fbpx
ชวนอ่านแนววิเคราะห์รัฐและทุนนิยมไทยในงานของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ชวนอ่านแนววิเคราะห์รัฐและทุนนิยมไทยในงานของ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

1

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์หนังสือ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต มุมมอง ความคิด ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วในวาระอายุวัฒนมงคลครบ 6 รอบของอาจารย์ ส่วนใหญ่ของหนังสือเป็นบทสัมภาษณ์อาจารย์ไกรศักดิ์โดยคุณกุลธิดา สามะพุทธิ ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้คนอ่านได้รู้จัก “ชีวิต มุมมอง ความคิด” ของอาจารย์ไกรศักดิ์ดีขึ้น แต่สำหรับคนที่สนใจการทำงานของสายสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงสภาวะทางความคิดและความแตกต่างของประเด็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญในแต่ละทศวรรษจากทศวรรษ 1960  เรื่อยมาจนถึงขึ้นศตวรรษใหม่ ก็ยังอาจเก็บข้อสังเกตที่น่าสนใจได้อีกมากจากบทสัมภาษณ์อาจารย์ ที่เรียบเรียงตามช่วงชีวิตในแต่ละระยะ และตามบทบาทของอาจารย์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลานั้น

นอกจากบทสัมภาษณ์แล้ว ส่วนหลังของหนังสือยังประกอบด้วยข้อเขียนถึงอาจารย์ไกรศักดิ์จากเพื่อนผองน้องพี่  ข้อเขียนในส่วนนี้ แม้ผู้จัดทำหนังสือจะบอกว่าเป็น “เกร็ดชีวิตจากบันทึกและคำบอกเล่า” ของคนที่คุ้นเคยกับอาจารย์ แต่ผมเห็นว่าหลายตอนก็ฉายให้เห็นด้านที่เป็นมโนธรรมสำนึกและความรู้สึกของอาจารย์เองด้วย  นานมาแล้ว หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดก็คือเดือนพฤศจิกายน 2513 ในวงเสวนาเรื่องปัญญาชนไทย อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้นำการเสวนาคราวนั้น ตั้งข้อสังเกตอย่างควรนำมาบันทึกซ้ำในที่นี้ ว่า “ปัญญาชนไม่ได้ใช้เหตุผลแต่อย่างเดียว แต่ว่าใช้ความรู้สึกด้วย ความรู้สึกนี้คือสิ่งที่เชื่อมปัญญาชนกับมวลชน” ผมคิดว่าอาจารย์ไกรศักดิ์ ในฐานะปัญญาชน มีความรู้สึกในแบบที่อาจารย์ฉัตรทิพย์กล่าวถึง

ในชุมนุมข้อเขียนส่วนหลังของหนังสือ  บทความของอาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ เรื่อง “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ปัญญาชนสยาม” เล่าถึงอาจารย์ไกรศักดิ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อตัวขึ้นมาของกลุ่มปัญญาชน “เศรษฐศาสตร์การเมือง” และการเคลื่อนไหวทางวิชาการของกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเวลาที่วารสาร “ธงนำ” ของกลุ่มต้องปิดตัว นอกจากนั้น อาจารย์ยังได้ทบทวนผลงานวิชาการของอาจารย์ไกรศักดิ์ในช่วงที่อาจารย์ไกรศักดิ์รับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในผลงานวิชาการของอาจารย์ที่อาจารย์กนกศักดิ์ได้รวบรวมมาไว้ในบทความ  เรื่องที่ผมอยากนำมาเขียนถึงเป็นพิเศษคือ Kraisak Choonhavan, “The Growth of Domestic Capital and Thai Industrialization,”  Journal of Contemporary Asia 14:2 (1984), 135-146.

