สองวันหลังการรัฐประหาร 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกตั้งขึ้นท่ามกลางความจำเป็น เมื่อคณะรัฐประหารใช้กฎหมายที่สถาปนาด้วยอำนาจไม่ชอบธรรมไล่ล่าประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง
คนจำนวนมากถูกทหารจับตัวเพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากเหล่าทนายอาสาจึงกลายเป็นความหวังในวันที่เลวร้ายว่าพวกเขาไม่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว
ผ่านมา 10 ปี นักรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งไปเป็นองคมนตรี ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและรัฐบาลพลเรือน แต่ศูนย์ทนายฯ ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่อง จาก ‘ความจำเป็นชั่วคราว’ ศูนย์ทนายฯ กลายเป็นกลไกที่ขาดหายไปไม่ได้ เมื่อภาครัฐไล่ล่ากดปราบประชาชนด้วยกฎหมายไม่หยุดหย่อน
คดีการเมืองจำนวนมหาศาลที่คั่งค้างในมือศูนย์ทนายฯ เป็นหลักฐานหนึ่งถึงความเสียหายจากทศวรรษการรัฐประหารและความพยายามเหนี่ยวรั้งอำนาจของชนชั้นนำ ในด้านกลับกันสภาพที่เกิดขึ้นนี้ก็ทุบทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามาเกี่ยวพันกับคดีการเมือง
ภารกิจใหญ่ร่วมกันของสังคมไทยในทศวรรษที่สองหลังการรัฐประหาร 2557 จึงคือการฟื้นฟูความเสียหายที่เผด็จการเข้ามาทำลายระบบนิติรัฐ-นิติธรรม นิรโทษกรรมคดีการเมืองและเยียวยาผู้เสียหาย ก่อนจะรื้อสร้างองค์กรต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับประชาชน เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะสำเร็จในสักวันหนึ่ง
ทั้งหมดนี้คือภารกิจต่อไปของศูนย์ทนายฯ เช่นกัน เพราะงานที่ศูนย์ทนายฯ ทุ่มเททำในทศวรรษแรก ทั้งการช่วยเหลือในคดีความ การบันทึกข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน จะกลายเป็นฐานการทำงานในทศวรรษถัดไปพร้อมกับพลวัตของสังคมไทย
101 จึงสนทนากับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ รองผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงทศวรรษที่ผ่านมาของการต่อสู้ทางกฎหมาย และทศวรรษถัดไปในภารกิจก่อร่างสร้างนิติรัฐ-นิติธรรม
เมื่องานในการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่กี่ปี ภารกิจของทั้งศูนย์ทนายฯ และสังคมไทยจึงทอดยาวออกไปจนกว่าการเปลี่ยนผ่านทางสังคมจะมาถึงในสักวันหนึ่ง

จากรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายฯ มองเป้าหมายการทำงานเปลี่ยนไปไหม
เยาวลักษ์: ไม่มีใครคิดว่าศูนย์ทนายฯ จะทำงานมาครบ 10 ปี ที่ผ่านมาจึงมีเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปมาก คนที่ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ กันก็ไม่คิดว่างานจะยาวนานขนาดนี้ เพราะงานศูนย์ทนายฯ ควบคู่ไปกับสถานการณ์การเมือง ตอนแรกเราคิดว่าประเทศจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ก็ไม่ใช่
ด้านหนึ่งคณะรัฐประหารมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อีกด้านหนึ่งคนไทยเองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ลูกความของเรามีทั้งคนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่ ขณะที่ประเทศไทยเติบโตอยู่ท่ามกลางกระแสสังคมโลก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลและมีชุดความคิดใหม่ แม้ คสช. พยายามสอดแทรกวัฒนธรรมไทยจารีตมาอบรมสั่งสอนคนรุ่นใหม่ อย่างค่านิยม 12 ประการ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรคนรุ่นใหม่ได้เลย ที่สำคัญคือปี 2563 (ม็อบเยาวชนและประชาชน) เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้ว่าชุดความคิดของคนเปลี่ยนไปแล้ว
ศิริกาญจน์: สำหรับเป้าหมายของศูนย์ทนายฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือเรื่องนิติรัฐ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน วิสัยทัศน์ตั้งต้นที่เราก่อตั้งศูนย์ทนายฯ คือเรามีหน้าที่รื้อสร้างนิติรัฐขึ้นมา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จ ยังต้องดำเนินต่อไป
ภารกิจตั้งแต่ตอนตั้งต้น นอกจากเราจะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแล้ว เรายังทำงานเรื่องข้อมูลด้วย เราไม่ได้ทำแค่หน้าที่ทนาย แต่เราเป็นคนที่ตามเก็บประวัติศาสตร์ด้วย การเก็บข้อมูลคดีและสถานการณ์เหล่านี้คือการบันทึกประวัติศาสตร์ เมื่อมองย้อนกลับไป 10 ปีเราจะเห็นว่าสิ่งที่ศูนย์ทนายฯ บันทึกมามีคุณค่าและเป็นความทรงจำร่วมในประวัติศาสตร์ของสังคม
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมส่งผลต่อการทำงานของศูนย์ทนายฯ แค่ไหน เช่นช่วงม็อบเยาวชนที่มีการพูดเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย
เยาวลักษ์: การทำงานของเรา 10 ปีเป็นพลวัตไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงของการเมือง โดยที่ฝ่ายจารีตก็มีการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนั้นนำมาสู่ชุดความรู้และชุดความคิดของคนรุ่นใหม่
ตอนรัฐประหาร 2557 คนรุ่นใหม่อาจอยู่ชั้นประถมฯ ยังไม่รู้อะไรนัก แต่พอขึ้นชั้นมัธยมฯ เขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนผ่าน มีการออกรัฐธรรมนูญใหม่ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คนรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มาจากประชาชน ทำไมรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจึงมีการแก้เพิ่มเติมได้ มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่ขยายพระราชอำนาจ
จากการทำคดีกับคนรุ่นใหม่มาทำให้เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่เขาตั้งคำถาม เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่บอกว่าตรวจสอบได้ แต่มีกฎหมายบางฉบับตรวจสอบไม่ได้ เขาตั้งคำถามแล้วนำมาสู่ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ในเชิงองค์กร จำนวนทนายจากตอนตั้งต้นจนถึงตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเยอะไหม
เยาวลักษ์: ตอนแรกที่ก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ ทุกคนเป็นอาสาสมัครและมีงานประจำของตัวเอง เช่น ตอนนั้น แอน-ภาวิณี ชุมศรีเป็นทนายความของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมย์-พูนสุข พูนสุขเจริญเป็นทีมผู้ช่วยเลขาฯ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จูน-ศิริกาญจน์ เจริญศิริทำงานที่คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ส่วนเราเป็นทนายอิสระ เป็นต้น
หลังรัฐประหารเราทำศูนย์ทนายฯ กันมาหกเดือนแล้วมันไม่จบ ก็เลยตั้งตำแหน่งหน้าที่และเงินเดือนให้ทีมทำงาน แล้วทุกคนก็ลาออกจากงานประจำมาทำงานเต็มเวลาให้ศูนย์ทนายฯ ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่เกินเจ็ดคน ปัจจุบันเรามีเจ้าหน้าที่ 39 คน ทนายความอาสาราว 100 คนทั่วประเทศ และเราก็มีผู้ช่วยทนายความ (paralegal) อีกด้วย ไม่น่าเชื่อว่าเราจะเป็นองค์กรที่เติบโตขนาดนี้
ศิริกาญจน์: รูปแบบองค์กรที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยคือ เราเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ ในกระบวนการทำงานเราก็สร้างคนรุ่นใหม่ไปด้วย เราเป็นองค์กรที่มีการพัฒนา โดยที่เราพยายามดูแลคนทำงานมากขึ้น ส่งเสริมให้แต่ละคนได้พัฒนาศักยภาพ
เรื่องการจัดการองค์กร เอ็นจีโอในประเทศส่วนใหญ่จะขาดแคลนการพัฒนาหลังบ้านองค์กร เช่น ระบบดูแลคน HR การดูแลความเป็นอยู่และสภาพจิตใจ เมื่อก่อนศูนย์ทนายฯ ก็เป็นอย่างนั้น เราทำงานด้วยแพสชัน ทุ่มเทเวลา แต่เราเรียนรู้ไปพร้อมขบวนการประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ที่เขามีความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลาย เรื่องการทำงานที่ต้องดูแลองค์รวม ถ้าคนทำงานสภาพจิตใจดี องค์กรก็แข็งแรงขึ้น การทำงานก็ไปได้ยาวขึ้น นี่เป็นทิศทางขององค์กรที่เราต้องพัฒนาองค์กรให้มีระบบ เป็นมืออาชีพมากขึ้น


หากประเมินการทำงานที่ผ่านมา 10 ปี เรื่องที่ทำสำเร็จคืออะไรและเรื่องที่ยังไม่สำเร็จคืออะไร
เยาวลักษ์ : การดำรงอยู่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบ่งบอกถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่ำ ไม่ก้าวหน้า อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุลพูดไว้ในงาน 10 ปีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า อยากเห็นศูนย์ทนายฯ ปิดตัว เพราะการดำรงอยู่ของศูนย์ทนายฯ แสดงถึงความถอยหลังของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายฯ เป็นการรวมตัวของนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่พยายามปักหลักสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงอยู่ในประเทศไทย เรายืนยันเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย ระบบกฎหมายที่ถูกทำลายลงควรจะยืนหยัดกลับมา เราพยายามเป็นองค์กรที่ปักหลัก ดันเพดาน และดันหลักประกันเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในสังคมไทย
ศิริกาญจน์: ตอนตั้งต้นเราทำเพราะสถานการณ์และหลักวิชาชีพมันเรียกร้อง เป็นสถานการณ์ที่ทนายสิทธิมนุษยชนต้องออกมาจึงรวมกลุ่มทำไปก่อน แต่พอจำเป็นต้องทำให้เป็นองค์กรมากขึ้นก็ทำให้มีศักยภาพเชิงทรัพยากรมากขึ้น สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ศูนย์ทนายฯ กลายเป็นเหมือนสตาร์ตอัปที่ถูกทำให้รีบโต
