fbpx

จาก ‘แก้วกับกล้า’ ถึง ‘ภาษาพาที’ : กษัตริย์ ไข่ต้ม และอุดมการณ์ของรัฐไทยในแบบเรียน

สองสามวันมานี้ เรื่องราวของ ใยบัว เด็กหญิงที่รู้สึก “ตื้นตันจนน้ำตาคลอ” หลังกินข้าวคลุกไข่ต้มกับน้ำปลาและผัดผักบุ้ง สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลระดับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ผู้เคยแจ้งบัญชีทรัพย์สินว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 159,433,082 บาท) ยังโพสต์คลิปวิดีโอลูกชายกินไข่ต้มพร้อมแฮชแท็ก #วีถีพ่อ #Saveไข่ต้ม #ไข่ต้ม #ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น #อยู่อย่างพอเพียง

ยังไม่นับเรื่องของ ใบพลู เด็กหญิงที่หวังขอน้ำปลาจากร้านอาหารเพื่อไปเหยาะใส่ข้าวมันไก่ที่เธอซื้อจากอีกร้าน, เคหลิบ หนุ่มลูกครึ่งผู้อยากศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนมากว่า 800 ปี (แต่เคหลิบ สมัยสุโขทัยที่ยังไม่มีแนวคิดเรื่องชาตินี่เราตีกันยับเลยนะ เอาอะไรไปรวมใจ) รวมทั้ง ป่านกับฟาง ที่นัดเจอกับคนต่างชาติทางอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่าอีกฝ่าย ‘ไม่ตรงปก’ แถมยังถูกหลอกให้เลี้ยงอาหารอีกต่างหาก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือตัวละครในแบบเรียนภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ระดับชั้นประถมศึกษา และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังสือถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ ถ้ายังจำกันได้ ปี 2020 เรื่องของ เกี๊ยว -เด็กสาวที่ในบทความบรรยายว่าเธอ “ใจแตกตั้งแต่ยังไม่มีคำว่านางสาวนำหน้า” ผู้ลงเอยด้วยการท้องไม่มีพ่อและต้องออกจากโรงเรียน- ก็เคยเป็นประเด็นให้ได้หยิบมาถกเถียงกันอยู่พักหนึ่ง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในยุครัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ว่า “[…] ประกอบกับการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยผ่านสังคมยุคดิจิทัล ในขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถคัดกรองและเลือกรับวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อวิกฤตค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต การพัฒนาในระยะต่อไปจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์” (หน้า 65)

แน่นอนว่าการศึกษามีบทบาทอย่างมากในยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เพราะระบบการศึกษาคือมือไม้ของรัฐที่ใช้สร้างประชากรในประเทศให้มีความคิดและอุดมการณ์อย่างที่รัฐอยากให้เป็น หรือก็คือรัฐอยากได้คนแบบไหน ย่อมสะท้อนอยู่ในแบบเรียนของระบบการศึกษา เรื่องราวของใยบัว, ใบพลู หรือเคหลิบ จึงเป็นภาพแทนของความดีงามในสายตาของรัฐ ผ่านพฤติกรรมของความซาบซึ้งต่อแผ่นดินไทย สุขใจได้ง่ายแค่เพียงไข่ต้มคลุกข้าว หรือการกระซิบบอกเล่าสถาบันทางการเมืองต่างๆ อันจะเห็นได้จากหนังสือภาษาพาทีของชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ว่าด้วยนักเรียนในห้องเรียนรู้เรื่องการสร้างชาติไทย

“[…] เมื่อก่อนคนไทยต่างคนต่างอยู่ แยกเป็นกลุ่มๆ จนกระทั่งมีกษัตริย์ของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ทรงเป็นผู้นำและนักรบที่กล้าหาญ ค่อยๆ รวบรวมดินแดนและผู้คนเอาไว้ กษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็ทรงเป็นนักรบเช่นกัน เสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น ป้องกันไม่ให้ข้าศึกษารุกราน จนกระทั่งถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ถึงแม้ไม่มีการสู้รบกับข้าศึกเหมือนสมัยโบราณ แต่พระองค์ก็ทรงปกครองแผ่นดินและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข” และ “เด็กๆ ฟังอย่างซาบซึ้ง ชาติไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่รักประชาชน ทรงปกครองและรักษาชาติไว้ไม่ให้ตกเป็นทาสของชาติอื่น” (หน้า 193)