ถึงตรงนี้ผมขออนุญาตเล่าความหลังแทรกลงนิดหน่อยว่า นิสิตที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สมัยครึ่งหลังทศวรรษ 2520 ก็ได้รับอานิสงส์ และผมคิดว่าหลายคนในจำนวนนั้นก็ได้รับอิทธิพลทางวิธีคิดและแนววิเคราะห์จากนักวิชาการปัญญาชนกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย สมัยนั้นหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดรายวิชาบังคับวิชาหนึ่งคือ ประเด็นปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ  แต่คนเป็นเจ้าของรายวิชานี้ตัวจริงคือคณะเศรษฐศาสตร์  ในปีที่ผมลงเรียน คณะเศรษฐศาสตร์พิจารณานิสิตรัฐศาสตร์แล้วเกิดเห็นขลังขึ้นมาอย่างไร ผมก็ไม่แน่ใจ จึงส่งสุดยอดอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองถึง 3 คนมาช่วยสอนวิชานี้ โดยแบ่งสอนกันคนละส่วน ปีนั้นพวกเราเลยได้เรียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์  แน่นอนว่าอาจารย์สอนมาร์กซิสต์เป็นหลัก  ได้เรียนพัฒนาการทุนนิยมโลก ทุนนิยมไทยกับอาจารย์สุธี ประศาสน์เศรษฐ  และได้เรียนแนวทางและปัญหาในการพัฒนาของประเทศโลกที่สามกับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สมุดจดคำบรรยายเก่าแก่จากวิชานี้บันทึกว่าผมมีโอกาสอ่านบทความของอาจารย์ไกรศักดิ์เกี่ยวกับการสะสมทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยข้างต้นในทีแรกก็ตอนที่เรียนกับอาจารย์ทั้ง 3 นี่เอง แต่ได้อ่านในพากย์ไทย จะเป็นอาจารย์ไกรศักดิ์ถ่ายทอดจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเอง หรือใครจะเป็นคนแปลเรียบเรียงบทความนี้ให้อาจารย์ ผมก็ไม่อาจรู้ได้ บทความในพากย์ไทยดังกล่าวให้ชื่อว่า “การสะสมทุนและรัฐในประเทศไทยปัจจุบัน” ลงพิมพ์อยู่ใน วิพากษ์ทรรัฐ หนังสือรวมบทความ และบทกวี ที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์ตามวาระในเดือนตุลาคม 2528  นับถึงตอนนี้อายุของบทความก็ร่วมๆ 35 ปีแล้ว ควรกล่าวด้วยว่า ถึงจะได้อ่านบทความวิชาการของอาจารย์ในพากย์ไทย แต่จะให้บอกว่าผมอ่านด้วยความสนใจและด้วยความเข้าใจดีโดยตลอดตั้งแต่ตอนนั้น ก็ผิดศีลข้อมุสาแน่

อย่างไรก็ดี เมื่อผมได้ย้อนกลับมาอ่านอีก จึงเห็นคล้ายที่อาจารย์กนกศักดิ์กล่าวไว้ในข้อเขียนของท่านว่า งานวิชาการของอาจารย์ไกรศักดิ์บางส่วน ซึ่งผมเห็นว่ารวมบทความนี้ด้วย อาจจัดต่อแถวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายที่นับว่าเป็นบทใหญ่ทางวิชาการเรื่องหนึ่งของไทยศึกษาได้ นั่นคือ การอภิปรายเกี่ยวกับรูปการณ์ของสังคมไทยในการเปลี่ยนจากศักดินาเข้าสู่ทุนนิยมว่าเป็นแบบไหน หรือมีพัฒนาการไปในทางไหน

การอภิปรายเรื่องนี้ที่ตั้งต้นด้วยข้อเสนอว่าสังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้น – กึ่งศักดินามีต่อเนื่องมาหลายรุ่นหลายคราว คลุมเวลาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 มาจนถึงทศวรรษ 2520  งานรุ่นหลังในกลางทศวรรษ 2520 ที่ก่อบทอภิปรายโต้แย้งขึ้นมาอย่างโดดเด่นดังที่ทราบกันดี ได้แก่บทความของ ทรงชัย ณ ยะลา เรื่อง “ปัญหาการศึกษาวิถีการผลิตของไทยอันเนื่องมาจากทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น – กึ่งศักดินา”  ในวารสาร เศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มีนาคม – เมษายน 2524  ที่มีข้อเสนอสำคัญว่า วิถีการผลิตของไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ลักษณะที่เป็นทุนนิยมแล้ว แม้ในทางอุดมการณ์จะยังมีลักษณะที่เป็นศักดินาอยู่มากก็ตาม งานของอาจารย์ไกรศักดิ์เป็นส่วนที่มาต่อการวิเคราะห์ให้เห็นถึงลักษณะการสะสมทุนในกระบวนการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมของไทยที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  อาจารย์ออกตัวไว้ด้วยว่างานวิเคราะห์ของอาจารย์อยู่ในขั้นที่เป็น “ก้าวแรก” เท่านั้น

