าที่ควร อีกทั้งป้าบัวเขียวไม่มีความรู้เรื่องการขายไม้ จึงปล่อยให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อไม้เป็นคนจัดการและกำหนดราคา

ครั้งนั้นป้าบัวเขียว ‘ขายเหมาสวน’ จากต้นสัก 560 ต้นที่ปลูกมา 13 ปีถูกแปรเป็นเงินหนึ่งแสนบาท โดยคนรับซื้อเลือกเอาแต่ต้นใหญ่ๆ สวยๆ ไป

“มีพ่อค้าเข้ามา เราไม่รู้ราคา ไม่มีทางเลือกก็ต้องขาย ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้คุณค่าของมัน ขายแล้วคนอื่นถึงบอกว่าขายถูก”

สิ่งที่ป้าบัวเขียวเจอไม่ต่างจากเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ปลูกไม้เศรษฐกิจบนที่ดินของรัฐอย่าง ส.ป.ก. ที่ต้องหาเอกสารมายืนยันความเป็นเจ้าของ และมักโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาไม้ด้วยการตัดเหมาสวน เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนและขอตัดด้วยตนเอง เพราะมองว่ายุ่งยาก อีกทั้งเกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการจัดการสวนป่าทำให้ไม้ในสวนไม่มีคุณภาพ

ส่วนพื้นที่คทช.นั้นสิ่งสำคัญยังเป็นเรื่องการไม่มีระเบียบการขออนุญาตทำไม้ที่ชัดเจน ชาวบ้านไม่เข้าใจเงื่อนไขของสิทธิในที่ดิน และยังไม่มีวิธีจำแนกว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้น ไม่ใช่ต้นไม้ที่ติดที่ดินมาก่อนได้รับสิทธิครอบครองที่ดิน

บัวเขียว ประธิสาร
บัวเขียว ประธิสาร
อำเภอสันติสุขมีพื้นที่ 244,357 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 37%, ป่าสงวนแห่งชาติสภาพเสื่อมโทรม 23%, พื้นที่ป่าสงวนการผนวกเป็นป่าอนุรักษ์ 13%, พื้นที่ส.ป.ก. 8%, ป่าชุมชน 5%, อื่นๆ 14%
อำเภอสันติสุขมีพื้นที่ 244,357 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 37%, ป่าสงวนแห่งชาติสภาพเสื่อมโทรม 23%, พื้นที่ป่าสงวนการผนวกเป็นป่าอนุรักษ์ 13%, พื้นที่ส.ป.ก. 8%, ป่าชุมชน 5%, อื่นๆ 14%

เพิ่มพื้นที่ป่าด้วยไม้เศรษฐกิจ

ป้าบัวเขียวเข้าร่วมโครงการนำร่องการจัดทำระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้กับ ศูนย์วนศาสตร์เพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) โดยได้ฝึกเก็บข้อมูลต้นไม้ ติดแท็ก คำนวณปริมาตรไม้ และมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิที่ดินและการทำเอกสารยืนยันข้อมูลต้นไม้ที่ตนเองครอบครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนปลูกต้นไม้เพื่อขายจะต้องทราบ

การติดแท็ก เก็บข้อมูลต้นไม้ด้วยตนเองที่ป้าบัวเขียวทำก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมาตรฐานไม้เมืองไทย แต่การปลูกไม้เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหามากในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ที่เกษตรกรรายย่อยครอบครองเป็นที่ดินของรัฐที่มีความยุ่งยากในการหาเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ

แต่การปลูกไม้เศรษฐกิจบนที่ดินรัฐมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเป้าหมายภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องสนับสนุนและทำให้ขั้นตอนสะดวกขึ้น

ตัวอย่างในจังหวัดน่านที่ทางรีคอฟได้พาไปลงพื้นที่ พบข้อมูลว่าน่านมีพื้นที่ป่าไม้ถึง 87.2% แต่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถึง 45% ทางภาครัฐจึงมีแนวทางเพื่อแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมและลดปัญหาบุกรุกป่าด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า การจัดที่ดินทำกินตามนโยบายคทช. โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ครอบคลุมทั่วจังหวัดน่าน

