fbpx

อนาคตท่ามกลางวิกฤตและความท้าทาย วงการหนังสือไทยต้องรอด!

วิกฤตโรคระบาดที่มีพิษร้ายคอยชะงักกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลายอาชีพต้องประคับประคองสภาพในรูปแบบที่เราอาจจินตนาการไม่ถึง พิษร้ายดังกล่าวส่งกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจหลายแขนง กระทั่งเหล่าสำนักพิมพ์ในวงการหนังสือไทย ที่แม้จะถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงมานักต่อนัก ก็ยังต้องเผชิญสถานการณ์ที่เชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

แต่โลกของการอ่าน-เขียนก็ยังต้องหมุนต่อไป ไม่ว่าจะตกอยู่ในภาวะวิกฤต หรือการเปลี่ยนแปลงอื่นใดในสังคม –ทั้งในโมงยามอันยากลำบากที่คนต้องการสิ่งจรรโลงใจ หรือยามที่ใครต้องการเปิดประตูความรู้และยกระดับความคิดผ่านตัวหนังสือ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบทิศ สถานการณ์การขายหนังสือในปัจจุบันและวิธีการรับมือวิกฤตของแต่ละสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร คนทำหนังสือมองเห็นความหวังหรือขุมทรัพย์ตรงไหนที่พัฒนาได้อีกบ้าง และภาครัฐจะเข้ามาช่วยส่งเสริมวงการอ่าน-เขียนได้อย่างไร 101 ชวน ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม, รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Library House, มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน, ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Salmon Books และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดย จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) มาเปิดวงสนทนายามดึกใน club house ว่าด้วยวงการหนังสือไทยภายใต้วิกฤติโรคระบาดและปรากฏการณ์ตื่นรู้ของผู้คนในสังคม



วิกฤติระลอกใหม่ วงการหนังสือไทยทราบแล้วเปลี่ยน

             
ข่าวคราวการงดจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 – 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับบรรดาสำนักพิมพ์กันถ้วนหน้า เทศกาลขายหนังสือและพื้นที่ระหว่างสำนักพิมพ์และผู้อ่านถูกแทรกแซงด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3  ในสถานการณ์ดังกล่าว ธนาพล จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเล่าว่าวิธีเอาตัวรอดในแบบของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคือการทำสิ่งที่ตนเองถนัด ทำหนังสือเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองออกมาให้ได้ตามแนวทางที่วางเอาไว้ ส่วนจะขายได้หรือไม่นั้น ธนาพลเชื่อว่าผลลัพท์ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและคุณภาพของตัวหนังสือเอง

เช่นเดียวกับฝั่งวรรณกรรมไทย นิวัต จากสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องอดทน แต่ก็ยังคงมีหวังว่าหลังจากนี้ไปจะดีขึ้น

“รายได้ของเราอยู่ที่งานหนังสือประมาณ 30-40% พอไม่มีงานหนังสือแล้ว รายได้ก็หายไป ออนไลน์เข้ามาทดแทนได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แรกๆ พอไปได้ดี แต่ช่วงหลังก็ตกไปเยอะ คนอาจจะชาชินกับสภาพเหตุการณ์หรือเศรษฐกิจ แต่เขาจำเป็นต้องห่วงอนาคตของตัวเองมากกว่าอารมณ์อยากซื้อขาย”

ขณะที่รังสิมา จาก Library House ปรับตัวในวิกฤตินี้ด้วยการขยับขยายช่องทางเข้าสู่คนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดจากสำนักพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของร้านหนังสืออิสระที่ถือกำเนิดขึ้น รังสิมาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร้านหนังสืออิสระไว้ว่า