ผมเห็นว่าในบทวิเคราะห์ขนาดกะทัดรัดไม่สั้นไม่ยาวนักบทนี้ รวมทั้งบทความของอาจารย์ไกรศักดิ์อีกเรื่องหนึ่งใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 5: 3-4 (เมษายน – กันยายน 2529), 89 – 103. คือ “ทุน ชนชั้น และการเมืองไทยปัจจุบัน” อาจารย์ไกรศักดิ์ได้เสนออะไรให้เราเข้าใจอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับพัฒนาการทุนนิยมและกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ  ถ้าจะขอยืมคำจากอาจารย์กนกศักดิ์ อาจกล่าวได้ว่างานของอาจารย์ไกรศักดิ์นอกจากจะเป็นผลผลิตหนึ่งที่สำคัญของ “ปฏิบัติการทางปัญญา” อันคึกคักที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520 แล้ว  ผมยังเห็นว่าภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยที่อาจารย์ไกรศักดิ์เสนอไว้จากแนววิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสต์นั้นให้ข้อเสนอที่น่าถกเถียงอภิปรายต่อ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเห็นแล้วว่า จาก “ก้าวแรก” ที่อาจารย์เสนอไว้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เศรษฐกิจการเมืองไทยและอำนาจรัฐพลิกผันปั่นป่วนต่อจากนั้นมาอีกอย่างไรจนถึงปัจจุบัน เราเรียนรู้ผ่านข้อเสนอจากทศวรรษ 2520 ของอาจารย์ไกรศักดิ์ได้มาก ทั้งส่วนที่อาจารย์วิเคราะห์ไว้ถูก และส่วนที่ไม่เป็นไปตามที่อาจารย์วิเคราะห์ไว้

แต่การจะเปิดประเด็นกับข้อเสนอของอาจารย์เกี่ยวกับรัฐ ทุน และชนชั้นบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเป็นทุนนิยม เป็นเรื่องใหญ่เกินขนาดที่บทความนี้จะทำได้ ผมจึงขอเขียนถึงลักษณะบางประการในแนววิเคราะห์ที่อาจารย์ไกรศักดิ์ใช้ศึกษาสังคมไทยในส่วนที่ผมเห็นว่าน่าสังเกต โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ทำงานวิจัยที่จะกลับมาตั้งคำถามและมองหาวิธีตอบคำถามจากข้อเสนอของอาจารย์ไกรศักดิ์เกี่ยวกับรูปการณ์ของเศรษฐกิจการเมืองไทยอย่างจับมั่นคั้นหมายต่อไปในภายหน้า

 

2

 

แนววิเคราะห์ที่ผมอ่านเก็บเป็นข้อสังเกตมาได้จากบทความเรื่อง “การสะสมทุนและรัฐในประเทศไทยปัจจุบัน” (2528)  และ “ทุน ชนชั้น และการเมืองไทยปัจจุบัน” (2529) ของอาจารย์ไกรศักดิ์ มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ผมขอนำบางส่วนมาเสนอ โดยหวังว่าอาจช่วยจุดความสนใจแนววิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองสายหนึ่งให้แก่ผู้เริ่มเรียนได้บ้าง ดังนี้ครับ

หนึ่ง  งานของอาจารย์ไกรศักดิ์เป็นการเสนอข้อโต้แย้งกับแนววิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองไทยสายหนึ่งที่โดดเด่นอยู่ในช่วงทศวรรษ 1970 ได้แก่แนววิเคราะห์ที่ได้รับอิทธิพลจากสำนัก dependency แนววิเคราะห์ดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ศึกษาสังคมไทยในการโต้แย้งกับสำนัก modernization  จะชี้ให้เห็นถึงลักษณะทันสมัยแต่ไม่พัฒนา อันเกิดจากเศรษฐกิจการเมืองไทยในระบบทุนนิยมโลกตกอยู่ในสภาวะการพึ่งพาและถูกครอบงำโดยอำนาจกำหนดผลจากภายนอก ทั้งในแง่ ทุน เทคโนโลยี ตลาด การวางกฎและนโยบาย การสร้างกลไกเชิงสถาบัน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ

งานของอาจารย์ไกรศักดิ์ (2528) เสนอเปลี่ยนทางการวิเคราะห์ที่ให้ความสนใจแก่พลังกำหนดผลจากภายนอกในเศรษฐกิจการเมืองไทย มาเป็นการศึกษาพลวัตภายในว่าพัฒนาการของระบบทุนนิยมในสังคมไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งผลต่อ “การเพิ่มพลังการผลิต และเสริมประสิทธิภาพของชนชั้นนายทุน/กระฎุมพีในสังคมไทยในการขูดรีดแรงงาน … ขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากชนบท … ตลอดจนสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อำนาจของชนชั้นตนเองอย่างไร”

สอง จากการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ตั้งต้นในการศึกษาเศรษฐกิจการเมืองไทยมาเป็นพลวัตภายใน  แนววิเคราะห์ของอาจารย์ไกรศักดิ์มีฐานคิดในการศึกษาเศรษฐกิจการเมืองว่า “เราไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองไทยได้อย่างถ่องแท้ด้วยการพิจารณาเศรษฐกิจไทยเสมือนเป็นหน่วยหนึ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กับต่างชาติในลักษณะพึ่งพา”  เมื่อไม่มองเศรษฐกิจการเมืองไทยอย่างเป็นหน่วยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจารย์จำแนกองค์ประกอบที่ทำงานส่งผลอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยและพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นโดยพิจารณาผ่านแนววิเคราะห์ทุน รัฐ และชนชั้น และในแต่ละส่วนนี้ยังมีการจำแนกลงไปอีกเพื่อดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแต่ละส่วนและความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ในข้อเสนอของอาจารย์ไกรศักดิ์ส่วนที่เกี่ยวกับทุน ด้านหนึ่งอาจารย์แยกระหว่าง ทุนพาณิชย์  ทุนการเงินการธนาคาร และทุนอุตสาหกรรม เพื่อดูพัฒนาการในการก่อตัวของทุนระดับชาติ ที่การสะสมทุนเริ่มแรกนั้นก่อตัวมาจากทุนพาณิชย์ ก่อนที่จะขยายเข้าสู่ทุนการเงินการธนาคาร และการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมในภายหลังโดยมีทุนธนาคารทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน

อีกด้านหนึ่ง อาจารย์แยกพิจารณาระหว่างทุนของเอกชนที่เริ่มต้นด้วยทุนพาณิชย์ชาวจีน ซึ่งมีฐานการสะสมทุนจากการค้าภายในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนนายหน้าระหว่างทุนต่างชาติกับผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรม  อีกส่วนหนึ่งได้แก่ ทุนของเจ้านายและขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ที่สุด สะสมทุนจากการเก็บค่าเช่า กิจการผูกขาดของหลวง ตลอดจนการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการธนาคารและอุตสาหกรรม โดยทุนกลุ่มนี้ “ปัจจุบันทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นับเป็นศูนย์รวมใหญ่ที่สุด” และอีกส่วนหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาภายหลังคือทุนของรัฐ ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อรัฐบาลของระบอบใหม่ภายใต้จอมพลป. พิบูลสงครามเลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม และสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินกิจการที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตหลายด้าน แต่ทุนของรัฐนี้จะลดบทบาทลงไปมากเมื่อจอมพลสฤษดิ์ เปลี่ยนนโยบายมาจำกัดและควบคุมการลงทุนโดยตรงของรัฐในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และหันมาส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน

ตลอดบทความของอาจารย์ไกรศักดิ์ อาจารย์ดูจะเน้นลักษณะที่เป็นต่างด้าวชาวจีนของทุนเอกชนที่มีบทบาทในภาคการค้า การเงินการธนาคาร และภาคอุตสาหกรรมอยู่มาก ลักษณะความเป็นต่างด้าวของทุนเอกชนในสังคมไทยตามการวิเคราะห์ของอาจารย์ไกรศักดิ์ อาจารย์ชี้ว่าดำรงอยู่มาอย่างเด่นชัดอย่างน้อยจนถึงทศวรรษ 1950 รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างทุนเอกชนที่เป็นต่างด้าวกับอำนาจรัฐ และกับทุนของเจ้านายและขุนนาง  และในเวลาต่อมาคือทุนของรัฐในรัฐวิสาหกิจ มีผู้วิเคราะห์ไว้มากแล้ว อาจารย์ไกรศักดิ์เองก็เสนอตัวแบบความสัมพันธ์ไว้ในบทความด้วยเหมือนกัน อาจารย์เสนอไว้อย่างนี้

… เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ตนเองและผนึกกำลังทางธุรกิจของฝ่ายตน โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบซึ่งหน้าจึงรวมกันก่อตั้งสมาคมชาวจีนขึ้น  ผู้นำของสมาคมส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าผู้มีฐานะมั่งคั่งที่สุด บุคคลผู้นี้จะทำหน้าที่เจรจาสร้างสันถวไมตรีกับข้าราชการไทยระดับสูง  ผลที่ตามมาก็คือพ่อค้าชาวจีนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เต็มที่ สามารถค้ากำไรอย่างมหาศาล  ทั้งนี้ มิใช่ด้วยการปฏิวัติระบบการผลิต หากแต่ด้วยการเข้าไปคุมตลาดการค้า …(ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ 2528, 51)

ในขณะที่ความพยายามของรัฐราชการไทยในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่จะพัฒนาทุนของรัฐขึ้นมารับบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นของคนไทย กลับก่อให้เกิดภาวะกลับตาลปัตรกลับกลายไปเป็นการสร้างต้นแบบของธุรกิจผูกขาดขึ้นมาในลักษณะที่ตั้งต้นจาก

ความฝันที่จะสะสมทุนของข้ารัฐการ … แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือนของรัฐมีความรู้และความสามารถเกี่ยวกับการพาณิชย์อย่างจำกัด จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องปล่อยให้พ่อค้าคนจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม … ธุรกิจผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในระยะนี้เอง ระบบดังกล่าวเปิดทางให้พวกข้ารัฐการระดับนำยินยอมยกอภิสิทธิ์หลายประการแก่นักธุรกิจชาวจีนบางกลุ่ม … ตระกูลใหญ่ๆ เหล่านี้ทุกตระกูลล้วนพัฒนาธุรกิจของตนโดยอิงทุนแห่งรัฐเป็นเครื่องมือ บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ของพวกเขาล้วนมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับกุมอำนาจเข้าไปมีหุ้นอยู่ด้วยเสมอ (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ 2528, 52 – 53)

เมื่อชนชั้นนายทุน/ กระฎุมพีไทยก่อตัวมาโดยองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะเช่นนี้ อาจารย์ไกรศักดิ์จึงสรุปแย้งข้อคาดการณ์หรือความคาดหวังของคนที่อยากเห็นชนชั้นกระฎุมพีไทยรับบทบาทผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้มี “ลักษณะเป็นประชาธิปไตย ‘แบบกระฎุมพี’ มากขึ้นเป็นลำดับ”  อาจารย์แย้งว่า “ทัศนะเช่นนี้เป็นการยึดแบบแผนการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมและระบอบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกเป็นตัวตั้ง”  ในขณะที่การศึกษาซึ่งให้ความสำคัญแก่การอธิบายพลวัตภายในจะแสดงให้เห็นการก่อตัวและพัฒนาการของชนชั้นนายทุน/กระฎุมพีในสังคมแต่ละแห่ง ที่เข้าไปสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมโลกในรูปแบบและเงื่อนไขตั้งต้นที่ต่างกัน และอยู่ในเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมที่พัฒนาต่อมาไม่เหมือนกับของตะวันตก

ในกรณีของไทย เมื่ออำนาจของกลุ่มทุนการค้า การเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมเติบใหญ่ขึ้นมา นำไปสู่การปรับตัวของโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ เปิดทางให้ชนชั้นกระฎุมพีเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจรัฐราชการผ่านพรรคการเมืองและการเมืองประชาธิปไตยในรัฐสภา แต่ในขณะเดียวกันก็จำกัดพลังและการขยายตัวของการเมืองมวลชนไว้ที่การ “สร้างมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองในขอบเขตที่สัมพันธ์กับการเติบโตของระบบทุนนิยม ที่ไม่ถูกควบคุมจากทหารและข้าราชการ” (2529, 93)

ในแง่นี้ อาจารย์ไกรศักดิ์จึง “ยกย่อง” นักการเมืองอาวุโสผู้เป็นเสาเอกประชาธิปไตยในสมัยนั้น ว่ากล่าวได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีอ้อมค้อม เกี่ยวกับระบอบการเมืองที่ชนชั้นกระฎุมพีไทยพอใจและต้องการที่สุด นั่นคือ “เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าบรรยากาศที่ดีของธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลอำนาจนิยมแต่มีเสถียรภาพประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจ  … การที่ประธานาธิบดีเรแกนได้โจมตีการแทรกแซงของรัฐบาลก็เป็นตัวอย่างอีกว่า นักธุรกิจจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในรัฐบาลที่มีบทบาทน้อยที่สุด” (เน้นข้อความตามต้นฉบับ 2529, 99)

