fbpx
วิกฤตแรงงานไทยในยุค COVID-19 : ศุภชัย ศรีสุชาติ

วิกฤตแรงงานไทยในยุค COVID-19 : ศุภชัย ศรีสุชาติ

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรียบเรียง

 

 

จากวิกฤตสุขภาพสู่วิกฤตเศรษฐกิจ  KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า กรณีที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ชะลอลงภายในไตรมาสที่ 2 และอาจมีการล็อกดาวน์บางส่วนต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 จะมีแรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้ เพิ่มสูงสุดถึง 4.4 ล้านคน ส่งผลให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านคน หากเทียบกับกำลังแรงงานจำนวน 38.4 ล้านคนของไทย คิดเป็นประมาณ 13% เลยทีเดียว ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ก็คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานกว่า 7 ล้านคนจากวิกฤต COVID-19

สถานการณ์ล่าสุดในตลาดแรงงานไทยเป็นอย่างไร ทางออกในการแก้ปัญหาเพื่อแรงงานไทยอยู่ตรงไหน และตลาดแรงงานไทยจำเป็นต้องปฏิรูปอะไรในยุคหลัง COVID-19

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง

 

สถานการณ์แรงงานไทยในวิกฤต COVID-19

 

ก่อนวิกฤต COVID-19 ตลาดแรงงานไทยก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อยู่แล้ว ปัจจัยตั้งต้นที่ส่งผลให้สถานการณ์ของตลาดแรงงานไทยไม่สู้ดีนักก่อน COVID-19 ระบาดมีอยู่สองเรื่อง คือ ในภาคการผลิต โรงงานและสถานประกอบการจำนวนหนึ่งลดกำลังการผลิตเนื่องจากส่งออกได้ยากขึ้น และในภาคบริการ นักท่องเที่ยวจีนมีเริ่มแนวโน้มเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยน้อยลง

เมื่อ COVID-19 ระบาด ตลาดแรงงานไทยต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ความหนักหน่วงของสถานการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น แพทย์และพยาบาลได้รับผลกระทบมาก แต่การจ้างงานไม่ได้ลดลง ในทางกลับกัน การจ้างงานด้านบริการสาธารณสุขกลับเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนอุตสาหกรรมที่แรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงทั้ง supply chain คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลสั่งปิดพรมแดน ธุรกิจต้นน้ำอย่างสายการบินต้องหยุดเพราะคนไม่สามารถเดินทางได้ ลุกลามต่อไปยังธุรกิจกลางน้ำอย่างโรงแรม จนถึงธุรกิจปลายน้ำคือ ร้านอาหาร ตลาด และร้านขายของที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลสั่งปิดเมือง แรงงานเกือบทั้งภาคบริการได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด

ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจากสงครามการค้าดีนัก หลังการระบาด ก็ลดกำลังการผลิตลงไปอีก ลดชั่วโมงการทำงานและชั่วโมงโอที ส่งผลกระทบให้รายได้ของแรงงานลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังต้องการคงสถานะลูกจ้างไว้อยู่ เพราะหากเลิกจ้างงาน ก็ต้องจ่ายเงินชดเชย ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็ยังอยากอยู่ในสถานะลูกจ้าง แม้ว่าชั่วโมงทำงานจะน้อยลง ดังนั้นลูกจ้างเหล่านี้จึงปรับตัวด้วยการผันตัวออกไปเป็นแรงงานนอกระบบในบางเวลาเพื่อหาแหล่งรายได้อื่นทดแทนจากชั่วโมงทำงานหรือวันทำงานที่หายไป

สำหรับแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมก็ได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป หากแรงงานอยู่ใน supply chain ที่ต้องหยุดกิจการจากการปิดเมือง เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาด อาชีพอิสระอย่างคนขับแท็กซี่ ฟรีแลนซ์ ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนเกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถส่งออกผลผลิตไปขายในต่างประเทศได้และจากการที่ตลาดถูกปิดหรือกำลังซื้อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มีแรงงานนอกระบบบางอาชีพที่ได้ประโยชน์จากการปิดเมือง เช่นพนักงานส่งสินค้าและอาหาร

 

“เราไม่ทิ้งกัน” ?

