fbpx
เปิดเทอมใหม่ โลกการศึกษาใหม่: ปรับโรงเรียน – เปลี่ยนครู – ปฏิรูปการเรียนรู้

เปิดเทอมใหม่ โลกการศึกษาใหม่: ปรับโรงเรียน – เปลี่ยนครู – ปฏิรูปการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ เรื่อง

โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของสังคม เป็นความเดือดร้อนตำตาที่ทุกฝ่ายเป็นกังวล นโยบายและมาตรการรับมือโรคระบาดในช่วงแรกจึงเป็นการสู้เพื่อเลี่ยงวิกฤตสุขภาพและบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน ‘ภาคการศึกษา’ กลับเป็นที่พูดถึงค่อนข้างน้อย แม้ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกและในไทยจะรู้ว่า โรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครองเกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการขาดเรียนเป็นเวลานาน ปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ที่ไม่สามารถทดแทนห้องเรียนจริงได้ ความเหลื่่อมล้ำระหว่างเด็กยากจนกับชนชั้นกลาง ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ต้องนับว่า ‘วิกฤตการศึกษา’ เป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนมีโรคระบาด

‘เปิดเทอมใหม่’ รอบนี้จึงมีความนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาและการเรียนรู้ เพราะโจทย์ใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมพร้อมให้การเรียนการสอนและการเรียนรู้เป็นไปได้จริง มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม

101 ชวน เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์, ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์, ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย, อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Lukkid และ ผู้แปลหนังสือ “designing your life” ใน 101 Public Forum “เปิดเทอมใหม่เอาไงดี? : ปรับโรงเรียน – เปลี่ยนครู – ปฏิรูปการเรียนรู้”

 

เดชรัต สุขกำเนิด

 

เดชรัต สุขกำเนิด

เหลื่อมล้ำ-รวมศูนย์-ไม่เปิดโอกาสให้เรียนรู้: หลังโควิด-19 วิกฤตการศึกษายังเป็นปัญหาเดิม

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาและการเรียนรู้ในแทบทุกมิติ เพราะการเรียนการสอนปกติในห้องเรียนและโรงเรียนไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แต่หากมองให้ลึกลงไป โรคระบาดได้ฉายภาพปัญหาการศึกษาที่มีอยู่เดิมเด่นชัดขึ้น โดยมี 3 มิติสำคัญที่ควรกล่าวถึงในการรับเทอมใหม่

หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เพราะแต่ละกลุ่มคนในสังคมได้รับผลกระทบของปัญหาไม่เท่ากัน แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนจากช่องทางปกติมาเป็นออนไลน์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงปรากฏเด่นชัดขึ้นผ่านความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี และเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ 2 – 3 เดือน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะปรากฏให้ผ่านการได้ศึกษาต่อในชั้นต่อๆ ไป เพราะวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลให้ผู้ปกครองบางกลุ่มไม่สามารถแบกภาระที่เกิดขึ้นได้

สอง ปัญหาการเรียนการสอน ที่ผ่านมาการเรียนการสอนของไทยส่วนใหญ่เป็นไปไนทิศทางเดียว ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หลักสูตรก็เป็นการกำหนดมาจากส่วนกลางให้ทุกโรงเรียนใช้คล้ายๆ กัน ข่าวของการเรียนทางไกลช่วงที่ผ่านมาก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาพการรวมศูนย์ของการเรียนการสอน เพราะเด็กไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับครูได้เลย

สาม การศึกษาไทยไม่ได้ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากข้อสอง ในตอนแรกการเรียนออนไลน์ถูกมองว่าเป็นโอกาสที่จะคลายล็อคปัญหานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเรียนออนไลน์ในบ้านเรากลับไม่ได้เปิดอากาสให้เด็กใช้วิธีการเรียนรู้ใหม่ ซ้ำร้ายยังใช้ชุดบทเรียนที่ตายตัวกว่าเดิม ปัญหาการเรียนทางไกลที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไม่ใช่ปัญหาเชิงบุคคล แต่เป็นเรื่องกระบวนการคิดตั้งต้น นั่นคือ กระทรวงศึกษาคิดว่า การเรียนการสอนทางไกลยังเป็นการเอาครูมายืนพูดต่อหน้าชั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราสามารถออกแบบได้มากมาย เช่น สารคดีชีวิตสัตว์ รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับตลาด ฯลฯ เป็นต้น

ออนไลน์/ออฟไลน์ ไม่สำคัญเท่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การออกแบบการเรียนรู้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกจากการคิดแบบเดิมที่อยู่บนฐานของ ‘ปฏิสัมพันธ์ทางเดียว’  ไปสู่ ‘ปฏิสัมพันธ์หลายทาง’ ไม่ว่าการเรียนการสอนจะอยู่บนโลกออฟไลน์ หรือออนไลน์ก็ตาม

ทุกวันนี้การเรียนรู้ออนไลน์มีเครื่องมือใหม่ๆ เป็นจำนวนมากที่ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันได้ เช่น บอร์ดเกมออนไลน์ การทำควิซออนไลน์ การทำโพล เวิร์คชอปออนไลน์ การลงพื้นที่จริงไลฟ์สด การให้คำปรึกษาออนไลน์ ฯลฯ ปฏิสัมพันธ์จะช่วยให้ผู้เรียนสนุกและจดจ่อกับการเรียนรู้มากขึ้น ในขณะที่ผู้สอนก็สามารถประเมินในเบื้องต้นได้ว่า ผู้เรียนสนใจอะไรและเข้าใจเนื้อหามากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สอนได้เรียนรู้จากผู้เรียนด้วย