“พื้นที่การขายในทวิตเตอร์กับอินสตาแกรมเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่น่าตกใจ ส่วนใหญ่เจ้าของร้านจะเป็น First Jobber มีวิธีการขายหนังสือที่นึกไม่ถึง เช่น ร้านหนังสือที่ขายโดยไม่ให้เห็นหน้าปก ทำเป็นคอนเซ็ปต์ Blind Date แต่มันคือการขายหนังสือจริงๆ กลายเป็นว่าร้านนี้ทำเงินให้เรามากกว่าร้านใหญ่ในกรุงเทพ ถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่าหน้าตาเจ้าของร้านเป็นยังไง”

จะเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการหนังสือตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องยึดโยงอยู่กับแพลตฟอร์มหรือวิธีการเก่าๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกาลจากสำนักพิมพ์แซลมอนยอมรับว่าเป็นไวยากรณ์ใหม่ที่กำลังศึกษา เพราะแซลมอนขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นคนรุ่นใหม่และมีรายได้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติมากพอสมควร ปัจจุบันแม้จะใช้ช่องทางออนไลน์ของตนเองเป็นหลัก แต่ก็ยังคงต้องปรับแผนการตลาดไปอีกเรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม

มติชนเป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านจำนวนมากในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ต่อให้มณฑลจะมีความคิดว่ากระแสของงานแฟร์ต่าง ๆ เริ่มแผ่วลงตั้งแต่ก่อนมีวิกฤติโควิด-19 ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค จึงอาจทำให้ไม่มีการจัดงานมหกรรมหนังสือที่ใหญ่โตอลังการอีก

“การขายหนังสือออนไลน์มันเทียบไม่ได้กับออนกราวด์อยู่แล้ว แต่เราต้องเตรียมตัวตั้งรับกับสถานการณ์ พยายามจำลองงานแฟร์ในทางออนไลน์ให้ได้มากที่สุด กลุ่มบรรณาธิการก็ต้องออกมาฉากหน้ามากขึ้น เพื่อสื่อสารกับนักอ่านโดยตรง”

อีกส่วนสำคัญคือการขั้นตอนการสั่งซื้อออนไลน์ ด้วยกลุ่มผู้อ่านของมติชนจะเป็นวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ง่ายขึ้น ใช้เทคโนโลยีอย่างแชทบอท หรือไลน์ออฟฟิเชียลเข้ามาเป็นส่วนช่วย

“เทรนด์ของหนังสือมันเปลี่ยนเหมือนเครื่องแต่งกาย เราคิดว่าบรรณาธิการต้องตั้งโจทย์ให้ดีว่าสังคมตอนนี้ต้องการอะไร ผู้อ่านอ่านแล้วได้อะไร ต้องตอบโจทย์กับคนอ่านที่เขากำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง ถ้าทำได้ ก็จะมีกลุ่มนักอ่านอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหนก็ตาม” มณฑลกล่าว


อนาคตหนังสือไทยกับคลื่นของคนรุ่นใหม่

             
วงการหนังสือไทยถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยตลอดเวลา ทั้งการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี หรือการตื่นรู้ของผู้คนในสังคมที่กระหายจะเป็นนักอ่านมากยิ่งขึ้น เมื่อมองเห็นปัญหาและต้องเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์นี้แล้ว เราลองเขยิบมาพูดถึงภาพที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือขุมทรัพย์หรือความหวังของวงการหนังสือไทยต่อจากนี้

ในยุคที่ประเทศไทยมีเรื่องราวที่คาดการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ธนาพลจากฟ้าเดียวกันได้ให้ความเห็นว่า “ประสบการณ์อื่นๆ ที่ประเทศไทยเคยใช้จัดการปัญหา อาจจะใช้การไม่ได้แล้ว ไม่ใช่การเมืองอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย ถ้าเรามีอะไรที่มาตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ผมว่าคนจำนวนหนึ่งพร้อมจะเปิดและรับฟัง ยอดขายก็จะตามมา”

