เปิดบ้านบรัสเซลส์ เปิดใจอียู เปิดมุมมองความสัมพันธ์ต่อไทย ในห้วงการเจรจา FTA, PCA และฟรีวีซ่าเชงเก้น

กว่าหกทศวรรษ นับตั้งแต่ประเทศไทยและสหภาพยุโรป (อียู) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งสองฝั่งต่างมีความสัมพันธ์และการร่วมมือต่อกันในหลากหลายมิติ รวมถึงในมิติทางเศรษฐกิจการค้า ซึ่งอียูจัดว่าเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท)

ที่ผ่านมา อียูกับไทยตั้งใจจะยกระดับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะด้วยการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) และกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกมิติ แต่ต้องชะงักไปหลังเกิดการรัฐประหารในไทยปี 2014 จนกระทั่งหลังประเทศไทยจัดการเลือกตั้งในปี 2019 จึงมีการรื้อฟื้นนำทั้งสองข้อตกลงกลับมาเจรจาอีกครั้ง และได้เห็นความคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 ก็พยายามเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับอียูในหลายด้าน

เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2024 กรมการค้า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission Directorate-General for TRADE) ได้เชิญ 101 ไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาหัวข้อ ‘นโยบายด้านความยั่งยืนกับการค้าระหว่างประเทศ’ (Sustainability Policies and International Trade) โดยในระหว่างงาน 101 มีโอกาสได้พูดคุยซักถามผู้เชี่ยวชาญและผู้รับผิดชอบดูแลด้านต่างๆ ในกรมการค้า ถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่อง FTA และ PCA รวมทั้งในประเด็นอื่นๆ เช่น การเจรจาขอฟรีวีซ่าเชงเก้นจากฝั่งรัฐบาลไทย, ความร่วมมือภายใต้ความตึงเครียดของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก, มุมมองต่อสถานการณ์การเมือง-สิทธิมนุษยชนในไทย และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ของไทย

101 จึงสรุปประเด็นทั้งหมดจากการพูดคุยกับกรมการค้า คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อถ่ายทอดให้เห็นว่าอียูมีมุมมองอย่างไรต่อการเดินหน้าความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไทย

ประเด็น FTA ไทย-อียู

การเจรจา FTA ไทย-อียู มีความคืบหน้าล่าสุดอย่างไร

การเจรจายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หลังจากที่เพิ่งกลับมารื้อฟื้นการเจรจาอีกครั้งในปีที่แล้ว (มีนาคม 2023) โดยการเจรจารอบแรกเพิ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2023 และรอบที่สองในเดือนมกราคม 2024 ซึ่งรอบแรกเน้นการแถลงจุดยืนของแต่ละฝ่ายในการเจรจา ก่อนที่ในรอบที่สองจะเริ่มมีการร่างข้อเสนอออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร 

แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายยังต้องมีการเจรจากันต่อจากนั้นอีก โดยรอบที่สามจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ และรอบที่สี่ภายในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ก่อนที่จะมีการเจรจารอบต่อๆ ไปในปีหน้า โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าตรงกันว่าจะปิดการเจรจาให้ได้ภายในระยะเวลาสองปี (ปี 2025)

ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นว่าบทสรุปของการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางไหน แต่บอกได้ว่าการเจรจาเริ่มต้นได้อย่างดีและกำลังเดินไปในทิศทางบวก ทุกฝ่ายที่ร่วมเจรจาต่างเตรียมความพร้อมและทำงานกันมาอย่างหนัก อย่างไรก็ดี ในการเจรจาที่ผ่านมา เราเริ่มต้นด้วยประเด็นที่ง่าย แต่ในการเจรจาหลังจากนี้ ประเด็นจะเริ่มมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งหลายประเด็นก็จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ยังคาดว่าการเจรจาจะเป็นไปในทางบวกอยู่

