fbpx

มองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการเมืองไทยผ่าน “แผ่นดินจึงดาล”

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

หากนับปรากฏการณ์ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ เป็นจุดเริ่มต้น ถึงตอนนี้สังคมไทยก็อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมาแล้วกว่า 12 ปี และหากพิจารณาการครองอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 เป็นที่ตั้ง ดูเหมือนว่าความขัดแย้งจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน

“เราจะไปทางไหน?”

คำถามนี้เป็นคำถามธรรมดา แต่ว่าท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าเรากำลังอยู่ใน ‘ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของประชาธิปไตยไทย’ หลายคนอดกังวลไม่ได้ว่า สงครามบนท้องถนนอาจกลายเป็นฉากสำคัญของการต่อสู้ทางการเมืองที่รอเราอยู่ในอนาคต

หนังสือ “แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ” โดย ‘ประชาไท’ คือ หนังสือที่พยายามตอบคำถามข้างต้น ผ่านบทสัมภาษณ์นักวิชาการชั้นนำ 9 คนจากมิติที่หลากหลาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ สุรชาติ บำรุงสุข ธงชัย วินิจจะกูล พวงทอง ภวัครพันธุ์ อภิชาต สถิตนิรามัย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และเกษียร เตชะพีระ คือ จุดเด่นที่ทำให้หนังสือน่าสนใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักวิชาการทั้ง 9 คนนี้ เป็นปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญที่เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย และผลิตคำอธิบายที่สดใหม่และแหลมคมอยู่เสมอ ไม่ต้องพูดถึงว่า ในบางช่วงเวลาของวิกฤต หลายคนออกหน้าและลงสนามเพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตย และยืนหยัดปกป้องพื้นที่สิทธิและเสรีภาพที่ถูกบีบให้หดแคบลงเรื่อยๆ ด้วยตนเอง

บทวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยของนักวิชาการ 9 คนเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อเติมและเสริมกันและกัน ช่วยให้เรามองเห็นวิกฤตการเมืองไทยอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การมองการเมืองโดยเชื่อมกับระบบทุนนิยมโลก การวิเคราะห์พลวัตภายในสังคมไทย การพินิจชนชั้นทางสังคม การชำแหละโครงสร้างรัฐธรรมนูญและกฎกติกาทางการเมือง การวิพากษ์การเมืองของกองทัพ และการเจาะลึกไปที่ตัวละครและสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ

นอกจากการเลือกสรร 9 ตัวละครสำคัญในเล่มแล้ว คำนำหนังสือ คำโปรยบทสัมภาษณ์ การเรียงลำดับบทสัมภาษณ์ และการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ เป็นสิ่งที่ต้องให้เครดิตแก่กองบรรณาธิการหนังสือ  องค์ประกอบเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้การอ่านบทสัมภาษณ์อันเป็นแก่นของหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้คนอ่านมองเห็นบริบทและเข้าใจบทสัมภาษณ์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

แม้หนังสือจะมุ่งตอบคำถามว่า “เราจะไปทางไหน?” แต่การจะตอบคำถามนี้ได้ สิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคือการตั้งคำถามว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” และ “เรากำลังเผชิญกับอะไร?” เพราะคงจะมีแต่การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและรอบด้านเท่านั้น ที่จะชี้ทางไปต่อให้กับสังคมไทยได้

 

หนังสือ “แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ” (ประชาไท, 2560)

ความขัดแย้งหลากมิติ

 

ความขัดแย้งที่ปรากฏให้เห็นในสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาไม่ใช่ความขัดแย้งในระดับผิวเผินที่ใครหน้าไหนจะ ‘คืนความสุข’ กันแบบมักง่าย ด้วยการแต่งเพลงและสั่งให้คนปรองดองกัน

บทวิเคราะห์ทั้ง 9 ชิ้นสะกิดเตือนให้เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นร้าวลึกเพียงใด มีพลวัตสูงแค่ไหน ที่สำคัญคือ ที่มาของความขัดแย้งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทยเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่เสื้อเหลืองและเสื้อแดงทะเลาะกันอย่างที่หลายคนเข้าใจ

