fbpx
คอร์รัปชันแบบไทยๆ ไม่เหมือนที่ไหนในโลก?

คอร์รัปชันแบบไทยๆ ไม่เหมือนที่ไหนในโลก?

[et_pb_section transparent_background=”off” allow_player_pause=”off” inner_shadow=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” make_equal=”off” use_custom_gutter=”off” fullwidth=”off” specialty=”off” admin_label=”section” disabled=”off”][et_pb_row make_fullwidth=”off” use_custom_width=”off” width_unit=”off” custom_width_px=”1080px” custom_width_percent=”80%” use_custom_gutter=”off” gutter_width=”3″ allow_player_pause=”off” parallax=”off” parallax_method=”on” make_equal=”off” parallax_1=”off” parallax_method_1=”on” parallax_2=”off” parallax_method_2=”on” parallax_3=”off” parallax_method_3=”on” parallax_4=”off” parallax_method_4=”on” admin_label=”row” disabled=”off”][et_pb_column type=”4_4″ disabled=”off” parallax=”off” parallax_method=”on”][et_pb_text background_layout=”light” text_orientation=”left” admin_label=”Text” use_border_color=”off” border_style=”solid” disabled=”off”]

หลายครั้งเมื่อเกิดข่าวคราวการคอร์รัปชันในภาครัฐ ก็มักจะปรากฎวาทกรรมหนึ่งขึ้นมาเพื่ออธิบายเสมอนั่นคือ ‘นักการเมืองคือสาเหตุของการคอร์รัปชัน’ แน่นอน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรมดังกล่าวมีส่วนถูกด้วย แต่ปรากฏว่า คนจำนวนมากมักจะใช้เหตุผลนี้เพื่ออธิบายการเกิดคอร์รัปชันใน ‘ทุกกรณี’ ราวกับว่าการคอร์รัปชันนั้นเกิดมาจากสาเหตุเดียว – นั่นคือนักกการเมือง

แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าเล่า?

 

พูดอย่างนี้ หลายคนอาจจะเข้าใจว่า นี่จะมาแก้ต่างให้กับนักการเมืองอยู่หรือเปล่า ถ้าจะให้ตอบก็คือ ทั้งใช่และไม่ใช่

จริงๆ แล้วการคอร์รัปชันนั้นไม่ได้เกิดมาจากนักการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น หากยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย คุณอยากรู้ไหม ว่าที่มาที่ไปของมันเป็นอย่างไร และอะไรทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้บ้าง และทำไมมันถึงไม่ถูกขจัดออกไปจากประเทศไทยเสียที

การคอร์รัปชันคืออะไร และส่งผลอย่างไร

ก่อนจะทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าการคอร์รัปชันในไทย เราก็ควรจะต้องรู้ถึงความหมายของคำๆ นี้เสียหน่อย เพื่อจะได้รู้ว่ามันต้องการสื่ออะไรกันแน่ คำๆ นี้เราไปยืมมาจากภาษาอังกฤษ นั่นคือ ‘corruption’ ซึ่งพอแปลออกมาเป็นภาษาไทย ก็มีใช้กันหลายคำ เช่น ‘การทุจริต’ หรือ ‘การฉ้อราษฎร์บังหลวง’ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนก็นิยมเรียกทับศัพท์ว่า ‘การคอร์รัปชัน’ อยู่ดี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคำที่ใช้แทนการคอร์รัปชันในภาษาไทยคงมีความหมายไม่ครอบคลุม

ถ้าจะให้นิยาม ‘การคอร์รัปชัน’ ในทางสากล นับเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะนักวิชาการหลายท่านนิยามเอาไว้หลากหลายจนยากจะหาความหมายหนึ่งเดียวที่เป็นที่ยอมรับได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังพอหาคำนิยามที่เป็นจุดร่วมได้อยู่บ้าง