ความท้าทายหลักในการเจรจาคืออะไร

ที่ผ่านมา อียูได้พัฒนามาตรฐานในการทำข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ไว้จนสูงยิ่งกว่าข้อตกลงการค้าเสรีโดยทั่วไป คือไม่ได้มีแค่รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นภาษีหรือข้อกีดกันทางการค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกแบบกลไกต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้การไหลเวียนของสินค้านำเข้า-ส่งออกสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจทุกวันนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล, การให้ความสำคัญมากขึ้นกับธุรกิจ SMEs, การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, ความยั่งยืนของระบบอาหาร หรือความท้าทายเรื่องพลังงาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักมีการบรรจุในข้อบทเฉพาะของ FTA ต่างๆ แน่นอนว่ารวมถึง FTA ที่ทำกับไทยเช่นกัน เพราะฉะนั้นหลายประเด็นภายใต้การเจรจาถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงถือว่าค่อนข้างท้าทายพอสมควร แต่เราก็เห็นว่าทางการไทยได้ดำเนินกิจกรรมหลายอย่างทั้งการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปให้กับภาคธุรกิจไทยในการสร้างความตระหนักรู้ถึงมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมของอียู ซึ่งอาจช่วยให้ภาคธุรกิจไทยมีความพร้อมต่อการเปิดเสรีการค้ากับอียูมากขึ้น

ประเด็นที่น่าจะท้าทายในการเจรจากับไทยมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือเรื่องการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (หมายความว่าบริษัทในอียูจะมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเทียบเท่าบริษัทท้องถิ่น) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีการเจรจากับคู่ค้าในประเด็นนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกประเด็นจะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย อย่างเช่นในเรื่อง SMEs ที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่จึงอาจเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะเห็นตรงกันได้ง่าย

ในการเจรจา FTA นี้ มีข้อกังวลเกิดขึ้นว่าบางภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยอาจเสียเปรียบและไม่สามารถอยู่รอดได้ ทางอียูรับรู้ถึงข้อกังวลเหล่านี้หรือไม่

มุมมองต่อ FTA นี้อาจเกิดขึ้นได้หลากหลาย ถ้าเป็นมุมมองของระดับทางการทั้งฝั่งไทยและอียู เราต่างเห็นตรงกันว่าข้อตกลงนี้นำมาซึ่งผลประโยชน์ในภาพรวม เพราะที่ผ่านมาก็มีผลการศึกษามากมายยืนยันว่า FTA สร้างผลประโยชน์เสมอ นอกจากนี้ FTA ยังช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจในแต่ละประเทศคู่ค้าต้องพัฒนาตัวเองและปรับปรุงแนวทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

แต่เราก็คำนึงเช่นกันว่าย่อมมีบางภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบ และที่ผ่านมาเราก็ได้รับความเห็นจากหลายภาคส่วน ซึ่งจำนวนมากก็เป็นความเห็นที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และไม่ใช่แค่ความเห็นจากภาคประชาสังคมฝั่งไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประชาสังคมฝั่งอียูเองเช่นกัน ที่กังวลว่าบางภาคเศรษฐกิจอาจไม่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้เมื่อมี FTA  

อย่างไรก็ตาม ในการเจรจามีพื้นที่เปิดสำหรับการพูดคุยในประเด็นข้อกังวลต่างๆ เสมอ ถือเป็นหน้าที่ของกลุ่มคู่เจรจาที่จะต้องหาแนวทางรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะตามมาจาก FTA อีกทั้งอียูเองก็ยึดหลักปฏิบัติที่ต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบจากการทำข้อตกลงกับคู่ค้า ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน และสำหรับการเจรจา FTA กับไทย เราก็เตรียมเริ่มการศึกษาประเมินผลกระทบเร็วๆ นี้ด้วยเหมือนกัน

หลายประเทศในยุโรปเกิดการประท้วงของกลุ่มเกษตรกร ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งคือการเสียประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีบางฉบับ เช่น ข้อตกลงการค้ากับกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเจรจา FTA ไทย-อียู หรือไม่