พูดในฐานะคนที่เติบโตมาในระบบการศึกษาไทยและใช้แบบเรียนไทย เลยตะเกียกตะกายไปหาหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา (หรือยุค ‘แก้วกับกล้า’) ซึ่งใช้ในระดับชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ปี 2535-2554 ก่อนที่หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะให้เปลี่ยนมาใช้หลักสูตรภาษาพาทีแทน

สิ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องราวของการเมืองและสถาบันก็ปรากฏตัวอยู่ในแบบเรียนชุดพื้นฐานภาษาด้วย เพียงแต่มันเลือนหายไปท่ามกลางเรื่องราวของแก้วกับกล้า, ตามารถไฟและเจ้าหมาดำ ในแบบเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 2 บทที่ 20 ว่าด้วยปีหนึ่งซึ่งฝนแล้งจนทำการเกษตรไม่ได้ มิหนำซ้ำ แล้งปีนั้นยังรุนแรงเสียจนส่งผลให้สัตว์เลี้ยงต้องล้มตายเพราะขาดน้ำ “เมื่อปีที่แล้ว ราษฎรในหมู่บ้านได้ร่วมใจกันจัดตั้งสหกรณ์เลี้ยงโคเนื้อ มีเจ้าหน้าที่จากอำเภอมาให้คำแนะนำ และยังนำข่าวดีมาแจ้งแก่คนในหมู่บ้านว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพ่อโคพันธุ์เนื้อมาให้ เพราะทรงห่วงใยราษฎร อยากให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำไร่ ทำนา ชาวบ้านต่างปลื้มปิติและซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง” (หน้า 157), และ “[…] พลอยเห็นปู่ก้มลงกราบที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลอยได้ยินเสียงปู่พูดว่า พระเมตตาของพระองค์แท้ๆ จึงทำให้ฝนตก พระบาทมีของพระองค์เย็นฉ่ำดังสายฝน พลอยก้มลงกราบบ้าง เมื่อเงยหน้าขึ้นพลอยเห็นนัยน์ตาของปู่มีน้ำตาไหลซึม ด้วยความสำนึกในพระกรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (หน้า 160-161) รวมทั้งเนื้อหาส่วนอ่านเสริมบทเรียนที่ตัวละครชวนกันไปเที่ยวงานเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม

อย่างไรก็ดี หากย้อนสำรวจกลับไป การเมืองไม่เคยแยกห่างจากแบบเรียน (เพราะเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้ เนื่องจากแบบเรียนโดยรัฐนั้นมุ่งปลูกฝังอุดมการณ์ซึ่งรัฐอยากให้เป็น) บทความ ‘การเมืองในแบบเรียน’ โดย นฤมล นิ่มนวล สำรวจเนื้อหาแบบเรียนหนังสือภาษาไทยและสังคม ระดับชั้นมัธยมศึกษาปี 2503-2551 ที่เห็นร่องรอยประวัติศาสตร์ทางการเมืองและอุดมการณ์ของรัฐผ่านบทเรียน เช่นภายหลังการเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2516 เนื้อหาของหนังสือเรียนว่าด้วยก็ว่าด้วยการพัฒนาด้านประชาธิปไตย หรือหลังปี 2540 ที่พูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ทว่า “อย่างไรก็ตาม เนื้อหาแบบเรียนยังสะท้อนให้เห็นแนวคิดของนักการศึกษาหรือผู้แต่งแบบเรียนที่มีลักษณะอนุรักษนิยม […] ไม่ต้องการให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยางรุนแรงแบบถอนรากถอนโคน แต่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป […] เนื้อหาส่วนใหญ่ยังเน้นนำเสนอความรู้ประชาธิปไตยในเชิงหลักการ ให้ความสำคัญกับรัฐ ระบบราชการและกองทัพ ในฐานะที่เป็นสถาบันที่มีประสิทธิภาพ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ” (หน้า 1440)

