fbpx

การศึกษาไทย 2020: บทเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำฉบับเร่งรัดและไร้ปรานี

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ถ้าจะมีวาทะอมตะอะไรสักอย่างที่สามารถใช้อธิบายสภาพสังคมไทยได้ร่วมสมัย วาทะนั้นคงเป็นคำว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’

กี่ปีต่อกี่ปี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นฝันร้ายตามหลอกหลอนเราอยู่เสมอ บางคนไม่อาจข่มตานอนหลับ เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเอาเงินจากที่ไหนมาจ่ายหนี้ ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะได้กินข้าวครบมื้อไหม

ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนถึงจะหนีพ้นจากความจน

หนี้สินและความยากไร้คือมรดกที่พ่อแม่ไม่ปรารถนาจะมอบแก่บุตรหลาน การศึกษาจึงเป็นทางออกที่หลายครอบครัวต่างหวังพึ่ง ขอเพียงลูกได้เรียนสูงๆ มีการมีงานทำที่ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นนี้ก็อาจจะจบลงสักวัน

แต่ในทางกลับกัน เพราะสังคมยังคงเหลื่อมล้ำ โอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็กยากจนจึงต่ำเป็นทุนเดิม เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจปิดกิจการ สถานศึกษาปิดต่อเนื่อง ทำให้เด็กหลายคนเรียนหนังสือตามเพื่อนไม่ทัน หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษา และอีกหลายคนนอนหลับอย่างสิ้นหวังว่าตนคงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือแล้ว

2020 คือปีที่อาจกล่าวได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – ทั้งของไทยและของโลก รุนแรงเป็นประวัติการณ์ แต่จากความเลวร้ายทั้งหลายในปีนี้ เราจะเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง

101 ชวนคุณต้อนรับปีใหม่ด้วยความหาญกล้า ผ่านการเผชิญหน้ากับปัญหาเรื้อรังด้านการศึกษาในสังคมไทยช่วงที่ผ่านมา ร่วมกันย้อนมองจุดที่ย่ำแย่ที่สุด อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด

เพราะในสถานการณ์ที่แลดูน่าสิ้นหวังที่สุด อาจเป็นบทเรียนล้ำค่าให้เราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด

 

ไทยจะไปดวงจันทร์ แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายังเหมือนเดิม

 

เมื่อไม่นานมานี้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างกระแสฮือฮาในสังคมด้วยการบอกว่า “อีก 7 ปี ข้างหน้า ไทยจะผลิตยานอวกาศไปดวงจันทร์

หลังได้ยินได้ฟัง คนก็ดูเหมือนจะ ‘ฮา’ เป็นส่วนใหญ่ เพราะแทนที่จะฝันไกลถึงดวงจันทร์ ถ้าหันกลับมามองสภาพการศึกษาไทย – ผ่านไปหลายสิบปี ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม

ในสารคดี “50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม” ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาเราไปรู้จักกับ ‘เต้ย’ เด็กชายชั้น ป.4 โรงเรียนวัดมูลจินดาราม ที่อาศัยอยู่กับป้าและย่าในบ้านไม้ใต้ถุนสูง ท่ามกลางดงต้นกล้วย กองขยะ และแอ่งน้ำขังชื้นแฉะ

“พื้นบ้านเขาทำจากไม้ฝาโลงศพ เพราะพื้นผุ คุณย่าทำงานคนเดียวไม่มีตังค์ ต้องเอาฝาโลงศพที่วัดบริจาคให้มาเป็นพื้นบ้าน”

เต้ยใช้ชีวิตอยู่ห้องเดี่ยวขนาดเดินห้าก้าวสุดกำแพง ตื่นเช้าโดยไม่ได้กินข้าว แต่งตัวแล้วปั่นจักรยานไปตามทางดินแคบๆ จากหลังวัดมูลจินดารามไปโรงเรียน เพื่อรอเคารพธงชาติและกินอาหารแจกฟรีจากโรงเรียน เติมพลังสำหรับการเรียนทั้งวัน

เด็กอีกคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตไม่ต่างกันคือ ‘พลอย’ นักเรียนชั้นป.2 เด็กหญิงผู้ชอบวิ่งเล่นบนลานกว้างของโรงเรียน เพราะในเพิงสังกะสีริมคลอง – บ้านของเธอ พลอยต้องอยู่อย่างแออัดร่วมกับพ่อแม่และพี่น้อง 4 คนในห้องนอนห้องเดียว