การประท้วงที่เกิดขึ้นในยุโรปยังไม่ได้ส่งผลโดยตรงถึงการเจรจา FTA กับไทย เนื่องจากตอนนี้การเจรจายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น จึงยังเร็วเกินไปที่จะเห็นผล อย่างไรก็ตาม มันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกต่อต้านการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าคงมีอยู่ในบางภาคเศรษฐกิจของอียู โดยเฉพาะภาคที่อ่อนไหวอย่างภาคเกษตร และเป็นไปได้ว่าเมื่อคนมีความรู้สึกไม่ดีต่อการเจรจาเปิดเสรีการค้าบางฉบับมาแล้ว ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะต่อต้านการเจรจาฉบับใหม่ๆ หลังจากนี้ด้วย แต่สำหรับ FTA ไทย-อียู มันก็ย่อมมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างออกไป เช่น ประเภทของสินค้าที่เปิดเสรี เราจึงยังไม่อาจบอกได้แน่ชัดนักว่าความรู้สึกต่อต้านที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลต่อการเจรจากับไทยไหม แต่เราก็จะพยายามดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

การเจรจา FTA นี้ยังมีข้อกังวลว่าจะนำไปสู่การผูกขาดยาและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลไปถึงความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุขของไทย ซึ่งคล้ายกับที่เกิดข้อกังวลในการเจรจาข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) จนส่งผลให้การเจรจาดังกล่าวต้องชะงักไป คิดว่านี่เป็นข้อที่น่ากังวลสำหรับการเจรจา FTA ไทย-อียูด้วยหรือไม่

เรารับรู้ว่าหลายคนมีข้อกังวลในเรื่องนี้ แต่เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้ใน FTA ไทย-อียู จะไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเท่ากับใน CPTPP เพราะทั้งตัวเนื้อหาและกระบวนการเจรจาของเราในประเด็นนี้มีความแตกต่างจาก CPTPP พอสมควร ซึ่งเราก็ได้ยินจากคู่เจรจาฝั่งไทยจำนวนมากว่า FTA ไทย-อียูมีข้อกังวลน้อยกว่า

นอกจากนี้ในประเด็นทางฝั่งสาธารณสุข องค์การการค้าโลก (WTO) ก็มีข้อกำหนดอยู่แล้วในเรื่องมาตรการยืดหยุ่น (Flexibilities ตามข้อตกลง Trade-related aspects of intellectual property rights หรือ TRIPS ซึ่งอนุญาตให้ทุกประเทศสามารถป้องกันระบบสาธารณสุขของประเทศและความสามารถในการเข้าถึงยาของประชาชน โดยประเทศนั้นๆ สามารถผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรได้) ซึ่งแน่นอนว่าในการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีนี้จะต้องพิจารณามาตรการยืดหยุ่นเหล่านี้เข้ามาด้วย จึงยืนยันได้ว่า FTA ของเราจะมีกลไกจำนวนไม่น้อยให้แต่ละฝ่ายสามารถปกป้องผลประโยชน์ตัวเองได้

ขณะที่ในประเด็นฝั่งเมล็ดพันธุ์และเกษตรกรรม ก็ต้องเข้าใจว่ามีหลายมาตรการที่รับประกันว่าข้อตกลงจะไม่ส่งผลกระเทือนต่อระบบเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และไม่ปล่อยให้ประชาชนไร้เกราะป้องกันผลกระทบใดๆ แต่จุดประสงค์แท้จริงของข้อตกลงเน้นไปที่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ทั้งฝั่งอียูและไทยตระหนักดีว่าประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนทุกคนมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมีความระมัดระวังในเรื่องการสื่อสารสู่สาธารณะสูง และสำหรับประเด็นในส่วนที่ยังคงเป็นข้อกังวล ก็เป็นเรื่องที่ต้องนำแต่ละฝ่ายเข้ามาเจรจากันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

