วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง
กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวฆาตกรรมฆ่ายกครัวที่จังหวัดกระบี่ สะเทือนขวัญคนทั้งประเทศ
เรื่องเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เมื่อกลุ่มคนร้าย เป็นชายประมาณ 6-7 คน แต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหาร พร้อมอาวุธและใช้รถ 2 คัน บุกเข้าไปในบ้านนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้าน ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ และสังหารคนในบ้านตายหมด 8 ศพ ก่อนหลบหนีไปอย่างอุกอาจ
คนร้ายแทบไม่ได้ทิ้งหลักฐาน กล้องวงจรปิดในบ้านก็ถูกทำลายหมด
แต่ตำรวจไทยใช้เวลาเพียง 7 วันในการแกะรอยหาหลักฐาน จนสามารถนำไปสู่การจับกุม ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การสารภาพหมดสิ้น
7 วันตำรวจไทยปิดคดีสะเทือนขวัญได้สำเร็จ ได้รับคำชื่นชม อุ่นใจคนทั้งประเทศ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแปลเอกสารสำนวนคดี ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน นายวรยุทธ หรือบอส ทายาทเจ้าของกระทิงแดง ผู้ต้องหาขับรถชนดาบตำรวจเสียชีวิต ล่าสุดทางพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ทำการแปลเอกสารเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว
5 ปีผ่านไป คดีของบอส ที่มีหลักฐานชัดเจน จับผู้ต้องหาได้ กลับค่อยๆ คืบหน้าไปทีละนิด จนบัดนี้ผู้ต้องหาหนีไปเมืองนอกแล้ว
ปกติคดีขับรถชนคนตายโดยประมาท หากหลักฐานชัดเจน การทำสำนวนคดีส่งฟ้องศาลเสร็จไม่เกินหกเดือน แต่เหตุใดคดีนี้ผ่านไปห้าปียังคลานต้วมเตี้ยมนั้น บรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าวตรงกันว่า ทีมทนายฝ่ายผู้ต้องหาพลิกตำราหาช่องทางกฎหมายอย่างเต็มที่
ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าการลงทุนเพื่อต่อสู้และพลิกคดีนี้มหาศาลเพียงใด และให้กับใครบ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เกิดคดีสะเทือนขวัญกลางกรุงเกี่ยวข้องกับทายาทแสนล้าน “นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา” อายุ 27 ปี หนุ่มนักเรียนนอกจากอังกฤษ ขับรถซุปเปอร์คาร์ เฟอรารี่ มาด้วยความเร็ว ชนรถจักรยานยนต์ขับขี่โดยดต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ บริเวณหน้าปากซอยสุขุมวิท 49 จนเสียชีวิต
พอชนเสร็จ บอสก็ขับรถหนีเข้าบ้าน และมีพ่อบ้านออกมารับแทนว่าเป็นคนขับ แต่ทนกระแสกดดันไม่ไหว เลยออกมาสารภาพว่าเป็นคนขับรถเอง
บอสเป็นลูกชายคนเล็กของเจ้าพ่อกระทิงแดง มหาเศรษฐีผู้มีทรัพย์สินกว่า 346,200 ล้านบาท เป็นอันดับสี่จากการจัดอันดับเศรษฐีเมืองไทยประจำปี 2559 ของนิตยสารฟอร์บส์
เป็นลูกคนรวยมหาศาลแบบนี้ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นได้เสมอ
ช่วงแรกในวันเกิดเหตุตำรวจตั้งข้อหา สี่ ข้อหาคือ
1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คดีนี้มีอายุความ 15 ปี ยังเหลือเวลาอีก 10 ปี สิ้นสุด 3 ก.ย. 70
2. ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกชน หรือชนแล้วหนี อายุความ 5 ปี หรือวันที่ 3 ก.ย. 60
3. ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด อายุความ 1 ปี
4. ขับรถโดยขณะมึนเมา
แต่แค่ข้อหาขับรถขณะมึนเมา ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจปริมาณแอลกฮอล์ทันที เหตุการณ์เกิดตอนเช้ามืด แต่บอสถูกจับตรวจเลือดตอน 5 โมงเย็น ตำรวจทำสำนวนสอบสวนว่า ผู้ต้องหาดื่มสุราหลังจากเกิดเหตุเพราะเครียด ถูกกดดันจากเหตุการณ์ ข้อหานี้จึงตกไป แต่มีคำฮิตขึ้นมาแทนคือ “เมาหลังขับ”
สอดคล้องกับความเห็นของอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง เพราะผลการตรวจเลือดแม้ว่าจะมีปริมาณแอลกฮอล์เกิน แต่ก็ระบุไม่ได้ว่า ดื่มก่อนขับหรือหลังขับ