 

มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือมาตรการของกระทรวงอื่นที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน อีกส่วนคือมาตรการของกระทรวงแรงงาน

มาตรการหลักในส่วนแรกคือมาตรการแจกเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทของกระทรวงการคลัง ครั้งนี้รัฐบาลตัดสินใจใช้เกณฑ์คัดคนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การตั้งเงื่อนไขของกระทรวงการคลังในระยะแรกไม่ชัดเจนและซ้อนทับกันอยู่ เนื่องจากแรงงานไทยมีมากกว่าอาชีพเดียว มักเคลื่อนย้ายระหว่างการทำงานในภาคบริการและภาคเกษตรตามฤดูกาล อีกทั้งไม่มีนิยามที่ชัดเจนแต่แรกว่าแรงงานที่ไม่มีนายจ้างแต่อยู่ในระบบประกันสังคมโดยสมัครใจตามมาตรา 39 และ 40 มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ ดังนั้น ผลที่ตามมาคือคนจำนวนหนึ่งจึงไม่สามารถเข้าถึงระบบช่วยเหลือได้ แต่สุดท้ายรัฐก็ค่อยๆ ปรับขยายเกณฑ์ให้มีคนที่ผ่านเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น อย่างแรงงานที่ไม่มีนายจ้างแต่จ่ายประกันสังคมสุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือ เพราะ COVID-19 ส่งผลให้คนกลุ่มเหล่านี้ประกอบอาชีพตามปกติไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีการแยกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรออกมาเป็นการเฉพาะ

เมื่อเปรียบเทียบมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยกับมาตรการช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศ จะเห็นว่าในไทยเลือกที่จะให้เงินกับแรงงานที่ยากลำบากโดยตรง เพื่อให้คนมีเงินในกระเป๋าเพื่อจับจ่ายใช้สอย และเกิดผลทวีคูณ (multiplier effect) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การแจกเงินไปที่แรงงานโดยตรงอาจไม่ได้ผลตามที่รัฐต้องการหากคนนำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้หรือไม่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนกระทรวงแรงงานมีเครื่องมือช่วยเหลือไม่มากนัก มีเพียงแค่ 5 หน่วยงานหลักคือ 1. กรมการจัดหางาน 2. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 3. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 4. สำนักงานประกันสังคม และ 5. สำนักงานปลัดฯ ซึ่งในบรรดา 5 หน่วยงาน เครื่องมือช่วยเหลือในสถานการณ์เช่นนี้มีจำกัดมาก หน่วยงานที่ช่วยเหลือได้ตรงจุดและเร็วที่สุดมีเพียงแค่สำนักงานประกันสังคมเท่านั้น ส่วนเครื่องมือจากกลไกอื่นเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนในสถานการณ์ปกติและต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลของนโยบาย เช่น การฝึกทักษะแรงงาน

การใช้มาตรการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมมีมาก่อนการปิดเมืองแล้ว อย่างเช่นการขยายเวลาจ่ายสมทบ การลดอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้นายจ้างเหลือ 4% (600 บาท) และฝ่ายลูกจ้างเหลือ 1% (150 บาท) เพื่อลดภาระของนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือได้รวดเร็วที่สุดคือการจ่ายเงินค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ซึ่งมีระบบอยู่แล้ว แต่มาตรการเพิ่มขึ้นมาคือการเปิดให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย โดยขอรับเงินชดเชย 62% ของค่าจ้างรายวัน (แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท) ไม่เกิน 90 วัน

หากให้ประเมินมาตรการของภาครัฐว่าขาดเหลืออะไร มีประสิทธิภาพหรือไม่ มาตรการแรกที่รัฐควรให้ความสำคัญแต่ไม่ได้ทำ คือมาตรการบริหารความเสี่ยงในตลาดแรงงาน ว่าแรงงานในภาคส่วนไหนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ส่งผลให้ช่วงแรกรัฐประเมินความเสี่ยงไม่ตรงเป้า มองไม่เห็นว่าวิกฤตสาธารณสุขจะส่งผลกระทบต่อมายังตลาดแรงงานอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไร

สำหรับการเลือกใช้มาตรการแจกเงินช่วยเหลือแบบเลือกแจก (target-based) ตามเกณฑ์และเงื่อนไข (conditional transfer) ผมคิดว่าเหมาะสมแล้ว เพราะหากเลือกมาตรการช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก

โดยรวมแล้ว มาตรการของกระทรวงการคลังช่วยเหลือคนได้ค่อนข้างครอบคลุม เว้นแต่กลุ่มคนที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงระบบออนไลน์เพื่อลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ รัฐบาลจึงควรใช้เจ้าหน้าที่ลงตรวจด้วยเพื่อให้คนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้จริง

 

คนว่างงาน รัฐสร้างงาน

 