ก่อนหน้าการเจรจา FTA กับไทย อียูได้เจรจา FTA กับเวียดนามมาก่อน ซึ่งการเจรจาได้สำเร็จลุล่วงและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อปี 2020 เพราะฉะนั้นการเจรจา FTA ไทย-อียู จะเรียนรู้อะไรจาก FTA เวียดนาม-อียู ได้บ้างไหม

FTA เวียดนาม-อียู ถือได้ว่าเป็นจุดอ้างอิงสำคัญสำหรับการเจรจา FTA ไทย-อียูได้ แต่อาจไม่ใช่ทุกเรื่อง เพราะบริบทเศรษฐกิจโลกในวันที่เจรจา FTA กับเวียดนามไม่ได้เหมือนกับวันนี้ เพราะฉะนั้นการเจรจา FTA ไทย-อียู จึงมีประเด็นบางอย่างที่ต่างออกไปและมีประเด็นใหม่บางประเด็นเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสภาพความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้น ประเภทของสินค้าและบริการที่อยู่ในการเจรจา FTA กับไทยและเวียดนามก็มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อาจเทียบการเจรจา FTA สองฉบับนี้ได้ทั้งหมด

สำหรับในเรื่องข้อกังวล การเจรจา FTA ทั้งสองฉบับก็อาจไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่มีประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่อยู่ใน FTA ไทย-อียูเหมือนกัน คือเรื่องการเปิดเสรีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเวียดนามไม่เคยทำมาก่อน แต่เราก็มีการเจรจาให้มีระยะเวลาสำหรับการปรับตัว รวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น มูลค่าขั้นต่ำของการยื่นข้อเสนอประมูล เป็นต้น เพราะฉะนั้น FTA เวียดนาม-อียูก็เป็นแบบอย่างให้เห็นได้ว่าเราสามารถเจรจาหาหนทางที่แต่ละฝ่ายจะสะดวกใจร่วมกันได้เสมอ

ที่สำคัญ FTA เวียดนาม-อียู เรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างของความสำเร็จในแง่ที่ว่าทำให้เวียดนามสามารถเกินดุลการค้ากับอียูได้ ทั้งยังไต่อันดับขึ้นสู่ระดับต้นๆ ในฐานะคู่ค้าของอียูในภูมิภาคนี้ ด้วยว่า FTA ดังกล่าวได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจเวียดนามและอียูติดต่อค้าขายระหว่างกันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นความสำเร็จของ FTA เวียดนาม-อียู จึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่รับประกันให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในไทยได้ว่า พวกเขาจะได้รับประโยชน์จาก FTA เช่นกัน แม้ว่า FTA ย่อมมีข้อกังวลเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในที่สุด เราเห็นได้ว่ามันส่งผลดีมากกว่า

ประเด็น PCA ไทย-อียู และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อียูในมิติต่างๆ

นอกจาก FTA แล้ว ไทยกับอียูยังมีการเจรจา PCA ด้วย ความตกลงนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีความคืบหน้าล่าสุดอย่างไร

PCA คือความตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทยโดยครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่ยังมีทั้งด้านการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และอีกมากมาย โดยทั้งอียูและไทยได้ลงนามร่างกรอบความตกลงดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2022 แต่ ณ ตอนนี้ยังมีแค่ฝั่งอียูที่ให้สัตยาบันแล้วเพียงฝ่ายเดียว และกำลังรอฝ่ายไทยให้สัตยาบันอยู่ เมื่อให้สัตยาบันทั้งสองฝ่าย เราจึงจะเดินหน้าบังคับใช้กรอบความตกลงดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งฝั่งอียูและไทยได้เจรจาเกี่ยวกับความตกลงนี้ไปแล้วหลายครั้ง โดยที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยผ่านการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสระหว่างไทยและอียู (Thai-EU Senior Officials’ Meeting: SOM) แบบปีละครั้ง ซึ่งการเจรจาก็เป็นไปในทิศทางที่ดี และในอนาคตเมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เราจะเริ่มเดินหน้าไปอีกขั้น ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วม (joint committee) ซึ่งจะแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามหัวข้อต่างๆ ที่มี 