“ไม่มีตู้เสื้อผ้า ไม่มีตู้เย็น ไม่มีอะไรเลย” คือเสียงบอกเล่าจากแม่ของพลอย “บ้านหลังนี้ไม่มีบ้านเลขที่ โดนไล่เมื่อไหร่ก็ต้องไป ส่วนน้ำไฟใช้ต่อจากหมู่บ้านฝั่งตรงข้าม แล้วจ่ายเงินตามมิเตอร์ที่ใช้” เธอว่า

ตรงกันข้ามกับหมู่บ้านจัดสรรฝั่งตรงข้ามหลังละหลายล้าน ครอบครัวของพลอยมีรายได้จุนเจือเพียงสัปดาห์ละ 1,000 บาท ทำให้อย่าว่าแต่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แค่มีที่ให้นอนหลบฝนก็แทบจะเต็มกลืน

“มีครั้งหนึ่ง ฝนตกแรงมาก สังกะสีเปิดหมดเลย เราต้องยืนเอามือจับ ร้องไห้ เหนี่ยวไว้ไม่ให้สังกะสีปลิว บาดมือเลือดเต็มเลย จำได้ในชีวิต ร้องไห้แล้วยืนจับสังกะสี หนาวก็ไม่กลัว ลืม กลัวเปียกที่นอนลูก เหมือนในหนังเลย แฟนก็เอาก้อนหินใหญ่มาทับไว้ บนหลังคาเรามีแต่ก้อนหิน แล้วก็มีกิ่งไม้ที่คลุมบ้านนี่แหละที่กันไม่ให้สังกะสีไป” แม่ของพลอยเล่า แม้จะมีความตื่นเต้นเจืออยู่ในน้ำเสียงบ้าง แต่ก็คล้ายเล่าเรื่องธรรมดาของชีวิต”

เรื่องราวของทั้งสอง เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นชีวิตของเด็กยากจนอีกนับแสน ในบทความ “ไขรหัสความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย เหตุใดความช่วยเหลือไปไม่ถึงเด็กยากจน” เผยข้อเท็จจริงที่น่าตกตะลึงว่า หากพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน รวมกับเงื่อนไขด้านภาระพึ่งพิงของครอบครัว สภาพที่อยู่อาศัย การถือครองยานพาหนะ และเป็นเกษตรกรมีที่ดินทำกินไม่เกิน 1 ไร่ ประเทศไทยจะมีนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนกว่า 115,203 คนที่เข้าข่ายยากจนสาหัส

ขณะเดียวกัน รายงานเรื่อง ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ยังระบุว่าเยาวชนไทยอายุ 3-17 ปี อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 670,000 คนทั่วประเทศ เหตุเพราะความยากจน ด้อยโอกาสทางสังคม ความพิการและปัญหาครอบครัว

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเด็กจากครัวเรือนรายได้ต่ำสุด 20% ของประเทศจะมีโอกาสศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียง 5% จากประชากรกลุ่มเดียวกันทั้งหมด และกลุ่มเด็กยากจนมีโอกาสเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อุดมศึกษาต่ำกว่าคนอื่นๆ ถึง 7 เท่า เพราะนอกจากครอบครัวอาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวแล้ว พื้นเพของครอบครัวอย่างระดับการศึกษาของผู้ปกครอง สภาพบ้าน หรือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ยังส่งผลต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เล่าให้เราฟังผ่านบทความ “การศึกษาโลกในศตวรรษที่ 21 : ระบบยังเหลื่อมล้ำ การเรียนรู้ยังวิกฤต” ว่าจากการทดสอบ PISA วิชาวิทยาศาสตร์ในฝรั่งเศส คะแนนของเด็กร่ำรวยและยากจนต่างกันถึง 115 คะแนน ขณะที่ฮังการีต่างกันถึง 202 คะแนน เห็นได้ชัดว่ากลุ่มเด็กจากครอบครัวมีฐานะย่อมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพได้ดีกว่าเด็กยากจนที่แทบไม่มีโอกาสได้เลือก

เมื่อเด็กเรือนแสนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดี ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแรงงานทักษะขั้นสูง (High-skilled Labor) ต่ำกว่า 20% สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจไทยมากถึง 330,000 ล้านบาทในแต่ละปี