สำหรับนโยบายสร้างงานใหม่เพื่อช่วยเหลือคนตกงานในภาวะวิกฤต ส่วนแรก มีการใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยจ้างงานบางประเภทในท้องที่ รวมถึงมาตรการสั่งให้กระทรวงต่างๆ จ้างงานคนตกงานแทนการจ้างเหมาบริการ ส่วนที่สอง ทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐจะใช้นโยบายฝึกอาชีพเพิ่มทักษะแรงงานและจ่ายค่าตอบแทนการเข้าร่วมฝึกอาชีพให้ด้วย อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาว่าแรงงานไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทักษะที่ฝึกมาเพื่อประกอบอาชีพต่อ เพราะไม่มีตลาดงานรองรับ อาจต้องมีการคัดกรองผู้เข้าร่วม การหางานต่อให้ รวมทั้งการฝึกอาชีพที่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน ดังนั้น รัฐควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสปรับนโยบายการสร้างงาน ส่วนที่สาม ในต่างประเทศมีนโยบายการจ้างแรงงานอาสาสมัครแบบมีค่าตอบแทนในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เพื่อให้คนเฉพาะกลุ่มอย่างผู้สูงอายุหรือเยาวชนรู้สึกมีคุณค่าศักดิ์ศรีในการทำงานและมีรายได้ในระดับหนึ่ง

หากรัฐจะออกนโยบายดึงดูดให้ธุรกิจจ้างแรงงานต่อ ปัญหามีอยู่ว่าเราไม่สามารถประเมินได้ว่าธุรกิจไหนได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร บางธุรกิจดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมาก แต่สถานการณ์ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากรัฐสามารถประเมินได้อย่างแม่นยำและการันตีว่าธุรกิจใดเดือดร้อนจริง รัฐน่าจะใช้มาตรการลดหย่อนภาษีหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นหากธุรกิจยังคงการจ้างงานไว้

ในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ภาคเกษตรช่วยดูดซับผลกระทบจากวิกฤต แรงงานสามารถกลับบ้านในชนบทเพื่อไปทำงานในภาคเกษตรได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ ภาคเกษตรอาจรองรับแรงงานกลับไปทำงานได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง มีปัญหาสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้ง ส่วนผลผลิตและการส่งออกก็ไม่แน่นอน รวมทั้งภาคเกษตรไทยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มาก ผลิตภาพในภาคเกษตรไม่สูง หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยมีระดับผลิตภาพที่ดี รัฐควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ภาคบริการเข้มแข็ง เร่งสร้างให้เกิดผลิตภาพในภาคบริการมากที่สุด เพราะแรงงานมีแนวโน้มเข้าไปทำงานในภาคบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรและการผลิตค่อยๆ ลดลง

Next Normal ของตลาดแรงงานไทย

วิกฤต COVID-19 จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงานลงและเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากการจ้างแรงงานมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการ ในขณะเดียวกัน การลงทุนในเทคโนโลยีกลับถูกลง การทำงานจากบ้าน (work from home) ก็จะกลายเป็น next normal ในการทำงานของภาคเอกชน เพราะนายจ้างสามารถประหยัดต้นทุนในการจ่ายสวัสดิการต่างๆ อย่างเช่นค่าเดินทาง

ในขณะเดียวกัน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบในระยะหลังเริ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นแรงงานอิสระที่ไม่มีนายจ้างประจำเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยน ระบบคุ้มครองแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ต้องปรับตามให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง โดยคุ้มครองแรงงานแบบฟรีแลนซ์และการจ้างงานชั่วคราวมากขึ้น

โครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปยังเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการจัดการศึกษาเช่นกัน สถานศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ต้องปรับให้มีการเรียนการสอนแบบข้ามศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานที่ต้องการแรงงานที่มีความรู้รอบด้านมากยิ่งขึ้น ครบเครื่องมากขึ้น ไม่ได้รู้ลึกเพียงแต่สาขาเฉพาะ และมีความสามารถที่นายจ้างรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการ โดยไม่ต้องนำเงินไปจ้างฟรีแลนซ์หรือ outsource เพิ่มอีก

 

ทักษะแรงงานแห่งอนาคต

 

การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อตอบโจทย์โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปนั้น สถานศึกษากับภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกันว่าตลาดต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านใด แล้วจึงผนวกการฝึกทักษะแรงงานที่ตอบรับกับความต้องการตลาดเข้าไปในหลักสูตร

