fbpx

นักรบถือไมค์: บทบาทนักข่าวหลังเลือกตั้งกับการหาทางออกให้การเมืองไทย?

โดยส่วนตัวคิดว่า นอกเหนือจากว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือเสียงสะท้อนความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชนโดยแท้จริง แม้ว่าสุดท้ายพรรคก้าวไกลอาจไม่ได้เป็นรัฐบาลอย่างที่หวัง แต่ผลของการเลือกตั้งส่งแรงกระเพื่อมจนก่อให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงหลายจุดทันที ไม่เว้นแม้แต้วงการสื่อสารมวลชน เพราะตั้งแต่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ผมเห็นความพยายามของผู้สื่อข่าว รวมถึงสำนักข่าวหลายแห่งที่พยายามช่วยกันนำเสนอข่าวเชิงแก้ปัญหาและช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม 

การนำเสนอข่าวสารในยุคหลังประยุทธ จันทรโอชา (แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เป็นทางการ) ผมเห็นภาพการเคลื่อนไหวของสื่อ ทั้งการแสดงความคิดเห็นของผู้สื่อข่าวอย่างตรงไปตรงมา การออกมาอธิบายหลักการและเหตุผลของการเสนอข่าว รวมถึงความพยายามในการช่วยกันหาทางไปให้กับประเทศไทยที่เหมือนกำลังจะออกจากหล่มได้แล้ว แต่ก็ยังขึ้นไม่พ้นบ่อโคลนเสียที บทบาทของสื่อมวลชนตอนนี้ไม่ใช่แค่เฝ้าดูเท่านั้น แต่ยังยื่นรอกและช่วยดึงเชือกกันอย่างจริงจัง  

ในโลกตะวันตก ซึ่งสื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอมากกว่าไทยเรียกการนำเสนอข่าวแบบนี้ว่าเป็นการทำงานของสื่อที่เน้นหาทางออกให้กับปัญหา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Solution Journalism’ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ ผมคิดว่านักข่าวหลายช่องพยายามทำหน้าที่นี้อยู่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

จริงๆ กระแสของการทำข่าวเชิงแก้ปัญหาเริ่มต้นมากว่า 20 ปีแล้ว รายงานการเก็บข้อมูลของ Associated Press (AP) บอกไว้ว่า น่าจะเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นยุคสังคมดอตคอม (Dot Com era) กำลังมาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา คนหนุ่มสาวเริ่มตั้งคำถามกับการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวว่า มีแต่ข่าวที่มาจากมุมมองของนักข่าวและทัศนคติของสำนักข่าวเท่านั้น แต่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้รับสาร นักอ่านและนักดูข่าวเริ่มมีปากเสียงและคิดว่าการนำเสนอข่าวก่อให้เกิดความคิดในเชิงลบมากกว่า รวมถึงขาดความละเอียดรอบคอบ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘ความเหนื่อยล้าจากข่าวสาร’ เพราะผู้คนรับข่าวสารจากสื่อมากเกินไป แต่ไม่สัมพันธ์กับความจริง กระแสนี้ใช้เวลาบ่มเพาะอยู่นานตามการพัฒนาขึ้นของอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ที่เปิดโอกาสและคลี่คลายให้รูปแบบของการทำงานของสื่อเริ่มเปลี่ยน

ปี 2010 มีคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์ The New York Times ชื่อว่า ‘Fixes’ คอลัมน์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Opinion’ ซึ่งเป็น section แสดงความเห็นของคอลัมนิสต์ที่เขียนให้กับ The New York Times คอลัมน์นี้เองที่นำไปสู่กระแสของการทำข่าวเชิงแก้ปัญหา

‘Fixes’ เริ่มต้นจากความคิดของสองนักข่าว เดวิด บอร์นสตีน (David Bornstein) และทีนา โรเซนเบิร์ก (Tina Rosenberg) ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับปัญหาทางสังคมต่างๆ และคอยตรวจสอบติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในการหาข่าวของภาคประชาชนมากขึ้น เป็นพื้นที่ในการตรวจสอบรายงานเชิงลึกต่างๆ ประเด็นที่นำเสนอในคอลัมน์ Fixes มีตั้งแต่ประเด็นเร่งด่วน เช่น เรื่องคนไร้บ้าน ปัญหาทางการเมืองที่อ่อนไหว การคอร์รัปชัน ฯลฯ นักข่าวพลเมืองหรือกระแสการทำงานของนักข่าวสมัครเล่น (หรือที่บ้านเรา เรียกกันเล่นๆ ว่า นักข่าวพันทิปหรือนักข่าวโซเชียล) ก็เริ่มต้นมาจากแนวความคิดคล้ายๆ กัน

คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมและอยู่มายาวนานถึง 11 ปีก่อนจะปิดตัวลง ที่ปิดตัวลงเพราะผู้ก่อตั้งออกมาตั้งองค์กรข่าวอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรในนาม Solution Journalism Network (SJN) ลักษณะการทำงานคล้ายๆ กับองค์กรทางสังคม มีทีมนักข่าวที่เน้นทำข่าวเจาะ ข่าวที่ต้องการหาข้อสรุปเพื่อหาทางออกร่วมกันกับสังคม หรือข่าวที่ต้องการหลักฐานเพื่อยืนยันความถูกต้องของแหล่งข่าว การส่งนักข่าวเข้าไปทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อหาข่าวเชิงลึกของ SJN ค่อยๆ มีความคืบหน้า หลังก่อตั้งได้ 2 ปีก็เริ่มมีการทำงานร่วมกับสำนักข่าวอย่าง Reuter เป็นต้น  

สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าการทำงานข่าวในเชิงแก้ปัญหายังมีข้อจำกัด ถึงแม้เราจะเห็นความพยายามที่จะผสมผสานการเล่าเรื่องที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอยู่ แต่ภูมิทัศน์ของสื่อไทยมีลักษณะเฉพาะนั่นคือ

  1. ต้องยอบรับว่า เราเป็นประเทศที่เสรีภาพของสื่อมีอยู่จำกัด โดยเฉพาะการควบคุมจากรัฐบาล สื่อไทยต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดไม่ยืดหยุ่น ความเข้มงวดเหล่านี้สร้างความกลัวจนถึงขั้นที่ว่า สื่อไทยต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง (เช่น การไม่ออนแอร์บทสัมภาษณ์พิธาที่ออกอากาศใน BBC) เนื่องจากกฎหมายบางมาตรา เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อันแสนจุกจิก ข้อจำกัดจากการแทรกแทรงสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อมของฝ่ายปกครองทำให้นักข่าวต้องทำข่าวด้วยความท้าทาย เนื่องจากอาจไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของใครเข้า อาจขัดกับความจริงและบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งอาจขัดแย้งกับจรรยาบรรณความเป็นสื่อของตัวเอง แต่ก็ต้องบิดเบือน 
  2. สื่อกระแสหลักในประเทศไทยยังถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนที่มีอำนาจ ซึ่งมักให้ความสำคัญกับผลกำไร การสร้างกระแสให้เป็นที่สนใจและรักษาสัมพันธ์ในพวกพ้อง การเน้นข่าวเชิงลบหรือการสร้างความแตกแยก การหาคู่ขัดแย้งเป็นจุดขายที่ทำเงินได้มากกว่า ทำให้ความหลากหลายในการนำเสนอข่าวเชิงแก้ปัญหานั้นน้อย โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่สำนักข่าวที่อยู่มานาน ความคิดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ยาก หากไม่มีแรงผลักจากสังคม 
  3. อีกอย่างที่สำคัญมากคือ นักข่าวไม่ใช่อาชีพที่มีความมั่นคง ข่าวสารในความหมายของคนทั่วไปคือสินค้าราคาถูก (ผิดกับความรู้ที่ได้จากสถาบันการศึกษา) สำนักข่าวต่างๆ อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เข้าใจเรื่องทำข่าวเชิงแก้ปัญหาหรือการทำข่าวเชิงสร้างสรรค์ที่ต้องอาศัยทักษะและการฝึกอบรมเฉพาะทาง เรียกว่ายังขาดแนวทางใหม่ๆ จากความตระหนักรู้ รวมถึงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดของสำนักข่าว ทำให้เราเห็นภาพการโฆษณาหารายได้อยู่ในแทบทุกช่องว่างของหน้าจอ บนเว็บไซต์ หรือบนหน้ากระดาษ และระบบการขายโฆษณาของเราก็ยังไม่พัฒนา ยังไม่ค่อยมีกระบวนที่จะสร้างหาจุดร่วมระหว่างสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน เมื่อนักข่าวไม่มีเครื่องมือและคำแนะนำที่ดีในการทำงานเพื่อโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงทิศทางในการนำเสนอข่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
  4. วัฒนธรรมไทยมีแนวโน้มที่จะเลี่ยงการเผชิญหน้าในที่สาธารณะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาก็ตาม บริบททางวัฒนธรรมก็มีอิทธิพลไม่น้อยต่อวิธีคิดในการทำงานของสำนักข่าวและนักข่าว ท่าทีของการเผชิญหน้าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจถูกมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้ง ดังนั้นเราจึงไม่มีทางเห็นคนในฝั่งก้าวไกล ไปออกรายการของสถานีท็อปนิวส์ หรือ การเห็นวอยซ์ทีวี สัมภาษณ์คนของพรรครวมไทยสร้างชาติออกรายการ

แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่ผมคิดว่าการมาถึงของสื่ออนไลน์ นักข่าวออนไลน์รุ่นใหม่ๆ และการทำข่าวพลเมืองเปิดช่องทางสำหรับเสียงทางเลือกและเนื้อหาที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา แพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียช่วยให้บุคคลและองค์กรสื่อขนาดเล็กสามารถแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองที่อาจไม่มีที่ว่างในช่องทางของสื่อกระแสหลัก ซึ่งดูเป็นแนวทางใหมที่น่าสนใจอย่างมาก

รายการอย่าง ‘ถกถาม’ ทางช่อง SpokeDark หรือนักข่าวที่ผันตัวเองมาเป็นยูทูปเบอร์อย่างคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ก็ทำได้น่าสนใจ ซึ่งพอเป็นสื่อออนไลน์กลับกลายเป็นว่า ของไทยเราดูจะไปได้ไกลกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง (ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสิงคโปร์เองก็ถูกวิจารณ์มาตลอดเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ) 

แม้ว่าแนวทางการทำข่าวเชิงแก้ปัญหาในประเทศไทยจะเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่วันนี้ ผมก็เห็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลง มีสัญญาณความคืบหน้า และหากว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างที่หวัง ผมคิดว่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงก็จะมีแรงส่งไปถึงกลุ่มธุรกิจข่าวจำนวนมากที่เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์ และหันมาทำข่าวเชิงสร้างสรรค์ เชิงหาทางออกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่เราหวังจริงๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save