เราโตขึ้นจาก 7 คน เป็น 10 เป็น 20 ช่วงพีกมากคือ 2563-2564 เราอยู่ในสภาวะที่ทนายความไม่พอ แม้ว่าตอนนั้นเรามีเจ้าหน้าที่ประจำ 50 คน แต่ก็ไม่พอ เพราะมีผู้ชุมนุมถูกจับเกือบ 2,000 คน จึงต้องคิดหารูปแบบการทำงานใหม่ๆ อย่างการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่จะสนับสนุนทรัพยากรได้ เช่น เราเคยร่วมมือกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและคณะนิติศาสตร์ เปิดรับนักกฎหมายและทนายความที่อยากมีส่วนร่วมในการทำคดีนักศึกษาและเยาวชนที่ถูกจับ สิ่งที่เราเห็นคือโรงเรียนกฎหมายสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่ก่อนนั้นเราไม่เคยทำมาก่อน พอเปิดสมัครรุ่นแรกก็มีคนสมัครมาหลายร้อยคน แต่เราต้องคัดให้ได้ทนายที่สามารถทำงานหน้างานราว 50 คน
นี่คือหนึ่งในผลสำเร็จของศูนย์ทนายฯ ก่อนรัฐประหารคนไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ช่วงปี 2563-2564 คนในแวดวงกฎหมายตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น ซึ่งเขาอาจไม่ตั้งคำถามถ้าไม่มีข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม เรามองว่าศูนย์ทนายฯ มีส่วนร่วมในการนำเสนอและเปิดโปงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม เราบันทึกข้อมูลจากการทำคดีความว่าประชาชนถูกละเมิดสิทธิแม้กระทั่งในกระบวนการยุติธรรม เราเสนอเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ไปโดยไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาอ่านบ้าง มันเป็นเรื่องกฎหมาย อาจจะน่าเบื่อหรือเปล่า แต่วันหนึ่งเราเห็นสิ่งเหล่านี้ปรากฏในการชุมนุมของนักศึกษา เขาเอาข้อมูลศูนย์ทนายฯ ไปทำในเวอร์ชันของเขา เช่น คู่มือหากถูกควบคุมตัวต้องทำอย่างไรบ้าง เขาเอาไปทำกราฟิกอย่างน่าสนใจแล้วเผยแพร่ในทวิตเตอร์ ในคลับเฮาส์ การหยิบไปใช้และต่อยอดแบบนี้ถือเป็นหนึ่งผลสำเร็จของงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะทุกภาคส่วนร่วมกัน ในภาพใหญ่ของขบวนการผลักดันประชาธิปไตยจะมีฝ่ายส่งเสริมดูแลเรื่องกระบวนการทางกฎหมายเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวนี้สำเร็จ เป็น movement lawyers ศูนย์ทนายฯ อยู่ในบทบาทนี้ ฉะนั้น 10 ปีที่ผ่านมาเราทั้งดันเพดานและเป็นปุ๋ยช่วยหล่อเลี้ยงให้ขบวนการเติบโตและงอกงาม
เยาวลักษ์: มีคนบอกว่าการมีอยู่ของศูนย์ทนายฯ สร้างความมั่นใจให้เขากล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งที่การแสดงออกเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการรับรอง แต่ที่ผ่านมารัฐใช้กฎหมายกดปาก การมีอยู่ของศูนย์ทนายฯ จึงทำให้คนกล้าออกมาเรียกร้องสิทธินั้น
ศิริกาญจน์: ศูนย์ทนายฯ เป็นมากกว่าเป็นทนายความ มีอยู่ปีหนึ่งเรามีสโลแกนว่า ‘ถ้ารัฐทำให้คนกลัว เราจะทำให้คนกล้า’
มองบทบาทของศูนย์ทนายฯ ในระบบนิเวศความยุติธรรมไทยอย่างไร บทบาทแบบไหนที่ศูนย์ทนายฯ เข้ามาเติมเต็มจนทุกวันนี้คล้ายว่าสังคมไทยขาดศูนย์ทนายฯ ไม่ได้
ศิริกาญจน์: กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาอยู่ก่อนนานแล้ว กระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถโอบรับคนด้อยโอกาส คนจน คนชายขอบ คนที่ไม่รู้สิทธิ หรือคนที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการยุติธรรมได้ ที่ผ่านมาจึงมีองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐหรือสภาทนายความทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในหลายๆ ประเด็น ในระบบนิเวศนี้จึงไม่ได้มีแค่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่มีการประสานงานและทำงานกับภาคประชาชนด้วย
ในประเทศไทย เราจะเห็นองค์กรภาคประชาชนที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในประเด็นสัญชาติ ผู้หญิง สิ่งแวดล้อม หรือเด็ก แต่เราไม่เห็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างชัดเจน สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมสิทธิด้านนี้จึงเกิดช่องว่างที่ศูนย์ทนายฯ เข้ามา
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นประเด็นที่กว้าง ทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและสันติ สิทธิที่พลเมืองจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในรัฐนั้นได้ รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรม การที่ศูนย์ทนายฯ มาทำงานด้านนี้จึงอาจทำให้งานของเราเด่นชัดขึ้นมาจนคล้ายว่าจะขาดศูนย์ทนายฯ ไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยากผูกขาด ถ้ามีองค์กรที่มาช่วยกันทำงานนี้เราจะดีใจมาก
อีกบทบาทของศูนย์ทนายฯ ในระบบนิเวศนี้คือ เราไม่ใช่สำนักงานกฎหมาย เราทำงานโดยใช้มุมมองกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจไปจนถึงราชทัณฑ์ แล้วเรายังนำมุมมองนี้มาใช้ในการทำงานเก็บข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะ นี่จึงเป็นบทบาทที่เด่นชัดของเราในระบบนิเวศนี้ เพราะมันไม่มีมาก่อน
