fbpx
เมื่อปัญหาหลักของนโยบายเศรษฐกิจไทย อาจเหมือนกับปัญหาใหญ่ของแมนฯ ยูไนเต็ด

เมื่อปัญหาหลักของนโยบายเศรษฐกิจไทย อาจเหมือนกับปัญหาใหญ่ของแมนฯ ยูไนเต็ด

Facebook – Manchester United ภาพประกอบ

ในบรรดาบทวิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของ ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล อย่างย่อยยับเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชิ้นที่เจ็บแสบที่สุดน่าจะเป็นบทความของ โจนาธาน หลิว คอลัมนิสต์ฟุตบอลแห่งหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน

สโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก (ทุนนิยม)

หลิวเริ่มต้นด้วยการทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ดในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา

แมนฯ ยูไนเต็ดร่วมจัดตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีก ลีกใหม่นอกระบบเดิม –> การประท้วงของแฟนบอล –> เอ็ด วู้ดเวิร์ด รองประธานบริหารประกาศลาออกเพื่อรับผิดชอบ –> แมนฯ ยูไนเต็ดเข้าชิงถ้วยยูโรปาลีก แต่ได้เพียงแค่รองแชมป์ –> ความผิดหวังของแฟนบอล–> สโมสรเซ็นสัญญาซื้อตัว จาดอน ซานโช ด้วยค่าตัว 85 ล้านยูโร –> คริสเตียโน โรนัลโด กลับมาร่วมทีมอีกครั้ง –> แฟนบอลกลับมามีความหวัง

เส้นทางอันโลดโผนของแมนฯ ยูไนเต็ดทำให้ความรู้สึกของแฟนบอลปั่นป่วนไม่ต่างกับการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา

ในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน แฟนบอลของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ประสบพบเจอทั้งชัยชนะอันเร้าใจ ความพ่ายแพ้ที่ทำหัวใจสลาย ข่าวลือที่อาจเปลี่ยนวิถีทางของทีมครั้งใหญ่ ชัยชนะของมวลชนเหนือสโมสร และความปลื้มปีติเมื่อตำนานที่ยังมีชีวิตเดินทาง ‘กลับบ้าน’ หลังออกรอนแรมนาน 12 ปี

แต่เมื่อผลงานในสนามหลังเปิดฤดูกาลใหม่ไม่เป็นไปดังคาด หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า หรือแมนฯ ยูไนเต็ดจะกลายเป็นเพียง ‘เครื่องจักรที่ไร้ทิศทาง’ (directionless vehicle) ที่ผลิตได้แค่ความบันเทิง แต่ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนไปแล้ว

หลิวตั้งคำถามกลับว่า “แล้วคุณไม่คิดบ้างหรือว่าเส้นทางอันแสนโลดโผนเร้าใจที่ว่ามานี่ล่ะ คือ ‘จุดมุ่งหมาย’ ของสโมสรแห่งนี้ในระบบทุนนิยม”

แฟนบอลเฝ้าดูเหล่าซูเปอร์ฮีโรกลับมารวมตัว รวมพลังสู้เพื่อทีม แต่ก็เต็มไปด้วยความผิดพลาด จนแฟนบอลต้องช่วยกันทั้งส่งกำลังใจและกดดันให้พวกเขาลุกขึ้นมาสู้ใหม่ สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ก่อนที่จะแพ้หมดรูปอีกครั้งในเกมถัดไป เพื่อลุกขึ้นมาอีกครั้ง…

ทั้งหมดนี้อาจเป็นรูปแบบ ‘ความสำเร็จ’ ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในยุคปัจจุบันไปแล้วก็เป็นได้

ถ้าวัดกันในแง่นี้ แมนฯ ยูไนเต็ดย่อมเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จเหนือกว่าทีมอย่างบาเยิร์น มิวนิค หรือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่แม้จะได้แชมป์แทบทุกปี แต่ก็ไม่สามารถสร้างดราม่าแห่งความบันเทิงให้แฟนบอลต้องกัดฟันลุ้นทั้งในและนอกสนามตลอดเวลาได้อย่างแมนฯ ยูไนเต็ด

ที่สำคัญกว่านั้น ย่อมไม่มีใครเหมาะสมกับการคุมบังเหียนสโมสรและรับหน้าที่ดารานำแสดงเท่ากับโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อีกแล้ว ยิ่งโซลชาไม่ใช่ผู้จัดการทีมที่สามารถวางรากฐานเชิงแทคติกให้หยั่งลึกได้ (เหมือนที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ทำกับแมนฯ ซิตี้) ยิ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของเขาเมื่อเวลามาถึงก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพราะไม่เคยมี ‘การเปลี่ยนผ่าน’ มาตั้งแต่เริ่มต้นยุคของโซลชาอยู่แล้ว