ส่วนข้อหาขับรถเกินกว่ากฎหมายกำหนด มีอายุความ 1 ปี ตำรวจก็ทำสำนวนล่าช้าจนปล่อยให้หมดอายุความไปเอง พอนักข่าวซักว่าทำไมล่าช้าขนาดนี้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็แก้เกี้ยวว่า จะมีการสอบสวนภายในและลงโทษทางวินัยตำรวจที่รับผิดชอบ แต่เรื่องเงียบหายไป
กลยุทธ์ของฝ่ายจำเลยคือการเตะถ่วงเวลาการทำคดีให้ล่าช้าออกไปเรื่อยๆ จนหมดอายุความไปทีละข้อสองข้อ โดยใช้เทคนิคสอบสวนแล้ว สอบสวนอีก ไปทีละนิด สุดท้ายคดีก็หมดอายุ
การหมดอายุความไปสองคดี คือ เมาแล้วขับ และ ขับรถด้วยความเร็ว มีผลสำคัญทำให้ข้อหาแรก อันเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุด คือ ขับรถชนคนตายโดยประมาท มีน้ำหนักอ่อนลงทันที หากจะมีการพิจารณาในชั้นศาล เพราะผู้ต้องหาไม่ได้เมา และข้อหาขับรถเร็วก็ตกไปแล้ว จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าขับรถด้วยความประมาทหรือไม่
หรือเผลอๆ เป็นการ “ประมาทร่วม” จากผู้เสียชีวิตด้วย คือต่างคนต่างผิดด้วยกันทั้งคู่
และหากคดี ชนแล้วหนี ที่จะหมดอายุอีกสองเดือนข้างหน้าหมดไปอีกคดี น้ำหนักของการสั่งฟ้องข้อหาขับรถชนคนตายโดยประมาทก็จะยิ่งอ่อนยวบลงไปอีก ซึ่งหากเลวร้ายสุดขีดคือ พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง
ตลอดระยะเวลาห้าปี บรรดานักกฏหมายฝ่ายผู้ต้องหาพยายามเตะถ่วง เพื่อให้ชะลอการออกหมายจับและขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มไปเรื่อยๆ
เทคนิคสำคัญอีกประการคือ ทนายขอเลื่อนขั้นตอนฟังสั่งคดีอีกถึง 6 ครั้ง คดีนี้จึงยังไม่ถึงชั้นศาล และฝ่ายผู้ต้องหาก็คาดว่า หากเรื่องเงียบๆ ไป ก็จะไม่มีใครสนใจ แต่สื่อมวลชนไทยกลับเกาะติดข่าวตลอด และสุดท้าย สำนักข่าวต่างประเทศเสนอข่าวบอสเดินทางใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกอย่างปกติสุขเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสังคม
ดังนั้นเมื่อบอสไม่มารายงานตัวต่ออัยการเป็นครั้งที่ 7 เพราะอยู่ต่างประเทศ จึงมีการออกหมายจับบอสเมื่อ 27 เมษายนที่ผ่านมา
เกมไม่เป็นไปตามคาดของบรรดาฝ่ายผู้ต้องหา
ขั้นตอนต่อไปคือการทำเอกสารส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่ตำรวจไทยใช้เวลาอีกสามเดือนในการแปลเอกสารสำนวนคดีเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ช่วงเวลานี้มีเทคนิคเล็กๆ คือการตีปิงปองว่าใครรับผิดชอบการแปลภาษาอังกฤษ ระหว่างตำรวจท้องที่ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าของคดี กับกองบังคับการตำรวจต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายแรกอ้างว่าส่งไปให้สองเดือนแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ โดยที่ฝ่ายหลังอ้างว่า ไม่ใช่งานของเขา สุดท้ายก็ถ่วงเวลาได้สามเดือน
ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ เอกสารแปลเสร็จแล้ว แต่อยู่ในระหว่างการเดินทางจากสถานีตำรวจทองหล่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ผู้บัญชาการเซ็นรับทราบ ซึ่งคงใช้เวลาหลายวัน และขั้นตอนต่อไปส่งเอกสารถึงอัยการ และผ่านไปกระทรวงต่างประเทศ
แต่ที่สำคัญคือ ตำรวจต้องสืบสวนชี้เป้าให้ชัดเจนก่อนว่าผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ที่ประเทศใด กระทรวงต่างประเทศถึงดำเนินการติดต่อประเทศนั้นๆ ได้
หากดูระยะทางจากสน.ทองหล่อ ไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังใช้เวลาส่งเอกสารหลายวัน ก็พอคาดเดาได้ว่า ตำรวจไทยจะใช้เวลาอีกนานเพียงใดกว่าจะชี้เป้าว่า ผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ประเทศใด เพื่อขอความร่วมมือในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
พนันกันไหมว่า ระหว่างการได้ตัวผู้ต้องหา และส่งกลับประเทศ กับคดีชนแล้วหนี ที่จะหมดอายุความ 3 ก.ย. นี้ เรื่องใดจะเกิดก่อน
สองคดีนี้สอนให้รู้ว่า
ภายใต้ดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะทำแบบใด