fbpx
ครอบครัวไทยในยุค ‘เกิดน้อย - อายุยืน’ : ทางเลือกและข้อท้าทาย

ครอบครัวไทยในยุค ‘เกิดน้อย – อายุยืน’ : ทางเลือกและข้อท้าทาย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 ‘โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน’ ที่จัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เขียนถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ไว้ว่า

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางประชากร จากที่เคยมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากในอดีต กลายเป็นสังคมสูงวัยที่มีเด็กน้อยลงมาก แต่ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“สังคมเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่กลายเป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงและมีความหลากหลายมากขึ้น มีครอบครัว ‘เดี่ยวหลากหลายรูปแบบ’ เกิดขึ้น เช่น พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครัวเรือนของคนที่อยู่คนเดียว ครอบครัวข้ามรุ่นหรือครอบครัวแหว่งกลางที่ผู้สูงอายุอยู่กับหลานโดยไม่มีคนวัยทำงานอยู่ด้วย หรือครอบครัวเดี่ยวที่คู่สามีภรรยาอาศัยอยู่ด้วยกันโดยไม่มีบุตร หรือกลุ่ม DINK (double income, no kids) ฯลฯ

“ครอบครัวต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มเปลี่ยนไปอันเป็นผลมาจากการเลือกวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ประกอบกับแรงกดดันทางสังคม ตลอดจนต้นทุนค่าเสียโอกาสที่การเลี้ยงดูบุตรกลายเป็นภาระผูกพันระยะยาว จึงทำให้การมีครอบครัวของคนไทยในปัจจุบันเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิม”

ลักษณะการ ‘เปลี่ยนโฉมหน้า’ ของครอบครัวคนไทยสอดคล้องกับภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งในทางเศรษฐกิจที่กำลังจะขยับตัวเองออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งในทางการเมืองที่อยากจะเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ และทั้งในทางวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน ทำให้วิธีคิดเรื่องการมีครอบครัวของคนไทยเปลี่ยนไป

มีตัวเลขชี้ชัดว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) มีบุตรเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ ในปี 2507 มีบุตรเฉลี่ย 6 คน แต่ในปัจจุบันเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน และมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีก

อัตราเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2545-2557 มีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 800,000 ราย และมีการคาดการณ์ว่าหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ จำนวนการเกิดจะลดลงเหลือ 500,000 รายต่อปีภายใน 25 ปีข้างหน้า ซึ่งสวนทางกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ

ผลพวงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ขนาดของครอบครัวไทยลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง  เมื่อปี 2523 ครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ย 5.2 คน ผ่านมากว่า 30 ปี ล่าสุดเมื่อปี 2557 มีการบันทึกว่าขนาดครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 คน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ว่ามานี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องทำความเข้าใจและมองหาทางออก

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการสัมมนาประจำปี ในประเด็น ‘ครอบครัวไทยยุคเกิดน้อยอายุยืน : ทางเลือกและข้อท้าทาย’ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) โดยเชิญผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องในประเด็นครอบครัวเข้ามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิธีการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในหัวข้อ ‘ทำอย่างไรให้ครอบครัวฟังก์ชัน? : บทบาทสถาบันที่เกี่ยวข้อง’

ในงานสัมมนาครั้งนี้มีข้อมูลหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นภาพจริงของสังคมไทยมากขึ้น

 

สุจิตต์ ไตรพิทักษ์

กลไกและยุทธศาสตร์สร้างครอบครัว

 

“ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้นมากในเรื่องครอบครัว ภาครัฐพยายามมองประเด็นเรื่องครอบครัวเข้มแข็ง ไม่ได้มองว่าครอบครัวเป็นผู้ผลิตประชากรที่ต้องสร้างมากขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไก มีแผนยุทธศาสตร์ครอบครัวที่ชัดเจน มีการลงพื้นที่ชุมชน ทำศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ที่อยากให้คนในชุมชนจัดการกันเอง แต่คำถามสำคัญก็คือ คุณภาพดีหรือยัง ก็ต้องพัฒนาในหลายส่วน”

สุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความพยายามในการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา เขาชี้ว่า รัฐบาลพยายามสร้างเครื่องมือพัฒนาครอบครัว โดยเพิ่งประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว เน้น 2 ส่วน คือการ ‘ส่งเสริม’ และ ‘คุ้มครอง’ และกล่าวต่อไปว่า เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว โจทย์ต่อไปที่รัฐบาลต้องจัดการต่อคือการปฏิบัติหน้าที่จริง ทั้งจัดการองค์ความรู้ งบประมาณ และกำลังคน

สุจิตต์ยังกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ การนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ของแต่ละหน่วยงานก็มองไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรจะมีการจัดทำ Big Data ของปัญหาครอบครัว เพื่อให้เห็นภาพและรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น โดยเขาชี้ว่ายุทธศาสตร์เรื่องครอบครัวพูดถึงเรื่อง ‘การพัฒนา’ ไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ยังติดปัญหาเรื่องการนำไปใช้จริง

“แต่ละหน่วยงานทำงานเยอะ แต่เราจะเอานวัตกรรมที่มีอยู่มาใช้กับครอบครัวอย่างไร แล้วใครจะนำไปใช้ เป็นโจทย์สำคัญ”

 

พันเอก สันดุษิต ดีบุกคำ

เปลี่ยนครอบครัวสู่ Learning Family

 

จากเป็นทหารมา 24 ปี ลาออกมาทำงานเรื่องยาเสพติดผ่านการบรรยาย จนค้นพบว่าปัญหายาเสพติดมากกว่าครึ่งเกิดจากปัญหาครอบครัว พันเอก สันดุษิต ดีบุกคำ ตัวแทนเครือข่ายครอบครัว จึงขยับมาทำงานเรื่องครอบครัวมากขึ้น

“เราอยู่กับครอบครัว แต่ไม่เห็นครอบครัว อยู่กับชีวิต แต่ไม่เห็นชีวิต” คือประโยคเริ่มต้นที่พันเอกสันดุษิตใช้อธิบายมุมมองต่อครอบครัว ก่อนอธิบายต่อว่า พอมาได้ทำงานกับเครือข่ายโครงการครอบครัวเข้มแข็งก็เริ่มทำให้เห็นครอบครัวในมิติของสถาบัน

“ความเป็นสถาบันเป็นนามธรรม แต่มีอยู่จริง มีหน้าที่จริง ผมประทับใจคำพูดหนึ่งที่ว่า สังคมไทยไม่รู้จักคำว่าครอบครัว เพราะถ้ารู้จักแล้ว จะรู้จักอะไรที่เป็นรูปธรรมขึ้น เช่น สวัสดิการ”

“เราต้องทำให้ครอบครัวพัฒนาไปสู่การเป็น Learning Family ถ้าสามารถจัดการให้ครอบครัวเข้าสู่สภาวะปัญญาได้ ครอบครัวจะสามารถจัดการบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ผมคิดว่าตอนนี้บทบาทของครอบครัวมีทุกมิติ คุณธรรม จริยธรรม ครอบครัวคือพลังชีวิต วัยเด็กก็ได้กำลังใจ วัยทำงานคุณมีกำลังใจจากสามีภรรยา ในวัยสูงอายุคุณมั่นใจว่าคนในครอบครัวจะดูแลและส่งต่อช่วงปลายของชีวิต

“การเรียนรู้ที่ดีต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ที่ดีต้องทำให้สมาชิกเปลี่ยน mindset กลับมา sharing

“เราไม่เน้นแค่เรื่องเนื้อหา แต่เน้นที่อารมณ์ความรู้สึกด้วย”

เขายังกล่าวย้ำว่า ครอบครัวเป็นจุดคานดีดคานงัดที่สำคัญในการพัฒนาสังคม ซึ่งในส่วนการทำงานเชื่อมเครือข่ายที่ยึดหลัก ‘พื้นที่’ เป็นสำคัญ ในเชิงปฏิบัติไม่ง่ายนักที่จะเข้าไปทำงานกับท้องถิ่น ก็เป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนาต่อไป