เกษตรกรที่ปลูกไม้สักในจังหวัดน่านส่วนใหญ่ทำในที่ดินของรัฐคือ ที่ดินคทช. และ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แต่ก็พบปัญหาเรื่องข้อกฎหมายและการกดราคาเนื่องจากเกษตรกรไม่มีความเข้าใจ

การปลูกป่าบนที่ดินของรัฐจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะการมีระบบยืนยันความถูกต้องทางกฎหมายที่ชัดเจน รีคอฟจึงทำโครงการนำร่องการจัดทำระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้บนที่ดินรัฐ ในพื้นที่ส.ป.ก.และคทช. รวม 55 แปลง ใน อ.สันติสุข จ.น่าน โดยช่วยกันแนะนำให้เกิดขั้นตอนต่างๆ ประกอบด้วย

– การแสดงข้อมูลการถือครองที่ดิน หรือ ใบเกิด

– การแสดงตำแหน่งต้นไม้ในระบบ GIS

– รายการต้นไม้บนที่ดิน พร้อมขนาดความโต รายแปลง เพื่อประเมินปริมาตรและราคาขาย

– การนำเข้าข้อมูลสู่ระบบฐานข้อมูลชุมชน หรือ การสร้างระบบการควบคุมภายใน

– เตรียมความพร้อมกรณีของส.ป.ก.การขึ้นทะเบียนสวนป่า

ระบบนี้เข้ามาช่วยทำให้การปลูกไม้บนที่ดินรัฐมีความชัดเจนทางกฎหมายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาโดยเฉพาะบนที่ดิน คทช. ที่เพิ่งเกิดขึ้นยังไม่มีระเบียบที่ชัดเจนในการขออนุญาตทำไม้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทางภาครัฐต้องแก้ต่อไป

การติดแท็กเพื่อเก็บข้อมูลต้นไม้
การติดแท็กเพื่อเก็บข้อมูลต้นไม้
ตัวอย่างการทำรายการต้นไม้ในสวนป่าที่ปลูกบนที่ดินคทช.
ตัวอย่างการทำรายการต้นไม้ในสวนป่าที่ปลูกบนที่ดินคทช.

ตั้งต้นมาตรฐานไม้ไทยที่ เฟล็กที

 

โครงการนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานป่าไม้ในพื้นที่ผ่านการจัดทำขอบเขตพิกัดแปลงการจัดทำข้อมูลต้นไม้ด้วยตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงเฟล็กที (Forest Law Enforcement, Governance and Trade – FLEGT) คือแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าไทยจะไม่ส่งไม้ผิดกฎหมายไปสหภาพยุโรป โดยต้องพิสูจน์แหล่งที่มาไม้และกระบวนการทำไม้ทั้งระบบได้

ปานจิต ตันสม สำนักงานเลขานุการ ไทย-อียู เฟล็กที (เท็ปโซ่) อธิบายว่าเฟล็กทีเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาลในการทำไม้ โดยหากไทยจะเจรจากับสหภาพยุโรปต้องแสดงให้เห็นถึงธรรมาภิบาลของประเทศผู้ผลิตไม้ ให้สอดคล้องกับเจตนาของสหภาพยุโรปที่ต้องการต่อสู้กับปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมาย

เฟล็กทีเกิดขึ้นในจังหวะที่รัฐบาลไทยอยากปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ที่ล้าสมัย ประกอบกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมไม้มีการรวมตัวที่เข้มแข็งขึ้นจนสามารถสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้

ช่วงเวลา 5 ปีของกลไกเฟล็กทีทำให้เกิดการปลดล็อกกฎหมายให้เอื้อต่อการทำไม้มากขึ้น เช่นการแก้พ.ร.บ.ป่าไม้มาตรา 7 เพื่อเอื้อต่อการปลูกป่าเศรษฐกิจ ซึ่งต้องตามมาด้วยแนวทางการยืนยันความถูกต้องด้วยตนเองของที่ดินเอกชน

“ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย ทุกที่อยากได้ไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเทรนด์ของโลกที่ต้องสนับสนุนการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย แล้วประเทศที่ต้องการแข่งขันทางการค้าก็ต้องแสดงให้เห็นว่าไม้ของเราถูกกฎหมาย ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับมาได้ ทำให้เขาสามารถเชื่อใจเราได้”

ปานจิตอธิบายว่าเฟล็กทีเป็นจุดเริ่มต้นในการวางมาตรฐานอุตสาหกรรมไม้ ไทยไม่ได้พัฒนาเพื่อการส่งออกไม้ไปยุโรปอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนามาตรฐานประเทศโดยใช้กลไกเฟล็กทีมาสนับสนุนให้มีระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมาย

การพัฒนามาตรฐานไม้มีความจำเป็นมากในปัจจุบันเพราะอินโดนีเซียสามารถพัฒนาไม้ทั้งระบบจนได้ใบอนุญาตเฟล็กทีมาแล้วและสามารถส่งออกไม้ไปได้ทุกประเทศทั่วโลก

“สหภาพยุโรปมีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ถ้าไทยไม่ปรับแก้กฎหมายยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานไม้ แล้วประเทศเพื่อนบ้านนำกลไกเฟล็กทีมาใช้ในการขายไม้ได้สำเร็จ วันนั้นผู้ประกอบการไทยและประเทศไทยจะย่ำแย่ หากไม่มีกลไกการันตีว่าไม้ของเราถูกต้อง” ปานจิตกล่าว

ปัจจุบันไทยอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหภาพยุโรปโดยต้องพยายามแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีแนวทางการจัดเตรียมระบบที่ชัดเจน

ปานจิต ตันสม
ปานจิต ตันสม

w

คาดหวัง ‘ความชัดเจน-โปร่งใส’ ในอุตสาหกรรมไม้

หนึ่งในผู้ที่อยู่ในระบบการซื้อขายไม้คือโรงงานแปรรูปไม้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักรับซื้อไม้จากพ่อค้าคนกลางและคนที่เชื่อถือได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีจากการรับซื้อไม้ผิดกฎหมาย ดังนั้นหากผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจรายย่อยมีเอกสารที่ดินชัดเจนและสามารถขออนุญาตด้วยตนเองได้ จะช่วยแก้ปัญหาการถูกกดราคาทำให้โรงไม้เข้าถึงเกษตรกรรายย่อยได้โดยตรง

อำมาลา พรมสะวะนา ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ใน อ.สันติสุข จ.น่าน เล่าว่าสามีของเธอเปิดโรงไม้มา 16 ปีแล้ว ไม้ทั้งหมดที่นำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เป็นไม้ที่ปลูกในอำเภอสันติสุข โดยใช้ราคากลางของกรมป่าไม้ในการรับซื้อ ผลิตภัณฑ์ของเธอส่วนใหญ่ขายแค่ในจังหวัดน่าน และไม่สามารถรับออเดอร์จำนวนมากได้ เพราะมีคนงานน้อย คนในพื้นที่ไม่มีทักษะการทำไม้เธอจึงต้องจ้างแรงงานจากแพร่มาทำงาน

ปัญหาสำหรับผู้ปลูกสวนป่าในพื้นที่ อำมาลาบอกว่าส่วนใหญ่คือการโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา บางคนปลูกต้นสักมา 20 ปี แต่ขายไม้ได้แค่ 1 แสนบาท แต่พ่อค้าเอาไม้ไปขายได้เป็นล้านบาท หรือบางคนต้องการขายไม้ก็เดินเข้ามาถามเธอที่โรงเลื่อย ทั้งที่เป็นไม้ที่ปลูกบนที่ดินคทช. ไม่ได้ขออนุญาต เธอจึงต้องอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและขอดูโฉนดที่ดิน หากเป็นคนไม่รู้จักเธอก็ไม่กล้ารับซื้อไม้เพราะกลัวผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมาคนในพื้นที่มีความพยายามจะตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ในมุมมองของผู้ประกอบการ เธอมีความกังวลว่าในอนาคตจะมีการปรับกฎหมายแล้วส่งผลกระทบจนไม่มีไม้ใช้ในโรงเลื่อย การทำระบบและระเบียบที่มีมาตรฐานและขั้นตอนไม่ยุ่งยากจึงจะช่วยคนในธุรกิจไม้ได้มาก