สิ่งที่สโมสรจำเป็นต้องทำจริงๆ แล้วก็มีเพียงการติดสี่อันดับแรกของลีกเพื่อสิทธิในการเล่นยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกให้ได้ต่อเนื่อง และหล่อเลี้ยงความรู้สึกว่าสโมสรกำลังอยู่บนเส้นทางแห่ง ‘การแสวงหาความเป็นเลิศ’ (pursuit of excellence)

ความแสบสันที่สุดของบทความนี้คือ หลิวเขียนขึ้นก่อนศึกแดงเดือดจะเริ่มแข่งเสียอีก

เขาปิดท้ายบทความว่า หากวันนั้นแมนฯ ยูไนเต็ดเอาชนะลิเวอร์พูลได้ แฟนบอลก็คงโห่ร้องดีใจว่า “คงเป็นปีนี้นี่ล่ะ (ที่จะลุ้นแชมป์เสียที)” แต่หากแมนยูฯ พ่ายแพ้ โซลชาก็คงถูกวิจารณ์ครั้งใหญ่ แต่แฟนบอลก็จะตัดพ้อด้วยประโยคเดียวกันว่า “คงเป็นปีนี้นี่ล่ะ (ที่จะเปลี่ยนแปลงเสียที)”

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นเช่นไร สิ่งที่แฟนบอลทุกคนต้องทำก็คือ stay tuned! ตั้งหน้าตั้งตารอคอย episode ใหม่ที่กำลังจะมาถึง

นี่อาจจะเป็น DNA ใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฐานะเครื่องจักรสะสมทุนแห่งยุคโลกาภิวัตน์

สร้างสโมสรให้เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวตื่นเต้นเร้าใจ แต่ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง

ตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทย – เคลื่อนไหวแต่ไม่เปลี่ยนแปลง?

“Everything happens but nothing ever really changes.”  

“มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย” ประโยคที่หลิวสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย

ในช่วงเวลา 7 ปีตั้งแต่พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน เราไม่เคยตกขบวน buzzword หรือ ‘คำศัพท์ทันยุค’ เลย

สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเวทีเสวนาสาธารณะของไทยเต็มไปด้วยศัพท์นโยบายแห่งยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นคำที่แปลเป็นไทยแล้วอย่างนวัตกรรม, เศรษฐกิจสร้างสรรค์, การพัฒนายั่งยืน, กิโยตินกฎหมาย หรือคำกึ่งไทยกึ่งอังกฤษที่ติดหูกว่าอย่าง ไทยแลนด์ 4.0, สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง, BCG (Bio-Circular-Green Economy), การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public–private partnership) ในหลายปีก่อน ตามมาด้วย ฟินเทค, บิ๊กดาต้า, บาซูก้าการคลัง, บล็อกเชน ในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึง ซอฟต์ พาวเวอร์ ในไตรมาสล่าสุด

ความเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนเท่าทันกับคำใหม่ๆ ในเวทีโลกช่วยหล่อเลี้ยงความรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางแห่ง ‘การแสวงหาความเป็นเลิศ’

สิ่งที่มาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ก็คือผู้คนหน้าใหม่ (หรือต่อให้เป็นหน้าเก่าก็มาด้วยความคาดหวังใหม่) การแข่งขันของแวดวงนโยบายสาธารณะเริ่มไม่ต่างจากเวทีประกวดร้องเพลง ที่เต็มไปด้วยผู้เข้าแข่งขันทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ผลัดกันเอาเพลงฝรั่งมาแปลงหรือแสดงลูกเล่นเพื่อดึงดูดแสงไฟและคนดู

แต่คลื่นคำศัพท์กับขบวนคนหน้าใหม่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีพลวัตเคลื่อนไหวต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องจริง และการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ก็ช่วยให้เราเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนขึ้น

แต่สังคมไทยทุกวันนี้สนใจแก่นสารของประเด็นหรือแพ็คเกจจิงที่ห่อหุ้มมากกว่ากันแน่?