อาจารย์ไกรศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า ที่บอกว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีนั้น ท่านผู้พูดน่าจะหมายถึงประชาธิปไตยของสามัญชน เพราะประชาธิปไตยสำหรับชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นนักบริหารผู้ชำนาญการนั้นยังจำเป็นต้องมีอยู่เสมอ เพื่อเปิดทางให้พวกเขาเข้าไปใช้อำนาจรัฐ “แทนที่กลุ่มเผด็จการดั้งเดิม … [และ] วิธีการปกครองแบบทหารเป็นใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล และยังอาจเป็นอันตรายต่อเป้าหมายในระยะยาวของทุนอีกด้วย” (2528, 45) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่การสืบทอดและรักษาเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการขยายตัวของทุน “ส่วนความชอบธรรมของ ‘ทหารอาชีพ’ มีหน้าที่ปกป้องทุนจากภัยที่คุกคาม หรือที่เห็นกันว่าจะเป็นอันตรายต่อทุน เช่น พลังสังคมนิยมภายในประเทศไทย และจากขบวนการสากล และองค์กรของกรรมกรและชาวนา รวมตลอดถึงความคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ศูนย์อำนาจปัจจุบัน” (2528, 45)

ไม่เพียงแต่ทุนระดับชาติและชนชั้นกระฎุมพีไทยไม่อาจที่จะเข้ามารับบทบาทการปฏิวัติกระฎุมพีเหมือนที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก  แนววิเคราะห์ของอาจารย์ไกรศักดิ์ (2529) ยังให้ความหวังน้อยมากในการที่จะได้เห็นความร่วมมือทางการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยมวลชน ระหว่างชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร กับทุนขนาดกลางขนาดย่อยในเมืองและในชนบท ซึ่งถูกทุนขนาดใหญ่กดขี่  ทั้งนี้อาจารย์ไกรศักดิ์ชี้ว่า ทุนขนาดกลางขนาดย่อยในชนบทนั้นเติบโตมาจากนายทุนเงินกู้เจ้าของโรงสีแล้วยกระดับขึ้นมาเป็นทุนรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งโครงการต่างๆ ของรัฐบาลและต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติที่จะเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำโครงการนั้นอีกต่อหนึ่ง  ในขณะที่กลไกอำนาจภายในท้องถิ่นทำหน้าที่ “ควบคุมผู้ผลิตชาวไร่ชาวนาให้ยอมจำนนต่อสภาพ หลายครั้งก็โดยพฤติกรรมที่รุนแรง” ส่วนนายทุนอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางในเมือง ที่รับจ้างผลิตสินค้าโดยการรับช่วงการผลิตมาเป็นทอด อาศัยค่าแรงราคาถูกเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน ก็ “เป็นนายทุนที่ชื่อเสียงอื้อฉาวทั่วสากล” ในด้านการขูดรีดลูกจ้างแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ (2529, 100)

ส่วนทุนต่างประเทศ หลังจากอาจารย์พิจารณาตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่แสดงว่าทุนจากต่างประเทศไม่ได้มีอำนาจควบคุมเหนือระบบเศรษฐกิจไทย อาจารย์สรุปว่าทุนจากต่างประเทศ “เป็นแต่เพียงช่วยยกระดับพลังการผลิตและปูทางให้ชนชั้นกระฎุมพีไทยสามารถเก็บเกี่ยวมูลค่าส่วนเกินจากผู้ใช้แรงงานไทยด้วยตัวเอง โดยอาศัยการพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมและใช้อำนาจควบคุมแรงงานเป็นเครื่องมือเท่านั้น” (2528, 56)

สาม กระบวนการสะสมทุนจะมีลักษณะอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาพลังการผลิต ต่อความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานและความสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการเกษตร  รวมทั้งต่อการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่อำนาจของชนชั้นนายทุนว่าจะทำได้แค่ไหน  อาจารย์ไกรศักดิ์เสนอแนววิเคราะห์ในกรณีของไทยว่า บทบาทของรัฐมีความสำคัญมาก เพราะ

รัฐไทยมิได้ ‘รับใช้’ ทุนต่างชาติ แต่ได้ใช้วิธีการและรูปแบบต่างๆ

– ในการปกป้องทุนประชาชาติเพื่อต่อรองและแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก

– ในการกระตุ้นพลวัตของระบบทุนนิยมไทย โดยที่รัฐมีอิสระในระดับหนึ่งที่จะเลือกสนับสนุนหรือให้อภิสิทธิ์แก่ทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เท่าที่ผ่านมารัฐไทยมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนทุนขนาดใหญ่

– ในการควบคุมหรือบรรเทาความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างทุนและแรงงาน (2528, 44)

ในบทความ “ทุน ชนชั้น และการเมืองไทยปัจจุบัน” อาจารย์ยังเสนอให้พิจารณาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐใน “ระยะผ่านไปสู่ความเป็นใหญ่ของชนชั้นกระฎุมพี” ที่ความขัดแย้งระหว่างพรรคกระฎุมพีที่เข้าไปแชร์การใช้อำนาจรัฐกับพลังในรัฐราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพ  และความขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่มอำนาจภายในรัฐราชการ ปะทุเป็นวิกฤตขึ้นมาเป็นระยะๆ อาจารย์เสนอว่า สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามา “เป็นตัวเชื่อมสำคัญของการสืบชีวิตของรัฐไทยในภาวะวิกฤติ” โดยรับบทบาทบรรเทาความขัดแย้งและ “เข้าไปถอดชนวนวิกฤตการณ์” ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ “กลายเป็นพลังที่มีเสถียรภาพที่สุด [และ] สถาบันกษัตริย์จะมีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ที่ชนชั้นปกครองไม่สามารถลงเอยกันได้” (2529, 93 – 94)

อาจารย์ไกรศักดิ์ใช้ข้อเสนอของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณมาแสดงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์สามารถเข้ามารับบทบาทที่มีความสำคัญต่อการประคับประคองเสถียรภาพของรัฐไทยในช่วงเวลานั้นได้  อย่างไรก็ดี อาจารย์ยังไม่ได้ให้แนววิเคราะห์ที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ทำให้กลไกอำนาจรัฐ “มีอิสระในระดับหนึ่ง” ในการจัดการกับวิกฤตทั้งที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมและวิกฤตการเมืองในรัฐราชการของชนชั้นกระฎุมพีไทย  พร้อมกันนั้น แนววิเคราะห์ของอาจารย์ยังต้องขยายการอธิบายต่อไปถึงการต่อสู้ระหว่างพลังเหนี่ยวรั้งและผลักดันการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นที่ผลิตวิกฤตความชอบธรรมขึ้นในเวลาต่อมา

สี่ แนววิเคราะห์ของอาจารย์ไกรศักดิ์ยังเสนอค้านการอ้างความล้าหลังของ “โครงสร้างส่วนบน” ที่เป็นอุดมการณ์ความคิดและวัฒนธรรม มาใช้เป็นเหตุอธิบายการที่เศรษฐกิจการเมืองไทยไม่พัฒนาไปตามต้นแบบของการพัฒนาทุนนิยมและประชาธิปไตยตะวันตก  อาจารย์วิจารณ์ว่า การอธิบายที่อ้างอุดมการณ์ความคิด อ้างวัฒนธรรมจาก “โครงสร้างส่วนบน” มาเป็นเหตุอุปสรรคครอบขวางการพัฒนานั้น “มองข้ามพลวัตของความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้” และความสัมพันธ์ทางสังคมตามแนววิเคราะห์ที่อาจารย์ไกรศักดิ์ใช้ก็คือความสัมพันธ์ทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่

ทำไมคำอธิบายที่อ้างวัฒนธรรม ความคิด หรืออุดมการณ์ จึงเป็นแนววิเคราะห์ที่มีปัญหา

แนววิเคราะห์ของอาจารย์ไกรศักดิ์พิจารณาวัฒนธรรมความคิด ค่านิยมอุดมการณ์ ที่มาร์กซ์จัดว่าเป็น “โครงสร้างส่วนบน” (หรือเป็น “โครงครอบ” ตามคำแปลที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์เสนอ) ในทางที่เป็น ผล มากกว่าจะเห็นว่าเป็น เหตุ  (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ 2529) นอกจากนั้น อาจารย์ยังมองวัฒนธรรมประเพณีในลักษณะที่เป็นเครื่องมือ ในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมประเพณีที่เป็น “ผลผลิตของประวัติศาสตร์” นั้นดำรงคงอยู่ได้และได้รับการรักษาสืบทอดให้ทำงานต่อมาได้ก็เพราะมัน “สามารถจะสนองผลประโยชน์ของชนชั้นบางชั้นโดยเฉพาะ” อาจารย์ยกความเห็นของ Barrington Moore จากงาน Social Origins of Dictatorship and Democracy (1967, 486 – 487) มาสนับสนุนความคิดของอาจารย์ในเรื่องนี้ ผมขอคัดมติของ Moore ตามสำนวนแปลที่อยู่ในบทความของอาจารย์ไกรศักดิ์ (2529, 90 – 91) มาลงไว้ที่นี่ด้วย

