fbpx
ความน่าจะอ่าน : 6 สำนักพิมพ์ ‘วรรณกรรมไทย’ ที่น่าจับตา

ความน่าจะอ่าน : 6 สำนักพิมพ์ ‘วรรณกรรมไทย’ ที่น่าจับตา

ท่ามกลางหนังสือมากมายที่เรียงรายอยู่ในร้านหนังสือ หมวดหมู่ ‘วรรณกรรมไทย’ ถือเป็นหมวดเล็กๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในบางมุมของร้าน กระทั่งบางร้านก็อาจไม่มีหมวดหมู่นี้หลงเหลืออยู่ด้วยซ้ำ

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมีสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานวรรณกรรมไทยออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็กๆ ซึ่งอาจไม่มีที่ทางในร้านหนังสือมากมายนัก

ในโอกาสนี้ เราจึงขอแนะนำ 6 สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ที่มุ่งตีพิมพ์งานของนักเขียนไทย ให้ทุกคนได้รู้จักกัน พร้อมด้วยผลงานที่น่าอ่าน ทั้งหมด 18 เล่ม จากแต่ละสำนักพิมพ์

1. สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม

นับเป็น ‘สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก’ ที่มุ่งตีพิมพ์งานวรรณกรรมไทยเป็นหลัก มีผลงานต่อเนื่องและสามารถยืนระยะได้ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่ง ณ ตอนนี้ มี ‘นิวัต พุทธประสาท’ เป็นหัวเรือใหญ่ ตีพิมพ์ทั้งงานของนักเขียนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ อาทิ ทินกร หุตางกูร, สิเหร่, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, โตมร ศุขปรีชา, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ฯลฯ

 

ผลงานแนะนำ :

วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย(รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

“ภาพสะท้อนในกระจกห้องน้ำแสดงรอยแผลที่ใต้ริมฝีปาก เป็นรอยฟันเขี้ยวซี่ล่างซ้ายกัดทะลุจากด้านในออกมาข้างนอก ฉันแน่ใจว่า ระหว่างที่ความทรงจำทั้งหมดขาดหายไปนั้น ฉันชัก แต่หมดสติไปนานเท่าไหร่ยังเป็นปริศนา…”

 

‘ลมละเมอ’ (นวนิยาย)

เขียนโดย ทินกร หุตางกูร

“เสียงเปียโนสะกดผู้ชมในโรงละครดุจเวทมนตร์ ช่วงกลางเพลงปรากฏผีเสื้อสีขาวนับพันบินรอบกายศกุนตลาก่อนบินไปหาผู้ชม บางคนให้ผีเสื้อเกาะหน้า บ้างให้เกาะแขน บ้างให้เกาะฝ่ามือ พวกเขาหายจากความทุกข์…”

 

กายวิภาคของความเศร้า’ (นวนิยาย)

เขียนโดย นิวัต พุทธประสาท

“ความรักแท้ๆ คือความรักเพียงชั่ววินาที และเมื่อผ่านวินาทีความรัก ขบวนการที่เหลือเป็นเพียงขบวนการในการสานต่อทางสังคมหรืออุดมคติเท่านั้น”

 

2. สำนักพิมพ์ สมมติ

เรียกว่าเป็นสำนักพิมพ์ ‘สายแข็ง’ ที่มุ่งเน้นงานวรรณกรรมหนักๆ ทั้งของไทยและเทศ สอดแทรกด้วยงานวิชาการข้นๆ ภายใต้บัญชาการของหนุ่มใหญ่สองคน คือ ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล และ ชัยพร อินทุวิศาลกุล ถือเป็นสำนักที่สร้างชื่อให้นักเขียนสายแข็งหลายๆ คน อาทิ วิภาส ศรีทอง, นิธิ นิธิวรกุล, อุเทน มหามิตร, ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นต้น

 

ผลงานแนะนำ :

‘หลงลบลืมสูญ’ (นวนิยาย)

