fbpx
คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ : นโยบายไทยในอ่าวเบงกอล

คำถามต่อรัฐบาลชุดใหม่ : นโยบายไทยในอ่าวเบงกอล

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

 

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่มีความสำคัญที่สุด และถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในห้วงเวลาที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เราได้เห็นการประกาศนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง แต่นโยบายด้านหนึ่งซึ่งแทบจะไม่ได้มีการกล่าวถึง ไม่มีการนำเสนอและไม่ได้มีการดีเบตถกเถียงเลย ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน คือนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีโลก

ดังนั้น ในระหว่างรอผลการจัดตั้งรัฐบาล ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านอาณาบริเวณศึกษา ขอตั้งคำถามและให้ข้อเสนอแนะ โดยเริ่มจากอนุภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับไทยทั้งในทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกันทางทะเล มิติทางสังคม ภาษา วัฒนธรรม และเต็มไปด้วยโอกาสทางการค้าและการลงทุน นั่นคือ อนุภูมิภาคอ่าวเบงกอล

 

อนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลอันประกอบไปด้วย เมียนมา บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาณ เนปาล และประเทศไทย เป็นตลาดขนาดใหญ่ของประชากรขนาด 1.5 พันล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ารวมสูงมากกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5-8% ต่อปี แค่จำนวนคนรวย-รวยมากที่สุดในอ่าวเบงกอล ก็มีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาแล้ว (ประมาณ 328 ล้านคน) และแนวโน้มที่เห็นชัดเจนอย่างต่อเนื่อง ก็คือภาคเอกชนไทยต่างให้ความสนใจ และต้องการออกไปทำการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

แน่นอนว่าประเทศที่ถือเป็นพี่ใหญ่ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ รอบอ่าวเบงกอล คือประเทศอินเดีย โดยปัจจุบันหากพิจารณาจากมูลค่า GDP PPP ที่มีการปรับผลของความแตกต่างของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อแล้ว อินเดียถือเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และยังมีการคาดการณ์จากหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น Economic Intelligence Unit แห่ง The Economist และ PWC: Price Waterhouse Coopers ที่ต่างเห็นตรงกันว่าในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน อินเดียคือมหาอำนาจในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอ่าวเบงกอลเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแห่งนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดีย เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งหลังจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในห้วงเวลาของสงครามเย็น อดีตนายกรัฐมนตรี Rajiv Gandhi เป็นนายกฯ อินเดียคนแรกที่เดินทางเยือนไทยในปี 1986 พร้อมกับแนวคิดที่จะปูทางไปสู่นโยบาย ‘มองตะวันออก’ (Look East Policy) ­ของอินเดีย ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายของรัฐไทยในขณะนั้นภายใต้การนำของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนโยบายหลักคือ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และนโยบาย ‘มองตะวันตก’ (Look West Policy)

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายต่างๆ ระหว่างไทยกับอินเดีย มิติเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมมากนัก จนกระทั่งฝ่ายไทยริเริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียในปี 2001 แม้ว่าจะมีการเริ่มต้นบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ในสินค้าที่จะไม่มีการจัดเก็บภาษีระหว่างกันเพียง 82 รายการสินค้า (ภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น 83 รายการสินค้า) ในปี 2006 แต่จนถึงปัจจุบัน การหาข้อสรุปการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

ในขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ที่เริ่มต้นในปี 2003 ดูจะมีความคืบหน้ามากกว่า โดยสามารถหาข้อสรุปได้ในปี 2009 และเริ่มต้นบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2010 ซึ่งในทั้ง 2 ข้อตกลง ประเทศไทยล้วนแต่เป็นฝ่ายเกินดุลการค้าทั้ง 2 กรอบข้อตกลง

ในปี 2019 ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโดยตรงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ภารกิจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเจรจาเพื่อให้ฝ่ายอินเดียยอมเข้าร่วมและหาข้อสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ นั่นคือ ข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ อาเซียน+6 ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

มูลค่า GDP รวมกันของ RCEP จะมีมูลค่าราว 49.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (GDP, PPP) หรือเทียบเท่ากับ 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจรวมของทั้งโลก แน่นอนว่า การหาข้อสรุปการเจรจาซึ่งจะนำไปสู่การบังคับใช้ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อยืนยันว่า ไทย อาเซียน และคู่เจรจายังคงยืนยันในการเป็นจุดศูนย์กลางห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) และสนับสนุนแนวคิดเรื่องการค้าเสรีที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบทางลบไปทั่วโลก

ปัจจัยที่ต้องจับตามองอีกประเด็นของอินเดียคือ อินเดียจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งน่าจะเริ่มต้นรู้ผลคะแนนการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2019 การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่าง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือนาย Narendra Modi แห่งพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) กับรุ่นที่ 4 ของตระกูล Nehru/Gandhi นั่นคือ นาย Rahul Gandhi แห่งพรรค Indian National Congress (INR)

