fbpx

แปลการเมืองไทย: อภิรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยปกติแล้วการแปลหนังสือหรือบทความภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษมักมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้มีความรู้ความเข้าใจเมืองไทยอย่างที่คนไทยเข้าใจกัน แต่งานแปลชุดล่าสุดที่อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์และ Michael K. Connors ร่วมกันเป็นบรรณาธิการ ทำออกมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษในชื่อ Thai Politics in Translation: Monarchy, Democracy and the Supra-constitution พิมพ์โดย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งนอร์ดิก (Nordic Institute of Asian Studies-NIAS) เมื่อปี 2021 นั้นยืนยันความเชื่ออย่างหนึ่ง (จากมุมมองของคนที่เขียนเรื่องเมืองไทยเป็นภาษาอังกฤษมาเกือบ 30 ปี) ว่าทั้งสองภาษาให้มุมมองเกี่ยวกับการเมืองไทยได้แตกต่างกัน และในหลายกรณีแนวคิดที่มากับภาษาทั้งสองนั้นแตกต่างกันอย่างมากหรือบางทีแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องแปลตรงตัวว่า Democracy with the King as Head of State และมันไม่ได้มีความหมายเท่ากับ Constitutional Monarchy อีกทั้งคำนี้ถ้าแปลเป็นไทยว่า กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจจะได้ความหมายเฉพาะในทางภาษาศาสตร์แต่ผิดความไปมากในทางรัฐศาสตร์เพราะในแนวคิดแบบไทยๆ นั้น กษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์กว่ารัฐธรรมนูญ ในทางประวัติศาสตร์ปรัชญาแนวคิดกษัตริย์นิยม (royalism) เกิดและอยู่อย่างมั่นคงมาก่อนลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) วาทกรรมทางการเมืองยุคหลังปี 2500 บอกว่ากษัตริย์เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำไป

อุกฤษฎ์และ Connors เลือกหยิบงานเขียนของปัญญาชนร่วมสมัยมาแปลและจัดวางอย่างเป็นระบบตามกาลเวลา เริ่มจาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล (อภิรัฐธรรมนูญ) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475) กระมล ทองธรรมชาติ (อุดมการณ์ของชาติและการพัฒนาชาติไทย) เฉลิมเกียรติ ผิวนวล (ความคิดทางการเมืองของทหารไทย) เพื่อให้ภาพรวมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ วาทกรรมทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของความคิดทางการเมืองของทหาร ชนชั้นนำและรากฐานความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จากนั้นต่อด้วยงานของของผาสุก พงษ์ไพจิตร เรื่อง Civilising the State: state, civil society and politics in Thailand (ชิ้นนี้เป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว) เพื่อบอกว่าประชาธิปไตยไทยมีองค์ประกอบของภาคประชาสังคมอยู่ด้วย ก่อนที่นำประมวล รุจนเสรี (พระราชอำนาจ) มาชี้ให้เห็นถึงการโต้กลับของฝ่ายจารีตประเพณี จบด้วยสายชล สัตยานุรักษ์ (มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิดตุลาการภิวัตน์ในรัฐไทย) เพื่อบอกว่า ภาคประชาสังคม (บางส่วน) ก็แอบอิงอยู่กับอำนาจกษัตริย์เหมือนกัน

สำหรับคนอ่านภาษาไทยและเคยอ่านงานเขียนเหล่านี้มาแล้วอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเล่มนี้อีกก็ได้ แต่ความจริงแล้วการอ่านหนังสือแม้แต่เล่มเดียวกันแต่ต่างกรรมต่างวาระย่อมจะได้ความคิดและมุมมองใหม่ๆ เสมอ ในกรณีนี้บรรณาธิการทั้งสองคนไม่เพียงอธิบายว่า ทำไมหยิบงานเขียนแต่ละชิ้นมาแปลและจัดลำดับเป็นบทในหนังสือเช่นนั้น หากแต่ได้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือแปลทั่วๆ ไปคือ เขียนบทนำเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดและปรัชญาอนุรักษนิยมของไทย โดยอาศัยแว่น ‘อภิรัฐธรรมนูญ’ ของสมชายเป็นกล้องส่องทาง โดยที่บรรณาธิการทั้งสองก็ได้ออกตัวเอาไว้ก่อนแล้วว่า ผู้อ่านมีเสรีภาพที่จะมองเรื่องต่างๆ จากมุมไหนก็ได้