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงขนาดนี้ บางทีสิ่งที่สังคมไทยต้องการ อาจไม่ใช่ยานไปดวงจันทร์

แต่เป็นวิธีทำให้เด็กอย่างเต้ยกับพลอย ได้ไปเรียนอย่างมีความสุขในทุกๆ วันต่างหาก

 

โรคระบาดยิ่งแพร่กระจาย คล้ายความเหลื่อมล้ำยิ่งแพร่สะพัด

 

โจทย์เดิมยังตีไม่ทันแตก โจทย์ใหม่ก็เข้ามาแทรก เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย

การระบาดของโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนรุนแรงให้กับวงการการศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศตั้งแต่ราวเดือนมีนาคมเป็นต้นมา รัฐบาลกว่า 100 แห่งทั่วโลกประกาศปิดสถานศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงและจำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้เด็กกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกหยุดเรียนกลางคันกันเสียดื้อๆ

ผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ย่อมมีแน่ แต่จะสาหัสสากรรจ์กับใครมากกว่า คำตอบย่อมชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มเด็กยากจน

ในสายตาของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองว่าการที่เด็กต้องหยุดอยู่บ้านนานๆ อาจทำให้การเรียนถดถอย ยิ่งกลุ่มเด็กยากไร้ที่เข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนยากด้วยแล้ว การห่างจากครู จากห้องเรียน ก็สุ่มเสี่ยงจะทำให้เด็กเหล่านั้นห่างหายจากระบบการศึกษา เพราะเรียนไม่ทัน หรือเลือกออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแทน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนที่มีอาหารแจกฟรี ก็เหมือนเป็นการรับประกันว่าเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้จะได้กินอิ่ม – เหมือนกับเต้ยที่หิ้วท้องปั่นจักรยานไปรอกินข้าวของโรงเรียนทุกเช้า เราไม่รู้เลยว่าเมื่อสถานศึกษาล็อกดาวน์ เด็กอย่างเต้ยอีกหลายแสนคนจะได้กินอาหารดีๆ ครบมื้อหรือไม่ ในเมื่อครอบครัวหลายบ้านต้องขาดรายได้เพราะตกงานช่วงโควิด-19 เช่นกัน

ถ้าปัญหาปากท้องยังเอาตัวไม่รอด ไหนเลยจะสนใจว่าการเรียนออนไลน์เป็นอย่างไร บ้านมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้หรือไม่

ช่วงที่ผ่านมา หลายโรงเรียนเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการสอนออนไลน์เพื่อให้เด็กๆ สามารถเรียนได้จากที่บ้าน มองอย่างผิวเผินก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น แต่หากถอยออกมาพิจารณาภาพรวมในภายหลัง เราอาจพบว่าการเรียนออนไลน์คือการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ฝังรากลึกยิ่งกว่าเดิม

สาเหตุหลักเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (Digital Divide) ในสังคมไทยยังคงสูงมาก หากเราดูข้อมูลของรายงานขององค์กร OECD และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2018 ที่ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นำมาเล่าสู่กันฟังผ่านบทความ “รับมือการศึกษาในยุค COVID-19 : ความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรของผู้เรียนจะยิ่งสำคัญ” จะเห็นว่ามีนักเรียนเพียง 53% จากทั้งหมดที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน หรือถ้าแบ่งตามเศรษฐฐานะ นักเรียนฐานะดีมีคอมพิวเตอร์ใช้มากถึง 91% สวนทางกับนักเรียนยากจน ที่พบแค่ 17% เท่านั้น

จริงอยู่ที่เด็กไทยอาจไม่ใช้คอมพิวเตอร์เท่ากับแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟน (ข้อมูลในรายงานชุดเดียวกันเปิดเผยว่าจำนวนนักเรียนที่เข้าถึงสมาร์ตโฟนมีสูงถึง 86.1% และกลุ่มนักเรียนยากจนเกือบ 80% ยังคงเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้) แต่เนื่องจากระบบแพลตฟอร์มของการเรียนออนไลน์ส่วนใหญ่มักถูกออกแบบให้ทำงานได้ดีกับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ทำให้สุดท้ายแล้ว คอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์มากที่สุดอยู่วันยังค่ำ

