fbpx
เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในกระแสเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก

เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยในกระแสเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก

สมคิด พุทธศรี และภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ

“เศรษฐศาสตร์การเมืองยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่ และถ้ายังจำเป็น หน้าตาควรจะเป็นอย่างไร”

นี่คือคำถามที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนคณาจารย์ตั้งขึ้น เมื่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบการ ‘ยกเครื่อง’ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้โจทย์ตั้งต้นจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การตอบคำถามนี้จำเป็นต้องมองเห็นแนวโน้มและ ‘ขอบฟ้าความรู้’ ของเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกด้วย

ดังนั้น ธานีและทีมจึงตะลุยสำรวจหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองจากทั่วโลกกว่า 30 หลักสูตร เพื่อหาที่ทางใหม่ให้กับ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย’

อันที่จริง การสนทนาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองกับ ‘ธานี’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็เป็นโจทย์ความรู้ที่สนุกอยู่แล้ว เพราะในช่วงหลายปีหลัง เขาเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์การเมืองรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่สร้างองค์ความรู้ใหม่อันแหลมคมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ยิ่งได้สนทนากันในวันที่เขากำลังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองไทย’ ปรับตัวย่อมน่าสนใจเป็นพิเศษ

ก่อนเทอมใหม่จะเริ่ม 101 ชวนธานีคุยเรื่อง การปรับตัวของเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย ในวันที่เศรษฐศาสตร์การเมืองโลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ทำไมเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงยังคงสำคัญในโลกปัจจุบัน

คำว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง มาจากคำภาษาอังกฤษคือ Political Economy จริงๆ ถ้าแปลให้ตรงตัว คือ ‘เศรษฐกิจการเมือง’

อันที่จริงแล้ว ‘เศรษฐกิจ’ กับ ‘เศรษฐศาสตร์’ มีความหมายไม่เหมือนกัน เศรษฐศาสตร์คือ ‘ศาสตร์’ หรือหลักวิชา แต่เศรษฐกิจมีความหมายในเชิงปฏิบัติจริง และการปฏิบัติจริงจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจ โดยอำนาจที่ว่าไม่ได้หมายถึงแค่อำนาจทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นอำนาจที่มาจากสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น ‘วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง’ ในนิยามของ Political Economy จึงหมายถึงการวิเคราะห์แบบองค์รวมที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับบริบทอื่น ๆ เข้าด้วยกันผ่านอำนาจ ในโลกปัจจุบัน เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงเหตุและผล (Causality) ที่เสถียร (robust) มากขึ้น ขณะที่วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเองก็มีความสำคัญ เพราะช่วยให้มองเห็นบริบทแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความเสถียร (robustness) ของความสัมพันธ์ดังกล่าว และจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถวางนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่นปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ในทางเศรษฐศาสตร์ก็จะเสนอว่า ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางด้วยการยกระดับเทคโนโลยี เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าเทคโนโลยีดีขึ้น ผลิตภาพการผลิตจะสูงขึ้น รายได้ก็จะสูงขึ้น และความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นตามมา นี่คือความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลที่เสถียรมากในทางเศรษฐศาสตร์ ภาครัฐจึงพยายามสนับสนุนการลงทุนทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด ทั้งอุดหนุนการลงทุน และออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุน การดำเนินนโยบายเช่นนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มไม่เติบโตเหมือนที่คาดไว้ นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายจำนวนหนึ่งก็ยังคงเชื่อแบบเดิมว่า การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพียงแต่เศรษฐกิจยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากยังลงทุนด้านเทคโนโลยีไม่มากพอ จึงต้องหาทางส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก แบบนี้ไปเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่เศรษฐศาสตร์การเมืองจะบอกก็คือ ต้องถอยกลับมาตั้งคำถามก่อนว่า ถ้าประเทศไทยยังก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ ทั้งที่พยายามลงทุนทางเทคโนโลยีมามากและนานพอสมควรแล้ว มันเป็นเพราะอะไรกันแน่ เราจะเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูงได้จริงหรือ ภายใต้สังคมแบบที่เอื้อพวกพ้อง การเคารพกฎหมายแบบไทยๆ หรือการเมืองที่ตรวจสอบได้ยาก ปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่มูลค่าการลงทุนทางเทคโนโลยี แต่อยู่ที่การปรับจูนรูปแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับบริบทแบบไทยๆ และสอดคล้องกับจริตของสังคมไทยเพื่อการเติบโตต่างหากที่สำคัญ