Transparency International[1] ได้ให้ความหมายของการคอร์รัปชันในแบบกว้างๆ ไว้ว่า คือ การใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะ (ในวงการธุรกิจก็คือ ผู้ถือหุ้น ส่วนในวงการภาครัฐก็คือ ประชาชนผู้เสียภาษี) ในทางมิชอบเพื่อผลปรโยชน์ส่วนบุคคลหรือผู้อื่น

นิยามข้างต้นมีความหมายที่กว้างไกลมาก อย่างไรก็ดี เราก็สามารถจำแนกการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในภาครัฐได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

1. การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (grand corruption) หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้บิดเบือนนโยบายของรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนเองผ่านการใช้ทรัพยากรส่วนรวม

2. การคอร์รัปชันขนาดย่อม (petty corruption) หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับกลางลงไปได้ใช้อำนาจของตนบิดเบือนหรือลดประสิทธิภาพของการบริการสาธารณะในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อหวังผลประโยชน์ในทางส่วนตัวบางประการ

3. การคอร์รัปชันทางการเมือง (political corruption) หมายถึง การที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ (ส่วนมากก็คือนักการเมือง รวมถึงผู้ที่ครองอำนาจรัฐ – ในปัจจุบันของไทยก็คือ ทหารนั่นเอง) ครอบงำและบิดเบือนให้นโยบาย องค์กรต่างๆ รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์อื่นๆ เป็นไปในทิศทางที่เอื้อให้เกิดการถ่ายเททรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าส่วนรวม

 

ถึงแม้ว่าตามความหมายนี้ เราจะเน้นการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในภาครัฐเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงการคอร์รัปชันภาครัฐมีความซับซ้อนและก็สัมพันธ์กับภาคธุรกิจอย่างแยกไม่ออกอีกด้วยนะครับ เป็นต้นว่า ในกระบวนการสร้างถนนหลวง (ในปัจจุบัน ภาครัฐจะไม่ทำถนนเองแล้ว แต่จะให้คนอื่นที่เชี่ยวชาญกว่ามาทำ ซึ่งนั่นก็คือภาคเอกชนนั่นเอง) โดยปกติภาครัฐจะเปิดให้บริษัทรับเหมาเข้ามาประกวดราคา เพื่อให้ภาครัฐได้เลือกบริษัทรับเหมาที่เหมาะสมที่สุด (นั่นคือ ทำงานดีในราคาที่ถูก) แต่ทั้งนี้ ในความเป็นจริงภาครัฐอาจไม่ได้บริษัทรับเหมาที่ดีที่สุดก็ได้ เพราะว่า คนจากบริษัทอาจมาติดสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเอาไว้ (ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงิน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะตอบแทนในอนาคต) จนทำให้ผลจากการประกวดราคาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ บริษัทที่ติดสินบนซึ่งอาจจะทำงานได้ไม่ดีก็ได้รับงานไปทำ

ปัจจุบันยังมีใครหลายคนถามว่า ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญในการขจัดการคอร์รัปชันด้วย เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากเราไม่ป้องกันและขจัดมันออกไป มันก็จะเป็นภัยต่อสังคมจนยากที่จะแก้ไขได้นั่นเอง (ตอบแบบกำปั้นทุบดินมากๆ) จากกรณีตัวอย่างที่ยกไปข้างบน ซึ่งเปรียบเทียบได้กับ ‘grand corruption’ หากภาครัฐปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันในกระบวนการประกวดราคา จนทำให้ผู้รับเหมาที่ติดสินบนได้งานไปทำ ผลเสียอย่างน้อยที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ

1) เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บริษัทรับเหมาอื่นๆ ต่อไปบริษัทดีๆ ที่เหมาะสมก็จะไม่กล้ามาร่วมประกวดราคาเพื่อทำงานกับรัฐอีก

2 ) เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินภาษีที่ใช้ในโครงการ เพราะภาครัฐไม่ได้ใช้บริษัทที่ชำนาญในการก่อสร้างถนนที่มากพอ และอาจต้องเสียเงินจำนวนมาก ทั้งที่หากประกวดราคาอย่างเป็นธรรมภาครัฐก็อาจได้บริษัทที่ชำนาญกว่าและใช้เงินในการก่อสร้างได้ต่ำกว่านี้

