fbpx

เผาธงที่ไม่ใช่ชังชาติ เปลือยกายที่ไม่ใช่ลามกจกเปรต

การแสดงออกทางการเมืองมิใช่เพียงการใช้คำพูดหรือตัวหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังรวมไปถึงการกระทำอื่นอันหลากหลายรูปแบบ ในหลายสังคมและต่างจังหวะเวลา ผู้คนต่างเลือกใช้วิธีการแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยหัวใจสำคัญก็คือการมุ่งสื่อความหมายถึงความเห็น ทรรศนะ จุดยืนของตนให้แก่บุคคลที่ได้พบเห็นหรือได้รับฟัง แต่จะพบว่าการกระทำหลายอย่างถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือละเมิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน  

บทความชิ้นนี้ชวนพิจารณาถึงการกระทำสองรูปแบบที่มักกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากว่าจะจัดเป็นเสรีภาพในการแสดงออกหรือเป็นการกระทำที่ควรต้องได้รับโทษ สองประเด็นที่ว่านี้คือ การเผาธงชาติและการเปลือยกายในพื้นที่สาธารณะ

การเผาธงชาติของ Johnson

ในการประชุมของพรรครีพลับลิกันเมื่อ ค.ศ. 1984 ได้มีผู้มาชุมนุมเพื่อประท้วงต่อนโยบายของรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี Ronald Reagan ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้เดินไปตามถนน Dallas มีการตะโกนคำขวัญ และการพ่นสีบนกำแพงของอาคาร โดย Gregory Lee Johnson เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินในกิจกรรมการชุมนุมครั้งนี้

เมื่อการชุมนุมได้มาถึงหอประชุมของเมือง Johnson คลี่ผืนธงชาติที่ได้รับมาจากผู้ชุมนุมและจุดไฟเผาธงชาติผืนดังกล่าว ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันตะโกนว่า “America, the red, white, and blue, we spit on you.” การชุมนุมยุติลงโดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกาย พยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายให้การว่าพวกเขารู้สึกไม่พอใจอย่างมากจากการเผาธงชาติ

Johnson เป็นเพียงบุคคลเดียวที่ถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลของ Texas ในข้อหาการดูหมิ่นต่อวัตถุอันเป็นที่เคารพตามกฎหมายอาญาของมลรัฐ (desecration of a venerated object) ในชั้นแรกศาลได้มีคำตัดสินให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ (Texas Court Criminal of Appeals) ได้กลับคำตัดสินโดยเห็นว่าหากพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ (The First Amendment) แล้ว มลรัฐไม่มีอำนาจในการลงโทษต่อการกระทำในลักษณะดังกล่าว

ต่อมาคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงสหรัฐฯ (Supreme Court) ซึ่งรู้จักกันในคดี Texas v. Johnson, United States Supreme Court, 1989[1] และกลายเป็นคดีหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ของประชาชน ในการตัดสินข้อพิพาทในคดีมีประเด็นสำคัญในการพิจารณาสองประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น (freedom of speech) ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้หรือไม่[2] และสอง ข้อจำกัดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะในกรณีการเผาธงชาติ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายพิเศษแตกต่างไปจากสิ่งของชนิดอื่น

ประเด็นแรก แม้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จะใช้คำว่า speech แต่ก็ไม่ทำให้จำกัดไว้เฉพาะการแสดงออกที่เป็นถ้อยคำหรือตัวหนังสือ แต่ศาลสูงมีความเห็นว่าการกระทำในลักษณะใดที่เป็นการสื่อความและเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ที่พบเห็น เช่น การสวมปลอกแขนสีดำประท้วงกองทัพอเมริกันในสงครามเวียดนาม การนั่ง (sit-in) โดยคนดำในร้านที่รับเฉพาะคนขาว เป็นต้น ก็ล้วนถือเป็นการแสดงออกที่อยู่ภายในของเขตที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีการเผาธงชาติในการประท้วงต่อนโยบายของรัฐบาลก็ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกที่มุ่งสื่อความมุ่งหมายต่อสาธารณะ Johnson ให้คำอธิบายว่าเผาธงชาติเนื่องจาก Ronald Reagan ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง การแสดงออกที่ทรงพลังในเชิงสัญลักษณ์ (แบบอื่น) ไม่อาจกระทำได้ในขณะนั้น การเผาธงชาติจึงเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นควบคู่กันไป