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘เรียนออนไลน์’ หมายความว่านอกจากมีอุปกรณ์ดิจิทัลแล้ว ยังต้องเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อเข้าห้องเรียนหรือบทเรียนด้วย แม้กวาดตามองไวๆ จะทำให้เราอุ่นใจว่านักเรียนไทยอายุ 15 ปีจำนวนกว่า 81.6% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียด กลุ่มที่ควรเข้าถึงมากที่สุดอย่างเด็กยากจน กลับมีเพียง 57% จากทั้งหมดเท่านั้น ด้วยเหตุผลอย่างค่าเน็ตแพงเกินไป บริเวณบ้านอยู่ถิ่นห่างไกลเกินกว่าสัญญาณจะเข้าถึง – บทความ “ยิ่งโรงเรียนปิด โลกยิ่งเหลื่อมล้ำ” ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล ระบุว่าสำหรับพื้นที่ทุรกันดาร มีเด็กนักเรียนเพียง 20% ด้วยซ้ำที่พร้อมเรียนออนไลน์

ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตระหว่างครัวเรือนมีฐานะและครัวเรือนยากจนนี้ปรากฏชัดในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา แต่จะพบน้อยลงในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ดังนั้นข้อสรุปของ ภัททา เกิดเรือง ในบทความ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเมื่อเด็กไทยต้อง Learn From Home” คือการเรียนออนไลน์สร้างภาระการเรียนรู้แก่เด็กชั้นประถมและมัธยมมากกว่าชั้นอุดมศึกษา เพราะนอกจากบางครัวเรือนจะขาดแคลนอุปกรณ์ ทรัพยากรที่จำเป็นแล้ว เด็กเล็กอาจต้องอาศัยผู้ใหญ่ที่มีทักษะดิจิทัลช่วยสอนวิธีเรียนออนไลน์ร่วมด้วยอีกแรง

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่มีผู้ปกครองเชี่ยวชาญเรื่องดิจิทัล

“สมหญิง เป็นตัวอย่างของผู้ดูแลเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เลย เธอรับหน้าที่ดูแลหลานสองคนซึ่งกำลังเรียนในชั้นป.1 และอนุบาล 2 เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กต้องทำงานนอกบ้าน โรงเรียนของหลานเป็นโรงเรียนที่เน้นวิชาการ จึงกำหนดให้เด็กป.1 ดูคลิปวิดีโอที่โรงเรียนส่งไปให้และครูมีการสุ่มให้เด็กตอบคำถามผ่านวิดีโอคอล

“เธอจึงให้น้องสาวเป็นผู้ดูแลหลานคนโตในการเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบ้านของเธอมีคอมพิวเตอร์เพียงหนึ่งเครื่อง หลานที่เรียนชั้น ป.1 จึงได้สิทธิ์ในการเรียนออนไลน์ ส่วนน้องอนุบาลต้องรอจนกว่าพี่จะใช้เสร็จ น้องสาวของสมหญิงเล่าว่า คลิปวิดีโอมีความยาว 55 นาที ทำให้เด็กเหนื่อยและไม่สามารถจดจ่อกับเนื้อหาได้ทั้งหมด”

ต่อให้บางบ้านมีผู้ปกครองคอยดูแลเรื่องการเรียนของเด็กเล็ก แต่สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยอย่างเด็กมัธยม สิ่งที่พวกเขาต้องการ อาจเป็นเพียงห้องเงียบๆ หรือพื้นที่สงบๆ ในบ้านเพื่อเรียนหนังสือ ซึ่งก็เป็นไปได้ยากเหลือเกินเพราะจากรายงาน OECD เผยว่าเด็กไทยกว่า 30% ไม่มีสถานที่ส่วนตัวให้เรียนหนังสือในบ้าน ยิ่งถ้ามองตามสถานะทางการเงินแล้ว เด็กที่ยากจนที่สุดจำนวน 55% เท่านั้นที่ระบุว่าตนมี ‘สถานที่สงบ’ ในบ้านให้เล่าเรียนด้วยตัวเอง

เมื่อรวมข้อเท็จจริงว่าการเรียนออนไลน์อาจไม่ใช่วิธีจัดการศึกษาที่ดีที่สุด หากเทียบกับการเรียนแบบผสมผสานหรือเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก เพราะทำให้เด็กขาดความรู้สึกดึงดูด เบื่อหน่าย และเหนื่อยล้าจากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ (หรือสมาร์ตโฟนเครื่องเล็ก) เป็นเวลานาน ต่อไป เราอาจจะหวังพึ่งการเรียนออนไลน์ในการรับมือวิกฤตการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องนึกถึงตัวเลือกอื่นๆ ที่เข้าถึงเด็กยากจนได้มากกว่านี้ มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