เขียนโดย วิภาส ศรีทอง

“ภาวะไร้ทิศทางย่อมไม่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าหรือถอยหลัง ไม่ได้ใกล้ขึ้นหรือห่างไกลกว่าเดิม ในสภาพหลงทาง เราแค่มาถึงที่แห่งหนึ่ง วนเวียนอยู่กับการมาถึง ณ ตำแหน่งนั้นๆ พื้นที่ซึ่งไม่อาจระบุพิกัดหรือตำแหน่งได้…”

 

‘ดังนั้นฉันจึงสิ้นสลาย’ (นวนิยาย)

เขียนโดย นิธิ นิธิวรกุล

“คุณต้องตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่ามีหรือไม่มีคนรัก ไม่ว่ามีหรือไม่มีคนชัง เราต่างเกิดและตายโดยลำพัง เสียงที่คุณปรารถนาได้ยินจากขอบฟ้าไกลโพ้นนั้นไม่เคยมีอยู่จริง”

 

‘ฝนบางหยด กลายเป็นผีเสื้อ’ (กวีนิพนธ์)

เขียนโดย ลัดดา สงกระสินธ์

“หากเรียบเรียงเป็นเรื่องราวไม่ได้

ก็เรียบเรียงเป็นภาษาของอารมณ์

หากเรียบเรียงเป็นภาษาของอารมณ์ไม่ได้

ก็บอกด้วยภาพ

หากบอกด้วยภาพไม่ได้

ก็ใช้สัญลักษณ์

หากใช้สัญลักษณ์ไม่ได้

ก็มองตากัน”

 

3. สำนักพิมพ์ ชายขอบ

เป็นสำนักพิมพ์เดียวก็ว่าได้ที่มุ่งตีพิมพ์เฉพาะ ‘บทกวี’ ด้วยความเชื่อที่ว่าสังคมไทยไม่เคยสิ้นไร้คนเจ้าบทเจ้ากลอน ขับเคลื่อนโดยสองบรรณาธิการมือดี สฤณี อาชวานันทกุล และ ณัฐเมธี สัยเวช ขอบอกว่ารวมบทกวีทุกเล่มจากสำนักนี้ จะทำให้ภาพเดิมๆ ที่คุณเคยมีเกี่ยวกับบทกวีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 

ผลงานแนะนำ :

‘หยดน้ำในเปลวทราย’ (กวีนิพนธ์)

เขียนโดย ทราย เจริญปุระ

“เราทิ้งโลกรอบๆ ตัวไป

ไม่มีเราซักคนมันก็จะยังคงหมุนต่อไปได้

สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง

เพื่อนของเธอยังมีอยู่ เรื่องของเธอยังมีอยู่

งานของฉันยังมีอยู่

แต่มันก็แค่อยู่ตรงนั้น

เราไม่ใช่ทุกอย่างของกันและกัน…”

 

‘เด็กชายจากหุบตะวัน’ (กวีนิพนธ์)

เขียนโดย นิติพงศ์ สำราญคง

“โพ้นไกลจากดวงตาในหุบตะวัน

ฝันของใครสักคนถูกลักพาไปในเต็นท์เก่าๆ

เพลงรหัส F3764 หวิวไหวมาจากคาราโอเกะชานเมือง

แม่สักคนยังรอลูกกลับบ้าน

บางชีวิตหายไปในแผ่นดินที่จักรกลยังคงยกขบวนรุก

เด็กน้อยแฝงตัวในบทกวีที่ถูกเขียนขึ้นทีละบรรทัด

ใครบางคนถูกมวลเก้าอี้ฉีกแก้วหู

หญิงสาวยังคงคิดถึงคนรักที่จากไป

เมื่อโลกและเราต่างตายจากกัน

บางชะตากรรมก็หักพังแตกครืนไม่เป็นชิ้นดีไปแล้ว…”

 

‘ไม่ใช่บทกวี เพียงการปลอมแปลงที่พอจะมีฝีมืออยู่บ้าง’ (กวีนิพนธ์)

เขียนโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

“ความทรงจำของเธอราคาเท่าไร

ขโมยประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเอาไปฝังกลบไว้สิ

หรือประดิษฐ์เรื่องเล่าจากเศษขยะของกาลเวลาก็ได้

ความเข้าอกเข้าใจจากโรงงานสำเร็จรูปที่ขูดรีดค่าแรงมีไว้ใช้แล้วทิ้ง

ซื้ออันใหม่มาสำรองให้มากๆ จะได้ดูสดใหม่อยู่เสมอ

บัดนี้ ข้าพเจ้าซึ่งหลงใหลอยู่ในความล้มเหลวของตนเอง

ความอหังการอย่างเดียวที่ข้าพเจ้าเหลือมี

คือการกล่าวออกไปว่า นี่ก็พอมีฝีมืออยู่บ้าง–ไอ้การปลอมแปลงนี้”

 

4. สำนักพิมพ์ ผจญภัย

เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ผลิตงานวรรณกรรมไทยออกมาอย่างไม่ขาดสาย ถือเป็นแหล่งรวมนักเขียนชาวใต้ที่มีฝีมือ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ อาทิ ศิลา โคมฉาย, จเด็จ กำจรเดช, นฤพนธ์ สุดสวาท, โรสนี นูรฟารีดา โดยมี ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นหัวเรือใหญ่ ส่งผลงานติดโผรางวัลซีไรต์ต่อเนื่องกันแทบทุกปี

 

ผลงานแนะนำ :

ร้านหนังสือแมวฮกเอี้ยน’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย นฤพนธ์ สุดสวาท

 

“เจ็บปวดยิ่งกว่าอะไร คือการโยนความรักขึ้นไปบนอากาศ ร่วงหล่นลงมาโดยไม่มีคนคอยรับ…”

 

ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ (กวีนิพนธ์)

เขียนโดย โรสนี นูรฟารีดา

“เพื่อนจากอินโดนีเซียส่งข้อความมาขอโทษ

ควันไฟจากบ้านเขาอาจลอยมารบกวนพวกเรา

เพื่อนจากซีเรียส่งข้อความมาขอโทษ

ฝุ่นและควันจากระเบิดอาจปลิวมาถึงที่นี่

เพื่อนจากปาเลสไตน์ส่งข้อความมาขอโทษ

ภาพร่างกายฉีกขาดเลือดอาบอาจทำให้หลายคนฝันร้าย

เราเขียนคำขอโทษส่งกลับไปหาเพื่อน

เสียงสวดมนต์ของเราไม่ดังพอจะไปไกลถึงที่นั่น

และบางทีเสียงก่นด่าของเราก็ดังเกินไป

ไกลกว่ารั้วบ้านของเราเอง…”

 

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย จเด็จ กำจรเดช

“ในบางเช้าที่มีแสงแดดอ่อนๆ กาแฟคล้ายจะออกรสเป็นพิเศษ แดดเช้า กาแฟร้อนๆ สายลมอ่อนๆ ที่มาพร้อมห้วงคำนึงถึงใครบางคน และใครอีกหลายต่อหลายคนกับอีกหลายเรื่องราว ผีเสื้อบินว่อนหลากหลายพันธุ์ ทั้งสีสันก็หลายหลาก นึกอัศจรรย์ใจ เมื่อไม่กี่วันก่อนพวกมันยังเป็นตัวหนอนน่าขยะแขยงจำนวนหนึ่ง….”

 

5. สำนักพิมพ์ ArtyHouse

สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เปิดทำการมาได้ราวๆ 6 ปี ผู้ก่อตั้งคือ คุณหมออาร์ตี้-ธัชชัย ธัญญาวัลย หมอฟันผู้หลงใหลในงานวรรณกรรม เจียดเวลาจากงานในคลินิกมาทำหนังสือ ทั้งในบทบาทของนักเขียนและบรรณาธิการ ผลักดันงานของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะ ภายใต้รูปเล่มที่สะดุดตาและน่าค้นหา

 

ผลงานแนะนำ :

เงาแปลกหน้า’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย อนิมมาล เล็กสวัสดิ์