ที่น่าสนใจนอกจากเนื้อหาของแต่ละบทที่แปลแล้วในบทนำนั้นให้ภูมิหลังของผู้เขียนเอาไว้พอสังเขป เริ่มจาก สมชายจบปริญญาตรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2532 ปริญญาโทกฎหมายมหาชนจากที่เดียวกันในปี 2541 เขาเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทั้งทางสังคม การเมือง ให้ความเห็นเรื่องกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างสม่ำเสมอ เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันยังสอนอยู่ที่นั่น (ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกว่าสมชายเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ทำข่าวธุรกิจ งานที่สร้างชื่อให้เขาในยุคแรกๆ ในฐานะนักวิชาการคือ สิทธิดื้อแพ่งต่อกฎหมาย—คือแนวคิด civil disobedience ซึ่งตอนหลังชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แปลคำนี้แบบหรูๆ เพื่อให้กินความมากกว่าขอบเขตของกฎหมายว่า อารยะขัดขืน)

ปัญญาชนไทยเจเนอเรชันเอ็กซ์รวมทั้งสมชายมักโดนวิจารณ์เชิงตำหนิจากรุ่นพี่ว่าให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ในการเมืองน้อยเกินไป สมชายเคยพูดว่ากษัตริย์ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในระบบการเมืองไทย แต่กระนั้นเขาก็ไม่เคยปฏิเสธบทบาทที่แท้จริงของสถาบันกษัตริย์ งานวิจัยที่ทำให้สมชายได้รับรางวัลระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติปี 2560 นั้นเกิดจากการลงทุนลงแรงอ่านรายงานการประชุมของสภาและกรรมาธิการเพื่อค้นหาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475-2550 (เวลาต่อมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง’ โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน) และถ้าจะว่าไปแล้วงานชิ้นหลังนี่เองที่ช่วยเติมเต็ม ‘อภิรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งดั้งเดิมคือบทปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2550 พูดถึงรัฐธรรมนูญ 3 แบบได้แก่ แบบรัฐสภานิยม แบบอำนาจนิยม และแบบกึ่งรัฐสภาและอมาตยาธิปไตย อุกฤษฎ์และ Connors ชี้ให้เห็นว่าทั้งสามแบบนั้น สถาบันกษัตริย์และกองทัพคือผู้ที่ควบคุมการร่างมาตลอด

จากนั้นบรรณาธิการทั้งสองแนะนำนครินทร์ โดยเลือกที่จะหยิบงานในวัยเยาว์ของเขาเรื่อง ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (หนังสือนี้เป็นการรวมบทความซึ่งตีพิมพ์ในที่ต่างๆ ระหว่างปี 2529-2531 พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยปี 2533)

นครินทร์เรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์จากธรรมศาสตร์ในปี 2523 ปริญญาโทประวัติศาสตร์จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2528 หมายความความว่าเขาเริ่มเรียนรู้การเมืองไทยช่วงกระแสฝ่ายขวาอนุรักษนิยมขึ้นสูงและคลี่คลายสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

งานของเขาชุดนี้ผลิตขึ้นภายใต้เสื้อคลุมของโพสต์โมเดิร์นแบบฟูโกลต์ (Michel Foucault, 1926-1984) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเวลานั้น งานเขียนของนครินทร์ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากปัญญาชนทั้งสายอนุรักษนิยม เสรีนิยม และฝ่ายก้าวหน้า เพราะสาธยายและติดตามร่องรอยทางความคิดของการปฏิวัติ 2475 ได้อย่างละเอียดลออ และชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจของปัญญาชนไทยเกี่ยวกับ 2475 ตั้งแต่ที่มา การก่อเกิด ไปจนถึงผลของความเปลี่ยนแปลงนั้นแตกต่างและหลากหลายมาก

ในบทวาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยไทย ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในที่นี้นั้น นครินทร์จัดกลุ่มความคิดของปัญญาชนเหล่านั้นเป็น 2 สายใหญ่ๆ คือ สำนักคิดประเพณีและสำนักคิดตะวันตก อุกฤษฎ์และ Connors ไม่ได้วิจารณ์การจัดกลุ่มสำนักคิดของนครินทร์ในการเขียนบทนำ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าตัวนครินทร์เองนั้นมีความโน้มเอียงไปทางสำนักประเพณีดังจะเห็นได้จากงานในระยะหลังของเขาเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำกับสถาบันพระปกเกล้า คืองานโฆษณาชวนเชื่อว่า ประชาธิปไตยนั้นได้รับการวางรากฐานมาโดยกษัตริย์ ในฐานะตุลาการรัฐธรรมนูญเขาใช้แนวคิดของสำนักประเพณีในการปรับบทกฎหมายเพื่อพิพากษาคดีทางการเมือง

ความจริงลำพังรู้ภาษาอังกฤษแตกฉาน หากไม่มีพื้นฐานประวัติศาสตร์ไทยเอาเสียเลย อาจจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องวาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยไทยเลยก็ได้ เพราะมีบางคำซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ เช่นคำว่า ‘อเนกนิกรสโมสรสมมติ’ ก็จำเป็นต้องใช้ทับศัพท์ไปอย่างนั้น เพราะคำนี้ในภาษาไทยแปลว่าอะไรก็ยังยากลำบากเต็มทน นครินทร์เห็นว่านักคิดในสำนักประเพณีให้ค่าว่าเท่ากับประชาธิปไตย นอกจากนี้ผู้อ่านอาจจะสับสนกับการจัดกลุ่มสำนักคิดของนครินทร์ได้อีก เพราะเขาเขียนว่าบรรดานักคิดคนสำคัญในสำนักประเพณีก็ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก แต่ต่อต้านแนวคิดที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนมา แต่ถ้าหากได้อ่านเขียนอื่นๆ เช่นของธงชัย วินิจจะกูล จะช่วยให้กระจ่างมากขึ้นว่า แนวคิดบางอย่างเป็นต้นว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งสืบทอดกันมาก่อน 2475 นั้นก็มาจากตะวันตก การกล่าวว่าสำนักประเพณีต่อต้านแนวคิดตะวันตกก็ไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด ความจริงแล้วความแตกต่างระหว่างสองสำนักคิดนั้นอยู่ตรงที่ว่า อำนาจควรอยู่ในมือเจ้าหรือสามัญชนเท่านั้น ถ้าใช้แว่นแบบนี้มองควรจะตั้งชื่อสำนักคิดเหล่านี้เสียใหม่ว่า ราชาธิปไตย (monarchy) ฝ่ายหนึ่งและประชาธิปไตย (democracy) อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า และจากการศึกษาของคนอื่นๆ ในเวลาต่อมาเช่น ประจักษ์ ก้องกีรติ ณัฐพล ใจจริง และอาสา คำภา บอกให้รู้ว่าแนวคิดสองสายต่อสู้กันมาโดยตลอดจนกระทั่งปี 2500 เมื่อฝ่ายราชาธิปไตยขึ้นครองความเป็นใหญ่