นอกจากนี้ การปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความสนใจและลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้เรียนก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน เช่น การสอนวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นผ่านประวัติศาสตร์อาหาร ซึ่งทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เพราะมีประสบการณ์ร่วมในเนื้อหา วิธีการนี้ยังมีส่วนช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่คนมักเข้าใจผิดคือ การเรียนออนไลน์คือสิ่งที่เข้ามาทดแทนการเรียนออฟไลน์ แต่หากยึดการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์หลายทางเป็นเป้าหมายแล้ว โลกออนไลน์และออฟไลน์คือสิ่งที่เข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน โจทย์ของการออกแบบการเรียนรู้ในอนาคต โดยเฉพาอย่างยิ่ง หากสถานการณ์โรคระบาดกลับไปเป็นปกติคือ การผสมการเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนมากที่สุด

บทบาทภาครัฐ: ผ่อนคลายมาตรการ เยียวยาด้านเศรษฐกิจ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

การเปิดเทอมใหม่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของคำสั่งรัฐบาลเท่ากับสถานการณ์ความจริงของโรคระบาด ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น โรงเรียนจำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือหลายแบบ ยืดหยุ่นพอที่จะปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สื่อสารกับครู นักเรียน และผู้ปกครองอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

สำหรับภาครัฐ สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัว นอกจากนี้ ภาครัฐควรต้องเรียนรู้ความผิดพลาดให้เร็ว และต้องปรับวิธีการคิดเชิงนโยบายแบบรัฐ ‘เลือกให้’ ไปสู่การสนับสนุนให้มีทางเลือกเชิงนโยบายหลากหลายแบบ และผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ ‘เลือกใช้’ นโยบายที่เหมาะสมกับตนเอง

นอกจากนี้ ภาครัฐควรต้องเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะช่วงเปิดเทอมใหม่เป็นช่วงคาบเกี่ยวที่มาตรการเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งมาตรการเยียวยาหลักของรัฐจะหมดลงพอดี หากไม่มีการช่วยเหลือเพิ่มเติมและสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ก็น่ากังวลว่าการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

ในระยะยาว ไม่ว่าจะยังมีโควิด-19 หรือไม่ ภาครัฐต้องคิดใหม่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทบทวนดูว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลพร้อมจริงๆ แล้วหรือยัง อะไรเป็นเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และต้องใช้เวลาเท่าไรในการไปสู่จุดนั้น ที่ผ่านมา สถิติชี้ว่าบางพื้นที่ประชากรผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพียง 40 % เท่านั้น (ประชากรเด็กน่าจะยิ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าผู้ใหญ่) ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะมีแผนแม่บทที่กำหนดให้อินเทอร์เน็ตเป็นสินค้าสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมไปถึงกำหนดวิธีการด้วยว่าเข้าถึงได้อย่างไร

ภาคิน นิมมานนรวงศ์

โจทย์ท้าทายในการเปิดโรงเรียน

ทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครองอาจมองภาพสถานการณ์ว่าการระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว และคิดว่าการเรียนการสอนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. 63 แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพปกติ อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดังนั้น ความท้าทายของการเปิดโรงเรียนอยู่ตรงที่ว่า ต้องพร้อมปรับแผนรับมือตลอดเวลา รวมทั้งเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังยากที่จะประเมินว่าต้องเตรียมแผนรองรับไว้จำนวนมากขนาดไหน และจะต้องดำเนินกระบวนการเตรียมแผนอย่างไร ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะวางแผนได้ดีต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลจำนวนนักเรียนในโรงเรียน จำนวนชั่วโมงเรียนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก และชั่วโมงสอนที่เหมาะสมสำหรับครูประกอบ

ในการเปิดโรงเรียนและจัดการเรียนการสอนช่วงนี้ การสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ต้องมีการสื่อสารระหว่างโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปิดเรียน ต้องเผชิญต่อสถานการณ์แบบไหน มีความเป็นไปได้อะไรบ้าง และต้องสื่อสารเรื่องการปรับการเรียนการสอนกับนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อให้พวกเขาปรับตัวตามแผนของโรงเรียนได้ ยิ่งการสื่อสารน้อย ไม่มีการทำความเข้าใจสถานการณ์ของกันและกัน ผลกระทบจะตกอยู่ที่นักเรียนและผู้ปกครอง

โจทย์การเรียนการสอนระยะสั้นในโลก ‘ระหว่าง’ โควิด-19: ครูในโลกออนไลน์

 

ก่อนจะวางแผนจัดการเรียนการสอนได้ คำถามที่สำคัญกว่าคำถามว่าโลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร คือว่าเมื่อไรเราจะอยู่ในโลกหลังโควิด-19 เพราะฉะนั้น หากเรายังไม่เข้าสู่โลกหลังโควิด-19 เราต้องคิดว่าจะจัดการเรียนการสอน ‘ระหว่าง’ โควิด-19 อย่างไร

แต่ในปัจจุบัน แต่ละโรงเรียนที่พร้อมสอนออนไลน์อาจจะยังมีภาพที่ไม่ตรงกันอยู่ว่าควรจัดการเรียนการสอนอย่างไร หน่วยงานด้านการศึกษาระดับบนอาจเสนอแนวทางเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า แผนการเรียนการสอนช่วงระหว่างโควิด-19 อาจมีรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ต่างๆ ไม่มีแผนสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์  (one-size-fits-all)

หากโรงเรียนมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ครูหลายวิชาต้องกลับมาคิดเพิ่มคือ อะไรคือสาระสำคัญของวิชาที่สอน เนื้อหาส่วนไหนที่ครูจำเป็นต้องสอน เนื้อหาส่วนไหนหรือกระบวนการสอนไหนที่ต้องเพิ่มหรือลดเพื่อให้ถ่ายทอดสาระสำคัญได้ภายใต้ข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์

อย่างไรก็ดี ปรับตัวเข้ากับการสอนออนไลน์ของครูเป็นเรื่องที่ใหม่และใหญ่มาก ครูส่วนมากไม่เคยลองทำมาก่อน แต่ทุกคนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ดังนั้น ครูควรเปิดใจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ค่อยๆ ลองใช้โอกาสให้เต็มที่ในการปรับและพัฒนาการเรียนการสอน

การปรับในครั้งนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นครูที่รู้สึกว่าสอนออนไลน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและนักเรียนที่รู้สึกว่าเรียนได้ไม่เต็มที่เท่ากับที่เรียนในห้องเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดในระยะสั้นที่เกิดขึ้นแม้แต่กับโรงเรียนที่มีความพร้อม ดังนั้น อย่าด่วนตัดสินว่าการเรียนแบบใหม่จะไม่ได้ผล สิ่งที่เราทำได้คือทดลองแล้วนำฟีดแบ็คกลับมาปรับ ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายในระยะยาวจะไม่มีทางเกิดขึ้น

 

เมื่อโควิด-19 เข้ามาท้าทาย ‘การเรียนรู้’

วิกฤตครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู รวมถึงนักเรียนกลับมาทบทวนโจทย์สำคัญที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในวงการการศึกษาว่า “อะไรคือการเรียนรู้และการเรียนการสอน” เราต้องตอบคำถามนี้ให้ได้และต้องตอบให้ดี เพราะคำตอบจะนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ หากเชื่อว่าการเรียนรู้คือการบรรยายในห้องเรียนหรือแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น รูปแบบการเรียนรู้ก็จะถูกจำกัดกรอบไว้ แต่หากเราตอบคำถามนี้ว่าการเรียนรู้มีได้หลากหลายวิธี ก็จะสามารถปรับการเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมต่อสถานการณ์ได้ดีขึ้น และที่สำคัญ โจทย์นี้จะยังเป็นโจทย์สำคัญต่อไปในระยะยาวแม้ว่าในอนาคตสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางการปรับการสอนของครูอยู่ตรงที่การศึกษาในไทยยังเป็นแบบ teacher-based ครูมักจะวาดภาพการเรียนการสอนโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่เสมอ แต่วิกฤตครั้งนี้ท้าทายความจำเป็นของการมีครูเป็นศูนย์กลางว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

หากครูยังต้องเล่นบทบาทนำ ไม่ว่าจะสอนวิชาไหนก็ตาม ครูต้องช่างน้ำหนักให้ดีว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องให้กับนักเรียน อะไรบ้างที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาครู หรือการเรียนรู้แบบไหนที่นักเรียนขาดครูไม่ได้ อะไรบ้างที่หากครูเข้ามาเสริมแล้วจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ในอนาคต ครูอาจต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ‘ผู้จัดการเรียนรู้’ แสวงหาเครื่องมือต่างๆ และองค์ความรู้มหาศาลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเพื่อช่วยออกแบบการเรียนรู้ของนักเรียน

หากจะผลักดันให้การศึกษาไทยเคลื่อนออกจากการเรียนรู้แบบ teacher-based นั้นจะต้องเริ่มที่ตัวครู อย่างไรก็ตาม การปรับการเรียนการสอนจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารการศึกษาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและให้อิสระครูในการจัดการศึกษามากน้อยขนาดไหนด้วย ครูไทยที่เก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ และพร้อมปรับรูปแบบการสอนมีอยู่มาก แต่หากโครงสร้างระบบการศึกษาไทยสร้างข้อจำกัดให้ครูปรับตัวได้ยาก สร้างสรรค์การเรียนรู้แบบใหม่ก็จะทำได้ลำบาก

ปรับการเรียน เปลี่ยนโครงสร้างการจัดการศึกษาในโลกหลังโควิด-19

 

เวลาเราคิดเรื่องการจัดการศึกษาในระยะยาว ครูและนักเรียนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่จริงแล้ว ในแวดวงยังมีกระทรวงการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะศึกษาศาสตร์ที่ผลิตครูออกมาอีกด้วยที่มีส่วน หากเราไม่มองการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบองค์รวม การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ความท้าทายในการออกแบบการศึกษาหลังโควิด-19 ไม่ได้เพียงแค่ทำให้ต้องกลับไปคิดว่าการศึกษาคืออะไรเท่านั้น แต่ต้องมองด้วยว่าใครบ้างที่ควรมีบทบาทในการจัดศึกษา และใครบ้างที่สนับสนุนให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับผู้กำหนดนโยบาย โจทย์สำคัญในตอนนี้คือ ต้องคิดว่ามีโครงสร้างพื้นฐานอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการศึกษา แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าประเด็นเรื่องการศึกษาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะข้อจำกัดทางการศึกษาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำอย่างที่เราเห็นอย่างชัดเจนว่านักเรียนมีความสามารถเข้าถึงเครื่องมือการเรียนออนไลน์ต่างกันนั้น เป็นผลจากการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดว่าจะใช้ไปกับอะไร ผู้ออกนโยบายให้หรือไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องอะไรบ้าง