และ 3) เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม เนื่องจากถนนที่ถูกสร้างมาอาจไม่ได้มีคุณภาพ พอใช้งานไปได้สักพัก ก็อาจมีปัญหา เป็นหลุมเป็นบ่อ ส่งผลให้ผู้ใช้งานถนนประสบอุบัติเหตุได้ง่ายอีก สุดท้ายภาครัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาซ่อมถนนอีกเป็นระยะ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง

ในปี 2010 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นที่ เฮติ ซึ่งสามารถวัดแรงสั่นเสทือนได้ถึง 7.0 ริกเตอร์ เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่ 14 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2000 สร้างความเสียหายมากมายมหาศาลอย่างยิ่ง มีการประเมินกันว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นสามารถทำให้อาคารถล่มและฆ่าคนไปได้ถึง 300,000 คนในคราวเดียว ขณะที่แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่าอีก 13 ครั้ง สามารถฆ่าคนรวมกันได้เพียง 165,000 คนเท่านั้น นักวิชาการหลายคนจึงได้ประเมินกันว่าที่แผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถสร้างความเสียหายได้มากขนาดนี้ เพราะเกิดมาจาก ‘การคอร์รัปชัน’ โดยการคอร์รัปชันในรูปแบบ ‘petty corruption’

หลายคนได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่า อาคารที่ถล่มส่วนใหญ่นั้นมักจะขาดคุณสมบัติของอาคารที่ควรจะได้รับการอนุญาตให้สร้าง เช่น โครงสร้างภายในของอาคารที่ไม่เป็นไปตามแบบแปลนที่รัฐกำหนด วัสดุทีใช้ในการสร้างอาคารที่ไม่ได้รับมาตรฐาน หรือระยะห่างของอาคารแต่ละแห่งที่อยู่กันใกล้เกินไป เป็นต้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอาคารจึงถล่มได้ง่าย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในขั้นตอนการอนุญาตสร้างอาคาร (building regulation) คงเกิดการคอร์รัปชันขึ้น นั่นคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางลงไปที่มีอำนาจในการอนุญาตสร้างอาคารทุกวัน คงได้รับการติดสินบนจากคนที่จะมาขออนุญาตสร้างอาคาร เพื่อให้หลับหูหลับตาเซ็นใบอนุญาตแบบเร็วๆ โดยไม่ต้องเคร่งกับสเป็กอาคารมาก ทำให้อาคารส่วนใหญ่ที่สร้างออกมาไม่ค่อยได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น และเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทุกอย่างจึงเป็นดังที่เห็น

เห็นไหมครับว่า อานุภาพของการคอร์รัปชันสามารถทำให้เกิดค่าเสียโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากมายขนาดไหน และที่สำคัญ ถึงแม้ว่าการคอร์รัปชันจะเกิดในภาครัฐ แต่ผลเสียของมันก็กระทบไปสู่ภาคธุรกิจ ประชาชนตาดำๆ และสังคมโดยรวมได้อย่างรวดเร็ว

วัฒนธรรมการคอร์รัปชันของไทย

จากส่วนที่แล้วเราได้เห็นแล้วว่าการคอร์รัปชันนั้นคืออะไร และที่สำคัญมันได้ส่งผลเสียอย่างไรบ้างแบบคร่าวๆ มาในส่วนนี้ครับ เราจะมาเจาะถึงความเป็นมาของการคอร์รัปชันในไทย

นักวิชาการทั้งไทยและเทศหลายท่านได้พยายามหาคำตอบว่ารากเหง้าของการคอร์รัปชันในไทยนั้นเกิดสืบสานราวเรื่องมาจากอะไรกันแน่ ทั้งนี้ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ให้คำอธิบายไว้ในหนังสือ Corruption and Democracy in Thailand ว่าการคอร์รัปชันในไทยน่าจะเกิดมาจากวัฒนธรรมโบราณของไทย ได้แก่ ธรรมเนียมการเก็บส่วย และระบบอุปถัมภ์