กล่าวสำหรับชุดภาษาพาที เป็นแบบเรียนที่ถือกำเนิดขึ้นหลังการแก้ไขหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปี 2551 หรือคือช่วงเวลาหลังการปฏิวัติปี 2549 สิ่งที่น่าสนใจคือเนื้อหาว่าด้วยการเป็น ‘คนดี’ ตามแบบที่รัฐกำหนด ไม่ว่าจะเคหลิบ เด็กชายลูกครึ่งที่เคารพประวัติศาสตร์ไทย หรือ ข้าวปุ้น เด็กหญิงในบ้านรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่สุขใจกับชีวิตตัวเอง (และเป็นผู้สอนใยบัว -เด็กจากเมืองกรุงผู้อยากทิ้งชีวิตเพราะพ่อแม่ไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้เธอใหม่- ให้รู้ซึ้งถึงความอบอุ่นแบบชนบท ความพออยู่พอกินและความเอื้อเฟื้อต่างๆ แน่นอนว่าก็รวมถึงความอร่อยระดับแสงออกปากของไข่ต้มคลุกข้าวด้วย) หรือตัวละคร ผม อยากทำความดีด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องร่วมโลกจนเงินหมด ลักษณะตัวละครที่ใฝ่ดี (ในรูปแบบของหนังสือเรียนและระบบการศึกษาโดยรัฐไทย) จึงมักว่าด้วยคนที่เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่เรียกร้องต่อความยากจนอย่างเช่นเด็กหญิงข้าวปุ้น ที่แม้ชีวิตจะขาดสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่เธอก็รู้ว่า ‘ความสุขอยู่ที่ใจ’ หรือความแตกต่างทางสังคมระหว่างเมืองหลวงแสนวุ่นวาย และชนบทอันอบอุ่น

และอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นจนน่าจับตา คือเรื่องราวของสถาบันพระมหากษัตริย์และพระกรณียกิจที่สอดแทรกอยู่หลายต่อหลายบท นับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีเนื้อหาบทหนึ่งเล่าถึงครอบครัวชาวไร่ โดยตัวละครพ่อกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ว่า “ในหลวงของเราเสด็จตามป่าตามเขาเพื่อช่วยราษฎรให้มีอาชีพ มีที่ทำกินอยู่ดีกินดี” (หน้า 143) และ “เด็กทั้งสองคนต่างคิดว่า พ่อและแม่ของตนทำงานหนักแล้ว แต่ก็ทำเพื่อคนในครอบครัว ส่วนในหลวงและพระราชินีทรงทำเพื่อคนทั้งประเทศ” (หน้า 146) รวมทั้งมีกิจกรรมท้ายเล่มที่ให้นักเรียนร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา และพูดคุยเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และพระพันปีหลวง รวมทั้งในบทที่ 10 ก็มีกิจกรรมให้นักเรียนเล่าประสบการณ์ที่เคยเห็นรัชกาลที่ 9 และพระพันปีหลวง ตลอดจนช่วยกันหาและรวบรวมปฏิทิน หนังสือที่มีภาพทั้งสองพระองค์แล้วนำมาจัดเป็นนิทรรศการ

ขณะที่ในหนังสือภาษาพาทีของชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บทแรกนั้นว่าด้วย ‘ครอบครัวพอเพียง’ ว่าด้วยเด็กสองคนไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติและความสุขสมบูรณ์ มีท่อนหนึ่งว่าด้วย “ลุงวินกับป้านิดเขายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ไงล่ะน้อง” (หน้า 6) หรือเรื่องของใบพลูที่ไปเที่ยวอัมพวา เจอผู้คนที่ปลูกบ้าน ใช้ชีวิตอยู่ริมคลอง โดยน้าๆ ของใบพลูเดินมากล่าวว่า “[…] เป็นคลองที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเพื่อเป็นทางลัดไปจังหวัดเพชรบุรี และประชาชนจะได้มีน้ำไว้กินไว้ใช้ในการเกษตรด้วย เห็นไหมว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงห่วงใยประชาชนแค่ไหน น้าดีใจนะที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย อยู่ในแผ่นดินของในหลวงและพระราชินีแห่งราชวงศ์จักรี” (หน้า 97) และเมื่อใบพลูที่มาจากตัวเมืองเห็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวราคาถูก ก็อุทานด้วยความตกใจแกมเป็นห่วงว่าแม่ค้าจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ แต่น้าชาวอัมพวาก็เย้าเธอว่า “ชาวบ้านเขารู้มานานแล้วจ้ะว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร แม่ชาวกรุง” (หน้า 99)