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารโรงเรียนควรใช้นโยบายแบบกระจายอำนาจ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้ครูได้คิดหาและปรับเปลี่ยนแผนการเรียนได้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่เผชิญผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ต่างกัน ครูซึ่งใกล้ชิดกับเด็กย่อมเข้าใจสถานการณ์และการเรียนรู้ของเด็กได้ดีที่สุด หากประสบความสำเร็จ นักเรียนก็จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้

คณะศึกษาศาสตร์ในฐานะสถานศึกษาที่ผลิตครูเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ควรถูกเรียกร้องและตั้งคำถามมากกว่านี้ว่า ควรจัดการเรื่องการศึกษาและจะผลิตครูออกมาอย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแค่ครูเท่านั้นที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ แต่คณะศึกษาศาสตร์ต้องปรับตัวนำไปก่อนเช่นกัน

บางคนอาจบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนในโลกการศึกษาหลังโควิด-19 แล้วเพราะสมัยนี้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ การเรียนออนไลน์ก็กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ผมเชื่อว่าห้องเรียนจะยังคงจำเป็นอยู่ในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูกับนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมาพบปะครู ตั้งคำถามได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ทางการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การพลาดการเรียนในห้องเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับนักเรียน

ศุภโชค ปิยะสันติ์

ศุภโชค ปิยะสันติ์

ออกแบบวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง ฝึกนักเรียนสืบค้นความรู้จากชุมชน

โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองจะประสบปัญหาว่า เด็กเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้บางส่วน ออนแอร์ได้อีกส่วนหนึ่ง และมีอีกส่วนหนึ่งที่ออฟไลน์ คือไม่สามารถใช้โทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนให้เด็กเหล่านี้ได้ ต้องมีคนเข้าไปช่วยเหลือที่บ้าน เพราะฉะนั้นเราต้องพูดคุยกันในกลุ่มครูว่า เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีมีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 กลุ่ม ส่วนใหญ่ชั้นม. ปลายจะเรียนออนไลน์ได้ จึงไม่ต้องยึดการเรียนกับ DLTV (การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) เราออกแบบการปฏิสัมพันธ์กับเด็กและเลือกใช้สื่อออนไลน์ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกิพีเดีย ยูทูบ หรือกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้โปรแกรมวีดีโอคอลออนไลน์ได้

นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ต้องยึดกับเนื้อหาจาก DLTV เพราะรับข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ได้ทางเดียว ซึ่งครูจะมีความกังวลกับเด็กกลุ่มนี้ เพราะต้องออกแบบใบงานตามเนื้อหาที่เขากำหนดมา ต้องเดินไปดูเด็กว่าเรียนไหม และเช็คกับผู้ปกครองว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

เท่าที่สัมผัสการตอบรับของผู้ปกครอง เด็ก หรือครูเอง ผมรู้สึกว่าการเรียนการสอนที่ผ่านมายังไม่ค่อยตอบโจทย์ชีวิตเขาเท่าไร มีเด็กหลายคนที่ยังมีข้อจำกัดหรือมีความยากลำบากในการเรียน เพราะผู้ปกครองไม่พร้อมสอน หรือเป็นชาวเขาที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาหลัก เมื่อเรียนทางโทรทัศน์แล้วก็ไม่รู้จะถามใคร แต่ก็มีบางส่วนที่ผู้ปกครองพร้อมสอน พร้อมให้คำแนะนำเช่นกัน

สถานการณ์แบบนี้เป็นโอกาสให้เราตั้งหลักคิดว่า เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร อะไรคือเป้าหมายที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ เราต้องผูกขาดการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนอยู่กับโรงเรียนหรือครูเพียงเท่านั้นหรือไม่ หรือเขาสามารถเรียนรู้ได้จากชุมชน สังคม ครอบครัว หรือผู้ประกอบอาชีพในหมู่บ้าน ครูอาจจะออกแบบให้เด็กออกไปสืบค้น ค้นหาความรู้จากชุมชนได้ อย่างที่โรงเรียนผมออกแบบการเรียนเรื่องโควิดศึกษา โดยออกโจทย์ว่า เด็กจะดำรงชีวิตอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเด็กๆ จะต้องไปสืบเสาะ แสวงความรู้ในชุมชนไปถามคนในชุมชน ฝึกทักษะในการตั้งคำถาม ค้นข้อมูล แล้วถัดจากนั้นก็ต้องมีกระบวนการสรุปความรู้ที่ได้จากการสืบเสาะด้วยตนเองและเสนอข้อมูลนั้นกับครู

โฉมหน้าใหม่ การเรียนการสอนของโรงเรียนห่างไกลในยุคหลังโควิด

ไม่มีรูปแบบการเรียนการสอนใดที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด แต่ละโรงเรียนก็มีลักษณะผู้เรียน เขตพื้นที่ และปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองแตกต่างกันไป อย่างโรงเรียนผมเป็นกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในชุมชน ไม่ได้มีความพร้อมเรื่องอินเทอร์เน็ตหรือการสนับสนุนนักเรียน ก็ต้องออกแบบการเรียนการสอนตามที่เงื่อนไขเอื้อให้ทำได้