นักวิชาการทั้งสองอธิบายว่า ในยุคก่อนที่ข้าราชการไทยจะได้รับเงินเดือนอย่างเป็นระบบเหมือนฝรั่ง ไทยจะมีธรรมเนียมที่ว่าข้าราชการจะหักเงินราวๆ 10 – 30% ของค่าธรรมเนียมในการบริการที่ได้จากประชาชนเข้ากระเป๋าตัวเอง ตัวอย่างเช่น ในหัวเมืองต่างๆ จะมีผู้ปกครองซึ่งเป็นคนจากส่วนกลาง ข้าราชการเหล่านี้จะทำการหักค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือส่วยต่างๆ ที่ได้จากประชาชนเข้ากระเป๋าตัวเองส่วนหนึ่ง วิถีปฏิบัติเช่นนี้เป็นที่รับรู้กันในหมู่ชนชั้นนำ และส่วนกลางก็อนุญาตให้ผู้ปกครองเมืองเหล่านี้ทำได้ ขอเพียงแค่เมื่อหักค่าอะไรเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งมาให้ส่วนกลางด้วย ระบบที่ผู้ปกครองหักเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเช่นนี้ เราเรียกกันว่า ‘กินเมือง’

ปัจจุบันถึงแม้จะไม่มีระบบกินเมืองหลงเหลืออยู่แล้ว แต่ธรรมเนียมการหักค่านู่นค่านี่ของข้าราชการก็ยังคงมีอยู่ โดยเราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ‘ค่าส่วย’ นั่นเอง

นอกจากนี้ ผาสุกและสังศิต ยังได้อธิบายอีกว่า ระบบค่านิยมของคนไทยก็มีผลต่อการเกิดคอร์รัปชันเช่นกัน โดยเฉพาะค่านิยมเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์

ในสมัยก่อนระบบอุปถัมภ์ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการจัดองค์กรทางสังคมของไทยอย่างเป็นระบบ ภายใต้ระบบนี้ จะเกิดการพึ่งพาระหว่างชนชั้นที่สูงมาก นั่นคือ ผู้ให้การอุปถัมภ์ (มักจะเป็นคนที่มีอำนาจและมักอยู่ข้างบนของระดับชั้นทางสังคม) จะให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อนที่มาขอการอุปถัมภ์ (ซึ่งก็คือชาวบ้านตาสีตาสา) ในแง่เงินทอง หรือเรื่องอื่นๆ ที่ผู้มาขอไม่สามารถทำเองได้ และเมื่อให้การช่วยเหลือเสร็จแล้ว ผู้ได้รับการอุปถัมภ์ก็จะต้องทำงานในรูปแบบต่างๆ ตามแต่ผู้ให้การอุปถัมภ์ต้องการเพื่อเป็นการตอบแทน

ความนิยมเช่นนี้ได้ฝังเข้าไปอยู่ในระบบวิธีคิดของคนไทย กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะรีบไปหาผู้มีอำนาจมากกว่าให้ช่วยจัดการให้ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีอะไรบางอย่างมาแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หากประชาชนอยากได้บริการที่ดีและพิเศษจากข้าราชการ ก็ต้องมี ‘ของขวัญ’ (ในรูปแบบต่างๆ) ไปให้ข้าราชการด้วย ภายหลังมักเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ค่าน้ำชา’ นั่นเอง (จนกลายเป็นที่รับรู้กันว่า หากไม่เสียค่าน้ำชา บริการภาครัฐที่ได้รับก็จะห่วยมากๆ)

แต่เดิมในสังคมไทย การกระทำตามธรรมเนียมและค่านิยมเหล่านี้

ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร

และหลายคนก็ยังคงปฏิบัติตามทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวมาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ติดต่อคบหาสมาคมกับต่างชาติมากขึ้น และต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับจากโลกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ถูกมองว่าเป็นการคอร์รัปชันและเป็นปัญหาในที่สุด (ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสามารถสร้างความเสียหายได้มากมาย ดังที่ยกตัวอย่างไปแล้วนั่นเอง)

ปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน

ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมจะมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างกว้างขางในไทย แต่ใช่ว่านี่จะเป็นเพียงสาเหตุเดียวเท่านั้น จริงๆ แล้ว พฤติกรรมการคอร์รัปชันมีที่มาจากหลายปัจจัย ทั้งนี้ Matias Warsta ได้ให้ความเห็นไว้ในรายงานวิจัย Corruption in Thailand (2004) ไว้ว่านอกจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมแล้ว น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลอีก ผู้เขียนจึงได้ลองเสนอปัจจัยที่เป็นไปได้ 9 ปัจจัย ได้แก่ เงินเดือนข้าราชการที่ต่ำ การขาดการศึกษาของประชาชน ช่องว่างทางรายได้ระหว่างชนชั้นต่างๆ การขาดความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การไร้ซึ่งประชาธิปไตย ความไม่มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น ระบบข้าราชการที่เทอะทะ และอำนาจแบบรวมศูนย์

เงินเดือนข้าราชการที่ต่ำ หากข้าราชการได้รับเงินเดือนที่น้อย จนไม่สามารถใช้ในการจุนเจือชีวิตของตนให้น่าพอใจได้ พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะรับสินบนได้ง่าย เมื่อมีใครก็ตามยื่นข้อเสนอมา เพราะว่าการรับสินบนจะทำให้ข้าราชการได้รับเงินจำนวนมากในคราวเดียวนั่นเอง หลายครั้งการรับเงินสินบนเพียงครั้งเดียวอาจจะมากกว่าเงินเดือนข้าราชการทั้งปีเสียอีก

การขาดการศึกษาของประชาชน หมายความว่าหากประชาชนได้รับการศึกษาที่น้อย ก็อาจไม่ทราบว่าข้าราชการนั้นกำลังทำถูกหรือทำผิดอยู่ หลายครั้งการไม่รู้อาจทำให้ประชาชนผู้ไม่รู้เข้าไปสู่ในวงจรการคอร์รัปชันโดยไม่รู้ตัว

ช่องว่างทางรายได้ระหว่างชนชั้นต่างๆ ความแตกต่างทางการเงินของชนชั้นทางสังคมต่างๆ สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ เป็นต้นว่า ในทางอ้อมสามารถทำให้เกิดความไม่เสถียรภาพทางการเมืองได้ หรือทำให้เกิดปรากฎการณ์การซื้อสิทธิขายเสียงได้ง่าย (หลังๆ มีงานวิจัยออกมาหักล้างเหตุผลนี้มากเรื่อยๆ)

การขาดความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะถ้าหากประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในแง่การตัดสินใจ การบริหาร หรือการทำตามนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจก็สามารภทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะถึงอย่างไรประชาชนผู้จ่ายภาษีก็ไม่รู้อยู่แล้ว

ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หลายครั้งที่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ เช่น การรัฐประหาร หรือการปฏิวัติ เป็นต้น และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ผู้มีอำนาจรัฐซึ่งส่วนมากมักจะเป็นทหารมักประกาศสภาวะยกเว้นขึ้น ซึ่งทำให้กฎระเบียบบางอย่างถูกงดใช้นั้นตอนนี้ เรื่องราวต่างๆ ในทางการเมืองมักจะถูกปิดมิให้คนทั่วไปรู้  

การไร้ซึ่งประชาธิปไตย มีแนวโน้มว่าผู้ปกครองที่ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตยมักจะยอมรับการติดสินบนได้ง่าย เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเสียงของประชาชนหรือกฎหมาย  

การขาดเสรีภาพในการแสดงออก พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ หากสื่อไม่สามารภจะเผยแพร่ข่าวสารอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและรัฐได้เลย เราก็ไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่ารัฐบาลนั้นใช้เงินของเราไปเพื่ออะไรบ้าง หรือไม่รู้ว่าโครงการต่างๆ นั้นเดินไปในทิศทางไหน หรือมีการติดสินบนล็อกสเป็กไว้บ้างหรือไม่ ในทางกลับกันเมื่อประชาชนไม่ล่วงรู้อะไรเลย รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องแคร์ประชาชน (ก็เพราะไม่รู้) จึงทำให้มีการคอร์รัปชันได้ง่าย