หรือบทที่ 7 ‘ดั่งหยาดทิพย์ชโลมใจ’ ที่พูดถึงรัชกาลที่ 9 และพระราชกรณียกิจ “แม้พวกหนูยังเด็กก็รู้สึก พระคุณท่านจารึกเกินขานไข เราโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทย ในสมัยของพระองค์วงศ์จักรี” (หน้า 116) รวมทั้งบทอ่านเสริมซึ่งอธิบายว่ากษัตริย์ไทยเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของชาวไทย ทั้งยังเป็นสถาบันคู่บ้านคู่เมืองมาโดยตลอด ตลอดจนบทที่ 11 เล่าถึง หนูลิ ที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เพราะ “หนูลิชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักวิทยาศาสตร์เพียงพระองค์เดียวในโลก” (หน้า 177) และบทที่ 16 เล่าถึงเด็กหญิงคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นในครอบครัวข้าราชการ ที่วันหนึ่งพ่อกับแม่ของเธอก็สวมชุดไทยจิตรลดากับเสื้อพระราชทานอยู่หน้าพระฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 กับพระบรมราชชนนีพันปีหลวง “พ่อเป็นคนไทย อีกทั้งเป็นข้าราชการ ชีวิตพ่อ ครอบครัวพ่อ มีความสุขความเจริญมาได้ก็เพราะพระบารมีของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรโดยทั่วหน้า” (หน้า 254)

เช่นเดียวกันกับในหนังสือภาษาพาทีของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บทที่ 6 ก็เปิดด้วยประโยคว่า “ครอบครัวของเรา มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า น้องหญิง และผม ไผ่งาม เป็นครอบครัวคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหวงแหนแผ่นดินไทย สำรวจดูแลก็ไม่มีอะไรที่บอกว่าไม่ใช่คนไทย” (หน้า 84) ที่น่าสนใจว่าการย้ำ ‘ความเป็นคนไทย’ นั้นต้องกอรปไปด้วยองค์ประกอบข้างต้นดังที่ตัวละครกล่าวมา ผิดไปจากนี้ย่อม ‘ไม่ใช่’ (ซึ่งเราก็ยังไม่ต้องไปพูดถึงอุดมการณ์รูปแบบอื่นๆ เช่น รูปแบบความเป็น ‘คนดี’ ของรัฐที่โยงมากับศาสนาพุทธ)

กวาดสายตามองอย่างคร่าวๆ อาจพอเห็นภาพอุดมการณ์ที่ปรากฏในแบบเรียนไทยยุคหลังรัฐประหาร 2549 ว่าเน้นย้ำไปที่ความพึงพอใจต่อชีวิต ให้ภาพสังคมเมืองกรุงที่ยึดติดกับวัตถุ (ผ่านเส้นเรื่องของใยบัวซึ่งมาเรียนรู้คุณค่าชีวิตจากการรู้จักสังคมอันเรียบง่ายและเป็นมิตรผ่านไข่ต้มคลุกข้าวจากข้าวปุ้น) และชีวิตชนบทอันแสนสุข ผู้คนไม่รีบร้อน มีน้ำใจต่อกัน หรือความเป็นไทยที่ยึดโยงกับชาติ ศาสน์และกษัตริย์โดยชัดเจน

ปลายปี 2562 คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เคยแสดงความเห็นว่าการให้ความรู้และปลูกฝังเยาวชนไทยเรื่องประวัติศาสตร์ชาติกับสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนเรื่องราวของพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในเวลานี้นั้น ‘อ่อนด้อย’ กว่าที่เคย และเห็นว่าเป็นวิกฤตที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนด้วยการ ‘ปรับเปลี่ยนพื้นฐานทัศนคติ’ ให้เด็กๆ ภูมิใจในชาติไทยและสถาบันฯ และสอดแทรกประเด็นดังกล่าวในสาขาวิชาต่างๆ