“เราไม่ได้บอกว่าเราคือคำตอบที่ถูกต้อง แต่เราน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบเวลาคนจำนวนหนึ่งต้องการแว่นในการมองเรื่องต่างๆ ในสังคม เราเป็นหนึ่งในแว่นนั้น และผมว่ายังมีแว่นอีกหลายอันที่คนพร้อมที่จะลอง”

ฟ้าเดียวกันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่รอคอยเวลากว่า 20 ปี ถึงเกิดขึ้น ผู้คนให้ความสนใจในหนังสือแบบฟ้าเดียวกัน แม้บางเล่มจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ถอยหลังไปเป็นร้อยปี แต่อาจสะท้อนว่าสถานการณ์บางเรื่องในปัจจุบันของไทยไม่ได้แตกต่างไปจากในอดีตเท่าไรนัก เมื่อคนหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ย่อมมีอีกหนึ่งคนกระหายที่จะค้นหาว่าเราดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และเป็นไปได้ว่าคำตอบนั้นกำลังนอนรออยู่ในหนังสือให้เราเปิดดู

เม่นวรรณกรรมเป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งมายาวนานร่วม 21 ปี นิวัต เขาเป็นผู้คัดสรรวรรณกรรมไทยโดยนักเขียนไทย และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่นิวัตเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพลังของผู้เขียนจะสดใหม่ในช่วงต้นที่เริ่มลงมือเขียน นิวัตได้ให้ความเห็นไว้ว่า

“ที่คนสนใจอ่าน เพราะว่าเราทำในสิ่งที่เชื่อ” และยังหมายรวมไปถึงคุณภาพของหนังสือ ที่สำนักพิมพ์จะต้องปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ หากทำด้วยความเชื่อ และทำอย่างเต็มที่ จะมีนักอ่านที่พร้อมเชื่อในสิ่งเดียวกันนี้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่หนาหูถึงการถึงทางตันของวรรณกรรมไทย นิวัตเสนอว่าการสรุปว่าถึงทางตันคงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจากมีนักเขียนหน้าใหม่เติบโตขึ้นตลอดเวลาและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวรรณกรรมให้เป็นไปตามยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังขาดแคลนนักเขียนอีกเป็นจำนวนมาก

“ผมอยากเห็นนักเขียนมากกว่านี้ แต่ก็มีข้อจำกัด ตอนนี้ไม่เหลือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่พิมพ์วรรณกรรมแล้ว จะมีก็แต่สำนักพิมพ์ระดับเล็กไปจนถึงกลางเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ผมยังมีความหวัง ค้นหากันต่อไปว่าจะมีดาวดวงใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ”

ส่งไม้ต่อให้รังสิมา บรรณาธิการที่เดินทางไปซื้อขายลิขสิทธิ์ต่างแดนในนามสำนักพิมพ์เล็กๆ จากประเทศไทย กับมุมมองของทิศทางหนังสือไทยในตลาดหนังสือโลก

“เราต้องย้อนกลับไปว่าในแผนพัฒนาชาติของเรามันมีคำว่าหนังสือ หรือการผลักดันศักยภาพของคนทำหนังสืออยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งเราไม่ได้คุยกันเองแล้วในวงการหนังสือ มันคือการพูดกับรัฐบาล โครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น”

รังสิมาเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตรงที่ได้ไปเยี่ยมเยือนงานหนังสือระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น แฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์ ลอนดอนบุ๊กแฟร์ และโบโลญญาบุ๊กแฟร์ รวมไปถึงงานอื่นๆ ซึ่งเธอได้เห็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ได้รับเลือกให้เป็นแขกเกียรติยศ (Guest of Honor) ในงานมหกรรมหนังสือระดับโลกถึง 3 งาน การจะได้รับเลือกเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดัน แม้กระทั่งประเทศที่ใครหลายคนเชื่อว่าล้าหลังกว่าอย่างเมียนม่า ก็ยังจัดเทศกาลวรรณกรรมก่อนไทยด้วยซ้ำ ขณะที่ผู้คนในงานหนังสือระดับโลกมักจะตั้งคำถามกับเธอทุกครั้งในการพูดคุยระหว่างสำนักพิมพ์ว่าวงการหนังสือเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