ประเด็นที่สอง มลรัฐ Texas ให้เหตุผลว่าการลงโทษต่อการเผาธงชาติก็เพื่อป้องกันความสงบสุขในสังคม (preventing breaches of the peace) เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจส่งให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้พบเห็น แต่จากข้อเท็จจริงจะพบว่าในระหว่างการประท้วงที่เกิดขึ้นไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งในการเผาธงก็ไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำก้าวร้าว (fighting words) ที่จะยั่วยุให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าธงชาติเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษต่างจากสิ่งของอื่นๆ และการรักษาสถานะพิเศษของธงชาติย่อมเป็นจุดประสงค์ที่ควรกระทำ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช้การลงโทษทางกฎหมายสำหรับผู้ที่เห็นต่างออกไป หากต้องเป็นการให้การศึกษา การถกเถียง ศาลสูงสหรัฐฯ เห็นว่าท่าทีในลักษณะเช่นนี้ต่างหากที่จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับความหมายของธงชาติ คำตัดสินนี้จะยืนยันถึงเสรีภาพและการหลอมรวมที่สะท้อนออกมาในธงชาติที่ดีที่สุด (the freedom and inclusiveness that the flag best reflects)

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลสูงสหรัฐฯ จึงได้ตัดสินว่าการเผาธงชาติในฐานะของการแสดงออกทางการเมืองถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

การเปลือยร่างกายของป้าเป้า

28 กันยายน 2564 บริเวณแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวเพื่อเตรียมเข้าสลายการชุมนุมเฉกเช่นเดียวกับหลายครั้งที่ได้ดำเนินมา แต่ในครั้งนี้กลับต้องเผชิญกับการแสดงออกที่แตกต่างออกไป ป้าเป้าเข้าไปขวางกั้นพร้อมกับการเปลือยกายโดยหันหน้าไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาพร้อมกับอาวุธและชุดป้องกันอย่างพร้อมสรรพ

การกระทำของป้าเป้าทำให้การเคลื่อนไหวของทางเจ้าหน้าที่ต้องหยุดชะงักไป ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้ในรูปแบบที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน จึงทำให้ไม่สามารถจะรับมือกับการเปลือยกายของผู้ประท้วงได้อย่างทันท่วงที

ภายหลังจากการชุมนุมยุติลงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้แจ้งว่าจะมีการดำเนินคดีกับป้าเป้าในหลายข้อหา โดยข้อหาหนึ่งที่มีต่อป้าเป้าก็คือ กระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย[3]

แต่การเปลือยกายของป้าเป้า ไม่ใช่เพียงแค่การโชว์ของลับแก่เจ้าหน้าที่เท่านั้น หากเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่มุ่งตอบโต้กับอำนาจรัฐ หรือสามารถกล่าวได้ว่าคือการแสดงออกซึ่งความเห็นแบบหนึ่ง และเสรีภาพในการแสดงความเห็นก็เป็นประเด็นที่รัฐธรรมนูญของไทยได้ให้การรับรองมาอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้[4] การพิจารณาถึงความหมายในการเปลือยกายของป้าเป้าจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ควบคู่กันไป ทั้งนี้ มี 3 ประเด็นสำคัญชวนให้ต้องขบคิด ดังนี้

ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นรวมถึงการสื่อความโดยวิธีอื่น เช่นเดียวกันกับความเข้าใจโดยทั่วไปว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นมิใช่เพียงแค่การพูดหรือการเขียนเท่านั้น หากตีความว่าการแสดงความเห็นจำกัดอยู่แค่เพียงการกระทำในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมจะทำให้คนใบ้หรือคนไม่รู้หนังสือไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทยได้รับรองไว้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าให้รวมถึง ‘การสื่อความหมายโดยวิธีการอื่น’ การแสดงออกผ่านเรือนร่างของตนเองก็ย่อมถือเป็นการแสดงความเห็นในลักษณะหนึ่งได้อย่างไม่อาจปฏิเสธ เฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่การใช้คำพูดและเหตุผลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความตระหนักขึ้นได้ 