“สิ่งที่ทักษิณทำให้เกิดขึ้น คือการส่งเสริมผลประโยชน์ระดับสูงของทุนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในกระบวนการช่วงแรกก็เกิดกลุ่มทุนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา และที่สำคัญคือเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนระดับล่าง …. จึงมีชนชั้นกลางกับทุนส่วนหนึ่งที่มองทักษิณเป็นศัตรู” (กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, หน้า 26 – 27)

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ชี้ว่า หนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองไทยเป็นผลมาจากการที่กลุ่มทุนไทยแต่ละฝ่ายไม่สามารถประสานผลประโยชน์ให้ลงรอยกันได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมโลก สำหรับกุลลดา พัฒนาการของรัฐไทยนั้นแปรเปลี่ยนไปพร้อมกับระเบียบทุนนิยมโลกเสมอ

กล่าวอย่างย่นย่อ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญคือการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของทักษิณภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้การจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ในด้านหนึ่ง ทักษิณเดินตามวาระของ ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neoliberalism) ที่ให้ผลประโยชน์กับชนชั้นนายทุน ในอีกด้านหนึ่ง ทักษิณกลับดำเนินนโยบายประชานิยมที่ให้ประโยชน์กับคนชั้นล่างและเชื่อมทรัพยากรของชาวบ้านเข้ากับตลาดโลก

จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย กุลลดาชี้ว่า ทักษิณและนโยบายประชานิยมทำให้คนชั้นล่างเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไทยได้จริงเป็นครั้งแรก ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ในด้านหนึ่งจึงเป็นผลมาจากการที่ชนชั้นนำพยายามรักษาอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรไว้กับตัว เป็น “ความพยายามของระบบฟิวดัลที่จะรักษาอำนาจไว้”

“ผมว่ามันไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนเมืองเกลียดแก … แต่เพราะมันมีความรู้สึกว่าทักษิณเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางระดับล่างที่น่าดูถูก ดูหนัง ฟังเพลง ดูละครไม่เป็น…” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, หน้า 42)

อย่างไรก็ตาม ในการพินิจความขัดแย้งในสังคมไทย การดูแต่เพียงผลประโยชน์เศรษฐกิจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นว่า ทักษิณโอนทรัพยากรไปให้คนชั้นล่างเยอะก็จริง แต่เขาไม่ใช่คนแรกที่ดำเนินนโยบายเช่นนี้ ที่สำคัญ ทักษิณยังโอนทรัพยากรจำนวนมากให้กับคนเมืองเหมือนกัน เช่น นโยบายการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น      

นิธิตั้งข้อสังเกตอันแหลมคมไว้ว่า ชนชั้นกลางระดับบนและชนชั้นกลางระดับล่างมีความ ‘ไม่ลงรอย’ ทางวัฒนธรรมกันพอสมควร คนทั้งสองกลุ่มดูทีวีคนละช่อง อ่านหนังสือคนละเล่ม ดูหนังคนละเรื่อง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้เองที่ทำให้คนชั้นกลางระดับบนดูถูกคนชั้นกลางระดับล่างและทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยร้าวลึก

สำหรับนิธิ โจทย์ใหญ่สำหรับประชาธิปไตย คือการทำให้ชนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มเชื่อมต่อกันทางวัฒนธรรมและการเมือง เมื่อใดที่ทำได้ “เมื่อนั้นทหารก็หือไม่ขึ้น”

“สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราจะยืนยาวไปอีกหลายปี มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society ไม่จบเร็ว ไม่จบง่าย” (เกษียร เตชะพีระ, หน้า 206)

เกษียร เตชะพีระ มองความขัดแย้งทางการเมืองไทยในมิติเวลาที่ยาวไกลขึ้นและฉายภาพใหญ่ขึ้น โดยเสนอว่า ความขัดแย้งในสังคมเป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘รัฐพันลึก’ (Deep State) และ ‘สังคมพันลึก’ (Deep Society) ที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดอย่างน้อยตั้งแต่การปฏิวัติ 2475

‘รัฐพันลึก’ คือ กลไกรัฐต่างๆ อาจเป็นระบบราชการ กองทัพ และตุลาการ ที่ผลประโยชน์ไม่สอดคล้องกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง ดังนั้น การเคลื่อนไหวของพลังเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสั่นคลอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วน ‘สังคมพันลึก’ คือ พลังประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าที่คอยเคลื่อนไหวสั่นคลอนรัฐแบบเผด็จการ เป็นเนื้อนาบุญที่เกิดจากการต่อสู้กับประชาธิปไตยหลายระลอก