“เขาประกาศแล้ว เมืองหนังสือโลกคือจอร์เจีย Guest of Honor คือแคนาดา แปลว่า ไม่เกี่ยวว่าคุณจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ การเติบโตของวงการหนังสืออาศัยปัจจัยมากกว่านั้น ทั้งในแง่การเมือง การทูต สมาพันธ์ต่างๆ ของประเทศที่ช่วยกันผลักให้เต็มแรง ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นประเทศเล็กแต่เขาเข้มแข็งมาก”

นิวัตที่ช่ำชองเรื่องวรรณกรรมไทยก็ตอกย้ำความจริงนั้นให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น “แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยให้วรรณกรรมไทยไปวรรณกรรมโลก ดูๆ แล้วถ้าอยู่ในสภาพแบบนี้ อีก 10 – 20 ปีก็ยังมองไม่เห็นทาง ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านของเรา คือเราส่งวรรณกรรมออกไปนอกประเทศได้ช้าที่สุด เพราะรัฐยังไม่สนับสนุนในเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว”

ที่เห็นว่าผลงานของคนไทยยกระดับไปอีกขั้นได้ เกิดจากการดิ้นรนของสำนักพิมพ์เองทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ที่ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์พิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศได้ก็จะเป็นงานลายเส้นหรือภาพวาดการ์ตูนเท่านั้น แม้กระทั่งผลงาน Non-Fiction ที่ทั้งวาไรตี้และสดใหม่ของสำนักพิมพ์แซลมอน ก็ยังไม่เคยได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นเลยสักครั้ง ปฏิกาลจึงมุ่งความสนใจไปที่การปรับตัวในวิกฤติการณ์นี้

“ตอนนี้เราแทบจะงดหรือชะลอหนังสือที่เกี่ยวกับบันทึกการเดินทางไปก่อนเลย มันสัมพันธ์กับเรื่องที่ว่าเราไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ทั้งที่หนังสือประเภทนี้จะขายได้เป็นอันดับต้นๆ เลยด้วยซ้ำ” ปฏิกาลกล่าว

ถึงที่ผ่านมา แนวทางการผลิตงานของแซลมอนจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระแสความสนใจของผู้คน แต่ในสภาพสังคมที่คนจำนวนมากตื่นรู้ที่จะเป็นผู้อ่าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้จริงจังมากกว่าเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น โดยคำนึงอยู่เสมอว่าต้องสนุก เข้าถึงง่าย และอ่านแล้วได้รับอะไรบางอย่างกลับไป ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เข้มข้นมีน้ำหนักมากขึ้น หรือหนังสือผ่อนคลายได้แรงบันดาลใจอย่างที่ถนัด

 “เราไม่ได้พิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์อย่างฟ้าเดียวกัน หนึ่งคือเราอาจจะทำได้ไม่ดีขนาดนั้น สองคือกลุ่มคนอ่านของเรา ไม่ได้ต้องการหนังสือหนักขนาดนั้น แต่เราก็มีการปรับเนื้อหาให้มันโตขึ้น จริงจังขึ้น”

“ผมคิดว่าแซลมอนวันนี้กับแต่ก่อนมันต่างกันประมาณหนึ่ง แต่คนอ่านก็ยังชินกับภาพของแซลมอนที่ว่าอ่านแล้วขำ อ่านแล้วสนุก ทั้งนี้ ในความที่เหมือนจะโตขึ้น แซลมอนจะนำเสนอด้วยป็อปคัลเจอร์ พูดเรื่องยาก ๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายหน่อย อาจจะพูดได้ว่าแซลมอนเองก็มีเรื่องที่จริงจังกับเขาอยู่เหมือนกัน” ปฏิกาลกล่าวถึงหมุดหมายในการสร้างแซลมอนให้เติบโตอวบอ้วนใหญ่ แต่ยังคงไว้ซึ่งความสนุกสนาน

ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์แซลมอนที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลาย มติชนเองก็เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ยืนอยู่ในจุดที่พอจะมองเห็นภาพใหญ่ของวงการหนังสือไทยในอนาคตได้

“การไปต่อของคนรุ่นใหม่หมายถึงการไปต่อของสื่อสิ่งพิมพ์หรือวงการหนังสือ” มณฑลกล่าวอย่างหนักแน่น ด้วยแสงสว่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ต่อให้เติบโตมากับเทคโนโลยีที่รุดหน้าขึ้นทุกวัน แต่บ้านเมืองที่อาศัยอยู่กลับบีบคั้นให้ต้องสืบค้นความจริง การมีอยู่ของสำนักพิมพ์จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

“เราพยายามทำหนังสือให้เป็นสตาร์ทอัพ พยายามตอบโจทย์การที่อยากศึกษาอะไรบางอย่างของคนรุ่นใหม่ คุณไม่ต้องมาจบที่เรา แต่เอาไปอยากรู้อยากเห็นต่อ”

“ผมไม่อยากไปยุ่งเรื่องของการเมืองแต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะมองถึงอนาคตของวงการหนังสือ เมื่อบ้านเมืองเราดี ผมคิดว่าหลาย ๆ วงการมันจะดีขึ้น” มณฑลชี้แจง


วงการหนังสือต้องรอด รัฐต้องช่วยผลักดัน


“การทำหนังสือไม่ต่างอะไรกับการแข่งกีฬาเลย ทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก เราจะเอาถ้วยประเภทไหน เราจะเป็นแชมป์เหรียญทองประเภทไหน” รังสิมายกตัวอย่างให้พอนึกภาพตามง่ายๆ หากถามถึงความหวังในระยะยาวที่ต้องอาศัยการผลักดันที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานภาครัฐ

ในสภาพที่วงการหนังสือไทยขาดการดูแลและแทบไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ สิ่งที่สำนักพิมพ์เล็ก ๆ อย่าง Library House ต้องการ คือโอกาสจากรัฐในการสนับสนุนการพิมพ์หนังสือ ที่จะช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก แต่ความช่วยเหลือที่รังสิมาได้รับมักมาจากคนนอกประเทศ ความช่วยเหลือที่มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองเห็นคนทำงานสร้างสรรค์เป็นคนเท่ากันเท่านั้น

“เมื่อเดือนก่อนเราได้รับอีเมลจากองค์กรสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมแคนาดา เขาบอกมาเลยว่ามีเงินทุนหลายร้อยล้านเพื่อให้ศิลปิน นักเขียน และคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ทั้งในและต่างประเทศ มันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนที่กำหนดว่าประเทศจะเดินไปทิศทางไหน ซึ่งเขาไม่ทอดทิ้งนักสร้างสรรค์”

แม้จะตีกรอบการแข่งขันกีฬาให้แคบลงในระดับลีกซีเกมส์ เผื่อจะได้ความเห็นที่พอชื่นใจขึ้นมาบ้างว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่เท่าไรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รังสิมาก็ยังตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “นึกคำว่าเสือตัวที่ห้าสิ เรายังไม่รู้ว่าเราเป็นเสือตัวไหนอยู่”

“เพื่อนสำนักพิมพ์ในละแวกประเทศใกล้ ๆ อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เขาสนุกกว่าเราเยอะเลย เขามีทุนเยอะ มีแผนชัดเจน เขามาเล่าให้เราฟังว่าร้านหนังสืออิสระของเขามีครบทุกเกาะแล้ว เราก็ได้แต่ดีใจด้วย”