มาถึงตรงนี้บรรณาธิการทั้งสองก็แนะนำงานของกระมล ทองธรรมชาติ เรื่อง ‘อุดมการณ์ของชาติและการพัฒนาชาติไทย’ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์แบบราชาธิปไตยค่อยๆ กลืนกินอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างไร โดยตัวกระมลเองนั้นไม่เพียงแต่เขียนหนังสือสอนหนังสือ หากยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุดมการณ์ราชาธิปไตยประสานกับประชาธิปไตยครึ่งใบกลายเป็นอุดมการณ์หลักของชาติที่ต่อสู้กับอุดมการณ์สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ของฝ่ายก้าวหน้าในช่วงทศวรรษ 1960-1980 เขาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองมากมาย ตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2516) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (2526) รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2539) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (2543) เขาเป็นต้นแบบให้ลูกศิษย์ลูกหาในระบบราชการมากมายในการสร้างความมั่นคงให้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และใช้อุดมการณ์ไตรภักดิ์ (ศัพท์บัญญัติของชัยอนันต์ สมุทวณิช หมายถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันทั้งสาม) ในการร้อยรัดชนชั้นและปัจเจกเอาไว้ด้วยกัน ช่วยส่งเสริมการพัฒนาไปจนถึงอ้างว่ามันช่วยลดความตึงเครียดในสังคมได้ด้วย

ต่อด้วยงานของเฉลิมเกียรติ เรื่อง ‘ความคิดทางการเมืองของทหารไทย’ (2519-2535) เพื่อใช้อธิบายแนวคิดและความหมายของสิ่งที่ปัญญาชนอนุรักษนิยมเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ว่าคลี่คลายขยายตัวไปอย่างไรบ้าง

บรรณาธิการทั้งสองหยิบงานเขียนชิ้นนี้ของเฉลิมเกียรติจากบทที่ 4 ของหนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยไทย ของสำนักพิมพ์ผู้จัดการ ปี 2535 แต่ดั้งเดิมจริงๆ แล้วงานชิ้นนี้คืองานวิจัยของเฉลิมเกียรติเรื่อง ประชาธิปไตยแบบไทย:ความคิดทางการเมืองของทหารไทย (2519-2529) ที่เสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดือนมกราคม 2531 เข้าใจว่าเฉลิมเกียรติขยายระยะเวลาออกไปในภายหลังเพื่อให้ครอบคลุมการรัฐประหารในปี 2534 และเหตุการณ์นองเลือดปี 2535 แต่การขยายเวลาออกไป 5-6 ปีไม่ได้ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนักเพราะนายทหารที่ถูกพูดถึงยังเป็นกลุ่มเดิม

ประชาธิปไตยแบบไทยในความคิดของทหารจากการศึกษาของเฉลิมเกียรตินั้นหมายถึงระบอบการปกครองแบบช่วงชั้นที่มีกษัตริย์อยู่ชั้นบนสุดได้รับการสนับสนุนค้ำจุนอย่างเข้มแข็งด้วยกำลังทหารของกองทัพ โดยที่สถาบันกษัตริย์และความเป็นชาตินั้นเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ (บางครั้งคำว่าชาติก็หมายถึงสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น) หน้าที่ในการปกป้องชาติและราชบัลลังก์เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกองทัพ ถ้าจะพูดให้ชัดกว่านั้น ประชาธิปไตยแบบไทยคือราชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของลัทธิทหารเป็นสำคัญ ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหากแต่เป็น ‘ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน’ มีหน้าที่รับใช้ชาติเหมือนกันเพียงแต่มีฐานะต่ำกว่าทหารและข้าราชการทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วการเมืองไทยไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงในภาครัฐ (ในหนังสือเรียกว่ารัฐนิยม-statist) อันประกอบไปด้วย สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และราชการเท่านั้น หากแต่งานของผาสุก ที่นำมารวมในหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การเมืองได้เคลื่อนออกจากศูนย์กลางของรัฐไปสู่ภาคประชาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็น ได้เกิดกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยในความหมายที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (ในความหมายกว้างที่หมายรวมถึงทุกอย่างที่อยู่นอกรัฐ เช่น กลุ่มทุน ภาคธุรกิจ และองค์กรเอกชนในรูปต่างๆ อย่างพรรคการเมือง กลุ่มแรงงาน วิชาชีพ องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น)

ผาสุกเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ทำงานร่วมกับคริส เบเคอร์ (Chris Baker) ผู้เป็นสามีมายาวนาน งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น บรรดานักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มชนนอกภาครัฐอื่นๆ มีความเข้มแข็งขึ้นมาได้ด้วยระบบอุปถัมภ์ บางครั้งพวกชนชั้นนำใหม่เหล่านี้ก็ได้ประโยชน์หรือร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์จากรัฐและกีดกัน ‘ประชาชน’ (ในความหมายกว้าง) ออกไปจากแวดวงแห่งอำนาจและผลประโยชน์ ในสายตาผาสุก คนที่สามารถผสานประโยชน์ของชนชั้นนำใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายตำรวจที่ร่ำรวยมาจากการแอบอิงผลประโยชน์จากสัมปทานรัฐก่อนที่จะเข้าสู่การเมือง

ทักษิณมีอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งและได้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองที่กำกับโดยรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 มากที่สุด เขาสามารถรวบรวมการสนับสนุนจากภาคประชาชน กลุ่มทุน และระบบราชการได้มากและเข้มแข็งจนท้าทายเครือข่ายชนชั้นสูงเดิมที่มีสถาบันกษัตริย์และกองทัพเป็นผู้เล่นหลัก คือสิ่งที่ดันแคน แมกคาร์โก (Duncan McCargo) เรียกว่า ‘เครือข่ายกษัตริย์’ และเกษียร เตชะพีระเรียกว่า ‘ฉันทมติภูมิพล’ ดังนั้นการหยิบงานเขียนเรื่อง พระราชอำนาจของประมวล รุจนเสรี อดีตข้าราชการชั้นสูงและสมาชิกพรรคไทยรักไทยของทักษิณเอง จึงช่วยให้เข้าใจความพยายามในการตอบโต้ตีกลับและเอาคืนของเครือข่ายกษัตริย์ได้ดีที่สุด

งานของประมวลต่างจากงานชิ้นอื่นๆ ที่หยิบมาแปลในแง่ที่ว่าไม่ใช่งานวิชาการที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัย หากแต่เป็นการเลือกหยิบ ตัดต่อ พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้พระราชอำนาจในการแทรกแซงการเมืองของกษัตริย์ หนังสือ พระราชอำนาจ ของประมวลได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางระหว่างที่มีการประท้วงต่อต้านทักษิณในปี 2548-2549 ก่อนที่จะนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 เพื่อโค่นล้มเขาและเชิดชูเครือข่ายกษัตริย์ให้โดดเด่นและมีอำนาจขึ้นมา แน่นอนว่าการเอาชนะทักษิณผู้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบากและแม้จะมีรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2557 ก็ยังกำจัดพวกทักษิณไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

แต่งานเขียนของประมวลไม่เพียงพอจะอธิบายว่า ทำไมการต่อต้านทักษิณจึงต้องไปอิงแอบกับสถาบันกษัตริย์และกองทัพ บรรณาธิการทั้งสองจึงหยิบ ‘มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิดตุลาการภิวัตน์ในรัฐไทย’ ของ สายชล นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นมาปิดท้าย เพื่อให้เข้าใจรากฐานของความคิดของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยม เฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง (เชื้อสายจีน) ทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วพวกเขาสะสมทุนและความมั่งคั่งผ่านเครือข่ายกษัตริย์และระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการมาทุกยุคทุกสมัย พวกเขามองว่าอำนาจตามจารีตประเพณีของกษัตริย์และกำลังทหารคือ สิ่งที่จะมาคานกับอำนาจของทุนและความนิยมของทักษิณได้   

พงศวลีของความคิดทางการเมืองไทยที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษมีเพียงแค่นั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเผยให้เห็นร่องรอยของการก่อเกิด คลี่คลาย ขยายตัวของมันผ่านมุมมองและตรรกะของภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทยอยู่พอประมาณ ทว่ากระแสธารของการต่อสู้ทางความคิดในสังคมไทยยังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อปรากฏว่าเยาวชนคนรุ่นหลังได้อ่าน ศึกษา ตีความ และประยุกต์ใช้มันเพื่อใช้เป็นเครื่องนำทางในการแสวงหาความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย       

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save