การต่อสู้ระหว่าง ‘รัฐพันลึก’ และ ‘สังคมพันลึก’ ไม่เพียงแต่กินระยะเวลายาวนานเท่านั้น แต่รูปแบบการต่อสู่ยังเปลี่ยนไปอย่างแหลมคมด้วย ปัจจุบัน ‘รัฐพันลึก’ ได้โผล่ขึ้นมาให้ผู้คนได้เห็น ด้วยการออกมาเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างโจ๋งครึ่ม พร้อมกับพยายามสถาปนาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้ลงหลักปักฐานในสังคม ในขณะที่ ‘สังคมพันลึก’ ก็ตอบโต้ด้วยการเข้าไปนิยามพื้นที่การต่อสู้ใหม่ๆ อาทิ การเข้าไปสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ เป็นต้น

“คนต่างจังหวัดสู้กับอีลีต แต่อีลีตไม่มีทางออก เพราะพรรคที่เขาเลือกไม่ชนะการเลือกตั้ง จึงไม่เหลืออะไรนอกจากพรรคราชการเป็นหัวหอก”  (อภิชาต สถิตนิรามัย, หน้า 183)

อภิชาต สถิตนิรามัย กลับไปตั้งหลักวิเคราะห์กติกาทางการเมืองไทยตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ ถ้าพูดในภาษาของเกษียร สิ่งที่อภิชาตทำคือการใช้แว่นตาเศรษฐศาสตร์การเมืองส่องหา ‘รัฐพันลึก’ ที่โผล่หัวขึ้นมาสถาปนาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคม

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 โจทย์ทางการเมืองของสังคมไทยคือ การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงตั้งใจออกแบบกฎกติกาให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง ผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐบาลทักษิณที่เข้มแข็งเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบได้

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 คือความพยายามที่จะออกแบบกติกาทางการเมืองเพื่อลดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถลดพลังของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เพียงพอ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 จึงเป็นภาคต่อของการจำกัดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และการทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้มขึ้น

อภิชาตชี้ว่า เนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด คือการสถาปนารัฐข้าราชการประจำ กลไกต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ล้วนถูกออกแบบให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และบรรดาข้าราชการเกษียณคือตัวเต็งที่จะมานั่งในตำแหน่งเหล่านี้

 

ตัวละครเล่นผิดบทบาท

 

วิกฤตการเมืองไทยทำให้เราได้เห็นบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวละครสำคัญทางการเมืองหลายตัว หากพูดในกรอบของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทหารไทย ศาลไทย และเอ็นจีโอไทย น่าจะเป็นตัวละครที่เล่นผิดบทบาทที่ควรจะเล่น

“ตราบใดที่รัฐสภาไม่สามารถควบคุมกองทัพได้แบบที่ประเทศประชาธิปไตยควรจะเป็น ความฝันที่รัฐประหารจะหมดไปจากสังคมไทยอาจจะเป็นอะไรที่ห่างไกล” (สุรชาติ บำรุงสุข, หน้า 141)

หากการเล่นผิดบทบาทของทหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทยถอยหลัง สุรชาติ บำรุงสุข ชี้ให้เห็นว่า รากของปัญหานี้คือการที่สังคมไทยไม่มี ‘ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย’ กล่าวคือ สังคมไทยฝันอยากเห็นการปฏิรูปการเมือง แต่กลับไม่ค่อยถกเถียงกันมากนักว่าเราต้องการระบบการเมืองแบบใด “สุดท้ายมันจึงเป็นเหมือนความฝันชุดใหญ่ และเราไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนัก นอกจากฝัน”

สุรชาติเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองกับการปฏิรูปกองทัพเป็นเหรียญคนละด้าน หากไม่มีการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปกองทัพจะเกิดขึ้นไม่ได้ และหากไม่มีการปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน ที่ผ่านมา สังคมไทยคิดเรื่องนี้น้อยมาก แม้ในอดีตจะเคยมีการส่งตัวแทนพลเรือนเข้าไปควบคุมกองทัพ แต่ก็เป็นแค่ในระดับบุคคลเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้ว สถาบันทหารแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ เลย