ในเมื่อรัฐไทยยังไม่สามารถมอบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมให้กับวงการหนังสือไทยได้ รังสิมาเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้เช่นกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ Library House ในระยะยาว เธอจึงพยายามที่จะประคับประคองตนเองด้วยการสรรหาแหล่งทุนภายนอกอย่างที่เคยทำมา และบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้

ด้านนิวัตก็ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ทำนองเดียวกันว่า “รัฐกับวรรณกรรมไทยต้องบอกนะครับว่าการสนับสนุนเป็นศูนย์ ตั้งแต่ทำมา ออกเงินเองหมด ถ้าเราจะขอเงินเขาต้องทำหนังสือเสนอกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเราคงไม่มีโอกาสได้เงินจากรัฐมาทำหนังสือสักเล่มหรอก”

นิวัตเล่าต่อว่ากว่า 21 ปีของสำนักพิมพ์อาศัยทั้งแรงอุสาหะและปาฏิหาริย์ ที่หวังเพียงแต่ว่าจะมีต้นฉบับในอุดมคติสักเล่มที่สามารถจัดพิมพ์ได้ทันที ผ่านการหมั่นรักษาและพัฒนาคุณภาพของเนื้อหา ไม่ใช่เพียงรอคอยเงินทุนจากหน่วยงานที่มองไม่เห็นความสำคัญของคนทำหนังสือแม้แต่น้อย

“จริง ๆ รัฐควรเอาเงินไปสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้าถึงงานไทย เหมือนที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกัน ซึ่งผมว่ายังอีกนานที่รัฐจะเข้าใจ อย่างการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ก็แค่ออกค่าบูธ และมักจะถามเรื่องยอด รายได้ แต่เขาไม่ได้สนเรื่องงานเขียนอย่างจริงจัง”

ในมุมมองของบรรณาธิการวรรณกรรมไทยโดยนักเขียนไทย สิ่งที่เป็นไปได้ง่ายที่สุดที่รัฐจะสามารถทำได้ในเวลานี้คือการผลิตซ้ำผลงานเก่าๆ ของนักเขียนที่ถูกหลงลืมไป เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วงการวรรณกรรมไทยสั่นคลอน หากไร้ซึ่งพื้นฐานงานเขียนที่เป็นเหมือนรากเหง้า ก็คงสร้างสรรค์งานใหม่ออกมาอย่างมีคุณค่าไม่ได้ ส่วนการช่วยเหลือนักเขียนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป ในเมื่อปัจจุบันมีสำนักพิมพ์อยู่ค่อนข้างน้อย แต่อุปสรรคอาจเป็นหัวใจและวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างไม่มากพอของผู้รับผิดชอบ

ในประเด็นดังกล่าว ปฏิกาลต่อยอดเรื่องการตีพิมพ์ผลงานเก่าๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงกับการผลิตซ้ำผลงานของ วิตต์ สุทธเสถียร นักเขียนรุ่นใหญ่ผู้ลาลับ “เราพบว่าการหาทายาทง่ายกว่าการหาต้นฉบับของเขาให้เจอ เพราะประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลของหนังสือเท่าไรเลย แทบจะหาจากหอสมุดหรือหน่วยงานใดๆ ไม่ได้ เราต้องหาจากคนที่เป็นนักอ่านด้วยกันเองหรือนักสะสม ซึ่งเป็นปัญหาในเวลาที่เราต้องการตีพิมพ์งานที่หายหรือห่างเหินจากการรับรู้ของผู้คน” ปฏิกาลเสริม

ในขณะที่หลายสำนักพิมพ์พยายามแค่ไหนก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ แต่ฟ้าเดียวกันเพียงอยู่เฉยๆ ก็เป็นที่ ‘จับตามอง’ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งธนาพลกล่าวว่าหากตัดเรื่องใจความในเนื้องานที่ถูกผลิตออกไป การยื่นเรื่องเพื่อขอการสนับสนุนในนามของสำนักพิมพ์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน

“พอเป็นวัฒนธรรมราชการไทยต่อให้คุณมีเงินเยอะแค่ไหน ถ้าอยู่ในระบบแบบไทยๆ มันก็เละ ถึงที่สุดทุกอย่างจบตรงที่ พึ่งตัวเองดีกว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ ผมไม่ค่อยไว้ใจรัฐไทย”

“ประเทศไทยไม่จน ผมยืนยัน ผมเห็นใจหลายคนที่ดิ้นรนไปหาเงินต่างประเทศ​ แต่ไทยเราเนี่ย เป็นประเทศรายได้ปานกลางและใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายเยอะแยะไปหมด ที่เกี่ยวกับหนังสือก็ไม่น้อย แต่จัดการได้แย่มาก” ธนาพลกล่าว

ถึงจุดหนึ่ง คนทำหนังสือจะรู้ดีกว่าใครว่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว ธนาพลกล่าวอย่างสัตย์จริงว่าถึงแม้ฟ้าเดียวกันจะเป็นที่นิยมอย่างท่วมท้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่กำไรที่ได้ก็เป็นกำไรที่คิดจากยอดขาดทุนสะสมทั้งสิ้น หากอยากจะทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีต้นทุนที่ดีกว่าใครตั้งแต่ต้น ส่วนตัวเขาเลือกประกอบอาชีพอื่นเป็นหลักเพื่อนำเงินนั้นมาทดแทนอีกที

เมื่อถูกถามว่าเป็นไปได้ไหมที่รัฐไทยจะหันมาส่งเสริมหนังสือวิชาการดีๆ ออกไปในวงกว้าง เขาตอบทันควันว่า “อาจจะเป็นอันตรายกับรัฐเผด็จการก็ได้ถ้าคนอ่านหนังสือเยอะๆ”

“ปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ที่รัฐปวดหัวคือ เมื่อไล่เด็กรุ่นนี้ไปอ่านหนังสือ อ่านไปอ่านมามันไม่เหมือนกับแบบเรียน ผมหวังที่สุดเลยคือหวังให้แบบเรียนเปิดกว้างให้มากขึ้น มีประวัติศาสตร์หลายแบบให้เด็กๆ ได้มีสิทธิเลือก”

มณฑลจากสำนักพิมพ์มติชนก็แสดงความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนอาจลืมนึกถึงไปว่า “เราไม่รู้ว่าในอนาคตรัฐจะมีความเป็นกลางกับสื่อสิ่งพิมพ์มากน้อยแค่ไหน ผมมองเห็นปัญหาถ้ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสนับสนุน หนังสือหรืออะไรบางอย่าง มันจะได้การรับเลือกหรือเปล่า”

นอกจากนี้ในสายตาของมณฑล เขาก็มั่นใจว่ามีนักอ่านอยู่ทุกที่ในประเทศ การจะกล่าวหาว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดนั้นไม่เป็นความจริงดังว่า และมณฑลยังได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

หนึ่ง ควรสร้างคอมมูนิตี้การอ่านให้กระจายทั่วประเทศ จากที่เคยมีความพยายามจะสถาปนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งการอ่านเมื่อ 7-8 ปีก่อนแต่ก็ล้มเหลว นอกจากนี้ยังไม่ควรรวมความเป็นไปได้ไว้ที่ศูนย์กลางเพียงที่เดียว รัฐควรเข้าให้ถึงสื่อท้องถิ่นที่มีกำลังมากพอต่อคนต่างจังหวัดด้วย

สอง รัฐควรสนับสนุนอาชีพนักเขียนอย่างเต็มที่ ปัจจุบันนักเขียนกลายเป็นอาชีพรองเพราะไม่สามารถเป็นรายได้หลักได้ ฉะนั้น นักศึกษาเอกไทย หรือเอกวรรณกรรมต่างๆ ควรมีสายงานรองรับเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยประเด็นนี้ปฏิกาลยืนยันผ่านประสบปัญหานักเขียนไม่มีเวลาผลิตผลงานเนื่องจากไม่ใช่อาชีพหลัก ทำให้ความต่อเนื่องในเรื่องที่เล่าขาดหายไป