เป้าหมายใหญ่ของคนทำงานด้านกฎหมายน่าจะเป็นเรื่องการสร้างนิติรัฐ–นิติธรรม ในภาพรวมเห็นพัฒนาการในเรื่องนี้บ้างไหม
เยาวลักษ์ : เมื่อเผด็จการทหารเข้ามาทำลายระบบนิติรัฐ-นิติธรรม ศูนย์ทนายฯ จึงมีวิสัยทัศน์ในการก่อร่างสร้างนิติรัฐ ช่วงแรก คสช. สถาปนากระบวนการยุติธรรมทหาร นำพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร เราก็พยายามผลักดันว่าพลเมืองต้องไม่ขึ้นศาลทหารและประกาศคำสั่ง คสช. ทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม ต้องถูกยกเลิก
หลังมีการยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือน คดีย้ายมาสู่ศาลยุติธรรมซึ่งให้หลักประกันกับประชาชนมากกว่าศาลทหาร เช่น คดีคนอยากเลือกตั้งที่คนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งถูกดำเนินคดีมาตรา 116 กลุ่มคดีนี้มีทั้งหมด 8 คดี ศาลยกฟ้อง 7 คดีโดยบอกว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมโดยสงบ
หลังมีการชุมนุมในปี 2563 การเรียกร้องก็แหลมคมขึ้น คนรุ่นใหม่คิดว่าทุกอำนาจ ทุกองค์กร ทุกสถาบันต้องสามารถตรวจสอบได้ จึงมีการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กระบวนการยุติธรรมก็เริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง ศาลยุติธรรมไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 หลายคดี รวมถึงคดีมาตรา 116 กรณีตะวัน-แฟรงค์ถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ เรื่องการไม่ให้ประกันตัวทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างมาก เพราะสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จากการอ่านคำพิพากษาคดี 112 หลายคดีทำให้เราเห็นการขีดเส้นว่าห้ามวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐ แม้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตก็ตาม แล้วยังมีการนำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาใช้อีกด้วย
ปัจจุบันเรายังต้องอยู่กับผลพวงมรดก คสช. คือรัฐธรรมนูญ 2560 และ ณ ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นไปตามที่ประกาศว่า เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตยและมีหลักนิติรัฐ-นิติธรรม


จากการทำงานกับองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมมา มองว่าการทำงานขององค์กรใดจะส่งผลสำคัญต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่สุด
เยาวลักษ์: หัวใจอยู่ที่องค์กรตุลาการ เพราะตุลาการเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราพบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยไม่ชอบ แต่ศาลรับรองอำนาจนั้นโดยไม่ตรวจสอบ ทั้งที่นักศึกษากฎหมายเรียนกันมาว่าตุลาการเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองประชาชน
หากมีข้อแนะนำในเบื้องต้น ทำอย่างไรตุลาการจึงจะยกระดับบทบาทเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้
เยาวลักษ์: แนวคิดที่ว่าตุลาการทำงานในพระปรมาภิไธย ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในคำพิพากษา แต่เราก็เห็นตุลาการรุ่นใหม่ที่กล้าพิพากษายกฟ้องในคดีที่เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถลงโทษได้ องค์ความรู้ชุดใหม่ส่งผลให้ตุลาการรุ่นใหม่ยึดมั่นในหลักวิชา พยานหลักฐานไม่ถึงก็พิพากษายกฟ้อง
เราเป็นทนายความจึงมีมุมมองของนักปฏิบัติ แนวทางของเรื่องนี้จึงคิดว่าคือการมีองค์ความรู้ใหม่ๆ บวกกับความกล้าหาญ เช่นที่นักวิชาการหลายคนวิจารณ์ว่าตุลาการต้องกล้าที่จะวินิจฉัยให้เป็นไปตามหลักวิชา
แม้หลายคนจะรู้สึกผิดหวังในสถาบันตุลาการ แต่เรายังมีความหวังกับผู้พิพากษารุ่นใหม่ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จากภายในกลุ่มผู้พิพากษาด้วยกัน โดยที่มีเสียงจากข้างนอกเป็นส่วนหนึ่งให้ตระหนักว่า คุณจะปล่อยให้สถาบันตุลาการไม่ปกป้องหลักนิติรัฐไม่ได้
เวลาทำงานคดีการเมืองซึ่งต้องสู้กับภาครัฐ สามารถมองได้ไหมว่าแต่ละฝ่ายถือคุณค่าคนละชุด ด้านหนึ่งคือความมั่นคง ด้านหนึ่งคือสิทธิมนุษยชน ในมุมมองทนายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเรื่องนี้มีเส้นที่ไม่ควรข้ามไปไหม
ศิริกาญจน์: ที่จริงเราทำงานนี้เพื่อพยายามลบคำว่า ‘ถือคุณค่าคนละชุด’ มันไม่ควรเป็นคู่ตรงข้ามกัน เราควรมีคอนเซ็ปต์ใหญ่คือสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาชน ส่วนความมั่นคงเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นเท่านั้นเอง หากมองแบบนี้เราจะมีกรอบคิดในการทำความเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ ซึ่งฝั่งเราเองก็ต้องรู้ว่าข้อจำกัดมีอะไรบ้าง ต้องเป็นข้อจำกัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสมเหตุสมผล
เรายอมรับว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพมีข้อยกเว้นอยู่บางประการเท่านั้น ข้อยกเว้นนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวัง เคร่งครัด สมเหตุสมผล ได้สัดส่วน โดยที่เป็นการจำกัด ไม่ใช่กำจัด เราต้องไม่นำข้อยกเว้นเรื่องความมั่นคงไปทำลายสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชน
ถ้าเรามีกรอบคิดแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามหรือเถียงกัน นักเรียนกฎหมายก็เรียนกฎหมายฉบับเดียวกันมา นี่คือหลักการในรัฐธรรมนูญที่บอกไว้ว่าหากจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นมีหลักการอย่างไรบ้าง
คำว่า ‘ความมั่นคง’ ของไทยมีนิยามกว้าง ไม่ใช่นิยามโดยเคร่งครัดตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ทำให้ความมั่นคงอาจกลายเป็นความมั่นคงของบุคคลสำคัญก็ได้ ทั้งที่ความมั่นคงจะต้องเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ หากบอกว่าจะมีอะไรเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ภัยนั้นต้องคุกคามจนเสี่ยงที่จะทำให้รัฐนั้นล่มสลาย
บทบาทของศูนย์ทนายฯ คือเรานำกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้ามาใช้เพื่ออธิบายว่า ความมั่นคงคือเรื่องอะไรกันแน่ เรื่องนี้ต้องอาศัยการพูดคุยทำความเข้าใจ แต่หลายครั้งเมื่อเจอกันหน้างานก็เป็นไปได้ยาก จึงมักเป็นการไปนำเสนอเหตุผลกันในคดีความ
ทำอย่างไรที่เราจะทำให้เรื่องนี้ไปอยู่ในหลักสูตรของภาครัฐ เพื่อว่าวันหนึ่งเราไม่ต้องถามกันแล้วว่าจะเอาความมั่นคงหรือจะเอาสิทธิมนุษยชน นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเลือกสิ่งหนึ่งแล้วทิ้งอีกสิ่งหนึ่ง นี่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของประเทศหากมีการปฏิรูป


หนึ่งในทนายของศูนย์ทนายฯ คือ อานนท์ นำภา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความยุติธรรมในสังคมอย่างไร สังคมมองว่าคดีความที่เกิดขึ้นมาจากบทบาทนักกิจกรรมของอานนท์ แต่เรื่องนี้เกี่ยวกับบทบาททนายความของเขาด้วยหรือเปล่า
ศิริกาญจน์: ตาม UN Guidelines ถือว่าทั้งอัยการ ผู้พิพากษา และทนายความเป็นบุคลากรสำคัญที่ต้องมีความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และความสามารถที่จะมาทำหน้าที่ แต่ทนายความก็เหมือนบุคคลทั่วไปที่มีสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก มีสิทธิเสรีภาพที่จะร่วมอภิปรายสาธารณะในเรื่องกฎหมาย การบริหารความยุติธรรม และการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงเข้าร่วมจัดตั้งองค์กรต่างๆ เขาจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพเพราะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหมือนบุคคลทั่วไป
บทบาทของอานนท์โดดเด่นทั้งการเป็นทนายความและนักกิจกรรม อานนท์เป็นทนายความที่ไปแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เมื่อถูกดำเนินคดีและคุมขังเขาก็ยังทำหน้าที่ทนายความอยู่ การใช้กระบวนการทางกฎหมายและการเมืองมาจำกัดสิทธิอานนท์ไว้ในคุกนั้นกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของลูกความอานนท์ที่อยู่ข้างนอกอีกต่อหนึ่ง ทุกวันนี้อานนท์ทั้งเป็นจำเลยในคดีของตัวเองและเป็นทนายว่าความให้ลูกความคนอื่นด้วย ปกติเวลาทำคดีเราต้องมีเวลาดูเอกสาร ทำการบ้าน ตั้งประเด็นสู้คดี แน่นอนว่าอยู่ในเรือนจำทำไม่ได้ มันก็ไปกระทบกับลูกความ
ข้อที่น่ากังวลคือทนายอานนท์ไม่ได้ถูกลงโทษด้วยคดีทั่วไป นี่คือคดีการเมือง จึงมีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสหประชาชาติที่ส่งความกังวลมายังรัฐบาลไทย เป็นเหตุว่าทำไมการที่ทนายอานนท์ไปชุมนุม ปราศรัยเรียกร้อง แล้วหน่วยงานระหว่างประเทศจึงมาเรียกร้องถึงเรื่องการเป็นทนายความของเขาด้วย
เรื่องนี้น่าหวาดหวั่นว่า ถ้าวันหนึ่งมีทนายความที่สู้เพื่อลูกความแล้วออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหรือระบบ เขาจะโดนแบบทนายอานนท์หรือเปล่า นี่เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่านิติรัฐ-นิติธรรมไทยยังถดถอยอยู่
เยาวลักษ์: สังเกตว่าทั่วโลกเมื่อมีวิกฤตเรื่องเผด็จการ คนที่ออกมาเป็นแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยส่วนใหญ่มีอาชีพทนายความ อานนท์เป็นทนายความ พออานนท์เป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยเขาก็ใช้ความรู้ด้านกฎหมายที่ร่ำเรียนมาปราศรัยให้คนรับรู้ปัญหาของกฎหมายที่ผิดปกติในสังคมไทย
จากประสบการณ์ของศูนย์ทนายฯ มีเรื่องที่ตกตะกอนจากการเห็นรูปแบบการกดปราบทางกฎหมายของรัฐไหมว่าน่าจะนำไปสู่บทเรียนอย่างไร
เยาวลักษ์: งานสำคัญของศูนย์ทนายฯ คือการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ งานของเราจะกลายเป็นบทเรียนสำคัญหากมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ ศูนย์ทนายฯ บันทึกสำนวนคดีและเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านข้างหน้า