ระบบราชการที่เทอะทะ นั่นหมายถึงว่าการทำโครงการหรือนโยบายต่างๆ จะเกิดความล่าช้า (ส่วนหนึ่งเพราะมันใหญ่ และต้องติดต่อประสานงานกันนานขึ้น) และความล่าช้านี้นำมาสู่การคอร์รัปชันได้ง่าย เพราะเมื่อโครงการหรือนโยบายต่างเริ่มล่าช้า มันก็ต้องมีการติดสินบนเพื่อทำให้การทำงานเร็วขึ้นนั่นเอง

และ อำนาจแบบรวมศูนย์ เปรียบเทียบง่ายๆ คือ หากเราเอาอำนาจทั้งหมดไว้ให้กับคนๆ เดียวจัดการบ้านเมือง เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าการทำงานต่างๆ ของเขาจะโปร่งใสปราศจากการคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าขาดอำนาจอื่นๆ ในการตรวสอบการทำงานของคนๆ นี้ได้นั่นเอง

พูดแบบสรุปในส่วนนี้ นอกจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมแล้ว ปัจจัยด้านระบบ และปัจจัยเชิงสถาบันก็มีผลต่อการเกิดการคอร์รัปชันในไทยอีกด้วย

ดังนั้นการถอนรากถอนโคนการคอร์รัปชันในไทยจึงต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านด้วยนะครับ

การขจัดรากเหง้าการคอร์รัปชันแบบไทยๆ

ประเทศไทยเริ่มขจัดปัญหาการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ภายหลังการสิ้นสุดของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี พ.ศ.2535 โดยในปี 2540 ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชาชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับการขจัดการคอร์รัปชันอย่างมาก โดยได้จัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อมาตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ให้โปร่งใสไร้การคอร์รัปชัน เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้เพิ่มบทบาทแก่ NGOs และภาคประชาสังคมให้สามารถเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญปี 40 ได้ถูกประกาศใช้ ประเทศไทยก็ได้พยายามสร้างเครื่องมืออื่นๆ เพื่อมาต่อกรกับการคอร์รัปชันมากขึ้นตามลำดับ เป็นต้นว่ามีการนำแนวคิดธรรมาภิบาลเข้าใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการจัดทำโครงการรณรงค์ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อเน้นความสำคัญของการกำจัดการคอร์รัปชัน อย่างไรก็ดี ก็อย่างที่เรารู้ๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ในยุคนักการเมืองครองเมือง หรือทหารครองชาติ ข่าวคราวการคอร์รัปชันก็ยังไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทย

ในปี 2016 Transparency International ได้จัดอันดับการคอร์รัปชันของประเทศทั่วโลก ประเทศไทยของเราอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก (ยิ่งอันดับมากก็แสดงว่าคอร์รัปชันมาก ส่วนอันดับน้อยแสดงว่าคอร์รัปชันน้อย) ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ –เพื่อนบ้านเรา- อยู่อันดับที่ 55 และ 7 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีระดับการคอร์รัปชันที่รุนแรง

ถึงแม้ว่านักวิชาการหลายคนต่างงึนงงว่า ทำไมทั้งที่ประเทศไทยพยายามขจัดการคอร์รัปชันมายาวนานถึง 20 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถลดการคอร์รัปชันให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ แต่ก็ยังพอมีคำอธิบายอยู่บ้างว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ทั้งนี้หากเปรียบเทียบว่าความพยายามในการขจัดคอร์รัปชันคือนโยบายสาธารณะของประเทศ ตอนนี้สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในนโยบายนี้ก็คือ การกำหนดหรือนิยามปัญหาของนโยบายนั่นเอง (problem identification) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งภาครัฐและประชาชนโดยทั่วไปกำลังนิยามปัญหาของนโยบายผิดจุดหรือยังไม่ครอบคลุมพอนั่นเอง และนำไปสู่การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันแบบไทยๆ นั่นเอง