 

นายแพทย์ สมชาย ตรีทิพย์สถิตย์

ทำงานครอบครัวเชิงบูรณาการ

 

ในส่วนของกรุงเทพมหานครที่มีชุมชนจำนวนมากอยู่รวมกัน นายแพทย์ สมชาย ตรีทิพย์สถิตย์ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมิติของครอบครัวในกรุงเทพฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ครอบครัวไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเป็นเครือญาติกัน แต่มีคนมาอยู่ร่วมกัน มีความคิดเห็นเหมือนกัน มารวมเป็นครอบครัว มี 2,900 ชุมชนจัดตั้งที่ขึ้นกับสำนักงานเขต เรายังมีชุมชนคอนโดมีเนียม และหมู่บ้านจัดสรร”

นายแพทย์สมชายกล่าวต่อไปว่า การทำงานไม่ได้มองแค่มิติเชิงการแพทย์อย่างเดียว แต่มองกว้างไปถึงมิติของชุมชนด้วย ในการทำงานของอนามัยทำทั้งป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ ทำงานร่วมกับสำนักงานเขตเพื่อวินิจฉัยชุมชนไปพร้อมกัน

ปัจจุบันมีคลินิกส่งเสริมสุขภาพให้คนเข้ามาฝากครรภ์ หลังคลอดบุตรก็มีคลินิกเด็กดีคุณภาพ เพื่อต่อยอดให้เด็กเติบโตต่อไปได้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ ตอนนี้มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) เข้ามามีส่วนร่วมในหลายโครงการ ก่อนจะส่งต่อลงไปพัฒนาในเชิงท้องถิ่น

“เราต้องดึงศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ แต่ก่อนทำงานกันแยกส่วนเป็นแท่งๆ แต่ตอนนี้จะทำยังไงให้มีการบูรณาการกัน” นายแพทย์สมชายกล่าวสรุป

 

สำเนียง สิมมาวัน

บทบาทของส่วนท้องถิ่น

 

“ท้องถิ่นมีบทบาทในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ท้องถิ่นเกิดทีหลังกระทรวง ทบวง กรม ทำให้หลายภารกิจซ้อนกันอยู่ เลยทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่นัก” สำเนียง สิมมาวัน ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึง ‘ช่องว่าง’ ในการดำเนินการของหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐต่อการพัฒนาครอบครัวที่ยังมีความทับซ้อนกันอยู่

สำเนียง อธิบายต่อว่า แต่เดิมระบบมีความคาดหวังว่าท้องถิ่นต้องจัดการได้เบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง แต่ในความเป็นจริง บางเรื่องท้องถิ่นเป็นได้แค่ตัวหนุนเสริมเท่านั้น เช่น เรื่องศูนย์ดูแลเด็กแรกเกิด ที่ต้องมีหน่วยงานจากทางภาครัฐเข้ามาดูแล ส่วนท้องถิ่นเข้าไปช่วยได้ในเรื่องการประชาสัมพันธ์กับชุมชน

ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 18,000 ศูนย์ ท้องถิ่นก็ช่วยในการพัฒนาอาหารกลางวัน ผลักดันให้ทุกศูนย์มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีในทุกๆ เรื่อง

ในส่วนของโรงเรียนขยายโอกาส เมื่อเด็กจบ ม.6 แล้ว ท้องถิ่นจะดึงคนในชุมชนมาฝึกอาชีพ มีทั้งในรูปแบบรวมกลุ่มฝึกอบรม หรือส่ง 1-2 คน ไปที่ศูนย์พัฒนาอาชีพของกรมแรงงาน ทั้งยังมีการปรับปรุงคุณภาพภูมิทัศน์สภาพแวดล้อม สร้างอาคาร สถานที่สาธารณะ สนับสนุนผู้สูงอายุและผู้พิการในท้องถิ่นด้วย ทั้งหมดคือส่วนที่ท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำงานเพื่อพัฒนาครอบครัวและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