ยามตื่นนอนแต่ละเช้า มือของเด็กสาวจะเอื้อมไปหาโทรศัพท์มือถือโดยอัตโนมัติ สายตากวาดมองไป ตามหน้าจอเรืองๆ นั้นอย่างกระหาย ให้สมกับที่ได้ปล่อยมันไว้เดียวดายถึงเจ็ดชั่วโมงขณะนอนหลับ เมื่อเธอเห็นเงาตัวเองในกระจกเป็นครั้งแรกในเช้าวันนั้น ความหวั่นสะพรึงถาโถมเข้าใส่ ไม่ปล่อยให้เธอทันได้ตั้งตัว โผล่อีกราย! เหยื่อโรคประหลาด อันตรธานครึ่งตัว”

 

‘กายวิภาคแห่งรักของมนุษย์ต่างดาว’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย มีเกียรติ แซ่จิว

 

“ความคิดคุณต่างหากที่ผิด เหมือนหมาที่บ้านคุณ คุณเลี้ยงมัน รักมัน ให้อาหารมันเช้าเย็น ให้ที่หลับที่นอนสบาย คุณคิดว่าคุณเป็นเจ้าของมัน แต่ทำไมคุณไม่คิดบ้างว่า มันต่างหากที่เป็นเจ้านายคุณ ที่มีทาสผู้ซื่อสัตย์อย่างคุณคอยปรนนิบัติ…”

 

‘ความตายในร้านหมอฟัน’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย ธัชชัย ธัญญาวัลย

 

“มาหาฉันตอนนี้ได้มั้ย” เสียงนั้นหวาดตระหนก ระคนวิตกตื่น

แม้แน่ใจว่าไม่ใช่ความฝัน แต่ผมคล้ายละเมอพูดออกไป “ที่ไหน”

“คลินิก” เธอตอบ

“คลินิก!” ผมทวนคำเสียงดัง

รู้สึกมีสติขึ้นมาวูบหนึ่ง “เที่ยงคืนเนี่ยนะ”

“อย่าเพิ่งถามฉัน ไว้มาถึงแล้วคุณจะรู้เอง”

 

6. สำนักพิมพ์ P.S. Publishing

สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่กำลังมาแรงในเวลานี้ แหวกแนวตั้งแต่รูปเล่ม เนื้อหา และวิธีการนำเสนอ เจาะกลุ่มคนอ่านรุ่นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมๆ กับการแจ้งเกิดของนักเขียนหญิงหน้าใหม่อย่าง ‘ปอ เปรมสำราญ’ โดยรวมถือเป็นงานวรรณกรรมขนาดกะทัดรัดที่อัดแน่นด้วยอารมณ์ความรู้สึก

ผลงานแนะนำ :

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย ปอ เปรมสำราญ

 

ฉันอิจฉาหญิงสาวคนนั้นนะ อิจฉาความไร้เดียงสา ความเยาว์วัย พลังพลุ่งพล่านแบบที่ฉันเคยเป็น แต่เรียกคืนไม่ได้ ฉันได้ความเจ้าเล่ห์ วุฒิภาวะและความเงียบนิ่งอย่างมั่นคงมาเป็นการแลกเปลี่ยน…”

 

‘Lunar Lunartic : คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

 

“คนรักของฉัน เขาเองมาจากครอบครัวแหลกสลาย พัสถานของเขาคือความโศกที่ซ่อนเอาไว้แนบเนียนใต้รอยยิ้มบาดใจ เขาไม่เคยเปิดเผยความอ่อนแอ มีแต่ความกักขฬะยามโกรธที่ใช้ปิดบังรอยน้ำตา แล้วมีหรือที่ฉันจะไม่รู้ว่าเขานั้นเปราะบางกว่าใคร…”

 

โต๊ะตีลังกาสิบตลบ’ (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย อุเทน มหามิตร

“เขาวิ่งต่อไป ไม่เป็นจังหวะลวงใจไหวหวาด ข้อมูลประหลาดอยู่เหนือการควบคุมของแรงคลื่นสนามไฟฟ้าในสมอง เขารู้สึกไขสันหลังหวะอย่างไม่อาจแสดงความรู้สึกจริงๆ ออกมาได้ อวสานของความในใจสงัดเงียบ…”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save