การแก้ปัญหาการคอร์รัปชันแบบไทยๆ คืออะไร ถ้าตอบแบบง่ายๆ ก็คือ มันคือแนวทางการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันแบบแคบๆ ผิวเผิน ผิดทิศผิดทาง

อันเป็นผลมาจากการระบุถึงที่มาของการคอร์รัปชันที่ไม่รอบด้าน เป็นต้นว่า การทำโครงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มักนำข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงประชาชน (เยาวชนก็ไม่เว้น) เข้ามาอบรมในเรื่องคุณธรรมความดี อย่างเช่น “โครงการโตไปไม่โกง” โดยโครงการดังกล่าวจะเน้นการปลูกฝังว่า การคอร์รัปชันนั้นเกิดขึ้นมาจากความไม่ดีที่อยู่ในตัวเรา ดังนั้นเพื่อขจัดความไม่ดีนั้น เราจึงต้องมาอบรมเป็นคนดี ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงปัญหาการคอร์รัปชันนั้นเกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอื่นๆ อีกด้วย

หรือแม้กระทั่งการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของคนดังต่างๆ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พวกเขามักให้ความเห็นในทำนองที่ว่า สาเหตุหลักของการคอร์รัปชันคือ นักการเมืองที่โกงกินบ้านเมือง ดังนั้นสังคมไทยไม่ควรให้กลุ่มคนพวกนี้มีอำนาจจนมากเกินไป มองในจุดนี้ เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองที่โกงกินก็มีส่วนในการเกิดคอร์รัปชันด้วยเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษนักการเมืองอยู่ฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่การระบุปัญหาที่ถูกจุด ซ้ำร้ายกว่านั้น มันยังเป็นการเบี่ยงประเด็นไม่ให้ประชาชนได้เห็นถึงตัวละครอื่นๆ ที่สามารถคอร์รัปชันได้ด้วย และถ้าพูดกันให้ถึงแก่นแล้ว คนที่สามารถคอร์รัปชันได้ ก็คือ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจหรือ decision maker นั่นเอง ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ดังนั้นทุกคนจึงสามารถคอร์รัปชันได้หมด ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงนักการเมืองเท่านั้น

เห็นได้ว่า ดูโดยผิวเผินการแก้ไขปัญหารการคอร์รัปชันแบบไทยๆ ของเราจะดูอบอวนไปด้วยศีลธรรมคำสอนมากมาย ซึ่งน่าจะใช้งานได้ผล แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 

พูดโดยสรุป รากเหง้าของปัญหาการคอร์รัปชันในไทย มันไม่ใช่นักการเมือง ข้าราชการ หรือระบบกลไกการตรวจสอบอะไรนั่นหรอก แต่มันคือ ‘แนวทางการแก้ปัญหาปัญหาการคอร์รัปชันแบบไทยๆ’ ต่างหากที่ทำให้เรามัวแต่แก้ปัญหาผิดจุดอยู่ร่ำไป

และความท้าทายก็คือ ไอ้แนวทางนี้มันดันเป็นทัศนคติที่ยังฝังอยู่ในหัวของพวกเราส่วนใหญ่เสียด้วย

 

หมายเหตุ

[1] Transparency International เป็น NGO ระหว่างประเทศที่ทำงานต่อต้านการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ

 

เอกสารอ้างอิง

งานวิจัยเรื่อง Corruption in Thailand ของ Matias Warsta จาก เว็บไซต์ aceproject

บทความเรื่อง A (Very) Brief History of Corruption ของ  Bernard Wasow จาก เว็บไซต์ The Globalist

รายงานเรื่อง Corruption Perceptions Index 2016  Transparency International จาก เว็บไซต์ Transparency International

หนังสือ Corruption and Democracy in Thailand ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ สังศิต พิริยะรังสรรค์

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save