พูดอีกแบบคือ เศรษฐศาสตร์การเมืองจะตั้งคำถามว่า ภายใต้บริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมแบบที่เป็นอยู่ ประเทศไทยจะสามารถเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูงได้โดยวิธีใด นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะนำเสนอ First Best Policy แต่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองต้องมอง Second Best Policy ให้ออก

ที่ทางของเศรษฐศาสตร์การเมืองในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ระดับโลกเป็นอย่างไร

ในปี 2560 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมืองใหม่ ซึ่งในขั้นตอนของการปรับปรุงหลักสูตร ได้มีการไปสำรวจหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก 30 ประเทศทั่วโลก พบว่า คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ได้มุ่งเข้าสู่ความเป็นสาขาวิทยาศาสตร์เต็มรูปแบบ ขณะที่หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีชื่อว่า Political Economy ได้ถูกแยกออกมาอยู่นอกคณะเศรษฐศาสตร์ และถูกลดบทบาทของหลักสูตรลง

การที่หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วถูกลดบทบาทลง น่าจะเป็นเพราะระบบสังคม กฎหมาย การเมืองของประเทศพัฒนาแล้ว ได้รับการพัฒนาไปถึงจุดที่มีประสิทธิภาพมากพอ จนหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองอาจมีความจำเป็นน้อยลง ประเทศเหล่านี้มีระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คาดการณ์ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ชัดเจน และกลไกทำงานของนโยบายก็ตรงไปตรงมาจนปัจจัยแวดล้อมและบริบทสังคมมีผลไม่มากนัก ความมีประสิทธิภาพของประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้เองที่ทำให้องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์การเมืองมีบทบาทลดลง และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงลดลงเหลือเพียงรายวิชาที่ไปแทรกอยู่ตามหลักสูตรอื่นๆ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจะไม่มีความสำคัญ เพียงแต่มันเปลี่ยนที่ทางของมัน ไปผสมกับความรู้แบบอื่นมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ การทำงานของมนุษย์ร่วมกับหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ กระบวนการล็อบบี้ของนายทุน การสร้างสัญญะของการบริโภค เป็นต้น

 

ดูเหมือนว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองกำลังขยายความสนใจไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ?

ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีลักษณะของการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (specialist) ที่สามารถออกแบบเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทั่วไป (generalist) คือมองบริบทภายนอกและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อความสำเร็จของนโยบาย

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเศรษฐศาสตร์การเมืองในยุคก่อนจึงเน้นไปที่การถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะสร้างเครื่องมือออกมาใช้ทำการศึกษาวิจัย ออกแบบนโยบาย และสร้างข้อเสนอแนะ ส่วนนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจะทำการวิพากษ์วิจารณ์เครื่องมือ นโยบาย และข้อเสนอแนะเหล่านั้น เพื่อให้เห็นจุดอ่อนและสามารถปรับปรุงได้ดีขึ้น

แต่ในปัจจุบัน โลกกำลังเปลี่ยนไปด้วยเหตุผลสองอย่างหลักๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่ง เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมจะหลอมรวมเป็นอันเดียวกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้เฟสบุ๊ค จะเห็นว่า ในเฟสบุ๊คมีองค์ประกอบครบ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันหมด

หรืออีกหนึ่งกรณีที่เห็นชัดคือ Uber หรือ Grab ที่ไม่ใช่แค่การเรียกแท็กซี่ ซึ่งมีเฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไปด้วย การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถให้เรตติ้ง ให้รีวิว ต่อกันได้ และรีวิวนั้นส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หมายความว่า เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้บริการขนส่งสาธารณะแบบใหม่ที่ทุกคนเสมือนอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งสามารถดำเนินนโยบายกำกับดูแลบริการขนส่งสาธารณะด้วยตนเอง แทนที่จะต้องพึ่งตัวแทนอย่างกรมการขนส่งทางบก อีกทั้งยังมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังอย่างเป็นระบบ และก็เป็นผลดีกับสังคมโดยรวมด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ Facebook Uber หรือ Grab ได้แสดงให้เห็นว่า การเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และสังคมได้หลอมรวมกันอย่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น การออกแบบนโยบายหนึ่งๆ หรือปฏิบัติการทางสังคมหนึ่งๆ จึงไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐศาสตร์​กระแสหลัก หรือเศรษฐศาสตร์การเมืองเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อีกต่อไป

สอง เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรอให้นักเศรษฐศาสตร์ออกแบบนโยบายและให้นักเศรษฐศาสตร์การเมืองมาคอยวิจารณ์ถกเถียงแบบเก่า มันช้าเกินไปที่จะสร้างความเข้าใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ดังนั้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนจากการถกเถียงมาเป็นการทำงานร่วมกัน เพราะในปัจจุบัน การสร้างเครื่องมือของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทแวดล้อมของนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ได้ประโยชน์จากการใช้เครื่องมือใหม่ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่หลากหลายมากขึ้น

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมือง คนจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงสำนักมาร์กซิสต์ แต่ในโลกเศรษฐศาสตร์การเมืองปัจจุบัน แนวคิดแบบมาร์กซ์ยังสำคัญอยู่ไหม

ถ้าจะให้ผมยกคำสักหนึ่งคำที่เป็นตัวแทนของเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมจะยกคำว่า Capital หรือทุน ซึ่งเป็นคำของมาร์กซ์

ทุนในความหมายของมาร์กซ์มีความหมายกว้างกว่าทุนการเงิน ทุนเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ แต่รูปแบบการสะสมทุนมาจากรากฐานของสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่มาร์กซ์พูดถึงชนชั้น (Class) ก็จะหมายถึงกลุ่มคนที่มีความสามารถในการสะสมทุนที่ไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำของชนชั้นก็เกิดจากความสามารถในการสะสมทุนที่แตกต่างกันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่ปิดกั้น กล่าวคือ คนที่สะสมทุนได้เร็วกว่า ก็จะอยู่ในชนชั้นที่สูงกว่า และใช้ทุนที่มีมากกว่านี้สร้างโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อการสะสมทุนของตนเองไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการผลิตซ้ำของทุน (Capital Reproduction) ด้านหนึ่งคือเพื่อการรักษาสถานะของนายทุน อีกด้านหนึ่งคือต้องรักษาความเหลื่อมล้ำในสังคมในดำรงอยู่

ฉะนั้น แกนหลักขององค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองยังคงเหมือนเดิมคือเรื่องทุน แต่เศรษฐศาสตร์การเมืองยุคหลังๆ ก็เอาแนวคิดเรื่องทุนไปประยุกต์ใช้อธิบายเรื่องอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ทุนที่สังคมหนึ่งๆ มีร่วมกันเรียกว่าวัฒนธรรม (Culture) การร่วมทุนก่อให้เกิดชุมชน (Community) การแย่งชิงการสะสมทุนก่อให้เกิดการแข่งขัน (Competition) การสะสมทุนในพื้นที่ที่ทันสมัยก่อให้เกิดเป็นเมือง (City) หรือแม้แต่ความขัดแย้ง (Conflict) เองก็มาจากลักษณะการสะสมทุนภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน

ในช่วงหลังๆ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักเองก็เอาคำว่าทุนไปใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทุนการเงิน (Financial Capital) ทุนมนุษย์ (Human Capital) ทุนทางสังคม (Social Capital) ทุนความงาม (Beauty Capital) หรือทุนสุขภาพ (Health Capital) ซึ่งทุนจะมีได้ ต้องอาศัยการสะสม โดยการสะสมทุนก่อให้ผลิตภาพสูงขึ้น เช่น คนที่มีทุนมนุษย์มากกว่าก็จะมีผลิตภาพการผลิตมากกว่าคนที่มีทุนมนุษย์น้อยกว่า ในด้านหนึ่ง ทุนจึงเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการพัฒนา แต่ในอีกด้านหนึ่ง คำว่าทุนก็มีความหมายเชิงความเหลื่อมล้ำไปในตัว เมื่อมีคนที่มีทุนมากก็ย่อมมีคนที่มีทุนน้อยด้วย เพียงแต่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะมองเฉพาะ performance เท่านั้น ไม่ได้มองความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น แนวคิดมาร์กซ์จึงกลับมีความสำคัญมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักได้ขยายขอบเขตมาสู่การประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องทุนเพื่อสร้างการเติบโต แต่ก็มักจะละเลยอีกด้านของทุนที่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำด้วย เช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงกลายเป็นตัวจักรหนึ่งในการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยไม่รู้ตัว และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงต้องเอาแนวคิดของมาร์กซ์อีกด้านหนึ่งเข้ามาสร้างสมดุลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ไม่ทิ้งผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำไว้มากเกินไป

กรอบคิดเรื่องทุนแบบใหม่สามารถใช้อธิบายสังคมไทยได้อย่างไร

ทุนมีความหมาย 2 ด้านตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ด้านหนึ่งการสะสมทุนหมายถึงการพัฒนาหรือประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทุนสะท้อนความเหลื่อมล้ำในตัวของมันเอง ดังนั้น การจัดการทุนในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองคือการรักษาสมดุลระหว่าง ‘ประสิทธิภาพ’ และ ‘ความเท่าเทียม’

ถ้ามองด้วยกรอบคิดของทุนแล้ว สังคมไทยไม่ได้มีการจัดการทุนที่ดีพอ ในสังคมไทยมีคน 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีทุนมากและสะสมทุนได้เร็ว กับกลุ่มที่มีทุนน้อยและไม่มีพลังในการสะสมทุน ผลก็คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเป็นเช่นนี้ คนกลุ่มแรกย่อมแสวงหาประสิทธิภาพและการเติบโต เพื่อต่อยอดการสะสมทุน ขณะที่คนกลุ่มหลังย่อมเรียกร้องการกระจายทุนใหม่ (Capital Redistribution) เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น และความต้องการ (Preference) ที่แตกต่างกันของคนสองกลุ่มนี้จึงนำมาสู่ความขัดแย้ง (Conflict) ในสังคมไทย

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

เศรษฐศาสตร์การเมืองยุคใหม่ดูจะสนใจคำถามที่หลากหลายมาก แต่ก็เหมือนจะยอมรับระบบทุนนิยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับเศรษฐศาสตร์การเมืองในศตวรรษที่ 20

งานวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองในช่วงหลังยอมรับความพ่ายแพ้ของสังคมนิยมไปพอสมควร ที่เห็นได้ชัดคืองานรุ่นหลัง ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นประเด็นความหลากหลายของระบบทุนนิยม (Varieties of Capitalism) มากขึ้น งานกลุ่มนี้เสนอว่าทุนนิยมมีได้หลายแบบและศึกษาว่าจะใช้ทุนนิยมแบบไหนหรือการจัดการทุนแบบใดจึงเกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม

ยกตัวอย่างเช่น การถกเถียงเรื่องกรรมสิทธิ์ เมื่อก่อนจะถกเถียงกันแค่กรรมสิทธิ์ของรัฐกับกรรมสิทธิ์ของเอกชนเท่านั้น เดี๋ยวนี้เริ่มมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การศึกษากรรมสิทธิ์ของชุมชน หรือกรรมสิทธิ์ของกลุ่มบุคคล รวมถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายเล็ก เป็นต้น ทำให้การจัดการทุนในยุคปัจจุบันจึงเริ่มหันมาเอื้อต่อชุมชน ชาวบ้าน หรือบริษัทขนาดเล็กมากขึ้น