เรื่องราวของเด็กๆ ที่สุขใจแค่ได้กินไข่ต้มท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นและเป็นมิตร ตัดทอนภาพการขาดแคลน ขาดสารอาหารอันเป็นความบกพร่องของรัฐ, เด็กชายลูกครึ่งผู้ยกย่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม หรือกระทั่งเกี๊ยว เด็กสาวที่ต้องออกจากโรงเรียนเพราะตั้งท้อง ก็ชวนตั้งคำถามว่าอะไรทำให้ระบบการศึกษาต้องผลักไสเธอออกมาขนาดนั้น ทว่า ทั้งหมดนี้มันคือการลดทอนภาพความดำมืด ความเจ็บปวดบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตผู้คน และวาดภาพความดีงาม ภาพฝันบางอย่างที่รัฐอยากเห็น รวมทั้งหวังให้ผู้คนเห็นภาพแบบเดียวกันด้วย

หากว่าบทเรียนในหนังสือเรียนคือการแฝงฝัง ‘อุดมการณ์’ ของรัฐ ก็อาจเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลง หรือความเปราะบางของสถาบันทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับจากการรัฐประหารปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปี 2557 รวมทั้งในแง่ที่ว่า มันไม่อาจ ‘เก็บงำ’ หรือซ่อนเร้นอุดมการณ์แห่งความพินอบพิเทา เจียมเนื้อเจียมตัวในนามของความพอเพียงไว้ได้มากเท่ายุคก่อนๆ อีกแล้ว (เพราะในแบบเรียนชุดก่อน ก็มีหลายฉากหลายตอนที่ว่าด้วยความพึงใจของตัวละครในโลกชนบทสดใส และตัดขาดจากภาครัฐโดยสิ้นเชิง) ที่ก็ไม่แน่ใจนักว่าเป็นเพราะนักเขียนมือไม่ถึง -ที่ก็มีสิทธิเป็นไปได้ เพราะเทียบเคียงกับแบบเรียน ‘แก้วกับกล้า’ แล้ว หนังสือชุด ‘ภาษาพาที’ ถือว่าเขียนได้ไม่ชวนดึงดูดใจเอาเสียเลย- หรือเป็นเพราะภาครัฐวาดหวังให้เล่าเรื่องอย่างชัดแจ้งที่สุดเท่าที่จะมากได้โดยไม่ต้องแยแสความแยบยลอีกต่อไป

คำถามสำคัญคือ เมื่อแบบเรียนประกาศตนชัดเจนถึงอุดมการณ์โดยไม่ปรารถนาจะซ่อนเร้น ท่าทีเช่นนี้จะเป็นการโอบรับหรือผลักไสผู้เรียนที่แน่นอนแล้วว่าย่อมใช้ชีวิตในโลกที่รุดหน้าไปเรื่อยๆ จักรวาลของพวกเขาอยู่พ้นไปจากสิ่งที่หนังสือเรียนตะโกนบอกอยู่หลายปีแสง และในความไม่แนบเนียนนี้ ก็ชวนให้ครุ่นคิดว่ามันจะแฝงฝัง จะทำงานลงในเนื้อตัวผู้คนได้สักกี่มากน้อย เทียบกันกับความแยบคายที่แบบเรียนเก่าๆ เคยทำไว้และสร้างคนรุ่นหนึ่งให้เชื่องต่อรัฐ ด้วยความเชื่อว่าชนบทคือพื้นที่อันพิสุทธิ์ เต็มไปด้วยความจริงใจ ผู้คนยิ้มแย้มเปี่ยมสุขตลอดเวลา

นึกย้อนไปถึงกระแสการก่อตัวของกลุ่มผู้ประท้วงช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ตั้งคำถามต่อสถาบันทางการเมืองหลักๆ ของประเทศ กว่าครึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในคนที่โตมากับแบบเรียนภาษาพาที และเบ่งบานออกมาในพื้นที่ของตัวเองโดยที่รัฐไม่อาจควบคุม

ถึงอย่างนั้นแล้ว ก็ชวนสงสัยว่าอุดมการณ์แบบที่รัฐไทยแทรกไว้ในหนังสือเรียนนั้นยัง ‘ทำงาน’ กับโลกสมัยใหม่อยู่หรือไม่ หรือมันยังมีพื้นที่สำหรับอุดมการณ์อันหลากหลายแบบอื่นอยู่หรือเปล่า

และใบหน้าแบบใด ที่รัฐไทยฝันอยากให้เยาวชนไทยเป็น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save