“แต่ก่อนสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย ในชุมชนใครมีลูก 14-15 คน ได้เกียรติบัตร คนก็เยอะขึ้น เป็นผลพวงมาจากนโยบายประชากรด้วย นั่นคือสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้คนแทบไม่อยากมีลูก เพราะมีก็ไม่ต้องพึ่งพากัน

“ขณะเดียวกันในส่วนของสังคม ความเอื้ออาทร เรื่องความสัมพันธ์ของคน 3 วัย มีกิจกรรมกันอยู่ ผมเห็นว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ ปู่ย่า-หลาน จะกลับไปเหมือนเดิม ทำอย่างไรเราจะทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าครอบครัวยังจำเป็นต้องพึ่งพากัน

“หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วย ทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าความสัมพันธ์ทั้ง 3 วัยยังมีคุณค่าอยู่”

 

 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

ปฐมวัยคุณภาพ = ครอบครัวเข้มแข็ง

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินโครงการ ‘ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education : RIECE Thailand)’ อธิบายว่า มีการพยายามยกระดับกระบวนการเรียนรู้ โดยเริ่มที่วิธีการสอนเด็กในโรงเรียนอนุบาลที่มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ครอบคลุมเด็กอายุระหว่าง 2 ถึง 4 ขวบ กว่า 2,000 คน วางแผนจะเป็นต้นแบบในการขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย

การพัฒนาเด็กในปฐมวัย (0-6 ขวบ) นับเป็นช่วงสำคัญของการสร้างนิสัยพื้นฐาน เพราะความรู้สึกเบื้องต้นต่อครอบครัวและคนรอบข้างจะก่อตัวขึ้นในช่วงนี้ ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยมีส่วนสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้ประชากรของประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กล่าวให้เห็นภาพว่า “ถ้าสามารถสร้างพื้นฐานที่ดีให้เด็กได้ เด็กจะก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยลง ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการลดต้นทุนในการดูแลเด็ก เพราะวางรากฐานมาอย่างดีแล้ว นอกจากนี้การพัฒนาเด็กปฐมวัยยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นการลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต”

เมื่อเราพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัย จะช่วยให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำค่อยๆ ขยับเข้าหากัน เพราะเมื่อเด็กเติบโตจากฐานที่เท่ากันแล้ว ก็จะค่อยๆ กลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพในสังคมได้ เมื่อนั้น เด็กก็จะโตมาสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งได้ ในที่นี้หมายถึงมีความพร้อมในการดูแลกัน และมีรายได้ของครอบครัวที่ดี

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ ยังกล่าวอีกว่า เหตุผลที่คนไม่อยากมีลูก ไม่ใช่เพราะเรื่องภาระค่าใช้จ่ายอย่างเดียว แต่คือเรื่องความรู้ พ่อแม่หลายคนอ่านวิธีการเลี้ยงลูกเยอะ แต่ต่อภาพจิ๊กซอว์ไม่ได้ จึงรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องยาก เขาไม่อยากให้พ่อแม่มองว่าความรู้เหล่านี้ไม่มีประโยชน์

“นักวิชาการมีหน้าที่เรียบเรียง เล่า ประยุกต์ได้จริง ไม่ใช่บอกไป 10 อย่าง แต่ชีวิตจริงทำได้แค่ 3 อย่าง ดังนั้นเราควรจะบอกไปแค่ 3 อย่างไหม เพื่อให้พ่อแม่ทำได้จริง”

ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการทำงานกับครูในโครงการ คือมีวิธีการสอนที่ชัดเจน และต้องมั่นใจว่าครูทำได้จริง ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรม ‘พานิทานกลับบ้าน’ ที่ให้เด็กยืมหนังสือกลับบ้าน โดยไม่ได้เน้นที่การอ่าน แต่เน้นที่ปฏิสัมพันธ์ของครอบครัว มีตัวเลขบอกว่าภายใน 2 ปี (ปีการศึกษา 2558-59) เด็กยืมหนังสือแล้วกว่า 120,000 ครั้ง