ในอนาคต แรงงานต้องรู้จักดึงทักษะเสริมออกมาเพื่อสร้างแต้มต่อนอกเหนือจากวิชาที่เรียนมา เช่น หากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง มีความรู้เรื่อง big data รู้จักกลไกประเมินและคาดการณ์ภาครัฐ ควรจะสามารถนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ ต้องทำงานเป็นและทำงานได้หลากหลาย

นอกจากนั้น soft skills จะมีความสำคัญ เป็นที่ต้องการของนายจ้าง เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบตัวเอง การคิดเชิงวิพากษ์ หรือความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานออฟฟิศ (white-collar) ต้องหมั่นพัฒนาทักษะใหม่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการทำงานที่สูงขึ้น ซึ่งอาจต้องมีใบรับรองจากการเรียนคอร์สเพิ่มทักษะต่างๆ หรือการสอบวัดความสามารถด้วย

ภาคการผลิตในอนาคต คาดว่าจะมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (automation) มาทดแทนการจ้างงานใช้แรงงาน (blue-collar) ดังนั้นแรงงานประเภทนี้ต้องเพิ่มทักษะในการควบคุม AI หรือ automation และแก้ปัญหาขัดข้องจากเครื่อง เพื่อให้ทำงานร่วมกับ AI และ automation ได้

การระบาดของ COVID-19 ทำให้เราต้องคิดใหม่เรื่องการจ้างงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เช่นกัน ในบรรดา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนของกระทรวงแรงงาน มีบางอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างเช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบรายได้สูงอาจต้องปรับเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) แทน เสนอบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพพ่วงกับการท่องเที่ยว หรืออย่างอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็น smart farmer นำข้อมูลต่างๆ อย่างเช่น ข้อมูลราคา ข้อมูลคู่ค้า ข้อมูลสภาพดินฟ้าอากาศ มาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร

 

ปฏิรูปโครงสร้างสวัสดิการแรงงาน

 

การปฏิรูปโครงสร้างตลาดแรงงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต้องปฏิรูปแบบบูรณาการทั้งระบบคุ้มครองแรงงาน ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ ระบบประกันสังคม และระบบพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น การเปลี่ยนจากระบบค่าจ้างขั้นต่ำไปเป็นระบบค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน เป็นต้น

หลัง COVID-19 รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อรองรับโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป เช่น เมื่อสัดส่วนของแรงงานอิสระที่ไม่มีนายจ้างเพิ่มมากขึ้น เราจะออกแบบระบบประกันสังคมเพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้อย่างไร จะปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ให้ดึงดูดและเหมาะสมกับแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างไร การที่รัฐบาลจัดเก็บข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และข้อมูลจากการลงทะเบียนขอเงินช่วยเหลือในช่วง COVID-19 ทำให้ภาครัฐเริ่มมี big data สำหรับการออกแบบนโยบายให้ทำงานได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ระบบประกันสังคมอาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน 7 กรณี โดยคงสิทธิประโยชน์บางอย่างเป็นกรณีพื้นฐาน แต่สิทธิประโยชน์บางอย่างอาจปรับเป็นตัวเลือกเสริม (optional) เพื่อลดต้นทุน ถ้าผู้ประกันตนต้องการสิทธิที่เป็นตัวเลือกเสริมก็ต้องจ่ายเพิ่ม เช่น ควรปรับสิทธิรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยให้เป็นสิทธิเสริม เพราะซ้ำซ้อนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ระบบประกันสังคมควรปรับปรุงระบบสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้สอดคล้องกับความเป็นสังคมสูงวัยของไทย โดยต้องมีความยืดหยุ่นในการจ่ายบำนาญมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับบำนาญได้ แม้ยังทำงานต่อ (ในปัจจุบันหากยังอยู่ในระบบประกันสังคมจะไม่สามารถรับเงินบำเหน็จและเงินบำนาญได้เลย) หากมีการปรับระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น บริษัทเอกชนก็จะได้รับผลพลอยได้ไปด้วยเพราะจะจ้างแรงงานผู้สูงอายุได้มากขึ้น

ในส่วนของการปฏิรูประบบพัฒนาฝีมือแรงงานต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนรวมกับรัฐในการลงทุนด้านการพัฒนาคน โดยรัฐควรกันงบประมาณช่วยเหลือแรงงานส่วนหนึ่งไว้ใช้กับมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว ไม่หวังรอให้รัฐแจกเงินอย่างเดียวเท่านั้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save