เพื่อหยุดตอกย้ำช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากไปกว่านี้

 

มองไปให้ไกล หลังไวรัสเปลี่ยนโลกการศึกษา

 

แม้การศึกษาของไทยจะถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากโคโรนาไวรัส ทำให้ความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลงจนแลดูเหมือนมืดแปดด้าน กระนั้น ในวันที่น่าสิ้นหวังที่สุด โชคยังดีที่มีนักวิชาการและนักการศึกษาจำนวนมากร่วมกันจุดไฟ ลุกขึ้นมาถกเถียง วิพากษ์ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข ให้เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นทีละเล็กละน้อย

จากประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและดิจิทัลที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเทรนด์การเรียนทางไกลเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน คนมักนึกถึงแบบเรียนออนไลน์เป็นหลัก ทว่าอันที่จริงแล้วการเรียนทางไกลคือ ‘Home-based Education’ หรือการให้การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งหมายความว่ามีตัวเลือกอื่นๆ อีกมากนอกจากระบบออนไลน์ เช่น เรียนรู้จากการทำโครงการ ชุดเครื่องมือหรือเอกสารที่ส่งถึงบ้าน

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เองก็เห็นคล้ายกันว่า ในบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลสูงแบบสังคมไทย ตัวเลือกอื่นๆ อย่าง การใช้วิทยุและหนังสือพิมพ์ที่เป็นวิธีการดั้งเดิม ยังคงน่าสนใจอยู่ ตัวอย่างการเรียนผ่านระบบวิทยุ การส่งข่าวสารข้อมูลการศึกษาผ่านโทรศัพท์ในรูปแบบ SMS หรือวิดีโอสั้นๆ ซึ่งใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตน้อย เคยถูกนำมาใช้ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ช่วงวิกฤตอีโบลา ปี 2014 มาแล้ว ขณะเดียวกัน การเรียนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม (DLTV) ที่แบ่งตารางช่องสถานี วันเวลา ตามระดับชั้นและวิชา ก็เป็นอีกทางเลือกให้เด็กซึ่งไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์เข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ดร.ประสารเสนอในระยะยาว คือ รัฐต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ยังรวมถึงสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าซึ่งยังบกพร่องในหลายพื้นที่ด้วย

“เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญและต้องรีบทำให้ทัน ไม่อย่างนั้น ความหวังที่เราตั้งไว้ว่าการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ก็จะไม่กลายเป็นจริง จากสถานการณ์โควิด-19 ด้านหนึ่งอาจมองเป็นวิกฤต แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นโอกาสที่ช่วยสร้างแรงกดดัน ทำให้เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาทางไกล ถ้าประเทศไหนลงทุนพื้นฐานเรื่องนี้ได้ดีกว่า การศึกษาจะไปต่อได้ แต่ถ้าลงทุนน้อย ศักยภาพการศึกษาอาจถูกทิ้งห่างออกไป”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต้อนรับเทรนด์ใหม่ของการศึกษาในอนาคตด้วย ถึงเสียงตอบรับจากผู้เรียนและหลักฐานงานวิจัยส่วนใหญ่จะโต้แย้งว่าการเรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าการเรียนในห้อง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าห้องเรียนเสมือนจริงกำลังมีบทบาทมากขึ้น ยืนยันด้วยข้อมูลจากบทความ “ปิดโรงเรียน เปลี่ยนอนาคต : โลกการศึกษาหลังเผชิญไวรัส COVID-19” ว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งจะเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การเรียนการสอนในห้อง เราจะได้เห็นนวัตกรรมการศึกษาหลากรูปแบบเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นแน่ๆ

โจทย์เรื่องการปรับตัวของครูจึงเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยใน Public Forum “โรคใหม่ – โลกใหม่ – การเรียนรู้ใหม่ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19” โดย อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มก่อการครู นำประสบการณ์ที่ตกผลึกจากการสอนออนไลน์ช่วงโควิด-19 มาแบ่งปันว่า