“ผมมักจะพูดกับชาวบ้านเสมอว่าให้ปิดละครเร็วขึ้นนิดนึง แล้วอ่านนิทานให้ลูกหลาน 15 นาที ชาวบ้านยอม เพราะลูกหลานไปกระตุ้นให้เขายอม ทุกคนรักลูกหลาน สิ่งที่เราช่วยได้ คือสร้างเครื่องมือทำให้เขาทำหน้าที่ได้ง่ายขึ้น”

 

ดร.วาสนา อิ่มเอม

นโยบายครอบครัว และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

 

ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) แสดงให้เห็นพัฒนาการของนโยบายเรื่องครอบครัวของ UNFPA ไว้ว่ามีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีความตื่นกลัวว่าประชากรจะล้นโลก ขยะจะล้นโลก มีการตัดต้นไม้ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น จึงมีการพูดเรื่องตัวเลขว่าคนควรมีครอบครัว และมีลูกจำนวนเท่าไหร่ และในการประชุมการพัฒนาครอบครัวที่ไคโร เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ไทยก็ยอมรับพันธะสัญญาว่า บุคคลต้องมีการตัดสินใจได้อย่างอิสระ เช่น  จะแต่งงานเมื่อไหร่ มีลูกหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

ในช่วงปี 1970-80 ประเทศไทยมีการปรับโอกาสทางการศึกษา ผู้หญิงมีงานทำมากขึ้น ตัดสินใจหลายเรื่องด้วยตัวเองมากขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ หลายประเทศก็มีความกังวลว่าประชากรของโลกน้อยลงมาก จึงมีการพูดคุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มการมีบุตรของคนได้

“การให้เงินจำนวนหนึ่ง เพื่อให้คนมีแรงบันดาลใจในการมีครอบครัว เป็นทางออกที่ไม่ยั่งยืน ถ้ามองในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีครอบครัว หรือแต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก ซึ่งเป็น new norm ของสังคม”

ดร.วาสนามองว่า การมีนโยบายครอบครัวที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนเลี้ยงดูบุตรได้ดี จะสามารถช่วยได้ เธอยกตัวอย่างว่า แม้ผู้หญิงจะออกมาทำงานเยอะแล้ว แต่สังคมก็ยังมองว่า การดูแลเรื่องในบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง เช่น ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุ บทบาทผู้ชายยังน้อยอยู่มาก การปรับเปลี่ยนแนวคิดเหล่านี้จึงสำคัญ

“คนควรมีสิทธิในการออกแบบครอบครัวด้วยตัวเอง” ดร.วาสนากล่าว

ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ก็ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาครอบครัวได้โดยใช้นโยบายเหมือนกัน

“ขณะที่เรากังวลว่าคนเกิดน้อยลง แต่ถ้าไปดูภาพในพื้นที่แต่ละจังหวัด ตำบล ภาพไม่เหมือนกันทั้งประเทศ ในหลายพื้นที่การเกิดของแม่วัยรุ่นไม่ได้ต่ำลงเลย บางพื้นที่เพิ่มสูงด้วยซ้ำ ความหลากหลายไม่ใช่แค่เรื่องชนชั้น มีคนอายุ 20-24 ไม่น้อย ที่อยู่กินฉันสามีภรรยา สังคมไทยกำลัง aging เร็วมาก ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ”

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามก็คือ จะทำอย่างไรให้คุณแม่วัยรุ่นเข้าถึงการบริการที่เป็นมิตร เช่น การรักษาความลับ การตั้งราคาทางการแพทย์ที่จ่ายไหว ฯลฯ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป

“ผู้หญิง ผู้ชาย รวย จน ใช้จ่ายไม่เหมือนกัน การสนับสนุนแต่ละกลุ่มของรัฐบาลก็ไม่เหมือนกัน เราไม่อาจใช้นโยบายเดียวกันทั้งหมดได้ ต้องดูจากเสียงและความต้องการของแต่ละกลุ่มด้วย” ดร.วาสนา กล่าวสรุป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save