ความหมกมุ่นกับ ‘ไอเดียใหม่ๆ’ ทั้งของฝั่งซัพพลาย (เทคโนแครต นักการเมือง คนขายนโยบาย) และฝั่งดีมานด์ (สื่อ ผู้ชม หน่วยงานราชการ) แบบที่เป็นอยู่ในตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน กำลังส่งผลด้านลบอย่างน้อย 3 ประการ

#ปัญหาที่ 1 แก่นของหลักการถูกบิดเบือน

ต่อให้เป็นคำที่ความหมายลึกและสำคัญเพียงใด เมื่อตกอยู่ในวังวนการตลาดนโยบาย ความหมายเดิมก็จะถูกลดทอนหรือกลายพันธุ์ จนแก่นของประเด็นผิดเพี้ยนไป

ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่อง ‘การทำลายล้างที่สร้างสรรค์’ (creative destruction) ของโจเซฟ ชุมเพเทอร์ เคยถูกใช้อ้างอิงเมื่อหน่วยงานรัฐจับมือช่วยเหลือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แลกกับการเพิ่มงบวิจัยและพัฒนา

นับเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะในทางหลักการแล้ว ตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ประเมินการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ของสังคม คือ จำนวนบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่แทนที่บริษัทเก่า ซึ่งงานศึกษาระหว่างประเทศแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กล่าวคือ ยิ่งเกิดบริษัทหน้าใหม่แทนบริษัทเก่ามากเท่าใด ประเทศนั้นจะยิ่งเติบโตสูงขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ นวัตกรรมที่เกิดจากบริษัทใหม่ที่มีขนาดเล็ก (small, young firms) ก็มักจะเป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมเศรษฐกิจได้มากกว่านวัตกรรมที่เกิดจากบริษัทเก่าที่มีขนาดใหญ่ (ดู Aghion, Antonin and Bunel 2021)

หากยึดแก่นการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ตามหลักการแล้ว นัยเชิงนโยบายจะอยู่ที่การลดกำแพงกีดกันการเข้าสู่ตลาดให้กับผู้เล่นรายใหม่ และวางกติกาให้แจ็คที่เก่งกาจสามารถล้มยักษ์รายใหญ่ได้เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยไม่มีปัจจัยเส้นสายและเครือข่ายอุปถัมภ์จากรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

#ปัญหาที่ 2 ลดทอนความสนใจเรื่องพื้นฐาน

การหมกมุ่นกับคำใหม่ๆ ทำให้สังคมไทยลดความสนใจในเรื่อง ‘พื้นๆ’ ที่ฟังดูไม่ตื่นเต้นเร้าใจ อาทิ ประสิทธิภาพการผลิต งานที่มีคุณค่า การแข่งขันที่เป็นธรรม ภาษีอัตราก้าวหน้า การกระจายอำนาจ

ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียที่สื่อต้องแข่งขันกันชิงยอดคลิกเบต การพาดหัวด้วยคำศัพท์เร้าใจก็เหมือนการโพสต์ข่าวอาชญากรรมอำพรางที่สามารถดึงดูดความสนใจได้ ในขณะที่ข่าวความปลอดภัยพื้นฐานแทบไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป

ในแง่นี้ ตลาดนโยบายไทยในปัจจุบันอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับเอเชียตะวันออกยุคไล่กวดโดยสิ้นเชิง

เพราะบรรดา ‘เสือเศรษฐกิจ’ เติบโตจากประเทศยากจนขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้ภายในหนึ่งชั่วรุ่นก็ด้วยความหมกมุ่นกับเรื่องน่าเบื่อทั้งหลายที่ว่ามาข้างต้นทั้งนั้น

เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพและกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระดับรายไตรมาสหรือรายเดือน มอนิเตอร์สินค้านำเข้าส่งออกอย่างละเอียดเพื่อปรับเป้าหมายในห่วงโซ่การผลิตโลก ส่วนญี่ปุ่นก็หมกมุ่นกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ประจำพื้นที่ พอถึงช่วงประชาธิปไตยที่ระบบสวัสดิการงอกเงย ประเทศเหล่านี้ก็หมกมุ่นกับการปรับระบบภาษีและควบคุมการแข่งขันระหว่างกิจการขนาดใหญ่กับกิจการขนาดเล็กให้เป็นธรรมมากขึ้น

เบื้องหลังความมหัศจรรย์แห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยเรื่องรายวันอันน่าเบื่อและการทำเรื่องพื้นๆ ให้เป็นรากฐานเศรษฐกิจทั้งนั้น – สังคมไทยทนกับเรื่องน่าเบื่อหน่ายเหล่านี้ได้นานแค่ไหน?