“เราพบว่าหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนดีขึ้น คือ

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถึงตัวจะไกลกันแต่ใจต้องใกล้กัน ครูต้องมีเทคนิคหรือวิธีการใดก็ได้ทำให้เขารู้สึกว่าครูและเพื่อนๆ อยู่ตรงนี้กับเขา
  2. ชุดประสบการณ์ที่ครูเลือกใช้ให้เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ได้แม้จะเรียนออนไลน์
  3. ความไว้วางใจ ครูต้องวางใจว่าถึงที่สุดแล้วเด็กทุกคนจะต้องรับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง”

ในมุมมองของอธิษฐาน์ ถึงเวลาแล้วที่หน้าที่ครูต้องเปลี่ยนไป ครูจะไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้อย่างเดียว แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ให้โจทย์ท้าทายแก่เด็ก เพื่อให้ผู้เรียนสงสัยใคร่รู้และเริ่มต้นออกไปแสวงหาคำตอบด้วยตนเองจากชุดความรู้มากมายในโลกอินเทอร์เน็ต เรียกว่า “ถ้าจุดไฟการเรียนรู้ของเขาติด ที่เหลือเดี๋ยวเด็กจะไปต่อเอง”

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะครูที่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เนื้อหาหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนไป ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) เสนอว่าการเรียนรู้ควรบูรณาการข้ามสาขาวิชา (interdisciplinary) มากขึ้น เพราะปัจจุบัน – หรือแม้กระทั่งในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้า การมีทักษะรอบด้านเป็นคุณสมบัติที่ตลาดแรงงานต้องการ หากผู้เรียนได้สั่งสมองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์ เข้าใจวิธีคิดของคนทำงานแขนงต่างๆ ย่อมทำให้มีมุมมองที่กว้างขวาง และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นมากมายนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโรคระบาด ย่อมมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ง่าย

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เห็นด้วยกับการเติมทักษะการปรับตัว ความยืดหยุ่น การจัดการกับสถานการณ์ไม่คาดฝัน พร้อมเสริมว่าทักษะด้านดิจิทัลและการเงิน ภาวะผู้นำ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทั้งหมดนี้จัดอยู่ในกลุ่มทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเป็นเทรนด์การศึกษาสากลตอนนี้

ถ้าจะมีบางอย่างเพิ่มเติมมากขึ้นจากทักษะตามเทรนด์ สฤณีเสนอว่าควรสร้างความตระหนักรู้ในฐานะพลเมืองโลกแก่นักเรียน เพราะจะทำให้เด็กเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคม – ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่รวมทั้งโลกได้ เห็นว่าการกระทำของเราส่งผลกับสังคมโลกอย่างไร รวมถึงเข้าใจบริบทวัฒนธรรม และความคิดของคนต่างชาติต่างเชื้อได้ดีขึ้น อีกทั้งควรพัฒนา mindset และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) เพื่อรับมือกับโรคระบาดที่เรียกร้องให้คนทุกช่วงวัยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และยังเป็นการศึกษาแบบพึ่งพาตนเองอีกด้วย

 

ปรับโครงสร้าง ร่างระบบการศึกษาใหม่ ให้ไร้ความเหลื่อมล้ำ

 

การปรับหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตนับเป็นหนึ่งในแผนระยะยาวที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างไรก็ดี การปรับหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากปราศจากการกระจายอำนาจสู่โรงเรียนในท้องถิ่นต่างๆ ให้มีอิสระบริหารจัดการตนเอง และการแจกจ่ายทรัพยากรทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ตามความเห็นของ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับคำพูดของ แอนเดรียส ชไลเชอร์ นักสถิติ และนักวิจัยจาก OECD ในบทความ “‘กลุ่มเปราะบางทางการศึกษา’ ด่านที่ต้องฝ่าเพื่อความเสมอภาค” ที่ว่า ภารกิจด่วนที่สุดหลังการระบาดของโควิด-19 คือการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในประเทศให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เฉกเช่นเดียวกับฟินแลนด์ ที่โรงเรียนทุกแห่งมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ไม่ว่าจะเข้าเรียนที่ใดจึงไม่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก

แน่นอนว่าการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเพื่อสร้างรากฐานทางการศึกษาที่มั่นคงควรรีบลงมือทำ กระนั้นก็ยังต้องอาศัยการคิดอย่างถี่ถ้วน ว่าเราจะแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อโรงเรียนนับหมื่นแห่งทั่วประเทศอย่างไร

หนึ่งในข้อเสนอจาก ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ฟังผ่านๆ อาจทำให้คนตกใจ เพราะเขาบอกให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กครึ่งหนึ่งเสีย จะได้เพียงพอต่อทรัพยากรและบุคลากรครู