ถ้าการทำงานของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงจากการถกเถียงเป็นการทำงานร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก สิ่งนี้จะทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองมีลักษณะเชิงวิพากษ์น้อยลงหรือไม่

ในภาพรวม การทำงานร่วมกันของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองอาจทำให้เศรษฐศาสตร์การเมืองมีลักษณะเชิงวิพากษ์น้อยลง หรือมีความคิดแบบถึงราก (radical) น้อยลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดการถกเถียงกันเลย การทำงานร่วมกันจะทำให้การถกเถียงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น แทนที่จะจะถกเถียงภายหลังจากที่งานวิจัยดำเนินการเสร็จ ซึ่งอาจจะปรากฏว่าการถกเถียงขนานใหญ่ที่ลดลง แต่ก็น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมมากกว่า เพราะในอนาคตต้นทุนการผลิตนโยบายควรจะถูกลง รวดเร็ว ทันเวลา และใช้งานได้จริง

แล้วเศรษฐศาสตร์การเมืองไทยอยู่ตรงไหนในกระแสธารเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก

ตอนที่ปรับปรุงหลักสูตรและเห็นการปรับตัวของเศรษฐศาสตร์การเมืองในต่างประเทศ คำถามแรกที่ถูกตั้งคือ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองยังจำเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่ ซึ่งเราคิดว่ายังจำเป็น เพราะวิธีคิด เศรษฐกิจ สังคม การเมืองของคนไทยมีลักษณะไม่เหมือนประเทศอื่น คนไทยมีความเป็นมนุษย์ค่อนข้างสูง มีอารมณ์ (emotion) เยอะมาก มีความซับซ้อนและมีความย้อนแย้งในแบบไทย ๆ ที่ทำให้บางครั้งผลักดันให้นโยบายสำเร็จแบบคาดไม่ถึง แต่บางครั้งกลับใช้ไม่ได้เลยอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน พูดอีกแบบคือ สังคมไทยมีบริบทและปัจจัยของความไม่แน่นอนที่ส่งผลต่อความสำเร็จต่อการดำเนินนโยบายเป็นจำนวนมาก

แต่ถ้าดูภาพรวมแบบไม่โกหกตัวเอง หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบที่เคยเป็นมาก็ลดบทบาทในสังคมไทยเหมือนกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตรการเมืองแบบเดิมอยู่บนพื้นฐานการวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาค่อนข้างมาก ในขณะที่โลกให้การยอมรับกับการวิเคราะห์โดยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนมากขึ้น ฉะนั้นการถกเถียงเชิงปรัชญาแม้ไม่ได้พ่ายแพ้ในความเป็นจริง แต่มันพ่ายแพ้ในเชิงการยอมรับจากสังคมไปมากพอสมควร

ดังนั้น การทำให้หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองใหม่ได้รับการยอมรับ และยังคงมีบทบาทในสังคมไทย จึงได้เพิ่มเติมองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน หนึ่ง คือนักเศรษฐศาสตร์การเมืองต้องใช้เครื่องมือสมัยใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้ ไม่ใช่เฉพาะทางปรัชญาอย่างเดียว ในหลักสูตรนี้จึงมีการเปิดวิชาใหม่หลายวิชา เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและทดลองทางเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือศาสตร์ข้อมูล (data science) ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นต้น

อีกองค์ประกอบหนึ่งคือ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองต้องสร้างนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ทำงานร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในการสร้างนโยบายได้ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในระดับหนึ่ง ดังนั้น ในหลักสูตรใหม่จึงได้เพิ่มทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์สถาบันที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเพื่อสร้างนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีความเข้าใจเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและทำงานร่วมกันได้