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียกร้องคือ การปลดล็อกกติกาจากส่วนบนและการกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้คิด ตัดสินใจด้วยตนเองว่าเราจะเลือกใช้วิธีไหนถึงจะเหมาะที่สุดกับสถานการณ์ ไม่ถูกจำกัดโดยกรอบการปฏิบัติที่ลงมาจากส่วนกลาง เพราะวิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้ครูปล่อยของ ปล่อยพลัง คิดหานวัตกรรมการศึกษาใหม่ รวมทั้งการปลดล็อคข้อกำหนดของรัฐบาลบางอย่าง เปิดโอกาสให้ครูลงไปเจอเด็กในพื้นที่ (on-site) เพื่อที่ครูจะได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่เรียนตามบ้านได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่มีมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนผ่านจอ ส่วนหน่วยงานระดับบนอาจจะต้องคอยสนับสนุน หาทางเลือกให้แต่ละโรงเรียนได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ในการออกแบบการเรียน เราต้องปรับแผนปฏิบัติการของโรงเรียน ต้องคิดใหม่ในการที่จะนำเงินไปลงกับกิจกรรมต่างๆ จัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่ายิ่งกว่าเดิมโดยมีเป้าหมายว่าเด็กจะต้องได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ระเบียบจากส่วนกลางก็ควรเอื้อให้แต่ละโรงเรียนจัดสรรเงินไปทำกิจกรรม หรือให้ครูลงไปดูแลนักเรียนได้สะดวกขึ้น

โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีออกแบบการเรียนและความช่วยเหลือจากครูตามบริบทของนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่เรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนก็เลือกใช้โปรแกรมวีดีโอคอลออนไลน์เพื่อให้นักเรียนและครูมีปฏิสัมพันธ์กันได้

กลุ่มที่สองที่เรียนผ่าน DLTV อาจต้องให้ครูจัดทำชุดการสอนประกอบการเรียนที่บ้าน (home learning package) จัดวิธีการสอนที่สอดคล้องกับทั้งเนื้อหาจากส่วนกลางและบริบทเฉพาะในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรสนับสนุนการเรียนทางไกลโดยการดึงครูที่มีความสามารถมาช่วยจัดการสอน DLTV ให้บทเรียนในวิชาต่างๆ อย่างหลากหลาย โรงเรียนจะได้หยิบนำไปใช้ได้ตามความต้องการของแต่ละที่

ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เป็นนักเรียนออฟไลน์ ซึ่งมาจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ต้องการความช่วยเหลือแค่เรื่องการเรียนรู้อย่างเดียว แต่ยังต้องการความช่วยเหลือเรื่องสุขอนามัย การดำรงชีวิตพื้นฐานและปากท้องอีกด้วย ครูและผู้บริหารโรงเรียนอาจเดินทางไปหานักเรียนที่บ้านได้โดยตรงเพื่อช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้ คอยตรวจสอบ รับฟีดแบ็ค ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพวกเขา อาจเพิ่มการรวมกลุ่มสอนในระดับหมู่บ้าน จัดให้พี่สอนน้อง รวมถึงสอนทักษะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในชนบทเพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกสุขอนามัยและช่วยเหลือตนเองได้ อย่างเช่น อาจจะเอาเมล็ดพันธุ์ผักไปให้ปลูก เอาลูกไก่ไปให้เลี้ยง แทนที่จะให้ความรู้เชิงลึก อย่างพีชคณิต ตรีโกณมิติ ฟังก์ชัน ฯลฯ

เมื่อเปิดเทอม โรงเรียนต้องวางแผนเวียนนักเรียนเข้ามาเรียน เพื่อจำกัดจำนวนนักเรียน อย่างสัปดาห์หนึ่งเด็กจะเข้ามาได้ 2-3 ครั้งในระยะเวลาที่จำกัดและไม่ได้เข้ามาทุกชั้นพร้อมกัน รวมทั้งยังต้องเตรียมพร้อมการปรับบทบาทบุคลากร เปลี่ยนวิชาที่สอนเพื่อให้มีจำนวนครูเพียงพอ

โอกาสนี้เป็นโอกาสทองของการยกระดับคุณภาพการศึกษา เพราะเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะเข้ามาช่วยเหลือกัน เราเคยยกบทบาทหน้าที่นี้ให้โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ แต่ ณ ขณะนี้กลายเป็นหน้าที่ของครอบครัว เด็กสามารถใช้เวลากับครอบครัวในการเรียนรู้ทักษะชีวิตต่างๆ ส่วนครูก็อาจเสริมในส่วนที่ยังไม่เพียงพอ รัฐเองก็ต้องพยามยามเปิดพื้นที่ให้ครูมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนบทเรียนกัน เพื่อเอาไปปรับใช้หน้างานของแต่ละโรงเรียนตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

 อุดม วงษ์สิงห์ 

 อุดม วงษ์สิงห์ 

การปรับตัวของกสศ. ในช่วงโควิด-19

บทบาทหน้าที่ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือการมุ่งสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจากสถานการณ์ของประเทศเราที่ผ่านมา มีเด็กที่ต้องเจอกับความเหลื่อมล้ำไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน และมีครูอยู่ในระบบประมาณ 5 แสนคน นี่เป็นภาพที่เราเห็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำในหลากมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเข้าถึงระบบการศึกษา ยิ่งเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ก็ยิ่งทวีคูณขึ้น

โดยปกติ ทาง กสศ. ดูแลเด็กประมาณ 1 ล้านคนในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนพิเศษที่เราทำงานด้วยเป็นพื้นฐานอยู่ พอโควิดเริ่มระบาด เราก็ต้องปรับวิธีการช่วยเหลือ เพราะโควิดจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่นิสิตนักศึกษาจะจบออกไปเป็นครู รวมถึงการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วย ที่ผ่านมา ทาง กสศ. เน้นให้เกิดนวัตกรรม เพื่อเป็นรูปแบบในการขยายผลหรือนำร่อง เช่น สำนักครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา มีโครงการใหญ่ๆ อยู่ 2-3 โครงการ แต่พอเกิดโควิด เราต้องคุยกับทุกโครงการเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน

ต่อมาเป็นเรื่องของการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล หลายคนอาจจะคิดว่า โรงเรียนยิ่งอยู่ไกลโควิดจะไปไม่ถึง ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะนโยบายที่ออกมาจะมีผลกระทบไปทั่วประเทศและกระทบกับการเรียนรู้ของเด็กด้วย พวกเขาไปโรงเรียนไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนในกลุ่มนี้ยังต้องมีตัวช่วยมากกว่าปกติ เดิมที เวลาเราทำงานร่วมกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล เราจะคิดเรื่องการพัฒนาผู้บริหารหรือครู แต่ในเวลานี้ เราต้องเริ่มมองแล้วว่าจะพัฒนาผู้ปกครองอย่างไร

เรื่องที่สามเป็นเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียน และการปรับวิธีการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพราะเรามีโครงการผลิตครูรุ่นใหม่หรือครูรักษ์ถิ่นที่มีสถาบัน 11 แห่งเข้าร่วม ซึ่งก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเมื่อการเปิดภาคเรียนเลื่อนออกไป เด็กเรียนที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ เราจึงต้องหาวิธีดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคของเราที่เรียนครูในรุ่นที่ 1 อยู่ประมาณ 328 คน โดยใช้วิธีบริหารจัดการแบบ remote area ให้ได้

‘แพ็กเกจการเรียนรู้ที่บ้าน’ กรณีศึกษาที่น่าสนใจจากบรูไน

 

เราพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือแม้แต่พยายามหาโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในวิกฤต โดยรีบไปศึกษาว่าประเทศที่เกิดวิกฤตก่อน ไล่ตั้งแต่ในยุโรปมาจนถึงอาเซียน ว่าเขามีวิธีการปรับปรุง แก้ไข และรับมือกับโรคนี้อย่างไร

เร็วๆ นี้ เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศบรูไนเกี่ยวกับการจัดทำ ‘ชุดการสอนประกอบการเรียนที่บ้าน’ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้ ตัวแพ็กเกจจะเป็นการจัดชุดการเรียนการสอนของเด็กให้เหมาะสมกับแต่ละระดับชั้นเรียน โดยให้ผู้ปกครอง เด็ก และครู ได้ทำงานร่วมกัน การบริหารจัดการแพ็กเกจจะแบ่งออกเป็นส่วนของโรงเรียน และส่วนของครอบครัว

ในส่วนของโรงเรียน ครูจะเป็นคนช่วยจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อรอรับการเปิดเทอมที่จะมาถึง เช่น จัดที่นั่งให้ห่างกัน หรือจัดขั้นตอนการเรียน จัดนักเรียนให้เข้าโรงเรียนอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เขาจะแบ่งครูออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทำงาน 2 สัปดาห์ และหยุดอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งช่วงที่หยุดจะเปิดโอกาสให้ครูได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อดูว่าแพ็กเกจที่จัดให้เป็นอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม

ส่วนนักเรียนที่ได้แพ็กเกจไปจะมีแพ็กเกจการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ถ้าเป็นแบบออฟไลน์ แพ็กเกจตัวนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะบางครอบครัวเรียนแบบออนไลน์ไม่ได้ ซึ่งทางบรูไนก็ออกแบบเพิ่มอีกว่า ถ้ามีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ แล้วควรจะให้ผู้ปกครองต้องมีส่วนในการประเมินร่วมกับครูด้วย

เปิด ‘ถุงยังชีพ’ ทางการศึกษา: หนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือนักเรียนยากจน

 

แน่นอนว่า โควิดจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในกลุ่มเด็กยากจน ทั้งเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือในเรื่องการเรียนผ่าน DLTV บางบ้านมีลูกสองคนที่เรียนกันคนละชั้น บทเรียนออกอากาศกันคนละเวลา บ้านคนที่ค่อนข้างยากจนคงไม่มีโทรทัศน์มากกว่าหนึ่งเครื่องหรือไม่มีด้วยซ้ำ ต่อให้เด็กสามารถนั่งเรียนหน้าโทรทัศน์ได้ ผู้ปกครองที่คอยดูแลเด็กก็ต้องมีความรู้ ความสามารถ หรือสามารถช่วยแนะนำให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ด้วย เรานึกไปถึงกระทั่งว่า เวลาเด็กอยู่ที่บ้าน เขามีปากกา ดินสอ หรือยางลบพอใช้ไหมด้วยซ้ำ

แผนช่วยเหลือที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันคืบหน้าไปได้ 80-90% แล้ว โดยสำหรับเด็กยากจนพิเศษ หรือเด็กที่ยากจนมากเป็น 20% แรกของประเทศ (ประมาณ 6-7 แสนคน) เราจะทำถุงยังชีพทางการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ เพื่อให้เขามีอาหารแห้งและอุปกรณ์ยังชีพเบื้องต้นที่จะนำไปใช้กับครอบครัวได้ เพราะไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ครอบครัวก็เดือดร้อนไปด้วย เราจึงจัดสรรงบประมาณที่ทางกองทุนพิจารณาอนุมัติและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล หัวละประมาณ 600 บาท ส่งลงไปยังโรงเรียนเครือข่าย และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูช่วยบริหารจัดการ จัดสรร และแบ่งปันถุงยังชีพให้เด็กต่อไป รวมทั้งเตรียมพร้อมให้เด็กเรียนออนไลน์และออนแอร์ได้ โดยหาวิธีให้ครูได้ออกไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านหรือชุมชน และไปช่วยแนะนำการเรียนการสอนหน้าจอ หรือสอนเรื่องสุขอนามัยให้ด้วย