ที่มาที่ไปของข้อเสนอดังกล่าว เกิดจากการทำงานวิจัย Thailand: Enhancing Efficiency and Value for Money of Public Expenditures in the Education Sector ในปี 2018 แล้วดิลกะพบว่า โรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่ง – หรือราวๆ 57% เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก รวมแล้วมีห้องเรียน 140,500 ห้อง ปัญหาคือโรงเรียนเหล่านี้มักมีจำนวนนักเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 9 คนต่อชั้น พร้อมกันนั้น ก็เป็นโรงเรียนเหล่านี้ที่มีปัญหาขาดแคลนครูอยู่เนืองๆ และขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างอาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน ฯลฯ

“เรามีห้องเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่เยอะเกินไป

“โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเยอะมาก หลายโรงเรียนตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตรเลยด้วยซ้ำ การประหยัดจากขนาด (economy of scale) ในการกระจายทรัพยากรทางการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดเลยไม่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อเสนอที่พูดถึงกันมากและถกเถียงกันมานานคือการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีข้อเสนอว่า จะดำเนินการให้เป็นระบบได้อย่างไร”

การยุบรวมโรงเรียนที่ว่า ใช้เกณฑ์เรื่องโครงสร้างพื้นฐานมาพิจารณาว่าโรงเรียนไหนจะได้ไปต่อ เป็นโรงเรียนศูนย์กลางหรือ ‘โรงเรียนแม่เหล็ก’ ในท้องถิ่น รวมถึงคำนวณว่าเด็กแต่ละคนจากบริเวณข้างเคียง (และจากโรงเรียนเก่าที่หายไป) จะต้องใช้เวลาเดินทางไปโรงเรียนแม่เหล็กนั้นเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นโรงเรียนที่เด็กใช้เวลาน้อยที่สุด

“ถ้าควบรวมโรงเรียนตามแบบจำลอง จำนวนโรงเรียนจะลดลงจาก 29,466 โรง เหลือ 12,346 โรง หรือหายไปเกินครึ่ง ในขณะที่จำนวนห้องเรียนจะลดลงจาก 337,513 ห้อง เหลือแค่ 262,094 ห้องเรียน ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้ เราต้องการครูเพียง 417,456 คนเท่านั้น ซึ่งครูทั้งหมดที่เรามี 467,115 คนนั้นเพียงพออยู่แล้ว  นี่พูดเฉพาะเรื่องครูเท่านั้น การควบรวมจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรอื่นๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย”

และถึงแม้จะเป็นการเสนอให้ยุบโรงเรียน แต่ดิลกะก็ชี้แจงว่าไม่จำเป็นต้องลงมือทำทั้งหมดทันที เพราะการยุบโรงเรียนควรมาพร้อมกับการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองว่า เมื่อย้ายโรงเรียนแล้วจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น มีพื้นที่และอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมขึ้น ไปจนถึงการที่ภาครัฐต้องออกมาตรการดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายแก่เด็กที่เดินทางไกล และการร่วมกันออกแบบพื้นที่โรงเรียนเก่าของคนในชุมชน ว่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้งานรูปแบบไหนให้ตรงใจคนในพื้นที่มากที่สุด

“ตอนนี้เราพอเห็นแล้วว่าปลายทางอยากเห็นอะไร คำถามที่สำคัญกว่าคือจะไปสู่ตรงนั้นอย่างไร จะลองแค่บางพื้นที่ก่อนไหม แล้วดูว่าผลเป็นอย่างไร เราจะนึกไม่ออกทั้งหมดหรอกถ้าไม่เริ่มทำ แต่ที่รู้แน่ๆ คือสถานการณ์ปัจจุบันถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ คุณภาพการศึกษาก็มีแต่จะตกต่ำลง”

ประเด็นที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมคือ การเรียนสายสามัญในโรงเรียนทั่วไปอาจไม่ใช่ทั้งหมดของระบบการศึกษา สถาบันอาชีวะเองก็เป็นหนึ่งในองคาพยพสำคัญที่ช่วยสร้างเสริมอนาคตและทำให้เด็กนักเรียนหลายคนมีอาชีพมั่นคงได้ ดังนั้น เมื่อพูดถึงคุณภาพการศึกษาที่ดี ย่อมไม่อาจมองข้ามและเมินเฉยต่อการพัฒนาอาชีวศึกษา นั่นคือข้อสรุปส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“เราต้องพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอาชีวศึกษาด้วย ทั้งระบบการเรียนการสอนที่ต้องครอบคลุมทั้งทักษะการปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ และการคิดอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการดูแลนักเรียน และสัมพันธภาพกับสถานประกอบการ วิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมนักเรียนและส่งเสริมผู้ประกอบการในเวลาเดียวกัน”