แม้ว่า Modi แห่ง BJP จะมีนโยบายค่อนไปในทางชาตินิยม และมีแนวนโยบายในรูปแบบของการปกป้องทางการค้า ต่างจากฝ่ายของ INR ซึ่งจะมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า ทว่าจากการที่คณะทำงานทั้งของไทย และอาเซียนที่ทำงานกับทีมของฝ่าย BJP มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็เชื่อว่าความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ และสายสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน น่าจะเป็นประโยชน์และทำให้การเจรจาการค้ากับอินเดียไม่ว่าจะเป็นในกรอบ ASEAN-India, Thai-India และ RCEP น่าจะมีความคืบหน้า ในขณะที่ Team Thailand ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นท่านเอกอัครราชทูต ทีมของกระทรวงการต่างประเทศ และทีมของกระทรวพาณิชย์เอง ก็ทำงานมานานจนมีความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในเรื่องของการเจรจา การค้า การลงทุน ตลอดจนวิธีคิดของฝ่ายอินเดีย

สำหรับความสัมพันธ์ของไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ในอนุภูมิภาคอ่าวเบงกอลนั้น เริ่มต้นความสัมพันธ์โดยรัฐบาลไทยในปี 1997 โดยฝ่ายไทยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี การคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว และประมง รวมทั้งส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน

โดยในระยะเริ่มแรก มีประเทศสมาชิกดั้งเดิม 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย ลงนามในกรอบความร่วมมือ Bangladesh – India – Sri Lanka – Thailand Economic Cooperation (BISTEC) ต่อมาเมียนมาได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม 1997 ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือเป็น Bangladesh – India – Myanmar – Sri Lanka – Thailand Economic Cooperation (BIMSTEC) และในภายหลัง เนปาลแลภูฏานได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม 2003 ทำให้ในปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ และได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC)

ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า BIMSTEC ครั้งที่ 4 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี BIMSTEC (BIMSTEC Free Trade Area) ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้าของประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมลงนามในกรอบเขตการค้าเสรีดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2004 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC Trade Negotiating Committee: BIMSTEC TNC) เพื่อเจรจาจัดทำกรอบเขตการค้าเสรี BIMSTEC (Framework Agreement on the BIMSTEC Free Trade Area) ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ครอบคลุมกรอบการเจรจา 3 สาขาหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และ การลงทุน ภายใต้ BIMSTEC FTA

ปัจจุบัน ศรีลังกาทำหน้าที่เป็นประธานถาวร BIMSTEC TNC และมีบังกลาเทศเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการ BIMSTEC ณ กรุงธากา

ที่ผ่านมา มีการประชุม BIMSTEC TNC ไปแล้วมากกว่า 20 ครั้ง โดยในครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2015 ณ จังหวัดขอนแก่น ได้มีข้อตกลงให้แต่ละประเทศสมาชิกเตรียมการ เพื่อนำเสนอรายการสินค้าที่สามารถทำการลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันได้ในลักษณะ Negative List อย่างไรก็ตามข้อตกลงการค้าเสรี BIMSTEC ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากเหตุผลในอดีตคือ ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศศรีลังกา ในขณะที่อินเดียเองก็ขอถอนตัวจาก BIMSTEC TNC

ล่าสุด ประเทศสมาชิกได้เดินหน้าความร่วมมือโดยการพิจารณาร่างข้อตกลง BIMSTEC Coastal Shipping Agreement  เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2017 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้การขนส่งทางทะเลในบริเวณใกล้ชายฝั่ง (20 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศสมาชิก) เกิดขึ้นอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ส่วนใหญ่เป็นการค้าและการขนส่งในบริเวณชายฝั่งของอ่าวเบงกอล ซึ่งไม่ได้เป็นเส้นทางที่เป็นการเดินเรือในส่วนลึกของมหาสมุทร (Deep Sea Shipping)

จะเห็นได้ว่าความร่วมมือ และความเชื่อมโยงของไทยในอ่าวเบงกอล หากมองในมิติสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และในมิติภูมิศาสตร์ ไทยกับอ่าวเบงกอลและมหาอำนาจอินเดียคือความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง แต่หากพิจารณาในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ อ่าวเบงกอลถือเป็นความท้าทายใหม่ท่ามกล่างยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค ที่มหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ต่างก็ต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาด้วยกันทั้งสิ้น

ที่สำคัญ ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงทะเลอันดามันในอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ทะเลอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก เราคือหนึ่งในจุดเชื่อมโยงของอนุภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งนี้ เข้ากับตลาดโลกและการขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ

เชื่อว่าหากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางบวก ทั้งกับไทย อินเดีย รวมถึงอนุภูมิภาค BIMSTEC เพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทย เราน่าจะเห็นและได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับเพื่อนบ้านแห่งนี้มากยิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save