#ปัญหาที่ 3 เข้าทางเสือนอนกิน

เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิกที่เป็นกระแสหลักในแวดวงนโยบายมักถูกวิจารณ์ว่า เป็นแนวคิดที่ไม่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง เพราะไปยึดหลักเกณฑ์ของพาเรโตที่มองว่าสังคมจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชีวิตของคนบางกลุ่มดีขึ้น โดยไม่มีใครต้องเสียอะไรไป ในทางปฏิบัติจึงกลายเป็นการสนับสนุนสภาวะที่เป็นอยู่แล้วของสังคม (status quo) ไปโดยปริยาย เพราะในโลกแห่งความจริง การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งผู้ได้ผู้เสียเป็นธรรมดา โดยเฉพาะหากสังคมยึดหลักการอื่นๆ ในการจัดสรรทรัพยากร เช่น ความเสมอภาคทางโอกาส และการแข่งขันที่เป็นธรรม

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกลายเป็นพันธมิตรคู่ใจกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในประเทศกำลังพัฒนา เพราะกลุ่มชนชั้นนำไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรอยู่แล้ว แค่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ให้อยู่แบบเดิมให้ได้มากที่สุด การมีหลักการอะไรมาอ้างอิงย่อมทำให้ฟังดูดีขึ้น

เมื่อพลังของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกเริ่มเสื่อม กระแสเห่อ buzzword จึงเป็นทางออกใหม่สำหรับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและเครือข่ายทุนใกล้ชิด เพราะสามารถหยิบยกคำต่างๆ มาใช้ห่อหุ้มความต้องการหยุดเวลาสังคมและวิธีฮั้วสัมปทานใหญ่ๆ ไว้อย่างเดิม

ดังเช่นที่เห็นในข่าวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 64 ว่า รัฐบาลพร้อมพัฒนา ‘ความมั่นคงแบบองค์รวม’ หรือ Comprehensive Security ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) อย่างสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ สาธารณภัย และภัยพิบัติต่างๆ…ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘Value–Based Economy’ และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแบบ BCG ที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของนานาชาติ เรื่องการลดการปล่อยการเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก”

ขั้นต่อไป คำศัพท์เหล่านี้ก็จะไปอยู่ในการเขียนโครงการเพื่อของบประมาณ หน่วยงานราชการจะรับลูกทันควันด้วยการนำคำใหม่ๆ ไปรวมกับซีรีส์คำเก่าที่เคยฮิตมาก่อน เช่น ใน พ.ร.บ. งบประมาณฯ พ.ศ. 2564 เคยมีโครงการชื่อ ‘การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สู่หมู่บ้านท่องเที่ยวสินค้าภูมิปัญญาเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชุมชนสร้างสรรค์เชิงบูรณาการฯ’ ก็สามารถเติมคำอย่าง Comprehensive Security, Value–Based Economy และ BCG เข้าไปในการของบประมาณปีหน้าเพื่อทำเรื่องเดิมกับผู้รับเหมารายเดิม

หากตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทยมุ่งต่อไปในทิศทางอย่างที่เป็นมาในระยะหลัง สังคมไทยก็จะเต็มไปด้วยไอเดียเกลื่อนดินเกลื่อนฟ้า ผู้คนหน้าใหม่ผลัดกันเข้ามาสร้างความหวัง ให้สังคมรู้สึกเสมือนว่าประเทศกำลังอยู่บนเส้นทางแห่งความเป็นเลิศ ทันโลก ทันสมัย

เสี่ยงจะกลายเป็น DNA ใหม่ของตลาดนโยบายเศรษฐกิจไทย ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวตื่นเต้นเร้าใจ แต่ไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง

หากเราอยากให้ตลาดนโยบายส่งผลกระทบจริงจังมากกว่านี้ คงต้องปรับตัวกันทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ

ฝั่งผู้ทำและเสนอนโยบายจำเป็นต้องอธิบายแก่นของแต่ละหลักการอย่างมั่นคง ยืนยันการทำเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นแม้จะไม่ตื่นเต้นเร้าใจเรียกกระแส และกล้าสู้กับเครือข่ายเสือนอนกิน

ในขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ซื้อนโยบายก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องระดับรากฐานที่อาจพาดหัวข่าวไม่ได้บ้าง ไม่ไหลไปกับคำชวนฝันที่ไม่ได้มีแก่นสารอะไร หรือเรื่องราวที่เพียงสร้างดาราหน้าใหม่ให้โด่งดัง แต่ปัญหาเก่ายังคาราคาซังอยู่ใต้พรม

เว้นแต่ว่า จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไร การพูดและฟังเรื่องใหม่ๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็สนุกดีมีสีสัน เช่นนั้นตลาดนโยบายไทยก็ทำหน้าที่ของมันได้สมบูรณ์แล้ว


อ้างอิง

  • งานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง creative destruction กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดู Philippe Aghion, Céline Antonin and Simon Bunel (2021) The Power of Creative Destruction: Economic Upheaval and the Wealth of Nations. Harvard University Press.
  • การพัฒนาอันน่าเบื่อของเอเชียตะวันออก
    • ภาษอังกฤษ ดูเช่น Robert Wade (1990) Governing the Market: Economic Theory and the Role of Government in East Asian Industrialization. Princeton University Press. และ Alice Amsden (1989) Asia’s Next Giant: South Korea and Late Industrialization. Oxford University Press.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save