“ความท้าทายหนึ่งที่สถาบันอาชีวศึกษาต้องเผชิญคือการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของโลกและตลาดแรงงาน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับฟินเทค (FinTech) หรือนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบได้รุนแรง (disruptive technology) เทคโนโลยีเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ”

ธันว์ธิดายังชี้ให้เห็นปัญหาว่าจากการสำรวจที่ผ่านมา นักเรียนอาชีวะมีโอกาสได้ฝึกงานเพียง 16% จากทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่เด็กเหล่านี้ต้องการประสบการณ์การทำงานจริงมากกว่าใคร ถ้ามีโอกาสได้สร้างภาคีระหว่างสถานศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ ย่อมช่วยสร้างแรงงานฝีมือดีในอนาคตแน่นอน และอาจเชื่อมโยงถึงวิธีแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่งดร.ประสาร เคยกล่าวไว้ว่า เด็กบางส่วนไม่สนใจเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะมองไม่เห็นว่าโรงเรียนให้อะไรแก่เขา การที่สถาบันอาชีวะสอนนักเรียนให้ได้มีทักษะติดตัว สามารถประกอบอาชีพที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ น่าจะดึงดูดให้เด็กกลุ่มดังกล่าวมองเห็นความหวังและเส้นทางชีวิตของตนในระบบการศึกษาไทยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จริงอยู่ว่าการศึกษาที่ดีจะเป็นกุญแจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่จากบทความ “อ่านปัญหาความเหลื่อมล้ำจากอเมริกา : เมื่อการลงทุนแก้ ‘การศึกษา’ อย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอ” ก็กระตุ้นเตือนให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งผ่านการเล่าเรื่องราวในอเมริกาว่า ถ้าไม่เริ่มต้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วย สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเองนั่นล่ะ ที่จะย้อนกลับมาสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาวนเวียนไปไม่รู้จบ

“การศึกษานั้นไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกาได้ หากละเลยแรงขับเคลื่อนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนอย่าง ‘รายได้ครัวเรือน’

“ข้อมูลจากการวิจัยเชิงตัวเลขที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ยิ่งรายได้ของพ่อแม่ผู้ปกครองลดลงเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลต่อระดับการศึกษาที่ต่ำลงของบุตรหลาน แต่แทนที่เราจะแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มรายได้ครัวเรือน เรากลับเน้นไปที่การขยายโอกาสแก่เด็กยากไร้ อย่างการมีโรงเรียนในกำกับของรัฐสำหรับเด็กยากจน ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้แทบจะไม่มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐดีๆ เพราะไม่สามารถฝ่าด่านของรายได้ครอบครัวที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงอาจกล่าวได้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวทางการศึกษาเลยเสียด้วยซ้ำ”

เมื่อความยากจนส่งผลถึงการเรียนรู้ ประเด็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างเพิ่มค่าแรงให้สมเหตุสมผลกับทุกอาชีพ คืนอำนาจต่อรองให้แรงงาน เพิ่มภาษีในกลุ่มคนรวยให้สูงขึ้น รวมถึงการหามาตรการลดระยะห่างระหว่างคนรวยและคนจน จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างรากฐานความเข้มแข็งด้านการศึกษาในระยะยาว

 

แม้ 2021 จะเป็นปีที่เริ่มต้นอย่างไม่ราบรื่นนักจากพิษโควิด-19 จนใครหลายคนอาจเห็นภาพซ้อนทับกับปี 2020 แต่โปรดอย่าลืมว่าเราไม่ได้ผ่านปีที่แล้วมาแบบตัวเปล่าเปลือย

เราผ่านมาพร้อมกับอาวุธทางปัญญา และความมุ่งมั่นคาดหวังว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะต้องดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

หากความเหลื่อมล้ำในปีก่อนคือบทเรียนอันหนักหน่วง ปีนี้ ก็ถึงเวลาสอบปฏิบัติแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save