ปีที่แล้วเราไปงานประชุมสิทธิมนุษยชนที่กวางจู เกาหลีใต้ เห็นตัวอย่างว่าการจะเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ สิ่งที่ต้องทำนอกจากการปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแล้ว เขายังมีการเคลื่อนไหวในสังคมให้เกิดการตระหนักถึงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อว่าในอนาคตจะต้องไม่มีเหตุการณ์การรัฐประหารและการละเมิดสิทธิอีก ทุกปีที่เมืองกวางจูจึงจัดงานรำลึกที่ให้เด็กอนุบาลมาร่วมเรียนรู้และภาครัฐให้ความร่วมมือ เห็นแล้วก็อดนึกถึง 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ไม่ได้ เราผ่านมาโดยไม่มีการปฏิรูปกองทัพ แล้วก็เกิดรัฐประหารซ้ำ
งานที่เราทำมาทั้งหมด 10 ปีก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีข้างหน้าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ที่สำคัญตอนนี้เราต้องการให้มีการนิรโทษกรรม ผ่านมา 10 ปีเราไม่ควรมีนักโทษทางการเมืองอีกแล้ว ผู้ลี้ภัยควรได้กลับบ้านแล้ว
จุดเริ่มต้นให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาคือ เราควรคืนความเป็นธรรมโดยการนิรโทษกรรมให้กับทุกคนเพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่
ปัจจุบันที่เรามีรัฐบาลพลเรือนทำให้การทำงานมีความแตกต่างจากรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ไหม
เยาวลักษ์: แม้เราจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มรดกผลพวงของการรัฐประหารยังดำรงอยู่ รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งยังได้รับอิทธิพลนั้นอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐยังคุ้นชินกับการใช้อำนาจนิยมจากอำนาจเผด็จการทหารอยู่ ส่งผลให้ในแต่ละวันยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการคุกคามประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
ทุกวันนี้ผู้นำรัฐบาลจะไปจังหวัดไหนของประเทศไทย เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไปบ้านนักกิจกรรม ไปถ่ายรูป ห้ามไม่ให้ออกไปชุมนุม ก่อนรัฐประหารเราไม่มีเรื่องนี้ ผู้นำประเทศไปไหนก็มีประชาชนไปต้อนรับหรือไปประท้วงเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้เกิดภาวะแบบนี้ มีการสร้างผังของคนที่ไปแสดงความคิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ใครทำอะไรก็มีผังออกมาเลย มีแกนนำ มวลชน ผู้ทำกิจกรรม มันไม่ควรมี ปัจจุบันก็ยังเกิดอยู่


นอกจากเรื่องนิรโทษกรรมแล้ว เบื้องต้นมีโจทย์อะไรที่รัฐบาลควรทำให้สำเร็จ
เยาวลักษ์: เบื้องต้นตอนนี้จำเป็นต้องมีนโยบายในการชะลอคดีก่อน ตอนนี้คดีของศูนย์ทนายฯ ยังค้างอีก 700 กว่าคดี อย่างคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรส่งอัยการแล้ว เราพบว่าปีนี้มีการขุดคดีที่เกิดเมื่อปี 2563-2564 ขึ้นมาแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทางการเมืองอีก เรื่องพวกนี้ควรหยุดได้แล้ว ไม่ควรมีคดีใหม่เกิดขึ้นในปีนี้แล้ว ส่วนโจทย์ใหญ่ที่เห็นคือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ศูนย์ทนายฯ พบปะองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอยู่เรื่อยๆ หากมองจากสายตาภายนอกเขามองภาพสถานการณ์ไทยอย่างไร
ศิริกาญจน์: ประชาชนทั่วไปอาจรู้สึกมีความหวังกับเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามากๆ แล้วต่อมาก็อาจผิดหวังกับกระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาล แต่หากมองด้วยสายตาที่โลกมองไทย ในสภาวะที่โลกวุ่นวายมากๆ มีสงครามในหลายแห่ง ประเทศไทยดูมีความหวังที่สุดแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศที่ส่งต่อบรรยากาศความหวังสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะภาพบทบาทคนรุ่นใหม่ของไทยโดดเด่นมากๆ เรื่องนี้สำคัญเพราะหากไม่มีพลังใหม่ๆ เราจะไม่สามารถขัดขวางการขยายตัวของอำนาจเผด็จการได้ เราจึงอยากให้คนรู้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีความหวัง เราเปลี่ยนได้จริงและขอให้ลงมือทำ
เยาวลักษ์: เรามีความหวังและเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่เสมอ อย่างศูนย์ทนายฯ เองทุกปีก็จะมีคนทำงานหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ พอเกิดม็อบปี 2563 เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเราคิดไม่ผิดเลย
คนรุ่นใหม่เป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้ตอนนี้เราเห็นว่ายังมีอุปสรรค แต่เรากำลังดันกันอยู่ กำลังสู้ กำลังยื้อ เขาไม่สามารถนำประเทศถอยหลังกลับได้แล้ว เราไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะสำเร็จ เราอาจจะอยู่ไม่ทันเห็น แต่เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะมารับภารกิจในการผลักดันให้ประเทศกลับคืนสู่นิติธรรมได้