ในส่วนของการกำหนดนโยบาย ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยในยุคหลังมุ่งไปที่การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจปัจจัยเชิงสังคมการเมืองใดๆ เลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีนักเศรษฐศาสตร์การเมืองเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากพ่ายแพ้ด้วยระบบคิดแบบเก่า ทั้งที่แนวคิดเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมืองยังควรมีความสำคัญอยู่ การศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบใหม่จะช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์การเมืองมีเครื่องมือไปใช้ต่อสู้ ถกเถียง และมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายได้

ในระยะต้น เราคาดหวังว่านิสิตที่จบหลักสูตรนี้จำนวนหนึ่งจะสามารถไปเป็นอาจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ เพื่อต่อยอดการผลิตบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในคณะเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศไทยให้มีองค์ความรู้ที่กว้างขึ้น แต่ในระยะยาว เราคาดหวังจะให้มีบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองไปทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น

 

ถ้าจะสร้างนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบที่อาจารย์บอก วิธีการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

เราเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มกระบวนการคัดเลือก ผู้สมัครทุกคนต้องผ่านการสอบข้อเขียนตามแนว GRE เพื่อคัดเลือกผู้เรียนที่มีศักยภาพสูง และไม่มีความแตกต่างระหว่างกันมากนัก เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนที่เหมาะสมกับการแลกเปลี่ยนความคิด ประกอบกับ ปกติแล้วหลักสูตรเปิดโอกาสให้บุคคลที่จบสาขาใดก็ได้มาสมัครทำให้ได้ผู้เรียนที่หลากหลายสาขาวิชาด้วย

เมื่อเข้ามาเรียนแล้วนิสิตจะได้ลงทะเบียนเรียนวิชาวิจัยและพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ตั้งแต่เริ่มเรียน จากเดิมที่เคยได้เรียนวิชาต่างๆ ก่อนในปีแรก แล้วค่อยได้เริ่มหาหัวข้อในปีที่สอง ซึ่งมันได้ทำให้แรงบันดาลใจในการทำวิจัยที่เขาชอบหายไป แต่หลักสูตรนี้จึงพยายามทำให้นิสิตสามารถหาประเด็นที่ตัวเองสนใจตั้งแต่เริ่มเรียน และระหว่างเทอมก็จะเรียนรู้วิชาการและเครื่องมือต่างๆ ฉะนั้นองค์ความรู้ที่เรียนจะช่วยเข้าไปเติมสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งจะทำให้ความกระหายใคร่เรียนไม่หายไป

นอกจากนี้ ในการเรียนการสอนของวิชาต่างๆ ก็ได้รวบรวมคณาจารย์ทั้งจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองรุ่นใหม่ทั่วประเทศไทยมาช่วยสอน โดยเราทุกคนที่มาทำงานร่วมกันในหลักสูตรมีความเชื่อเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และพร้อมจะเผชิญการเรียนรู้ที่ท้าทายและเข้มข้นมากพอยังมีอยู่ในสังคมไทย

คนทั่วไปควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองมากน้อยแค่ไหน

องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นองค์ความรู้พื้นฐานของระบบคิดวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์การเมืองจึงเป็นวิชาการไม่ใช่วิชาชีพ ดังนั้น อาจไม่ได้จบไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองโดยตรง ความเป็นวิชาการหมายความว่าคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่คุณทำอยู่ได้ โดยเศรษฐศาสตร์การเมืองจะช่วยให้ผู้เรียนมีเครื่องมือในการทำความเข้าใจกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ดีขึ้น เช่น ถ้าเป็นนักธุรกิจก็สามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตของตนเองได้ ถ้าเป็นนักการเมืองก็อาจจะเลือกแนวทางการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ถ้าเป็นนักสังคมก็สามารถนำเสนอนโยบายที่ตรงกับความต้องการของสังคมได้ดีขึ้น เป็นต้น

ปลายทางสุดท้ายของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคือ “การบริหารจัดการทุนที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาขึ้นและมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน” ใครก็ตามที่มีความฝันกับสังคมเช่นนี้ก็มาเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองได้

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save