ประเด็นที่สอง การเปลือยกายที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังใช้กำลังสลายการรวมตัวกันของประชาชน กรณีนี้ก็เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าเป้าหมายสำคัญของการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งอันเป็นสิ่งที่เป็นความปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ต้องเผชิญกับการฉีดน้ำ การยิงด้วยกระสุนยาง การใช้แก๊สน้ำตา ฯลฯ

จุดมุ่งหมายสำคัญในการเปิดเผยร่างกายต่อเจ้าหน้าที่ก็คือ การพยายามหยุดยั้งการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมดังเช่นที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และเห็นได้ว่าการกระทำเช่นว่าก็มีผลให้เจ้าหน้าที่ต้องชะงักในการทำหน้าที่ของตน ภายหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้ตามไปแก้ผ้าให้เจ้าหน้าที่ดูอีกแต่อย่างใด การเปลือยจึงมีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่ในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างชัดเจน

ประเด็นที่สาม วัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญาประการหนึ่งก็คือ การควบคุมการกระทำที่ส่งผลให้เกิดภยันตรายต่อบุคคลอื่น หรือเป็นการกระทำที่ทำให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำอันนั้น สำหรับความผิดในเรื่องกระทำการอันควรขายหน้าหรือกระทำการลามกที่ผ่านมาก็มักจะได้แก่ บุคคลที่ตั้งใจโชว์ของลับในที่สาธารณะ บุคคลที่สำเร็จความใคร่ให้ผู้อื่นเห็น เป็นต้น

แต่สำหรับการเปลือยกายในที่สาธารณะเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเกิดขึ้นในประเด็นอันหลากหลาย นับตั้งแต่การร่วมกันถ่ายภาพเปลือยในทะเลสาบเดดซีเพื่อกระตุ้นสำนึกของสาธารณะต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม, การเปลือยกายเพื่อบอยคอตสินค้าจากสัตว์, การเรียกร้องสิทธิในที่ดิน, การต่อต้านสงคราม และอีกนานัปการ

การกระทำเหล่านี้ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว หากต้องการการปรับเปลี่ยนทั้งในระดับปรากฏการณ์หรือนโยบาย จะเรียกว่าเป็นกิจกรรม ‘อันควรขายหน้า’ ได้กระนั้นหรือ ตรงกันข้าม สังคมควรให้ความสำคัญต่อการเปลือยกายของบุคคลในลักษณะเช่นนี้มากกว่า

การตัดสินอันควรขายหน้า

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ด้วยความหวังว่าจะทำให้สามารถแยกแยะระหว่างการกระทำความผิดที่เรียกว่า ‘อันควรขายหน้า’ กับ ‘เสรีภาพในการแสดงความเห็น’ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าใจและเกิดดวงตาเห็นธรรมจนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก กระทั่งทำให้เกิดการตัดสินใหม่ที่กลายเป็นบรรทัดฐานในแง่มุมที่แตกต่างออกไป การคาดหวังเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นก็กับบรรดาผู้เดียงสาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก

เพราะเป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่สายตาของสาธารณชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังได้มีการตัดสินอันควรขายหน้าเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนมากเพียงใดก็พร้อมจะถูกจำกัดลงได้ด้วยเหตุผลอันตื้นเขินว่า “เป็นการกระทำความผิดที่มีโทษสูง จึงไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง”


[1] TEXAS, Petitioner v. Gregory Lee JOHNSON.

[2] The first amendment of USA Constitution

“Congress shall make no law respecting an establishment of religion, or prohibiting the free exercise thereof: or abridging the freedom of speech, or of the press; or the right of the people peaceably to assemble and to petition the government for a redress of grievances.”

[3] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388

“ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”

[4] รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน”

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save