อำมาลา พรมสะวะนา
อำมาลา พรมสะวะนา
โรงไม้ของอำมาลาผลิตประตู หน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ส่งขายภายใน จ.น่าน
โรงไม้ของอำมาลาผลิตประตู หน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ส่งขายภายใน จ.น่าน

ด้านผู้ประกอบการระดับส่งออกเองก็มีความพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรม

ปิงซุน หวัง เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าว่าผู้ประกอบการมีการค้าขายกับสหภาพยุโรปมานานแล้ว โดยเฉพาะไม้มูลค่าสูงคือไม้อัดปิดผิวด้วยไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า โดยทางกลุ่มผลิตเพื่อส่งออกถึง 70-80% จึงมีความสนใจเรื่องกฎหมายการค้าระหว่างประเทศและมาเข้าร่วมกับคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปซึ่งประกอบด้วยภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ธุรกิจผมส่วนใหญ่ใช้ไม้ในไทยทำเนื้อไม้ คือ ยูคาลิปตัส ยางพารา ไม้โตเร็ว แต่ไม้ปิดผิวไม้อัดซึ่งใช้ไม้คุณภาพดีต้องนำเข้าจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว หรือกัมพูชา เพราะก่อนพ.ร.บ.ป่าไม้มาตรา 7 จะปลดล็อก เราไม่สามารถตัดไม้ธรรมชาติใหญ่ๆ ได้

“เฟล็กทีทำให้ภาครัฐสนใจจะแก้ไขกฎหมายอย่างจริงจัง จนปลดล็อกมาตรา 7 ได้ เป็นก้าวแรกของการปลดล็อกพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่องค์กรไม้ต่างๆ พยายามแก้ไขมาโดยตลอดเพื่อให้ธุรกิจไม้ดำเนินไปได้ดีขึ้น ที่ผ่านมาทุกคนลงแรงจนจะถอย แต่ไม่กี่ปีมานี้การผลักดันแก้ไขเริ่มประสบความสำเร็จ”

ปิงซุนบอกว่าแม้ตอนนี้ธุรกิจไม้ยังมุ่งตลาดหลักไปที่จีน เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ในอนาคตจะมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้นเช่นที่ตอนนี้เราถูกสกัดกั้นเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งไปอเมริกาแล้ว จึงต้องหาช่องทางใหม่ เช่นอียูที่มีการกำหนดเรื่องใบอนุญาตเฟล็กที ซึ่งตอนนี้อินโดนีเซียทำสำเร็จแล้ว และเวียดนามกำลังทำอยู่ หากไทยได้ใบอนุญาตเฟล็กทีจะทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างเท่าเทียมและบ่งบอกว่าการทำไม้ของไทยมีความชัดเจนถูกต้อง การกีดกันจากประเทศอื่นจะน้อยลง

“ตอนนี้เราทำมา 50-60% แล้ว ไม่เกิน 2 ปีน่าจะได้ใบอนุญาตเฟล็กที ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือต้องให้รัฐปรับปรุงกฎหมายบางอย่างที่ล้าหลังมาก อย่างพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 รัฐควรเข้าใจว่าองค์ประกอบกฎหมายที่เป็นอยู่มีความสลับซับซ้อนมากเกินไป ที่ผ่านมาเอกชนพยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองมากแล้ว เราอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ขอให้รัฐร่วมมือกับเราแล้วกัน” ปิงซุนกล่าว

การสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าและเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการสนับสนุนให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยเฉพาะบนพื้นที่รัฐที่มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือการสร้างมาตรฐานและทำระบบให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยไม่ถูกกีดกันออกจากระบบที่ซับซ้อน และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเพราะความไม่เข้าใจ

ปิงซุน หวัง
ปิงซุน หวัง

โรงไม้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save