คาดหวังอะไรต่อ PCA

ไม่ว่าจะในมิติไหนที่อียูและไทยมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าในทุกมิติ มิติสำคัญหนึ่งที่เรามุ่งหวังก็คือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งถือว่าสำคัญมากทั้งต่อภาคธุรกิจของอียูและไทย เพราะแม้ประเทศไทยจะอยู่ห่างไกลจากอียู แต่ในความเป็นจริง ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอียูกับไทยกำลังใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เราก็สนใจในเรื่องความร่วมมือทางวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้ดำเนินกิจกรรมกันมาหลายอย่าง ทั้งการฉายภาพยนตร์ และงานแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่ทำให้คนไทยและคนอียูรู้จักเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกันมากขึ้น และเราจะสานต่อความร่วมมือมิตินี้ต่อไป  

อีกด้านหนึ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากคือความร่วมมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พยายามเดินหน้าตามพันธสัญญาต่างๆ อย่างจริงจัง

นอกจากนั้น เรายังให้ความสนใจในเรื่องการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยเคยได้รับใบเหลืองจากอียู แต่อียูกับไทยก็ร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจนทำให้สถานการณ์ของไทยดีขึ้นมาก และเราก็หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยังคงทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ต่อไปจากนี้อีก

อีกประเด็นคือปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากปัจจุบันนี้อียูได้ประกาศใช้กฎหมายห้ามการนำเข้าสินค้าซึ่งมาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulation) ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายนี้มีผลกระทบถึงการค้าระหว่างไทยกับอียูโดยตรง เพราะกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกมายังอียูเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญประเด็นการตัดไม้ทำลายป่าและประเด็นเกี่ยวกับความยั่งยืนอื่นๆ ยังถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในเนื้อหาการเจรจา FTA ไทย-อียูด้วย

ในขณะนี้อียูกับไทยจึงอยู่ระหว่างการเจรจากันในเรื่องนี้ โดยเป็นการเจรจาแบบหลายฝ่าย ซึ่งรวมเอาภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้เสีย เช่น ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่การเจรจาด้วย เพื่อร่วมกันสรุปหามาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่ากำลังเป็นไปได้ด้วยดี ขณะที่ทางการไทยก็ได้เดินหน้าพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลสินค้าเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดี

มีข้อกังวลใดๆ หรือไม่ต่อ PCA

ตอนนี้ยังไม่มีประเด็นไหนที่น่ากังวลหรือเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าเมื่อใด มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นมา เราก็สามารถเปิดพื้นที่ ตั้งคณะทำงาน ให้มีการเจรจากันไปเป็นเรื่องๆ ได้ โดยในภาพรวมขณะนี้ถือว่าเรามีความพร้อมที่จะเริ่มบังคับใช้ PCA แล้ว ซึ่งถ้ายิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว จากรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสู่รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน การเปลี่ยนรัฐบาลนี้ส่งผลต่อการเจรจาและการเดินหน้าความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไทยกับอียูหรือไม่ และมีความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร

ในภาพรวม ทุกอย่างยังคงดำเนินมาอย่างราบรื่น เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีอะไรให้ต้องกังวล โดยเฉพาะในแง่การค้า ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลประยุทธ์ หรือรัฐบาลเศรษฐา ต่างก็บอกกับเราว่าให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการเจรจา FTA เหมือนกัน นอกจากนั้นเราเห็นว่ารัฐบาลเศรษฐากำลังรุกอย่างหนักในการแสดงบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ และให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการทูตเพื่อเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้าและการเจรจาต่างๆ จะดำเนินไปในทิศทางที่ดี

มองสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบันนี้อย่างไร

เราติดตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขี้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และพบว่าสังคมไทยกำลังอยู่ท่ามกลางการถกเถียงในประเด็นทางการเมืองและกฎหมายอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีจุดสำคัญที่น่าจับตาคือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การรณรงค์หาเสียงการแก้ไขกฎหมายนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองในอนาคต แต่เรายังไม่มีทางรู้ได้ว่าสถานการณ์จะเดินไปทิศทางไหน จึงต้องรอติดตามกันต่อไป ถ้าสถานการณ์เป็นไปในทางที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ก็อาจไม่เป็นผลดีนัก เพราะขณะเดียวกันประเทศไทยก็กำลังต้องการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) อยู่ด้วย ถ้าไทยจะปฏิบัติตามหลักการในปฏิญญาหรืออนุสัญญาต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้ คงจะถือเป็นโอกาสที่ดีกว่าสำหรับไทย

แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถไปชี้แนะได้ว่าประเทศไทยควรทำอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องภายในประเทศ คนไทยเองย่อมรู้ดีที่สุด และแน่นอนว่าเราคงให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยได้ ในไทยเองก็มีความเห็นที่หลากหลาย เป็นธรรมดาของการอภิปรายถกเถียงทางการเมือง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะพูดคุยหรืออยู่ร่วมกันอย่างไรท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดมากกว่า  

ที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในไทยหลายองค์กร และได้รับเสียงสะท้อนที่หลากหลายถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่โดยรวมเราคิดว่าสถานการณ์ของไทยมีพัฒนาการมาในทางบวก เห็นได้จากในช่วงสองปีที่ผ่านมาที่อียูไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ใดๆ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทยเลย

รัฐบาลไทยพยายามเจรจาขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทางฝั่งอียูมองว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน

เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะขอฟรีวีซ่าเชงเก้นเข้ายุโรป ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่กระบวนการที่ง่าย เพราะต้องผ่านการพิจารณาและประเมินในหลายมิติ แม้อันที่จริง เราคิดว่าการให้ฟรีวีซ่าเชงเก้นต่อประเทศไทยไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรนัก แต่ปัญหาคือทุกวันนี้ยุโรปเองก็กำลังเผชิญสถานการณ์การทะลักเข้ามาของผู้อพยพ ซึ่งเราก็กำลังพยายามสรุปหาแนวทางและกฎกติกาที่จะจัดการสถานการณ์นี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่สอดคล้องกันในการบังคับใช้กับทุกประเทศ ดังนั้นในเรื่องการเจรจาขอฟรีวีซ่าเชงเก้นของไทยจึงยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบันมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทยหรือไม่ และอียูมองทิศทางความร่วมมือกับไทยท่ามกลางสถานการณ์โลกเช่นนี้อย่างไร

สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกตอนนี้ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝั่ง แม้ในประเด็นสงครามยูเครน เราเห็นว่าประเทศไทยมีการงดออกเสียงบนเวทียูเอ็นในบางมติ แต่เราก็พยายามทำความเข้าใจเหตุผลของไทย

ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ มิติที่เราอยากร่วมมือกับไทยมากที่สุดคือในเชิงการรักษาระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกา (rule-based international order) เพราะท่ามกลางสถานการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ เช่น สงครามในยูเครน สงครามในอิสราเอล และความตึงเครียดบนทะเลจีนใต้ ทำให้เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ และอียูก็จำเป็นต้องมีมิตรบนเวทีระหว่างประเทศที่มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องนี้ ซึ่งเสียงของประเทศไทยก็นับว่าเป็นหนึ่งเสียงที่สำคัญมากในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนเวทีสหประชาชาติ

ขณะเดียวกัน อียูก็มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยผ่านบริบทอาเซียน ในฐานะที่อียูเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic partner) ของอาเซียน ภายใต้บริบทอาเซียนนี้ อียูมีความร่วมมืออันดีกับไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะในแง่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียนในเรื่องนี้ และที่สำคัญ วิกฤตการณ์ในประเทศพม่าก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา เราได้เจรจาหารือกับประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ เพราะประเทศไทยถือว่ากำลังมีบทบาทสำคัญมากในการแก้ไขวิกฤตนี้  

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save