คำถามสำคัญที่ชวนคิดต่อคือ ในยุคที่ประเทศไทยเป็น ‘รัฐทหาร’ มีปัจจัยอะไรที่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพได้บ้าง ต่อคำถามนี้ สุรชาติเห็นว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ เพื่อทำให้สังคมเห็นว่า กองทัพมีปัญหาและต้องได้รับการแก้ไข

“ทุกวันนี้หลายคนสงสัยว่าจะเรียนกฎหมายไปทำไม เพราะนักกฎหมายจำนวนหนึ่งทำให้เห็นว่าไม่ต้องมีเหตุผล” (วรเจตน์ ภาคีรัตน์, หน้า 121)

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นว่า ศาลและกระบวนการตุลาการภิวัตน์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการซ้ำเติมวิกฤตการเมืองไทย เพราะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว การนำกลไกทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาทางการเมือง คือการทำลายรากฐานทางกฎหมายเสียเอง

นอกจากการใช้กฎหมายปนกับการเมืองแบบ ‘มั่ว’ ไปหมด สถาบันตุลาการยังมีปัญหาเรื่องการถูกตรวจสอบถ่วงดุลและการรับผิดด้วย  ที่ผ่านมาไม่มีระบบตรวจสอบและคานอำนาจศาลที่ดีเพียงพอ ในขณะที่การตรวจสอบจากภายนอก เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงความเห็นทางวิชาการก็ไม่สามารถทำได้ หรือไม่มีพลังมากพอ

วรเจตน์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ปัญหาของนักกฎหมายคือการรับใช้อำนาจ การอ้างหลักสำนักกฎหมายบ้านเมืองที่ว่า “กฎหมายคือกฎหมาย ถ้ามันผ่านออกมาแล้วมีสภาพบังคับ คนยอมรับ ก็ย่อมเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะมาจากเผด็จการหรือไม่” เป็นการอ้างที่ผิด และไม่เกี่ยวกับความคิดทางนิติปรัชญา เพราะถึงแม้สำนักกฎหมายบ้านเมืองจะเชื่อว่า “กฎหมายคือกฎหมาย” แต่ว่า นักกฎหมายก็ยังต้องตอบปัญหาเรื่องมโนสำนึกและศีลธรรมอยู่ ไม่ใช่อ้างแต่ความเป็นกฎหมายแบบลอย ๆ

“เอ็นจีโอกลายเป็นกลุ่มองค์กรที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐราชการ เป็นพันธมิตรกับรัฐราชการเพื่อแลกกับความอยู่รอดของตนเอง … และเห็นว่าคุณภาพของประชาธิปไตยไม่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของตนอีกต่อไป” (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, หน้า 56)

ทำไมเอ็นจีโอซึ่งเคยเป็นหัวหอกของประชาธิปไตยจึงหันหลังให้ประชาธิปไตย? คำถามนี้น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามเบื้องหลังบทวิจารณ์เอ็นจีโออันดุเดือดของของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ปิ่นแก้วชี้ให้เห็นว่า เอ็นจีโอไทยได้เปลี่ยนวิธีคิดทางการเมืองอันส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างสำคัญ โดยได้เดินออกห่างจากหลักการ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ และหันไปทำงานกับรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจตัวเอง

เอ็นจีโอเป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาต่อรองอำนาจและทรัพยากรภายใต้กติกาทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านเชื่อมต่อกับพรรคการเมืองได้โดยตรง นักการเมืองมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ในขณะที่เอ็นจีโอมีอำนาจต่อรองน้อยลง หากมองในแง่นี้ การหันหลังให้ประชาธิปไตยของเอ็นจีโอส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาผิดหวังจากระบอบการเลือกตั้งที่ (พวกเขามีส่วนผลักดัน) แต่กลับทำให้ขบวนการเอ็นจีโออ่อนแอลง

ความเปลี่ยนแปลงของเอ็นจีโอยังเป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านแหล่งทุนด้วย การถอนตัวของแหล่งทุนจากต่างประเทศยังมีผลทำให้เอ็นจีโอไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านการเงิน หลายองค์กรจึงหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนภายในประเทศซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นเงินทุนของรัฐ ดังนั้น เอ็นจีโอจึงมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับพลังราชการ ประนีประนอมเป้าหมายการทำงานเพื่อให้อยู่รอดทางการเงิน จนพลอยทำให้เสียพลังถ่วงดุลคัดง้างรัฐและทุนไปด้วย

