fbpx
สื่อมวลชนไทยในสถานการณ์ปฏิรูปสื่อ

สื่อมวลชนไทยในสถานการณ์ปฏิรูปสื่อ

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

หากเป็นไปดั่งที่ประสงค์จำนงหมาย คณะผู้ปกครองตลอดจนบริวารว่านเครือ ซึ่งล้วนสวมหน้ากากประชาธิปไตย กุมอำนาจรัฐจัดการประเทศอยู่ในเวลานี้ สามารถผลักดันร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ออกมาบังคับใช้ได้เมื่อใด

ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกเลยทีเดียวสำหรับบ้านนี้เมืองนี้ ที่อำนาจรัฐประสบความสำเร็จ ขยับคืบคลานเข้าไปแทรกแซงควบคุมกำกับสื่อสารมวลชนครบถ้วนทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออินเทอร์เน็ต

ลำพังวิทยุและโทรทัศน์ หาได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใดไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐราชการ ไม่กองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ ก็ อสมท. ฯลฯ

และหากมิใช่กระบอกเสียงของรัฐ โทรทัศน์และวิทยุแทบทั้งหมดเปรียบไปก็เสมือนกับแมวเชื่อง มุ่งจะนำเสนอสาระบันเทิงเริงรมย์ ประกวดร้องเพลง เกมโชว์ หนัง ละครประโลมโลกย์ มากกว่าไปแตะต้องข้องแวะยุ่งเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมือง

อีกทั้งการกำกับดูแลโทรทัศน์และวิทยุยังมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. คอยสนองนโยบายรัฐไม่ขาดตกบกพร่อง

แปลกแยกแหกคอกขึ้นมาเมื่อไร ก็สามารถสั่งยึดคลื่นจอดำได้เลย

ทว่าเป้าหมายกลับดูจะมุ่งไปยังหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่คงความเป็นอิสระ ทรงอิทธิพลในสังคมไทยมาช้านาน เป็นไม้เบื่อไม้เมาของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้ปกครองซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร

รวมทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งก้าวกระโดดเป็นสื่อหลักได้อย่างรวดเร็ว โดยที่รัฐไม่สามารถเข้าไปกำกับควบคุมได้

พลานุภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของหนังสือพิมพ์ พลังอำนาจการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำแดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

กระทั่งล้มล้างอำนาจรัฐ เปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง รัฐบาล

คงมิใช่เรื่องอภินิหาร ลึกลับซับซ้อน เหลือเชื่อเหนือธรรมชาติอะไรเลย ที่จะปรากฏภาพคนระดับรัฐมนตรี เสนาบดี พินอบพิเทาเข้าหาบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหารบางคน หอบ กระเช้าเข้าไปอวยพรวันเกิดหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง ให้เป็นที่ผะอืดผะอมแก่ผู้พบเห็น

เพราะฉะนั้น จึงมีความพยายามจากผู้ปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐแต่ละยุคแต่ละสมัย ในอันที่จะหาทางบริหารจัดการสื่อสารมวลชนด้วยรูปแบบวิธีการที่อาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือแทรกแซงและครอบงำสื่อ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม

รูปแบบวิธีการแทรกแซงครอบงำสื่อมีทั้งข่มขู่คุกคามผ่านคำพูดคำจาของบรรดาท่านผู้นำขี้โมโห จุดเดือดต่ำ หรือข่มขู่คุกคามด้วยการกระทำ เช่น สั่งห้ามผู้สื่อข่าวบางคนเข้ามาทำข่าว ส่งคนไปสะกดรอยติดตาม เพื่อสร้างความหวาดกลัว ฯลฯ

การให้อามิสสินจ้างรางวัลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยอาจจะเป็นเงิน หุ้น ตลอดจนผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลที่เกินเลยกว่าธรรมจรรยา เช่น แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตามคำขอ, ว่าจ้างหรือจัดหาเงินงบประมาณสนับสนุนนักข่าว คอลัมนิสต์ ซึ่งแสวงหาประโยชน์ทับซ้อน ด้วยการทำธุรกิจสื่อเป็นผู้รับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานราชการเสียเองอีกทางหนึ่ง

การใช้เงินงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐเป็นเครื่องมือสร้างพระเดชพระคุณ แลกเปลี่ยนต่อรองทางธุรกิจ บีบคั้นกดดันให้ผู้ประกอบการสื่อมวลชนสยบยอม สวามิภักดิ์ต่ออำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง ถือเป็นวิธีการที่แยบคาย นิยมใช้สืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบันทุกวันนี้

แยบยลไปกว่านั้น เห็นจะเป็นการฉวยโอกาสผสมโรงสวมรอยแทรกแซงครอบงำ โดยกล่าวอ้างกระแสเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อสารมวลชน

จริงอยู่ ไม่อาจปฏิเสธไปได้เลยว่า สื่อมวลชนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาช้านานถึงบทบาทในการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารในประเด็นของความเป็นกลาง คติ ความเป็นอิสระ ตลอดจนจริยธรรมจรรยาบรรณ แต่จะว่าไปก็หาได้ผิดแปลกแตกต่างไปจากปัญหาวิชาชีพอื่นๆ เลยไม่ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ทหาร ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา พ่อค้านักธุรกิจ ฯลฯ

ยิ่งหากได้พิจารณาในเนื้อหาสาระ ข้อเสนอที่รัฐโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ พยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้ ยิ่งมีข้อสงสัยและคำถามตามมาถึงเจตนาและเป้าหมายแท้จริงของการปฏิรูปสื่อตามแนวทางดังกล่าว

เพราะหากพิจารณาต้นสายปลายเหตุแท้จริงของกระแสเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อ จะเห็นได้ว่าเริ่มต้นมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 สืบเนื่องจากสื่อของรัฐ ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเผชิญหน้าปราบปรามประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา วิกฤตการเมืองอีกกี่ครั้งกี่หน ประเทศนี้ก็ยังคงต้องประสบพบพานกับปัญหาสื่อ ภายใต้การแทรกแซงครอบงำของรัฐ เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเรื่อยมา

เงื่อนปมสำคัญและปัญหาแท้จริงสำหรับวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นประเด็นเกี่ยวด้วยเสรีภาพ ขาดความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข่าวสาร แต่แทนที่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อจะให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเหล่านั้น กลับมีความพยายามที่จะขยับขยายหาทางแทรกแซง ครอบงำสื่อให้ครบถ้วนทุกสาขาวิชาชีพ

เป็นอย่างนั้นไป

แล้วไหนๆ จะปฏิรูปประเทศกันทั้งที สมควรที่จะคิดอ่านหาหนทางปรับเปลี่ยนปฏิรูปในทุกมิติ ตลอดทั้งโครงสร้าง สังคายนาทั้งระบอบ ทุกองคาพยพ แต่เอาเข้าจริงกลับเลือกคิดเลือกทำจำเพาะที่ตัวเองรู้สึกขัดหูขัดตา เป็นปฏิปักษ์ต่อสถานะความมั่นคงและผลประโยชน์ของตนเท่านั้นเอง

สภาพการณ์ที่เป็นไป ทำให้นับวันสื่อมวลชนดูจะอยู่ยากขึ้นทุกขณะ สืบด้วย

1. ปัญหาประชาธิปไตย เอาเข้าจริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มิได้สะท้อนถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่ประการใด แม้จะมีบทบัญญัติคุ้มครองรองรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนก็จริง แต่กลับมีเงื่อนไขข้อแม้สารพัดไว้หลบเลี่ยงให้เป็นหมัน บางกรณีเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือหลักการและเหตุผลจะติชมโดยสุจริตอย่างไรหาได้ไม่

2. ประเด็นการเมือง กับความพยายามแทรกแซงคุกคามการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นจากรัฐบาลผู้กุมอำนาจรัฐ

3. เงื่อนไขปัจจัยทางเศรษฐกิจ การแข่งขันทางธุรกิจของสื่อมวลชน โดยเฉพาะการแก่งแย่งช่วงชิงเม็ดเงินรายได้จากแจ้งความโฆษณาทั้งภาครัฐและเอกชน อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันระหว่างความอยู่รอดกับเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน

หลายสำนัก ผู้ประกอบการเจ้าของสื่อถึงกับลงไปบัญชาด้วยตัวเอง สั่งกองบรรณาธิการใช้พลังข่าวสารให้เป็นประโยชน์ในการหาแจ้งความโฆษณาก็มี

4. เหตุผลด้านเทคโนโลยี การถือกำเนิดเกิดขึ้นมาของสื่อใหม่ โดยมีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน เป็นอุปกรณ์เครื่องมือรับส่งข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ วัฒนธรรมการเสพสื่อ ซึ่งกระทบต่อสื่อกระแสหลักแต่ดั้งเดิมอย่างรุนแรง

5. สาเหตุอันสืบเนื่องมาจากความเสื่อมถอยตกต่ำของสื่อมวลชนเอง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ นำไปสู่กระแสเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อตามมา

ประเด็นนำมาซึ่งความเสื่อมถอย มีทั้งเรื่องของจริยธรรมจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวสาร อคติเลือกข้าง  พฤติกรรมทำตัวราวกับเป็นโจรสลัด รับอามิสสินจ้างรางวัล ฯลฯ

บางค่ายแอบอ้างวิชาชีพสื่อสารมวลชนไปปิดถนน ปิดสนามบิน “กู้ชาติ” บางคนไป “เป่านกหวีด” ปลุกม็อบ ชัตดาวน์ บางสำนักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคนอื่นสาดเสียเทเสียไม่มีอะไรดี แต่กับคุณพ่อแสนดีคุณน้าแสนซื่อ กลับหลับหูหลับตาเชียร์กันจนสุดซอย

ตลกร้ายที่คอลัมนิสต์บางคนเคยได้ชื่อว่าเป็นพวก 18 อรหันต์ 18 มงกุฎ แต่กลับกลายเป็นปรมาจารย์ทางความคิดของมวลชนบางฝ่ายก็มี

ถือเป็นยุคสมัยที่สื่อมวลชนเสื่อมถอยตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ในท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางของผู้คนในสังคม

เมื่อประชาชนอ่อนแอ สื่อมวลชนก็อ่อนล้า

วลีหรือประโยคที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” ที่หลายคนอาจจะหงุดหงิดรำคาญกำลังได้รับการพิสูจน์ในเวลาไม่ช้าไม่นานนับแต่นี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save