‘อาสาสมัครทางการศึกษา’ ตัวช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

 

ทาง กสศ. ได้วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาและมองว่า ถ้าเรามองหลายๆ เรื่องแบบ back to basic เราอาจจะไม่ต้องไปวิ่งตามเทคโนโลยีที่บางครั้งดูจะไกลเกินไป

ประเทศไทยมีกลุ่มอาสาสมัครนานแล้ว แต่มักเป็นอาสาสมัครด้านการดูแลสุขภาพหรือการสำรวจสำมะโนประชากรมากกว่า หากจะจัดให้มีอาสาสมัครด้านการศึกษา กสศ. อาจจะต้องลองจับมือกับพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ

คนกลุ่มที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญของโรงเรียนได้ คือกลุ่มครูอัตราจ้างที่เป็นครูรุ่นใหม่ที่มีกำลังวังชา หรืออาจจะเป็นเครือญาติกับกลุ่มผู้ปกครอง อีกกลุ่มอาจจะเป็นครูที่เกษียณแล้วกลับไปอยู่บ้านหรืออยู่ในชุมชน ซึ่งอาจจะมีแนวคิดทำอะไรใหม่ๆ และมีส่วนช่วยสอนได้ในบางวิชา เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองก็อธิบายลูกได้ลำบาก และกลุ่มสุดท้ายที่เรามองไว้คือ กลุ่มบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษา หรืออาจจะรอทำงานอยู่

เราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘อาสาสมัครทางการศึกษา’ ซึ่งจะมาเป็นตัวช่วยในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และหวังผลให้เกิดความยั่งยืนด้วย ตอนนี้เราเริ่มทดลองนำร่องในโรงเรียน 280 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเดินทางลำบาก ซึ่งเราหวังว่าในกลุ่มโรงเรียนเหล่านี้ จะมีเด็กได้รับผลประโยชน์ประมาณ 8 หมื่นคน และถ้ามีการขยายผลต่อในอนาคต โรงเรียนบนเกาะ บนดอย หรือโรงเรียนตามชายขอบ น่าจะนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ได้

การเรียนการสอนแบบ Back to basic

 

การออกแบบการเรียนการสอนคงต้องพิจารณากลุ่มผู้เรียนด้วย ถ้าในกลุ่มที่มีศักยภาพพอที่จะเรียนในระบบออนไลน์ เราคงมีการทำชุดความรู้หรือแพ็กเกจสำหรับผู้ปกครองที่มีความพร้อม แต่ละวิชาจะมีชุดออนไลน์ให้เด็กได้เรียนที่บ้าน แต่ผู้ปกครองต้องมีความทุ่มเท และครูต้องมีศักยภาพพอที่จะทำชุดการสอนด้วย

แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่พร้อม อาจจะไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือมีโทรทัศน์เครื่องเดียว ชุดความรู้ที่เป็นแพ็กเกจแบบของบรูไนจะมีความสำคัญ แต่ครูหรืออาสาสมัครในพื้นที่จะมีภาระเพิ่ม ต้องมีนโยบายมาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย อย่างเช่นการจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม ลดภาระการประเมินผล ไปจนถึงการสนับสนุนคนที่ไม่ใช่ครูประจำในโรงเรียน หรือครูอัตราจ้างในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนช่วยด้วย รวมทั้ง เมื่อเปิดเรียนหลังจากที่เรียนที่บ้านได้เดือนครึ่งหรือสองเดือนแล้ว เราต้องคุยกันต่อด้วยว่าจะส่งต่อไปสู่ระบบโรงเรียนอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า back to basic

เมษ์ ศรีพัฒนากุล

เมษ์ ศรีพัฒนากุล

Design Thinking: คิดใหม่ มองใหม่ ปัญหาการศึกษาไทย

 

ถ้ามองในภาพรวม เราจะเห็นว่าคนแต่ละคน โรงเรียนแต่ละแห่งมีข้อจำกัดหลากหลายและแตกต่างกัน ในต่างจังหวัดมีข้อจำกัดแบบหนึ่ง ในเมืองมีแบบหนึ่ง คนที่ทำงานต่างกัน ก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน บางทีแค่มีลูกเพิ่มหนึ่งคนก็ต่างกันแล้ว ดังนั้น คงไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาแบบใดที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง สิ่งสำคัญคือ เราจะทำความเข้าใจบริบทที่แตกต่างและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับบริบทของเราเองได้อย่างไร

ในมุมของนักออกแบบตามแนวคิด Design Thinking ขั้นแรก เราต้องทำความเข้าใจว่าบริบทของปัญหาที่แตกต่างกันมีอะไรบ้าง อาจหมายถึง การลงชุมชนเพื่อดูว่าเมื่อเรียนผ่าน DLTV แล้วเป็นอย่างไร พ่อแม่สอนลูกอย่างไร หรือการทดลองสวมหมวกเป็นคนหลายๆ คน พยายามมีประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นๆ เพราะคนเป็นครูอาจยังไม่เข้าใจบริบทของพ่อแม่ ส่วนพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจบริบทของครู

ขั้นต่อมา คือตั้งคำถามใหม่ต่อสิ่งที่เจอ ซึ่งถือว่าเป็นคีย์หลักอย่างหนึ่งของกระบวนการ เราต้องปรับแนวคิด ตั้งคำถามจากการเรียนการสอนที่เราเคยทำมาไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยปีว่า มันจำต้องเป็นแบบนั้นจริงหรือ ถ้าไม่จำเป็น เราต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ด้วยวิธีที่อาจต่างออกไป การตั้งคำถามใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ลองลงมือทำอะไรใหม่ๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ บริบทรอบตัวเราในตอนนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่เคยทำแล้วได้ผลเมื่ออาทิตย์ก่อน มาอาทิตย์นี้อาจจะไม่ได้ผลแล้ว ยกตัวอย่างจากเรื่องของตัวเอง คือ ช่วงที่เมษ์ต้องไปทำงาน ลูกอยู่บ้าน ก็ต้องดูแลลูกด้วยวิธีหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนมา work from home ได้อยู่กับลูก ก็ต้องดูแลลูกและช่วยเรื่องการเรียน ต่อไปถ้าลูกกลับไปเรียน เมษ์ไปทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ ความที่บริบทเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเร็วในการปรับตัว และปรับเปลี่ยนแผนรับมือจึงสำคัญมาก

ก่อนจะเริ่มเรียนออนไลน์ หรือออกอากาศทางโทรทัศน์ เราคงคิดผลลัพธ์ไว้แบบหนึ่ง แต่ผลที่ออกมาอาจไม่เป็นไปตามแผนเสมอไป สิ่งที่ต้องทำต่อคือ เราจะสามารถเรียนรู้จากครั้งที่แล้วเพื่อทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปได้อย่างไร ความท้าทายของคนในระบบการศึกษาตอนนี้ คือ การปรับตัวต้องทำอย่างรวดเร็วมาก และความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ บางทีเราจึงต้องทดลองทำอะไรหลายๆ อย่างไปด้วย แต่โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นการหลับตาลองไปเรื่อยๆ ผู้กำหนดนโยบายอาจจะสร้าง guideline กว้างๆ ให้คนได้ลองอย่างถูกทิศทาง แต่ยังมีอิสระมากพอให้เลือกทำ และเรียนรู้จากการลองเพื่อนำไปปรับเปลี่ยนต่อไป

ความหนักใจและการปรับตัวของผู้ปกครองยุคโควิด-19

 

เรามีความกังวลอยู่ว่า ลูกจะเรียนทันไหม เราสอนถูกเหมือนครูหรือเปล่า และแน่นอนว่าผู้ปกครองทุกคนต้องทำงาน ไม่ได้แบกแค่ภาระการเรียนการสอนของลูกอย่างเดียว การบริหารจัดการทุกอย่างให้ลงตัวเป็นเรื่องที่ยาก พ่อแม่บางคนอาจมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น แต่ก็มีพ่อแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดใหญ่ การดีไซน์ชีวิตหรือหาตัวช่วยมาสนับสนุนพ่อแม่เหล่านี้จึงสำคัญ

แต่ในสถานการณ์ที่เราต้องปรับตัว คิดหาวิธีใหม่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู นักเรียน ผ.อ. โรงเรียน ต้องอย่าคิดแค่คนเดียว เพราะหลังจากที่อยู่บ้านกับลูกมาได้สองเดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่รู้ว่าจะเล่นหรือสอนกับลูกอย่างไร ดังนั้น เราต้องใช้พลังของคนในแวดวงเดียวกันมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ การแชร์กัน ทำ crowdsourcing จะทำให้เราได้เรียนรู้จากเพื่อนที่เจอปัญหาคล้ายกัน และได้ไอเดียใหม่ๆ ให้ได้ลองตลอดเวลา ไม่ทำให้เรารู้สึกติดกับอยู่คนเดียว อย่างเช่นในช่วงนี้ เมษ์ทดลองตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ ‘The Parent’s Lab’ ขึ้นมาเพื่อให้พ่อแม่มาแชร์ไอเดียว่าเล่นกับลูก สอนกับลูกที่บ้านอย่างไร ซึ่งก็มีไอเดียเข้ามาเยอะมาก

สิ่งที่สำคัญคือเรื่อง คือการสื่อสาร ถ้าโรงเรียนเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้ก็จะลำบาก แต่สิ่งที่ต้องต่อยอดและใส่ใจมากขึ้น คือ เราต้องคิดว่าจะออกแบบการสื่อสารแบบสองทางเพิ่มขึ้นได้อย่างไร การสื่อสารจะทำให้เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้าน เพราะตอนนี้ เราไม่รู้เลยว่าก่อนเปิดจอเข้ามาเรียน นักเรียนเป็นอย่างไร หลังปิดจอไปแล้ว เขาไปทำอะไรต่อ การสื่อสารให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ลูกศิษย์ที่เรียนอยู่ที่บ้าน เขาเจออะไร เห็นอะไร สำคัญมาก เพื่อให้รู้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนของเราใช้ได้ไหม และต้องคอยฟังฟีดแบ็คจากเขาด้วย

มุมหนึ่งที่เมษ์รู้สึกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีจากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ คือเป็นเครื่องเตือนสติคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนว่า เราควรมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกให้มาก หลายครั้งเราคิดว่ามันคือหน้าที่ของโรงเรียน แต่พอได้ช่วยสอนลูก เราพบว่า พ่อแม่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบที่เหมือนกับในห้องเรียนเสมอไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save