 

สิ่งที่เราไม่เคยเห็น

 

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถออกจากวิกฤตการเมืองได้เสียที อาจเป็นเพราะในวิกฤตการเมืองครั้งนี้ เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และมองไม่เห็นสิ่งที่เราเคยเห็นอีกต่อไปแล้ว

“ผมคิดว่าปัญหาที่เจอในปัจจุบันก็คือ มีอำนาจอธิปไตย แต่ไม่มีผู้กุมอำนาจคนไหนที่มีอำนาจนำ” (เกษียร เตชะพีระ, หน้า 211)

เกษียรเห็นว่า ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดอำนาจนำที่เคยมีมาตลอด ลำพังอำนาจอธิปไตยไม่สามารถนำพาระบอบการเมืองให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่นได้ แต่ต้องการอำนาจนำด้วย ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครมี

เหตุผลที่การเมืองไทยต้องการอำนาจนำเป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ โครงสร้างอำนาจในสังคมไทยเป็นแบบรัฐรวมศูนย์ แต่ด้อยเอกภาพ และมีชนชั้นนำหลายกลุ่ม ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นเพราะทุกฝ่ายยอมอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข แต่ปัจจุบัน เงื่อนไขเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป

หลังจากนี้จะสร้างอะไรขึ้นมาเป็นข้อตกลงใหม่ และจะสร้างอำนาจนำได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ใหม่ที่สังคมไทยต้องคิด

“การเปลี่ยนบัลลังก์กลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถาบันกษัตริย์ในความหมายกว้างที่รวมเครือข่ายด้วย ใน 30-40 ปีที่ผ่านมาได้มีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมืองหรือต่อความเป็นไปของบ้านเมืองมาก” (ธงชัย วินิจจะกูล, หน้า 168)

สำหรับคนไทยทั่วไป การเปลี่ยนจากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงชีวิตหนึ่ง เพราะก่อนหน้าวันที่ 13 ตุลาคม 2559 คนไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นคน ‘แผ่นดินเดียว’ และไม่เคยพบพานประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน  ธงชัย วินิจจะกูล จึงชวนไปสำรวจประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนสมัยจากรัชกาลที่ 5 สู่รัชกาลที่ 6 เพื่อช่วยให้เข้าใจ ‘การเปลี่ยนผ่านในประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง’ มากขึ้น

ธงชัยเปรียบเทียบให้เห็นว่า สาเหตุที่การเปลี่ยนรัชสมัยในสังคมไทยมีความสำคัญ เพราะปฏิบัติการทางการเมืองไทยเป็นจำนวนมากผูกอิงกับพระราชอำนาจนำ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงภายในสถาบันกษัตริย์จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในตะวันตกที่กษัตริย์ไม่มีอำนาจนำทางการเมือง จะเห็นว่า การเปลี่ยนบัลลังก์จะไม่มีลักษณะของ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ เหมือนสังคมไทย

พูดอีกแบบคือ การที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรัชสมัยย่อมสะท้อนลักษณะบางประการระหว่างความสัมพันธ์ของกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์ และระเบียบทางสังคมการเมืองไทย

ลักษณะบางประการนี้เองมีส่วนกำหนดอนาคตทางการเมืองไทยอย่างสำคัญ

 

“เราจะไปทางไหน?”

 

เมื่อต้องประเมินอนาคต บทวิเคราะห์ทั้ง 9 ชิ้นนี้แสดงความกังวลอย่างชัดเจนว่า ระบอบและกฎกติกาทางการเมืองที่เป็นอยู่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่ความรุนแรง ทว่าอย่างน้อยหลายคนก็เห็นตรงกันว่า ฉากทัศน์เช่นนี้ไม่ใช่เงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงที่สุดแล้ว หากสังคมไทยต้องการออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ การปฏิบัติตามแนวทางของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะคงจะมีแต่ “การทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และสรุปบทเรียน” เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาด้วยปัญญา และหลีกเลี่ยงความสูญเสียโดยไม่จำเป็นได้

น่าเสียดายว่า ที่ผ่านมาเราทำอย่างนี้น้อยเกินไป

 

หมายเหตุ: ดูรายละเอียดการซื้อหนังสือ “แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ” ได้ ที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save