เขายังกล่าวว่าจะเป็นการดีไม่น้อยหากรัฐเข้ามามีบทบาทในการโอบอุ้มหรือสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น อย่างโครงการศิลปินในพำนัก (Artist Residency) ที่ควรจะเอื้อโอกาสให้นักเขียนบ้าง หากรัฐสามารถทำสองสิ่งที่มณฑลเสนอให้สำเร็จได้ ก็จะเป็นการดีต่อทั้งสำนักพิมพ์ที่จะได้มีต้นฉบับที่หลากหลายมากขึ้น และดีต่อใครหลายคนที่ยังคงมีการเขียนเป็นความฝัน ให้มีแรงผลักดัน มีลู่ทาง บนเส้นทางสายนี้ในอนาคตอย่างภาคภูมิ


สถาบันหนังสือ: ความฝันของคนหนังสือ

ท่ามกลางผู้คนในเส้นทางหนังสือ จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ยังคงยืนหยัดว่าวงการหนังสือไทยยังมีอนาคต เพราะพรประการหนึ่งที่หนังสือทุกเล่มมีคือ เมื่อใครได้เริ่มอ่านแล้ว จะกลายเป็นนักอ่านตลอดไป แต่ติดอยู่เพียงว่ารัฐไทยไม่เคยมองหนังสือเป็นวัฒนธรรม

“เราเห็นรัฐบาลอินโดนีเซียทุ่มเงินหลายร้อยล้าน กว่าเขาจะได้เป็น Guest of Honor ที่ผ่านมาการไปงานต่างประเทศของเรา ได้การสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งผิดหูผิดตาประเทศอื่น แต่กระทรวงวัฒนธรรมที่ควรจะมาดูแลเรา เขาสนใจแค่เรื่องร้องรำทำเพลง” อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยกำลังพูดความจริงที่ว่ารัฐไทยแทบไม่มีบทบาทต่อวงการหนังสือ และยังกล่าวว่าคนไทยด้วยกันเองอาจไม่ตะขิดตะขวงใจเท่าไรที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่สำหรับชาวต่างชาติ นี่คือความแปลกประหลาดพิสดาร จึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่าหากรัฐไทยรู้ตัวว่าไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาได้ ก็จงหาองค์กรมารับผิดชอบวงการหนังสือเสีย มิฉะนั้นคงถึงคราวอวสานก่อนวัยอันควรเป็นแน่

“สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดตอนนี้คือการเรียกร้องให้รัฐตั้งสถาบันหนังสือให้ได้ ตั้งให้เป็นองค์กรมหาชนที่ทำงานหนังสือเต็มรูปแบบ มีเงินมีการบริหารของตัวเอง แยกตัวออกจากกระทรวงวัฒนธรรม ทุกประเทศเขามีแต่เราไม่มี และทุกครั้งที่คุย เขาจะบอกว่าไม่มีงบ”

จรัญยังกล่าวถึงเพื่อนทำหนังสือด้วยกันทุกคน ให้พร้อมใจกันส่งเสียงให้เกิดนโยบายเพื่อคนทำหนังสือในทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่สั่นสะเทือนประเทศชาติมากหรือน้อยเพียงใด

“อย่าให้เขากำหนดนโยบายที่ไม่มีพวกเราอยู่ด้วย ต้องพยายามเอานโยบายของเรา ส่งขึ้นไปให้เขา ให้เขากำหนดนโยบายเรื่องการอ่าน ไม่งั้นจะไม่มีอนาคตของพวกเรา”

“อยากให้มันเกิดขึ้นจริง ก่อนที่แผ่นดินจะกลบหน้าผม” จรัญทิ้งท้ายอย่างคนไม่หมดหวัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save