การทึกทักเอาว่าการสืบเนื่องของวัฒนธรรมและสังคมเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายนั้น เป็นการบิดเบือนความจริงที่ว่าทั้งวัฒนธรรมและความต่อเนื่องในสังคมต่างก็ได้รับการหล่อหลอมขึ้นใหม่อยู่เสมอทุกยุคทุกสมัย บ่อยครั้งด้วยความเจ็บปวดทุกข์ยากแสนสาหัสในการธำรงรักษาและสืบทอดระบบค่านิยมนั้น มนุษย์ถูกทุบตี  ถูกจับเข้าคุก เข้าค่ายกักกัน ถูกจับยิงเป้า หรือไม่ก็ได้รับการปลอบประโลม เอาอกเอาใจ ติดสินบน เชิดชูให้เป็นวีรบุรุษ ชักชวนให้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ถูกสอนสังคมวิทยา  การอ้างอิงถึงแรงเฉื่อยของวัฒนธรรมเท่ากับเป็นการมองข้ามผลประโยชน์และอภิสิทธิ์นานัปการอันก่อเกิดจากการศึกษา การปลูกฝังความคิด ตลอดจนกระบวนการอันสลับซับซ้อนทั้งปวงในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  ถ้าผู้ดีจีนในศตวรรษที่สิบเก้าจะตัดสินโอกาสทางเศรษฐกิจต่างไปจากเกษตรกรนักธุรกิจอเมริกันในศตวรรษที่ยี่สิบ ก็เป็นเพราะว่าเขาเติบโตขึ้นมาในสังคมจีนสมัยจักรพรรดิ  ซึ่งมีโครงสร้างชนชั้นและระบบการให้คุณให้โทษที่ขัดขวางการแสวงหาผลได้ทางเศรษฐกิจบางอย่าง ซึ่งอาจบ่อนทำลายอำนาจและฐานะนำของกลุ่มผู้ปกครอง  ในท้ายที่สุด การยึดถือเอาค่านิยมเป็นจุดเริ่มต้นของคำอธิบายเชิงสังคมวิทยา จะทำให้ยากยิ่งที่จะเข้าใจความจริงที่แจ่มชัดว่า ค่านิยมนั้นแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขแวดล้อม … จริงอยู่ เราไม่อาจทำการวิเคราะห์โดยไม่มีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งว่า คนเรานั้นมองโลกอย่างไร  และเขาทำหรือเขาไม่อยากทำอะไรกับสิ่งที่เขาเห็นนั้น  แต่ทว่า การแยกความคิดเห็นดังกล่าวออกมาจากวิธีการที่คนเราคิด ดึงเอาระบบค่านิยมออกมาจากเงื่อนไขแวดล้อมทางประวัติศาสตร์  และยกความคิดค่านิยมขึ้นมาเป็นเหตุปัจจัยที่เป็นอิสระนั้น  เท่ากับว่าผู้ศึกษาวิเคราะห์ที่อ้างตนว่าเป็นกลางนั้นเอง กลับตกหลุมติดอยู่กับเหตุผลที่บรรดาผู้ปกครองอ้างถึง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำที่โหดเหี้ยมของตนเอง ข้าพเจ้าเกรงว่านี่แหละคือสิ่งที่วิชาการสังคมศาสตร์กระทำอยู่ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้

อาจารย์กนกศักดิ์เลือกลงท้ายบทความที่อาจารย์เขียนถึงอาจารย์ไกรศักดิ์ด้วยมติของ J. M. Keynes ซึ่งผมเห็นว่าเหมาะดี อาจารย์คงจะไม่ว่าอะไรถ้าผมขอใช้มติเดียวกันนั้นมาลงท้ายบทความนี้ด้วย

…the ideas of economists and political philosophers, both when they are right and when they are wrong, are more powerful than is commonly understood.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save