สำหรับศูนย์ทนายฯ มองบทบาทต่อไปในอนาคตของตัวเองอย่างไร มีบทบาทใหม่ๆ ที่อยากขยายไปไหม
เยาวลักษ์: ศูนย์ทนายฯ เป็นแหล่งข้อมูลคดีและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คิดว่าน่าจะมากที่สุดในประเทศแล้ว 10 ปีมานี้เราวัตถุดิบมากมาย เราก็คุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้สำหรับคนรุ่นหลัง
ก่อนช่วงการชุมนุมปี 2563 เราเคยคุยกันว่าอยากทำสถาบันคลังสมอง (think tank) เพื่อมีบทบาททำงานเชิงความรู้ พัฒนางานวิจัยต่างๆ เพื่อว่าต่อไปสังคมไทยจะต้องไม่มีรัฐประหารอีก แต่พอเกิดการชุมนุมในปี 2563 ตอนนี้หน้างานของเราเต็มไปด้วยงานคดีรายวัน โปรเจ็กต์นี้จึงพับเก็บไว้ก่อน
หากมีการนิรโทษกรรม งานคดีหมดไป เราอยากกลับมาทำโปรเจ็กต์นี้ต่อ เรามีข้อเสนอจากการทำงานที่อยากผลักดันในเชิงนโยบาย ข้อเสนอของเราคือต้องลบผลพวงการรัฐประหารทั้งหมด ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รื้อฟื้นหลักนิติรัฐ และมีการปฏิรูปกองทัพด้วย เพราะถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพ การเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมจะทำไม่ได้
ศูนย์ทนายฯ เอากรอบการทำงานมาจากแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ซึ่งมีหลักเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย, บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการเยียวยาผู้เสียหาย
ทศวรรษแรกของศูนย์ทนายฯ ทำงานเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งงานทศวรรษแรกของเราก็ยังไม่จบ แต่งานในทศวรรษถัดไปต้องนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปกองทัพ
ศิริกาญจน์: ศูนย์ทนายฯ มีจุดกำเนิดที่ค่อนข้างพิเศษ เป็นความจำเป็นที่ต้องมีหน้าที่นี้ในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ ในท้ายที่สุดเราอยากให้ภารกิจนี้จบเพื่อที่เราจะไปทำอย่างอื่นต่อ อย่างที่อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุลบอกว่าเขาไม่ปรารถนาจะให้ศูนย์ทนายฯ อยู่ไปตลอด เราคิดว่างานสิทธิมนุษยชนไม่มีวันจบ จิตวิญญาณนี้ของเรายังคงอยู่ต่อไป สิ่งหนึ่งที่อยากทำคือที่ผ่านมาเรามีบทเรียนมากมาย แต่เรายังไม่เคยให้บทเรียนกับคนที่ทำรัฐประหาร-คนที่ละเมิดสิทธิฯ ประชาชนได้อย่างจริงจัง นี่เป็นการบ้านที่ทำไม่เสร็จของยุคสมัยที่ตกทอดมา
ภาคประชาชนควรเป็นผู้ให้บทเรียนกับผู้มีอำนาจที่ทำรัฐประหาร ใช้อำนาจนอกระบบ และละเมิดสิทธิมนุษยชน นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งงานของทนายสิทธิมนุษยชนต่อไป ถ้านิรโทษกรรมแล้วเรามีเวลามากขึ้นก็อาจเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นทนายความให้ประชาชนผู้ถูกรัฐฟ้อง เป็นการรุกกลับหรือการทำคดียุทธศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่เราควรทำมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ทำเลย เราอยากให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อที่การทำรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก ทำให้เห็นว่าการทำรัฐประหารคือการทำผิดรัฐธรรมนูญ ใครทำผิดรัฐธรรมนูญจะเจอโทษอย่างไร หากเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จะช่วยให้สังคมไทยไม่วนกลับไปที่เดิม
ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น มีเรื่องที่เราต้องทำเพื่อต่อยอดจาก 10 ปีนี้ คือเราจะใช้ประสบการณ์ความรู้ของเราในการสร้างคน สร้างเครือข่าย พัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกไป พลังของประชาชนประเทศไทยไม่เข้มแข็งมาก เพราะถูกตัดตอนตลอดเวลาและขาดการเชื่อมระหว่างรุ่นต่อรุ่น เรามีความท้าทาย เกิดดิสรัปชัน มีความแตกต่างของเจเนอเรชัน เราอยากเก็บบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้
งานที่จะทำต่อคือการบันทึกข้อมูล การเป็นหนึ่งในหน่วยของการบันทึกความทรงจำร่วมว่าเราผ่านอะไรกันมาบ้าง แล้วนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่การพัฒนาต่อยอดโดย think tank มีคลังข้อมูลงานด้านสิทธิมนุษยชนของภาคประชาชน มีการเสนอทางออก เสนอนโยบาย เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หากศูนย์ทนายฯ จะยังมีอยู่ต่อไปก็หวังว่าบทบาทของเราในทศวรรษที่สองหรือทศวรรษที่สามจะเปลี่ยนไปจากทศวรรษแรก

หากจะยกระดับการทำงานของศูนย์ทนายฯ ให้ไปถึงเป้าที่วางไว้ต้องมีความร่วมมือหรือการสนับสนุนทรัพยากรแบบไหนเข้ามาเพิ่มเติม
ศิริกาญจน์: เราอยากขยายความร่วมมือขยับฐานยุทธศาสตร์เพื่อทำให้คนมาสนใจส่งเสริมงานด้านนี้มากขึ้น อยากเห็นความร่วมมือเกิดจากองค์กรต่างๆ สำนักงานกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ โดยไม่ใช่โครงการเป็นครั้งคราว แต่มันจะเป็นการลงทุนร่วมกันของคนทั้งสังคม
เรามีราคาที่เสียไปเยอะมากในสองทศวรรษที่ผ่านมา เสียทุกอย่าง เสียเวลา เสียโอกาสของทั้งระดับบุคคลและระดับประเทศ ณ วันนี้เราก็ยังมีคนสูญเสียอิสรภาพและสูญเสียชีวิตไปนับไม่ถ้วน เราต้องเติมสิ่งที่สูญเสียไป เติมแล้วก็ต้องต่อยอดด้วย เราไม่สามารถทำได้โดยภาคประชาสังคมตามลำพัง แต่อยากให้เกิดการร่วมกันสนับสนุนของคนไทยในสังคมมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนเวลาและคนทำงาน อยากให้ใครๆ ก็สามารถทำงานด้านนี้ได้
เราคิดถึงภาพการมีสาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม เห็นความสำคัญของการทำงานด้านนี้แล้วอาจจะอยากสนับสนุนเรื่องเงินหรือเวลาในการต่อยอดการทำงานให้สม่ำเสมอ ไม่เป็นแค่กระแสช่วงหนึ่ง จะทำอย่างไรให้เป็นระบบที่ให้คนมามีส่วนร่วมได้ทุกเดือนจนเป็นเรื่องคุ้นชินอยู่ในจิตสำนึก
ทั้งหมดนี้คือการตระหนักรู้ร่วมกันว่า เราไม่เอารัฐประหารแล้ว ถ้ามีรัฐประหารมา เราจะต่อต้าน เราจะไม่ยอมรับ นี่คือเรื่องสำคัญมากที่จะหยุดวงจรนี้ได้ ซึ่งนักกฎหมายทำเองทั้งหมดไม่ได้แน่ๆ ยังไม่นับว่าเรามีนักกฎหมายที่ไม่ถือหลักการเดียวกันกับเราที่ยังรับใช้อำนาจที่พร้อมจะบิดเบือนกฎหมายอยู่ ดังนั้นเราต้องการกำลังคนในสังคมอย่างมากนี่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด
ผ่านมา 10 ปี มีอะไรที่อยากบอกคนที่ทำงานร่วมกันมาในศูนย์ทนายความฯ คนในเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่มีความหวังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เยาวลักษ์: เวลาคุยกับน้องๆ เราจะบอกว่า งานของเราเป็นงานที่ไม่เสร็จและเป็นงานที่ใช้พละกำลังมาก เราไม่ใช่สำนักงานกฎหมายทั่วไปต้องใช้พลังในการทำงานมาก เราบอกทุกคนเสมอว่าให้ดูแลสุขภาพ จัดการงานกับการใช้ชีวิตให้สมดุล เพราะตอนตั้งศูนย์ทนายฯ 5 ปีแรกเราทำงานอย่างหนักหน่วงจนไม่ได้คำนึงถึงตัวเอง ทำงานกันทั้งวันทั้งคืนเพราะมีคนถูกจับตอนกลางคืน ตอนนี้เราทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เขาตระหนักเรื่องการสมดุลชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อท้าทายเพราะภาระงานของเรามันไม่ใช่งานธรรมดา
นอกจากนี้คือเรื่องการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ เราต้องสร้างองค์ความรู้ทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสิทธิพลเมืองและการเมือง เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ
หลายคนมองว่า ศูนย์ทนายฯ ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการทำงานคนเดียว แต่เรามีเครือข่ายสนับสนุนและร่วมกันทำงาน ต้องขอบคุณภาคประชาสังคม ขอบคุณหลายฝ่าย ขอบคุณกองทุนราษฎรประสงค์ ขอบคุณประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่สนับสนุนทั้งกองทุนราษฎรประสงค์ สนับสนุนเงินประกัน ให้ความช่วยเหลือศูนย์ทนายฯ มาโดยตลอด ขอบคุณทนายความอาสาและผู้ช่วยทนายความทุกคน ขอบคุณประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ช่วยส่งข้อมูลมาให้จนเรามีฐานข้อมูลขนาดนี้
สังคมเริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น คนตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น คนใฝ่หาประชาธิปไตยมากขึ้น อาจเพราะเราอยู่ภายใต้วิกฤตความขัดแย้งมา 20 ปี คนเริ่มรู้สึกว่าน่าจะเพียงพอแล้วและพยายามเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมของเขา
ศิริกาญจน์: 10 ปีที่ผ่านมาศูนย์ทนายฯ มีคนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งคนที่อยู่จนถึงตอนนี้และคนที่ออกไปแล้ว เรารู้สึกขอบคุณพวกเขาเสมอที่เข้ามาร่วมภารกิจที่สำคัญมากๆ เราไม่สามารถยืนหยัดมาได้ 10 ปีหากไม่มีทุกคน อยากให้กำลังใจทั้งตัวเอง เพื่อนร่วมงาน อาสาสมัคร ทนายเครือข่าย ทนายอาสา ผู้ช่วยทนาย เพราะหลายครั้งพวกเราเจอภาวะสิ้นหวัง ตั้งคำถามว่าทำงานกันมาขนาดนี้แล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยเหรอ เวลาท้อหรือเหนื่อยจึงอยากให้พัก ดูแลสุขภาพจิตใจ ดูแลกันและกัน
อยากให้ทุกคนหันกลับมามองว่า คุณมีบทบาทสำคัญมากที่ทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ผลิบานและมันจะไม่มีวันร่วงโรยไปง่ายๆ มันเกิดขึ้นแล้วในยุคสมัยที่คุณอยู่กับศูนย์ทนายฯ ในทศวรรษแรก และอยากให้ทุกคนเดินไปสู่ทศวรรษใหม่ด้วยกันพร้อมความหวังว่า ในที่สุดสิ่งที่เราวาดหวังไว้คืออยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น อำนาจเป็นของประชาชนมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้เพราะมันอยู่ในมือของพวกเรา